- คำนำ
- พระประวัติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร
- วันที่ ๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕
- วันที่ ๖ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕
- วันที่ ๒๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕
- วันที่ ๓๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕
- วันที่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๕ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๖ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๙ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๙ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๑๖ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๖ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๒๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๕ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๗ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๔ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๕ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๙ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๖ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๗ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๙ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑๕ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๒๕ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๓๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๕ กันยายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๕ กันยายน ร.ศ. ๑๒๖ (๒)
- วันที่ ๒๗ กันยายน ร.ศ. ๑๒๖
- วันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๖
พระประวัติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ ประสูตที่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาทับทิม (สกุลโรจนดิศ) ป.จ. รัตนาภรณ์ ม.ป.ร. ชั้น ๕ จ.ป.ร. ชั้น ๒ ว.ป.ร. ชั้น ๒ พระสนมเอก เป็นพระมารดา ทรงมีพระเชษฐาร่วมอุทร ๒ พระองค์ คือ จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประเวศวรสมัย ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้วทั้ง ๒ พระองค์ เนื่องแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกระลาโหมมาตลอดพระชนม์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ได้ทรงมีตำแหน่งอยู่ในกระทรวงทหารเรือมาแต่เดิม และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประเวศวรสมัย ได้ประทับอยู่ที่วังกับพระเชษฐาและพระอนุชามาช้านาน ทั้ง ๓ พระองค์จึงได้ทรงคุ้นเคยกับข้าราชการรุ่นเก่า ทั้งในกระทรวงทหารบกทหารเรือเป็นอันมาก ที่วังของพระองค์ท่านจึงได้เป็นเหมือนสโมสรสถานอันหนึ่งในสมัยนั้น
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ทรงพระอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่โรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง ถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๙ โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีโสกันต์ตามขัตติยราชประเพณี ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่งในพ.ศ. ๒๔๔๐ ก็ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมชนกนาถไปทรงเล่าเรียนการทหารเรือยังเมืองอังกฤษ ได้ทรงศึกษากับ Captain Litle Johns แล้วทรงเป็นนักเรียนนายเรืออยู่ในเรือ Britania (เรือใบ) ต่อมาได้ทรงเป็น Midshipman อยู่ในเรือ Implacable ซึ่งมีทาน Adm. Prince Louis Battenberg บิดา Lord Louis Mountbatten เป็นผู้บังคับการ ด้วยเหตุนี้จึงได้ทรงคุ้นเคยกับตระกูลวงศ์ของ Mountbatten อย่างสนิทสนม และ Lord Louis Mountbatten จึงได้ไปเฝ้าเยี่ยมเป็นส่วนตัวทั้ง ๒ ครั้งที่ได้เข้ามาเมืองไทยในเวลาภายหลังมหาสงครามครั้งที่ ๒ นี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เคยทรงเล่าว่าในสมัยที่ทรงเป็นนายทหารเรืออยู่ในเมืองอังกฤษนั้น ครั้งหนึ่งมีการเยี่ยมเรือรบโต้ตอบกันในเวลามีหมอกจัด พระองค์ท่านได้เสด็จลงเรือเล็กไปกับนายทหารด้วยกันเต็มลำ แต่ขากลับเกิดเรือชนกันล่มลงเพราะแลไม่เห็นทาง เรือรบต้องช่วยกันฉายไฟกวาดค้นเก็บนายทหารในทะเล พระองค์ท่านกำลังจมอยู่แล้ว เพราะเครื่องแต่งพระองค์เต็มยศดูดน้ำดึงลงไป พวกทหารแลเห็นแต่น้ำเดือดเป็นปุด ๆ อยู่ ก็เอามือลงไปกวาดดู จึงได้พระเศียรหิ้วขึ้นมาเมื่อสลบแล้ว แก้ไขกันอยู่นานจึงได้ฟื้น ตรัสเล่าว่าอาการจมน้ำตายเป็นอย่างไรได้รู้จักแล้ว สมเด็จพระบรมชนกนาถได้พระราชทานลายพระราชหัตถเลขาไปดังนี้
สวนดุสิต
วันที่ ๑๓ มิ.ย. รัตนโกสินทรศก ๑๒๓
ถึง วุฒิไชย
ด้วยได้รับหนังสือวันที่ ๑๐ พฤศภาคม แลพี่ชายเขาก็บอกมาด้วยพร้อมกัน พ่อมีความตกใจเป็นอันมาก ที่ได้ข่าวว่าตกน้ำ เดชะบุญที่ไม่เป็นอันตราย ขอให้พรให้สิ้นเคราะห์อย่ามีเหตุอันตรายอไรต่อไป ของที่จะให้ผู้ที่เขาช่วยขึ้นจากน้ำแลช่วยเอื้อเฟื้อนั้น จะจัดส่งออกไปให้โดยเร็ว แต่ในรหว่างนี้ ขอให้บอกขอบคุณเขาที่พ่อได้มีความรู้สึกในใจเปนอันมาก
สยามินทร์
ในเวลาที่ทรงเป็นนายทหารเรือแล้ว ได้เสด็จไปในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ในกรุงลอนดอนด้วย ได้ทรงคุ้นเคยกับพระราชวงศ์ในสมัยนั้นหลายพระองค์ มีสมเด็จพระเจ้าเอ็ดวาร์ด ที่ ๗ และควีนออฟสเปน ฯลฯ เป็นต้น
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ได้เสด็จกลับมาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ และได้เสด็จเข้าทรงงานในกระทรวงทหารเรือมาแต่นั้น ใน พ.ศ. ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระอิสสริยยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมดังมีในประกาศดังนี้
อนึ่งทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ ได้เสด็จออกไปศึกษาวิชชาการณ์ประเทศอังกฤษ ทรงศึกษาในทางทหารเรือจนจบแล้ว ได้เข้าประจำการในกองทัพเรืออังกฤษพอมีความชำนิชำนาญพอสมควรแล้ว เมื่อเดือนธันวาคม ร.ศ. ๑๒๔ เสด็จกลับจากการทรงศึกษาประเทศยุโรป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าสำรองราชการในกรมบัญชาการกระทรวงทหารเรือ ครั้นเดือนเมษายน ร.ศ. ๑๒๕ ได้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการเรือมกุฎราชกุมาร เดือนมีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้บัญชาการกรมทหารชายทะเล เดือนเมษายน ร.ศ. ๑๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษากระทรวงทหารเรือ และยังคงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารชายทะเลด้วยจนบัดนี้ ก็นับว่าได้ทรงรับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ โดยเรียบร้อยดี ประกอบด้วยพระอุตสาหวิริยภาพมิได้ลดหย่อน นับว่ามีความชอบในราชการอยู่ ทั้งบัดนี้ก็ทรงพระเจริญพระชนมายุ และประกอบด้วยวุฒิปรีชาสามารถสมควรที่จะเลื่อนพระเกียรติยศ ดำรงตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมรับราชการฉลองพระเดชพระคุณ ในตำแหน่งอันไว้วางพระราชหฤทัยได้พระองค์ ๑
จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร อัชนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม ในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาน คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลมโหฬารทุกประการ
ให้ทรงตั้ง เจ้ากรม เป็นหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เป็นหมื่นพรหมไผทพัฒนกร ถือศักดินา ๕๐๐
ให้ทรงตั้ง สมุห์บัญชี เป็นหมื่นอินทรนครคณานุบาล ถือศักดินา ๓๐๐
ถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยศขึ้นเป็นกรมขุน ดังมีในประกาศดังนี้
อนึ่งทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ทรงพระปรีชาสามารถในกิจราชการฝ่ายทหารเรือ ได้ทรงรับราชการตำแหน่งต่าง ๆ ในกระทรวงทหารเรือเป็นที่เรียบร้อยเป็นอันมาก ข้อความมีแจ้งอยู่ในประกาศตั้งกรมครั้งก่อนนั้นแล้ว ต่อมาเมื่อปีพระพุทธศักราช ๒๔๕๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาธิการทหารเรือ และคงเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือด้วย ครั้นพระพุทธศักราช ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจเรทหารเรือ ได้ทรงกระทำราชการในหน้าที่ให้ดำเนินเจริญขึ้นตลอดมาโดยลำดับ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรืออยู่นั้น ประจวบสมัยประเทศสยามได้ประกาศสงครามแก่ประเทศเยอรมนี ออสเตรียฮังการี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ได้เป็นผู้ทรงกำหนดระเบียบการเรื่องจับคร่า เรือกลไฟใหญ่น้อยของราชศัตรูมาเป็นราชพัทยา การอันนั้นได้เป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่ง เป็นความดีความชอบของพระองค์ปรากฏอยู่แล้ว และทรงตระหนักพระราชหฤทัยโดยแน่ชัดว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทโดยซื่อสัตย์สุจริต ตั้งพระทัยรับราชกิจสนองพระเดชพระคุณด้วยพระพิริยภาพมิได้ย่อหย่อน สมควรเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยและสมควรจะทรงยกย่องไว้ในตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่พระองค์ ๑ ได้
จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ขึ้นเป็นกรมขุน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร อัชนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาน คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลสกลเกียรติยศมโหฬารทุกประการ
ให้ทรงเลื่อนเจ้ากรม เป็นขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร ถือศักดินา ๖๐๐
ปลัดกรม คงเป็นหมื่นพรหมไผทพัฒนกร ถือศักดินา ๕๐๐
สมุห์บัญชี คงเป็นหมื่นอินทรนครคณานุบาล ถือศักดินา ๓๐๐
ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ เนื่องแต่เศรษฐกิจตกต่ำ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รวมทหารบกทหารเรือเป็นกระทรวงเดียวกัน และโปรด ฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรทรงเป็นเสนาบดี แล้วได้รับพระราชทานเลื่อนพระยศขึ้นเป็นกรมหลวงในปีนั้น
รวมตำแหน่งราชการที่ได้ทรงทำงานมา ๒๗ ปี ดังนี้
๑. สำรองราชการกรมบัญชาการกลาง | พ.ศ. ๒๔๔๘ |
๒. ผู้บังคับการเรือมกุฎราชกุมาร | พ.ศ. ๒๔๔๙ |
๓. ผู้บัญชาการทหารเรือชายทะเล | พ.ศ. ๒๔๔๙ |
๔. รั้งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ | พ.ศ. ๒๔๕๔ |
๕. เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ | พ.ศ. ๒๔๕๖ |
๖. รั้งเสนาธิการทหารเรือ | พ.ศ. ๒๔๕๖ |
๗. เสนาธิการทหารเรือ | พ.ศ. ๒๔๕๘ |
๘. จเรทหารเรือ | พ.ศ. ๒๔๖๐ |
๙. เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ | พ.ศ. ๒๔๖๗ |
๑๐. เสนาบดีกระทรวงกระลาโหม | พ.ศ. ๒๔๗๔ |
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานทำการเศกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงพร้อมเพราพรรณ พระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้เป็นพระญาติทางฝ่ายพระมารดาอีกสายหนึ่งด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานลายพระราชหัตถเลขามายังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ผู้พระบิดาเจ้าสาว ดังต่อไปนี้
สวนดุสิต
วันที่ ๑ มิน รัตนโกสินทร๓๙ศก ๑๒๕
กรมหลวงดำรง ฉันได้รับหนังสือบอกให้หญิงพร้อมแก่วุฒิไชยนั้น ด้วยความยินดีอย่างยิ่ง ขอให้เธอวางใจว่าฉันจะมีความรักใคร่หญิงพร้อมอย่างลูกสไพ้ ไม่ให้น้อยน่าคนในชั้นเดียวกัน
สยามินทร์
ได้ทรงเศกสมรสใน พ.ศ. ๒๔๕๐ และทรงมีพระโอรสธิดากับหม่อมเจ้าหญิงพร้อมเพราพรรณ พระชายา ๖ พระองค์
๑. หม่อมเจ้าทรงวุฒิไชย สิ้นชีพิตักษัยแล้ว
๒. หม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ
๓. หม่อมเจ้าหญิงสุวภาพเพราพรรณ
๔. หม่อมเจ้าหญิง
๕. หม่อมเจ้าชาย
๖. หม่อมเจ้าชาย ๓ องค์นี้สิ้นชีพแต่ยังไม่มีพระนาม
เมื่อพระชายาสิ้นชีพิตักษัยแล้ว ทรงมีพระโอรสธิดากับหม่อมประพันธ์อีก ๔ องค์ คือ
๑. หม่อมเจ้าไกรสิงห์
๒. หม่อมเจ้าหญิงวุฒิสวาท
๓. หม่อมเจ้าหญิงวุฒิเฉลิม
๔. หม่อมเจ้าหญิงวุฒิวิฑูร์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ประชวรโรคพระวักกะพิการมาช้านานแล้ว พระอาการมีแต่ทรงกับทรุดเรื่อย ๆ มา ได้เสด็จแปรสถานไปในที่ต่าง ๆ เพื่อรักษาพระองค์ แต่ไม่ปรากฏผลดีเท่าใดนัก ในที่สุดก็ประชวรเป็นโรคอัมพาธเพิ่มเติมพระโรคนิ่วขึ้นอีกใน พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นเหตุให้ทรงทุพพลภาพ และพระกำลังก็อ่อนลงเป็นลำดับ จนถึงวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ก็ประชวรเป็นโรคน้ำในพระปัปผาสะ และสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลา ๑๑.๓๐ นาฬิกา ที่วังถนนกรุงเกษม พระนคร มีพระชนมายุได้ ๖๔ ปี ได้รับพระราชทานพระโกศทองน้อยทรงพระศพเป็นพิเศษ