(ฉบับที่ ๔)

เมืองไชยนาท

วันที่ ๖ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐

ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ

ด้วยฉันได้รับหนังสือฉบับเล็กลงวันที่ ๔ นั้นแล้ว อนุสนธิรายงานวันนี้ ได้ออกจากบ้านสรรพยาเวลา ๔ โมงเช้า เพราะระยะทางใกล้ กำหนดเรือเมล์เดิน ๕ ชั่วโมง แต่เมื่อมาก็ไม่ถึง ๕ ชั่วโมง บ่ายโมงเศษได้มาถึง พลับพลาตั้งที่น่าที่ซึ่งจะตั้งที่ว่าการใหม่ อันได้ยกเสาเปนโครงขึ้นไว้แล้ว เปนทำเลใกล้บ่อนแลด่านภาษีเก่า มีบ้านเรือนติดต่อกันขึ้นไปข้างเหนือน้ำ แต่ริมตลิ่งเปนที่น้ำวนแลรับแดดบ่ายร้อนจัดไม่สบาย แต่ที่ว่าการเดิมซึ่งยังคงอยู่บัดนี้ตั้งอยู่ใต้แหลม เปนที่ซึ่งพระยาประธานคโรไทย ได้มาตั้งอยู่เก่า ซึ่งย้ายใหม่เพราะว่ามีหาดบังน่า แต่ดูยังไม่สู้เหมาะ ถ้ากระไรจะคิดย้ายใหม่ ระยะทางที่ขึ้นมาอยู่ข้างจะเงียบสงัดลงไปกว่าเมืองพรหมเมืองอินทร์ซึ่งว่าเงียบอยู่แล้วนั้นอิก มีคนแต่ริมน้ำ ฦกเข้าไปก็เปนป่า ถึงริมแม่น้ำก็พอมีที่ว่างไม่มีเจ้าของบ้าง เรือเล็กที่ใช้สอยกันในที่พื้นเมืองดูไม่ใคร่มี เรือเหนือขึ้นล่องก็ไม่ใคร่แวะ ผลแห่งการทรุดโทรมด้วยการศึกภายนอกภายในอันเมืองไชยนาทได้รับมานับด้วยร้อยปีเปนอันมากนั้น ยังปรากฎไม่ฟื้น

เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ได้ตั้งพิธีมอบพระแสงประจำเมือง แลแจกเสมา

เวลาบ่าย ๔ โมงลงเรือแจวล่องลงไปดูวัดพระบรมธาตุ ซึ่งอยู่ปากน้ำเมืองสรรค์ฟากใต้ ได้ความจากพระครูอินทโมฬีศรีบรมธาตุว่าเชิงเทินเมืองเก่ายังมีอยู่ในที่หลงข้างวัด แต่กรมการทั้งเมืองไม่มีผู้ใดทราบ เพราะได้ทิ้งร้างมาเสียช้านาน เมืองนี้เห็นจะได้ตั้งภายหลังสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้เมืองศุโขไทยเปนประเทศราชขึ้นกรุง พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายเหนือองค์ที่สุด มหาธรรมราชเลไทยได้เปนเจ้าครองเมืองในที่นี้ ต่อนั้นก็คงจะเปนพระวงษ์ข้างกรุงเก่าขึ้นมาครอง เช่นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) เปนต้น เมืองนั้นเอาลำแม่น้ำแควใหญ่แควเมืองสรรค์เปนคู พระบรมธาตุรูปแปลกแต่เล็ก มีศิลาจารึกอยู่ที่ฐานโพธิ์ แต่เปนจารึกใหม่ ๆ เปนอักษรขอมเขียนภาษาไทย ว่าด้วยการเรี่ยไรปฏิสังขรณ์พระธาตุบอกเรือนเงิน ๒ สลึง ๓ สลึง แต่ที่มีควรจะสังเกต ๒ แห่ง คือยังเรียกเมืองสรรค์ว่าเมืองแพรกคือแพรกศรีราชา กับกล่าวว่ามีสมเด็จพระรูปเสด็จขึ้นไปในการฉลอง คำนวณดูตกอยู่ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมเด็จพระรูปนั้นคงจะเปนกรมพระเทพามาตย์ พระอรรคมเหษีกลางแผ่นดินพระเพทราชา ซึ่งทรงผนวชเปนรูปชีอยู่วัดดุสิต นี่เห็นจะเปนตัวอย่างให้เกิดสมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารีขึ้นที่กรุงเทพฯ มีระฆังใบหนึ่งหล่อเมื่อพระพุทธศักราช ๒๒๗๐ เสียงไม่เพราะ พระครูอินทโมฬีอยู่ข้างจะแขงแรงในการปฏิสังขรณ์แลจัดการเล่าเรียน กลับขึ้นมาโดยเรือกลไฟแล้วไปเดินเล่น ร้อนจัดจนเวลาค่ำฝนตกแต่ไม่สู้มาก

สยามินทร์

  1. ๑. พระยาประธานคโรไทย (ฉาย)

  2. ๒. พระครูอินทโมฬี (ช้าง) ได้เปนพระราชาคณะในรัชกาลปัจจุบันนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ