พระราชพิธีฉัตรมงคล
๏ ธรรมเนียมแต่ก่อนมีมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเปลี่ยนปีใหม่ถึงเดือนหกพนักงานข้างหน้าข้างในบรรดาซึ่งรักษาเครื่องราชูปโภคและรักษาตำแหน่งหน้าที่มีพระทวารและประตูวังเป็นต้น ต้องทำการสมโภชเครื่องราชูปโภคและตำแหน่งซึ่งตนรักษาคราวหนึ่ง ข้างฝ่ายหน้าแต่ก่อนมาถึงมีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วยก็มี แต่ข้างฝ่ายในนั้นมีแต่เครื่องสังเวยเครื่องประโคม แล้วร้อยดอกไม้เป็นตาข่ายอุบะมาลัยแขวนตามกำลังมากและน้อย เป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำเอง หาได้เกี่ยวข้องเป็นการหลวงไม่ ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกในวันพฤหัสบดีเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุนตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ จึงทรงพระราชดำริว่าวันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองย่อมนับถือวันนั้นว่าเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามนี้เฉยๆ อยู่มิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้การบรมราชาภิเษกของพระองค์เฉพาะตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานเคยสมโภชเครื่องสิริราชูปโภคแต่เดิมมา ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศล ซึ่งพระราชทานชื่อว่าฉัตรมงคลนี้ขึ้น แต่ข้อความซึ่งจะอธิบายในพระราชดำริให้เข้าใจกันในเวลานั้นว่า เป็นการทำบุญวันบรมราชาภิเษก เป็นการเข้าใจยากของคนในเวลานั้น หรือจะเป็นข้อทุ่มเถียงท้วงติงไปว่าเป็นการไม่เคยมี จึงได้ทรงพระราชดำริให้ปรากฏว่า เป็นการสมโภชเครื่องราชูปโภคอย่างเก่าซึ่งไม่มีผู้ใดจะทุ่มเถียงได้ จนผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครทราบว่าฉัตรมงคลแปลว่าทำบุญอะไร ยกไว้แต่กรมสมเด็จพระเดชาดิศรซึ่งข้าพเจ้ามิได้ฟังรับสั่งท่านเอง แต่สังเกตได้ในคำฉันท์กล่อมพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งรู้ได้ว่าท่านเข้าพระทัย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ซึ่งได้สนทนากัน เพราะฉะนั้น การพระราชพิธีฉัตรมงคลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการสวดมนต์ในวันเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ฉันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้น ๑๔ ค่ำสวดมนต์ ๑๕ ค่ำฉันที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ขึ้น ๑๕ ค่ำสวดมนต์ แรมค่ำ ๑ ฉันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม
ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ การพระราชพิธีฉัตรมงคลท่านผู้บัญชาการก็ให้คงทำอยู่เดือนหกเช่นนั้น ข้าพเจ้าได้ทักท้วงขึ้นก็ไม่ตลอดไปได้ ด้วยกรมหลวงวงศาธิราชสนิท และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไม่เห็นด้วย เถียงไปตามทางที่เป็นสมโภชพระที่นั่ง อ้างคำฉันท์ก็ไม่อ่าน ข้าพเจ้าเป็นเด็กมีน้ำหนักน้อย และดูก็เป็นการไม่พอที่จะวิวาทกันด้วยเหตุไม่เป็นเรื่องจึงได้นิ่งระงับเสีย มีผู้เห็นด้วยแต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอองค์เดียว แต่ท่านก็เถียงไม่ขึ้นหรือไม่สู้อยากเถียงเป็นธรรมดา การจึงได้ทำเดือน ๖ เรื่อยมาจนถึงปีระกาเบญจศก เมื่อสร้างตราจุลจอมเกล้าเปลี่ยนได้ด้วยพาโลเป็นทำบุญตามพระราชบัญญัติวันประชุมตราจุลจอมเกล้า ก็นับได้อยู่ว่าเพราะเครื่องราชอิสริยยศจุลจอมเกล้า พาให้เป็นที่ยินยอมพร้อมใจกันเปลี่ยนมาเดือน ๑๒ ได้โดยไม่มีใครทักท้วงว่ากระไร ลืมการที่ได้เถียงกันในปีมะเส็งเอกศกนั้นเสียสิ้น ในปีจอฉศกเป็นปีแรกทำการฉัตรมงคลในเดือน ๑๒ เป็นการเรียบร้อยเหมือนไม่ได้เคยมีการฉัตรมงคลมาแต่ก่อนเลยทีเดียว
การฉัตรมงคลนี้คงทำตามแบบอย่างซึ่งได้ทำมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเต็มตามตำราทุกอย่าง เพิ่มขึ้นแต่อาลักษณ์อ่านคำประกาศ ยิงสลุตในวันแรม ๑๒ ค่ำ พึ่งเกิดมีขึ้นเมื่อปีมะเมียจัตวาศก ๑๒๔๔ กับการที่ประชุมถวายบังคมพระบรมรูปซึ่งมีขึ้นตามกฎหมายตราจุลจอมเกล้า ตั้งแต่ปีจอฉศกมาจนปีมะเส็งตรีศกถวายบังคมพระบรมรูปที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ต่อถึงปีมะเมียจัตวาศกจึงได้ย้ายมาพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท กับพระที่นั่งซึ่งมีการสมโภชนั้นยักย้ายไปบ้าง คือเวลาต่อมุขพระที่นั่งอนันตสมาคม ย้ายมาทำที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย การแล้วก็กลับไปทำที่พระที่นั่งอนันตสมาคมตามเดิม เวลาซ่อมพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ย้ายมาทำที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท การที่ย้ายไปย้ายมาเช่นนี้ เป็นแต่ตามเหตุผลครั้งหนึ่งคราวหนึ่งแล้วก็คงที่ไปตามเดิม การพระราชกุศลนั้นดังนี้ คือพระราชาคณะ พระครูมีนิตยภัตวันละ๓๐ รูปสวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้าฉัน สำรับที่เลี้ยงพระเป็นของหลวงสำรับหนึ่ง นอกนั้นขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองเป็นต้น หาสำรับคนละสำรับถวายพระสงฆ์ ในวันแรม ๑๑ ค่ำวันหนึ่ง แรม ๑๓ ค่ำวันหนึ่ง วันแรม ๑๒ ค่ำเป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ผู้ซึ่งต้องเกณฑ์สำรับมีของไทยทานเล็กน้อย ถวายพระซึ่งได้ฉันสำรับตัวด้วย ที่นมัสการตั้งพระชัยสำหรับแผ่นดินห้ารัชกาล ที่พระแท่นเศวตฉัตร ตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระแสงประจำแผ่นดิน มีเครื่องนมัสการทองน้อยทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า และตั้งต้นไม้ทองเงิน ๒ คู่ เวลาเช้าตั้งเครื่องเสวย ตั้งบายศรีแก้วทองเงิน มีแว่นเวียนเทียน เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ แล้วอาลักษณ์อ่านคำประกาศเป็นกลอนลิลิต สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ทรงแต่ง แสดงพระราชดำริเรื่องพิธีตลอดจนถึงกฎหมายตราจุลจอมเกล้า ลงปลายขอพรตามธรรมเนียมคำประกาศทั้งปวง แล้วพระสงฆ์จึงได้สวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้าทรงประเคน พระสงฆ์ฉันแล้วถวายเครื่องไทยทาน ยถาสัพพี สวดยานีและคาถารัตนสูตรแล้วจึงถวายอติเรก แต่ในวันกลางคือแรม ๑๒ ค่ำ ซึ่งเป็นวันพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายฉันนั้น มีตั้งครอบพระกริ่ง จุดเทียนดับเทียนในเวลาสวดคาถารัตนสูตรด้วย น้ำปริตนี้ถวายสรงในเวลาเย็นวันนั้น แต่วันแรม ๑๑ ค่ำ ๑๓ ค่ำไม่มี พระสงฆ์กลับไปแล้วทรงจุดเทียนเครื่องสังเวย โหรบูชา พราหมณ์อ่านดุษฎีคำฉันท์ซึ่งกรมสมเด็จพระเดชาดิศรทรงแต่งจบแล้ว จึงได้จุดแว่นเวียนเทียนพระบรมวงศานุวงศ์เคยมีธูปเทียนจุดบูชาพระมหาเศวตฉัตรในเวลานั้นด้วย เวลาเวียนเทียนมีขับไม้ เวียนเทียนแล้วทรงเจิมพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระแสงแล้ว พราหมณ์จึงได้รดน้ำสังข์จุณเจิม โหรผูกผ้าสีชมพูที่พระมหาเศวตฉัตรต่อไป เป็นเสร็จการสมโภชเวลาหนึ่งๆ ทั้งสามวัน
การพิเศษในวันแรม ๑๒ ค่ำ คือเวลาเช้า ๒ โมง เวลาเที่ยง เวลาบ่าย ๕ โมง ทหารบกทหารเรือยิงสลุตตำบลละ ๑๐๑ นัด แบ่งเป็น ๓ เวลา เวลาบ่าย ๕ โมง พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินสวมเสื้อเยียรบับเข้มขาบอัตลัดชั้นใน ประดับด้วยเครื่องอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน สวมเสื้อครุยชั้นนอก ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานสายสร้อยตราจุลจอมเกล้าสวมสายสร้อยด้วย เสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งอนันตสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์และมหาดเล็กเฝ้าประจำที่อยู่ก่อน ข้าราชการเดินเข้ามาเฝ้าเป็นลำดับแล้วไปประจำตามที่ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ผู้ซึ่งควรจะได้รับตามกฎหมายแล้ว พระราชทานพรผู้ซึ่งได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เก่าใหม่และข้าราชการทั่วกัน แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ทรงจุดเครื่องนมัสการทองทิศสี่สำรับ ถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสี่พระองค์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์มโหรทึกกองชนะ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงจุดเครื่องทองน้อยสี่เครื่อง พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยจุดเทียนติดที่ราวถวายบังคมพระบรมรูปต่อไปตามลำดับ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในและภรรยาข้าราชการ บรรดาที่ได้รับพระราชทานกล่องและหีบจุลจอมเกล้า ประชุมที่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมุขตะวันตก จุดธูปเทียนถวายบังคมพระบรมรูปเหมือนข้างหน้า เป็นเสร็จการประชุมตามกฎหมายตราจุลจอมเกล้าในวันเดียวนั้น
คำตักเตือนในการฉัตรมงคล พระสงฆ์ที่จะมาสวดมนต์และรับพระราชทานฉัน ควรจะใช้ตาลิปัตรรองและฝาบาตรเชิงบาตร ในการบรมราชาภิเษกในปีระกาเบญจศก และถ้าพอจะมาได้ไม่ควรจะบิดเบือนเชือนแชไปเที่ยวสวดมนต์เที่ยวฉันเสียที่อื่น เช่นพระธรรมเจดีย์ วัดอรุณ และพระธรรมภาณพิสาศวัดประยูรวงศ์[๑] เพราะเป็นการสำคัญคล้ายถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ถ้าไม่ป่วยไข้มากก็ไม่ควรจะขาด ในเวลาถวายบังคมพระบรมรูปซึ่งเป็นการแสดงความเคารพนับถือต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งห้าพระองค์ปีละครั้ง ถ้าอยู่ดีๆ ก็ควรที่จะมาเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นหน้าที่ของตนจะต้องพิทักษ์รักษาโดยความซื่อสัตย์กตัญญูทุกเวลา มหาดเล็กอย่างลืมเทียนชนวนเครื่องทองน้อย ทั้งเวลาเช้าเวลาค่ำและเวลาจุดเครื่องสังเวย กับทั้งโรคสำคัญ คือพระเต้าษิโณทก ภูษามาลามักจะไม่ใคร่จำได้ในการที่จะเชิญพระครอบพระกริ่งมาตั้งในวันสวดมนต์วันแรม ๑๑ ค่ำ และไม่ใคร่จะคอยเชิญพระครอบขึ้นตั้งที่ ในเวลาพระสงฆ์กลับไปแล้ว ในวันแรม ๑๒ ค่ำ และซ้ำเซอะไม่ได้เตรียมที่จะเข้ามาตั้งถวายในที่สรง และเจ้าเข่ง[๒]ผู้สำหรับรับเข้ามาก็เคยโคมทุกปีมิได้ขาดเลย
อนึ่ง ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงแล้วดูจืดง่ายเป็นธรรมดาโดยมาก เพราะไม่ใคร่มีผู้ใดที่จะใส่ใจตรวจตรานัก ถือน้ำก็ไม่ใคร่มา ว่าไม่ได้อะไรก็แล้วไป แต่ถวายบังคมพระบรมรูปนี้ อยากได้กล่องอยากได้หีบจนตัวสั่น แต่ครั้นได้ไปแล้วก็เกียจคร้านไม่ใคร่มีใครมาถวายบังคมพระบรมรูปตามแบบอย่าง
การพระราชพิธีและพระราชกุศล ในเดือนสิบสองเป็นเสร็จสิ้นเพียงฉัตรมงคลเพียงเท่านี้ ๚
[๑] พระธรรมเจดีย์ ชื่อทอง ต้องลดยศลงเป็นพระเทพมุนี ภายหลังกลับได้เป็นพระธรรมไตรโลก; พระโพธิวงศ์ ชื่อผ่อง เป็นพระโพธิวงศ์ (เสมอเทพ) ต้องลดลงเป็นพระธรรมภาณพิลาศ ภายหลังได้พระราชทานพัดแฉกประดับพลอยอย่างเดิม
[๒] พระวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงยี่เข่งในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้าเพชหึง