(ฉบับที่ ๒)

เมืองสิงหบุรี

วันที่ ๔ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๐

ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ

ด้วยต่อแต่หนังสือฉบับก่อน ขอบอกรายงานส่วนวันนี้ เวลาเช้า ๒ โมงออกจากพลับพลาเมืองอ่างทอง มาจนเวลา ๕ โมงเช้าถึงวัดไชโย ได้แวะขึ้นที่วัด วิหารทำดี ถึงว่าต่อพระอุโบสถออกมาข้างน่าดูภายนอกรูปก็เปนลดหลั่นกันดี ภายในก็สว่างตลอด งานที่ทำก็อยู่ข้างประณีต ในพระอุโบสถปูศิลาแลเขียนรูปภาพพอใช้ เสียแต่พระประธานเปนแม่ลูกอินอย่างประจุบันนี้ ห่มผ้ามีดอกดวงซึ่งนับกันว่าเปนพระอย่างราคาแพง ในมุขหลังพระอุโบสถรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต มีเค้าจำได้ แต่หนุ่มไปกว่าเมื่อเวลาถึงมรณภาพสักหน่อยหนึ่ง พระองค์ใหญ่พระสอเล็กพระภักตร์ยาว ถ้าหากว่าตั้งนั่งร้านขึ้นไปตรงพระภักตร์เห็นจะยาวเกินขนาด แต่ดูก็เปนการยากที่จะปั้นให้งามได้ เพราะที่แลดูต้องเห็นลูกคางก่อนอื่น เพราะต้องแหงนคอตั้งบ่า ถ้าไม่มีวิหารปั้นกันกลางแจ้งจะค่อยหาที่ดูง่ายสักหน่อย พอมัสการแล้วกลับลงเรือ ออกจากที่นั้นมาหน่อยหนึ่งก็เข้าแขวงเมืองพรหม พระอนุรักษภูเบศร์ ผู้รั้งมาเปลี่ยนพระวิเศษไชยชาญ ในระยะทางที่มาดูผู้คนไม่แน่นหนาเหมือนเมืองอ่างทอง แต่การต้อนรับของราษฎรแขงแรงดีเหมือนกันมาถึงพลับพลาเมืองสิงห์เวลาบ่าย ๕ โมงครึ่ง เมืองสิงห์นี้พึ่งยกมาตั้งใหม่ตรงปากน้ำบางพุดซาแขวงเมืองพรหม มีการพิธีให้ดาบอย่างเมืองอ่างทองจนเวลาเกือบทุ่ม ๑ จึงได้เสร็จ สังเกตดูว่าคนเมืองนี้การแต่งเนื้อแต่งตัวอยู่ข้างจะจนกว่าเมืองอ่างทอง การค้าขายนอกจากปรกติก็มีเผาปูนมาก เพราะรับศิลามาจากเมืองลพบุรี เปนทางที่ล่องลงไปกรุงเทพ ฯ ง่าย พระยาราชพงษานุรักษ์ เทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ลงมารับอยู่ในที่นี้ด้วย การพลับพลาเหมือนกันกับเมืองอ่างทอง เว้นแต่บนบกไม่มีสวน แลไม่สู้ประณีตเหมือนเมืองอ่างทอง ซึ่งพระวิเศษไชยชาญออกจะเปนช่างอยู่ แต่ในที่นี้ไม่มียุงเลย

สยามินทร์

  1. ๑. พระอนุรักษภูเบศร (โดม) ต่อมาเป็นพระเกรียงไกรกระบวรยุทธ

  2. ๒. พระยาราชพงศานุรักษ์ แฉ่ บุนนาค ต่อมาได้เลื่อนเปนพระยาไกรเพ็ชร์รัตนสงคราม

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ