- คำนำ
- อธิบายเรื่องเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ
- ประกาศการเสด็จพระราชดำเนินประพาศหัวเมืองฝ่ายเหนือ
- (ฉบับที่ ๑)
- (ฉบับที่ ๒)
- (ฉบับที่ ๓)
- (ฉบับที่ ๔)
- (ฉบับที่ ๕)
- (ฉบับที่ ๖)
- (ฉบับที่ ๗)
- (ฉบับที่ ๘)
- (ฉบับที่ ๙)
- (ฉบับที่ ๑๐)
- (ฉบับที่ ๑๑)
- (ฉบับที่ ๑๒)
- (ฉบับที่ ๑๓)
- (ฉบับที่ ๑๔)
- (ฉบับที่ ๑๕)
- (ฉบับที่ ๑๖)
- (ฉบับที่ ๑๗)
- (ฉบับที่ ๑๘)
- (ฉบับที่ ๑๙)
- (ฉบับที่ ๒๐)
- (ฉบับที่ ๒๑)
- (ฉบับที่ ๒๒)
- (ฉบับที่ ๒๓)
- (ฉบับที่ ๒๔)
- (ฉบับที่ ๒๕)
- (ฉบับที่ ๒๖)
(ฉบับที่ ๘)
บ้านมูลนาค
วันที่ ๑๒ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๐
ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ
อนุสนธิรายงานเวลาวันนี้ ออกเรือเวลาเช้า ๒ โมงเศษ ฝนตกพรำเสมอตลอดวันยังค่ำ น้ำที่ได้ลดลงครั้งหนึ่งกลับขึ้น มาถึงพลับพลาบางมูลนาคเหนือที่ว่าการเมืองภูมเวลาบ่าย ๓ โมง ตามทางที่มา เปนลักษณเมืองเหนือซึ่งเคยจำได้อันได้กล่าวมาแล้ว แต่มีน้ำเกิดขึ้นใหม่ ๆ รายกันบ้านคนตั้งที่ริมมาตลอดทาง ในเรือนเช่นนี้มีเกวียนอยู่ในลานบ้าน ได้ความว่ามีนาอยู่ข้างใน เมื่อมาถึงพรมแดนเมืองภูมมณฑลพิศณุโลกต่อนครสวรรค์ มีประตูข้ามแม่น้ำประดับประดาด้วยคำอำนวยพรแลมงคลต่างๆ มีพระสงฆ์ราษฎรคอยรับเปนการครึกครื้นมาก บางมูลนาคมีบ้านเรือนแลตลาดผู้คนแน่นหนาเกินที่คาดหมายเปนอันมาก พลับพลาที่นี่ทำแปลกกว่าที่อื่น วางท่วงทีเปนที่พอใจด้วยกันหมด ได้ลงเรือจากพลับพลาไปดูที่ว่าการอำเภอทำเรียบร้อยหมดจด มีที่ดินกว้างขวางสนามหญ้าทำดี มีออฟฟิศไปรสนีย์แลโทรเลขตั้งอยู่ในที่นั้นด้วย ทำหมดจดเหมือนกัน ได้แจกเสมาเด็ก การบังคับบัญชาเปนระเบียบเรียบร้อย ลงเรือเล็กเข้าไปในคลองบุษบง คลองนี้น้ำตกมาแต่เขาเมืองเพ็ชบูรณ์เปนน้ำใสต่อกันอยู่ที่ปากคลอง น้ำในแม่น้ำหาได้ไหลเข้าไปในคลองนั้นได้ไม่ ข้างในเข้าไปว่ามีนามากแต่ไปไม่ถึง เขาคิดจะชำระต้นไม้ในคลองนี้ให้ใช้ได้สดวก แต่ถ้าเปิดทางเมืองเพ็ชบูรณ์ให้มาลงที่นี่ได้จะเปนการสดวก พระยาพิจิตร๑ได้เคยขึ้นไป ว่าระยะทาง ๕ วันแลทำไม่สู้ยากนัก เมื่อเวลากลับออกมามีเรือราษฎรตามเข้าไปรับทั้งผู้หญิงผู้ชายเปนอันมาก พายห้อมล้อมแลโห่ร้องเปนการรื่นเริงครึกครื้นมาก เมื่อมาถึงที่ว่าการอำเภอได้ขึ้นบกไปดูตลาดนัดที่ได้จัดตั้งขึ้นไว้ แต่เพราะฝนตกไม่ได้หยุดตลอดวันยังค่ำถนนเปนโคลนเลอะเทอะเพราะพึ่งทำขึ้นใหม่ เวลาค่ำมีการแห่ผ้าป่าตามความนิยมของราษฎรเปนที่สนุกสนานในตำบลนี้ เรือผ้าป่านั้นทำเปนรูปกำปั่น ที่นี่ยุงน้อยกว่าที่เกยไชย ประมาณพอๆ กันกับเมืองนครสวรรค์ ตามคำบอกเล่านั้นว่ามากกว่าที่เกยไชย มาตอนนี้น้ำเชี่ยวจัดขึ้นกว่าที่ล่วงมาแล้ว คนทั้งปวงที่มาเปนที่เรียบร้อยสบายดีด้วยกันทั้งสิ้น
สยามินทร์
-
๑. พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) ผู้ว่าราชการเมืองพิจิตร ภายหลังได้เปนสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิศณุโลก ↩