อธิบายศัพท์แผลง
มีในพระราชนิพนธ์ พระราชพิธี ๑๒ เดือนโดยทรงตามคำพูดกันในสมัยนั้น
คำแผลงเป็นของมีทุกภาษา มักเกิดแต่มีใครกล่าวเป็นอุทานขึ้นเฉพาะเรื่องอันหนึ่ง แล้วมีผู้อื่นชอบใจจำเอาไปพูด จนเลยเป็นคำสำหรับพูดกันแพร่หลาย แต่คำแผลงไม่ใคร่อยู่ยั่งยืน เพราะเหตุที่คำแผลงมีเกิดขึ้นใหม่เสมอ ตั้งแต่โบราณมาจนทุกวันนี้ คำแผลงเกิดขึ้นในชั้นไหนก็มักพูดกันอยู่เพียงในชั้นนั้น ครั้นล่วงสมัยมามีคำเกิดขึ้นใหม่ในชั้นหลัง คนชั้นหลังก็ใช้คำใหม่พูดจากัน คำแผลงชั้นเก่าก็เสื่อมสูญไป มีน้อยคำที่จะคงอยู่ได้นานถึงหลายชั้นชั่วบุรุษ คำแผลงมีอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนหลายคำ เป็นคำซึ่งใช้กันแพร่หลายอยู่ในสมัยเมื่อทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ แต่มาถึงเวลานี้คำเหล่านั้นล่วงลับไปเสียแล้วโดยมาก เห็นว่าคนในชั้นหลังอ่านพระราชนิพนธ์จะไม่เข้าใจความของศัพท์ซึ่งเป็นคำแผลง ข้าพเจ้าจึงเรียบเรียงอธิบายคำแผลงอันมีในพระราชนิพนธ์ไว้ในที่นี้ ในการที่เรียบเรียงได้ลองสืบเรื่องมูลเหตุที่เกิดคำแผลงนั้น ๆ ขึ้นแสดงไว้ให้ทราบด้วย
คำว่า “กาหล” | หมายความว่า วุ่นวาย หรือ อลหม่าน พูดเป็นคำแผลง แทน โกลาหล เหตุแต่มีชื่อขุนนางตำแหน่งเจ้ากรมแตรสังข์ว่า หลวงกาหล เกิดโจษจันกันขึ้นว่า จะมาจากศัพท์ โกลาหล หรืออะไร เห็นกันต่าง ๆ เกิดแต่จะพูดล้อผู้ที่เห็นว่าเป็นศัพท์เดียวกัน ใครเห็นอะไรอลหม่านหรือ วุ่นวาย จึงว่า กาหล เลยเป็นคำแผลงขึ้น |
คำว่า “กู” | หมายความว่า ประพฤติทุจริตไม่มีละอาย แต่แรงว่า คำว่า “นุ่ง” ซึ่งมาแต่ติเตียนภิกษุอลัชชีว่า เหมือนคฤหัสถ์นุ่งเหลือง เมื่อเกิดคำแผลงว่า “นุ่ง” ขึ้นแล้ว ต่อมามีเรื่องที่จะกล่าวถึงภิกษุที่ประปฤติเป็นอลัชชีโดยเปิดเผยนอกหน้า จึงติว่าราวกับอวดว่า “กูเป็นอลัชชี” ทีเดียว จึงเกิดคำ “กู” ขึ้นในคำแผลง |
คำว่า “เก๋” | มาแต่คำภาษาอังกฤษว่า “เค” หมายความว่าโอ่โถงเป็นต้น ได้ยินว่าเมื่อเสด็จอินเดียครั้งนั้นแรกแต่งตัวอย่างฝรั่ง มีข้าราชการที่ไปในเรื่อพระที่นั่งคนหนึ่งผูกผ้าผูกคอสีแดง มีข้าราชการอีกคนหนึ่งเป็นเชื้อญวนได้ไปเรียนวิชาที่เมืองอังกฤษแต่ดึกดำบรรพ์ จะชมโดยคำอังกฤษ จึงพูดเป็นสำเนียงว่า “เก๋จริงคุณ” ผู้ที่ไปตามเสด็จในคราวนั้น ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษยังมีมาก จึงเอามาพูดว่า เก๋ ส่วนผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษก็เห็นขันที่สำเนียง จึงพูดว่า เก๋ บ้าง คำว่าเก๋จึงเลยเป็นคำแผลง เก่าแก่กว่าคำอื่นๆ บรรดาได้อธิบายมาทั้งหมด |
คำว่า “โก๋” | หมายความว่า หลง มาแต่เจ้านายแต่ก่อนพระองค์หนึ่ง มีมหาดเล็กสำหรับขึ้นท้ายรถตามติดพระองค์ ชื่อโก๋ เวลาจะต้องประสงค์อะไรก็เป็นเรียกอ้ายโก๋ บางทีอ้ายโก๋ไม่อยู่ ก็หลงเรียกด้วยติดพระโอษฐ์ ทีหลังมีผู้ใดร้องเรียกอะไรหลงๆ จึงว่ากันว่า หลงราวกับเรียกอ้ายโก๋ คำว่า โก๋ จึงเลยเป็นคำแผลง หมายความว่า หลง |
คำว่า “ขนดหาง” | คำนี้ใช้พูดกันตามอุปมาโบราณ คือว่าโกรธเหมือนพระยานาค อันบุคคลประหารที่ขนดหาง เพราะฉะนั้นเมื่อพูดเป็นคำแผลงว่า ขนดหาร หรือ ขนด หมายความว่า โกรธอย่างฉุนเฉียว |
คำว่า “ค้างคาว” | คู่กับคำว่า “กา” สำหรับใช้อุปมาด้วยบุคคลผู้นอนดึกและนอนหัวค่ำ พวกนอนหัวค่ำเรียกพวกนอนดึกว่าเป็นพวกค้างคาว ข้างพวกนอนดึกก็เรียกพวกนอนหัวค่ำว่าเป็นพวกกา พอพลบก็ง่วงเหงาหาวนอน คำว่า “ค้างคาว” และ “กา” จึงเลยพูดกันเป็นคำแผลง |
คำว่า “คร่าว” | หมายความว่า สั่งอย่างเหลว ๆ มาแต่จางวางตำรวจแต่ก่อนคนหนึ่ง ไม่สันทัดกระบวนปลูกสร้าง ไปตรวจงานที่ตำรวจทำ ไม่รู้ว่าจะติอย่างไร ไปสั่งเปรย ๆ แต่ว่า คร่าวอย่างไรไม่ติด ที่จริงตรงนั้นไม่เป็นที่มีคร่าว จึงถูกหัวเราะเยาะ เลยเอาคำ “คร่าว” มาอุปมาในบรรดาการที่สั่งเหลว ๆ |
คำว่า “ครึ” | หมายความว่า ยากที่จะเข้าใจ มาแต่ว่าผู้ที่อธิบายอะไรๆ มายกศัพท์แสงต่างๆ ให้ฟัง ยกดังครึคระๆ คนฟังไม่ใคร่เข้าใจ |
คำว่า “โค้ง” | หมายความว่า อย่างจีน มาแต่กิริยาที่จีนคำนับประสานมือ แล้วโค้งตัวลงไป จึงเรียกกันว่า โค้งแทน เรียกว่าคำนับ ทีหลังเลยใช้เป็นคำแผลง แทนที่หมายจะว่า เป็นอย่างจีน ในสิ่งและการทั้งปวง เป็นต้นว่า เห็นหน้าตาท่าทางผู้ใดออกจะเป็นจีน ก็มักพูดกันว่า ดูโค้ง ๆ อยู่อย่างไร ดังนี้เป็นตัวอย่าง |
คำว่า “โคม” | ย่อมาแต่โคมลอย ๆ แปลว่า เหลวไหล มูลเหตุของศัพท่นี้มาแต่หนังสือพิมพ์ตลกของอังกฤษอย่างหนึ่ง เรียกซื่อว่า ฟัน ใช้รูปโคมลอยเป็นเครื่องหมายอยู่หลังใบปก หนังสือพิมพ์นั้นเล่นตลกเหลวไหลไม่ขบขันเหมือนหนังสือพิมพ์ตลกอย่างอื่น คือ ปันช เป็นต้น จึงเกิดคำติกัน เมื่อใครเห็นเล่นตลกไม่ขบขัน จึงว่าราวกับหนังสือพิมพ์ฟันบ้าง ว่าเป็นโคมลอย (เครื่องหมายของหนังสือนั้น) บ้าง จะพูดให้สั้นจึงคงไว้แต่โคม ความที่หมายก็กว้างขวางออกไปจากไม่ขบขันจนแปลว่าเหลวไหล |
คำว่า “ชา” | หมายความว่า ไม่รู้สึกเสียเลย เหมือนกับเป็นเหน็บชา |
คำว่า “ช่างเถอะ” | หมายความว่า ไม่น่าเชื่อ มาแต่มีบางคนที่เจรจาเท็จ จนผู้อื่นรู้เช่นกันเสียโดยมาก เมื่อมีผู้มากล่าวขึ้นว่า คน (เจรจาเท็จ) นั้น เขาบอกว่าเช่นนั้นๆ ผู้ที่ฟังมักพูดว่า คนนั้นบอกว่ากระไรก็ช่างเถอะ คำช่างเถอะ จึงเลยเป็นคำแผลง สำหรับหมายความว่าไม่น่าเชื่อ |
คำว่า “ซึมซาบ” | หมายความว่า ความนิยมในคติอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นคติที่ผิดและควรจะคิดเห็นได้ แต่หลงเชื่อว่าถูกต้อง ถ้าว่าใครซึบซาบ ก็หมายว่าเป็นผู้เชื่อถือคติเช่นนั้น อุปมาเหมือนคติอันนั้นซึมซาบอยู่ในสันดานเสียแล้ว ทำอย่างไรๆ ก็ไม่ถอนออกได้ |
คำว่า “ซ้องหัตถ์” | หมายความว่าเนยแขก มาแต่คำแปลคัมภีร์ ภาษามคธ มีเรื่องต่างๆ ที่กล่าวถึงเนย มักประมาณตวงด้วยซ้องหัตถ์ บางทีเนยขาดไปเพียงซ้องหัตถ์หนึ่ง ก็ถึงเกิดวิวาทบาดทะเลาะ หรือได้บริโภคเนยเพียงซ้องหัตถ์เดียว ก็หายไข้ หายเจ็บ ขบขันที่เนยแขกสิเหม็นเหลือทน แต่ใน คัมภีร์นับถือถึงตวงด้วยซ้องหัตถ์ ทีหลังมีเรื่อง พูดกันถึงเรื่องเนย มีผู้อยากทราบว่าเป็นเนย อย่างไหน ผู้หนึ่งประสงค์จะบอกว่าเนยแขก บอกว่า “เนยอย่างซ้องหัตถ์นั้นแหละ” ฮากัน แต่นั้นจึงมักชอบเรียกเนยแขกกันว่าเนยซ้องหัตถ์ |
คำว่า “ตะโกนปลาปล่อย” | หมายความว่าทำบุญอวดพระ มาแต่ประเพณีการพระราชกุศลที่มีปลาปล่อย เซ่นตรุษจีน เป็นต้น เจ้าพนักงานต้องเข้าไปกราบทูลรายงานต่อหน้าพระสงฆ์ว่าปล่อยปลาแล้ว รับสั่งว่า “ทำบุญ อวดพระ” การทำบุญอวดพระอย่างอื่นๆ จึง รวมเรียกเป็นคำแผลงว่า “ตะโกนปลาปล่อย” |
คำว่า “ตื้น” | หมายความว่า ไม่รู้จริงจัง มาแต่มีบางคนชอบ พูดสำทับผู้อื่น เมื่อแสดงความเขลาที่ไม่รู้ของ ตนขึ้น ผู้นั้นมักติเตียนว่า “รู้ตื้น ๆ ก็เอามาพูด ด้วย” ผู้ที่ฟังเห็นขบขัน เอาอย่างมาล้อกันเอง จึงเลยเป็นคำแผลง ถ้าใครแสดงความที่ไม่รู้ใน คติอันควรรู้ มักติกันว่า “ตื้น” |
คำว่า “เตี้ย” | ใช้พูดแทนว่า เล็กน้อย มาแต่จีนที่พูดไทยยังไม่สันทัด มีบางคนยังไม่รู้ภาษาพอ มักพูดว่า ชอบเตี้ยๆ มีเตี้ยๆ เห็นขันจึงมาใช้กันเป็นคำแผลง |
คำว่า “ทัก” | หมายความว่า “พูดโดยไม่เกรงใจ” มาแต่ขุนนางคนหนึ่งชอบทักใครๆ โดยไม่เกรงใจ จะยกตัวอย่างครั้นนั้นมีผู้กล่าวกันว่า พระราชาคณะองค์หนึ่งเล่นหนัง เวลาขุนนางคนนั้นพบพระราชาคณะองค์นั้นมักทักว่า “เจ้าคุณตโจ สบายดีหรือ” ผู้ที่ได้ยินพากันสั่นหัวว่าทักกันอะไรอย่างนั้นน่ากลัว ทีหลังได้ยินใครพูดหรือทำอะไรอย่างไม่เกรงใจ จึงกล่าวกันว่า ราวกับขุนนางคนนั้นทักปฏิสันถาร คำว่า “ทัก” จึงเป็นคำแผลงสำหรับใช้ หมายความว่า พูดโดยไม่เกรงใจ |
คำว่า “ทึ่ง” | หมายความว่า ต้องการจะใครรู้ มาแต่อาการของนกอิมิว นกกระจอกเทศอย่างหนึ่ง ได้มาแต่ออสเตรเลีย เลี้ยงปล่อยไว้ในสนามหน้าพระที่นั่งจักรี เวลานกนั้นเห็นคนหรืออะไรที่แปลกประหลาด อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร เดินทำกิริยาเข้าไปเลียบเคียง เปล่งเสียงจากอกดังทึ่ง ๆ ทึ่งๆ ทีหลังเมื่อใครเห็นผู้อื่นไต่ถามอยากรู้เรื่องอะไรเซ้าซี้ มักว่า มาทึ่งๆ ราวกับนกอิมิว จึงเกิดเป็นคำแผลงว่า “ทึ่ง” |
คำว่า “นุ่ง” | หมายความว่า คดโกง มาแต่ติเตียนภิกษุอลัชชี ว่าเป็นแต่คฤหัสถ์นุ่งเหลือง มิใช่พระใช่สงฆ์ แต่แรกมักใช้แต่เฉพาะที่เนื่องด้วยภิกษุอลัชชี ดังเช่นเห็นพระสงฆ์ จะไต่ถามกันว่า ภิกษุองค์นั้นองค์นี้เป็นอลัชชีหรือไม่ มักถามกันว่า นุ่งหรือไม่นุ่ง คำว่า “นุ่ง” จึงเลยเป็นคำแผลง |
คำว่า “ใบโต” | มาแต่คำแผลงว่า โคมลอย นั้นเอง พูดกันว่า “โคมลอยใบโต” หมายความว่า เหลวไหลเต็มที |
คำว่า “ปา” | และ “ทุ่ม” ๒ คำ นี้ แปลว่า ยอให้ชอบใจ ย่อมาแต่ปา และ ทุ่ม ก้อนหินผาลงไปในเหว จงดูอธิบายที่คำ “เหว” |
คำว่า “แป้น” | หมายความว่า นบนอบอย่างที่สุด มาแต่พูดกันว่า หมอบจนก้นแป้น |
คำว่า “ปอดเสีย” | หมายความว่า ตกใจกลัวอย่างแรง มาแต่หมอฝรั่งตรวจว่าเป็นโรคปอดเสีย แต่แรกก็เฉยๆ ครั้นแปลได้ความว่าเป็นฝีในท้อง ก็ตกใจดีฝ่อ คำว่า “ปอดเสีย” จึงเป็นที่หมายของความตกใจกลัวอย่างแรง |
คำว่า “พโยมยาน” | มาจากศัพท์โคมลอยนั้นเอง หมายความก็อย่างเดียวกัน จงดูอธิบายที่ศัพท์ โคมลอย |
คำว่า “พัด" | หมายความว่า รบเร้า มาแต่มีขุนนางคนหนึ่งชอบถือพัดด้ามจิ้วติดตัวเสมอ ขุนนางคนนั้น เมื่อมีกิจจะไต่ถามอะไรต่อราชเลขาธิการ ไปนั่งเกาะเก้าอี้ เอาพัดๆ ตัวเองบ้าง พัดราชเลขาธิการบ้าง อยู่จนเสร็จธุระหาไม่ก็ไม่ไป จึงเกิดเป็นคำพูดขึ้นในห้องราชเลขาธิการ ถ้าใครไปรบเร้าจะเอาอะไรก็ว่า นี่จะมาพัดเอาให้ได้ อย่างขุนนางคนนั้นหรือ คำว่า “พัด” จึงใช้เป็นคำแผลง หมายความว่า “รบเร้า” |
คำว่า “พื้น” | เดิมหมายความว่า อารมณ์ พื้นเสีย พื้นเก่า พื้นโบราณ หมายความว่าอารมณ์ไม่ผ่องใส คือมีโทสะเจือปน ถ้าพื้นดี พื้นใหม่ พื้นเรี่ยม หมายความว่าอารมณ์ผ่องแผ้ว มีปีติยินดีเป็นเจ้าเรือน แต่การที่ใช้คำพื้น มักพูดกันถึงที่อารมณ์เป็นโทสะโดยมาก ภายหลังเมื่อพูดแต่ว่า พื้น คำเดียว มักเข้าใจว่ามีโทสะ เรื่องวัตถุนิทานของคำนี้ เดิมไทยที่ไปยุโรปกลับมาชั้นเก่าๆ มักมาเล่าว่า ที่ทะเลแดงนั้นร้อนนัก เพราะพื้นเป็นแต่หินและกรวดทราย ต่อมาบางคนในพวกนั้นเกิดโทสะ ผู้ที่เห็น กระชับกันว่า ถึงพื้นทะเลแดงหรือยัง คำว่า พื้น และ ทะเลแดง จึงกลายเป็นคำแผลง หมาย ความว่าโทสะกลัา และเกิดคำคู่กันขึ้นว่า พื้น อยู่นอธโปล คือหัวโลกช้างเหนือที่น้ำแข็งเสมอ หมายความว่า อารมณ์เยือกเย็น ทีหลังมาเมื่อเห็นใคร ๆ นั่งบึ้งๆ ซึมๆ จึงมักถามกันว่า พื้นอยู่ที่ไหน ต่อมาอีกคราวนี้ถ้าเห็นใครนั่งบึ้งๆ ก้มหน้า เหมือนกับแลดูพื้นเรือนที่ตรงนั้น จึงถามผู้ที่ไปด้วยกัน ให้ได้ยินถึงคนที่นั่งก้มหน้าว่า พื้นตรงนั้นเก่าหรือใหม่ เป็นการกระทบสัพยอกผู้ที่ก้มดูพื้น จึงเกิดคำ พื้นใหม่พื้นเก่า พื้นเก่ากลายมาเป็นพื้นโบราณอีก |
คำว่า “มีด” | หมายความว่า ไม่รู้เค้าเงื่อนทีเดียว ย่อมาแต่ “มืดมนอนธกาล” หรือ “มืดเแปดด้าน” นั้นเอง |
คำว่า “ยูดี” | หมายความว่า ประชด มาแต่ชื่อหนังสือพิมพ์ตลกของอังกฤษฉบับหนึ่งชื่อ ยูดี หนังสือพิมพ์ยูดีนั้นมักประชดรัฐบาล ใครพูดจาประชดประชัน จึงว่า “พูดราวกับหนังสือยูดี” ด้วยเหตุนี้คำว่า “ยูดี” จึงมักใช้ในความอย่างว่าประชด |
คำว่า “หยอด” หรือ “หยอดตา” | หมายความว่า ชอบมาก มาแต่พูดกันว่า “เป็นของรักราวกับจะหยอดลงไปในนัยน์ตาได้” |
คำว่า “รวมๆ” | หมายความว่า ไม่กระจัดชัดเจน มีผู้ใหญ่บางคนแต่ก่อนอธิบายอะไรผู้อื่นไม่ใคร่เข้าใจ จึงกล่าวกันว่าท่านผู้นั้นอธิบายอะไรดัง รวมๆ รวมๆ คำ “รวม” จึงเลยเป็นคำแผลง |
คำว่า “เรียว” | หมายความว่า เลวลงทุกที เหมือนกับของที่เรียวเล็กลงไป |
คำว่า “ลมจับ” | หมายความว่า เสียดายเป็นอย่างยิ่ง มาแต่เรื่องเล่ากันถึงคนขี้ตระหนี่คนหนึ่ง เพื่อนฝูงขออะไรเล็กน้อยขัดไม่ได้ต้องให้ไป ครั้นเมื่อเขาไปแล้ว เกิดเป็นลมด้วยความเสียดายของ |
คำว่า “เหว” | หมายความว่า ชอบให้ยอ มาแต่พูดกันถึงคนชอบยอว่าคนนั้นๆ ถึงจะยอเท่าไรก็ไม่อิ่มใจ เหมือนกับจะเอาหินผาทุ่มลงไปในเหวที่ลึกไม่เต็มได้ ใช้เป็นคำแผลงสังเขปลงว่า “เหว” บ้าง บางทีพูดแผลงไปเป็น “เหว” (คือ เว มี ห นำ) อีกอย่างหนึ่ง แปลความก็อย่างเดียวกัน |
คำว่า “เหวย” | ก็คือ “เสวย” นั้นเอง ที่ใช้พูดกันว่า “เหวย” มาแต่เลียนล้อเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ เพราะตรัสตามอย่างพี่เลี้ยงแม่นม แต่ไม่ชัด จึงว่า “ฉันจะเหวยนั่นเหวยนี่” |
คำว่า “สัพพี” | หมายความว่า ประจบประแจง มาแต่เจ้านายผู้ใหญ่แต่ก่อนบางพระองค์ มีพระไปเฝ้าเวลาคํ่าทุกคืน ถึงฤดูเข้าวสาทรงธรรม พระที่ไปเฝ้าก็มีธูปเทียนจุดบูชาธรรม ครั้นเทศน์จบ พระที่ไปเฝ้าก็พากันเข้าไปนั่งรับสัพพี ผู้ที่มีความคิดอย่างใหม่ๆ บางคนติเตียนว่าเป็นการสัพพีประจบประแจง เพราะไม่ได้นิมนต์และไม่ได้รับทาน ทีหลังเมื่อเห็นผู้ใดทำกิริยาประจบประแจง จึงพูดว่า “ราวกับพระสัพพีที่วังนั้น” คำ “สัพพี” จึงเลยใช้เป็นคำแผลงกันทั่วไป |
คำว่า “สีเหลือง” | ตรงนี้ ตรงกับ “นุ่งสีเหลือง” หมายความอย่าง เดียวกับคำว่า “นุ่ง” นั่นเอง |
คำว่า “อัน” | มาแต่ อันอีตะเบอล เป็นศัพท์ภาษาอังกฤษ uneatable แปลว่าไม่น่ากิน เฉพาะศัพท์ อัน ใช้ประกอบกิริยาอันใดเป็นปฏิเสธว่าไม่น่าประพฤติกิริยาอย่างนั้น อันดริงกะเบอล ไม่น่าดื่ม อันธิงกะเบอล ไม่น่าคิด เป็นต้น เอามาพูดกันเป็นคำแผลงในภาษาไทย มักพูดว่า “อัน” คำเดียว จะหมายว่าไม่น่าทำอะไรก็แล้วแต่เรื่อง ที่พูดกันอยู่นั้น |
คำว่า “อี๋” | หมายความว่า สนุกรื่นรมย์ มาแต่ขุนนางคนหนึ่ง มีอัธยาศัยแปลกกับผู้อื่น ถ้าเกิดรื่นรมย์สนุกสนานอะไรขึ้นมา ก็เที่ยวบอกแก่คนนั่นคนนี้ บอกพลางหัวเราะดังอี๋ ๆ ไปด้วยพลาง คนทั้งหลายเห็นขบขันเมื่อได้ยินเสียงจึงมักถามว่า “นั่นอี๋อะไร” ด้วยเข้าใจว่าคงมีเรื่องอะไรสำหรับบอก คำว่า “อี๋” จึงเลยเป็นคำแผลง |
คำว่า “อูแอ” | เป็นคำเจ้านายที่ทรงพระเยาว์เลียนเสียงสังข์แตรเครื่องประโคม ใช้เป็นคำแผลงมักหมายความว่า แห่ |
คำว่า “ฮ่องเส็ง” | หมายความว่า อ้างถึงอะไรๆ อย่างเหลวไหล มาแต่ผู้ซึ่งชอบแสดงความจดจำของเก่าแก่แต่ก่อนอวดพวกชั้นหนุ่มๆ ที่ไม่เคยเห็น มีผู้หนึ่งแสดงว่า เมื่อกระนั้นที่ในท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีนาฬิกาฮ่องเส็งตั้งอยู่เรือนหนึ่ง แต่ครั้นไล่เลียงว่านาฬิกาฮ่องเส็งนั้นรูปร่างเป็นอย่างไร และเหตุใดจึงเรียกนาฟิกาฮ่องเส็ง ก็ไม่สามารถจะอธิบายได้จึงเป็นข้อขัน ทีหลังใครมาอธิบายอะไรอย่างลึกลับให้เกิดสงสัยจึงมักกล่าวกันว่า อย่างนาฬิกาฮ่องเส็งละซิ จึงเลย มาพูดกันเป็นคำแผลง |