(ฉบับที่ ๕)

ท่าฉนวนอำเภอมโนรมย์

วันที่ ๘ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐

ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ

ด้วยอนุสนธิรายงานซึ่งได้บอกมาแต่ก่อนนั้น ครั้นเมื่อวันที่ ๗ เวลา ๔ โมงเช้าได้ลงเรือ ๖ แจว ล่องลงไปตามลำแม่น้ำไปเข้าคลองแพรก ทางประมาณสักชั่วโมงหนึ่งถึงเมืองสรรค์เก่า ได้ขึ้นที่วัดพระมหาธาตุ ตามระยะทางที่ไป ที่ปากคลองมีตะพานแลศาลาทำมั่นคงดี มีถนนเดินเข้าไปจนถึงวัดพระบรมธาตุ เปนของหลวงประชุมพลสินธุ์สร้าง ซึ่งฉันได้ให้รางวัลเหรียญราชรุจิไว้แต่วานนี้แล้ว ต่อเข้าไปมีบ้านเรือนมาก มีเรือนฝากระดานชุม ส่วนต้นผลไม้เดิมบ้าง กำลังขึ้นใหม่บ้าง ข้างหลังเข้าไปเปนนา ภูมิที่ทำมาหากินดีกว่าไชยนาท ราษฎรก็ดูบริบูรณ์กว่า ในการแต่งเนื้อแต่งตัว เมืองสรรค์เปนเมืองที่รอดจากเกณฑ์ข้าหลวงขึ้นล่องมาแต่เดิม เพราะอยู่ลับเข้าไป จึงไม่ยับเยินเหมือนเมืองไชยนาท แต่คลองนั้นระดูแล้งน้ำแห้งขาด แต่ถ้าจะต้องการน้ำ ขุดทรายในลำคลองลงไปศอกหนึ่งก็ได้น้ำ

วัดพระมหาธาตุอยู่ในตำบลบ้านซึ่งเรียกว่าบ้านพระลาน อันเปนที่ตั้งวังเจ้าผู้ครองเมือง อยู่ในกลางย่านระหว่างคูเมืองทั้ง ๒ ด้าน เชิงเทินยังมีปรากฎอยู่เปนเนินดิน ฦกยืนเข้าไปจากแม่น้ำฟากตวันตก ๒๐ เส้น แต่เมืองนี้เปนเมืองทำ ๒ ฟากน้ำเช่นเมืองทั้งปวง แต่ฟากตวันออกจะยืนเข้าไปมากน้อยเท่าใด เค้าเงื่อนหายไปเสียแล้ว บางที่จะได้คงอยู่แต่ฟากเดียวในชั้นหลัง วัดพระมหาธาตุนั้นตามฝีมือที่ทำมีเปน ๒ คราวฤา ๓ คราว ชั้นเดิมทีเดียวเปนอย่างเมืองละโว้ ชั้นที่ ๒ เปนอย่างเมืองลพบุรี เปนการที่ทำเพิ่มเติมซ้ำ ๆ กันลงไป เช่นตัวอย่างที่เห็นชัดคือพระระเบียง เดิมเปนพระศิลานั่งเว้นห้องหนึ่งมีห้องหนึ่ง ครั้นภายหลังทำแทรกลงในห้องว่างทุก ๆ ห้องเปนพระก่ออิฐ แลขยายระเบียงต่อออกไปเอามุมเปนกลาง อย่างเช่นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างพระวิหารใหญ่ขึ้นใหม่ เห็นจะเปนครั้งเจ้ายี่พระยา แต่ทีจะไม่แล้ว ตัวพระมหาธาตุนั้นก็เปนรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันเปนชั้น ๆ ทีจะเปนยอดเล็กยอดน้อยไม่ใช่ปรางค์ เขาทำทางเดินเข้าไปวัดพระยาแพรก (คือเมืองนี้เรียกแพรกศรีราชา) แล้วถึงวัดอิกวัดหนึ่งซึ่งไม่มีผู้ใดรู้จักชื่อเสียแล้ว ถัดเข้าไปจึงถึงวัดสองพี่น้องแลวัดจันทน์ วัดสองพี่น้องนั้นมีพระปรางค์เขมรยังดีอยู่ไม่ทลาย ในห้องปรางค์มีพระพุทธรูปซึ่งชำรุดตอนล่างองค์หนึ่งตอนบนดี หน้าตาเปนพระชั้นนครไชยศรี บางทีจะชำรุดมาเก่าแล้ว จึงเอาขึ้นไปซ่อนไว้เสียบนพระปรางค์ ตอนล่างก็เห็นจะก่อประกอบ ได้ให้ค้นดูหนักก็ไม่พบ ๆ แต่พระชงฆ์ ๒ ข้างเปนพระแปลกดีมาก รูปนี้ไม่เคยเห็นใหญ่ถึงเท่านี้ ได้ให้ส่งไปกรุงเทพ ฯ อาการกิริยาที่สร้างวัดในที่นี้เหมือนเมืองลพบุรีทุกอย่าง คือมีพระเจดีย์รูปต่าง ๆ รายรอบ ๒ รอบ แลพระปรางค์เฟืองตามมุมเปนต้น วัดสองพี่น้องนั้นเห็นจะไม่ใช่สองคนพี่น้องสร้าง เปนวัดสองวัดติดกัน แลเห็นกำแพงเหลื่อมกันอยู่ วัดเหล่านี้ไม่เก่าเหมือนวัดพระมหาธาตุทั้งนั้น ได้แจกเสมาราษฎร แลกินเข้ากลางวันแล้วลงเรือ ล่องลงไปดูคลองคู แวะบ้านหลวงคลังนอกราชการ ซึ่งเปนคนเก่ารู้การในเมืองสรรค์มาก กลับด้วยเรือกลไฟเล็ก ขึ้นมาถึงไชยนาทเวลาย่ำค่ำ ร้อนจัดเต็มที ต่อดึกฝนจึงได้ตก

วันนี้เวลาเช้าโมงครึ่งออกจากเรือจากเมืองไชยนาท ได้เห็นคลองลัด ซึ่งกรมหลวงดำรงขุดไม่ช้านัก แม่น้ำทางอ้อมกลายเปนหญ้าแขมขึ้นดอนไปหมด เสียแม่น้ำไปเปนอันมาก ซึ่งเปนเหตุให้กรมดำรงเองคิดจะห้ามไม่ให้ขุดคลองลัด ทางที่ขึ้นมานี้ก็ต้องขึ้นมาทางลัดนั้นเอง เวลาเช้า ๓ โมงเศษถึงธรรมามูล ขึ้นเขามีราษฎรมาอยู่มาก พระวิหารหลังใหญ่หลังคาพังทลายลงมาทั้งแถบ จำจะต้องปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์ทลายลงมาแถบหนึ่ง เห็นของเดิมทีจะเปนไม้ ๑๒ จะก่อพอกให้กลม แกนนั้นยังดีอยู่ ทลายแต่ที่พอกแถบหนึ่ง พระพุทธรูปเมืองสรรค์ซึ่งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญมาไว้ในพระอุโบสถพระรัศมีชำรุด เมื่อมัสการพระแลตีตราเสร็จแล้ว แจกเสมาราษฎรแล้วลงเรือเดินทางต่อมาอิก ระยะนี้บ้านห่างจนถึงคุ้งสำเภาตรงคลองสะแกกรังข้ามจึงมีตลาด ที่ว่าการอำเภอเมืองมโนรมย์ได้ย้ายลงมาตั้งเหนือตลาด แต่นั้นต่อขึ้นไปยิ่งเงียบมากขึ้น ถึงท่าฉนวนที่ทำพลับพลาเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ มีราษฎรมาหา ได้แจกเสมาเด็ก แต่มีเด็กน้อยกว่าอัตราที่กะมาก ด้วยคนพลเมืองมีเพียง ๔๐๐๐ เท่านั้น มีฝนตกสองพักแต่ไม่สู้มาก การทั้งปวงเรียบร้อยดีอยู่

สยามินทร์

 

  1. ๑. คลองลัดนี้เรียกกันว่า “ลัดเสนาบดี” ขุดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เดี๋ยวนี้กลายเปนลำแม่น้ำไปแล้ว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ