พระคัมภีร์สมฏฐานวินิจฉัย

(อหํ) อันว่าข้า (อภิวัน์ทิย) นมัสการแล้ว (พุท์ธเสฏ์ฐํ) ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ (จ) อนึ่งโสด (อหํ) อันว่าข้า (อภิวัน์ทิย) นมัสการแล้ว (ธัม์มํ) ซึ่งพระปริยัติธรรมแลพระนพโลกุตรธรรม (จะ) อนึ่งโสดแลข้านั้น (อภิวัน์ทิย) นมัสการแล้ว (คณํ) ซึ่งหมู่พระอริยสงฆ์ (อุต์ตมํ) อันอุดม (ปวัก์ขามิ) จักกล่าว (คัน์ถํ) ซึ่งคัมภีร์ (เวช์ชปกรณํนามะ) ชื่อว่าคัมภีร์แพทย์ (โลกหิตํ) อันเปนประโยชน์แก่โลก (อยํรตนปณาโม) อันว่าประณามแก่พระรัตนไตรยนี้ (มยา) อันข้า (กโต) กระทำแล้ว (สิรา) ด้วยศิระเกล้า (สัก์กัจ์จํว) โดยเคารพแท้จริง (ปติวารณัต์ถํ) เพื่อจะห้ามเสีย (อัน์ตราเย) ซึ่งอุปัทวันตรายทั้งหลาย (อเสสโต) โดยหาเศษบมิได้ (อาจริโย) อันว่าพระอาจาริย์เจ้า (รจยิต๎วาน) พิจารณาตฤกตรองแล้ว (วินิจ์ฉยปเภทํ) ซึ่งประเภทแห่งวินิจฉัย (ทิปิยติ) สำแดงไว้ (อุต์ตมคัน์ถํ) ซึ่งคัมภีร์อันอุดม (ปวรํ) อันประเสริฐ (ธาตุสมุฏ์ฐานนามํ) ชื่อว่าธาตุสมุฏฐาน (หิตสุขสํวัฑ์ฒนัต์ถาย) เพื่อจะให้เจริญขึ้นซึ่งประโยชน์และความศุข (นานาลักขณสัญ์ชานเนน) ด้วยรู้ซึ่งลักษณะต่างๆ (โรคสมุฏ์ฐาน) แห่งที่กำเนิดโรคทั้งหลาย (อเนกปเภทานํ) อันมีประเภทเปนอันมาก (อุป์ปัน์นานํ) อันบังเกิด (โลกานํ) แก่สัตวโลกทั้งหลาย (อนาคเต) ในอนาคต (อิทํสมุฏ์ฐานํวินิจ์ฉยํ) อันว่าสมุฏฐานวินิจฉัยนี้ (ปรัม์ปรายเภทํ) มีประเภทอันอาจาริย์เจ้านำมา (ปัณ์ฑิต์ปรัม์ปราย) ด้วยอันสืบๆ แห่งนักปราชญ์มาแต่ก่อน (ทุช์ชานํ) อันบุคคลรู้โดยยาก (โหติ) มี (เวช์ชเภทา) ประเภทแห่งแพทย์ทั้งหลาย (อวิชานิย) มิได้รู้แล้ว (อิมํสมุฏ์ฐานปกรณํ) ซึ่งคัมภีร์สมุฏฐานนี้ (ยุญ์ชัน์ติ) ประกอบ (เภสัช์ชานํ) ยาทั้งหลาย (โรคอุปสมนัต์ถาย) เพื่อจะให้ระงับเสียซึ่งโรค (สมุฏ์ฐานปเภทนเยน) โดยนัยประเภทแห่งที่เกิด (โรคนิทานานํ) แห่งโรคนิทานทั้งหลาย (สมุฏ์ฐานโรโค) อันว่าโรคอันบังเกิดขึ้น (เกนจิสมุฏ์ฐาเนน) ด้วยสมุฏฐานอันใดอันหนึ่ง (ปวัฑ์ฒัน์โต) เจริญขึ้น (เหตุมูลอวิญ์ญาเณน) ด้วยมิได้รู้มูลแห่งเหตุ (เกวลํเอว) ด้วยแท้ (โสปุค์คโล) อันว่าบุคคลผู้นั้น (อาพาธิโก) เปนอาพาธ (พาฬ๎หคิลาโน) ลุกนั่งมิได้ (ทุก์ขิโต) เปนทุกข์ (อเตกิจ์โฉ) รักษามิได้ (โหติ) มี (อปรํการณํ) เหตุอันอื่น (อัต์ถิ) แลมี (ปุน) อิกเล่า (อหํ) อันว่าข้า (ปวัก์ขามิ) จักกล่าว (จตุธาตุวัต์ถานํ) ซึ่งกำหนดธาตุทั้ง ๔ (ปเภทกาลวเสน) ด้วยอำนาจแห่งกาลประเภท (ธาตุสมุฏ์ฐานววัต์ถานํ) อันว่ากำหนดซึ่งสมุฏฐานแห่งธาตุ (จตุพิธํ) มีประการ ๔ (ธาตุสมุฏ์ฐานัญ์จ) คือฤดูสมุฏฐานก็ดี (อุตุสมุฏ์ฐานัญ์จ) คือฤดูสมุฏฐานก็ดี (อายุสมุฏ์ฐานัญ์จ) คืออายุสมุฏฐานก็ดี (กาลสมุฏ์ฐานัญ์จ) คือกาลสมุฏฐานก็ดี (เยเวช์ชา) อันว่าแพทย์ทั้งหลายใด (วิจารัน์ตา) พิจารณา (โกฏ์ฐาสสมุฏ์ฐานํ) ซึ่งส่วนแห่งที่เกิด (จตุสมุฏ์ฐานธาตูนํ) แห่งธาตุอันมีสมุฏฐาน ๔ (วิปัส์สมานา) พิจารณาเห็น (โยชยุํ) พึงประกอบ (เภสัช์ชํ) ซึ่งยา (เกวลํเอว) ด้วยประการดังนี้แท้จริง (เยเวช์ชา) อันว่าแพทย์ทั้งหลายใด (อวิญ์ญาย) มิได้รู้แล้ว (สมุฏ์ฐานโกฏ์ฐาสํ) ซึ่งส่วนแห่งที่เกิด (เตเวช์ชา) แพทย์ทั้งหลายนั้น (มิจ์ฉาญาณเวช์ชานาม) ชื่อว่ามิจฉาญาณแพทย์ (เยเวช์ชา) อันว่าแพทย์ทั้งหลายใด (วิจารณฌาณสมัน์นาคตา) ประกอบไปด้วยวิจารณปัญญา (โยเชน์ตา) ประกอบ (เภสัช์ชวิธานํ) ซึ่งวิธีแห่งโอสถ (ตํโรคุป์ปัต์ตึ) ยังที่เกิดแห่งโรคนั้น (อัน์ตรธายึสุ) ให้เสื่อมสูญ (เตเวช์ชา) แพทย์ทั้งหลายนั้น (เสฏ์ฐฌาณเวช์ชานาม) ชื่อว่าเสฏฐญาณแพทย์ สิ้นความในบาฬีแต่เพียงนี้

(อาจาริเยน) อันพระอาจาริย์เจ้า ผู้ตกแต่งพระคัมภีร์อันชื่อว่าสมุฏฐานวินิจฉัย ว่าด้วยพิกัดแห่งกองสมุฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการ ซึ่งพระบาฬีมิได้แก้ไว้นั้นมีลักษณะต่างๆ เพื่อจะสงเคราะห์แก่แพทย์สืบไปเบื้องน่า หวังจะให้รู้ในประเภทสมุฏฐานโรคทั้งปวงอันจะบังเกิดโดยลำดับ แลพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยนี้ เปนตราชูแห่งคัมภีร์เวชศาสตร์ทั้งหลาย เปนหลักเปนประธานอันใหญ่ยิ่งฦกซึ้งคัมภีรภาพนัก มิอาจที่บุคคลจะหยั่งรู้ได้โดยง่าย ถ้าแลแพทย์ผู้ใดมิได้เรียนพระคัมภีร์นี้ จะวางยาก็บมิอาจที่จะได้ (ถูก) ต้องกับโรคโดยแท้ เหตุว่ามิได้รู้ในกองสมุฏฐานพิกัดอันนี้ แพทย์ผู้นั้นได้ชื่อว่ามิจฉาญาณแพทย์ เพราะว่ารู้ด้วยตนเองโดยคดีมิได้ต้องผิดจากเวชพิกัต แลแพทย์ซึ่งมีวิจารณ์ปัญญาจงตฤกตรองศึกษาในเวชศาสตร์ทั้งหลาย แลสมุฏฐานวินิจฉัยนี้ให้ปรีชา จึงจะวางยาต้องตามสมุฏฐานพิกัตอันควรแก่โรค เหตุว่ารู้ในกองสมุฏฐานโดยแท้ แพทย์ผู้นั้นจึงจะได้ชื่อว่าเสฏฐญาณแพทย์ ด้วยอรรถว่ารู้ยิ่งกว่าแพทย์ทั้งหลายมิได้ผิด ต้องในคัมภีร์ฉันทศาสตร์วิธีทั้งปวง โดยไนยท่านตราไว้ซึ่งจะมีไปข้างน่านั้น

ลำดับนี้จักได้สำแดงในกองพิกัดสมุฏฐาน ๔ ประการนั้น คือธาตุสมุฏฐาน ๑ ฤดูสมุฏฐาน ๑ อายุสมุฏฐาน ๑ กาลสมุฏฐาน ๑ สมุฏฐานทั้ง ๔ ประการนี้ แพทย์ทั้งหลายพึงเรียนไว้ให้แจ้งในมหาพิกัดสมุฏฐาน เปนที่ตั้งแห่งภูมิ์โรคแลภูมิ์แพทย์ทั้งปวง

อันว่าสมุฏฐานนั้นว่าด้วยสมุฏฐานธาตุทั้ง ๔ มีเตโชธาตุเปนต้น มีปถวีธาตุเปนที่สุดดังนี้ (๑) อันว่าสมุฏฐานเตโชธาตุพิกัดนั้นเปนที่ตั้งแห่งจตุกาลเตโช ซึ่งจะวิปริตเปนชาติเปนจะละนะ เปนภินนะก็อาไศรยแห่งพัทธะปิตตะ แห่งอพัทธะปิตตะกำเดาทั้งสามนี้เปนอาทิให้เปนเหตุในกองเตโชธาตุพิกัตสมุฏฐานกองหนึ่ง

(๒) อันว่าสมุฏฐานวาโยธาตุพิกัตนั้น เปนที่ตั้งแห่งฉกาลวาโย ซึ่งจะวิปริตเปนชาติ จะละนะ ภินนะ ก็อาไศรยแห่งหทัยวาต, สัตถะกะวาต, สุมะนา, ทั้ง ๓ นี้เปนอาทิให้เปนเหตุในกองวาโยธาตุพิกัตสมุฏฐานกองหนึ่ง

(๓) อันว่าสมุฏฐานอาโปธาตุพิกัดนั้น เปนที่ตั้งแห่งทวาทะศะอาโป ซึ่งจะวิปริตเปนชาติจะละนะภินนะ ก็อาไศรยแห่งสอเสมหะ, แลอุระเสมหะ, คูธเสมหะ, ทั้ง ๓ นี้ เปนอาทิให้เปนเหตุในกองอาโปธาตุพิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง

(๔) อันว่าปถวีธาตุพิกัดนั้นเปนที่ตั้งแห่งวีสะติ ปถวีซึ่งจะวิปริตเปนชาติจะละนะภินนะก็อาไศรยแห่งหทัย, อุทริยะ, กรีศ, ทั้ง ๓ นี้ให้เปนเหตุเปนอาทิในกองปถวีธาตุพิกัตสมุฏฐานกองหนึ่ง ทั้ง ๔ กองนี้เปนมหาพิกัตสมุฏฐานธาตุหมวดหนึ่ง แพทย์พึงรู้ไว้ดังนี้

ลำดับนี้จะได้สำแดงในกองฤดูสมุฏฐานสืบไป ว่าด้วยสมุฏฐานฤดู ๓, ฤดู ๖, ดังนี้ คือคิมหะสมุฏฐาน ๑ วัสสานะสมุฏฐาน ๑ เหมันตะสมุฏฐาน ๑ อันนี้ฤดู ๓, ฤดูหนึ่ง ๔ เดือน, ๓ ฤดูเปนปี ๑, อันว่าสมุฏฐานฤดู ๖ นั้นเล่า คือคิมหันตะสมุฏฐาน ๑ วะสันตะสมุฏฐาน ๑ วัสสานะสมุฏฐาน ๑ สระทะสมุฏฐาน ๑ เหมันตะสมุฏฐาน ๑ ศิริระสมุฏฐาน ๑ อันนี้สมุฏฐานฤดู ๖ ฤดูหนึ่ง ๒ เดือน, ๖ ฤดูเปนปี ๑ ท่านแบ่งออกจากฤดู ๓ โดยวิเศษ จะให้แพทย์พึงรู้ในลักษณะอันจะขนาบคาบเกี่ยว ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์ธาตุวินิจฉัยมัชฌิมะธาตุนั้น ในที่นี้จะว่าแต่สมุฏฐานเปนอาทิ คือ

๑ คิมหันตะฤดูสมุฏฐานนั้น เปนพิกัดแห่งปิตตะสมุฏฐานให้เปนเหตุ

๒ วัสสานะสมุฏฐานนั้น เปนพิกัดแห่งวาตะสมุฏฐานให้เปนเหตุ

๓ เหมันตะสมุฏฐานนั้น เปนพิกัดแห่งเสมหะสมุฏฐานให้เปนเหตุ อันนี้คือพิกัดสมุฏฐานฤดู ๓ โดยย่อ

(๑) คิมหันตะสมุฏฐานนั้น เปนพิกัตแห่งปิตตะสมุฏฐาน เสมหะสมุฏฐานระคนให้เปนเหตุ

(๒) วสันตะสมุฏฐาน เปนพิกัดแห่งปิตตะสมุฏฐาน วาตะสมุฏฐานระคนให้เปนเหตุ

(๓) วัสสานะสมุฏฐานนั้น เปนพิกัตแห่งวาตะสมุฏฐาน ปิตตะสมุฏฐานระคนให้เปนเหตุ

(๔) สะระทะสมุฏฐานนั้น เปนพิกัตแห่งวาตะสมุฏฐาน เสมหะสมุฏฐานระคนให้เปนเหตุ

(๕) เหมันตะสมุฏฐานนั้น เปนพิกัตแห่งเสมหะสมุฏฐาน วาตะสมุฏฐานระคนให้เปนเหตุ

(๖) ศิศิระสมุฏฐานนั้น เปนพิกัตแห่งเสมหะสมุฏฐาน ปิตตะสมุฏฐานระคนให้เปนเหตุ อันนี้คือพิกัตกองสมุฏฐานฤดู ๖ โดยย่อ

ทีนี้จะว่าให้พิศดารในสมุฏฐาน ๓ นั้นก่อนเปนอาทิ

๑ อันว่าคิมหันตะสมุฏฐานนั้น คือแรมค่ำหนึ่งเดือน ๔ ไปถึงเพ็ญเดือน ๘ สมุฏฐานฤดู ๑ เปนพิกัตแห่งปิตตะใช่จะเต็มทั้ง ๔ เดือนนั้นหามิได้ แบ่งออกโดยพิเศษสมุฏฐาน แล ๓ แล ๓ ดังนี้

(๑) คือแรมค่ำหนึ่งเดือน ๔ ไปจนแรม ๑๐ ค่ำเดือน ๕ เปนตำแหน่งพัทธะปิตตะสมุฏฐาน แลพัทธะปิตตะจะได้ทำเองนั้นหามิได้ อาไศรยจตุกาลเตโชกองใดกองหนึ่งก็ดี ระคนพัทธะปิตตะสมุฏฐานเหตุว่าเปนเจ้าของ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเดิมเปนอาทิ โดยพิกัต

(๒) แรม ๑๑ ค่ำเดือน ๕ ไปจนถึงขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๗ เปนตำแหน่งอพัทธะปิตตะสมุฏฐาน แต่อพัทธะปิตตะจะได้เปนเต็มที่นั้นหามิได้ อพัทธะปิตตะกระทำกึ่ง กาละเตโชกระทำกึ่ง ระคนกัน ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเดิมโดยพิกัต

(๓) ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๗ ไปจนเพ็ญเดือน ๘ เปนตำแหน่งกำเดาสมุฏฐาน แลกำเดาจะได้ระคนด้วยกาละเตโชกองใดกองหนึ่งหามิได้ ด้วยเหตุว่ากำเดานี้ทั่วไปในสมุฏฐานทั้ง ๓ คือ พัทธะปิตตะ อพัทธะปิตตะกำเดา และว่าจะให้กายบริบูรณ์ก็เพราะกำเดา จะมิให้กายบริบูรณ์ก็เพราะกำเดา ถ้าจะแก้อย่าให้เสียกำเดาโดยพิกัด ท่านจึ่งจัดไว้ว่าใน ๔ เดือนนี้เปนกำหนดคิมหันตะสมุฏฐานแห่งกำเดา ด้วยว่ากำเดานี้คือเปลวแห่งวาโย โลหิต เสมหะแลสรรพคุณสมุฏฐานทั้งปวง ซึ่งจะวิบัติแลมิได้วิบัตินั้น ก็อาไศรยแห่งสมุฏฐานนี้ เปนที่บำรุงว่าจะให้วัฒนะแลหายะนะโดยแท้ ดุจพิกัดกล่าวไว้ดังนี้

๒ อันว่าวัสสานะสมุฏฐานนั้น คือแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ ไปจนเพ็ญเดือน ๑๒ สมุฏฐานฤดู ๑ เปนพิกัตวาโย ใช่จะเปนเต็มทั้ง ๔ เดือนนั้นหามิได้ แบ่งออกโดยวิเศษแล ๓ แล ๓ ดังนี้

(๑) คือแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ ไปจนแรม ๑๐ ค่ำเดือน ๙ เปนตำแหน่งหทัยวาตสมุฏฐาน แต่หทัยวาตจะได้ทำเองนั้นหามิได้ อาไศรยแห่งกาละวาโยกองใดกองหนึ่งก็ดี ระคนหทัยวาตสมุฏฐานเหตุเปนเจ้าของ ถ้าจะแก้อย่าเสียเดิมโดยพิกัด

(๒) อนึ่งแรม ๑๑ ค่ำเดือน ๙ ไปจนขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๑๑ เปนตำแหน่งสัตถะกะวาตะสมุฏฐานกระทำกึ่ง กาละวาโยกระทำกึ่ง ระคนกัน ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเติมโดยพิกัต

(๓) อนึ่งขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๑๑ ไปจนเพ็ญเดือน ๑๒ เปนตำแหน่งสุมะนาสมุฏฐาน จะได้ระคนด้วยกาละวาโยกองใดกองหนึ่งนั้นหามิได้ ด้วยเหตุว่าสุมะนานี้ทั่วไปในสมุฏฐานทั้ง ๓ คือ หทัยวาตะ สัตถะกะวาตะ สุมะนา แลอาจให้กระวนกระวายก็เพราะสุมะนา มิให้กระวนกระวายก็เพราะสุมะนา ถ้าจะแก้อย่าให้เสียสุมะนาสมุฏฐานเปนอาทิโดยพิกัต ท่านจึงจัดไว้ว่าใน ๔ เดือนนี้ เปนกำหนดวัสสานะสมุฏฐาน คือสมุฏฐานแห่งวาโยกล่าวคือ สุมะนา ด้วยว่าสุมะนานี้เปนหลักแห่งสมุฏฐาน ซึ่งจะวิบัติแลมิให้วิบัตินั้นก็อาไศรยสมุฏฐานนี้เปนที่บำรุงอาจให้วัฒนะ แลหายะนะไดโดยแท้ ดุจในพิกัดกล่าวไว้ดังนี้

๓ อันว่าเหมันตะสมุฏฐานหนึ่ง คือแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๒ ไปจนเพ็ญเดือน ๔ สมุฏฐานฤดูหนึ่งเปนพิกัตเสมหะ ใช่จะเปนเต็มทั้ง ๔ เดือนนั้นหามิได้ ท่านแบ่งออกโดยพิเศษละ ๓ ละ ๓ ดังนี้

(๑) คือแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๒ ไปจนแรม ๑๐ ค่ำเดือนอ้ายเปนตำแหน่งสอเสมหะสมุฏฐาน แต่สอเสมหะจะได้กระทำเองนั้นหามิได้ อาไศรยกาลปะระเมหะ คืออาโปเกรอะลงมาระคนสอเสมหะสมุฏฐาน เหตุว่าเปนเจ้าของ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเดิมโดยพิกัด

(๒) อนึ่งแรม ๑๑ ค่ำเดือนอ้ายไปจนขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๓ เปนตำแหน่งอุระเสมหะสมุฏฐานกระทำกึ่ง กาลปะระเมหะกระทำกึ่งระคนกัน ถ้าจะแกัอย่าให้เสียเจ้าของเดิมโดยพิกัต

(๓) อนึ่งขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๓ ไปจนเพ็ญเดือน ๔ เปนตำแหน่งคูธเสมหะสมุฏฐาน จะได้ระคนด้วยกาลปะระเมหะ คืออาโปกองใดกองหนึ่งนั้นหามิได้ ด้วยเหตุว่าคูธเสมหะนี้ทั่วไป นสมุฏฐานทั้ง ๓ คือสอเสมหะ อุระเสมหะ คูธเสมหะ แลอาจให้กายบริบูรณ์ ก็เพราะคูธเสมหะ มิให้บริบูรณ์ก็เพราะคูธเสมหะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียคูธสมุฏฐานเปนอาทิโดยพิกัต ท่านจึงจัดไว้ว่าใน ๔ เดือน นี้เปนกำหนดเหมันตะสมุฏฐาน เปนสมุฏฐานแห่งเสมหะคือคูธเสมหะ ด้วยว่าคูธเสมหะนี้เปนหลักแห่งสมุฏฐานซึ่งจะวิบัติแลมิได้วิบัตินั้น ก็อาไศรยแห่งสมุฏฐานนั้นเปนที่บำรุง อาจให้วัฒนะแลหายะนะได้โดยแท้ดุจท่านตราลงไว้ให้แจ้ง เปนมหาพิกัดในสมุฏฐานแห่งฤดู ๓ สิ้นความแต่เพียงนี้

ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๔ จนถึงเพ็ญเดือน ๘ เปนพิกัด ในคิมหันตสมุฏฐานกำเดา แบ่งออกแล ๓ แล ๓ ดังนี้ เปนพัทธปิตตะ ๔๐ วัน เปนอพัทธปิตตะ ๔๐ วัน เปนกำเดา๔๐ วัน, ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๘ จนถึงเพ็ญเดือน ๑๒ เปนพิกัดในวัสสานะสมุฏฐานวาโย แบ่งออกแล ๓ แล ๓ ดังนี้ หทัยวาต ๔๐ วัน สัตถกะวาต ๔๐ วัน สุมนา ๔๐ วัน ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๒ จนถึงเพ็ญเดือน ๔ เปนพิกัตในเหมันตสมุฏฐาน เสมหะแบ่งออกแล ๓ แล ๓ ดังนี้เปนสอเสมหะ ๔๐ วัน อุระเสมหะ ๔๐ วัน คูธเสมหะ ๔๐ วัน, หมวดละ ๔ เดือนคือ ๑๒๐ วันเปนพิกัดสมุฏฐานร้อน, ฝน, หนาว, ทั้ง ๓ สมุฏฐานนี้ ๓๖๐ วัน ๑๒ เดือนแบ่ง ๓ ฤดู ๆ ละ ๔ เดือนเปนปีหนึ่งดุจกล่าวมาดังนี้

ลำดับนี้จะได้พิศดารความในสมุฏฐาน ฤดู ๖ สืบไป

๑ คือตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๔ ไปจนเพ็ญเดือน ๖ ฤดูหนึ่งคือคิมหันตสมุฏฐาน ด้วยว่าเปนที่ร้อนกระวนกระวาย เปนปริฬาหะไสมย พิกัตแห่งปิตตะสมุฏฐาน เสมหะสมุฏฐานระคน ใช่จะเปนปิตตะทั้งฤดูนั้นหามิได้ จัดแบ่งออกโดยพิเศษสมุฏฐานแล ๓ แล ๓ ดังนี้

(๑) คือแรมค่ำหนึ่งเดือน ๔ ไปจนขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๕ เปนอำเภอพัทธปิตตะสมุฏฐาน แต่จะได้จะละนะนั้นหามิได้อาไศรยเสมหะสมุฏฐานกล้าระคนส่วน ๑ อพัทธปิตตะกล้าระคน ๒ ส่วน เปน ๓ ส่วน จัตุกาลเตโชเจือกระทบให้พัทธปิตตะสมุฏฐานเจ้าเรือนเปนจะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วนแก้เจือตามระคนโดยพิกัต

(๒) อนึ่งขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๕ ไปจนแรม ๑๐ ค่ำเดือน ๕ เปนอำเภออพัทธปิตตะสมุฏฐานจะละนะกล้า เสมหะสมุฏฐานเปนกลางระคนส่วน ๑ กำเดากล้าระคน ๒ ส่วน เปน ๓ ส่วน จัตุกาลเตโชเจือกระทบให้อพัทธปิตตะเจ้าเรือนยิ่งขึ้น ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัด

(๓) แรม ๑๑ ค่ำเดือน ๕ ไปจนเพ็ญเดือน ๖ เปนอำเภอกำเดาสมุฏฐานจะละนะกล้า เสมหะสมุฏฐานอ่อนระคนส่วน ๑ อพัฑธปิตตะกล้าระคน ๒ ส่วน เปน ๓ ส่วน จัตุกาลเตโชเจือกระทบกำเดาเจ้าเรือนให้จะละนะยิ่งขึ้น ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัตสิ้นสมุฏฐานฤดูหนึ่ง ๒ เดือน คือคิมหันตศิศิระระคนดุจกำหนดไว้ดังนี้

๒ อนึ่งตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๖ ไปจนเพ็ญเดือน ๘ ฤดูหนึ่งวสันตะสมุฏฐาน ด้วยว่าเปนที่อยู่แห่งความยินดี เพราะกาลเมื่อมีดอกไม้อันบานเปนพิกัดแห่งปิตตะสมุฏฐาน วาตะสมุฏฐานระคน ใช่จะเปนปิตตะทั้งฤดูนั้นหามิได้ จัดแบ่งออกโดยพิเศษสมุฏฐานแล ๓ แล ๓ ดังนี้

(๑) คือแรมค่ำหนึ่งเดือน ๖ ไปจนขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๗ เปนอำเภอพัทธปิตตะสมุฏฐานวาตะสมุฏฐานระคน ๒ ส่วน อพิทธปิตตะระคนส่วน ๑ เปน ๓ ส่วน จัตุกาลเตโชเจือกระทบ พัทธปิตตะเจ้าเรือนให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัต

(๒) ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๗ ไปจนแรม ๑๐ ค่ำเดือน ๗ เปนอำเภอพัทธปิตตะสมุฏฐานวาตะสมุฏฐาน ๒ ส่วน กำเดาระคน ๑ ส่วน เปน ๓ ส่วน จัตุกาลเตโชเจือกระทบอพัทธปิตตะเจ้าเรือนให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัด

(๓) แรม ๑๑ ค่ำเดือน ๗ ไปจนเพ็ญเดือน ๘ เปนอำเภอกำเดาสมุฏฐาน วาตะสมุฏฐานระคน ๓ ส่วน อพัทธปิตตะระคนบมิควร แก้วสันตะจัตุกาลเตโชเจือกระทบกำเดาเจ้าเรือนให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วนแก้เจือตามระคนโดยพิกัต สิ้นสมุฏฐานฤดูหนึ่ง ๒ เดือน คือวสันตะวัสสานะระคน สมุฏฐานแล ๒ เดือน ๒ เดือนทั้งสมุฏฐานซึ่งกล่าวมานี้เปน ๔ เดือนด้วยกันจัดเปนหมวด ๑ โดยพิกัตกองกำเดาสมุฏฐานให้เปนเหตุ

๓ อนึ่งตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๘ ไปจนเพ็ญเดือน ๑๐ ฤดูหนึ่งวัสสานะสมุฏฐานด้วยว่ามีฝนตกชุก เปนพิกัดแห่งวาตะสมุฏฐานปิตตะสมุฏฐานระคน ใช่จะเปนวาตะทั้งฤดูนั้นหามิได้ แบ่งออกโดยพิเศษสมุฏฐานแล ๓ แล ๓ ดังนี้

(๑) คือแรมค่ำหนึ่งเดือน ๗ ไปจนขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๙ เปนอำเภอหทัยวาตะสมุฏฐาน ปิตตะสมุฏฐานระคนส่วน ๑ สัตถกะวาตะระคน ๒ ส่วนเปน ๓ ส่วน ฉกาลวาโยเจือกระทบหทัยวาตะเจ้าเรือนให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วนแก้เจือตามระคนโดยพิกัต

(๒) ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๙ ไปจนแรม ๑๐ ค่ำเดือน ๙ เปนอำเภอสัตถกะวาตะสมุฏฐาน ปิตตะสมุฏฐานระคนส่วน ๑ สุมนาระคน ๒ ส่วนเปน ๓ ส่วน ฉกาลวาโยเจือกระทบสัตถกะวาตะเจ้าเรือนให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัต

(๓) อนึ่งแรม ๑๑ ค่ำเดือน ๙ ไปจนเพ็ญเดือน ๑๐ เปนอำเภอสุมนาสมุฏฐานกล้า ปิตตะสมุฏฐานอ่อนระคนส่วน ๑ สัตถกะวาตะระคน ๒ ส่วนเปน ๓ ส่วน ฉกาลวาโยเจือกระทบให้สุมนาเจ้าสมุฏฐานจะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัตสิ้นสมุฏฐานฤดูหนึ่ง ๒ เดือน คือวัสสานะวสันตะระคนสมุฏฐานซึ่งกำหนดไว้ดังนี้

๔ อนึ่งตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๐ ไปจนเพ็ญเดือน ๑๒ ฤดูหนึ่งสระทะสมุฏฐาน ด้วยว่าจะยังสัตว์ให้สะครั่นสะครอกายไม่สู้สบาย เปนพิกัตแห่งวาตะสมุฏฐาน เสมหะสมุฏฐานระคนใช่จะเปนวาตะทั้งฤดูนั้นหามิได้ จัดแบ่งโดยพิเศษออกสมุฏฐานแล ๓ แล ๓ ดังนี้

(๑) คือแรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๐ ไปจนขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๑๑ เปนหทัยวาตะสมุฏฐาน เสมหะสมุฏฐานระคน ๒ ส่วน สัตถกะวาตะระคนส่วน ๑ เปน ๓ ส่วน ฉกาลวาโยเจือกระทบหทัยวาตะให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของสมุฏฐานเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัต

(๒) ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๑๑ ไปจนแรม ๑๐ ค่ำเดือน ๑๑ เปนอำเภอสัตถกะวาตะสมุฏฐาน เสมหะสมุฏฐานระคน ๒ ส่วน สุมนาระคนส่วน ๑ เปน ๓ ส่วน ฉกาลวาโยเจือกระทบให้สัตถกะวาตะเปนจะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัต

(๓) แรม ๑๑ ค่ำเดือน ๑๑ ไปจนเพ็ญเดือน ๑๒ เปนอำเภอแห่งสุมนาสมุฏฐาน เสมหะสมุฏฐานระคน ๓ ส่วน สัตถกะวาตะระคนมิควรแก้ ฉกาลวาโยเจือกระทบสุมนาเจ้าเรือนให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของสมุฏฐานเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัต สิ้นสมุฏฐานฤดูหนึ่ง ๒ เดือน คือสระทะ เหมันต ระคนสมุฏฐานละ ๒ เดือน ๒ เดือน ทั้ง ๒ สมุฏฐานซึ่งกล่าวมานี้เปน ๔ เดือนด้วยกัน จ้ดเปนหมวด ๑ เปนมหาพิกัตกองวาตะสมุฏฐานให้เปนเหตุดังนี้

๕ อนึ่งตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๒ ไปจนเพ็ญเดือนยี่ฤดูหนึ่ง เปนพิกัตเหมันตสมุฏฐาน ด้วยว่าน้ำค้างตกลงเปนพิกัตแห่งเสมหะสมุฏฐาน วาตะสมุฏฐานระคนใช่จะเปนเสมหะทั้งฤดูนั้นหามิได้ จัดออกโดยพิเศษแบ่งสมุฏฐานแล ๓ แล ๓ ดังนี้

(๑) คือแรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๒ ไปจนขึ้น ๕ ค่ำเดือนอ้าย เปนอำเภอสอเสมหะสมุฏฐาน วาตะสมุฏฐานระคน ๒ ส่วน อุระเสมหะระคนส่วน ๑ เปน ๓ ส่วน กาลทวาทสะอาโปเจือกระทบสอเสมหะเจ้าเรือนให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัต

(๒) ขึ้น ๖ ค่ำเดือนอ้ายไปจนแรม ๑๐ ค่ำเดือนอ้าย เปนอำเภออุระเสมหะสมุฏฐาน วาตะสมุฏฐานระคน ๒ ส่วน คูธเสมหะระคนส่วน ๑ เปน ๓ ส่วน กาลทวาทสะอาโปเจือกระทบให้เจ้าสมุฏฐานคืออุระเสมหะนั้นให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัต

(๓) แรม ๑๑ ค่ำเดือนอ้ายไปจนเพ็ญเดือนยี่ เปนอำเภอคูธสมุฏฐานกล้า วาตะสมุฏฐานอ่อนระคนส่วน ๑ อุระเสมหะกล้าระคน ๒ ส่วนเปน ๓ ส่วน กาลทวาทสะอาโปเจือกระทบคูธเสมหะเจ้าสมุฏฐานให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัต สิ้นสมุฏฐานฤดูหนึ่ง ๒ เดือน คือคิมหันต สระทะ ระคนดุจสมุฏฐานกำหนดไว้ดังนี้

๖ อนึ่งตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือนยี่ ไปจนเพ็ญเดือน ๔ ฤดูหนึ่งศิศิระสมุฏฐาน ด้วยอรรถว่าเย็นนักเปนพิกัตแห่งเสมหะสมุฏฐานปิตตะสมุฏฐานระคน ใช่จะเปนเสมหะทั้งฤดูนั้นหามิได้ จัดแบ่งออกโดยพิเศษให้พิศดารสมุฏฐานแล ๓ แล ๓ ดังนี้

(๑) คือแรมค่ำ ๑ เดือนยี่ไปจนขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๓ เปนอำเภอสอเสมหะสมุฏฐาน ปิตตะสมุฏฐานระคนส่วน ๑ อุระเสมหะระคน ๒ ส่วนเปน ๓ ส่วน กาลทวาทสะอาโปเจือกระทบสอเสมหะเจ้าเรือนให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าเสียเจ้าของสมุฏฐานเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัต

(๒) ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๓ ไปจนแรม ๑๐ ค่ำเดือน ๓ เปนอำเภออุระเสมหะสมุฏฐาน ปิตตะสมุฏฐาน ระคน ๒ ส่วน คูธเสมหะระคนส่วน ๑ เปน ๓ ส่วน กาลทวาทสะอาโปเจือกระทบอุระเสมหะเจ้าเรือนให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัต

(๓) แรม ๑๑ ค่ำเดือน ๓ ไปจนเพ็ญเดือน ๔ เปนอำเภอคูธเสมหะสมุฏฐาน ปิตตะสมุฏฐานระคน ๓ ส่วน อุระเสมหะระคนมิควรแก้ กาลทวาทสะอาโปเจือกระทบคูธเสมหะเจ้าเรือนให้จะละนะ ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของสมุฏฐาน ๓ ส่วน แก้เจือตามระคนโดยพิกัต สิ้นสมุฏฐานฤดูหนึ่ง ๒ เดือน คือศิศิระคิมหันตระคนสมุฏฐานแล ๒ เดือน ๒ เดือน ทั้ง ๒ สมุฏฐานนี้เปน ๔ เดือน โดยกำหนดจัดเปนหมวด ๑ ในมหาพิกัตกองเสมหะสมุฏฐาน ให้เปนเหตุก็พอครบสมุฏฐานฤดู ๖ พอได้ ๑๒ เดือน ถ้าจัดเปน ๓ ฤดู ก็ได้ฤดูละ ๔ เดือน ๓ ฤดูเปนปีหนึ่ง ดุจท่านตราไว้ดังนี้

คิมหันตสมุฏฐาน แบ่งแล ๓ ออกดังนี้ พัทธปิตตะสมุฏฐาน ๒๐ วัน อพัทธปิตตะสมุฏฐาน ๒๐ วัน กำเดา ๒๐ วัน

วสันตสมุฏฐาน แบ่งแล ๓ ออกดังนี้ พัทธปิตตะสมุฏฐาน ๒๐ วัน อพัทธปิตตะสมุฏฐาน ๒๐ วัน กำเดาสมุฏฐาน ๒๐ วัน

วัสสานะสมุฏฐาน แบ่งแล ๓ ออกดังนี้ หทัยวาตะสมุฏฐาน ๒๐ วัน สัตถกะวาตะสมุฏฐาน ๒๐ วัน สุมนาสมุฏฐาน ๒๐ วัน

สะระทะสมุฏฐาน แบ่งแล ๓ ออกดังนี้ หทัยวาตะสมุฏฐาน ๒๐ วัน สัตถกะวาตะสมุฏฐาน ๒๐ วัน สุมนาสมุฏฐาน ๒๐ วัน

เหมันตสมุฏฐาน แบ่งแล ๓ ออกดังนี้ สอเสมหะสมุฏฐาน ๒๐ วัน อุระเสมหะสมุฏฐาน ๒๐ วัน คูธเสมหะสมุฏฐาน ๒๐ วัน

ศิศิระสมุฏฐาน แบ่งแล ๓ ออกดังนี้ สอเสมหะสมุฏฐาน ๒๐ วัน อุระเสมหะสมุฏฐาน ๒๐ วัน คูธเสมหะสมุฏฐาน ๒๐ วัน

หมวดละ ๒ เดือน คือ ๖๐ วัน เปนพิกัตสมุฏฐานร้อน, หนาว, ฝน. ร้อน, หนาว, ฝน. ทั้ง ๖ สมุฏฐานนี้ ๓๖๐ วัน ๑๒ เดือนดุจกัน แบ่ง ๖ ฤดู ฤดูละ ๒ เดือน เปนปี ๑ ดุจกล่าวมาดังนี้

ลำดับนี้จะได้สำแดงในกองอายุสมุฏฐานโรค อันบังเกิดขึ้นตามในมหาพิกัต ซึ่งเปนพาลทารก, ปานกลาง, ผู้เฒ่า, นั้นสืบต่อไป ถ้าแลบุคคลผู้ใดจะเปนแพทย์ ให้พึงรู้ในกองอายุสมุฏฐานโรคโดยในมหาพิกัตกล่าวต่อไปข้างน่านั้น อันว่ากุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดา มีอายุได้วัน ๑ ขึ้นไปอยู่ในพิกัตเสมหะเปนที่ตั้งแห่งโทษ ครั้นถึงกึ่งอายุแล้ว อยู่ในพิกัตปิตตะสมุฏฐานเปนที่ตั้งแห่งโทษ ครั้นล่วงเข้าอะวะสานอายุแล้วอยู่ในพิกัตวาตะสมุฏฐานเปนที่ตั้งแห่งโทษ ถ้าแพทย์เห็นในกองอายุสมุฏฐานโรค ๓ ประการดังนี้แล้ว ก็พึงประกอบโอสถให้ต้องในสมุฏฐานดังกล่าวมานี้

(๑) อันว่าบุคคลผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดา มีอายุได้วันหนึ่งขึ้นไปถึง ๑๖ ปีเปนกำหนด ถ้าจะเปนโทษในสมุฏฐานอันใดอันหนึ่งก็ดี เสมหะเปนเจ้าเรือนเจือไปในสมุฏฐานทั้งปวง ถ้าจะให้โทษก็มีกำลังกว่าสมุฏฐานทั้งหลาย

(๒) บุคคลผู้ใดมีอายุล่วง ๑๖ ปีขึ้นไป จนถึง ๓๐ ปีเปนกำหนด ถ้าจะเปนโทษในสมุฏฐานอันใดก็ดี ปิตตะเจ้าสมุฏฐานย่อมเจือไปในกองสมุฏฐานทั้งปวง ถ้าจะให้โทษก็มีกำลังกว่าสมุฏฐานทั้งปวง

(๓) บุคคลผู้ใดมีอายุล่วงพ้น ๓๐ ปีขึ้นไป ตราบเท่าอายุไขยเปนกำหนด ถ้าจะเปนโทษในสมุฏฐานอันใดก็ดี วาตะเปนเจ้าสมุฏฐาน ย่อมเจือไปในกองสมุฏฐานทั้งปวง ถ้าจะให้โทษก็มีกำลังกว่าสมุฏฐานทั้งหลาย

ถ้าแพทย์รู้แก้ในกองอายุสมุฏฐานโรคทั้ง ๓ ประการดังนี้แล้ว ก็พึงประกอบซึ่งโอสถตามอายุโรคอันสมควรแก่สมุฏฐานพิกัต แพทย์ผู้นั้นจึงจะอาจยังโรคาพยาธิให้ฉิบหายโดยเร็วพลันยิ่งนัก แลอายุสมุฏฐานทั้ง ๓ นี้ยังไป่มิได้วิตถารในบท ว่าอายุเสมหะปิตตะวาตะสมุฏฐานอันใดจะก่อนจะกลางจะหลัง แลกำลังสมุฏฐานที่จะให้โทษนั้น อันใดจะมีกำลังเท่าใด ยังบมิได้แจ้งในมหาพิกัตก่อน พระอาจาริย์เจ้าจึงออกในบทว่า

๑ ตั้งแต่อายุ ๑๖ ปีลงมาเปนอายุเสมหะ ถ้าบังเกิดพยาธิมีกำลัง ๑๒ องษาเปนกำหนด โรคสิ่งใดๆ ลงในระหว่างอายุสมุฏฐานนี้ ให้ตั้งเสมหะเปนอาทิ ดุจในพิกัตกล่าวไว้

๒ ตั้งแต่อายุ ๓๐ ปีลงมา เปนอายุปิตตะมีกำลัง ๗ องษาเปนกำหนด ถ้าบังเกิดพยาธิโรคสิ่งใดๆ ลงในระหว่างอายุสมุฏฐานนี้ ให้ตั้งปิตตะเปนอาทิ ดุจในพิกัตกล่าวไว้ดังนี้

๓ ตั้งแต่อายุไขยลงมาเปนอายุวาตะ มีกำลัง ๑๐ องษาเปนกำหนด ถ้าบังเกิดพยาธิโรคสิ่งใดๆ ในระหว่างอายุสมุฏฐานนี้ ให้ตั้งวาตะเปนอาทิ ดุจในพิกัตกล่าวดังนี้

(๑) ไนยหนึ่งท่านกล่าวซ้ำไว้ให้แจ้งโดยพิศดารว่า ถ้าบุคคลผู้ใดไข้ลง อายุตกอยู่ในระหว่างเสมหะสมุฏฐาน ให้ตั้งเสมหะเปนอาทิ วาตะเปนที่สุด

(๒) ถ้าบุคคลผู้ใดไข้ลง อายุตกอยู่ในระหว่างวาตะสมุฏฐาน ให้ตั้งวาตะเปนต้น ปิตตะเปนที่สุด

(๓) ถ้าบุคคลผู้ใดไข้ลง อายุตกอยู่ในระหว่างปิตตะสมุฏฐาน ให้ตั้งปิตตะเปนต้น เสมหะเปนที่สุด

สมุฏฐานทั้ง ๓ นี้จะได้ยืนอยู่นั้นหามิได้ เปนอนุโลมปติโลมมิได้เที่ยง ผ่อนตามอายุโรคโดยพิกัตดังนี้

จึงมีคำปุจฉาถามว่า ซึ่งกล่าวไว้ว่าเสมหะสมุฏฐานมีกำลัง ๑๒ องษา ปิตตะสมุฏฐานมีกำลัง ๗ องษา วาตะสมุฏฐานมีกำลัง ๑๐ องษานั้นก็ควรอยู่แล้ว แต่อายุสมุฏฐานกับกำลังสมุฏฐานจะได้ควรแก่กันนั้นหามิได้ ด้วยอายุสิมากอันกำลังสิน้อยก็สมจริงกันเปนดังฤๅ วิสัชนาว่า ใช่ดังที่กล่าว ด้วยอายุสมุฏฐานนี้ท่านสงเคราะห์เอาซึ่งอายุให้เปนเหตุ ๓ ประการ คือ ปฐมไวย ๑ มัชฌิมไวย ๑ ปัจฉิมไวย ๑ ไวยทั้ง ๓ นี้เปนที่ตั้งแห่งสมุฏฐานซึ่งกล่าวมาแล้ว เพื่อจะให้แพทย์ประกอบโอสถให้ต้องตามกาลอายุดังนี้ แลกำลังสมุฏฐานนั้นท่านสงเคราะห์เอากำลังแห่งโรคที่จะบังเกิด โดยประเภทสมุฏฐานทั้งหลาย ให้แพทย์พึงรู้ในกำหนดกำลังโทษ ว่าสมุฏฐานนั้นมีกำลังเท่านั้น กำลังทั้ง ๓ นี้ไป่บมิแจ้งในกาลใดแพทย์ก็บมิรู้ในกำลังแห่งไข้ในกาลนั้น เหตุดังนี้จึงกล่าวระคนเข้าไว่ในกองอายุสมุฏฐาน หวังจะให้แจ้งไปในกำลังไข้ ๓๐ วัน ที่แพทย์สมมุติว่าไข้สันนิบาต ใช่แต่เท่านั้นหามิได้ อันกำลังสมุฏฐานนี้มิได้ผ่อนตามอายุ ถ้าแลพยาธิโรคบังเกิดขึ้นในระหว่างสมุฏฐานอันใดๆ ก็ดี ให้ตั้งปิตตะสมุฏฐานเปนต้น วาตะสมุฏฐานเปนที่สุด คือให้นับแต่วันแรกล้มไข้ลงนั้นเปนกำหนดให้เที่ยงโดยกำลังสมุฏฐานนี้ คือปิตตะกำลัง ๗ องษา เสมหะกำลัง ๑๒ องษา วาตะกำลัง ๑๐ องษา ผสมเข้าด้วยกันทั้ง ๓ สมุฏฐาน เปน ๒๙ องษา มีเศษ ๑ บมิควรแก่นับ ด้วยเหตุว่าเปนองษาอดีต อนาคตระคน ถ้าจะนับก็ ๓๐ องษา คือเดือน ๑ สงเคราะห์ให้แจ้งในโทษอันจะประชุมกล่าวคือกองสันนิบาต ถ้ากำลังสมุฏฐานทั้ง ๓ นี้ระคนกันเข้าเมื่อใด จัดได้ชื่อว่าพิกัตกองสันนิบาตเมื่อนั้น ถ้ายังไป่บมิพร้อมกันขณะใด ก็ยังมิได้ชื่อว่าพิกัตแห่งกองสันนิบาตขณะนั้น เหตุว่าเจือระคนพร้อมกันทั้ง ๓ ถึงกำหนดแลหย่อนกว่ากำหนดดุจมีไปข้างน่านั้น

อนึ่ง อันว่ากำลังปิตตะสมุฏฐานโรคบังเกิดแต่วันล้มไข้ลงองษา ๑ ไปถึง ๗ องษาเปนกำหนด แลไป่บมิได้ถอยแลคลาย รุ่งขึ้นเปน ๘ องษา ตกเข้าในระหว่างเสมหะสมุฏฐาน โรคบังเกิดปิตตะเจือไป ๒ ส่วนจนถึง ๑๒ องษา เข้ากันทั้งปิตตะเสมหะสมุฏฐาน ๑๙ องษาเปนกำหนดไป่บมิได้ถอยแลคลาย รุ่งขึ้นเปน ๒๐ องษา ตกเข้าในระหว่างวาตะสมุฏฐาน โรคปิตตะเจือติดไปส่วน ๑ เสมหะเจือไป ๒ ส่วนจนถึง ๑๐ องษา เข้ากันทั้งปิตตะเสมหะสมุฏฐาน ๒๙ องษา เปนกำหนด ไป่บมิถอยแลคลาย รุ่งขึ้นเปน ๓๐ องษา แล้วจึ่งตกไประหว่างสันนิบาตซึ่งท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ทั้งหลาย มีปฐมสันนิบาตเปนต้น ตะติยะภินนะสันนิบาตเปนที่สุด แพทย์วิจารณปัญญาศึกษาให้แจ้งในคัมภีร์สมุฏฐานนี้ท่านกล่าวไว้ว่า แต่กองมหาพิกัตสมุฏฐานอันจะบังเกิดนั้นโดยในอายุโรคดุจสังเขปไว้ตามวิธีก็จบแต่เพียงนี้

ลำดับนี้จะได้สำแดงในกองกาลสมุฏฐานสืบต่อไป ว่าด้วยเวลาอันเจือระคนกันกำเริบในกำหนดทุ่มแลโมงทั้งปวง คือวันหนึ่ง ๑๒ โมง คืนหนึ่ง ๑๒ ทุ่ม แบ่งออกแล ๓ แล ๓ เปน ๖ สมุฏฐานดุจกันดังนี้ คือย่ำรุ่งแล้วไปจน ๔ โมง สมุฏฐาน ๑ แต่ ๕ โมงไปจนบ่าย ๒ โมง สมุฏฐาน ๑ แต่บ่าย ๓ โมงไปจนย่ำค่ำ สมุฏฐาน ๑, แต่ย่ำค่ำแล้วไปจน ๔ ทุ่ม สมุฏฐาน ๑ แต่ ๕ ทุ่มไปจน ๘ ทุ่ม สมุฏฐาน ๑ แต่ ๙ ทุ่มไปจนย่ำรุ่ง สมุฏฐาน ๑ กลางวันกลางคืนเปน ๖ สมุฏฐาน แบ่งดุจกันดังนี้

(๑) ตั้งแต่ย่ำรุ่งแล้วไปจนถึง ๔ โมงนั้น เปนพนักงานแห่งเสมหะพิกัตกระทำ

(๒) ตั้งแต่๕ โมงไปจนถึงบ่าย ๒ โมงนั้น เปนพนักงานแห่งปิตตะพิกัตกระทำ

(๓) ตั้งแต่บ่าย ๓ โมงไปจนถึงย่ำค่ำนั้น เปนพนักงานแห่งวาตะพิกัตกระทำ กลางคืนก็ให้แบ่งกันดุจกลางวันโดยกำหนดไว้ดังนี้

อันว่ากาลสมุฏฐานทั้ง ๓ นี้เปนสาธารณะทั่วไปในกองโรคทั้งปวง ถ้าโรคอันใดบังเกิดขึ้นในระหว่างธาตุสมุฏฐานอันใดๆ ก็ดี ให้ตั้งเสมหะในกาลเมื่อย่ำรุ่งแล้วนั้นเปนอาทิตามในพิกัตกล่าวไว้

(๑) อันว่าเสมหะกำเริบนั้น ในกาลเมื่อเช้าก็ดี เมื่อบริโภคอาหารแล้วก็ดี ในเมื่อพลบค่ำก็ดี เปนกระทรวงกาลสมุฏฐานเสมหะกระทำ

(๒) อันว่าปิตตะกำเริบนั้น ในกาลเมื่อตวันเที่ยงก็ดี ในกาลเมื่ออาหารยังไป่บมิย่อยยับนั้นก็ดี ในกาลเมื่อเที่ยงคืนก็ดี ทั้ง ๓ นี้เปนกระทรวงกาลสมุฏฐานปิตตะกระทำ

(๓) อันว่าวาตะกำเรีบนั้น ในกาลเมื่อตวันบ่ายก็ดี ในกาลเมื่ออาหารย่อยย้บแล้วก็ดี แลในกาลเมื่อนอนหลับก็ดี ทั้ง ๓ นี้เปนกระทรวงกาลสมุฏฐานวาตะกระทำ ให้แพทย์พึงจำกำหนดไว้ จะได้วางยาให้ควรแก่กาลสมุฏฐานเวลาอันกำเริบนั้น โดยในพิกัตกล่าวไว้ดังนี้

อนึ่งซึ่งว่าไว้ว่า เสมห, ปิตตะ, วาตะ, สมุฏฐานกระทำตามในเวลาอันกล่าวแล้วแต่หลังนั้น ก็ต้องกันกับที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์เวชศาสตร์ทั้งหลาย แต่จะเอาเปนประมาณนั้นยังมิได้ก่อน ด้วยเหตุว่าสมุฏฐานซึ่งกล่าวมาแล้วนั้นเปนธรรมดายังไป่บมิสำเร็จในกาลสมุฏฐานโทษทั้ง ๓ อันจะเจือระคนกันเปนชาติจะละนะ ภินนะให้แพทย์พึงรู้ในสมุฏฐานวิธีอธิบายนี้ ว่าโทษนั้นมีอยู่ ๓ ถาน คือ เอกโทษถานหนึ่ง ทุวันโทษถานหนึ่ง ตรีโทษถานหนึ่งเปน ๓ ถานดังนี้ จะสำแดงในสมุฏฐานชาติเอกโทษนั้นก่อน

(จบสมุฏฐานวินิจฉัยเล่ม ๑)

------

(สมุฏฐานวินิจฉัยเล่ม ๒)

(๑) คือย่ำรุ่งแล้ว บาท ๑ ไปจนโมง ๑ เสมหะสมุฏฐานเปนเจ้าของทำอยู่ ๒ ส่วน วาตะเวลาใกล้รุ่งเจือระคนมากระทำอยู่ส่วน ๑ สิ้นกำลังวาตะระคนแต่ ๒ โมง ไปจน ๓ โมง เสมหะกระทำเต็มทั้งสมุฏฐาน จะได้เจือระคนอันใดหามิได้ แต่ ๓ โมง แล้วไปจน ๔ โมง เสมหะเจ้าของสมุฏฐานทำอยู่ ๒ ส่วน ปิตตะเวลากลางวันเจือระคนมาทำอยู่ส่วน ๑ อันนี้พิกัตสมุฏฐานเสมหะในเวลาเช้า ๔ โมงเปนอาทิ

(๒) ตั้งแต่ ๔ โมงแล้วบาท ๑ ไปจน ๕ โมง ปิตตะสมุฏฐานเจ้าของกระทำอยู่ ๒ ส่วน เสมหะเวลาเช้าเจือระคนมาทำอยู่ส่วน ๑ แต่ ๕ โมงไปจน ๖ โมงที่โหราจาริย์เรียกว่าเที่ยงนั้น คือกึ่งวันไปจนบ่ายโมง ๑ ปิตตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำเต็ม ไม่ได้เจือระคนอันใด แต่บ่ายโมง ๑ แล้วกับบาท ๑ ไปจนบ่าย ๒ โมง ปิตตะเจ้าของกระทำอยู่ ๒ ส่วน วาตะเวลาเย็นเจือระคนมากระทำอยู่ส่วน ๑ อันนี้พิกัตสมุฏฐานปิตตะเวลากลางวัน ๔ โมงเปนอาทิ

(๓) ตั้งแต่บ่าย ๒ โมงแล้วบาท ๑ ไปจนบ่าย ๓ โมง วาตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำอยู่ ๒ ส่วน ปิตตะเวลากลางวันติดเจือมาระคนกระทำอยู่ส่วน ๑ สิ้นกำลังปิตตะแต่บ่าย ๔ โมงไปจนบ่าย ๕ โมง วาตะเจ้าของกระทำเต็มทั้งสมุฏฐานไม่ได้ระคนอันใดอันหนึ่ง แต่บ่าย ๕ โมงไปจนบ่าย ๖ โมง ที่โหราจาริย์เรียกว่าย่ำค่ำนั้นคือสิ้นวันหนึ่ง วาตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำอยู่ ๒ ส่วน เสมหะเวลาค่ำเจือมาระคนอยู่ส่วน ๑ อันนี้พิกัตสมุฏฐานวาตะในเวลาเย็น ๔ โมงเปนอาทิ

อนึ่งแต่ค่ำแล้วไปจน ๑๒ ทุ่ม ที่โหราจาริย์เรียกว่าย่ำรุ่งนั้น คือสิ้นคืน ๑ ไป่บมิได้กล่าว ด้วยแบ่งออก ๓ สมุฏฐานเจือระคนดุจกัน มิได้คลาดเคลื่อนดังกลางวันเปนอันสำเร็จ ก็เข้าเปน ๖ สมุฏฐาน ท่านจัดเปนกองธาตุเอกกาลโทษสมุฏฐานพิกัตหมวด ๑ ดุจท่านตราลงไว้ดังนี้

(๑) อันว่าจะละนะสมุฏฐานทุวันโทษนั้น คือย่ำรุ่งแล้วบาท ๑ ไปจนโมง ๑ เสมหะเปนเจ้าของสมุฏฐานกระทำอยู่ส่วน ๑ วาตะใกล้รุ่งเจือมากระทำอยู่ ๒ ส่วน แต่โมง ๑ ไปถึง ๒ โมง เสมหะกระทำขึ้น ๒ ส่วน วาตะผ่อนเจือทำอยู่แต่ส่วน ๑ สิ้นกำลังวาตะแต่ ๒ โมงไปจนถึง ๓ โมง เสมหะเจ้าสมุฏฐานทำอยู่ ๒ ส่วน ปิตตะในกลางวันเจือระคนเข้ามาทำอยู่ส่วน ๑ แต่ ๓ โมง ไปจน ๔ โมงเสมหะถอยกระทำอยู่แต่ส่วน ๑ ปิตตะเจือกระทำขึ้น ๒ ส่วน อันนี้เปนพิกัตเสมหะกาลรุ่งเช้าสมุฏฐาน ๑ ใน ๔ โมงเปนอาทิ

(๒) ตั้งแต่ ๔ โมงแล้ว ๑ บาทไปจนถึง ๕ โมง ปิตตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำอยู่แต่ส่วน ๑ เสมหะในเช้ายังติดเจือมาทำอยู่ ๒ ส่วน แต่ ๕ โมงไปถึง ๖ โมงคือเที่ยงนั้น ปิตตะเจ้าสมุฏฐานกระทำขึ้น ๒ ส่วน เสมหะยังติดไปเจือระคนทำอยู่แต่ส่วน ๑ สิ้นกำลังเสมหะ แต่เที่ยงไปจนถึงบ่าย ๑ โมง ปิตตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำอยู่แต่ ๒ ส่วน วาตะในเวลาเย็นเจือระคนมาทำเข้าส่วน ๑ แต่บ่ายโมง ๑ ไปจนบ่าย ๒ โมง ปิตตะเจ้าสมุฏฐานถอยกระทำอยู่แต่ส่วน ๑ วาตะเจือทำขึ้น ๒ ส่วน อันนี้เปนพิกัตปิตตะในกาลเมื่อกลางวัน สมุฏฐานหนึ่งใน ๔ โมงเปนอาทิ

(๓) ตั้งแต่บ่าย ๒ โมงแล้วบาท ๑ ไปจนถึงบ่าย ๓ โมง วาตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำอยู่ส่วน ๑ ปิตตะในกลางวันยังติดเจือมาทำอยู่ ๒ ส่วน แต่บ่าย ๓ โมงไปจนถึงบ่าย ๔ โมง วาตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำขึ้น ๒ ส่วน ปิตตะยังไปเจือระคนทำอยู่แต่ส่วน ๑ สิ้นกำลังปิตตะแต่บ่าย ๔ โมงไปจนบ่าย ๕ โมง วาตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำอยู่แต่ ๒ ส่วน เสมหะในเวลาค่ำเจือมาระคนทำเข้าส่วน ๑ แต่บ่าย ๕ โมงไปจนย่ำค่ำ วาตะเจ้าของสมุฏฐานถอยกระทำอยู่แต่ส่วน ๑ เสมหะเจือมาระคนทำขึ้น ๒ ส่วน อันนี้พิกัตสมุฏฐานวาตะในเวลาเย็น สมุฏฐานหนึ่ง ๔ โมงเปนอาทิ ทั้งทิวาราตรีให้แบ่งดุจกันเปน ๖ สมุฏฐาน จัดเปนกองจะละนะสมุฏฐานทุวันโทษหมวด ๑ ดุจตราไว้ดังนี้

๑ อนึ่งอันว่าภินนะสมุฏฐานตรีโทษนั้น คือย่ำรุ่งแล้วบาท ๑ ไปจนถึงเช้าโมง ๑ เสมหะเจ้าของสมุฏฐานกระทำอยู่ส่วน ๑ วาตะในเวลาใกล้รุ่งเจือมาระคนทำอยู่ด้วย ๔ ส่วน ปิตตะในกลางวันเจือระคนมาทำอยู่แต่ส่วน ๑ แต่เช้าโมง ๑ ไปจนถึง ๒ โมงเสมหะเจ้าสมุฏฐานกระทำขึ้น ๒ ส่วน วาตะถอยลงมาเจือระคนอยู่แต่ ๓ ส่วน ปิตตะเจือมาทำขึ้น ๒ ส่วน แต่ ๒ โมงเช้าไปจน ๓ โมงเช้า เสมหะเจ้าของสมุฏฐานกระทำอยู่แต่ ๒ ส่วน วาตะเจือมาระคนทำอยู่ด้วย ๒ ส่วน ปิตตะเจือระคนมาทำขึ้น ๓ ส่วน แต่ ๓ โมงเช้าไปจนถึง ๔ โมง เสมหะเจ้าของสมุฏฐานถอยกระทำลงอยู่แต่ส่วน ๑ วาตะถอยเจือระคนส่วน ๑ ปิตตะในกลางวันเจือระคนมาทำ ๔ ส่วน อันนี้เปนพิกัตในกองเสมหะสมุฏฐาน ๔ โมงเปนอาทิ

๒ ตั้งแต่ ๔ โมงเช้าแล้วจนถึง ๕ โมงเช้า ปิตตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำอยู่ส่วน ๑ เสมหะเจือระคนกระทำ ๔ ส่วน วาตะเจือกระทำส่วน ๑ แต่ ๕ โมงเช้าไปถึงเที่ยง ปิตตะเจ้าสมุฏฐานกระทำ ๒ ส่วน เสมหะเจือระคนกระทำ ๓ ส่วน วาตะเจือระคนกระทำ ๒ ส่วน แต่เที่ยงแล้วไปจนถึงบ่ายโมง ๑ ปิตตะเจ้าสมุฏฐานกระทำ ๒ ส่วน เสมหะเจือระคนกระทำ ๒ ส่วน วาตะเจือระคนกระทำ ๓ ส่วน ไปจนถึงบ่าย ๒ โมง ปิตตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำส่วน ๑ เสมหะเจือระคนกระทำส่วน ๑ วาตะเจือระคนกระทำ ๔ ส่วน อันนี้พิกัตในกองปิตตะสมุฏฐาน ๔ โมงเปนอาทิ

๓ ตั้งแต่บ่าย ๒ โมงแล้วบาท ๑ ไปจนถึงบ่าย ๓ โมง วาตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำอยู่ส่วน ๑ ปิตตะในกลางวันเจือมาทำอยู่ด้วย ๔ ส่วน เสมหะในเวลาค่ำเจือมาทำอยู่แต่ส่วน ๑ แต่บ่าย ๓ โมงไปจนบ่าย ๔ โมง วาตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำขึ้น ๒ ส่วน ปิตตะถอยระคนทำอยู่แต่ ๓ ส่วน เสมหะเจือระคนมาทำขึ้น ๒ ส่วน แต่บ่าย ๔ โมงไปจนบ่าย ๕ โมง วาตะเจ้าของสมุฏฐานกระทำอยู่แต่ ๒ ส่วน ปิตตะยังเจือระคนมาทำอยู่แต่ ๒ ส่วน เสมหะเจือทวีทำขึ้น ๓ ส่วน แต่บ่าย ๕ โมงไปจนย่ำค่ำ วาตะเจ้าของสมุฏฐานถอยกระทำแต่ส่วน ๑ ปิตตะถอยระคนมาทำอยู่ส่วน ๑ เสมหะทวีเจือระคนทำขึ้น ๔ ส่วนเปนกำหนด อันนี้พิกัตกองสมุฏฐานวาตะในกาลเวลาเย็น สมุฏฐานหนึ่ง ๔ โมง เปนอาทิ ทั้งทิวาราตรีก็ให้แบ่งดุจกล่าวแล้วแต่หนหลัง ประสมกันเปน ๖ สมุฏฐาน ท่านจึ่งจัดเข้าเปนกองภินนะสมุฏฐานตรีโทษหมวดหนึ่ง โดยไนยท่านตราลงไว้สิ้นแต่เพียงนี้

ไนยหนึ่งท่านกล่าวไว้ว่า ในกาลสมุฏฐานโทษทั้ง ๓ ซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น บมิได้สำเร็จในระหว่างทุ่มโมงบาทนั้น ด้วยกาลสมุฏฐานนี้ผ่อนผันตามสุริยเทวบุตรอันเสด็จโดยทวาทศราษีซึ่งจะเอาเปนประมาณนั้นยังไม่ได้ก่อน เหตุว่าในที่นี้จะได้ปรากฎหามิได้ แจ้งอยู่ในพระคัมภีร์อังคาพยพธาตุบัญจกโน้น พระอาจาริย์เจ้าท่านยกออกมาสาธกลงไว้ในพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยนี้โดยสังเขปแต่ละน้อย เพื่อจะสงเคราะห์แก่แพทย์ให้แจ้ง จะได้ตรึกตรองสอบสวนตามอนุมาณปัญญาอันปรีชา ให้เห็นในห้องจักรราษีแลห้องสมุฏฐานทั้งหลายโดยแท้ แล้วจึงจะเห็นในกองโรคพิบัติที่จะแปรปรวนนั้นแม่นยำ จะได้ประกอบซึ่งโอสถที่จะบําบัติพยาธิโรคให้ต้องในมหาพิกัตสมุฏฐานทั้งปวง แลอันสมุฏฐานทั้ง ๔ คือธาตุ, ฤดู, อายุ, กาล, สมุฏฐานซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น จะยกเอาแต่สมุฏฐานใดสมุฏฐานหนึ่งขึ้นเปนประมาณยังบมิได้ ด้วยเปนที่อาไศรยซึ่งกันแลกัน แต่ฤดูสมุฏฐานนี้จะได้ผ่อนผันตามสมุฏฐานทั้งปวงนั้นหามิได้ อาไศรยแต่กระทบเปนจะละนะสมุฏฐานพิบัติทั้ง ๓ ตั้งแต่กาลสมุฏฐานนั้น ท่านยกออกจัดเปนกาลสมุฏฐานโทษ ถ้าจะประกอบซึ่งโอสถแก่ให้ต้องในกาลสมุฏฐานโทษทั้ง ๓ ดุจสำแดงไว้แต่หลังจึงจะควร แล้วจึงแก้ตามลำดับสมุฏฐานทั้งปวงต่อภายหลัง แพทย์ทั้งหลายพึงรู้ตามพิกัตกล่าวไว้

อนึ่งท่านกล่าวไว่ในสมุฏฐานทั้ง ๔ ประการแต่หนหลัง ซึ่งกำเริบ, หย่อน, พิการ, นั้นยังไป่บมิได้แจ้ง พระอาจาริย์เจ้าจึงสำแดงในสมุฏฐานวิธีโดยพิเศษ ตามสุริยคติดำเนินในห้องจักรราษีเปนกำหนดดังนี้

๑ อันว่าพระอาทิตย์สถิตย์ในราษี เมษ, สิงห์, ธนู, เปนราษีเตโช

๒ พระอาทิตย์สถิตย์ในราษี พฤศภ, กันย์, มังกร, เปนราษีปถวี

๓ พระอาทิตย์สถิตย์ในราษี เมถุน, ดุล, กุมภ์, เปนราษีวาโย

๔ พระอาทิตย์สถิตยํในราษี กรกฎ, พิจิกร, มิน, เปนราษีอาโป

(๑) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๔ ไปจนเพ็ญเดือน ๕ เปนกำหนดพระอาทิตย์อยู่ในราษีเมษ เตโชสมุฏฐานกำเริบ พัทธะปิตตะระคนให้เปนเหตุ

(๒) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๘ ไปจนถึงเพ็ญเดือน ๙ เปนกาลกำหนดพระอาทิตย์อยู่ในราษีสิงห เตโชเจ้าสมุฏฐานหย่อน อพัทธะปิตตะระคนให้เปนเหตุ

(๓) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๒ ไปจนถึงเพ็ญเดือนอ้าย เปนกาลกำหนดพระอาทิตย์อยู่ในราษีธนู เตโชเจ้าสมุฏฐานพิการกำเดาระคนให้เปนเหตุ ทั้ง ๓ สมุฏฐานนี้พิกัตราษีเตโช โดยไนยดังกล่าวมานี้

(๑) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๕ ไปจนถึงเพ็ญเดือน ๖ เปนกาลกำหนดแห่งพระอาทิตย์อยู่ในราษีพฤศภ ปถวีเจ้าสมุฏฐานกำเริบหทัยระคนให้เปนเหตุ

(๒) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๙ ไปจนถึงเพ็ญเดือน ๑๐ เปนกาลกำหนดแห่งพระอาทิตย์สถิตย์ในราษีกันย์ ปถวีสมุฏฐานหย่อนอุทริยะระคนให้เปนเหตุ

(๓) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือนอ้าย ไปจนถึงเพ็ญเดือนยี่ เปนกาลกำหนดแห่งพระอาทิตย์อยู่ในราษีมังกร ปถวีเจ้าสมุฏฐานพิการ กะริศะระคนให้เปนเหตุ ทั้ง ๓ สมุฏฐานนี้พิกัตราษีปถวีโดยไนย ดังกล่าวมานี้

(๑) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๖ ไปจนถึงเพ็ญเดือน ๗ เปนกาลกำหนดแห่งพระอาทิตย์อยู่ในราษีเมถุน วาโยเจ้าสมุฏฐานกำเริบ หทัยวาตะระคนให้เปนเหตุ

(๒) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๐ ไปจนเพ็ญเดือน ๑๑ เปนกำหนดแห่งพระอาทิตย์อยู่ในราษีดุล วาโยเจ้าสมุฏฐานหย่อน สัตถะกะวาตะระคนให้เปนเหตุ

(๓) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือนยี่ ไปจนถึงเพ็ญเดือน ๓ เปนกาลกำหนดแห่งพระอาทิตย์อยู่ในราษีกุมภ์ วาโยสมุฏฐานพิการ สุมะนาระคนให้เปนเหตุ ทั้ง ๓ สมุฏฐานนี้พิกัตวาโยโดยไนยดังกล่าวมานี้

(๑) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๗ ไปจนถึงเพ็ญเดือน ๘ เปนกาลกำหนดแห่งพระอาทิตย์อยู่ในราษีกรกฎ อาโปสมุฏฐานกำเริบ สอเสมหะระคนให้เปนเหตุ

(๒) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ไปจนถึงเพ็ญเดือน ๑๒ เปนกาลกำหนดแห่งพระอาทิตย์อยู่ในราษีพิจิกร อาโปสมุฏฐานหย่อน อุระเสมหะระคนให้เปนเหตุ

(๓) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๓ ไปจนถึงเพ็ญเดือน ๔ เปนกาลกำหนดแห่งพระอาทิตย์อยู่ในราษีมิน อาโปเจ้าสมุฏฐานพิการ คูธเสมหะระคนให้เปนเหตุ ทั้ง ๓ สมุฏฐานนี้พิกัตราษีอาโป ก็ครบทวาทศราษีตามกำหนดใน ๑๒ เดือน ที่สมุฏฐานจะกำเริบหย่อนพิการนั้นให้แจ้งโดยสังเขป ด้วยเหตุว่าจะได้มีอยู่ในพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยนี้หามิได้ แจ้งอยู่ในพระคัมภีร์อังคาระพะธาตุบัญจกโน้น ท่านยกออกสาธกตราลงไว้ดังนี้

อนึ่งอันบุคคลผู้ใดจะเรียนเปนแพทย์ ให้พึงศึกษาในพระคัมภีร์เวชศาสตร์ทั้งหลาย มีปฐม, มัชฌิม, ปัจฉิม, ธาตุทั้ง ๓ นี้เปนต้นให้แม่นยำ จึงจะควรแก่แพทย์โดยแท้ ดุจดังบุคคลมีจักษุอันสว่างแลเดินไปมีราวอันยึดไว้ ถ้าแลแพทย์ผู้ใดมิได้ศึกษาในคัมภีร์เวชศาสตร์ทั้งหลายต่างๆ นี้ ผู้นั้นดุจดังบุคคลมีจักษุอันมืด แลเดินไปไม่ได้เห็นทาง แลมิได้ยึดราวหาพยานบมิได้ อันเวชศาสตร์นี้ยากที่จะหยั่งรู้เห็นในเวชวิธี ดุจแพทย์อันมิได้รู้ในเวชวิธีแห่งแพทย์ ก็ดังฤๅจะประกอบโอสถให้เบาใจคนไข้ได้ดังนั้น แลแพทย์ผู้ใดมีวิจารณ์ปัญญาอันเลอียด จงศึกษาในคัมภีร์ให้ชัดเจนแม่นยำแล้วเมื่อใด จึงจะเห็นในกองสมุฏฐานโรค อันบังเกิดแก่บุคคลเปนไข้ได้โดยแท้ แลจะประกอบโอสถก็จะควรแก่โรค จะสำเร็จได้ไชยชำนะแก่โรคนั้นโดยเร็วพลันยิ่งนัก ซึ่งกล่าวมานี้แต่ต้นจนที่สุดยังบมิแจ้งแต่ในลักษณะอาการแลประเภท ด้วยมิได้วิถารลงไว้ในที่นี้ มีอยู่ในพระคัมภีร์ฉันทศาสตร์ทั้งหลายต่าง ๆ ในคัมภีร์นี้ว่าแต่กองมหาพิกัตสมุฏฐานซึ่งจะผ่อนผันตาม ธาตุ, ฤดู, อายุ, กาล, สมุฏฐานให้แพทย์สำคัญไว้เปนภูมิ์ จึงจะแจ้งในกองโรคแลพิกัตแห่งโอสถ กล่าวคือตรีผลา, ตรีกฏุก, เบ็ญจกูล, สำหรับจะได้แก่ในกองสมุฏฐานทั้ง ๔ ซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น ให้แพทย์สำคัญโดยไนยดังนี้ แลจะมีไปข้างน่าจงพิจารณาโอสถดุจจะกำหนดในกองสมุฏฐานมหาพิกัตสำแดงไว้

ในลำดับนี้จะได้สำแดงในพิกัตโอสถ สำหรับกองสมุฏฐานโดยไนยดังนี้สืบต่อไป แต่จะได้แก้ในบทว่าเบ็ญจกูลนั้นก่อนเปนอาทิ อันว่าลักษณะเบ็ญจกูลนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์เบ็ญจสรรพคุณ ว่ายังมีดาบศ ๖ พระองค์ มาประชุมกันฉันรากไม้ทั้ง ๕ ประการอันมีคุณต่างๆ กัน คุณนั้นอาจนับจะประมาณมิได้ แลเธอพระองค์นั้นจึงจัดเข้าประกอบกันทั้ง ๕ ประการ โดยส่วนมิได้มีในมหาพิกัต สมมุติสิ่งละเสมอกัน จึงได้นามบัญญัติว่าเบ็ญจกูลเสมอภาคนั้นก็ควรอยู่แล้ว แก้ในสาธาระณะธาตุโรควิเศษนัก แต่ในพระคัมภีร์นี้ท่านค้านเสีย ว่านั้นก็จริงอยู่แล้ว แต่ยังไป่บมิสมจริง ในห้องสมุฏฐานแลกองธาตุทั้งปวง พระอาจาริย์เจ้าจึงกล่าวพิศดารความตามพระบาฬีว่าดังนี้

(เนื้อความตั้งแต่นี้ไปจนจบคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย ต้นฉบับกล่าวตรงกันกับที่ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์สรรพคุณหมวดมหาพิกัตดังแจ้งอยู่ในแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม ๑ น่า ๔๘๓ โดยตลอดแล้ว)

พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย สังคหะปกรณเวชศาสตร์

จบแต่เพียงนี้

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ