ความหลังในกรุงปักกิ่งเป็นความหลังที่ไม่อาจจะเลือนหายไปจากความทรงจำของข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าเคยกล่าวเช่นนี้หลายครั้งในการเขียนความหลังและความในใจอันเกี่ยวเนื่องด้วยกรุงปักกิ่ง เรื่องราวของเจียงเฟเป็นความหลังอีกชิ้นหนึ่งที่จารึกอยู่ในชีวิตวิญญาณของข้าพเจ้าเสมอ เรื่องของเจียงเฟเป็นเรื่องของความรักชาติที่จบลงด้วยความเศร้า–เป็นเรื่องของการต่อสู้ดิ้นรนระหว่างอิสรภาพกับการเป็นทาษการเมือง ในเมืองจีนข้าพเจ้าได้พบการต่อสู้ชนิดนี้แทบทุกหนทุกแห่ง การต่อสู้เช่นนี้ได้มีมาตลอดเวลาร้อยปีที่ได้ผ่านไปแล้ว–ร้อยปีของเมล็ดพืชแห่งการปฏิวัติใหญ่ทั่วตะวันออก–ร้อยปีที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ระหว่างชีวิตเก่ากับชีวิตใหม่–ร้อยปีของการกระทำที่เห็นแก่ตัวอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นการหว่านพืชของสงครามล้างโลก ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ในเมืองจีนด้วยความพอใจ คือพอใจที่ได้เห็นภาพของความทารุณที่มนุษย์ได้ปฏิบัติต่อกัน ข้าพเจ้าไม่อยากจะเชื่อว่า นี่คือโลกที่ได้เจริญแล้วด้วยอารยธรรมอันสูงเลิศ ความเจริญคืออะไร ? ที่เราถือตัวว่าเราเป็นอารยะชนนั้น เรามีหลักอย่างไร ? เป็นของแน่แล้วหรือที่เราจะเรียกมนุษย์ทุกคนว่าเป็นผู้เจริญ ถ้าเขาบังเอิญมีอำนาจวาสนาเที่ยวนั่งอยู่บนศีรษะคนอื่น ๆ หรือถ้าเขาสามารถแต่งตัวได้สวย ๆ มีเงินมาก ๆ นั่งรถเก๋งงาม ๆ ? ข้าพเจ้าสลดใจและประหลาดใจ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าทุกวันนี้ เราวัดความเป็นผู้เจริญของเราด้วยอะไรกันแน่ เราวัดความเป็นผู้เจริญกันด้วยความมีความจนหรือ ? เราวัดกันด้วยอำนาจวาสนาหรือ ? ถ้าเงินและอำนาจได้กลายเป็นเครื่องวัดความเป็นผู้เจริญไปเสียแล้ว ข้าพเจ้าก็คิดว่าประชาธิปไตยแห่งความเสมอภาคที่เราทุกคนได้มั่นหมายไว้ก็คงจะยังอยู่ที่ขอบฟ้าอันแสนไกล โลกประชาธิปไตยจะยังมีไม่ได้ ถ้ามนุษย์ยังบูชาเงินกับอำนาจเหนือสิ่งอื่นใดที่ควรบูชา แต่ว่าทุกวันนี้มนุษย์ส่วนมากเขาบูชาอะไรกันเล่า?

ในเมืองจีน เงินกับอำนาจก็เป็นพระเจ้าองค์สำคัญยิ่งที่คนเป็นอันมากเขาบูชากัน สงครามกลางเมืองที่ได้เกิดมาแล้วตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๑ ส่วนมากล้วนมีมูลเหตุมาจากการแย่งเงินกับอำนาจแทบทั้งสิ้น สงครามกลางเมืองที่ต่อสู้เพื่ออุดมคติบางอย่างก็มีอยู่เหมือนกัน เพราะหาไม่แล้วจีนก็คงจะตกอยู่ในความยากลำบากยิ่งกว่าที่เป็นมาแล้ว แต่ข้าพเจ้าคิดว่าถ้ามีการแย่งเงินกับอำนาจกันน้อยลงอีกสักหน่อย จีนก็คงจะมีลักษณะดีกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ และบางทีก็อาจทำให้ดุลยภาพของเกมการเมืองในตะวันออกเข้าสู่ระดับพอดีได้ตามสมควร ซึ่งคงจะยับยั้งสงครามแปซิฟิกไว้ได้บ้างไม่มากก็น้อย.

การที่ข้าพเจ้าว่า เจียงเฟเป็นบุคคลผู้หนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่ลืม ก็เพราะคนผู้นี้เกลียดชังลัทธิบูชาเงินกับอำนาจ เขาไม่ออกความเห็นรุนแรงอย่างคนหนุ่ม ในเรื่องการถืออำนาจเป็นธรรม ตลอดจนถือเงินเป็นอำนาจ เขาเกลียดอำนาจและเงิน เพราะเขามองเห็นว่าของสองสิ่งนี้เป็นบ่อเกิดของความสกปรกโสมมในโลกนุษย์ การทะเลาะวิวาทระหว่างบุคคลตลอดจนสงครามล้างโลก ส่วนมากก็มีมูลเหตุมาจากการแย่งเงินกับอำนาจ ถ้ามนุษย์หลีกหนีกองกิเลศสองกองนี้ได้เสียบ้างแล้วโลกก็จะมีสันติภาพได้ยืนนานถาวรกว่านี้ แต่มนุษย์เป็นแต่เพียงสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่ยังไม่ต้องการจะดัดสันดานตนเองให้มีความโลภหลงน้อยลง เพราะฉะนั้นการหวังสงบจึงเป็นการหวังที่เลื่อนลอยเหมือนความฝัน เจียงเฟบอกกับข้าพเจ้าว่า ตราบใดที่ทุกประเทศยังไม่พร้อมใจกันเปลี่ยนแนวการศึกษาเสียใหม่–คือเปลี่ยนจากการสอนให้คนเห็นแก่ตัว เป็นการให้เห็นอกเห็นใจคนอื่น–ตราบนั้นเราจะต้องฟันกันต่อไปอีก “เรากำลังบ้าคลั่งกันด้วยความหลงชาติ เรากำลังสอนคนให้เข้าใจว่าการตายในสนามรบจะได้ไปสวรรค์ เรากำลังยุยงมนุษย์ให้เกลียดชังกัน เพื่อจะได้เห็นแก่ตัวมากขึ้น เรากำลังสร้างนรกขึ้นในโลกที่สวยงามโดยไม่รู้ตัว เรากำลังฆ่าตัวเอง ผมเห็นว่าในไม่ช้า โลกจะถูกทำลายราบเพราะอาวุธวิทยาศาสตร์ จะไม่มีอะไรเหลือแม้แต่มดปลวก”

ในการเดินขบวนครั้งใหญ่นี้นอกจากจะโฆษณาให้ชนชาติจีนลุกขึ้นป้องกันฟ้าและดินของตนไว้แล้ว ยังต้องการจะสร้างแนวมนุษยธรรมขึ้นอีกด้วย มีป้ายโฆษณาหลายอันที่เขียนข้อความชักชวนให้ชาวจีนเห็นอกเห็นใจชนชาติอื่นที่อยู่ในสภาพอันเดียวกันกับชาวจีน ให้ชาวจีนเข้าร่วมแนวมนุษยธรรมกับชนชาติอื่นที่ต้องการจะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อรักษาสันติภาพของโลกให้ยืนยงคงอยู่ แนวมนุษยธรรมแนวนี้เป็นแนวของราษฎร–เป็นแนวที่สร้างขึ้นโดยน้ำมือของชาวโลกแต่ละคน แนวอันนี้เป็นแนวของการปฏิวัติอันใหญ่ยิ่ง เหนือการปฏิวัติใด ๆ ที่ได้มีมาแล้ว เจียงเฟว่าถ้าแนวมนุษยธรรมสามารถขยายแถวออกไปได้รอบโลกเมื่อใด เมื่อนั่นความหวังในสันติภาพก็จะแจ่มใสยิ่งขึ้น

เมื่อมาถึงเรื่องการปฏิวัติล้มระบอบการปกครองของเก่า เจียงเฟเคยพูดให้ข้าพเจ้าฟังด้วยความขมขื่นอย่างที่ข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่าชายหนุ่มอย่างเขาจะรู้สึกถึงเพียงนั้น เขาบอกว่าเมืองจีนมีนักปฏิวัติชั้นเลวไม่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เหมือนกัน นักปฏิวัติเหล่านี้ตะโกนบอกประชาชนว่าเขาปฏิวัติเพื่อประเทศชาติ เขาล้มระบอบการปกครองของราชบัลลังก์มังกร ก็เพื่อประโยชน์ของราษฎร เพราะเขาถือว่าราษฎรชาวจีนเป็นเจ้าของแผ่นดินจีน แต่พอปฏิวัติสำเร็จ บางคนก็เริ่มหาเงินเข้ากระเป๋า หาอำนาจ หาเก้าอี้ให้แก่ตัวเอง ตลอดจนให้แก่พวกพ้องและญาติมิตรที่กราบกรานเข้ามาขอแบ่งปันกำไร ที่ได้มาจากการปฏิวัตินั้น ทั่วโลกนักปฏิวัติที่อ้วนเพราะการปฏิวัติมอยู่มากมาย นักปฏิวัติเหล่านี้ทำการปฏิวัติเพื่อจะได้อำนาจมาสูบเลือดราษฎร เขาปฏิวัติเพื่อจะได้นั่งเก้าอี้กินสินบล–เขาปฏิวัติเพื่อจะได้โกงชาติโกงประชาชนได้ถนัดมือยิ่งขึ้น อนิจจา! นักปฏิวัติผู้มีเกียรติอันควรริษยา–นักปฏิวัติที่ถ่มน้ำลายออกมาแล้วก็เลยกลับกลืนกินเข้าไปใหม่ เราจะว่าอย่างไรกับนักปฏิวัติเหล่านี้ ? ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านจะว่าอย่างไร ?

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ