- คำนำ
- อธิบายเรื่องเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ
- ประกาศการเสด็จพระราชดำเนินประพาศหัวเมืองฝ่ายเหนือ
- (ฉบับที่ ๑)
- (ฉบับที่ ๒)
- (ฉบับที่ ๓)
- (ฉบับที่ ๔)
- (ฉบับที่ ๕)
- (ฉบับที่ ๖)
- (ฉบับที่ ๗)
- (ฉบับที่ ๘)
- (ฉบับที่ ๙)
- (ฉบับที่ ๑๐)
- (ฉบับที่ ๑๑)
- (ฉบับที่ ๑๒)
- (ฉบับที่ ๑๓)
- (ฉบับที่ ๑๔)
- (ฉบับที่ ๑๕)
- (ฉบับที่ ๑๖)
- (ฉบับที่ ๑๗)
- (ฉบับที่ ๑๘)
- (ฉบับที่ ๑๙)
- (ฉบับที่ ๒๐)
- (ฉบับที่ ๒๑)
- (ฉบับที่ ๒๒)
- (ฉบับที่ ๒๓)
- (ฉบับที่ ๒๔)
- (ฉบับที่ ๒๕)
- (ฉบับที่ ๒๖)
(ฉบับที่ ๒๓)
เมืองนครสวรรค์ ขาล่อง
วันที่ ๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๐
ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ
อนุสนธิรายงาน วันที่ ๓๑ ตุลาคมกำหนดว่าจะไปตลาดปากน้ำโพแต่ฝนตกเสียแต่เช้า กลัวว่าหนทางจะเปรอะเปื้อน จึงไม่ได้ไป ชายบริพัตร๑มาถึงเวลา ๔ โมงเช้า ฝนตกพร่ำเพรื่ออยู่จนเวลาบ่ายจึงได้หยุด
บ่าย ๕ โมงไปที่เขาบวชนาค พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงครามเลี้ยงน้ำชาเปนการต้อนรับชายบริพัตรที่วัดนั้น พระครูสวรรค์นคราจารย์ (ครุธ) เปนผู้จัดการปฏิสังขรณ์มีอุสาหะมากอยู่ สร้างศาลาน้ำหลังใหญ่แลพูนดินถนนสูงสัก ๖ ศอกเศษ ทำตพานยาวมากข้ามที่แผ่นดินซึ่งน้ำท่วมเปนคั่นเปนมาบไปจนถึงชานเขา ทางซึ่งขึ้นเขาก็ซ่อมแปลงขึ้นได้สดวก วิหารใหญ่ซึ่งถูกเพลิงไหม้ก็ปฏิสังขรณ์มุงหลังคาแล้วเสร็จ ช่อฟ้าใบระกามีพร้อมแล้วแต่ยังไม่ได้ยก ที่บนเขานั้นแลเห็นภูมิ์ฐานเมืองนครสวรรค์ได้ตลอดหลายด้าน ตามเขานั้นก็ปลูกต้นไม้สักไว้มาก
วันที่ ๑ พฤศจิกายน เวลาเช้า ๒ โมงเศษ ลงเรือประทีปทัศนาการขึ้นไปจนถึงปากคลองบรเพ็ดในลำน้ำแควใหญ่ ถ่ายลงเรือกลไฟเล็ก เพราะคลองนั้นถึงว่าน้ำฦกถึง ๓ วาก็คดมากเข้าไปไกลอยู่จึงถึงบึง ๆ นี้ใหญ่มาก แลเปนทางที่จะไปได้หลายทางไม่มีกรุยก็หลง ถ้าจะไปถึงคลองบุษบงที่บางมูลนาคก็ไปได้ เวลาน่าแล้งเปนลำน้ำตลิ่งสูงเรือเดินเข้าออกตลอดปี มีคนอยู่ในนั้นมาก แต่เพราะเวลาน่าน้ำๆ ท่วมเหลือเกินนัก จึงไม่ได้ปลูกเรือนปักเสาได้เลย อยู่แพทั้งสิ้น แลท่าจะจอดแพอยู่ในที่ว่างว่างก็ไม่ได้ ต้องเข้าแอบอยู่ตามพุ่มไม้ด้วยพยุจัด ต่อถึงระดูแล้งจึงจะลงจอดอยู่ในลำคลอง มีแต่วัดวัดเดียวซึ่งได้ใช้ปักเสากุฎี แลศาลาลงบนพื้นแผ่นดินสูงสัก ๓ วา แต่กระนั้นถ้าเวลาน้ำมากก็ต้องขึ้นอยู่บนขื่อ บึงที่เรียกว่าบรเพ็ดนั้นเฉภาะถัดลำคลองเข้าไปหน่อยหนึ่งเท่านั้น ต่อเข้าไปข้างในก็มีชื่อเปนตำบลต่างๆ คนที่อยู่ในนั้นก็ทำปลาทั้งสิ้น นับว่าเปนที่แห่งหนึ่งซึ่งสนุกแลงามข้างเมืองเหนือนี้ เขาผูกแพเล็กๆ ไว้สำหรับให้หยุดพักเปนที่เลี้ยง กรมการแลพวกพ่อค้าลงเรือมาเลี้ยง แลได้แจกเสมาในที่นั้นด้วย
เวลาบ่าย ๒ โมงเศษกลับออกมาแล้วไปทางแควน้อย หยุดที่ตพานวัดโพธาราม ลงเรือแม่ปะถ่อขึ้นไปข้างเหนือน้ำ แล้วเปลี่ยนลงเรือชล่าถ่อเพื่อจะดูวิธีถ่อเรือ แล้วล่องลงมาขึ้นที่หัวตลาด เดินลงมาตามตลาด พวกพ่อค้าทั้งปวงพร้อมกันจัดการดาดปรำตลอดหนทางเหมือนที่ท่าอิฐ ตลาดนี้เปนลักษณเดียวกันกับท่าอิฐ แต่โรงแถวเปนชั้นเดียวยาวก็ราวๆ กัน ได้แวะที่โรงเรียนวัดโพธาราม ซึ่งพระครูธรรมฐีติวงศ์คิรีเขตร๒สร้าง แจกเสมาในที่นั้น แล้วเดินต่อมาจนสุดตลาดลงเรือแจวกลับมาพลับพลาโดยทางในเกาะ
ราษฎรที่นี่ชอบแต่งตัวมาก มีแหวนตุ้มหูกำไลแต่งชุม
สยามินทร์