- คำนำ
- พระประวัติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร
- วันที่ ๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕
- วันที่ ๖ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕
- วันที่ ๒๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕
- วันที่ ๓๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕
- วันที่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๕ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๖ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๙ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๙ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๑๖ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๖ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๒๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๕ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๗ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๔ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๕ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๙ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๖ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๗ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๙ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๕ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๕ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๓๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๕ กันยายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๕ กันยายน ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๒๗ กันยายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๖
วันที่ ๖ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕
สวนดุสิต วันที่ ๖ มินาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕
ถึงกรมดำรง
ได้รับจดหมายตอบเรื่องหมอปัวซ์รับจะเปนธุระนั้น ฉันมีความยินดีขอบใจเปนอันมาก ผู้ซึ่งได้ออกชื่อทั้ง ๕ คนนั้นไม่ใช่คนดีเลย เจ็บมากบ้างน้อยบ้างทุกคน กล่าวคือเจ้าสายตั้งแต่เปนสุกใสครั้งนี้ เปนฝีเดินไม่ได้ตลอดมา เลยซูบผอมทรุดโทรม กินไม่ใคร่จะได้นอนไม่ใคร่หลับ หญิงกลางนั้นเปนฝีรุมะตุ้ม ตัวร้อนรุมแลให้บวมในที่ต่างๆ หญิงน้อย ๑เปนทั้งหัดทั้งสุกใสโทรมผอม แต่นางเอื้อนอยู่ข้างจะมากกว่าเพื่อน เปนโรคโลหิตเปนเจ้าเรือน แล้วเนิฟชักในตาปวดจะตาบอด ได้รักษาประทะประทังกันมาหลายเดือนแล้ว หมอว่าอยู่ข้างจะกำมะลอมาก ถ้าจะรักษาหายก็นานทีเดียว นางสดับนั้นเริ่มเปนปรอนไคติสแลเปนบิดประจำปีมา ๒ ปีแล้ว แต่ฉันไม่ได้เรียกหมอไรเดอร์มารักษาทั้ง ๕ คน เมื่อต้นปีได้เรียกหมอดีไกเซอร์มารักษานางเอื้อนกับนางสดับ ไม่ได้มีผลอะไรแต่สักนิดเดียว ฉันจึงเห็นว่าเลิกเสียดีกว่า จนตาหมออ้วนมารักษาฉันได้สัก ๒ เดือน ๓ เดือนแล้ว จึงได้ลงมือรักษาก็เห็นคุณอยู่ แต่เปนเวลานี้จะขาดตอน อยู่ในหยุดเสียไม่รักษาดีกว่า ส่วนเจ้าสายนั้น ได้ไปตามหมอไฮเอ็ดมาดูฝี ๆ หายแล้วก็เลิกไป ด้วยแกเห็นว่าไม่เปนอะไร เพราะเหตุฉนี้ ตัวคนไข้ด้วยฉันด้วยเถิดความศรัทธาหมอปัวซ์ขึ้น ด้วยเห็นรักษานางดารา๒ฟื้นขึ้นกว่าที่ได้เคยรักษามาในกาลปางก่อน เกิดเลื่อมใสศรัทธา แต่ในการรักษาไข้ทั้ง ๕ นี้ ไม่ต้องเกรงใจหมอไรเตอร์อย่างเช่นแม่เล็ก๓รักษาเยียวหวาน ก็ต้องไปเอาหมอปัวซ์มาเหมือนกัน ให้หมอปัวซ์เปนผู้มาช่วยหมอไรเตอร์ เพราะแกเกรงใจกัน หมอไรเตอร์แกจ๋ามจับเต็มทีเสียแล้ว เหมือนกับพระยาอมรสาตร อยากคุยเล่นมากกว่าจะรักษา จำโรคไม่ได้ว่าใครเปนอะไร ต้องทำคำให้การกันใหม่ทุกวัน ๆ จึงเปนที่รอิดรอาไม่ใคร่มีใครรักษา หาหมอใดไม่ได้ก็ทนไปเปนพื้น เปนมานาน ๆ แล้วทั้งนั้น เจ้าสายมีความประสงค์นัก ที่จะได้ให้มาตรวจอาการเสียโดยเร็วที่สุดซึ่งจะมาได้ ขอให้เธอพาเข้ามาเมื่อไร ๆ ก็ได้
มีข้อขัดข้องซึ่งฉันไม่ได้พูดวันนี้ เพราะยังไม่เห็นมา คือเรื่องดาหมออ้วน แกมีคู่อิจฉากันอยู่กับหมอไปยาร์คนหนึ่ง ซึ่งเดิมชิงกันเปนหมอเรือเมล์ครั้งหนึ่ง ผเอิญภายหลังมาชิงกันเปนหมอทหารเรืออีก ได้ก่อเหตุกันมาแต่ต้น เมื่อทหารเรือจะจ้างตาอ้วน ได้ตรวจเซอติฟิเก็ตแลปาสปอตเห็นเปนที่เรียบร้อยดี ได้ให้มิสเตอร์เวสเตนกาดสอบถามราชทูตเยอรมัน ก็ว่าไม่มีเหตุอันใดที่จะพึงรังเกียจ ขุ่นกันมาช้านานเธอก็รู้แล้ว บัดนี้ทูตเยอรมันมาบอกชายบริพัตร๔ว่าตานี่เปนผู้ที่ถูกที่ประชุมหมอแห่งหนึ่งประณาม เหตุด้วยไปรับจ้างร้านขายเครื่องไฟฟ้าที่ขายราคาแพงเกินประโยชน์ อีกเรื่องหนึ่งไปรับจะแก้หีบเพลง ทำลายหีบนั้นแล้วไม่ทำใช้เขา ทิ้งเข้ามาเสีย เรื่องนี้ว่าทูตเยอรมันได้แจ้งความให้เธอทราบแล้ว เรื่องความเดิมมันเปนอันเสร็จสิ้นกันแล้ว ชั่วแต่เปนคนมีตำหนิ มีคำท้าทายว่าถ้าตานี่ตามเสด็จไป จะมีผู้โพนทนาเรื่องเก่านี้ขึ้น จะเสียพระเกียรติยศอะไรต่าง ๆ ข้อนั้นก็เปนความจริงในการที่จะไปไม่ควรจะให้มีอะไรเปนข้อที่จะยกขึ้นพูดเปนปัญหาเกี่ยวข้องถึง ตัวแกจะเปนอย่างไรนั้นยกไว้ แต่ตัวฉันตกอยู่ในที่ยาก ซึ่งจำจะต้องตัดสินใจให้ตกลงว่าจะทำอย่างไร
ตัวฉันเองฉันรู้ว่าได้ลงมือไม่สบายจริงๆ มาสัก ๔๕ ปีแล้ว แต่ที่ไม่สบายจนน่ากลัว รู้ว่าเปนโรคลึกนั้นใน ๓ ปีมานี้ สังเกตดูว่าทวีขึ้นทุกปี ในปีนี้เปนมากดังเช่นเห็นอยู่แล้ว เพราะไม่มีหมอในเวลานั้น เปนเวลาตาอ้วนอยู่ที่บางปอินจึงได้เอามาดู ผเอิญตาอ้วนก็วางยาถูก จนอาการคลายขึ้นเปนลำดับ ในเวลานี้ฉันรู้สึกตัวฉันว่า สบายกว่า ๓ ปีที่ล่วงมาแล้ว เสมอชั้น ๔ ปี ๕ ปีก่อนนั้น
ในเมื่อกลับมาจากบางปอิน หมอไรเตอร์มาถึงได้เอามาตรวจว่าไม่ได้เจ็บอะไร นอกจากใจเหนื่อยหน่ายในการซ้ำๆ ก็ให้นึกไปว่าเจ็บ เนิฟก็เปนไปตาม อาการที่เสมหะมากขึ้นนั้นก็เปนด้วยหืดธรรมดา การที่เมื่อยปวดนอนไม่หลับนั้นเปนด้วยเนิฟกำเริบ นวดมัสซาชเสียก็หาย ข้อความที่ว่านี้ก็ทำนองเดียวกับหมอดีไกเซอร์ซึ่งไม่ได้ตรวจอะไร มีแต่มาว่าด้วยเรื่องให้หาตำแหน่งให้ทำการต่อไป เหนื่อยเข้าก็ขี้เกียจพบเอง หมอไรเตอร์ว่าเช่นนี้ฉันได้ยอมให้ทำทุกอย่าง ตัวก็ยิ่งร้อนทวีขึ้นไป จาก ๙๙-๑๐๐ ทวีขึ้นไป ๑๐๑ ถึง ๑๐๒ จนต้องงด หมอตรุมป์มาจึงได้เอาหมอตรุมป์มาตรวจถึง ๒ ครั้ง มีความเห็นพ้องต้องกัน จนกระทั่งยาก็ได้ปฤกษากันต่อหน้าฉันว่าควรจะใช้ยาอะไร เปนเข้ามือกันรักษา ๒ คน จนเธอก็ได้เห็นตาตรุมป์เซ็นชื่อด้วยกันกับตาเบอร์มา๕ ต่อเห็นอาการคลายแล้ว ฉันจึงไม่ได้เรียกหมอตรุมป์มา ที่แท้ก็ไม่ต้องจะพบหมอ เพราะไม่ต้องเปลี่ยนยา แต่ตาอ้วนแกพยายามมาเอง ทีหลังนี้ก็ลงเปนแต่ถูเนื้อมัสซาชให้เลือดเดินตามร่างกายสดวก ฉันก็เห็นว่ามันหายเมื่อยของแกจริง ๆ จึงได้ให้ทำอยู่ทุกวัน อาการเดี๋ยวนี้ยังมีแต่ท้องผูก แกเสมหะถึงว่าออกง่ายขึ้นเปนอันมาก แต่ไม่น้อยลงไปเหตุด้วยเปนปัจจัยกัน ตาหมอนี้บอกตามตรงว่าเหลือกำลังที่แกจะรักษาในบางกอกให้หายได้โดยเร็ว เว้นแต่จะต้องตั้งปีไป แต่ถ้าไปนอกให้โปรเฟสเซอร์ที่เข้าใจชัดเจนตรวจ แลบางทีจะมีความคิดที่จะใช้ยาอย่างไรให้ดีกว่าความรู้ของแกจึงจะหายเร็วขึ้น
ฉันไม่ได้มีความคิดว่าจะเอาตาอ้วนนี้ไว้ประจำเปนหมอหลวง เพราะได้คิดแน่นอนแล้วว่าจะหาหมอใหม่ ตาอ้วนเองเปนผู้ออกความเห็นว่าควรจะเอาแอสซิสตันของหมอพิเศษคนหนึ่งได้มาอยู่ประจำ ตานี่เปนแต่เคยรักษาก็จะประจำไปตลอดทาง แลไปชี้แจงอาการที่เปนให้โปรเฟสเซอร์นั้นฟังตามแต่เขาจะสั่งอย่างไร น่าที่ของตาอ้วนมีอยู่เพียงเท่านี้
บัดนี้มาเกิดเอะอะกันขึ้นเสียเช่นนี้ ถ้าขืนเอาตาอ้วนไปก็คงจะเกิดความร้อนใจให้เป่าแตรเอะอะไปเปล่า ๆ ถ้าจะเอาหมอไรเตอร์ไป การรักษาคงต้องกลับน่ามือเปนหลังมือหมด เพราะความเห็นตรงกันข้าม กรมหมื่นมหิศร๖ที่มีความเห็นอย่างเดียวกันกับหมอไรเตอร์ อาการก็โทรมลงไปเปนหนักเปนหนา ไม่น่าจะเชื่อถือได้ ถ้าไปถูกเปลี่ยนผลัดทรุดโทรมลงไปอีกก็น่าเสียดายชีวิตรเปนอย่างยิ่ง
จึงเห็นมีทางอยู่ทางเดียวที่จะเอาหมอตรุมป์ไป แต่ก็ได้ทราบความว่า หมอตรุมป์ได้กลับความเห็นไปใหม่เมื่อฉันขึ้นไปกรุงเก่านี้เอง จนถึงว่าที่ลงชื่อไว้แต่ก่อนเปนการหลงไป เพราะเห็นฉันสบายขึ้นมาได้เร็วเห็นจะไม่ได้เจ็บอะไร จริงเช่นหมอไรเตอร์ว่า แต่ในรหว่างที่ฉันยังไม่รู้เรื่องนี้ ได้หาฤๅจิระ๗เรื่องหมอตรุมป์ จิระไปตามมาถาม หมอตรุมป์แบ่งไปว่า รู้ความประพฤติของตาเบอร์มาเช่นนี้ ก็จำต้องไม่เห็นร่วมด้วย แต่จิระเข้าใจว่าไม่ได้คัดค้านในวิชาหมอ ความจริงนั้นก็จะเปนด้วยมุนีธรรม คือตาตรุมป์แกรู้ แต่บางปากว่าถึงได้ออกปากว่าถ้าเขาค้านหมอเบอร์มาไม่ได้ตามเสด็จแล้ว ถ้าไม่เอาหมอไรเตอร์ก็ไม่มีคนอื่น มีแต่ตัวแกขอตรวจขยิกเข้ามาทีเดียว ความจริงฉันนับถือหมอตรุมป์มากกว่า ตาอ้วนในชั้นเดิมมา ได้บ่นถึง แต่หากไม่ควรเปลี่ยน เพราะเขาทำค้างอยู่แล้ว แลยังเชื่อด้วยว่าถ้าตาตรุมป์ทำไม่ยักเปลี่ยนอะไรมาก คงรักษาอย่างตาอ้วนนี่เอง เพราะแกปฤกษายากันต่อหน้าฉัน บางทีตาอ้วนเอ่ยตาตรุมป์เห็นด้วย ตาตรุมป์เอ่ยตาอ้วนเห็นด้วย แต่เดี๋ยวนี้บาดหมางที่ข้อแกลบชื่อแกเองได้ว่าเปนเพราะหลง เอาเปนว่าแกหลงจริง ถ้าแกหลงได้ทีหนึ่งแล้วทำไมแกจะไม่หลงอีก จะไว้เนื้อเชื่อใจอะไรกันได้ เพราะชื่อที่แกเขียนลงไปไม่เปนสำคัญอันใดเสียแล้ว นี่แหละจึงได้ไม่มีหมอ
ฉันคเนใจฉันเปนแน่ ว่าถ้าฉันไปแต่ลำพังไม่มีหมอ เอาแต่ยาที่เคยกินไปกิน คงจะไม่มีอันตรายอันใด ถ้าหากว่าจะเปนอะไรแปลกมา หมอในเรือมีเขาก็รักษาเอง รยะทางก็ไม่กี่วันนักหนา แต่เพ็ญ๘เจ็บมากกว่าฉันเขายังไปได้แต่ลำพัง ดีกว่าที่จะมีหมอไปบังคับให้ทิ้งยาที่เคยใช้สบายมาแล้วนั้นเปลี่ยนใหม่ให้หมด ซึ่งไม่รู้ว่าจะเปนอย่างไร กรมหลวงเทววงษ์๙ก็เห็นว่าไปได้ แต่จะไปมีข้อขัดข้อง ด้วยหมอวิเศษที่เขาจะมาตรวจนั้น เขาต้องถามอาการหมอประจำ ถ้าจะเอาหมอประจำที่เปนอาติฟิเชียล คือไม่ได้รักษาจริงๆ ไปบอกอาการก็คงจะบอกตามความเห็นของตัวว่าเปนอย่างไร ซึ่งฉันรู้อยู่ว่าไม่ตรงกับอาการที่ฉันเปน ไม่แต่ไม่มีคุณอะไรเปนอันไปเปล่าหาประโยชน์มิได้ด้วย เกิดโทษด้วย จึงเปนการขัดข้องที่จะฦๅด้วยข้อนี้ ส่วนอาการที่ฉันเปนอย่างไรนั้น รังสิต๑๐ก็รู้ จรูญ๑๑ก็รู้ รังสิตได้สืบหาหมออยู่แล้ว ฉันก็ได้จดหมายออกไปให้พระยาวิสูตร๑๒ หลวงพินิจ พร้อมกับรังสิตแลจรูญ เลือกหาเตรียมไว้ว่าควรจะเรียกโปรเฟสเซอร์คนใดสัก ๓ คน รพี๑๓ออกไปถึงก่อนก็ให้รพีเข้าในที่ปฤกษานั้นด้วย แต่หมอประจำนั้นยังไม่ได้สั่งให้หา เพราะนึกว่าจะต้องเลือกให้มากสักหน่อย ด้วยจะอยู่ด้วยกันจนตาย ถ้าพลาดพลั้งไม่ถูกใจจะเปลี่ยนยาก แต่บัดนี้มาเกิดขลุกขลักกันเช่นนี้ก็ได้ให้กรมหลวง๑๔ทำโทรเลขไปเลือกหาหมอประจำให้พร้อมไว้พอไปถึงได้เข้าทำการ จ้างเปนชั่วคราวก่อนคงจะได้เห็นกัน ๓ เดือน ๔ เดือน ก่อนที่จะกลับมาว่าจะใช้ได้ฤๅไม่ ปัณหาขัดข้องเดี๋ยวนี้มีเวลาอยู่เพียงวันที่ ๒๗ เดือนมินาคม ไปหาวันที่ ๒๗ เดือนเมษายนเท่านั้น ขอให้ช่วยคิดสักทีจะเอาอย่างไรดี
สยามินทร์
-
๑. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ↩
-
๒. เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ↩
-
๓. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ↩
-
๔. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ↩
-
๕. ดอกเตอร์โบเมอร์ ↩
-
๖. กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ↩
-
๗. กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ↩
-
๘. กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ↩
-
๙. สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ↩
-
๑๐. กรมขุนไชยนาทนเรนทร ↩
-
๑๑. พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤษดากร ↩
-
๑๒. พระยาวิสูตรโกษา (ฟัก สาณะเสน) ↩
-
๑๓. กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ↩
-
๑๔. สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ↩
-
๑๕. สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ↩