- คำนำ
- อธิบายเรื่องเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ
- ประกาศการเสด็จพระราชดำเนินประพาศหัวเมืองฝ่ายเหนือ
- (ฉบับที่ ๑)
- (ฉบับที่ ๒)
- (ฉบับที่ ๓)
- (ฉบับที่ ๔)
- (ฉบับที่ ๕)
- (ฉบับที่ ๖)
- (ฉบับที่ ๗)
- (ฉบับที่ ๘)
- (ฉบับที่ ๙)
- (ฉบับที่ ๑๐)
- (ฉบับที่ ๑๑)
- (ฉบับที่ ๑๒)
- (ฉบับที่ ๑๓)
- (ฉบับที่ ๑๔)
- (ฉบับที่ ๑๕)
- (ฉบับที่ ๑๖)
- (ฉบับที่ ๑๗)
- (ฉบับที่ ๑๘)
- (ฉบับที่ ๑๙)
- (ฉบับที่ ๒๐)
- (ฉบับที่ ๒๑)
- (ฉบับที่ ๒๒)
- (ฉบับที่ ๒๓)
- (ฉบับที่ ๒๔)
- (ฉบับที่ ๒๕)
- (ฉบับที่ ๒๖)
อธิบายเรื่องเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ
หัวเมืองมณฑลพิษณุโลกแลมณฑลนครสวรรค์ตั้งแต่ปากน้ำโพธิขึ้นไป แต่โบราณเรียกรวมกันว่า “เมืองเหนือ” คำที่เรียกอย่างนี้เห็นจะเกิดขึ้นแต่ดึกดำบรรพ์ถึงครั้งพระเจ้าอู่ทองครองกรุงศรีอยุธยา ด้วยครั้งนั้นแผ่นดินแบ่งกันเป็น ๒ ราชอาณาจักร พระเจ้าธรรมราชาลิไทยในราชวงศพระร่วงครองกรุงสุโขทัยเป็นใหญ่ข้างฝ่ายเหนือ พระเจ้าอู่ทองครองกรุงศรีอยุธยาเป็นใหญ่ข้างฝ่ายใต้ ประชาชนทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นไทยด้วยกัน แต่อยู่ต่างอาณาจักรเปนต่างพวกกัน พวกกรุงศรีอยุธยาจึงเรียกพวกไทยที่อยู่ในราชอาณาจักรของราชวงศพระร่วงว่า “ชาวเหนือ” พวกกรุงสุโขทัยก็เรียกพวกไทยที่อยู่ในราชอาณาจักรของพระเจ้าอู่ทองว่า “ชาวใต้” แลเรียก ๒ ราชอาณาจักรนั้นว่า “เมืองเหนือ” แล “เมืองใต้” เปนเดิมมา สันนิษฐานว่ามูลเหตุจะเปนดังกล่าวนี้ ครั้นเมื่อ ๒ ราชอาณาจักรนั้นรวมกันตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ การปกครองก็เปนอย่าง ๒ อาณาจักรต่อมากว่า ๒๐๐ ปี ชื่อที่เรียกว่าเมืองเหนือเมืองใต้จึงใช้กันต่อมา จนถึงเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเลิกวิธีปกครองหัวเมืองเหนืออย่างเปนอาณาจักรต่างหาก ลดลงเปนแต่หัวเมืองขึ้น ๗ เมือง ชื่อที่เรียกรวมกันว่าเมืองเหนือก็ยังคงเรียกอยู่อย่างเดิม เหตุด้วยหัวเมืองเหล่านั้นอยู่ไกลจะไปมากับราชธานีต้องเดินทางตั้งเดือน อย่างเรียกกันว่า “อยู่สุดหล้าฟ้าเขียว” เพราะฉนั้นในครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานีพระเจ้าแผ่นดินน้อยพระองค์ที่จะได้เสด็จขึ้นไปถึงเมืองเหนือ มาถึงชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ราชธานียิ่งห่างลงมาข้างใต้ ในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ จึงหาได้เสด็จขึ้นไปประพาศถึงเมืองเหนือไม่ แต่เมื่อรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาล ได้ทรงพระอุสาหะเสด็จธุดงค์ขึ้นไปเมืองเหนือเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ เสด็จไปถึงเมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร์ เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก แลเมืองอุตรดิษฐ์ ดูเหมือนจะเปนครั้งแรกที่เจ้านายในกรุงเทพ ฯ นี้ได้เสด็จขึ้นไปเมืองเหนือในเวลาบ้านเมืองเปนปรกติ
การที่พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จธุดงค์ไปถึงเมืองเหนือครั้งนั้น เปนหัวต่อข้อสำคัญในพงศาวดารของเมืองเหนือ ฤๅจะว่าสำคัญในพงศาวดารของสยามประเทศทั่วไปก็ว่าได้ ข้อสำคัญนั้น คือในเบื้องต้นได้เสด็จไปพบหลักศิลาจารึกแลพระแท่นมนังคศิลาของพระเจ้ารามกำแหง ทั้งหลักศิลาจารึก (ภาษาขอม) ของพระเจ้าธรรมราชาลิไทย โปรด ฯ ให้ส่งลงมายังกรุงเทพ ฯ แล้วทรงพิจารณาจารึกจนอ่านได้ความ ได้รู้เรื่องพงศาวดารสยามครั้งราชวงศ์พระร่วงครองกรุงสุโขทัยแน่นอนมาแต่นั้น อิกข้อหนึ่ง ได้ทรงทราบตระหนักแก่พระราชหฤทัยว่า การที่เสด็จไปประพาศถึงเมืองไกลเช่นนั้นได้ทรงรอบรู้กิจสุขทุกข์ของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเปนประโยชน์แก่การปกครองพระราชอาณาจักรอย่างยิ่ง เพราะฉนั้นต่อมาเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงทรงเอาเปนพระราชธุระเสด็จประพาศตามหัวเมืองใหญ่น้อยเนืองๆ จนตลอดรัชกาล
เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชอุสาหะเสด็จขึ้นไปเมืองเหนืออิกครั้งหนึ่ง เสด็จโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช ซึ่งเปนเรือกลไฟจักรข้าง ๒ ปล่อง ใหญ่กว่าเรือกลไฟพระที่นั่งทั้งปวงที่มีอยู่ในเวลานั้น ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้กระบวนเสด็จไปได้ในเรือลำเดียว ไม่ต้องกะเกณฑ์พาหนะให้ลำบาก พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเปนสามเณรอยู่ก็ได้โดยเสด็จด้วยในคราวนั้น ออกเรือพระที่นั่งจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันพฤหัศบดีเดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ เลือกเวลากำลังน้ำมาก แลในเวลานั้นลำน้ำทางเมืองพิจิตรเก่ายังลึก ขาขึ้นเรือพระที่นั่งขึ้นทางลำน้ำนั้น ได้เสด็จแวะที่วัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี พระเจ้าเสือครั้งกรุงศรีอยุธยาได้ทรงสร้างไว้ณที่ประสูตร เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นนมัสการพระที่วัดโพธิ์ประทับช้างครั้งนั้น ทรงพระราชดำริห์ว่าพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ จึงโปรด ฯ ให้ทรงพระราชยานแลให้กระบวนแห่เสด็จต่างพระองค์ ส่วนพระองค์ทรงพระราชดำเนินตามพระราชยานไป เรื่องนี้ถือกันมาว่าเปนบุรพนิมิตรอันหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงรับรัชทายาท
เรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชขึ้นไปเมืองเหนือครั้งนั้น เล่ากันว่าลำบากยิ่งนัก เพราะลำแม่น้ำแคบและคดคู้ในที่บางแห่ง ทั้งสายน้ำก็ไหลแรง พัดเรือพระที่นั่งเกยตลิ่งบ่อยๆ เสด็จไปจากกรุงเทพ ฯ ๗ วันจึงถึงเมืองพิษณุโลกเมื่อวันพฤหัศบดีเดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ ประทับสมโภชพระพุทธชินราชอยู่ ๒ ราตรี ถึงวันเสาร์เดือน ๑๑ แรม ๑๐ ค่ำก็ต้องเสด็จกลับ เพราะน้ำลดลงเกรงเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชจะติดอยู่กลางทาง เมื่อขากลับทางลำน้ำเมืองพิจิตรเก่าน้ำก็ตื้นเสียแล้ว ต้องล่องเรือพระที่นั่งลงมาทางคลองเรียง คือลำน้ำที่ตั้งเมืองพิจิตร์ใหม่บัดนี้
มีการอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฎว่าเกิดขึ้นในครั้งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเมืองเหนือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ คือเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นศาลากลาง อันเปนที่สำนักรัฐบาลตามหัวเมืองในระยะทางรุงรังซุดโซมไม่เปนสง่าราษีแก่บ้านเมือง เพราะประเพณีในสมัยนั้นใครเปนผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องหาที่สร้างจวนที่อยู่ แลปลูกสร้างศาลากลางด้วยทุนของตัวเอง มิได้มีสถานที่เปนของหลวงประจำสำหรับบ้านเมืองอย่างทุกวันนี้ ทรงสังเวชพระราชหฤทัย จึงทรงพระราชทานเงินพระคลังข้างที่ให้ไปสร้างศาลากลางใหม่ เปนของทรงตอบแทนผู้ว่าราชการจังหวัดที่จัดการรับเสด็จครั้งนั้นทุกเมือง โปรด ฯ ให้ทำเหรียญไม้จำหลักเปนลายตราปิดทองพื้นประดับกระจก เหรียญที่ ๑ ลายเปนรูปพระมหามงกุฎเหมือนตราด้านน่าเหรียญบาทรัชกาลที่ ๔ เหรียญที่ ๒ ลายเปนรูปช้างอยู่ในวงจักร เหมือนตราด้านหลังเงินเหรียญบาทรัชกาลที่ ๔ เหรียญที่ ๓ ลายเปนรูปตราพระราชสีห์ใหญ่กระทรวงมหาดไทย พระราชทานเหรียญเหล่านี้ให้ไปติดประดับไว้ที่ศาลากลางซึ่งสร้างใหม่แห่งละชุด แต่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนตัวผู้ว่าราชการจังหวัด ย้ายที่ตั้งจวนแลศาลากลางอยู่ตามประเพณีเมื่อก่อนจัดมณฑลเทศาภิบาล เหรียญที่พระราชทานก็สูญหายเสียโดยมาก แต่ยังมีเหลืออยู่บางแห่ง กระทรวงมหาดไทยได้ให้จำลองแบบอย่างมารักษาไว้ มีอยู่ในศาลาลูกขุนในจนบัดนี้
ถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์เห็นประโยชน์ในการเสด็จประพาศเหมือนอย่างสมเด็จพระบรมชนกนารถ จึงเสด็จประพาศตามหัวเมืองใหญ่น้อยในพระราชอาณาเขตรที่สามารถจะเสด็จได้เนืองนิจ ดูเหมือนจะได้เสด็จทั่วทุกเมืองไม่มีเว้น แลยังทรงพระอุสาหะเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการบ้านเมืองถึงนานาประเทศก็หลายคราว ว่าฉะเพาะเมืองเหนือได้เสด็จ ๓ ครั้ง ๆ แรกเมื่อรัตนโกสินทร ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔ คือคราวที่ทรงพระราชนิพนธ์พระราชหัดถเลขา ซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้) เสด็จโดยรถไฟไปเพียงพระราชวังบางปอิน แต่นั้นทรงเรือพระที่นั่งเก๋ง เรือกลไฟจูงขึ้นไปตามลำแม่น้ำจนถึงเมืองฝางข้างเหนือเมืองอุตรดิษฐ์เปนที่สุดทาง ครั้งที่ ๒ ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙ เมื่อทางรถไฟทำขึ้นไปถึงเมืองนครสวรรค์แล้ว) เสด็จโดยทางรถไฟขึ้นไปถึงปากน้ำโพธิ์ แต่นั้นทรงเรือแม่ปะเปนเรือพระที่นั่ง ถ่อขึ้นทางลำน้ำพิงจนถึงเมืองกำแพงเพ็ชรเปนที่สุดทาง ครั้งที่ ๓ ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) เสด็จโดยทางรถไฟจนถึงเมืองนครสวรรค์ แล้วทรงเรือพระที่นั่งล่องน้ำลงมาเข้าปากน้ำมะขามเถ้า ประพาศทางลำน้ำเมืองสุพรรณบุรี
การเสด็จเมืองเหนือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ เปนคราวแรกที่จะได้เสด็จเมืองเหนือในรัชกาลที่ ๕ จึงโปรด ฯ ให้จัดกระบวนเสด็จพระราชดำเนินเปนการเลียบมณฑลในทางราชการ มีประกาศกระแสพระราชดำริห์ที่จะเสด็จเมืองเหนือครั้งนั้น ดังคัดสำเนามาพิมพ์ไว้ต่อไปข้างน่า แลทรงพระราชปรารภว่า ตั้งแต่พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเมื่อปีขาล ฯ กาลล่วงมาถึง ๓๕ ปี พวกพศกนิกรชาวเมืองเหนือพึ่งจะมีโอกาศเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวของตนอิก สมควรจะทรงสถาปนาสิ่งสำคัญพระราชทานไว้ตามหัวเมืองให้เปนที่ระลึกถึงการที่เสด็จเมืองเหนือครั้งนั้น ทำนองเดียวกับที่พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรด ฯ ให้สร้างศาลากลางพระราชทานแต่ก่อนมา แต่มาในชั้นนี้ได้สร้างศาลารัฐบาลประจำมณฑล ศาลากลางประจำจังหวัด แลที่ว่าการอำเภอตลอดจนที่อยู่ของข้าราชการเปนของหลวงประจำที่มั่นคงแล้ว ได้ทรงทราบว่ามีการที่ยังไม่ลงระเบียบอยู่อย่าง ๑ คือในการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปี จังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพ ฯ ต้องมารับน้ำพระพิพัฒน์สัตยาไปจากกรุงเทพ ฯ แต่จังหวัดที่อยู่ห่างออกไป แต่ก่อนมาเคยใช้กระบี่เครื่องยศที่พระราชทานผู้ว่าราชการเมืองชุบน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแทนพระแสง ครั้นเลิกประเพณีการพระราชทานเครื่องยศประจำตำแหน่งเสียแล้ว หัวเมืองยังหามีพระแสงสำหรับชุบน้ำพระพิพัฒน์สัตยาไม่ จึงโปรด ฯ ให้สร้างพระแสงราชาวุธขึ้นสำหรับพระราชทานไว้ประจำหัวเมืองจังหวัดละองค์ จังหวัดอันเปนที่ตั้งที่ว่าการมณฑลเปนพระแสงด้ามทองฝักทองลงยาราชาวดี จังหวัดนอกนั้นเปนพระแสงด้ามทองฝักทอง เมื่อเสด็จไปถึงเมืองไหนก็พระราชทานพระแสงสำหรับจังหวัดนั้น แลมีพระราชกำหนดว่า ถ้าเสด็จไปประทับในจังหวัดใดเมื่อใด ให้ถวายพระแสงราชาวุธสำหรับจังหวัดมาไว้ประจำพระองค์ตลอดเวลาที่เสด็จประทับอยู่ในจังหวัดนั้นอย่างหนึ่ง แลให้ชุบน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วยพระแสงราชาวุธนั้นด้วยอย่าง ๑ อิกประการหนึ่งมีพระราชประสงค์จะพระราชทานสิ่งของใช้เปนที่ระลึกอยู่แก่ตัวราษฎร จึงโปรดฯ ให้สร้างเสมาเงินเปนลายรูปพระจุลมงกุฎกับอักษรพระนามขึ้นด้วยอิกอย่างหนึ่ง สำหรับพระราชทานเด็กชายหญิงตามหัวเมืองที่เสด็จไปประพาศครั้งนั้น (เสมาตราพระจุลมงกุฎกับอักษรพระนามนี้โปรดฯ ให้สร้างด้วยทองคำสำหรับพระราชทานหม่อมเจ้าแลบุตร์ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ไปตามเสด็จครั้งนั้นด้วย) ประเพณีการพระราชทานพระแสงราชาวุธแลพระราชทานแจกเสมาเริ่มมีขึ้นครั้งนั้นเปนต้น จึงปรากฎในพระราชหัดถเลขาที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ว่าเมื่อเสด็จไปถึงเมืองไหนได้มีการพิธีพระราชทานพระแสงราชาวุธแลผู้ว่าราชการกรมการจังหวัดนั้นจัดการสมโภชพระแสงราชาวุธเนื่องในการรับเสด็จ แลมีเรื่องปรากฎว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานแจกเสมาแก่เด็กชาวเมืองทุกระยะไป