- คำนำ
- อธิบายเรื่องเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ
- ประกาศการเสด็จพระราชดำเนินประพาศหัวเมืองฝ่ายเหนือ
- (ฉบับที่ ๑)
- (ฉบับที่ ๒)
- (ฉบับที่ ๓)
- (ฉบับที่ ๔)
- (ฉบับที่ ๕)
- (ฉบับที่ ๖)
- (ฉบับที่ ๗)
- (ฉบับที่ ๘)
- (ฉบับที่ ๙)
- (ฉบับที่ ๑๐)
- (ฉบับที่ ๑๑)
- (ฉบับที่ ๑๒)
- (ฉบับที่ ๑๓)
- (ฉบับที่ ๑๔)
- (ฉบับที่ ๑๕)
- (ฉบับที่ ๑๖)
- (ฉบับที่ ๑๗)
- (ฉบับที่ ๑๘)
- (ฉบับที่ ๑๙)
- (ฉบับที่ ๒๐)
- (ฉบับที่ ๒๑)
- (ฉบับที่ ๒๒)
- (ฉบับที่ ๒๓)
- (ฉบับที่ ๒๔)
- (ฉบับที่ ๒๕)
- (ฉบับที่ ๒๖)
(ฉบับที่ ๑๖)
เมืองตรอนตรีสินธุ์
วันที่ ๒๒ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐
ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ
อนุสนธิรายงาน เมื่อคืนนี้มีฝนตกเล็กน้อย ตั้งแต่เวลา ๔ ทุ่มไปแล้วรู้สึกเย็น ดึกเข้าหนาวเปนลักษณเมืองเหนือ วันนี้น้ำก็ทรงอยู่ ได้ออกเรือจากเมืองพิไชยเวลาเช้า ๓ โมง มาถึงเมืองตรอนซึ่งตั้งใหม่เมื่อ ๓ ปีนี้ที่ตำบลบ้านแก่ง ตั้งพลับพลาเยื้องที่ว่าการอำเภอขึ้นมาข้างบนสักหน่อยหนึ่ง ตั้งแต่ออกจากพลับพลาเมืองพิไชยผ่านคลองกะรุมฝั่งตวันตกตรงน่าเมืองพิไชย คลองนี้มาจากหนองมีตัดไม้กระยาเลยบ้าง ฟากข้างเมืองซึ่งตั้งอยู่บนหาดเก่า อันกลายเปนตลิ่ง มีโรงโทรเลข โรงเรียน ศาลเมือง แลที่ว่าการทำด้วยไม้แก่นมุงสังกสี เว้นไว้แต่โรงเรียนย้ายไปปลูกที่วัดโยธาทำ โรงเรียนนี้เปนของเดิมจึงมุงแฝก ในลำน้ำมีแพที่เปนอย่างดีตามแบบพระยาสุรสีห์สองสามแพ นอกนั้นก็เปนแพสามัญ แลมีเรือจอดแต่ไม่สู้มากนัก ตามคำพระยาสุรสีห์แจ้งว่าเมืองพิไชยเปนเมืองบำรุงไม่ขึ้น เพราะเหตุว่าภูมิที่ไม่สู้ดี จะว่าข้างปลูกต้นผลไม้ก็สู้เมืองพรหมพิรามฤาเมืองลับแลไม่ได้ การที่จะปลูกยาซึ่งเปนสินค้ามีราคาของเมืองเหนือก็สู้เมืองพิจิตรไม่ได้ เพราะที่ตลิ่งแลหาดสูงถ้าน้ำน้อยก็ไม่ท่วม ถ้าน้ำมากท่วมก็ไม่ใคร่อยู่นาน ฝุ่นที่เปนปุ๋ยก็ไม่เกรอะปลูกยาก็ไม่งาม คนที่เมืองพิจิตรซึ่งฉันเห็นมากขึ้นกว่าแต่ก่อนนั้น ก็เปนคนเมืองพิไชยแทบทั้งนั้น เมืองพิจิตรโจรผู้ร้ายสงบลง พวกที่ทำยาสูบหันลงไปอยู่เสียเมืองพิจิตรทั้งนั้น เมืองพิไชยร่วงโรยไปกว่าแต่ก่อน ต่อขึ้นมามีบ้านเรือนเรือกสวนติดเนื่องกันขึ้นมาหลายเลี้ยว ต่อมาอีกคราวนี้ระยะบ้านห่างออกมีป่าคั่นเปนตอน ๆ ถ้าเปนบ้านแล้วมักจะเปนหมู่ใหญ่ ๆ ในบ้านหมู่ใหญ่ ๆ เหล่านี้เห็นบ้านเตาไหใต้ครึกครื้นมาก ได้ความว่าหากินในทางตัดไม้ล่องไม้ ป่าไม้เหล่านี้เปนไม้กระยาเลยทั้งสิ้น เห็นไม้สักอยู่ตอนหนึ่งแต่ไม่มีโต
ฉันได้กล่าวถึงเมืองว่า เปนเมืองที่ตั้งใหม่มาข้างต้นแล้วนั้น เมืองตรอนเก่าตั้งอยู่ที่ห้วยน้ำใสตกน้ำนี้ซึ่งมารวมน้ำตรอน ปากน้ำตรอนอยู่ใต้พลับพลาลงไป ถ้าเดินจากเมืองใหม่ไปถึงเมืองเก่าทางวันหนึ่ง เปนเมืองดอนมาก เมื่อพิเคราะห์ดูวิธีที่ท่านตั้งเมืองแต่ก่อนตั้งตามกระบวนศึก คือวางระยะเมืองให้รายพอเดินตระเวนถึงกัน ถึงจะเปนห้วยเล็กน้อยอย่างไร คงจะต้องจับลำห้วยไว้เสียทุกแห่ง ตั้งแต่เมืองสิงห์เมืองอุไทยธานี เมืองขุนกันเมืองตรอนเปนต้น ถ้าว่าโดยทางทำมาหากิน เมืองเหล่านั้นเปนเมืองที่จะทำอะไรไม่ได้ เมืองตั้งชั้นหลัง ๆ ฤาที่ย้ายมา คิดทางหากินเปนที่ตั้ง
เมื่อขึ้นไปบนบกดูช่างเหล็ก ซึ่งมาตั้งตีเหล็กให้ดู มีเปน ๒ พวก พวกน้ำพี้พวกหนึ่ง พวกหาดเซี่ยวพวกหนึ่ง พวกแรกนั้นคือเมืองตรอนเก่า พวกหลังคือเมืองด้ง พวกหลังฝีมือดีกว่าพวกแรก เหล็กน้ำพี้ก็มีคนทำอยู่แต่ไม่มาก เว้นแต่บ่อพระแสงไม่มีผู้ใดอาจทำ แต่มักจะใช้เหล็กเทศทำปลอมเสียโดยมาก มีราษฎรที่มาหาเปนลาวมาก แต่เปนลาวพุงดำซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่เมืองน่านเมืองแพร่ เพราะเขตรแดนติดต่อกัน แล้วได้ลงเรือล่องลงไปเข้าน้ำตรอน ก็เปนคลองน้ำใหญ่มีบ้านเรือนราษฎร คือบ้านแก่งนี้เอง อยู่ตามลำคลองมาก ทำการตัดไม้กระยาเลยไม้เตงรังมีอยู่ในลำคลองนั้นเปนอันมาก คลองนี้เจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จขึ้นไปตั้งด่านจนถึงน้ำมืด เมื่อยกขึ้นมาตีเมืองฝางจุลศักราช ๑๑๓๒ (พ.ศ. ๒๓๑๓) แต่หาดสูงซึ่งตั้งค่ายหลวงหาไม่พบ บางทีจะหายไปเสียด้วยเรื่องตลิ่งพัง เพราะเหตุที่เปนหาดแล้วกลับพังได้นั้นไม่อัศจรรย์อะไร ได้เห็นตัวอย่างตามทางมามีอยู่หลายแห่ง
จำนวนทองซึ่งหล่อพระชินราชที่ได้บอกมาแต่ก่อนนั้นยังไม่ถูกต้อง บัดนี้ได้รายการโดยโทรเลขว่า พระรัศมีทองเบ้าครึ่ง ๖๐ ชั่งไทย พระหัดถ์ขวาเบ้าหนึ่ง พระหัดถ์ซ้ายเบ้าหนึ่ง เปนทอง ๘๐ ชั่ง พระเศียร ๒๘ เบ้า ทอง ๑๑๒๐ ชั่ง พระองค์ ๒๕ เบ้า ทอง ๑๐๐๐ ชั่ง น่าตัก ๓๖ เบ้า ทอง ๑๔๔๐ ชั่ง ยังจะหล่ออิกท่อนหนึ่งต่อภายหลัง
ฝนตกประปรายตั้งแต่เย็นมาหยุดเปนครั้งเปนคราว เวลาค่ำก็ตกอิก เปนการดีอยู่ที่น้ำจะลดช้าไปได้อิก
การที่ออกมาพ้นจากที่เคยมาแล้วแต่ก่อน ราษฎรมีความชื่นชมยินดีมาก อยากจะเห็นอยู่ทั่วกัน เปนที่พอใจในความจงรักภักดีของเขาเปนอันมาก
สยามินทร์