การลอยพระประทีป
๏ การลอยพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วกัน ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ให้มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวข้องเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคําที่ว่าลอยโคมลงน้ำเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ควรนับว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ เมื่อตรวจดูในกฎมนเทียรบาลซึ่งได้ยกมาอ้างในเบื้องต้น ต่อความที่ว่าพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำไป มีความต่อไปว่า “ตั้งระทาดอกไม้ในพระเมรุ ๔ ระทา หนัง ๒ โรง” การเรื่องนี้ก็คงจะตรงกันกับที่มีดอกไม้เพลิงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และที่ชลาทรงบาตรบูชาหอพระในพระบรมมหาราชวัง ต่อนั้นไปก็ว่าด้วยการลอยประทีป การลอยประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มีเนื้อความเข้าเค้าเรื่องนพมาศ ซึ่งว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นท้าวพระสนมเอก แต่ครั้งพระเจ้าอรุณมหาราชคือพระร่วง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามตั้งแต่กรุงตั้งอยู่ณ เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่า ในเวลาฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาเสด็จลงประพาสในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายใน ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้เข้ามารับราชการ จึงได้คิดอ่านทํากระทงถวายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล และคิดคําขับร้องขึ้นขับถวายให้พระเจ้าแผ่นดินทรงพระดําริจัดเรือพระที่นั่ง เทียบขนานกันให้ใหญ่กว้าง สำหรับพระสนมฝ่ายในจะได้ตามเสด็จประพาสได้มากๆ ขึ้นกว่าแต่ก่อน และพระสนมที่ตามเสด็จประพาสในการพระราชพิธีนั้น ย่อมตกแต่งประดับประดากายเป็นอันมาก เมื่อพระสนมทั้งปวงได้ตามเสด็จด้วยกันโดยมากดังนั้น พระเจ้าแผ่นดินก็ต้องพระราชทานเครื่องวัตถาภรณ์ต่างๆ ทั่วไปเป็นที่ชื่นชมยินดีทั่วกัน มีข้อความพิสดารยืดยาว เนื้อความก็คล้ายคลึงกันกับจดหมายถ้อยคําขุนหลวงหาวัด ซึ่งได้กล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่า หรือเป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นเอง เสด็จลงเรือพระที่นั่ง ทรงพระภูษาขาว เครื่องราชอาภรณ์ล้วนแต่ทําด้วยเงิน แล้วล่องลงไปตามลําน้ำ มีจุดดอกไม้เพลิงที่หน้าพระอารามต่างๆ ข้อความยืดยาวอีก แต่ไม่รับประกันว่าฉบับที่ตีพิมพ์ไว้นั้นเป็นความจริงทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้าได้อ่านฉบับเดิมนั้นช้านานมาแล้ว จะถูกต้องกันหรือไม่ถูกต้องไม่ได้ตรวจตราละเอียด แต่ข้อความก็ลงเป็นรอยเดียวกันกับที่มีอยู่ในกฎมนเทียรบาลได้ความว่า ในฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาที่น้ำในแม่น้ำใสสะอาดและมากเต็มฝั่ง ทั้งเป็นเวลาที่สิ้นฤดูฝน ในกลางเดือนนั้นพระจันทร์ก็มีแสงสว่างผ่องใส เป็นสมัยที่สมควรจะรื่นเริงในลำน้ำในเวลากลางคืน พระเจ้าแผ่นดินจึงได้เสด็จลงประพาสตามลำน้ำพร้อมด้วยพระราชบริพารฝ่ายใน เป็นประเพณีมีมาแต่กรุงสุโขทัยฝ่ายเหนือโน้นแล้ว
การเก่ายกไว้ จะขอว่าแต่ที่กรุงเทพฯ นี้ การลอยประทีปในเดือน ๑๒ เป็นการใหญ่กว่าลอยประทีปในเดือน ๑๑ ด้วยอากาศปราศจากฝน และการพระราชกุศลก็เป็นการกลางวันมากกว่ากลางคืน นับว่าเป็นเวลาว่างกว่าเดือน ๑๑ ที่ในพระบรมมหาราชวังหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีดอกไม้พุ่มบูชา ๑๐ พุ่ม แต่ไม่ได้เสด็จพระราชดําเนินไปทรงจุด ชาวที่นำเทียนชนวนมาถวายทรงจุดในเวลาทรงธรรมกลางคืน แต่ส่วนซึ่งบูชาหอพระในพระบรมมหาราชวังปักพุ่มดอกไม้ย่อมๆ ที่ชลาที่ทรงบาตรข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสด็จพระราชดําเนินทรงจุดดอกไม้ก่อนที่จะออกทรงธรรม มีแตรสังข์พิณพาทย์ผู้หญิงประโคมด้วย
การลอยพระประทีปเป็นเวลาที่เสด็จออกนอกกําแพงพระราชวัง และกําแพงพระนครเวลากลางคืน จึงได้จัดการป้องกันรักษาแข็งแรง การที่จัดทั้งปวงนี้ก็เป็นธรรมเนียมเดิม ในเวลาที่บ้านเมืองไม่ปรกติเรียบร้อย และจะให้เป็นการครึกครื้นในแม่น้ำ ถ้าจะว่าตามอย่างโบราณที่เป็นการเสด็จพระราชดําเนินประพาสลำน้ำก็เป็นการสมควรกันอยู่ ด้วยเรือที่ทอดทุ่นรักษาราชการนั้นก็เป็นเรือในกระบวนเสด็จพระราชดําเนินทั้งสิ้น แต่ถ้าจะเทียบกับการชั้นหลังในปัจจุบันนี้ ที่เสด็จไปวังเจ้านายในเวลากลางคืน หรือเสด็จลงทอดพระเนตรโคมในเวลาเฉลิมพระชนมพรรษา การป้องกันรักษาน้อยกว่าลอยพระประทีปมากหลายเท่า ก็เป็นไปตามเวลาที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป แต่การลอยประทีปนี้ยังคงอยู่ตามแบบเดิมเหมือนอย่างเสด็จพระราชดําเนินพระราชทานพระกฐินและเสด็จประพาสตามธรรมเนียมฉะนั้น ที่แพลอยหน้าท่าราชวรดิษฐ์ มีเรือบัลลังก์สองลำจอดขนานกัน ในเรือบัลลังก์นั้นแต่เดิมลำในกั้นม่านเป็นที่พระบรรทม, ที่สรง, ที่ลงพระบังคน ดูเหมือนว่าจะเป็นที่ประทับอยู่นานๆ ตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึก เครื่องที่สำหรับตั้งนั้นก็มีพระสุพรรณราช และมีขันพระสุธารสอย่างเช่นเสวยพระกระยาหาร การป้องกันรักษา ห้ามเรือที่ไม่ให้เดินในทุ่นตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึกเวลาเสด็จขึ้น ดูเหมือนว่าในครั้งใดครั้งหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จลงไปประทับอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนสิ้นเวลาลอยพระประทีป สรงเสวยในที่นั้น แต่ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ารับสั่งให้เลิกที่สรงที่พระบรรทมเสีย คงแต่เครื่องพระสุธารสซึ่งเจ้าพนักงานยังจัดอยู่ตามเคย ในเรือบัลลังก์ทั้งสองลํานั้นกั้นม่านสกัดทั้งหัวเรือท้ายเรือ ข้างหัวเรือท้ายเรือเป็นข้างหน้า ที่ตรงม่านสกัดหัวเรือท้ายเรือมีม่านยืดออกไปในน้ำ บังมิให้เจ้าพนักงานที่อยู่หัวเรือท้ายเรือแลเห็นเข้ามาข้างใน ต่อเมื่อเวลาจะปล่อยเรือกระทงจึงได้ชักม่าน ข้างเหนือมีม่านทองสกัดเสมอแนวพนักข้างในอีกชั้นหนึ่งเพราะใกล้ที่ประทับ ในระหว่างม่านนั้นเป็นที่สำหรับท้าวนางเถ้าแก่ประจำคอยรับเรือกระทง ข้างใต้เป็นที่สำหรับเจ้าคุณท้าวนางเถ้าแก่หรือเจ้านายซึ่งไม่ต้องจุดกระทงเฝ้าในเรือบัลลังก์ลำนอก เรือบัลลังก์ลำในเป็นที่พนักงานนั่งนอกพนัก ในพนักเป็นที่เจ้าจอมอยู่งานนั่ง ส่วนในพนักเรือบัลลังก์ลำนอกนั้นทอดพระยี่ภู่ตั้งพระแสงเป็นที่ประทับ มีเจ้าจอมอยู่งานเฝ้าอยู่ในนั้นแต่เฉพาะที่เชิญเครื่อง กับพระเจ้าลูกเธอที่ตามเสด็จ ชานเรือบัลลังก์ลำนอกตรงช่องพนักทอดที่ประทับเป็นที่ทรงจุดกระทง ต่อนั้นไปเป็นที่เจ้านายและเจ้าจอมจุดกระทง ที่หัวเรือบัลลังก์นอกม่านมีเจ้าพนักงานลงประจำคือกรมวัง ๑ กรมทหารในจางวางเจ้ากรมปลัดกรมขุนหมื่น ๘ กรมพระแสงต้น ๑ กรมพระตำรวจนายเรือ ๒ รวมหัวเรือ ๑๒ ท้ายเรือบัลลังก์กรมวัง ๑ จางวางหัวหมื่นมหาดเล็ก ๖ กรมทหารในเจ้ากรมปลัดกรมขุนหมื่น ๗ กรมพระแสงต้น ๑ กรมตํารวจนายเรือ ๑ ภายหลังเติมราชเอดเดอแกมป์คน[๑] ๑ บ้าง ๒ คนบ้าง และเติมทหารปืนแคตตลิงกัน[๒] ๑ ข้างหัวเรือบัลลังก์มีโขลนลงเรือสำปั้น มีโคมเพชรจอดประจําอยู่เสมอแนวที่เจ้าคุณนั่งลำ ๑ ข้างท้ายเรือบัลลังก์มีเรือทหารในลำ ๑ เรือพันพรหมราชสำหรับปล่อยกระทงลํา ๑ การล้อมวงในลําน้ำทอดทุ่นเป็นสามสาย สายในมีแพหยวกรายเป็นระยะ มีไต้ประจําทุกแพตลอดหน้าเรือบัลลังก์ เรือประจําทุ่นสายในข้างเหนือน้ำ กรมกองตระเวนขวา ๑ กรมกองกลางขวา ๑ ประตูกรมพระกลาโหม ๑ เจ้ากรมพระตํารวจนอกขวา ๑ เจ้ากรมพระตํารวจสนมขวา ๑ เรือกรมสรรพากรในสรรพากรนอก ๑ ใต้น้ำหัวเรือบัลลังก์ทุ่นสายในกรมกองตระเวนซ้าย ๑ เรือประตูกรมมหาดไทย ๑ กรมกองกลางซ้าย ๑ เจ้ากรมพระตํารวจนอกซ้าย ๑ เจ้ากรมพระตำรวจสนมซ้าย ๑ เรือทุ่นกรมท่ากลาง ๑ ภายหลังนี้เติมเรือทหารทอดสมอสกัดเหนือน้ำท้ายน้ำขึ้นอีก ข้างเหนือน้ำกรมทหารหน้า ๔ ลํา ข้างใต้น้ำทหารหน้า ๒ ลํา
ทุ่นสายกลางเหนือน้ำ เรือทุ่นกรมอาสาจาม ๒ ลํา เรือทุ่นกรมเรือกันขวา ๑ เรือสิงโตกรมอาสาใหญ่ขวา ๑ เรือสางกรมทวนทองขวา ๑ เรือเหรากรมอาสารองขวา ๑ เรือกิเลนกรมเขนทองขวา ๑ เรือทุ่นสามพระคลังทอดเชือก ๑ ข้างใต้น้ำ เรือกรมอาสาจาม ๒ ลํา เรือกรมเรือกันซ้าย ๑ เรือสิงโตกรมอาสาใหญ่ซ้าย ๑ เรือสางกรมทวนทองซ้าย ๑ เรือเหรากรมอาสารองซ้าย ๑ เรือกิเลนกรมเขนทองซ้าย ๑ เรือทุ่นสามพระคลังทอดเชือก ๑
ที่ทุ่นกลางตรงหน้าบัลลังก์ มีเรือดอกไม้เพลิง ๒ ลํา เรือพิณพาทย์เหนือน้ำ ๑ ลํา ท้ายน้ำ ๑ ลํา เรือกลองแขกเหนือน้ำ ๑ ลํา ท้ายน้ำ ๑ ลํา มีเรือเจ้ากรมพระตํารวจในซ้าย ๑ ใหญ่ซ้าย ๑ อยู่ใต้น้ำ เรือเจ้ากรมตํารวจในขวา ๑ ใหญ่ขวา ๑ อยู่เหนือน้ำ จับทุ่นสายกลางทั้งสิ้น มีเรือทหารปืนใหญ่เติมใหม่อยู่นอกทุ่นสายกลางเหนือน้ำ ๑ ลํา ท้ายน้ำ ๑ ลํา
ทุ่นสายนอกเหนือน้ำ มีเรือกรมกองตระเวนขวา ๑ เรือประตูกรมมหาดไทย ๑ เรือทุ่นกรมอาสาวิเศษขวา ๑ กรมทําลุขวา ๑ กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งขวา ๑ กรมคู่ชักขวา ๑ ท้ายน้ำกรมกองตระเวนซ้าย ๑ เรือประตูกรมพระกลาโหม ๑ เรือกรมอาสาวิเศษซ้าย ๑ กรมทําลุซ้าย ๑ กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งซ้าย ๑ กรมคู่ชักซ้าย ๑
บรรดาเรือที่ทอดทุ่นทั้งปวงมีปืนหลักทอง ปืนจ่ารงค์ มีโคมเพชรโคมสานประจําทุกลําเรือ แต่เจ้ากรมพระตํารวจนั้นแห่เสด็จลงไปถึงท่าราชวรดิษฐ์แล้วจึงได้ลงเรือไปจับทุ่นตามหน้าที่ เวลาเสด็จขึ้นเจ้ากรมพระตำรวจไม่ได้แห่เสด็จ ในเวลาเมื่อลอยพระประทีปนั้นมีเรือคอนปักโคมกลีบบัวพายขึ้นล่องอยู่ทั้งข้างนอกข้างในทุ่นสายในจนตลอดเวลาเสด็จขึ้น บนฝั่งข้างฝั่งตะวันตกมีเจ้ากรมปลัดกรมไพร่หลวงประจํารักษาตรงหน้าเรือบัลลังก์ ๕ กอง ข้างฝั่งตะวันออกบนชลาพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยมีพิณพาทย์ผู้หญิงสำรับ ๑ โขลนนั่งรายตามชลาเจ้าจอมอยู่งานประจําโมงยามและเถ้าแก่รับเสด็จบนพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ทหารรักษาป้อม ๒ ป้อมและรายทางตลอดเข้ามาจนในพระบรมมหาราชวัง เจ้ากรมปลัดกรมไพร่หลวงตั้งกองอีก ๒ กอง คือข้างใต้ฉนวนกอง ๑ ท่าขุนนางกอง ๑
กระทงหลวงซึ่งสำหรับทรงลอยที่มีมาแต่เดิมนั้น คือเรือรูปสัตว์ต่างๆ เรือศรี เรือชัย เรือโอ่ เรือคอน และมีเรือหยวกติดเทียน ๒ เล่มธูปดอก ๑ ห้าร้อย แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าโปรดให้ลดเรือหยวกลงเสีย เหลืออยู่สี่สิบห้าสิบลำ และเรือที่ลอยประทีปนั้นของหลวงชำรุดทรุดโทรมไป โปรดให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทําขึ้นทุกกรม เรือหลวงที่ยังเหลืออยู่ เรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ส่งมาเป็นหลวงถวายทรงจุดก่อนตอนหนึ่ง แล้วจึงถึงเรือสำเภาซึ่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐีเป็นผู้แต่ง แล้วจึงถวายเรือพระบรมวงศานุวงศ์ต่อไป แต่เรือข้าราชการนั้นเป็นเรือกระบวน เมื่อรับสั่งให้ปล่อยเมื่อใดจึงจุดเทียนปล่อยมาตามกลางน้ำหว่างทุ่นชั้นในกับเรือบัลลังก์ เคยปล่อยอยู่ในเวลาจุดดอกไม้
เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีระกาสัปตศก ๑๑๘๗ ปีจออัฐศก ๑๑๘๘ โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทํากระทงใหญ่ถวาย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์จดหมายไว้ว่า “ครั้นมาถึงเดือนสิบสองขึ้นสิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ แรมค่ำหนึ่ง พิธีจองเปรียงนั้นเดิมได้โปรดให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน และข้าราชการมีกําลังพาหนะมากทํากระทงใหญ่ ผู้ต้องเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง ทําเป็นแพหยวกบ้าง กว้างแปดศอกบ้าง เก้าศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอดสิบศอกสิบเอ็ดศอก ทําประกวดประขันกันต่างๆ ทําอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง ๔ บ้าง และทําเป็นกระจาดชั้นๆ บ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทําก็นับร้อย คิดในการลงทุนทํากระทง ทั้งค่าเลี้ยงคนเลี้ยงพระช่างเบ็ดเสร็จก็ถึงยี่สิบชั่งบ้าง ย่อมกว่ายี่สิบชั่งบ้าง กระทงนั้นวันสิบสี่ค่ำเครื่องเขียว สิบห้าค่ำเครื่องขาว แรมค่ำหนึ่งเครื่องแดง ดอกไม้สดก็เลือกหาตามสีกระทง และมีจักรกลไกต่างกันทุกกระทง มีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงนั้นก็มีบ้าง เหลือที่จะพรรณนาว่ากระทงท่านผู้นั้นทําอย่างนั้นๆ คิดดูการประกวดประขันจะเอาชนะกัน คงวิเศษต่างๆ กัน เรือมาดูกระทงตั้งแต่บ่าย ๔ โมง เรือชักลากกระทงขึ้นไปเข้าที่แต่บ่าย ๕ โมง เรือเบียดเสียดสับสนกันหลีกไม่ใคร่จะไหวดูเป็นอัศจรรย์ เรือข้าราชการและราษฎรมาดูเต็มไปทั้งแม่น้ำ ที่ต้องขอแรงทำกระทงนั้น ในพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ คือ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ๑ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ (คือหม่อมไกรสร) ๑ กรมหมื่นเดชอดิศร (คือกรมสมเด็จพระเดชาดิศร) ๑ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ (คือกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) ๑ ขุนนาง ท่านเจ้าพระยาอภัยภูธร ๑ ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) ๑ ท่านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ๑ พระยาพิชัยวารี (คือเจ้าพระยานิกรบดินทร์) ๑ พระยาราชมนตรี (ภู่) ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) ๑ รวม ๑๐ กระทง”
คำเล่าถึงกระทงใหญ่ ๒ ปีนี้มีพิสดารเรื่องราวยืดยาวมาก ครั้นจะว่าก็จะยืดยาวหนักไป เห็นว่าที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าไว้นี้ก็พอสมควรอยู่แล้ว แต่กระทงใหญ่เช่นนี้ไม่มีต่อไป เพราะทรงทราบว่าต้องลงทุนมาก จึงให้เลิกเสีย เจ้านายข้าราชการฝ่ายในจึงรับทํากระทงใหญ่แทน กระทงใหญ่ฝ่ายในเช่นที่ทำกันนี้น่าสงสัยว่าจะมีมาแต่รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ แล้ว แต่ไม่ปรากฏในจดหมายแห่งใด และไม่มีตัวผู้ที่จะบอกเล่า จึงไม่สามารถที่จะกล่าวว่าเป็นธรรมเนียมเดิมได้ กระทงข้างในนั้นขนาดย่อมลงมาเพียง ๓ ศอก ๔ ศอก จนถึง ๖ ศอก ในชั้นหลังลงมาตัวผู้ที่ทํานั้น คงเป็นผู้ทํายืนที่ประจําทั้ง ๓ วันอยู่แต่กรมขุนกัลยาสุนทร กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และเจ้าคุณปราสาท นอกนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอเข้ากันทําวันละกระทง พระเจ้าน้องนางเธอเข้ากันทําวันละกระทงหนึ่งบ้างสองกระทงบ้าง พระองค์เจ้าดวงเดือนมีวันหนึ่ง พระองค์เจ้าวังหน้าซึ่งเสด็จลงมาอยู่ในพระบรมมหาราชวังทําวันหนึ่ง คงอยู่ในมีกระทงวันหนึ่งเจ็ดกระทงแปดกระทง ใช้ประดับด้วยเครื่องสด รูปภาพฟักทองมะละกอ ไม่มีเครื่องกลไกอันใด รูปกระทงก็ยืนที่ไม่ได้เปลื่ยน ผู้ใดเคยทําอย่างใดก็ทําตามเคย ประกวดประขันกันแต่รูปภาพเครื่องสดและดอกไม้ที่ร้อยประดับตกแต่ง กระทงหนึ่งก็สิ้นอยู่ในสองชั่งสามสิบตำลึง มีมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ รูปกระทงเหล่านี้เขียนอยู่ที่วัดยานนาวารามหลายอย่าง
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ มีติดต่อมาอีก ๒ ปี ทรงทราบว่าเป็นการเปลืองเงิน พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในมีผลประโยชน์น้อยจึงโปรดให้เลิกเสีย เกณฑ์เรือพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเติมขึ้นตามที่กล่าวมาแล้ว และภายหลังจึงโปรดให้มีเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือชัยแต่งแทนกระทงใหญ่สองลํา บรรดาเครื่องสูงที่ประจําตามกระทงเปลี่ยนเป็นฉัตรเทียน หว่างฉัตรมีบังแทรก ธงที่นักสราชถือหัวเรือท้ายเรือก็มีเทียนประจํา ตามกระทงเรือตั้งเชิงเทียนใหญ่ มีเทียนเล่มยาวๆ จุดทุกกระทง ในบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชตั้งพระพุทธสิหิงค์น้อย หน้าบุษบกตั้งเครื่องนมัสการทองทิศ แต่เรือชัยลำหลังตั้งพานพุ่มไม่มีเครื่องนมัสการ ทรงจุดเทียนเรือพระที่นั่งสองลำก่อน แล้วจึงได้จุดเทียนเรือกระทงต่อไป เรือพระที่นั่งนั้นพายร้องเห่ล่องลงไปตามลำน้ำ แล้วจึงทวนน้ำกลับขึ้นมาในระหว่างทุ่นสายกลางกับสายนอก
ครั้นถึงในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เรือชัยลำหลังเปลี่ยนเป็นเรือสุพรรณหงส์ซึ่งชำรุดทรงซ่อมแซมขึ้นใหม่บ้าง พระพุทธรูปพุทธสิหิงค์น้อย ยกเป็นพระพุทธรูปประจําพระชนมพรรษาวันรัชกาลที่ ๔ จึงได้เปลี่ยนพระไชยวัฒน์ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ลงในเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชแทน ส่วนกระทงใหญ่นั้นทรงพระปรารภว่ายังไม่เคยทอดพระเนตรมาแต่เดิม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบําราบปรปักษ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน จึงได้พร้อมกันทําถวายทอดพระเนตร กระทงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอนั้นมีเครื่องจักรกลไกอย่างกระทงข้างหน้าแต่ก่อน แต่กระทงพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเป็นอย่างกระทงข้างใน เมื่อได้ทอดพระเนตรแล้ว ก็ไม่ได้โปรดให้มีต่อไปทุกปี นานๆ จึงจะมีคราวหนึ่ง จนในครั้งหลังที่สุดนี้ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี พระนางเจ้าพระราชเทวี ได้ทําถวายเป็นอย่างกระทงข้างหน้า มีเครื่องจักรกลไกทั้งสามกระทงอีกคราวหนึ่ง กระทงใหญ่นั้นทรงจุดภายหลังเมื่อสิ้นเรือลอยประทีปทั้งปวง ถ้าปีใดมีกระทงใหญ่ก็เป็นการครึกครื้นเอิกเกริกยิ่งกว่าทุกปี
อนึ่ง การลอยพระประทีปนั้น แต่เดิมมาข้าราชการซึ่งเข้ามาเฝ้าในพระบรมมหาราชวัง สิ้นเวลาแล้วก็ต่างคนต่างกลับไปบ้าน อยู่แต่ที่ต้องประจําราชการในหน้าที่ แต่ครั้นเมื่อปีที่มีกระทงใหญ่ ท่านเสนาบดีผู้ซึ่งถูกเกณฑ์กระทง ทึ่งหรือเหวกระทงของตัวลงไปคอยรับเสด็จอยู่ที่หลังตำหนักแพ ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดําเนินลงไปถึงที่นั้น ก็ได้ทรงทักทาย เวลาเสด็จขึ้นก็พระราชทานส่วนพระราชกุศลและชมเชยกระทงต่างๆ บ้าง ครั้นภายหลังมาถึงว่าการที่เกณฑ์กระทงใหญ่นั้นเลิกแล้ว ท่านผู้ใหญ่ทั้งปวงก็ปรึกษากันเห็นว่าการซึ่งข้าราชการตามเสด็จลงไปอยู่หลังตําหนักแพนั้นเป็นการสมควร ด้วยประเพณีจะเสด็จออกจากพระราชวังไปในที่แห่งใด มีเสด็จพระราชดําเนินเยี่ยมไข้ และพระราชทานเพลิงเป็นต้น ท่านเสนาบดีและข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ต้องไปรับเสด็จพระราชดําเนินทุกแห่ง การลอยพระประทีปนี้เป็นเวลาเสด็จออกจากพระราชวังเวลากลางคืน ก็สมควรจะมีข้าราชการลงไปรักษาอยู่ด้านหลังให้เป็นการมั่นคงแข็งแรงยิ่งกว่าเวลาอื่น เมื่อท่านผู้ใหญ่ปรึกษาพร้อมกันดังนี้แล้วก็ได้มาคอยเฝ้าประจำอยู่จนเวลาเสด็จขึ้นทุกวัน ทั้งเดือนสิบเอ็ดเดือนสิบสอง จนตลอดอายุของท่านผู้ต้นปรึกษาทั้งปวงนั้น ครั้นตกมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเสนาบดีสำรับเก่ายังอยู่บ้าง สำรับใหม่ก็ทําตามกันเป็นธรรมเนียมยั่งยืนมา ในฤดูเดือนสิบเอ็ดมักจะยังไม่ขาดฝน ข้าราชการที่มาคอยรับเสด็จต้องเปียกฝน จึงโปรดให้ต่อเฉลียงเป็นหลังคาเก๋งออกมาจากฉนวน เป็นที่สำหรับข้าราชการเฝ้า แต่เฉลียงนั้นเป็นอย่างเตี้ยๆ สำหรับหมอบ ครั้นแผ่นดินปัจจุบันนี้เปลี่ยนเป็นยืน ข้าราชการเข้าไปยืนในนั้นก็ไม่แลเห็นหน้า ครั้นเมื่อปีจออัฐศกกีดทางแห่ลงสรงจึงได้รื้อเสีย ยังหาได้ทําขึ้นใหม่ไม่ แต่ท่านเสนาบดีที่มาเฝ้าอยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ครั้นภายหลังลงมาเสด็จลงลอยพระประทีปดึกๆ หนักเข้า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าเสนาบดีอยู่ในเวลานั้น นอนหัวค่ำเว้นไม่ได้ มาบ้างไม่มาบ้าง จนปลายๆ ลงมา พอเกิดเลิกธรรมเนียมเสนาบดีเข้าวังก็เลยหายสูญไปด้วยกันทั้งหมด คงมาอยู่แต่ปลัดทูลฉลองและข้าราชการที่หมั่นๆ เฝ้าประจำอยู่ จนตลอดมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้[๓]
กำหนดที่หมายในการเสด็จลงลอยพระประทีป พอเสด็จพระราชดำเนินถึงเกย ก็ชักโคมสัญญาณขึ้นที่เสาธง เมื่อโคมขึ้นแล้วจึงประโคมพิณพาทย์กลองแขกและแตรวงทั่วกัน เมื่อเสด็จลงประทับในเรือบัลลังก์แล้วรออยู่จนเรือตํารวจออกจับทุ่น จึงได้เสด็จพระราชดําเนินออกประทับที่ชานเรือบัลลังก์ พระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเยาว์บางองค์ออกประทับด้วย แต่มักใช้รัดตะคดรัดบั้นพระองค์ไว้กับเสาพนัก ข้างขวาเป็นที่สมเด็จพระบรมราชเทวี พระราชเทวี ประทับจุดเทียนข้างตอนท้ายเรือกระทงข้างซ้าย ธรรมเนียมในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า มีพระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งบ้างสองพระองค์บ้าง คือกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นต้น ต่อนั้นไปเจ้าจอมอยู่งานที่เป็นคนโปรดผลัดเปลี่ยนกันอีก ๔ คน ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า แต่แรกเจ้าจอมอยู่งานจุด แต่ครั้นเมื่อมีเหตุการณ์ถ้อยความขึ้น ก็เปลี่ยนเป็นพระเจ้าน้องนางเธอ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอจุด แล้วก็กลับเป็นเจ้าจอมอยู่งานบ้าง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระเจ้าน้องนางเธอจุดเสมอตลอดมา คงอยู่อย่างเช่นเมื่อในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอันใด เมื่อจุดเรือกระทงไปถึงเรือสำเภามาเป็นกําหนดจุดดอกไม้ จึงทรงจุดดอกไม้ชนวน เมื่อเรือดอกไม้เห็นดอกไม้ชนวนที่เรือบัลลังก์ จึงได้จุดดอกไม้มีพุ่ม, กระถาง, ระทา, พุ่มตะไล, พะเนียงมะพร้าว, กรวด, พลุ, มะพร้าว และมีเรือทหารในจุดดอกไม้น้ำในทุ่นชั้นในไปกว่าจะเสด็จขึ้น ในเรือบัลลังก์มีดอกไม้น้ำถวายทรงจุดสองตะลุ่ม
อนึ่ง ในเดือนสิบสองนี้ มีเรือผ้าป่าของหลวงเรียกว่าผ้าป่าบรรดาศักดิ์คืนละ ๘ ลํา ยึดทุ่นสายกลางอยู่ข้างเหนือน้ำ ผ้าป่านี้พระราชทานแด่พระราชาคณะ พระครูหัวเมือง ที่เข้ามาในการฉลองไตรเปลี่ยนไปวันละ ๘ รูป เวลาลอยพระประทีปแล้วทรงพระเต้าษิโณทกแล้วเสด็จขึ้น ลดโคมสัญญาณเป็นกําหนด
อนึ่ง การทอดผ้าป่าวิเศษซึ่งเป็นของหลวง แต่ก่อนเคยมีมาบ้างเป็นครั้งเป็นคราว แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีผ้าป่าวัดปทุมวันติดๆ กันไปหลายปี พึ่งมาขาดตอนในปลายแผ่นดิน ในการผ้าป่านั้นเสด็จพระราชดําเนินโดยเรือกระบวนอย่างพระราชทานพระกฐิน เวลาบ่ายพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ มีเรือกระจาดผ้าป่าจอดเรียงรายอยู่ในน้ำหน้าพระอุโบสถ มีเครื่องประโคมพิณพาทย์และการเล่นคือเพลงและลาวขับแพนเป็นต้น เล่นในเรือเวลาสวดมนต์จบ ประทับแรมที่พระที่นั่งเก๋งที่ริมสระนั้นคืนหนึ่ง เวลารุ่งเช้าพระสงฆ์รับบิณฑบาตเรือในสระ ๓๐ รูป เวลาเพลรับพระราชทานฉันแล้ว เสด็จพระราชดําเนินกลับ
ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ มีที่วัดปทุมวันครั้งหนึ่ง เป็นการเอิกเกริกโกลาหลยิ่งใหญ่ ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการแต่งเรือผ้าป่า ตามแต่ผู้ใดจะแต่งอย่างไร บ้างก็ทําเป็นรูปยักษ์รูปสัตว์ต่างๆ บ้างก็เป็นกระจาดซ้อนกันสามชั้นห้าชั้น ประกวดประขันกันโดยความคิด แล้วมีเรือการเล่นต่างๆ ละคร มอญรำ ขับแพน เพลง เสภารำ พิณพาทย์หลายสำรับ ชักผ้าป่าผ่านหน้าพระที่นั่งชลังคณพิมาน[๔]เป็นกระบวนแห่ มีเรือราษฎรมาช่วยแห่ผ้าป่าหลายร้อยลํา ชักผ้าป่าแต่เวลากลางวันจนเวลาค่ำ จึงได้ถึงปทุมวัน แล้วจอดเรือผ้าป่าเรียงรายอยู่ตามในสระตอนข้างหน้าวัด วางเรือการเล่นเป็นระยะไปรอบสระ มีเรือราษฎรเข้าไปขายของกินต่างๆ ตามแต่ผู้ใดจะไป ในเวลาค่ำวันนั้นเรือราษฎรที่ไปดูผ้าป่าเต็มแน่นไปทั้งสระ จนเวลาจวนสว่างจึงได้ทอดผ้าป่า ประทับแรมคืนหนึ่ง และสวดมนต์เลี้ยงพระเหมือนอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ้าป่าวัดปทุมวันนี้คงได้ทอดอยู่ในข้างแรมเดือน ๑๒ เวลาฉลองไตรปีแล้วทุกครั้ง ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับอยู่บางปะอินเนืองๆ เมื่อยังไม่ได้สร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ก็ได้มีการผ้าป่าวัดชุมพลนิกายาราม มีกระบวนแห่บ้างไม่มีบ้าง เสด็จพระราชดําเนินเข้าในกระบวนแห่ก็มี เป็นการเบ็ดเตล็ดนอกธรรมเนียม เครื่องของไทยทานเป็นของหลวงบ้าง ของกรมพระตํารวจและมหาดเล็กที่ตามเสด็จพระราชดําเนินจัดถวายช่วยในการพระราชกุศล คนละสิ่งสองสิ่งบ้าง ครั้นเมื่อมีวัดนิเวศน์ธรรมประวัติก็เพิ่มจํานวนของผ้าป่ามากขึ้นพอทั้งสองวัด เวลาค่ำมีการฉลองผ้าป่าในสระ มีเรือการเล่นต่างๆ ตามสมควร และเรือราษฎรที่อยู่ในหมู่บ้านเหล่านั้นเข้ามาดูการเล่นเป็นอันมาก ครั้นเวลาดึกก็ชักผ้าป่าไปทอดทั้งสองวัด เสด็จพระราชดำเนินบ้าง ไม่ได้เสด็จบ้าง มีแต่การทรงบาตร ไม่ได้สวดมนต์เลี้ยงพระ ถ้าปีใดเสด็จพระราชดําเนินพระราชทานพระกฐินเดือน ๑๑ ก็มีผ้าป่าเดือน ๑๑ ถ้า พระราชทานพระกฐินเดือน ๑๒ ก็มีผ้าป่าเดือน ๑๒ ถ้าไม่ได้เสด็จพระราชดําเนิน การผ้าป่านั้นก็เลิก ถ้ามีที่เสด็จพระราชดําเนินขึ้นไปเมืองลพบุรี ก็มีผ้าป่าวัดมณีชลขันธ์ เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ราษฎรชักผ้าป่าแห่ไปตามลําน้ำตั้งแต่เวลาเช้า ตามแต่พวกใดจะพาไปแห่งใดไม่มีกําหนด ต่อเวลาค่ำจึงได้มาจอดเรือที่หน้าแพที่ประทับในท้องพรหมาศ มีการเล่นและจุดดอกไม้เพลิงเป็นการฉลอง จนเวลาดึกจึงได้ชักผ้าป่าไปทอด การทอดผ้าป่าตามวัดต่างๆ เช่นนี้ไม่เป็นการมีเสมอ เป็นการนอกแบบ แล้วแต่จะโปรดให้มีแห่งใดก็มีขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว วัดอื่นๆ ที่ไม่เคยมีผ้าป่า เช่นวัดราชบพิธเป็นต้นก็มี จะพรรณนาก็จะยืดยาวไป ๚
[๑] คือราชองครักษ์ เมื่อทรงพระราชนิพนธ์ยังเรียกกันว่า ราชเอดเดอแกมป์
[๒] คือ ปืนกล
[๓] ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงจัดสภาเสนาบดีแล้ว มีการประชุมเสนาบดีไม่ขาด ถึงไม่ใช่วันประชุม เสนาบดีต้องเข้ามาเฝ้าทุกวัน คราวมีราชการก็ต้องผลัดเปลี่ยนกัน หรือพร้อมกันนอนประจํา
ในพระบรมมหาราชวัง
[๔] พระที่นั่งองค์นี้อยู่ในหมู่พระที่นั่งท่าราชวรดิษฐ์ เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว