วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖

เรืออัลเบียน

วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ร. ๔๐ศก ๑๒๖

ถึงกรมดำรง ฉันได้รับหนังสือวันที่ ๑๔ มิถุนายน ส่งตัวอย่างตัดหนังสือรายวัน แลตัวอย่างพิมพ์มานั้นได้อ่านแล้ว เปนที่พอใจเปนอันมาก เพื่อจะย่นเวลาให้สั้นเข้าจึ่งได้ทำโทรเลขตอบ จะไว้ส่งเมื่อโอกาศแรกที่จะส่งได้ มีตัวหนังสือที่แก้ผิดอยู่สองแห่ง ได้หมายมาแล้ว ถ้าข้อความเช่นนี้สงไสย ขอให้ตรวจสอบที่หญิงน้อย เพราะลายมือที่เขียนนั้นฉันจำได้ว่าเปนลายมือนางรวย ถ้าเวลาจะพิมพ์ให้ส่งหญิงน้อยตรวจเสียด้วย ฉันเชื่อความสามารถของเธอว่าทำได้เสียแล้ว จึ่งไม่เหนจำเปนที่จะรอจนฉันกลับจึ่งจะพิมพ์ อาจจะทำให้เวลาหนังสือออกช้าไป แต่ฉันอยากให้เธอบอกตำบลไว้ในมายิน เพราะเหตุว่าหนังสือที่ฉันแต่งที่ตำบลมากนัก แลขนาบคาบเกี่ยวกันด้วย ถ้าจะอยากดูตำบลใดจะต้องค้นลำบาก ถ้ามีบอกชื่อไว้เสียที่มายินจะได้พลิกง่ายขึ้น

อนึ่งหนังสือนี้ยาวมาก จะต้องตัดเปนแชปเตอ แต่ฉันเห็นว่าถ้าตัดตามคราวหนังสือที่ฉันมีไป ลงเลขนับเสียว่าฉบับที่ ๑ ที่ ๒ ต่อ ๆ ไป จะเปนอันแบ่งแชปเตออยู่ในตัวเอง ไม่ต้องเรียกอไรกโดกกเดก ซึ่งเปนเอาอย่างฝรั่ง

ส่วนคำนำฉันนึกว่าฉันไม่ต้องนำอไร ควรจะมีแต่คำนำของเอดิเตอเท่านั้น ด้วยฉันไม่ได้แต่งให้ปับลิกอ่าน จึ่งจะต้องแอดเดรสปับลิกเอง เปนหนังสือฉันมีไปถึงลูก ฉันยอมให้เธอเปนผู้รวบรวมข้อความเอาไปลงพิมพ์ ควรที่เธอจะกล่าวนำแต่เล็กน้อยก็พอ ส่วนคอปิไรตนั้นฉันให้ลูกหญิงน้อย ขอให้ลงทเบียนไว้ด้วย

กระดาษที่ส่งตัวอย่างมานั้น ที่จดว่าอย่างดีที่เปนมันนั้นใช้ได้แล้ว ขนาดต้องจำใช้ขนาดเล็ก เช่นตัวอย่างที่หมายเลข ๔ เพราะเหตุว่ารูปที่ให้ไปทำไว้เปนขนาดเล็กเท่าโปสตก๊าดทั้งนั้น ถ้าใช้ขนาดผิดไป จะเกิดกระดาษไม่พอขึ้น แต่ฉันก็ยังไม่ได้เห็นว่าเขาทำอย่างไร ต่อกลับไปถึงเบอลินจึ๋งจะได้ตัวอย่าง เมื่อได้ทำแล้วเท่าไรจะรีบส่ง ถ้าหากว่าพอเล่มข้างต้น ๆ จะเข้าเล่มไปพลางก็ได้ หนังสือฉบับนี้ฉันให้ชื่อว่า ไกลบ้าน กำลังคิดใบปกอยู่ ฉันจะใช้เปนยอดเสาเรือชักธงสแตนดาด แล้วมีตัวหนังสือว่าไกลบ้าน แปลเสรจอยู่ในตัวว่าใครเปนผู้แต่ง ที่ใช้แต่ปลายเสานั้น เพราะเหตุว่าลงเรือหลายลำ ด้านหลังจะบอกชื่อประเทศที่ได้มาเที่ยว อยากจะตีใบปกเข้าไปจากยุโรป เหตุด้วยใบปกตีในบางกอกสกปรกเต็มที แต่ขัดข้องด้วยเรื่องความรู้ในการเย็บหนังสือ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ดุ๊กแกว่าเขาปิดใบปกต่างหาก สันต่างหาก ถ้าทำหลังเข้าไปแล้ว สันผ่อนให้แคบให้กว้างเท่าไรก็ได้ ฉันไม่เชื่อ เปนความสัตย์ ดุ๊กแกเดาเก่ง แกจะพุ่งไปอย่างไรใครจะไปรู้ อยากจะได้ไอเดียสักหน่อย ว่าเขาทำกันอยู่อย่างไรในบางกอก มีท่าทางที่จะทำจากนี้สำเรจได้ฤๅไม่ การที่จะร่างก็ไม่สำเรจได้ที่นี่ เพราะนายมุ่ยคลัมซิเตมทีเขียนไม่ไหว ต้องการโบลดแฮนด์ คงต้องสำเรจต่อภายหลัง ให้ฝรั่งเขียน เมื่อควรจะทำอย่างไรจึ่งจะบอกเข้าไปให้ทราบ

ขอกลับคำในข้อที่ว่ามีที่แก้แต่สองแห่งในหนังสือที่ตัดนั้น เพราะฉันอ่านฉบับที่หญิงน้อยส่งออกไปดูรอยที่เธอวงแก้ ไม่มีผิดมาก ครั้นได้ดูฉบับที่คัดตัวไตปไรเตอเลวไปอีกมาก เหตุด้วยผู้คัดรู้ภาษาไทยไม่พอ เช่นคำว่าเย่าเรือน เขียนเสียว่าเร่าเรือนตามคำพูด หนังสือฉบับนี้จะปรากฏว่าเปนหนังสือฉันแต่ง จำจะต้องให้เปนภาษาไทยอย่างดี ซึ่งบางทีนักเลงแต่งหนังสือโซ้ด ๆ เขาจะเหนฉันโซ้ด ด้วยได้มาเมืองฝรั่งมังค่า จะเลียนถ้อยคำสำนวนไปแต่งบ้าง มันจะได้หายกะโดกกะเดก อย่างภาษาหนังสือพิมพ์ที่เปนครูของพวกโซ้ดอยู่ เพราะฉนั้นจึ่งขอคอลแอตเตนชั่น ว่าเมื่อให้ใครพิมพ์แล้วให้ตรวจดูเสียอีก อย่าให้ปล่อยความเข้าใจผิดไม่รู้ภาษาพ่อของคนพิมพ์ติดอยู่ได้ ตัวอย่างที่ส่งมานี้ ได้ให้กรมขุนสมมตตรวจแก้ตัวหนังสือก่อนแล้วจึ่งส่งเข้าไป ขอให้สังเกตความบกพร่องของผู้พิมพ์ไตป ให้รู้ที่อ่อนของเขาไว้ จะได้จับง่ายต่อไป ยังภาษาต่อมาข้างนี้ประดักประเดิดมาก ต้องระวัง ด้วยเหตุที่คนไทยเราสนัดแต่อังกฤษเท่านั้น ถูกภาษาอื่นเข้าจะแก้โดยเอาไปตามความรู้ จะพาให้เลอะเทอะมาก ที่จริงความปราถนาของฉัน อยากจะใช้ประเทศใดเขาเรียกชื่อเมืองของเขาเองอย่างไรให้ทั่วไป แต่ไม่สำเรจเพราะเหตุที่พึ่งนึกขึ้นภายหลัง ข้อซึ่งเธอว่าเห็นว่าฉันคงไม่มีสำเนานั้นถูก เพราะแต่ต้นหนังสือยังเต็มที หาคนเขียนไม่ใคร่จะพอ แต่ชั้นนายศรีทหารเรือหม่อมนเรนทร์ต้องไปเอมปลอยเอาเปนเสมียนอีกต่อหนึ่ง เพราะคนรู้ภาษาไทยมีมาน้อย หวังใจว่าเรื่องนี้เหนจะเอาตัวรอดได้ตลอด เพราะล่วงเข้ามากว่ากึ่งแล้ว แต่หาเวลาเขียนหนังสืออื่นไม่ใคร่ได้เลย จึ่งได้ออกจะอืด ๆ ไปบ้าง ไม่ได้เขียนหนังสือประปรายทั่วถึง จำจะต้องขอโทษ เพราะฉันถือว่ารายวันนี้เปนการใหญ่อยู่ ถ้าเผลอดินก็จะพอกหางหมูขึ้น ไม่ทันรู้ตัว

จุฬาลงกรณ์ ปร.

  1. ๑. เจ้าจอม ม.ร.ว. จรวย ในรัชชกาลที่ ๕

  2. ๒. พระสรลักษณลิขิต (มุ่ย จันทรลักษณ์)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ