ว่าด้วยสมุฏฐาน ๓ ระคนกัน

เบื้องนี้จะนิพนธ์ โทษระคนทั้งสามเล่า ตรีโทษมิใช่เบา เคล้าระคนโทษทั้งสาม ปิตตะเสมหะลม ระดมเจือให้เกิดความ มะหาสันนิบาตตาม คัมภีร์แพทย์แต่ก่อนมา เหตุโรคประชุมพร้อม บมีแพทย์พึงรักษา ผู้นั้นจะมรณา เพราะอาการฉนี้มี ให้ร้อนกระวนกระวาย ให้เจ็บกายทั่วอินทรีย์ เชื่อมมึนไม่สมประดี เย็นสะท้านทั้งกายา ภักตร์มีฉวีนวล ให้รันจวนเวียนหน้าตา อาหารที่ภุญชา ก็ย่อมน้อยถอยลงนัก หน้าตาปรากฎแดง ดังสีเลือดเห็นประจักษ์ สีกายย่อมแดงนัก ดังโลหิตก็ปูนปาน เจ็บฅอแลเจ็บหัว ให้เจ็บหูเปนประมาณ เจ็บเร้ากำเริบสร้าน ทั่วทั้งกายไม่สะเบย ไม่อยากซึ่งเข้าปลา จะนิทราบหลับเลย ชิวหาที่ตนเคย กระหวัดได้ให้กระด้าง ซบเซาเช่นหาวนอน ให้เย็นร้อนเปนต่างๆ ตัวแดงแลเหลืองอย่าง ทาขมิ้นละลายสี ให้สุกแตกระแหง ดังหนึ่งแกล้งอังอัคคี หายใจไม่คล่องดี ทั้งเข้าออกขัดเคืองนัก ผู้ใดไข้เช่นนี้ ถึงโทษตรีเห็นประจักษ์ วางยาย่อมยากนัก แพทย์พึงรู้ดังพรรณา

หนึ่งโรคจะบังเกิด ด้วยเหตุหกเปนมูลมา อาหารผิดเวลา แลอิ่มนักจนเหลือการ หนึ่งเสพย์ซึ่งเมถุน มักมากมุ่นเหลือประมาณ กลางวันบวิจารณ์ นอนมากนักย่อมมิดี กลางคืนนอนมิหลับ หนึ่งมักโกรธมักโกรธี มูตรคูธผูกกลั้นมี พ้นเวลาโทษมะหันต์ เหตุหกผิใครมี โรคจะมีเปนแม่นมั่น ผู้แพทย์พึงสำคัญ เหตุเกิดโรคหกสถาน

หนึ่งเล่าเมื่อกล่าวความ โทษห้ามสิบเอ็จประการ แพทย์ผู้พยาบาล บอกผู้ไข้ให้พึงเว้น แรกไข้ปฐมเหตุ แต่วันหนึ่งเมื่อเดิมเปน ค่ำมืดเมื่อยามเย็น ห้ามผู้ไข้อย่าอาบน้ำ อย่าทาซึ่งของหอม เมถุนการอย่าพึงทำ อย่าขัดสริระร่ำ ระบมช้ำกำเริบกาย อย่าให้นอนกลางวัน ซึ่งการหนักอย่าพึงกลาย อย่ากอกโลหิตร้าย ออกจากกายย่อมมิดี อย่าโกนซึ่งสีสะ หนวดเคราให้กรมฉวี อย่าโกรธพิโรธมี อย่าให้นอนตากแดดลม อย่ากินคาวมี่มัน ห้ามพึงเว้นอย่านิยม จากโทษอย่าพึงชม ผิเยียวยาจะพลันหาย ผิเว้นทิฐิถือ ประมาทหมิ่นจะใกล้กาย จะเสิบกำเริบร้าย วิบัติโรคจะพูนทวี เปนไข้ทุวันโท แลตรีโทษย่อมจะมี ผู้แพทย์กล่าวคดี บอกผู้ไข้ให้พึงเว้น

หนึ่งกล่าวกำลังโรค แห่งสัตว์โลกให้พึงเห็น ซึ่งวันที่เกิดเปน วรรณโรคทุกหญิงชาย ทารกแรกวันเกิด สิบหกขวบให้พึงหมาย เสมหะระส่ำระสาย วิการกล้ากว่าทุกสิ่ง พึงรู้ใน เหตุการ สิบหกปีแห่งชายหญิง จนสามสิบปียิ่ง กำเดาดีมักวิการ โลหิตระคนทำ กล้ากว่าโรคทุกสฐาน อุดหนุนเช่นชลธาร ผู้แพทย์พิจารณา สามสิบจนแก่เถ้า วาตาเข้ากระพือพา ดุจชลอันลี้ลา นำหน้าศึกสิ้นทั้งหลาย วาตานำหน้าโรค ให้วิกลวิการกลาย วางยากำหนดหมาย นิไสยโรคดังนี้เอง

หนึ่งแพทย์พึงฉลาด จงองอาจอย่ากลัวเกรง วิจารณ์ด้วยญาณเอง ให้แม่นยำประจักษ์ใจ ซึ่งวัยนั้นมีสาม ตามวิสัยสังเกตไว้ ประฐมมัชฌิมวัย จนที่สุดปัจฉิมมา วิจารณ์แจ้งโรคโสด จึงโอสถแต่งตามหา ปถมวัยทารกา สิบหกปีจนวันเดียว ผู้ไข้อย่าภุญชา รศหวานแลขมเปรี้ยว จะไว้อย่าดุจเดียว โรคพลันดับระงับสูญ เปนโรคเพราะเสมหะ กำเริบกล้าเปนเค้ามูล รู้แม่นจะพลันสูญ เพราะผู้แพทย์ฉลาดยา หนึ่งมัชฌิมวัย สิบหกไปอย่าภุญชา สรรพรศทั้งปวงนา อันเปรี้ยวฝาดแลเปรี้ยวเค็ม วางยาต้องหย่อนลด จงถอยถดอย่าเติมเต็ม กำเดาดีอันและเลม ทั้งโลหิตก็พลันหาย หนึ่งปัจฉิมวัย สามสิบปีจนแก่กาย ห้ามกินสิ่งทั้งหลาย รศขมร้อนแลเค็มฝาด วาตานั้นกำเริบ ย่อมวิกลด้วยกองธาตุ ผู้แพทย์พึงฉลาด แต่งโอสถดูอาชา รู้ไว้ทั้งสามนี้ ดังคดีท่านกล่าวมา หมู่โรคประดุจกา เห็นธนูก็สูญหาย

หนึ่งโสตให้รู้แม่น รสสร้านทราบทั่วในกาย จงจำคําภิปราย จงเงี่ยโสตสดับฟัง รสขมทั้งปวงไซ้ร ย่อมทราบไปในผิวหนัง รสฝาดทราบมังสัง รสเค็มหวังทราบเส้นเอ็น รสเผ็ดแลแลรสร้อน ทราบกระดูกบได้เว้น รสหวานพึงให้เปน ย่อมซึมทราบลำไส้ใหญ่ รสเปรี้ยวทราบไส้น้อย รสเย็นหอมทราบหัวใจ รสมันนั้นเล่าไซ้ร ทราบที่ต่อข้อทั้งปวง ผู้แพทย์พิเคราะห์ยา ดูโรคาอย่าเหงาง่วง ซึ่งรสโรคทั้งปวง แต่งตามต้องคล่องพลันหาย

ผู้แพทย์อันวิจารณ์ สมุฏฐานโรคทั้งหลาย อันเกิดแก่หญิงชาย เมื่อทารกปานกลางแก่ ทารกเพื่อเสมหะ สมุฏฐานให้ปรวนแปร ที่อยู่เสมหะแท้ อบอยู่เนื้ออาหารใน ขย้อนที่ฅอหอย ในอุระกระหม่อมไป ผู้แพทย์วางยาไซ้ร ด้วยประจุสำรอกหาย

ปานกลางเกิดเพื่อดี ที่อยู่มีดังกล่าวหมาย อันดีคนทั้งหลาย ตั้งอยู่เหนืออาหารเก่า ผิแพทย์จะให้เหือด โรคเพื่อเลือดดีกำเดา ด้วยรศยาหอมเอา ซึ่งรสขมรสสุขุม ผู้เถ้าเพื่อวาโย อันที่อยู่ตั้งประชุม เหนือคูธทวารรุม เปนที่อยู่แห่งวาโย ผิแพทย์จะสังหรณ์ ด้วยยาร้อนสุขุโม วาตาวินาโส เพราะแพทย์ฉลาดเหมือนตาเห็น

หนึ่งแพทย์จะวิจารณ์ ซึ่งสถานประเภทเปน ทั้งสามให้พึงเห็น แห่งที่เกิดคนทั้งหลาย คือว่าบุคคลเกิด ที่น้ำจืดน้ำเค็มหมาย เปือกตมเปนมากมาย ชื่อว่ากัณห์ประเทศมี เกิดโรคเพราะเสมหะ แลลมแล่นล่วงวิถี กล้ากว่ากำเดาดี แลโลหิตสิ้นทั้งปวง ผู้แพทย์พึงแต่งยา แก้วาตาเสมหะร่วง โทษเปนอันใหญ่หลวง ก็จะดับไปพลันสูญ

ถ้าแม้นบุคคลเกิด ที่กรวดทรายศิลาพูน น้ำน้อยบไพบูลย์ หมู่ที่ตั้งเร่งสังเกต มีนามพึงบัญญัติ ชื่อสาคะระประเทศ ผิไข้ย่อมอาเภท เพื่อโลหิตกำเดาทำ กล้ากว่าเสมหะลม แลหมู่นี้จงจี้จำ แพทย์ดีมียานำ แก้โลหิตกำเดาหาย

หนึ่งโสตบุคคลเกิด ประเทศเลิศด้วยกรวดทราย เปือกตมศิลาลาย ทั้งน้ำจืดน้ำเค็มหนอง ชื่อสาธาณ์ประเทศ ประเภทโรคย่อมมูนมอง ระคนเจือทั้งผอง ทั้งเลือดลมกำเดาดี เจือโทษทั้งเสมหะ วิบัติโรคทั้งปวงมี สรรพโรคย่อมยายี ยากยิ่งนักลำบากกาย รู้แม่นประเทศสาม แต่งยาตามจะพลันหาย ผู้แพทย์พึงกฎหมาย แน่แก่โรคจะพลันสูญ

หนึ่งแพทย์พึงรอบรู้ ให้ยาผู้คิลาน์ภูญช์ วิจารณ์โรคทั้งมูล จงพินิจโลหิตฉวี ผู้ไข้ผิวเนื้อขาว โลหิตราวรสหวานดี กอบยากำหนดมี เผ็ดร้อนขมจึงพลันหาย

๑ ขาวเหลืองนั้นเลือดเปรี้ยว ใส่เกลือเจือให้มากหลาย ชอบโรคจะพลันหาย เพราะรู้แก้ประกอบนา

๒ ดำแดงเลือดนั้นเค็ม ห้ามซึ่งเกลือประกอบยา หายพลันอย่ากังขา พิเคราะห์แก้ให้ควรการ

๓ คนดำเลือดเค็มนัก แลเย็นหนักพ้นประมาณ โอสถอันรสหวาน จึงชอบโรคเร็วพลันสูญ

จะกล่าวเวลาไข้ โรควิสัยเปนเค้ามูล ผิโรคบังเกิดพูน กำเริบแรงเวลาใด ให้เจ็บให้จับจุก ให้เมื่อยขบตามวิสัย ผู้แพทย์สังเกตไว้ เวลานั้นเปนเค้ามูล จำได้เปนโฉลก แก่หมู่โรคพลันเสื่อมสูญ พลันหายพลันเห็นคุณ เพราะแพทย์รู้เพศไข้เปน แต่รุ่งไปจนเที่ยง เสมหะแลหากทำเข็ญ เที่ยงแล้วไปจนเย็น ยอแสงค่ำเพื่อโลหิต ค่ำแล้วไปจนดึก วาตากล้าพัดเปนนิด เที่ยงคืนจนอาทิตย์ อุไทยสว่างอัมพรดี ธรรมดาโรควิสัย ดังนี้แลทั่วราตรี หญิงชายในโลกี ทั้งหนุ่มแก่แลปานกลาง เรียงกายเดิมเปนนิตย์ ทุกหญิงชายบอ้างว้าง ปรกติบหมองหมาง เปนจำเภาะก็เหมือนกัน โรคเกิดให้วิบัติ ธาตุแลหากให้แปรผัน เจือปนระคนกัน ทีนั้นแลโรคกลับกลาย สมมุติตามคัมภีร์ โรคย่อมมีประเภทหลาย อาการมีมากมาย หากจะแจ้งตามเพศเปน ถ้าเช้าไปจนรุ่ง เสมือนทรางโรคคือเข็ญ โทษสี่หากให้เปน มรณะโทษยากนักหนา เปนแพทย์จงพินิจ กำหนดจิตรตามเวลา รู้แจ้งจึงแต่งยา ประกอบแก้ตามคัมภีร์ แพทย์จงกรุณา ผู้โรคาเข้ายายี ตรวจตราอย่าให้มี เหตุด้วยเผลอสตินา ผู้แพทย์จงวิจารณ์ พยาบาลให้หนักหนา ดูเกร็ดมักลานตา หลงละเลิงหยิบหลักลอย รู้คัมภีร์รู้จักโรค รู้จักเกร็ดเหมือนรู้ฝอย เรื่องเกร็ดอาการน้อย บอกแก่ยาว่าร่ำไป คัมภีร์ท่านบอกโรค ทั้งมูลเหตุประเภทไข้ เปนแพทย์อย่าเบาใจ ด้วยเพศไข้คล้ายคลึงกัน

หนึ่งกล่าวประเภทไข้ ลักษณสามหากแปรผัน มีนามบัญญัตินั้น เรียกเอกโทตรีเปนสาม ผิไข้เอกะโทษ เพื่อเสมหะท่านกล่าวความ ให้หนาวให้ครั่นคร้าม ให้ขนลุกขนแสยง จุกอกให้หลับไหล กินบได้ระหวยแรง ฝ่าตีนมือบได้แดง มักซีดเผือดมักเบาขาว ให้รากแลปากหวาน ดุจอาการดังท่านกล่าว เสมหะเข้าเปนเจ้า ของพึงรู้ในอาการ

หนึ่งไข้เพื่อกำเดา ให้ขมปากเปนประธาน ให้ร้อนยิ่งประมาณ ทั้งละเมอให้เพ้อคลั่ง ปวดเศียรดังจะแตก ให้อยากน้ำเปนกำลัง ตาตัวก็เหลืองทั้ง ภักตร์ก็เหลืองแลเบาแดง ฝีปากแลหน้าตา ให้ตึงชาแตกระแหง พิษไข้ให้ฟันแห้ง นอนมิหลับในกลางคืน กำเดาเอกะโทษ พึงสังเกตจงยั่งยืน อย่าหลงว่าเพศอื่น วางยาผิดไข้มักตาย

หนึ่งไข้เพื่อโลหิต ร้อนเปนพิษเร่งกระหาย ปวดหัวดังแตกตาย หน้าตาแดงแลเบาเหลือง มีหน้าแตกระแหง คือฟันแห้งแลท้องเฟื่อง โลหิตให้ขุ่นเคือง เปนเอกะโทษดังกล่าวมา

หนึ่งไข้เพื่อเพศลม โดยนิยมพึงวิจาณ์ อาการทั้งปวงนา บังเกิดโทษเมื่อไข้พลัน เพศลมเปนฉะนี้ เอกะโทษเปนสำคัญ ขนลุกแลขนชัน ย่อมให้หนาวสท้านเย็น ปวดเศียรเวียนหน้าตา มักโกรธาไม่ใคร่เว้น ในอกให้เคืองเข็ญ ให้เสียดแทงมิสบาย อยากน้ำบหยุดหย่อน ท้องเปนก้อนบกระจาย ทุรนทุรายกาย ทั้งหายใจเข้าออกขัด จักษุแลเล็บเหลือง ไอแข็กๆดังเปนหวัด ปากฝาดเจ็บคางจัด เมื่อยตะไกรแลไอแห้ง โทษทั้งสิบห้านี้ ดังคัมภีร์ท่านสำแดง ผู้แพทย์พึงรู้แจ้ง เอกะโทษลมวิการ

หนึ่งกล่าวเพลาไข้ เอกะโทษพึงวิจารณ์ รุ่งพระสุริย์ฉาน บ่ายสามโมงบันเทาคลาย โทษบ่ายจนสองทุ่ม จึงค่อยส่างเบาบางหาย โทษสามหากจะร้าย จนไก่ขันล่วงสามยาม โทษสี่ชื่อมรณา ผิดเพลาอย่าพึงถาม อาการหากมีตาม คัมภีร์แพทย์สังเกตไว้

หนึ่งกล่าวทุวันโทษ อันเปนสองให้เกิดไข้ กำเดาเจือลมไซ้ ย่อมให้หาวนอนสะท้าน ปวดหัวดังจะแตก ย่อมรุ่มร้อนเปนอาการ ต้องพรมชลธาร ให้เหงื่อออกระส่ำระสาย วิงเวียนบมิศุข เพศดังนี้พึงกฎหมาย รู้แม่นจะพลันคลาย เพราะวางยาเฉภาะเปน เสมหะแลกำเดา โทษสองนี้ให้เคืองเข็ญ ให้หนาวแลให้เย็น ให้ขนลุกแสยงขน จุกอกหายใจขัด ให้กระหายให้ร้อนรน เหงื่อออกวิงเวียนวน ปวดเศียรระส่ำระสาย โทษเลือดแลกำเดา ทุวันโทษดังกล่าวหมาย วิจารณ์แจ้งพิปราย หากแปรผันพลันปลดเปลื้อง

หนึ่งลมแลเสมหะ ให้ปวดเสียวเสโทเฟื่อง หนาวสะท้านอยู่เนืองๆ ยิ่งด้วยร้อนให้วิงเวียน อาหารกินบได้ โทษไข้หากเบียดเบียน ผู้แพทย์พึงมีเพียร ประกอบแก้ให้พองาม

หนึ่งเลือดแลกำเดา โทษทั้งสองให้เกิดความ ให้ร้อนดังเพลิงลาม ปวดหัวระส่ำระสาย ไม่หลับมักคลั่งเพ้อ ทั้งอาหารก็กินคลาย เห็นน้ำมักกระหาย โทษโลหิตกำเดาทำ ผู้แพทย์พึงสังเกต คุณประเวศวิเศษล้ำ เกียรติยศระบือซ้ำ สรรเสิญคุณบสูญหาย

เบื้องนี้จะบอกยา ทั้งเพลาบอกภิปราย กุลบุตร์แพทย์ทั้งหลาย จงเงี่ยโสตสดับฟัง ผู้ไข้ทั้งหลายใด กำเริบกล้าทั้งปวงหวัง แต่รุ่งพระสุริยัง จนสามโมงจึงบางเบา เกิดโทษเพราะเสมหะ พึงให้แก้ให้บันเทา ตรีผลามักผ่าเอา ใบสะเดาฝักราชพฤกษ์ ยาดําแซกพอควร ประมวนต้มกินแต่ดึก เสมหะอันโหมฮึก เพลาเช้าเบาบางหาย

๑ ผู้ไข้สี่โมงเช้า จนเที่ยงเล่าจึงเสื่อมคลาย โลหิตระส่ำระสาย แพทย์ทั้งหลายพึงเยียวยา เอาลูกมะตูมอ่อน ทั้งจันทน์ขาวแห้วหมูนา หญ้าตีนนกขิงแห้งหา ฝักราชพฤกษ์เปลือกมูกมัน แก้ไข้เพื่อโลหิต วิปริตสี่โมงนั้น หายพลันเปนแม่นมั่น ดังโอสถกำหนดมา

๒ หนึ่งไข้ตั้งแต่บ่าย จนสามโมงอย่ากังขา กำเดาให้พาธา ย่อมข้องขัดวิบัติเปน ให้เอาหัวแห้วหมู ลูกสมอพิเภกเฟ้น ขิงแห้งจันทน์หอมเย็น จุกโรโกฐพุงปลาจุลา รากเสนียดหญ้าตีนนก ฝักราชพฤกษ์กระดอมมา ต้มแก้ไข้ในเพลา บ่ายสามโมงคงเหือดหาย

๓ หนึ่งไข้บ่ายสี่โมง จนเย็นค่ำท่านภิปราย โทษลมระส่ำระสาย จำเร่งแก้ด้วยสรรพยา ให้เอาสมอไทย รากช้าพลูขิงแห้งหา โรหินีดีปลีรา ฝักราชพฤกษ์ต้มให้กิน แก้ไข้บ่ายสี่โมง เกิดเพื่อลมระทมสิ้น ผู้แพทย์จงประคิน สิ้นเอกโทษดังกล่าวมา

๑ หนึ่งกล่าวทุวันท์โทษ เสมหะลมทั้งสองนา ย่อมไข้เว้นเวลา สองวันจับกลับนอนคราง แห้วหมูลูกชีล้อม ทั้งแฝกหอมอย่าได้หมาง รากเสนียดเร่งขุดพลาง บอระเพ็ดมะตูมอ่อน เปลือกประคำดีควาย ทั้งจันทน์ขาวเร่งสังวร กะดอมอย่าได้หย่อน สิ่งละสลึงอย่าพึงเว้น ตรีผลาแลสะค้าน สิ่งละสามสลึงเปน เนื้อราชพฤกษ์หวานเย็น หนักสองสลึงเฟื้องต้ม แก้ไข้เว้นสองวัน ย่อมหายพลันดังนิยม ชื่อปะโตลาธิอุดม นิคมโทษที่จับหาย

๒ หนึ่งชื่อปะโตลา ธิวาตะพึงภิปราย แก้ไข้เว้นวันหาย โทษเสลดกำเดาทำ ทุโทษอันยายี ยาย่อมมีวิเศษล้ำ ตรีผลาขี้กาทำ ทั้งขิงแห้งมะแว้งเครือ บอระเพ็ดมะขามป้อม เท้ายายม่อมจันทน์หอมเหลือ ฝักราชพฤกษ์กลิ่นเบื่อ ใบมะกาดีปลีต้ม แก้ไข้เว้นวันหาย แพทย์ทั้งหลายอย่าโง่งม โทษร้ายหายระทม โอสถนี้ดีนักหนา

๓ หนึ่งเล่าเอาขิงแห้ง ใบสะเดาตีนนกหญ้า กรุงเขมาแฝกหอมหา ฝักราชพฤกษ์รากเสนียด ปรุงต้มขมขื่นกิน แผ้วมนทินอันเบียฬเบียด เว้นวันอันเวียนเวียด ชื่อพิมพาธิคุณนา

๔ อัศฎางคุลีนาม ท่านกล่าวความบอกยามา ลมกำเดาให้พาธา ทุวันโทษให้ยายี ขิงแห้งแลโกฐสอ โกฐพุงปลาจุลาดี เทียนดำลำพันมี ทั้งดีปลีเปลือกง้าวขาว ต้มกินแก้โทษสอง อันมนหมองกำเริบร้าว หายพลันดังท่านกล่าว เช้าเย็นอุ่นมุ่นหมกกิน

๕ หนึ่งเล่ากำเดาเสลด อาโปเพศเพื่อมนทิน ขิงแห้งแห้วหมูกิน หญ้าตีนนกจุกโรหินี จันทน์ขาวขี้กาแดง มะขามป้อมแลดีปลี ใบมะการาชพฤกษี พึงเก็บต้มเร่งกินหาย

๖ หนึ่งไข้เพื่อเตโช วิกาโรมิสบาย ตรีโทษวิการร้าย เสลดลมกำเดาป่วน โกฐสอโกฐพุงปลา โกฐจุลาก้านพร้าวควร เทียนห้าเร่งประมวน น้ำประสานทองหว้านน้ำ ขิงแห้งรากไคร้เครือ สมอเทศวิเสศขำ ดีปลีเปลือกง้าวดำ จันทน์ขาวพิมเสนชะมด ทำแท่งฝนให้กิน แผ้วมนทินที่ปรากฎ สูญหายคลายเสื่อมหมด ชื่ออัศฎางคุลีนาม

๗ หนึ่งเล่าพึงเร่งต้ม ดังนิยมท่านกล่าวความ ตรีโทษอันลุกลาม ด้วยเสลดกำเดาร้าย ให้เอารากขัดมอน เกสรบัวหลวงทวาย บุนนากแห้วหมูหมาย หญ้าตีนนกขี้กาแดง รากมะแว้งเท้ายายม่อม ทั้งจันทน์หอมแลขิงแห้ง รากผักชีอย่าแคลง ตรีผลาแลแฝกหอม โกฐก้านพร้าวโกฐจุลา ประสานทองปรุงให้พร้อม ราชพฤกษ์อย่าได้ถ่อม ทั้งสามฝักรากเสนียด มะตูมอ่อนใส่หม้อต้ม โดยนิยมจงเร่งเจียด ตรีโทษอันเบียฬเบียด เจียดต้มกินหายสิ้นสูญ

๘ หนึ่งโสดอาการธาตุ วิปลาศไม่สมบูรณ์ พิมพาธิคุณคูณ อันอุดมเร่งต้มกิน ให้เอาใบสะเดา กรุงเขมาแฝกหอมกลิ่น โกฐจุลาพึงประคิน หญ้าตีนนกโกฐก้านพร้าว รากเสนียดแลกะดอม ทั้งราชพฤกษ์ฝักยาว ขิงแข้งเพ็ดสามหาว ต้มกินพลันทันทีหาย

(ธาตุวิวรณ์ผูก ๑ จบสิ้นฉบับเท่านี้)

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ