(ฉบับที่ ๑๗)

เมืองอุตรดิฐ

วันที่ ๒๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐

ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ

อนุสนธิรายงาน ออกเรือจากเมืองตรอนเวลาเช้า ๓ โมง ตามระยะทางที่ขึ้นมา ฝั่งน้ำยิ่งปรวนแปรมากขึ้น เมื่อเวลาน้ำกัดแทงเซาะเข้าไป ฝั่งลงน้ำตั้ง ๖ วา ๗ วา ไปงอกเปนหาดขึ้นฟากข้างหนึ่งแล้วแต่น้ำ ถ้าน้ำปีใดมากหาดก็สูง น้ำปีใดน้อยหาดก็ต่ำ ในระหว่างหาดกับฝั่งฤๅหาดใหม่กับหาดเก่า น่าแล้งเช่นนี้แลดูเปนลูกคลื่นสูงๆ ต่ำๆ ถ้าน่าน้ำๆ ท่วมถึงหว่างหาดกับฝั่งเปนลำมาบ เรือขึ้นล่องเดินในลำมาบ เพราะน้ำในแม่น้ำเชี่ยวจัด หาดหนึ่งๆ แลสุดสายตาจึงถึงฝั่ง แต่หาดนั้นก็ไม่ถาวรอยู่ยืนนาน ที่น้ำกลับเซาะกัดหาดพังไปอิก มีตัวอย่างที่จะให้เห็นได้ว่า เรือลำหนึ่งจมอยู่ในทรายครึ่งลำ ด้วยหาดงอกในที่นั้น แลกลับพังเสียแล้ว เรือนั้นยังไม่ทันผุ อิกอย่างหนึ่งสายน้ำเปลี่ยนอยู่เสมอ ดังเช่นเหนือพลับพลาใต้ท่าอิฐ ที่ตรงนั้นตลิ่งเปนท้องคุ้ง เมื่อทำถนนเลียบไปตามคันตลิ่งถึงหาดเก่า ถนนไม่เลี้ยวไปตามคันตลิ่ง ต้องลงไปที่ต่ำประมาณสัก ๕ ศอก ๖ ศอก แล้วจึงไปขึ้นที่สูง คือคันตลิ่งต้นคุ้ง แต่หาดตรงนั้นพัง บ้านพระอุตรดิษฐาภิบาล น้ำแทงเข้าไปจนเกือบหมด ดินกลับไปงอกเปนเกาะขึ้นกลางน้ำใหญ่ยาวเปนอันมากใน ๕ ปีเท่านั้น เปนเกาะตลอดคุ้งน้ำ สายน้ำแต่ก่อนมาจนปีกลายนี้เคยเดินริมฝั่งตวันออก ในคราวที่ฉันขึ้นมานี้เอง เรือต้องกลับมาเดินฝั่งตวันตก ขอให้คิดดูบ้านเราตั้งอยู่ริมน้ำ รุ่งขึ้นอิกปี ๑ ที่ตรงนั้นเปนแม่น้ำฤาเข้าไปอยู่ในดอนห่างน้ำสัก ๙ เส้น ๑๐ เส้นเช่นนี้จะทำอย่างไร จนฉันนึกออกสงสารพระกับนักเรียนแลราษฎรบ่อย ๆ เราแลเห็นพุ่มไม้วัดแลบ้านลิบๆ แต่ในการที่จะมาต้อนรับนั้น ต้องมาตกแต่งซุ้มแลปรำบนหาดซึ่งไม่มีต้นไม้แต่สักต้นเดียว แดดกำลังร้อนต้องมาจากบ้านไกลเปนหนักเปนหนา วัดใดที่ตั้งอยู่บนตลิ่งหลังหาดต้องทำตพานยาวนับด้วยเส้น ลงมาจนถึงหาดที่ริมน้ำ แต่ถ้าน่าแล้งเช่นนี้ ตพานนั้นก็อยู่บนที่แห้ง แลยังซ้ำห่างน้ำประมาณเส้น ๑ หรือ ๑๕ วา ถ้าจะลงเรือยังต้องลุยน้ำลงมาอิก ๑๐ วา ๑๕ วา การที่จะปลูกตึกใกล้แม่น้ำเพียง ๔ เส้น ๕ เส้นนี้เปนน่ากลัวอันตรายทีเดียว ตลิ่งสูงมาก มาในเรือท้องคุ้งไม่แลเห็นบ้านเรือนบนฝั่ง ที่พลับพลานี้ต้องขึ้นบันไดถึง ๔๑ ฤๅ ๔๒ คั่น ได้มาถึงพลับพลาเมืองอุตรดิฐเวลาบ่าย ๑ โมงเศษ เจ้านครน่านซึ่งลงมาโดยทางเรือ เจ้านครลำปาง เจ้านครเมืองแพร่ซึ่งมาทางบก แลข้าราชการหัวเมืองคอยรับอยู่ที่ตพานน้ำ พลับพลานี้ตั้งอยู่ที่ใต้วัดเตาหม้อริมทางที่จะขึ้นพระแท่น ปลูกบนฝั่งซึ่งมีต้นไม้ร่มรื่นล้วนแต่ไม้ผล ต้นส้มโอใหญ่ซึ่งกำลังมีลูกติด ต้นลำไยแลมะม่วงเปนต้น พื้นดินทำเปนถนนสวนสนุก ที่พลับพลาก็ทำเปนที่สบายตกแต่งพร้อมด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ มีรูปภาพซึ่งทำด้วยกล้วยไม้แลเห็ดตะไคร่น้ำหญ้า เปนรูปแผนที่แลรูปพระต่าง ๆ พอดูได้ช่างคิดดี เจ้านายเมืองข้างเหนือได้นำบุตรหลานมาหา บัวไหลภรรยาเจ้าเมืองแพร่ได้นำแพรปักดิ้นสำหรับคลุมพระราชยาน แลผ้าสำหรับคลุมพระแท่นศิลาอาศน์ ซึ่งเขาได้วัดไปเย็บไว้แต่เมื่อลงไปกรุงเทพ ฯ ครั้งก่อน เพื่อจะคอยให้เวลาที่จะขึ้นมานมัสการพระแท่นซึ่งได้กำหนดไว้แล้ว ๆ ได้ถ่ายรูปพร้อมพระบรมวงษานุวงษ์ ข้าราชการทั้งในกรุงแลหัวเมือง พวกจีนที่ท่าอิฐแห่เครื่องบูชาอันตกแต่งด้วยกิมฮวยแลธูปเทียนเปนอันมากมาให้

ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมง ได้ลงเรือเล็กขึ้นไปตามลำน้ำ ซึ่งเรือลูกค้าจอดเรียงรายขึ้นไปเกือบ ๒๐๐ ลำ จนสุดหัวหาดข้างเหนือ แล้วขึ้นตพานอันใช้ไม้ขอนสักเปนทุ่นรับขึ้นไปจนถึงหาด ตั้งแต่ต้นตพานนั้น พวกจีนเรี่ยรายกันดาดปรำตลอดถนนตลาดยาว ๓๐ เส้น ใช้เสา ๓ แถวกว้างใหญ่เต็มถนน ในตลาดนั้นมีเรือนแถวฝากระดาน ๒ ชั้น แต่ใหญ่ ๆ กว่าที่กรุงเทพฯ ที่แล้วก็มาก ที่ยังทำอยู่ก็มี เปนร้านขายของอย่างครึกครื้น ที่เปนบ้านเรือนแลห้างก็มีบ้าง เขาว่าตลาดบกที่นี่ดีกว่าที่ปากน้ำโพซึ่งฉันยังไม่ได้เห็น แต่ตลาดเรือนั้น ที่นี่สู้ปากน้ำโพไม่ได้ การซึ่งตลาดติดได้ใหญ่โต เพราะพวกเมืองแพร่มาลงที่ท่าเสาเหนือท่าอิฐขึ้นไปคุ้งหนึ่ง พวกเมืองน่านลงมาทางลำน้ำ พวกข้างเหนือแลตวันออกลงข้างฟากตวันออก แต่มาประชุมกันค้าขายแลกเปลี่ยนอยู่ที่หาดนั้น แต่ก่อนมาสินค้าข้างล่างขึ้นมายังไม่สดวกดังเช่นทุกวันนี้ แต่บัดนี้พวกลูกค้ารับช่วงกันเปนตอนๆ พวกที่นี่ลงไปเพียงปากน้ำโพ พวกปากน้ำโพรับสินค้าจากกรุงเทพ ฯ เปนการสดวกดีขึ้น เมื่อเดินไปสุดตลาดแล้วลงเรือกลับมาพลับพลา เวลาค่ำแต่งประทีปสว่างทั่วไปตามฝั่งน้ำแลถนน ได้มีการเลี้ยงเจ้านายแลข้าราชการทั้งในกรุงแลหัวเมืองที่พลับพลา

วันที่ ๒๔ เวลาเช้า ๑ โมง ได้ขึ้นม้าเจ้านครลำปางไปตามถนนริมน้ำ แล้วเลี้ยวขึ้นถนนอินทรคิรีไปเมืองลับแล ระยะทาง ๒๐๐ เส้นเศษ ตั้งแต่ริมน้ำขึ้นไปเปนที่น้ำท่วม แลเปนป่าแดง แล้วจึงถึงป่าไม้ซึ่งเปนที่ร่มมากกว่าแจ้ง ป่าไม้ริมถนนนี้เขาได้ห้ามไว้ข้างละ ๕ เส้นไม่ให้ผู้ใดตัด พอออกจากป่าก็ถึงพลับพลาเมืองลับแล แลเห็นภูเขาตั้งเปนคันเทือกใหญ่ยาว ที่ปากถนนนั้นก็มีบ้านเรือนตั้งขึ้นมากหลายหลัง ตั้งแต่พอพ้นจากป่านี้ไป ภูมิประเทศก็เปลี่ยน แลดูเหมือนประเทศชวาในมณฑลเปรียงคาร์ ถนนผ่านไปในท้องนา มีสายน้ำไปริมทางบ้างข้ามไปบ้าง เปนน้ำซึ่งปิดด้วยฝายให้ล้นมาตามลำราง เมื่อจะเปิดเข้านาแห่งไหนก็ตั้งทำนบเล็ก ๆ ให้น้ำล้นขึ้นถึงนาได้ เมื่อน้ำมากไปก็ไขเปิดให้ตกไปเสียได้ ต้นเข้าในท้องนาอ้วนลั่งแลรวงใหญ่งามสพรั่งสุดสายตา ดีกว่าที่ชวาเปนอันมาก แต่กระนั้นพวกราษฎรยังพูดว่าปีนี้ฝนน้อยไปไม่งามเหมือนเมื่อปีกลาย การที่ฝนน้อยไปฤๅมากไป ไม่เปนอันตรายถึงทำให้เสียเข้าในนานั้นเลย คงจะได้เข้าอยู่เสมอ เว้นไว้แต่ถ้าฝนงามดีกอเข้าก็ยิ่งใหญ่งามมากขึ้น เมื่อสุดที่นาก็ถึงหมู่บ้านซึ่งล้วนเปนสวนต้นผลไม้ มีหมากเปนต้น ปลูกเยียดยัดกันเต็มแน่นไป ในหมู่บ้านเช่นนี้ก็คล้ายกันกับที่ชวา แต่ของเราดีกว่า ที่ล้วนแต่เปนต้นไม้มีผลทั้งสิ้นแลเปนหมู่ใหญ่ ๆ กว่าที่ตามริมถนนก็กั้นรั้วแลปลูกเรือนเปนบ้าน ๆ ติดกันไป แปลกอย่างเดียวแต่เพียงเรือนสูงกับเรือนต่ำเท่านั้น แต่เปนเรือนหลังใหญ่ ๆ เสาโต ๆ ไม่มีเรือนไม้ไผ่ เมื่อเข้าในหมู่บ้านแล้วก็กลับออกท้องนา เช่นนั้นไปตลอดจนถึงเขา ที่ว่าการอำเภอตั้งที่เขาจำศีลเปนเขาย่อม แต่ตั้งอยู่ในกลางทุ่งล้อมรอบงามดี เขาตั้งพลับพลารับบนยอดเขานั้น ซึ่งได้ขุดเปนรางน้ำเดินรอบเขา แลมีทางขึ้นหลายสาย ขึ้นได้ด้วยม้า บนพลับพลานั้นแลเห็นแผ่นดินรอบคอบ เปนที่งดงามมาก ราษฎรได้ตั้งกระบวนแห่บ้องไฟแลปราสาทผึ้ง มีช้างในกระบวนนั้นถึง ๒๕ เชือก ราษฎรได้ขึ้นมาหาเปนอันมาก แจกเสมาแลเงินตามสมควร ได้ปักหลังตรงกลางยอดเขานั้นไว้เพื่อจะสร้างลับแลมีซุ้มน้อย ด้วยศิลาแลงอันมีอยู่มากในแถบนั้น แล้วจะเชิญพระเหลือซึ่งจะได้สร้างขึ้นใหม่ด้วยทองชนวนพระชินราช ซึ่งหล่อใหม่ตามแบบองค์เดิมขึ้นมาไว้ให้เปนที่สักการบูชาในเมืองลับแลนั้น ครั้นกินเข้ากลางวันแล้วมีเทศน์เรื่องพระแท่นศิลาอาศน์กัณฑ์ ๑ แล้วขึ้นช้างพลายอินทรของเจ้านครเมืองแพร่สูง ๕ ศอกเศษ ผูกสัปคับแมงดาเขียนทอง เครื่องช้างแลเมาะหมอนล้วนแต่ทำอย่างประณีต เจ้านายแลข้าราชการก็ขึ้นช้างทั้งสิ้น ออกจากเขาจำศีลเพื่อจะไปดูฝายต้นน้ำ ระยะทางสัก ๕๐ เส้นเศษ อันการที่ทำฝายนั้นเขาก็ฉลาดทำมาก ใช้แต่หลักไม้สักเล็กๆ ปักเรียงตลอดขวางลำห้วยลงไปเปนชั้นๆ ให้ลาดเขาลงไปคล้ายรูปล็อกที่กั้นด้วยสิเมนแล้วขนาบด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ กรุด้วยกิ่งไม้กรวดทราย ฝายนั้นกว้างกันน้ำอยู่ประมาณสัก ๖ วา ๗ วา น้ำข้างในสูงกว่านอกฝาย ๔ ศอกเศษเกือบ ๕ ศอก ถ้ามากก็ไหลข้ามฝายไป ฝายนี้ว่าเปนฝายเล็ก ลำห้วยกว้างประมาณสัก ๗ วา ๘ วา ฝ่ายใหญ่ ๆ ยังมีอิกหลายแห่ง แต่ระยะห่างไกลเวลาไม่พอจะไปดู ในเมืองลับแลนี้ว่ามีประมาณสัก ๓๐ ฝาย กลับโดยทางเดิมมาจนถึงแยกถนนศรีพนม จึงได้เลี้ยวไปตามถนนศรีพนม ถนนนี้ไปในหว่างท้องนาแลสวนจนสิ้นเขตรเมืองลับแล ก็พอเข้าป่าเปนแขวงเมืองทุ่งยั้ง ตั้งแต่เข้าในป่านี้มาได้หน่อยหนึ่งถนนแขงเปนพืชศิลาแลงไปจนถึงพระแท่น ในบริเวณบึงพระแลเปนไม้ใหญ่ ๆ แลไม้พาย ตั้งแต่บึงพระแลประมาณ ๒๐ เส้น ถึงเนินศิลาแลงซึ่งเปนที่ตั้งวิหารพระแท่น ว่าโดยที่ตั้งก็ชอบกลดีอยู่ ฟังเล่ามาแต่ก่อนเลวกว่าที่ได้มาเห็น แต่เขาว่าแต่ก่อนนั้นรกคับแคบ เดี๋ยวนี้ได้ย้ายศาลาใหญ่ซึ่งแต่เดิมตั้งอยู่บนลานพระน่าวิหารออกไปเสีย แล้วแผ้วถางหมดจนถึงได้ดีขึ้น มีศาลาใหญ่น้อยหลายหลัง มีร้านสังเขปพอให้เห็นเปนตัวอย่างซึ่งชาวบ้านมาตั้ง แต่ถ้าน่าเทศกาล ที่ร้านแลคนมาหยุดอาไศรยตลอดจนถึงบึงพระ แลสัปรุษขึ้นปีหนึ่งใน ๒๐๐๐๐ คนพร้อมกันในเพ็ญเดือน ๓ ที่บริเวณพระแท่นนั้นมีกำแพงแก้วล้อมรอบ เปนกำแพงหนาอย่างวัดโบราณ มีวิหารใหญ่หลังหนึ่งโตกว่าวิหารพระแท่นดงรัง ข้างในตรงกลางวิหารมีมณฑป ในมณฑปนั้นมีแท่นก่ออิฐถือปูน อย่างแท่นตั้งพระประธานยาว ๖ ศอกคืบ ๒ นิ้ว กว้าง ๕ ศอก ๔ นิ้ว ที่กลางเปนช่องสำหรับผู้มานมัสการบรรจุเงินแลเข็มตามปรกติปีหนึ่งได้เงินอยู่ใน ๑๐๐๐ บาท แต่เข็มได้ถึง ๒ ขัน ด้านริมผนังหลังวิหารมีพระพุทธรูปกองโต ต้นพุดซาอยู่ในกำแพงข้างขวาวิหาร ข้างซ้ายวิหารมีมุขยื่นออกไปเปนที่บ้วนพระโอษฐ แลประตูยักษ์อยู่ตรงนั้น แต่เยื้องกันหน่อยหนึ่ง มีวิหารอยู่ที่มุมกำแพงอิกวิหารหนึ่ง เปนที่พระเสี่ยงทาย หมดเท่านั้น เขาตั้งพลับพลาไว้พ้นลานน่าพระแท่นออกมาหยุดกินน้ำชา ที่นี่มีต้นสักเก่าบ้าง ปลูกขึ้นใหม่บ้าง กลับขึ้นม้าเปนเวลาพลบแล้ว หลังพลับพลาตรงวัดข้ามมีมณฑปพระบาท ๒ รอย แต่ไม่ได้แวะ ถัดวัดนั้นมาเปนลำมาบ พื้นศิลาแลงฦกมาก เวลาน้ำ ๆ ท่วม การที่ขึ้นพระแท่นกันแต่ก่อนใช้เดินไต่ตพานเปนพื้น ที่ลำมาบนี้ก็มีเสาตพานข้าม แต่บัดนี้เขาได้ทำเปนถนนตั้งแต่ท่าขึ้นไปตลอด ตพานข้ามลำห้วยก็พวกจีนเรี่ยรายกันทำเปนการสดวกดีกว่าแต่ก่อนมาก มาจากพระแท่น ๓๐ เส้นถึงเมืองทุ่งยั้ง เปนเมืองเก่ามีกำแพงเชิงเทิน แต่เดี๋ยวนี้คงอยู่แต่เชิงเทินแลคู ซึ่งแปลกกว่าเมืองอื่นคือขุดศิลาแลงเปนคู วัดมหาธาตุตั้งอยู่เกือบจะกึ่งกลางกำแพงเมือง ได้แวะในที่นั้น พระวิหารหลวงยังคงรูปอยู่ตามเดิม แต่หลวงคลังเมืองสวรรคโลกมาปฏิสังขรณ์มุงด้วยกระเบื้องคลองสารทำภายนอกเรียบร้อยแล้ว แต่ภายในยังไม่สำเร็จ มีเครื่องไม้สลักพอดูได้เปนของเก่าที่บานประตู องค์พระมหาธาตุนั้นชำรุดพังลงมา สร้างขึ้นใหม่ รูปนั้นเปนแว่นฟ้า ๓ ชั้น แต่ไปเอาพระเจดีย์มอญมาตั้งขึ้นข้างบน ถ้าดูไม่นึกว่ากระไรก็พอดูได้ แต่หลวงคลังนี้เปนคนมีศรัทธามากได้ลงทุนทำไปแล้วถึง ๔๐๐ ชั่ง แต่เปนเงินเรี่ยรายอยู่ ๖๐๐๐ บาทเศษ ออกจากวัดมหาธาตุมาถึงพลับพลาเวลาทุ่มเศษ ทางขึ้นพระแท่นแต่ท่าขึ้นไป ๑๕๐ เส้น

วันที่ ๒๕ เวลาเช้า ๓ โมงลงเรือสมจิตรหวัง เรือไฟลากขึ้นไปเมืองฝางเก่า ทาง ๓ ชั่วโมงเศษ ลำแม่น้ำข้างบนนี้ มีเกาะอย่างเช่นระหว่างท่าอิฐกับที่พลับพลานี้หลายแห่ง จนขึ้นไปถึงที่แก่งมีศิลาบ้าง กันน้ำให้ไหลอ่อนลง จึงไม่สู้พังมาก แต่เมื่อถึงน่าเมืองฝางก็มีหาดโต เมืองนั้นตั้งอยู่ฝั่งตวันออก เห็นจะพังเข้าไปสัก ๗ เส้น ๘ เส้นแล้ว พระมหาธาตุจึงห่างฝั่งน้ำอยู่ประมาณ ๕ เส้น ที่ซึ่งตั้งวัดนั้นเปนเนินสูงขึ้นไปหน่อย มีกำแพง ๔ ด้านอย่างเดียวกันกับพระมหาธาตุทุ่งยั้ง แต่มุมข้างหนึ่งย่อออกไปสำหรับพระอุโบสถ วัดข้างเหนือนี้ใช้พระอุโบสถเล็ก แลพระวิหารหลวงใหญ่ เช่นพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำวัดโสมนัสแลวัดมงกุฎกระษัตริย์ ที่ทุ่งยั้งพระอุโบสถก็เล็กเหมือนกัน แต่ไม่ส้อนลับเหมือนที่เมืองฝาง พระวิหารหลวงที่เมืองฝางก็เปนลักษณเดียวกันกับที่ทุ่งยั้ง ลายประตูก็เปนลายสลักก้านขด แต่ที่ซึ่งเปนภาพต่างๆ นั้นเปนกระหนกใบตั้งปิดทอง พระพุทธรูปในวิหารหลวงดีกว่าที่ทุ่งยั้ง ด้านหลังเปนมุขสำหรับบูชาพระเจดีย์เหมือนกันทั้ง ๒ แห่ง อย่างวิหารที่สมุทเจดีย์ พระอุโบสถที่กล่าวมาแล้วนั้นคือที่ไว้พระฝางซึ่งเชิญลงไปไว้วัดเบญจมบพิตร ฐานยังคงอยู่ที่นี่ เพราะฉนั้นพระฝางจึงได้ขาดฐาน ๆ ที่ทำขึ้นใช้ไปพลางเดี๋ยวนี้เลวกว่าของเดิมมากนัก ที่ตั้งนั้นอยู่ในมุขหลัง ย่อเปนกระเปาะออกไป ลายประตูเปนลายสลักก้านขดน่าสัตว์ต่าง ๆ เหมือนอย่างบานมุข แต่สลักบานเช่นนี้ ใช้ขุดไม้ลงไปให้ลายเด่นออกมา เช่นบานวัดสุทัศน์ แต่เด่นออกมามากกว่าวัดสุทัศน์ ใช้ไม้หนาขุดเอาจริง ๆ ไม่ได้สลักลายมาทาบ ทำงามดีมาก พระมหาธาตุนั้นว่าพังเสียคราวหนึ่ง แต่พระปฏิสังขรณ์ขึ้นว่าเหมือนองค์เดิม เปนแท่นอิฐไม่มีลวดลายซ้อนกันขึ้นไป ๓ ชั้น แล้วจึงถึงพระเจดีย์กลม ที่คอระฆังใต้บัลลังก์ก็เปนกลีบบัวยอดอ้วน ๆ ปักฉัตรไม่สู้ใหญ่โตอันใดนัก ถ้าหากว่าดูเดี๋ยวนี้เมืองฝางไม่น่าจะเปนเมืองใหญ่โตอันใด ฤๅจะเปนที่มั่นรับทัพศึก เว้นไว้แต่ผู้ที่ตั้งตัวนั้นคิดจะคอยหนีไปเมืองลาว เพราะระยะทางตั้งแต่เมืองฝางขึ้นไปจนถึงเมืองผาเลือก ซึ่งเปนต้นทางจะเดินบกไปเมืองน่าน แลเข้าแขวงเมืองน่านแล้วนั้นทางเพียง ๕๐๐ เส้น แต่ที่นอกกอไผ่ริมน้ำออกไปเปนที่นาอุดมดีทั้ง ๒ ฝั่ง เจ้านครเมืองน่านได้ตามขึ้นไปรับที่นั้นด้วย เพราะเปนที่ต่อแดน แจกเสมาเด็กแล้วลงเรือกลไฟเล็กล่องกลับลงมา ได้เห็นรอซึ่งพวกพ่อค้าท่าอิฐพร้อมใจกันตั้งไว้เปนหลายแห่ง ด้วยสายน้ำแทงเหนือหาดท่าอิฐ กลัวว่าจะเปนอันตรายแก่ทรัพย์สมบัติ แต่กันไว้ไม่อยู่ เปนที่น่ากลัวว่าหาดท่าอิฐนั้นนานไปจะถูกน้ำกัด ล่องมาชั่วโมงครึ่งถึงพลับพลา

อากาศที่นี่เวลากลางวันร้อนจัด แต่ตอนดึกหนาว ถึงกระนั้นไม่เปนเหตุที่จะห้ามกันไม่ให้คนบรรดาที่ขึ้นมาหมดทั้งผู้หญิงผู้ชาย ขึ้นพระแท่นทั้งกลางวันกลางคืนไหลหลั่งไปทุกวัน เมื่อฉันกลับลงมาจากพระแท่นเวลาค่ำแล้ว พบคนเปนพวก ๆ ตลอดหนทาง ไม่ต่ำกว่าสามสี่ร้อยคน ดูเปนที่นิยมกันมากเสียจริงๆ

อนึ่งเมืองพิไชยนั้น โดยภูมิฐานที่ตั้งไม่ดีมีแต่ร่วงโรยลง ที่เมืองอุตรดิฐนี้ความเจริญขึ้นรวดเร็ว มีการค้าขายแลผู้คนมาก จนเปนอำเภอก็จะไม่ใคร่พอที่จะปกครองรักษา ฉันจึงได้สั่งให้ย้ายที่ว่าการเมืองขึ้นมาตั้งที่พลับพลานี้ แต่อำเภออุตรดิฐก็คงเปนอำเภออุตรดิฐอยู่ อำเภอเมืองพิไชยก็คงเปนอำเภอเมืองพิไชย ย้ายแต่ที่ว่าการเมืองแลศาลเมืองขึ้นมาตั้งที่นี่ แลพลับพลาที่สร้างขึ้นนี้จะใช้ได้ต่อไปอิกหลายปี กว่าการที่ปลูกสร้างใหม่จะแล้วสำเร็จ

เวลาค่ำได้ประชุมเจ้าประเทศราชแลข้าราชการหัวเมือง ให้สัญญาบัตรแลแจกเครื่องราชอิศริยาภรณ์ เปนการพรักพร้อมกันอิกครั้งหนึ่ง เปนอันที่สุดทางเดินขึ้นมา แต่นี้ไปจะเปนวันกลับ

อนึ่งฉันจะต้องชมพระราชาคณะผู้ซึ่งมาอำนวยการศึกษาทั้งในมณฑลกรุงเก่า มณฑลนครสวรรค์ แลมณฑลพิศณุโลก ได้จัดการโดยความสามารถเปนอันมาก ความลำบากก็มีอยู่มากหลายอย่าง แต่ได้พยายามจัดการทั้งปวงเปนประโยชน์ดีจริง ตามที่จะทำได้มากแลน้อยทั่วไปทุกแห่ง พระที่วางไว้ให้เปนครูสอนก็ดูเอื้อเฟื้อมาก ทำการเต็มตามความสามารถด้วยกันทั้งสิ้น

อนึ่งฝ่ายการปกครองนั้นเล่า ได้รับเรื่องราวซึ่งชาวเหนืออดไม่ได้เคยร้องกันมาเสมอนั้น ได้ตั้งใจตรวจเองบ้าง ให้ช่วยกันตรวจบ้าง ก็ได้ความข้อหนึ่งซึ่งร่วมกันทุก ๆ ฉบับ ว่าตั้งแต่จัดการมณฑลมีความศุขโดยโจรผู้ร้ายเบา โคกระบือปล่อยได้ แล้วลงปลายก็ไม่ได้กล่าวโทษบุคคล กล่าวโทษอธิบดีเก็บค่าที่ดินซึ่งไม่คิดเศษ คือไร่ ๑ แบ่งแต่ ๔ ส่วนไม่ทอนเศษเบี้ยให้ กับการเกณฑ์กำหนดว่าจะเกณฑ์แต่ ๓ วัน นี่ถูกเกณฑ์จ้างคนละ ๙ วัน ๑๐ วัน เรื่องเหล่านี้เปนต้น ซึ่งยังไม่เข้าใจบ้างเกียจคร้านบ้าง เปนฎีกาซึ่งผิดกับที่เคยได้ยินมาแต่กาลก่อน ทีจะเปนฎีกากล่าวโทษผู้ใหญ่บ้านว่าเกณฑ์ลูกบ้านไม่เปนธรรมมีบ้างในมณฑลนครสวรรค์ ได้สั่งให้พิจารณา เพราะฉนั้นจึงควรสันนิษฐานได้ว่าการปกครองซึ่งจัดขึ้นใหม่นี้ เปนเหตุให้ราษฎรมีความศุขสบายดีขึ้นมากนัก ความปล้นฆ่ากันตายที่เปนฉกรรจ์ไม่ใคร่มี นับว่าเปนการสงบราบคาบตามหนทางที่มา

สยามินทร์

  1. ๑. พระอุตรดิษฐาภิบาล (ทับ) แล้วเปนพระพิศาลคิรี ต่อมาภายหลังได้เลื่อนเปนพระยาพิศาลคิรี ข้าหลวงประจำเมืองเถิน

  2. ๒. เจ้านครน่าน เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช ต่อมาได้เลื่อนเปนพระเจ้านครน่าน

  3. ๓. เจ้านครลำปาง เจ้าบุญวาทวงศมานิต

  4. ๔. เจ้านครเมืองแพร่ เจ้าพิริยวิไชย

  5. ๕. ช้างพลายอินทรตัวนี้ ทรงแล้วโปรดว่าเป็นช้างหลังดี พระราชทานนามว่า พลายอินทรบรมอาศน์

  6. ๖. หาดท่าอิฐเดี๋ยวนี้น้ำกัดพังไปหมดแล้ว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ