๑๓
เรื่องของเทวันเป็นเรื่องยืดยาว ข้าพเจ้าไม่คิดว่าเรื่องของเขาจะจบลงได้ง่าย ๆ ข้าพเจ้าสนใจในชีวิตของบุรุษผู้นี้เพราะข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นในตัวเขาดูเหมือนจะมากกว่าเชื่อมั่นในตนเอง ข้าพเจ้าเชื่อว่าเทวันเป็นพวกประชาชนคนไทย ๑๘ ล้านคน ข้าพเจ้าเชื่อว่าเทวันจะต่อสู้เพื่อประโยชน์ของคนไทย ๑๘ ล้านคนนี้ตามคำปฏิญาณและความตั้งใจมั่นของเขา ข้าพเจ้าเชื่อว่าเทวันเป็นคนไทยที่มีเกียรติผู้หนึ่ง ซึ่งยืนขึ้นเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่คุณตรางและความตาย เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักการของประชาชน, มิใช่เพื่อบุคคลคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเขาคิดว่าจะให้ประโยชน์หรืออำนาจวาสนาแก่เขา ข้าพเจ้าคิดว่าคนอย่างเทวันเป็นคนหาได้ยาก โลกแห่งความโสมมต้องการคนอย่างเขา–คือคนที่สู้ตายอยู่กับที่ เพื่อที่จะสร้างโลกใหม่ ชีวิตใหม่ให้แก่สังคมที่เขาเป็นหน่วยหนึ่ง เทวันเป็นคนซื่อตรง เป็นคนมีอุดมคติอันสูงส่ง เป็นคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเจือปนอยู่เลย เขาพร้อมที่จะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประเทศชาติและมนุษย์ในโลกอันน่าเศร้านี้.
แต่ข้าพเจ้าสดุ้งใจเหมือนถูกแทงด้วยเข็มเมื่อเขาพูดกับข้าพเจ้าในวันนั้นว่า “ยี่สิบปีมาแล้ว เราได้เป็นแต่ฝ่ายค้าน เราอยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายมีอำนาจเสมอ เราเดินสายริมมากไป แต่เดี๋ยวนี้เราครึ่งคนแล้ว”
ข้าพเจ้าไม่เข้าใจเลยว่าเทวันหมายความว่ากระไร ชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ ๔๐ ปี มันอาจจะจริงเพราะเราดูเหมือนจะเห็นโลกแจ้งชัดขึ้น เมื่อได้คลุกกับมันมาแล้วอย่างน้อย ๔๐ ปีขึ้นไป แต่ความรู้แจ้งนี้จำเป็นจะต้องทำให้เราเปลี่ยนไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างทีเดียวหรือ? เวลา ๔๐ ปีจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องทำให้เราต้องเปลี่ยนความตั้งใจมั่น ที่เราและคนทั้งโลกได้บอกมาตลอด ๔๐ ปีว่า เป็นความตั้งใจมั่นที่ถูกต้องแล้ว ? ถ้า ๔๐ ปีจำเป็นจะต้องทำให้เราเลิกล้มความคิดที่จะเป็นตัวตนของตนเอง ข้าพเจ้าก็เห็นว่า ๔๐ ปีที่ผ่านไป ช่างเป็น ๔๐ ปีที่น่าเวทนาเสียเหลือเกิน เพราะแทนที่มันจะสอนให้เราคิดสูงขึ้น มันกลับฉุดเราให้ล่มจมลงไปในความต่ำช้าสามานย์ มันไม่ได้พาเราไปสู่ความดีและความสูงเสียเลย อนิจา! ๔๐ ปี... ๔๐ ปีที่ไม่มีค่าอะไรที่จะสอนให้คนเป็นคน ข้าพเจ้าเอาถ้อยคำของเทวันมานั่งคิดนอนคิดอีกหลายวันแต่ก็ยังเข้าใจอะไรไม่ได้อยู่นั่นเอง.
การทำลายเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ในระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ได้ทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขีดสูงสุด ในขั้นสุดท้ายนักประพันธ์ไม่สามารถจะเขียนตัวละครของเขาให้ตรงกับชีวิตจริง ๆ ได้ เช่นจะเขียนว่า นุ่งผ้าม่วง ก็เขียนไม่ได้ เพราะการนุ่งผ้าม่วงในสมัยที่เสรีภาพถูกทำลายนี้ เป็นการผิดวัฒนธรรม ภาพผู้หญิงสวย ๆ หน้าปกหนังสือก็จะพิมพ์ออกไม่ได้ ต้องพิมพ์แต่ภาพหมูเห็ดเป็ดไก่ตามนโยบายสวนครัวเท่านั้น! คู่รักจะพูดกันด้วยภาษาที่ชื่นอกชื่นใจไม่ได้ ต้องใช้ฉันกับท่านตะพึดตะพือไป พ่อพูดกับลูกก็ต้องใช้ฉันกับท่านเหมือนกัน ความบีบรัดเหล่านี้ทำให้วงการหนังสือของเมืองไทยต้องตกอยู่ในความมืดอย่างน่ากลัว–ความมืดที่คนเป็นอันมากพากันคิดว่า เราอาจต้องปฏิวัติกันอีกถ้าเมืองไทยยังมืดอยู่เช่นนั้น
เย็นวันหนึ่งข้าพเจ้าผ่านไปที่สโมสร เพื่อจะเล่นบิลเลียดสักเกมหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่ได้พบมิตรสหายผู้คุ้นหน้าซึ่งควรจะได้พบ แต่กลับได้พบเพื่อนเก่าผู้หนึ่งซึ่งได้จากกันไปกว่าสิบปีแล้ว คนผู้นี้คือพายัพ มุ่งชอบ ข้าหลวงประจำจังหวัด.... ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงอยู่ในวงข้าราชการฝ่ายปกครองสมัยนั้น
พายัพ เมื่อสมัยอยู่ร่วมชั้นกันที่โรงเรียน กับพายัพในตำแหน่งข้าหลวง ดูผิดกันไกลมาก มีเหลืออยู่อย่างเดียวที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือความเป็นเพื่อนเก่าชนิดที่ไล่เตะกันได้ พายัพที่ข้าพเจ้าพบที่สโมสรในวันนั้น รูปร่างอ้วนท้วนสูงใหญ่ ศีรษะเถิก ผิวกร้านเพราะการกรำแดดตามต่างจังหวัดไม่ต่ำกว่า ๗–๘ ปี ไว้หนวดที่ตัดไว้อย่างงาม ท่าทางของเขาบอกได้ทันทีว่าเป็นคนใหญ่คนโต ตามปรกติเมื่อสมัยเด็กเขาเป็นคนขรึม ในสมัยเป็นข้าหลวงความขรึมของเขาเป็นประโยชน์แก่เขายิ่งขึ้น เพราะมันทำให้เขาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่น่าเกรงขาม
พายัพรี่เข้ามาทักทายข้าพเจ้าก่อน เราชวนกันไปหาโต๊ะว่างที่ข้างลูกกรง แล้วก็สั่งเครื่องดื่มมา
เราคุยกันถึงความหลังและความทุกข์สุขของครอบครัว ข้าพเจ้าบอกพายัพว่าเตรียมตัวจะลาออกจากงาน
“อ้าว, ทำไมเล่า ?” เขาถามอย่างสนเท่ห์ใจ
“พอกันที สำหรับการอุทิศเสรีภาพส่วนตัวให้แก่ส่วนรวม มันไม่มีความหมายอะไรเลย”
“เบื่อหรือ ?”
ข้าพเจ้าพยักหน้า
“แสนจะเบื่อ สมัยนี้มันไม่มีอะไรจะดีกว่าการเล่นพวก ถ้าไม่มีพวกแล้ว ก็อยู่ไม่ได้ มันเป็นสมัยที่คนไม่มีพวกจะต้องหนีเข้าป่า เดิมทีกันคิดว่ายุคใหม่ของเราคงจะเปิดโอกาสให้คนไทยที่เป็นเจ้าของแผ่นดินไทย ได้รับใช้ชาติบ้านเมืองตามความสามารถของเขาบ้าง แต่แล้วมันก็พวกอีกตามเคย เวลานี้เมืองไทยพวกเทวดาเท่านั้นที่เป็นผู้ที่มีความสามารถหรือมีเกียรติพอจะรับใช้ชาติได้ คนอื่นไม่มีสิทธิหรือไม่มีเกียรติพอที่จะทำอะไรให้แก่ชาติตามความสามารถของเขา เมืองไทยเป็นเมืองมีกรรม เรามีแต่ระบอบเทวดา คนที่สามารถของเราดูเหมือนจะมีไม่กี่คน ผลัดกันออกมาเต้น ๆ รำ ๆ แล้วก็เข้าโรงไป สักครู่ก็โผล่ออกมาใหม่อีก ฉันเคยคิดอย่างโง่ ๆ ว่า ถ้าติดหนวดและเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเสียบ้างก็คงจะแนบเนียนกว่านี้มาก”
พายัพหัวเราะเบาๆ เขาไม่เคยหัวเราะเสียงดังเพราะโดยมากมักจะใช้เพียงยิ้มเท่านั้น นี่ต่อหน้าเพื่อนเก่า เขาจึงปล่อยอารมณ์ออกมา
“เห็นใจ” เขาพูดเสียงเบา “มันเป็นบ้านเมืองของเขา ไม่ใช่บ้านเมืองของเรา”
“นั่นซี ฉันเองเกือบไม่เข้าใจว่าเราเกิดมาทำไม และเป็นใคร เคยนึกว่าเกิดมาสำหรับมานั่งทำหน้าโง่ๆ”
พายัพหรี่ตามองหน้าข้าพเจ้าอย่างมีความหมาย ชะโงกตัวเข้ามาใกล้แล้วกระซิบถามว่า
“เพื่อประชาธิปไตย เราจะไม่ทำอะไรกันบ้างหรือ ?”
คำถามอันเบาแสนเบาของเขาทำให้ข้าพเจ้าเย็นวูบที่หลัง มันมีความหมายไกลและลึก
ข้าพเจ้าสบตาเขาอย่างเข้าใจ แล้วตอบออกไปทันทีว่า “เอาซี, พายัพ”