(ฉบับที่ ๙)

บ้านขมัง

วันที่ ๑๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๐

ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ

อนุสนธิรายงานวันนี้ ออกจากบางมูลนาคเวลาเช้า ๑ โมง ตามระยะทางมีน้ำวนเชี่ยวแรงหลายแห่ง เพราะฉนั้นจึงต้องเปลี่ยนวิธีจูงเรือใหม่ ใช้ผูกขนานกับเรือกลไฟอยู่ข้างจะร้อนไม่สู้สบาย แต่มั่นคงดีขึ้น ได้ขึ้นมาถึงแพที่พักบ้านขมังเวลาพลบ แต่เรือในกระบวนมาถึงล่ามากจนถึง ๒ ทุ่มแลยามหนึ่ง ตามทางที่ขึ้นมา ๒ ฝั่งเปนที่ลุ่มตลอด มีแต่คันดินริมแม่น้ำไม่สู้กว้าง แต่ลุ่มเกินไป น้ำฦกทำนาไม่ใคร่จะได้ต้องขึ้นไปทำชายดอน ห่างฝั่งน้ำขึ้นไปหลาย ๆ สิบเส้น ในที่ลุ่มเช่นนั้นน้ำใสไม่เปนที่ปลูกพืชพรรณอันใดได้ดี เขาจึงได้ขุดคันหลิ่งให้น้ำแม่น้ำซึ่งมีฝุ่นเข้าไปเกรอะเปนปุ๋ยปลูกยา บนคันหลิ่งปลูกกล้วยมีมากขึ้นทุกปี เปนคนยกมาจากข้างในซึ่งกลายเปนที่ดอนไป แลคนเมืองพิไชยลงมาบ้าง แต่ที่ยังเหลือว่างเปล่าอยู่มาก เพราะคนมีน้อยกว่าที่มากนัก ที่นี่เกือบจะตรงแนวกันกับวัดราชาวาศ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นไปประพาศ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีผู้ใดทราบเลยว่าอยู่ตำบลใด เพราะน้ำคลองแควกลางซึ่งขึ้นทางเมืองศุโขไทย แยกที่ตำบลบางคลานไปออกเหนือเมืองพิจิตรนั้น ได้แห้งขาดเปนห้วงเปนตอนมาเสียช้านาน ผู้ว่าราชการเมืองกรมการเดี๋ยวนี้ไม่มีผู้ใดเคยไปเห็น ดูก็เปนน่าพิศวงที่เวลาเพียง ๓๕ ปี ๓๖ ปี แม่น้ำซึ่งเรืออรรคราชวรเดชเคยขึ้นได้มากลายเปนดอนไปดังนี้ ทางคลองเรียงซึ่งขึ้นมาครั้งนี้ สังเกตดูก็ไม่ใหญ่โตกว่าแต่ก่อนมากนัก เรืออรรคราชยังคงกลับไม่ได้ต้องลอยลงไปอยู่นั่นเอง

ที่ตำบลนี้ไม่ได้ทำพลับพลาไว้แต่เดิม เมื่อกรมทหารเรือขึ้นมาตรวจระยะทางยาวนัก พระยาชลยุทธจึงขอให้เติมพลับพลา ซึ่งเปนการถูกแท้ ถ้าตามที่กะระยะไว้แต่เดิมเห็นจะถึง ๒ ยาม แต่เพราะมีวันกำหนดเร็วจึงได้ถอยแพพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร แลกรมการลงมาจอดเรียงกันเปนพลับพลา แพนั้นทำใหญ่โต แลรูปร่างแปลกกว่าที่แพในกรุงเทพ ฯ กั้นห้องหับสนุกสนานมาก ดูเหมือนกับเรือนบนบกเปนที่สบายดีหมด ยุงดูเหมือนจะมากแต่ก็ไม่สู้มากนัก แต่ร้อนไม่มีลมเลย

สยามินทร์

  1. ๑. พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (เชย กัลยาณมิตร์) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิศณุโลก ได้เลื่อนเปนพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ในคราวนี้ ต่อมาได้เปนเจ้าพระยา ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ