พระราชพิธีเดือนสี่

๏ ในกฎมนเทียรบาลบัญชีย่อพระราชพิธีว่า เดือนสี่การสัมพัจฉรฉินท์ แต่ครั้นเมื่อค้นดูความพิสดารที่นับเป็นรายเดือนไปละลายเสียไม่ได้ความชัดเจน จะเป็นด้วยเดือนสิบสอง เดือนอ้าย มีพิธีหลายอย่าง คือจองเปรียงลดชุดลอยโคม ไล่เรือ งานแจกดอกไม้ วงมงคล ผู้ที่เก็บฉบับมาเรียบเรียงเดิมนึกว่าจะเรียงเป็นเดือนๆ ให้ตลอดทั้งสิบสองเดือน ครั้นมีพิธีแทรกๆ เข้ามากเผลอไปว่าเป็นแต่เรียงพิธีทั้งปวง ว่าตรียัมพวาย แล้วจึงถึงเฉวียนพระโคแล้วบอกจำหน่ายเผาข้าวไม่มี ต่อไปพิธีเบาะพก ว่าพิสดารยืดยาวแต่มืดรวมอย่างยิ่งจนไม่รู้ว่าทำอะไร ลงปลายจึงได้เลยป่ายไปอินทราภิเษกวุ่นไป คงได้ความลอดออกมานิดหนึ่งแต่ว่า การพระราชพิธีเผด็จศกตั้งในปรัศว์ซ้ายพระที่นั่งกลางพระโรง และว่าเพ้อไปด้วยตำแหน่งเฝ้าแหนจนไม่ได้ความว่ากระไร พูดเหมือนรู้กันอยู่แล้ว เป็นแต่บอกว่าจะทำที่นั่นหนาที่นี่หนา แต่การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ ย่อมเป็นการติดต่อกันกับเดือนห้าทั้งแต่ก่อนมาและในปัจจุบันนี้ จะแยกเดือนกันให้ขาดก็ยาก จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงพิธีสัมพัจฉรฉินท์หรือตรุษนี้เลยไปจนกระทั่งถึงเดือนห้าก่อนหน้าสงกรานต์บ้าง

เมื่อว่าเช่นนี้ตามทางโบราณ มีพระราชพิธีอันหนึ่งซึ่งติดต่อกันกับสัมพัจฉรฉินท์เรียกว่า ลดแจตร คำลดแจตรนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นรดเจตร คำลดนั้น เปลี่ยนตัว ร เป็น ล ไป คำแจตรนั้นเกินไม้หน้าไปอันหนึ่ง ถ้าเปลี่ยนตัว ล เป็นตัว ร อ่านว่า รด ลดไม้หน้าแจตรเสียอันหนึ่งอ่านว่า เจตร คงได้ความว่า รดน้ำเดือนห้า ตัวพิธี รดเจตรนี้ คงจะเป็นพิธีเดิม ที่สืบมาแต่ข้างลาวพุงดำ เพราะในทุกวันนี้ หัวเมืองลาวพุงดำ เช่นเมืองเชียงใหม่ เมืองนคร เมืองลำพูนเป็นต้น เจ้าเมืองยังต้องลงอาบน้ำในแม่น้ำเป็นพิธีเดือนห้า แต่เขาไว้ในหมู่สงกรานต์ มีอยู่จนทุกวันนี้ จะขอยกเรื่องราวในพิธีเมืองลาวไว้ไม่กล่าวในที่นี้ เพราะผู้ที่ไปเห็นมามีมากด้วยกัน จะเรียบเรียงได้ดีกว่าข้าพเจ้า ที่กล่าวเดี๋ยวนี้จะขออ้างเพียงว่าพิธีนี้เป็นอย่างของลาวพุงดำ ก็บรมราชวงศ์เชียงรายตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ลงมาเป็นเชื้อสายของเงี้ยวหรือลาว จึงได้มีธรรมเนียมนี้ติดต่อลงมาจนถึงกรุงเก่า แต่จะได้ทำลงมาเพียงแผ่นดินใดก็ไม่ปรากฏ มีเหตุพอที่จะเชื่อได้ว่าในรัชกาลหลังๆ ลงมาที่กรุงเก่าก็ไม่ได้ทำ จดหมายขุนหลวงหาวัดก็ไม่ได้พูดถึงเลย

พิธีรดเจตรที่มีมาในกฎมนเทียรบาลนั้น ดูเหมือนหนึ่งจะปลูกโรงหรือจอดแพอยู่กลางแม่น้ำ แพนั้นถ้าจะทำก็คล้ายๆ กับที่ลงสรง ข้างลาวเขาใช้เป็นซุ้มใบไม้ปักกลางน้ำเพราะน้ำตื้น แต่ของเราน้ำลึกดีร้ายจะใช้เป็นแพ ในแพที่สรงนั้นกั้นเป็นข้างหน้าข้างในดูในว่านั้นปันเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นข้างหน้าสำหรับพระสงฆ์และเจ้านายขุนนาง ส่วนกลางเป็นที่สรง ส่วนข้างในเป็นที่สำหรับพระอัครมเหสีหรือในจดหมายนั้นเขาเรียกว่า สมเด็จพระภริยาเจ้าทั้งสอง และลูกเธอ หลานเธอ แม่เจ้าพระสนมออกเจ้าทั้งปวง ในที่สรงนั้นมีเรียกว่าไม้พุ่มปักไว้ ไม้นั้นหุ้มผ้าแดง ทีจะเช่นหลักโผในแพลงสรง เป็นยศชั้นสูงชั้นต่ำด้วย เวลาที่ลงสรงนั้นมีกำหนดถึงสามเวลา เวลาเช้าทรงลายทั้งสำรับ เวลากลางวันทรงไพรำทั้งสำรับ เวลาเย็นไม่ปรากฏว่าทรงอันใด เวลาสรงน้ำเช้าและกลางวันเสร็จแล้วมีเลี้ยงลูกขุน เวลาบ่ายมีการมหรสพโมงครุ่ม คุลาตีไม้ เล่นแพน ป่ายเชือกหนัง พุ่งหอก ยิงธนู ที่ออกสนามนั้นเป็นพลับพลาหรือมณฑปมีกำหนดยศเป็นชั้นๆ ว่า พระราชกุมารบนปราสาทสามชั้น พระราชนัดดาคูหาตอนเดียว นาหมื่นเอกมณฑปห้าชั้น นาหมื่นโทมณฑปสามชั้น นาห้าพันราชคฤห์สามตอน นาสามพันสองพันหกคฤห์สองตอน นาพันสี่พันสองคฤห์ตอนเดียวมีบังหา นาพันคฤห์ตอนเดียว นาแปดร้อยหกร้อยเพดานปะรำมีริม นาห้าร้อยสี่ร้อยปะรำเปล่า เป็นที่เฝ้าอย่างออกสนาม เทือกเบญจาหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำขึ้น เพื่อประสงค์จะเปลี่ยนการออกสนามอย่างโบราณ ครั้นเวลาบ่ายสรงอีกครั้งหนึ่ง บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ต้องมีผ้านุ่งห่มสามสำรับสำหรับเปลี่ยนลงอาบน้ำ แต่เวลาเย็นนั้นมีจดหมายไว้ว่าเสด็จลงสรงแล้วทรงสำอางเสร็จ เสด็จลงเรือเข้ามา ท้าวพระยาลูกขุนนุ่งผ้าลงน้ำมาทีเดียว ในที่นี้จะว่าผลัดผ้าแล้วโดดน้ำว่ายตุ๋มตั๋มตามเสด็จมาทีเดียวหรือ หรือจะว่านุ่งผ้าที่ลงน้ำนั้นมาทั้งเปียกๆ ก็ไม่ได้ความชัด วิสัยคนโบราณหรือคนเก่าๆ ทุกวันนี้ก็มี ถ้าจะจดหมายเป็นตำรับตำราอันใดมักจะจดย่อๆ ให้ผู้ที่ไปอ่านนั้นไม่ใคร่จะเข้าใจ ต้องไต่ถามด้วยปากอีกทีหนึ่ง เมื่ออ่านไม่เข้าใจต้องถามดังนั้นแล้ว ก็มักจะยิ้มแย้มรื่นเริงไปว่าถ้อยคำที่ตัวกล่าวเป็นลึกซึ้ง จนนิดหนึ่งก็กินความมาก แต่ผู้ที่อ่านหากเป็นเด็กเล็กและไม่มีปัญญา ใจเร็วไม่ตริตรองเทียบเคียงจึงไม่เข้าใจ เมื่อเวลาแปลให้ก็ย่อมจะกล่าวว่าง่ายๆ นิดเดียว ลางทีก็บอกเป็นใบ้เป็นพรางให้คิดตีเอาเอง ถ้าผู้ที่ถามนั้นยังไม่เข้าใจก็เอาเป็นเซอะซะเสียคน ถ้าผู้ที่ถามนั้นตีใบ้ออกเข้าใจก็ไม่เป็นความฉลาดของผู้ที่คิดตีใบ้ออก เป็นความกรุณาของท่านผู้ที่บอกเล่า ต่อตีใบ้ให้ถึงได้แล้วหัวเราะสำทับว่าง่ายนิดเดียวต่อไปใหม่ กินทั้งขาขึ้นขาล่อง วิธีสั่งสอนของคนโบราณเช่นนี้ ท่านผู้อ่านคงจะได้เคยพบปะบ้างฉันใด จดหมายตำรับตำราอันใดก็มักจะทำย่อๆ ล่อให้คนปาคนทุ่มเช่นนี้โดยมาก เพราะฉะนั้นจะเอาข้อความอันใดในเรื่องรดเจตรนี้ก็ไม่มีหลักฐานต่อไปอีก ได้เนื้อความเพียงเท่านี้

มีแววชอบกลอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏในร่างรับสั่งการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แต่ก็เป็นธรรมเนียมที่รวมเลิกไปเสียแล้ว แต่จะเข้าเค้าเรื่องรดเจตรนี้ได้บ้างดอกกระมัง ด้วยการพระราชพิธีรดเจตรนี้ได้ความตามกฎหมายนั้นชัดเจนว่า เป็นการที่ทำก่อนออกสนามใหญ่ คือสระสนาน หรือคเชนทรัศวสนาน ซึ่งสงกรานต์จะมีมาก่อนคเชนทรัศวสนานนั้นมีไม่ได้อยู่แล้ว จึงไม่ควรจะคิดเห็นว่า การรดเจตรนี้จะเป็นรดน้ำพระสงฆ์ในเวลาสงกรานต์ ถ้าจะเป็นในเดือนห้าก็คงเพียงวันขึ้นค่ำหนึ่งเท่านั้นเป็นแน่ เพราะฉะนั้นถ้าจะเทียบกับการที่ได้ทำอยู่ในกรุงเทพฯ คราวหนึ่งซึ่งยังปรากฏอยู่ในร่างหมายจะเข้าเค้าได้ดอกกระมัง คือในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ มีกำหนดให้ปลูกโรงที่พระสงฆ์สรงน้ำ มีตุ่มซึ่งเรียกว่านางเลิ้งไปตั้งหลายใบ มีขันเชิงคู่หนึ่ง มีกาลักน้ำบัวตะกั่วและผ้าชุบสรงพร้อม แล้วให้ภูษามาลารับน้ำอบแป้งสดไปสำหรับถวายพระสงฆ์ แลดูอยู่ข้างธุระมาก เกินกว่าที่จะเห็นว่าเป็นแต่สำหรับพระราชพิธี เพราะพระสงฆ์ต้องมาสวดอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่ง จะได้พักผ่อนอาบน้ำได้ คือเกณฑ์ให้มีพวงดอกไม้สดไปแขวนที่โรงพระสรงน้ำนั้นถึงวันละยี่สิบพวง ดูโรงก็จะไม่เล็กนัก จึงได้แขวนดอกไม้มากถึงเพียงนั้น เกินกว่าที่จะจัดไว้สำหรับพระสงฆ์เพียง ๕ รูป แต่ผู้ซึ่งรวมๆ เสียในชั้นหลังๆ ต่อมาเห็นจะเป็นเข้าใจว่าสำหรับพระสงฆ์ ๕ รูป ด้วยพระแล้วดูท่านไม่ใคร่อยากอาบน้ำกันโดยมาก จะไม่มีผู้ใดไปอาบ จัดไว้เก้อๆ จึงได้เลยเลิกไป ที่จริงของเดิมเห็นจะจัดสำหรับพระสงฆ์ที่มาฉันในการพระราชพิธีสรงทั้งหมด ถ้าการที่พระสรงน้ำนี้จะเป็นเรื่องรดเจตรแน่แล้ว ก็คงจะเป็นการย่อลงมากว่าแต่เดิมหลายย่อมาแล้ว เพราะการที่รดเจตรกันอย่างเดิมนั้น อยู่ข้างจะกาหลเหลือเกิน และต้องทําธุระมากวันยังค่ำไม่ได้หยุดได้หย่อน จึงได้ตกลงรวมๆ ลงมาจนเลยละลายไป เดี๋ยวนี้ถามใครก็ไม่มีใครรู้ถึงเรื่องโรงสรงน้ำพระนี้เลย ได้ความในเรื่องซึ่งจะเกี่ยวข้องในเรื่องรดเจตรหรือลดแจตรอยู่เพียงเท่านี้

แตในจดหมายคําให้การขุนหลวงหาวัด มีความแจ่มออกไปกว่านี้ เป็นธรรมเนียมชั้นหลัง มีว่าถึงตั้งอาฏานาฏิยสูตร สวมมงคล สมโภชพระ สมโภชเครื่อง แต่ว่าเรื่อยไปจนถึงทอดเชือกและสระสนาน ซึ่งเป็นการในเดือนห้าก่อนสงกรานต์ ที่นับว่าเป็นปลายตรุษด้วยในการชั้นหลังนี้คงจะไม่ผิดกับที่ได้ทำอยู่ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้นัก

วิธีทําบุญปีอย่างเช่นทําอยู่ในพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ เป็นวิธีการบูชาของชาวลังกาเขาทําบุญปีใหม่ พร้อมกันจัดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย เป็นการนักขัตฤกษ์ใหญ่ นิมนต์พระสงฆ์มาสวดสามวัน วันที่สามจึงได้ประกาศเทวดาแผ่ส่วนบุญให้แก่เทพยดาและยักษ์ นาค กุมภัณฑ์ บรรดาอมนุษย์ทั้งปวงตลอดถึงสัตว์ดิรัจฉาน ขอพรให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข คําให้ส่วนบุญทั้งปวงเป็นภาษาลังกา ยังใช้ต่อมาจนถึงการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ทุกวันนี้ การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ซึ่งเป็นส่วนเนื่องในพระพุทธศาสนา แต่มิใช่ทําตามพุทโธวาท เป็นของคนที่ถือพุทธศาสนามาแต่ก่อนประกอบการทําขึ้นนี้ มีแต่แถบข้างล่างที่ริมๆ ทะเล สืบดูในหัวเมืองลาวทั้งฝ่ายตะวันออกตะวันตก ก็ไม่ได้ความว่าเมืองใดได้ทําการพิธีสำหรับเมืองคล้ายคลึงกันกับพิธีตรุษนี้ มีที่ปรากฏว่าได้ทําอยู่แต่เมืองนครศรีธรรมราช กับเมืองเขมรอีกสองแห่ง เมืองเขมรแต่ก่อนก็เป็นเมืองมีท่าลงทะเล และเมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นเมืองท่าค้าขายดังได้กล่าวมาแล้วในเดือนยี่ จึงเห็นว่าพิธีนี้มีเฉพาะแต่ที่เมืองลังกา ไม่ได้มีมาแต่ประเทศอินเดีย เป็นพิธีเกิดขึ้นใหม่เมื่อพระพุทธศาสนาตกมาอยู่ในลังกาทวีป[๑]

บรรดาการพระราชพิธีทั้งปวงซึ่งเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาแล้ว พิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้อยู่ข้างกาหล และวุ่นวายมากกว่าทุกพิธี ด้วยเป็นความคิดของคนในชั้นหลังที่มีความรู้แล้ว ความเชื่อถือพระพุทโธวาทเสื่อมลง หวาดหวั่นต่อภัยอันตรายกล้าขึ้น จึงได้คิดอ่านแก้ไข หันเหียนลงหาการที่ถืออยู่เป็นปรกติบ้านเมือง ฝ่ายข้างประเทศอื่นๆ คือแถบเรานี้ ที่เป็นเมืองนับถือพระพุทธศาสนาและนิยมยินดีในความรู้ของชาวลังกา ประกอบด้วยความหวาดหวั่นต่อภัยทั้งปวง เมืองใดไปมาถึงกัน ทราบฉบับธรรมเนียมก็เลียนลอกถ่ายแบบมาทําบ้าง เพราะพิธีนี้มาทางทะเลข้างฝ่ายทิศตะวันตกข้างใต้ จึงไม่แผ่ขึ้นไปถึงหัวเมืองลาวข้างฝ่ายเหนือเหมือนลัทธิพิธีอื่นๆ และการที่รับพิธีมาทํานั้นคงจะเป็นเมืองนครศรีธรรมราชได้รับก่อน ด้วยเมืองนครศรีธรรมราชนี้ปรากฏเป็นแน่ชัดว่า เป็นเมืองประเทศราชใหญ่มาช้านาน มีหลักฐานที่ควรจะอ้างอิงหลายแห่ง มีจารึกที่ฐานพระในวัดพระมหาธาตุเป็นต้น คงจะเป็นใหญ่มาก่อนตั้งกรุงอยุธยาโบราณ เมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นแล้ว เมืองนครศรีธรรมราชก็ต้องอ่อนน้อมขึ้นกรุงศรีอยุธยา แต่เห็นยังจะเป็นเจ้าประเทศราชต่อมาช้านาน ด้วยระยะทางตั้งแต่กรุงออกไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเรือใบเรือพายก็เป็นทางไกล ถ้าคิดตามกำหนดหนังสือวงศ์วงศ์ทั้งหลาย ที่เป็นหนังสือสำหรับอ่านกันอยู่ในไทยๆ ก็พอสมควรแก่ระยะที่จะเป็นเมืองพ่อตาหรือลูกเขย ซึ่งเป็นอย่างไกลที่สุดก็อยู่ในห่างกันสิบห้าวัน พอยักษ์มารจะขโมยได้กลางทางสบายดีอยู่แล้ว นับว่าเป็นเมืองไกลเกือบสุดหล้าฟ้าเขียวจึงต้องเป็นเมืองมีอํานาจมาก ที่สำหรับจะปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้และเมืองมลายูทั้งปวง แต่คงต้องถวายต้นไม้เงินทองกรุงเทพฯ ซึ่งยังมีเชื้อสายติดต่อมาจนทุกวันนี้ แต่ต้นไม้เงินทองทุกวันนี้เป็นอย่างเตี้ยๆ คือต้นไม้ทอง ๖ ต้น หนักต้นละบาท ต้นไม้เงิน ๖ ต้น หนักต้นละบาท ซึ่งเป็นต้นไม้เล็กไปอย่างนี้เห็นว่าจะเป็นขึ้นเมื่อเลิกไม่ให้เป็นประเทศราช แต่ก่อนมาเมืองสงขลา เมืองพัทลุง เมืองพังงา เป็นเมืองใหญ่ขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชทั้งสามเมือง เพื่อจะให้กําลังเมืองนครศรีธรรมราชน้อยลง จึงได้ตัดเมืองทั้งสามนี้มาขึ้นกรุงเทพฯ เสีย ต้นไม้เงินทองเมืองนครศรีธรรมราชแต่ก่อนคงเป็นต้นไม้หนักต้นละ ๒๔ บาท เมื่อยกสามเมืองมาขึ้นกรุงเทพฯ เสียแล้ว จึงได้แบ่งออกเป็นสี่ส่วน ให้เมืองนครศรีธรรมราชคงทําส่วน ๑ เมืองสงขลาส่วน ๑ เมืองพัทลุงส่วน ๑ เมืองพังงาส่วน ๑ คงเท่าจํานวนเดิม แต่ครั้นภายหลังเมืองพังงาถูกแยกเมืองถลาง เมืองภูเก็ต เมืองตะกั่วป่าออกไป เมืองพังงาร่วงโรยลงเป็นเมืองน้อย จึงได้ยกต้นไม้เงินทองไปให้เมืองตะกั่วป่าทำ หัวเมืองทั้งสี่ยังส่งต้นไม้เงินทองอยู่จนทุกวันนี้ แต่ต้นไม้เงินทองสี่หัวเมืองนี้เป็นต้นไม้ปีละครั้ง ถ้าคิดว่าเมืองนครศรีธรรมราชส่งเมืองเดียวสามปีครั้งหนึ่งเหมือนเมืองประเทศราชทุกวันนี้ ก็จะเป็นต้นไม้เงินทองหนักต้นหนึ่งถึง ๗๒ บาท เป็นต้นไม้อย่างขนาดใหญ่ทีเดียว เพราะเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราชใหญ่อยู่แต่เดิมดังนี้ คงจะมีพระราชพิธีใหญ่ๆคล้ายกับที่กรุง จึงได้รับพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้มาทํา แต่ที่กรุงจะไปรับต่อมาอีกเมื่อครั้งใดคราวใดไม่ได้ความปรากฏ เชื้อสายของการพิธีในเมืองนครศรีธรรมราชก็ยังมีติดต่อมาจนถึงในปัจจุบันนี้ เมื่อข้าพเจ้าไปเมืองนครศรีธรรมราชคราวนี้ก็ได้ลองให้พระสงฆ์ที่วัดหน้าพระลานสวดภาณวารและภาณยักษ์ฟังดู ทํานองภาณวารมีเสียงเม็ดพราย ทํานองครุคระมากขึ้นกว่าทํานองภาณวารในกรุงเทพฯ นี้มาก นโมขึ้นคล้ายๆ ภาณยักษ์ แต่ภาณยักษ์เองนั้นสู้ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ที่กรุงเทพฯ เอามาตกแต่งเพิ่มเติมเล่นสนุกสนานกว่ามาก แต่คงยังได้เค้าคล้ายๆ กันทั้งสองอย่าง

การที่มุ่งหมายในเรื่องทําพระราชพิธีตรุษสุดปีมีสวดอาฏานาฏิยสูตรซ้ำๆ ไปตลอดคืนยังรุ่งนี้ ด้วยประสงค์จะให้เป็นการระงับภัยอันตรายแก่มนุษย์ทั้งปวงทั่วพระราชอาณาเขต ตามพระบรมพุทธานุญาต แต่ตามที่เข้าใจกันโดยมากว่า ซึ่งพระสงฆ์สวดภาณยักษ์หรือภาณพระนั้นเป็นการขู่ตวาดให้ผีตกใจกลัว แล้วยิงปืนกระหน่ำสำหรับให้วิ่ง จนถึงคนแก่คนเฒ่าต้องหาขมิ้นกับปูนตั้งไว้ตามข้างที่หลับที่นอนในเหย้าในเรือน สำหรับผีญาติพี่น้องและผีเหย้าผีเรือน จะตกใจปืนเที่ยววิ่งปากแตกสีข้างหัก จะได้เอาขมิ้นกับปูนทา แล้วทําต้นไม้ผูกของกินเล็กๆ น้อยๆ มีกระบอกเล็กๆ กรอกน้ำแขวนกิ่งไม้ผูกไว้ที่บันไดเรือน เรียกว่าข้าวผอกกระบอกน้ำ สำหรับเจ้าพวกผีที่วิ่งตามถนน จะต้องวิ่งไปวิ่งมาเหน็ดเหนี่อยหิวโหยโรยแรง จะได้หยิบกินไปพลาง ห้ามไม่ให้ถ่ายปัสสาวะลงทางล่อง ด้วยเข้าใจว่าผีนั้นวิ่งชุลมุนอยู่ตามใต้ถุนรุนช่องจะไปเปียกไปเปื้อน บางทีที่เป็นโคมใบโตๆ จึงร้องไห้ร้องห่มสงสารคนนั้นคนนี้ที่ตัวรักใคร่ก็มี การซึ่งว่าขับผีเช่นนี้ ในตัวอาฏานาฎิยสูตรเองก็ไม่ได้ว่า พระสงฆ์ก็ไม่ได้ขู่ตวาดขับไล่ผี ตามความที่คาดคะเนไปมีความจริงอยู่อย่างหนึ่ง แตในคำประกาศเทวดาเวลาค่ำขับผีซึ่งมิได้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นมิจฉาทิฐิ มิอาจที่จะรักษาพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ราษฎรได้ให้ออกไปเสียนอกขอบเขาจักรวาล ชะรอยจะได้ยินคำประกาศอันนี้ส่อให้เข้าใจภาณยักษ์ภาณพระว่าเป็นขู่ตวาดไล่ผี ดูเข้าใจกันซึมซาบเกือบจะแปลได้ทุกคำตลอดทั้งภาณยักษ์ภาณพระ มงคลนั้นก็ถือลัทธิกันไปต่างๆ ไม่ถูกทั้งขึ้นทั้งล่อง คือพวกที่เข้าใจกันซึมซาบว่าวันนี้เป็นวันไล่ผี ถ้าไม่สวมมงคลและพิสมรถือกระบองเพชรหรือเอาวางไว้ใกล้ๆ ตัว ผีจะวิ่งมาโดนหกล้มหกลุกหรือจะมาแลบลิ้นเหลือกตาหลอก หรือจะทำให้ป่วยไข้อันตรายต่างๆ ข้างพวกที่ไม่เชือถือในเรื่องผีวิ่งผีเต้นนี้เล่าก็มักจะอดไม่ได้ อยากจะสำแดงอวดกึอวดเก่งอวดฉลาดว่าตัวเป็นคนไม่กลัวผี ไม่เชื่อว่าผีวิ่ง ไม่ยอมสวมมงคลพิสมร ไม่ยอมถือกระบองเพชร หัวเราะเยาะเย้ยผู้ซึ่งสวมซึ่งถือไปต่างๆ ความคิดทั้งสองอย่างนี้เป็นผิดทั้งสิ้น

การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นการพิธีประจําปีสำหรับพระนคร ทําเพื่อจะให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พระนคร และพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในตลอดจนราษฎร การที่ให้สวมมงคลและพิสมรแจกจ่ายกระบองเพชรให้ถือ ก็เพื่อจะให้เป็นที่หมายว่า ผู้นั้นได้เข้าอยู่ในพระราชพิธี หรือให้แลเห็นว่า สิ่งซึ่งเป็นมงคลอันจะเกิดขึ้นด้วยคุณปริตรที่พระสงฆ์สวดนั้น ตั้งอยู่ในตัวผู้นั้นแล้ว เมื่อจะเปรียบดูอย่างง่ายๆ ว่าการบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร เวลาสวดมนต์พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระมหามงคล การโกนจุกลงท่าแต่งงานบ่าวสาว เจ้าตัวผู้ซึ่งจะรับสวัสดิมงคล อันพระสงฆ์จะมาเจริญปริตรให้เฉพาะผู้นั้นก็สวมมงคล ผู้ที่สวมมงคลซึ่งออกชื่อมาเหล่านี้ย่อมมีสายสิญจน์โยง ตั้งแต่แท่นหรือม้าเตียงที่ตั้งพระหรือใช้สายเดียวกับที่พระสงฆ์ถือผูกโยงติดไว้กับท้ายมงคล การซึ่งใช้สายสิญจน์ก็ดี ใช้มงคลก็ดี เป็นเครื่องให้สะใจของผู้ปรารถนา คือผู้ปรารถนาสวัสดิมงคลจากที่พระสงฆ์เจริญปริตร เมื่อนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญปริตรเปล่าๆ ก็เป็นสวัสดิมงคลอยู่แล้ว แต่ดูไม่เห็นจริงสะอกสะใจ จึงได้ทำมงคลสวมที่ศีรษะโยงสายสิญจน์มาให้ถึงเป็นสายโทรศัพท์ ให้สวัสดิมงคลนั้นแล่นมาทางนั้นเป็นเครื่องปลื้มใจอุ่นใจเจริญความยินดีมาก ในการบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียรก็ดี การโกนจุกลงท่าแต่งงานบ่าวสาวก็ดี ก็ไม่ได้สวดภาณยักษ์ภาณพระ ไม่ได้อ่านคําประกาศเรื่องขับผีขับสางและไม่ได้ยิงปืนเวลาค่ำ ซึ่งจะเป็นเครื่องให้ผีตื่นตระหนกตกใจ เหตุใดจึงต้องใช้มงคล ก็เหตุด้วยประสงค์จะให้เป็นทางมาของความสวัสดิมงคล และเป็นเครื่องปลื้มใจว่าตัวได้รับสวัสดิมงคลอันเกิดจากปริตรคุณ เพราะฉะนั้นจึงต้องกล่าวว่าผู้ซึ่งเข้าใจว่ามงคลพิสมรกระบองเพชรเป็นเครื่องกันผีที่วิ่งวุ่นวายเฉพาะในวันนั้นวันเดียวนั้น เป็นการเข้าใจผิดกลัวมากเกินไป ข้างฝ่ายที่อวดกล้าอวดเก่ง อวดปัญญาไม่ยอมสวมมงคลพิสมรถือกระบองเพชรนั้น หมายว่าตัวพ้นกลัวผีพ้นเชื่อผี หรือที่แท้ไม่พ้นกลัวผีเชื่อผีจริง ยังอวดเก่งอวดฉลาดในการที่คนทั้งปวงกลัวตัวทำได้ ถึงจะพ้นกลัวก็ยังอยู่ในไม่พ้นเชื่อ โดยว่าจะไม่เชื่อได้จริงๆ ก็ยังไม่เป็นคนมีปัญญาตามที่อยากจะอวดทั้งสามประการ คือ อวดกล้าอวดเก่งรู้ไม่เชื่อ อวดปัญญา ถ้ามีปัญญาจริงย่อมจะคิดเห็นได้ว่าการที่พรรณนามาแล้ว คือการเฉลิมพระราชมนเทียร การโกนจุกลงท่าแต่งงานบ่าวสาวนั้น เขากลัวผีหรือไม่เขาจึงได้สวมมงคล ถ้ามีปัญญาจริงแล้วจะต้องพิจารณาเห็นว่าการซึ่งสวมมงคลนั้น เพื่อจะให้ปรากฏว่าตัวเป็นผู้ได้รับสวัสดี ในการพระราชพิธีใหญ่สำหรับพระนคร ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสู้ออกพระราชทรัพย์ให้ทํามงคลพิสมรกระบองเพชร สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงทั่วไป ไม่ได้ทรงทำโดยทรงตื่นเต้นเหมือนอย่างผู้ที่กลัวผีงกเงิ่นดังได้กล่าวมาแล้ว ถ้าจะเถียงว่าแต่ก่อนท่านจะกลัวกันบ้างดอกกระมัง จะเป็นพูดแก้แทนกันไปก็จะอ้างพยานให้เห็นได้ว่าสวดมนต์วันพระในท้องพระโรงหรือพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ซึ่งเป็นเวรประจําพระราชวังมาแต่โบราณนั้นก็สวดมนต์ตามลำดับอย่างเก่า มีภาณยักษ์ภาณพระเหมือนกัน ถ้าเช่นนั้นวันพระใดจะถึงภาณยักษ์ภาณพระ จะมิต้องแจกมงคลให้สวมกันหมดหรือ ควรจะต้องคิดเห็นว่า เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงพระมหากรุณาแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง จะให้ได้รับความสวัสดิมงคลทั่วกัน จึงแจกมงคลให้สวมตามบรรดาศักดิ์ แต่วิธีที่ถือว่ามงคลที่สวมเป็นเครื่องรองรับความสวัสดิมงคลนั้น เป็นลัทธิโบราณเคยถือมาอย่างเดียวกันกับทำน้ำมนต์ ต้องเอาเทียนคว่ำลงให้มีสีผึ้งหยดลงในน้ำเป็นดอกพิกุล ด้วยเสกเปล่าๆ ดูเป็นน้ำเฉยๆ ไป ไม่มีไม่เห็นเป็นก้อนเป็นดุ้นสะอกสะใจ เป็นธรรมเนียมที่ถือกันมา มิใช่ของพระเจ้าแผ่นดินชั้นหลังๆ คิดขึ้นใช้เป็นประเพณีบ้านเมืองทั่วไปตลอด ถึงผู้ที่จะเอะอะอวดเก่งไม่ยอมสวมมงคลนั้น ถ้าจะมีการทำบุญอันใดที่บ้านก็คงจะยังโยงสายสิญจน์ให้พระสวดอยู่ทุกแห่งไม่ใช่หรือ การซึ่งพระเจ้าแผ่นดินยังพระราชทานมงคลอยู่นั้น ก็เหมือนกันกับผู้ที่อวดเก่งยังใช้สายสิญจน์อยู่นั้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดเข้ามาในวันพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ก็ไม่ควรเลยที่จะทํารังเกียจอวดดีหรืออับอายขายหน้า เอามงคลไปขยี้ขยําหัวเราะเยาะเย้ยเป็นการอวดดีต่างๆ ซึ่งน่าจะเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระเจ้าแผ่นดินและคนทั้งปวงว่าเซอะซะงุ่มง่ามไปหมด ฉลาดแต่ตัวคนเดียว การที่เพ้อเจ้อมาด้วยเรื่องมงคลนี้ ใช่ว่าจะตื่นเต้นโปรดปรานมงคลอย่างหนึ่งอย่างใด เว้นแต่เมื่อยังไม่เลิกเสียก็ยังไม่อยากให้ผู้ใดหมิ่นประมาท แต่ถ้าจะเลิกเมื่อใดก็จะยอมเลิกโดยง่าย ไม่เป็นข้อขัดขวางอันใด เพราะเหตุว่ามงคลทั้งปวงย่อมจะเกิดได้ด้วยกายวาจาใจอันตั้งอยู่ในความสุจริต การที่พระสงฆ์มาเจริญปริตรพุทธมนต์อันใดจะเป็นสวัสดิมงคลก็เป็นได้ทางหูทางใจ ไม่ได้มาทางสายสิญจน์ บัดนี้จะกล่าวถึงอาฏานาฏิยสูตรโดยสังเขป เพื่อให้เป็นเครื่องรับรองกับการที่จะกล่าวมาข้างต้นว่ามิได้ขู่ตวาดไล่ผีนั้น ความในอาฏานาฎิยสูตรนี้ว่าท้าวมหาราชทั้งสี่ลงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า บรรดาฝูงอมนุษย์ทั้งปวงที่นับถือพระพุทธเจ้าก็มี ที่ไม่นับถือก็มี เพราะพวกอมนุษย์เหล่านั้นเกลียดชังบัญญัติที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ละเว้นมีเบญจเวรวิรัติเป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อสาวกของพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่ราวป่าที่เปลี่ยว พวกอมนุษย์ทั้งปวงเหล่านั้นย่อมจะมาเบียดเบียนต่างๆ ท้าวมหาราชทั้งสี่จึงได้ขออนุญาตต่อพระพุทธเจ้า ให้โปรดให้สาวกจําคาถานมัสการพระพุทธเจ้าทั้งเจ็ดพระองค์ มีวิปัสสิสสะนะมัตถุเป็นต้นนี้ไว้ เมื่อจะไปอยู่ในราวป่าหรือที่สงัดที่เปลี่ยว พวกอมนุษย์ทั้งปวงจะมาเบียดเบียนประการใดก็ให้สวดคาถานมัสการนี้ขึ้น อมนุษย์ทั้งปวงก็จะมีความกลัวเกรงหลบหลีกไปไม่ทำอันใดได้ พระพุทธเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ ท้าวมหาราชทั้งสี่ก็ลากลับไป นี่เป็นข้อใจความของภาณยักษ์ ภาณพระนั้นกล่าวถึงเวลารุ่งขึ้นเมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระสงฆ์ทั้งปวงแล้วก็ทรงเล่าเรื่องที่ท้าวมหาราชลงมาทูลนั้นตามเนื้อความเหมือนภาณยักษ์ และอนุญาตให้พระสงฆ์จําคาถาคํานมัสการนั้นไว้ มีข้อใจความในภาณพระเท่านี้

แต่วิสัยอาจารย์ผู้แต่งหนังสือคิดจะแต่งให้เพราะ ให้ความพิสดาร ก็ไปเก็บเอาเรื่องราวต่างๆ อย่างเช่นยกมาจากคาถามหาสมัยสูตรเป็นอันมาก ตามนิทานที่เล่าเป็นของเก่าแก่อยู่บ้างเพิ่มเติมลง เล่าถึงเรื่องบ้านเรื่องเมืองที่อยู่ของท้าวมหาราช ซึ่งพระภาณยักษ์มาสวดเรียกกันว่าร้อง ตามคนที่ไม่เข้าใจแปลกันว่าพระท่านปลอบผีให้ไปเสียดีๆ ส่วนคำที่ซ้ำๆ นั้นก็เป็นตำราของภาษามคธ จะแต่งหนังสืออันใดก็แต่งซ้ำๆ ซากๆ จนเขียนเป็นภาษาไทยไม่ได้ อย่าง เช่น ยัก์โข วา ยัก์ขินี วา ซึ่งเป็นแต่ออกชื่อยักษ์ผู้ชายยักษ์ผู้หญิงดีๆ ไม่ได้โกรธขึ้งเลยนั้น ก็เข้าใจกันว่าเป็นการขู่เข็ญขับไล่ ผู้ฟังไม่เข้าใจก็ว่าพระท่านขู่ผี เป็นอันทั้งขู่ทั้งปลอบให้ผีไป การที่ยืดยาวเลื่อยเจื้อยไปทั้งหลายนี้ เป็นสำนวนของอาจารย์ชาวลังกาผู้ที่แต่งหนังสือจะให้ไพเราะพิสดาร

แต่ยังส่วนตัวสูตรนี้เองที่อ้างว่าท้าวมหาราชลงมาเฝ้านี้ ถ้าเป็นผู้ที่มักจะคิดก็จะมีความสงสัยว่าจะเป็นการช่างเถอะอย่างไรอยู่ ความข้อนี้จะขอไกล่เกลี่ยได้ว่า สูตรนี้เห็นจะมาตามทางธชัคสูตรซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเอง เปรียบเอาเรื่องโบราณที่เล่าๆ กันอยู่เป็นพื้น แล้วมายกขึ้นเปรียบว่าเมื่อพระอินทร์รบกับยักษ์ มีกำหนดในหมายธงเทวดาที่เป็นแม่ทัพฉันใด สาวกของพระพุทธเจ้าที่ไปอยู่ในราวป่าที่เปลี่ยว ก็ให้ผูกใจมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จะเป็นเครื่องบําบัดความกลัวหวาดหวั่นสะดุ้งสะเทือน การที่พระพุทธเจ้ายกเอาเรื่องพระอินทร์รบกับยักษ์ขึ้นเป็นเหตุที่จะสั่งสอนสาวกนั้น ก็ใช่ท่านจะยืนยันว่าพระอินทร์รบกับยักษ์คราวหนึ่งเป็นแน่ละ ตถาคตได้เห็นเองรู้เองก็หาไม่ เป็นแต่ท่านว่าเขาเล่ากันมา เกือบจะเหมือนกับยายกับตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า ที่เล่ากันอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่เป็นเรื่องเหมาะที่จะยกมาเปรียบจึงได้ยกมาเปรียบ ส่วนคนภายหลังที่ได้ยินพระสูตรอันนี้ ไม่ประพฤติตามแต่พระพุทธเจ้าอนุญาตสั่งสอนให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยในเวลาอยู่ที่เปลี่ยว ไปเข้าใจผิดเชื่อเอาว่าพระอินทร์ได้รบกับยักษ์เป็นแน่เพราะพระพุทธเจ้าได้เล่า การซึ่งเป็นทั้งนี้ก็เพราะพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๔๐๐ ปีเศษ การซึ่งคนแต่ชั้น ๒๔๐๐ ปีพูดกันเป็นการจืดๆ อยู่สาบสูญไป คงอยู่แต่ในสูตรนี้ก็เข้าใจเอาเป็นการแปลกหูมา เหมือนไม่มีผู้ใดรู้ รู้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งบรรลุวิชาสามารถจะระลึกกาลที่ล่วงมาแล้วได้ ชักให้เข้าใจเลอะเทอะไป ส่วนข้อที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ระลึกคุณพระรัตนตรัยในเวลาอยู่ที่เปลี่ยว และเวลาตกใจด้วยภัยอันตรายนั้นเล่า ใช่ท่านจะตรัสว่า เออตกใจอะไรให้นึกถึงตถาคตเถิด ตถาคตจะไปช่วย เหมือนอย่างเช่นนิทานเล่าๆ กันว่ายักษ์หรือนาคและฤๅษีอะไรซึ่งพอใจจะสั่งไว้กับผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีคุณหรือเป็นที่รัก แต่หากเป็นคนที่จะเรียกว่ามีบุญหรือเคราะห์ร้ายอย่างยิ่งไม่ได้ เช่นกับตัวที่มีในเรื่องนิทานกลอนๆ ทั้งปวง มีฤทธิ์มีเดชมากเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ไม่มีความสุขจนข้าวก็ไม่ใคร่ได้กิน เดินทอกแทกอยู่ในกลางป่า ซึ่งมีผู้อยากจะเป็นเช่นนั้นชุมๆ เพราะได้ฆ่าพ่อตาเอาลูกสาวเป็นเมีย ก็หาไม่ คำที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่สาวกเช่นนี้ประสงค์เพื่อจะอุดหนุนสาวกซึ่งยังไม่บรรลุมรรคและผล มีความหวาดสะดุ้งต่อภัยอยู่เป็นนิตย์ ให้มีความแกล้วกล้า โดยเชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้วออกไปอยู่ในที่สงัดบำเพ็ญเพียรให้ได้มรรคและผลตามประสงค์ วิสัยพระพุทธเจ้าจะตรัสเทศนาสั่งสอนผู้ใดย่อมตัดไปโดยทางตรง มุ่งหมายแต่ประโยชน์ ไม่ใช้ทางอ้อมค้อมซึ่งเป็นการจะทําให้เสียเวลา หรือไม่พอแก่วิสัยของปุถุชนจะเชื่อถือได้ เช่นกับจะนั่งแปลอยู่ว่าผีไม่มีดอก อย่าให้กลัวเลยดั่งนี้ จะต้องอธิบายยืดยาวเสียเวลา จึงได้ตัดเสียว่าให้เชื่อพระคุณความรู้ของพระพุทธเจ้าและหนทางอันดีของพระธรรมซึ่งจะนำให้ผู้ปฏิบัติตามบรรลุธรรมวิเศษ และให้เชื่อคุณความปฏิบัติของพระอริยสงฆ์ ซึ่งได้บรรลุวิชาเต็มที่ตามพระพุทธเจ้าตรัสสอนแล้วนั้นให้มั่นใจ ก็จะไม่มีภัยอันตราย ความมุ่งหมายที่จะต้องการ คือให้สาวกซึ่งเป็นปุถุชนหายกลัวผีนั้นก็ได้เหมือนกัน แต่เป็นทางลัดได้ง่ายเร็วกว่าที่จะอธิบายแก่ผู้ซึ่งมีปัญญาและความเชื่อยังอ่อน การซึ่งชนภายหลังเข้าใจพระสูตรต่างๆ เกินกว่าความต้องการไปเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนากลายเป็นพิธีรีตองเสกๆ เป่าๆ ไปได้โดยมาก

ในเรื่องอาฏานาฏิยสูตรนี้ ถ้าจะพูดตามความเห็นที่คิดเห็นว่าจะเป็นการช่างเถอะแล้ว ก็เห็นว่าจะมาจากธชัคสูตรนี้เอง แต่วิสัยลังกาหรือลาวก็ดี ที่จะไหว้แต่พระพุทธเจ้าโคตมะพระองค์เดียว ดูจะไม่ใคร่จะพออิ่มไม่สะใจ อยากให้ท่านมาช่วยกันมากๆ หลายไม้หลายมือ เช่นสัมพุทเธไหว้พระพุทธเจ้าตั้งพันตั้งหมื่น อาฏานาฏิยสูตรนี้อยากจะให้พระพุทธเจ้ามากองค์ออกไปช่วยแรงกันให้มากขึ้น จึงได้แต่งขึ้นใหม่ เก็บธชัคสูตรบ้าง มหาสมัยสูตรบ้าง ผสมกันเข้าเป็นอาฏานาฎิยสูตรขึ้นตามความต้องการ ที่ยังไม่สะใจแท้ถึงเติมนโมเมสัพเข้าด้วย อย่างเช่นสวดมหาราชปริตรสิบสองตํานานก็มี แต่เมื่อจะไฉล่ไกล่เกลี่ยลงก็ควรจะกล่าวได้ว่า ข้อสำคัญทั้งสูตรก็อยู่เพียงคํานมัสการ ถ้าผู้ที่เชื่อถือมั่นในคุณพระรัตนตรัย มีภัยอันตรายคับขันสะดุ้งสะเทือนในใจ หรือเป็นแต่ใจอ่อนไปไม่กล้าหาญ เมื่อกล่าวคำนมัสการโดยความถือมั่นต่อพระคุณความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คงจะให้ประโยชน์ต่อผู้ซึ่งกล่าวคาถานั้น ให้มีใจมั่นคงไม่หวาดหวั่นต่อภัยอันตราย คงเป็นการมีคุณอยู่บ้างเป็นแท้ แต่การที่เอามาเอะอะสวดซ้ำๆ ซากๆ กันนี้ก็อยู่ข้างจะมากสักหน่อย และวิธีที่สวดนั้นเลยเป็นเล่นไป เนื้อความนั้นก็จะเป็นสรภัญญะแต่ค่อยๆ มากขึ้นเพลินไปจึงชักให้ความเฟือน แต่ถึงอย่างไรก็ดีเป็นประเพณีบ้านเมืองที่ได้เคยประพฤติมา เมื่อยังไม่ได้เลิกถอนเสียก็ควรจะถือเอาตามสมควรแก่ที่พิจารณาเห็นว่าเป็นดีเพียงไร ตามใจของตนๆ

แต่ถึงว่าได้ปฏิเสธไว้ในข้างต้นว่า การที่สวมมงคลพิสมรถือกระบองเพชร ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินกลัวผีจะวิ่งมาโดนเป็นต้นก็จริง แต่จะปฏิเสธว่าผู้แรกตั้งตำราพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ขึ้นนี้ไม่เชื่อผีไม่ได้ ด้วยการที่ตระเตรียมทำทั้งปวงอยู่ข้างจะขับผี มีในคำประกาศที่กล่าวอ้างถึงขับผีมิจฉาทิฐิเป็นหลักอยู่อย่างหนึ่ง ยังปืนที่จะยิงเล่าหมอนก็ใช้ใบหนาด ใบสาบแร้งสาบกา ซึ่งถือว่าเป็นใบไม้ที่ผีกลัว มีถุงข้าวเปลือกข้าวสารเล็กๆ ๑๐๘ ถุงสำหรับบรรจุในปืนอย่างฟาดข้าวไล่ผีด้วย ถึงข้าวผอกกระบอกน้ำของหลวงก็มี แต่ไปมีที่วัดสระเกศ ไม่ได้มีในรั้วในวัง แต่ข้าวผอกกระบอกน้ำวัดสระเกศก็ได้เลิกมาเสียช้านาน จะเป็นด้วยเข้าใจว่าขับแต่ผีที่เป็นมิจฉาทิฐิ ก็ธรรมดาป่าช้าที่เป็นที่ไว้ศพปลงศพมากๆ เช่นนี้ คนที่ประพฤติตัวชั่วช้าเป็นมิจฉาทิฐิก็คงจะมีโดยมาก ที่ได้ไปไว้ไปฝังไปเผาในที่นั้น ผีมิจฉาทิฐิเหล่านั้นคงจะได้ความลําบาก จึงได้จัดเสบียงอาหารไปให้เป็นการให้ทาน เพราะธรรมดาผู้ซึ่งมีศรัทธาทำทานหรือตะกลามบุญในไทยๆ เรานี้มักจะหาช่องทําบุญเล็กๆ น้อยๆ ด้วยเชื่อว่าจะได้กำไรมาก ก็ข้าวผอกกระบอกน้ำนี้ไม่ต้องลงทุนรอนอันใด หักแต่กิ่งไม้มา เกลาไม้ไผ่เป็นกระบอกเล็กๆ แบ่งข้าวแบ่งปลาที่เหลือกินกรอกลงเล็กๆ น้อยๆ เศษผ้าผ่อนอันใดที่จะทิ้งเสียก็เอาแขวนกิ่งไม้ปักให้เป็นทาน ไม่ต้องลงทุนลงรอนอันใด แต่คงจะกลับได้ประโยชน์ในภายหน้ามาก ข้าวกระบอกหนึ่งบางทีก็จะได้เป็นกระบอกละเกวียน น้ำกระบอกหนึ่งบางทีก็จะบันดาลให้พระยาโชฎึกมีความรักใคร่นับถือ ยอมให้ใช้น้ำก๊อกเปล่าๆ สามวันเจ็ดวัน[๒] เศษผ้าเท่าฝ่ามือก็จะทำให้ได้ผ้าชิ้นละกุลีได้ดอกกระมัง เมื่อไม่ต้องลงทุนอะไรแต่คิดกำไรที่จะได้มากเช่นนี้ ถึงจะไม่สู้เชื่อถือผีสางอันใดนักก็ทำไว้ดีกว่าไม่ทำ เพราะได้กำไรมากจึ่งได้ทำตามๆ กันไป แต่ควรเห็นได้ว่าความคิดซึ่งจะเห็นญาติพี่น้องหรือผีในเหย้าในเรือนออกวิ่งด้วยนั้น ไม่เป็นความคิดที่มีในราชการมาแต่ก่อน ลัทธิทั้งหลายเหล่านี้ที่เจือปนเข้ามาในราชการด้วย ข้าพเจ้าขอปฏิเสธว่าไม่ได้มาทางพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุว่าอาฏานาฎิยสูตรที่ได้แสดงใจความย่อมานั้น ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาตริตรองอยู่ก็จะสงสัยว่าจะเป็นการช่างเถอะอยู่บ้างแล้วนั้นไม่ได้กล่าวถึงการเหล่านี้เลย วิธีที่ถือผีสางกระจุกกระจิกเหล่านี้จะมีมาก็ตามลัทธิพราหมณ์อย่างหนึ่งตามความเข้าใจผิด หรือกลัวสั่นเกินไปของคนทั้งปวงแต่โบราณจนตกลงเป็นธรรมเนียมที่เคยทําก็ทําไป เพราะเหตุว่าใบไม้ที่จะเป็นหมอนปืนและข้าวสารที่บรรจุในปืน ก็ต้องส่งไปที่โรงพิธีพราหมณ์เสกเป่ากันมาก่อน ไม่ได้เอามาเข้ามณฑลในส่วนพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างมงคลพิสมรกระบองเพชร เพราะฉะนั้นการที่ปฏิเสธมาแต่ก่อนนั้น ปฏิเสธข้อหนี่งว่าคําอาฏานาฏิยสูตรไม่ใช่คําพระพุทธเจ้าอนุญาตไว้สำหรับให้ขู่และปลอบผี อีกข้อหนึ่งว่าที่ให้สวมมงคลพิสมรและถือกระบองเพชร ไม่ใช่สำหรับกลัวผีหลอก เพราะปรารถนาความสวัสดิมงคล การซึ่งกล่าวแรงไปจนถึงว่าการที่กลัวผีเป็นผิดนั้น เป็นความเห็นของข้าพเจ้าเองผู้แต่งหนังสือ และว่าได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนคงจะไม่ทรงกลัวผีสั่นไปเหมือนอย่างคนทั้งปวงกลัวดังเช่นกล่าวมา แต่ที่จะปฏิเสธว่าไม่ทรงเชือว่าผีมีอยู่ และขับได้อยู่ตามลัทธิโบราณที่ถือมานั้นปฎิเสธไปไม่ได้ เพราะใครๆ ในเวลานั้นก็ย่อมถือเช่นนั้นทั่วหน้ากัน แต่จะลงเอาเป็นแน่ว่าทรงเชื่อถือแท้ก็ว่าไม่ได้ บางทีจะเป็นแต่โบราณเคยทำมาก็ไม่ให้เสียโบราณ ด้วยคนทั้งปวงย่อมเชื่อถืออยู่ด้วยกันโดยมาก เป็นพระบรมราโชบายอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเครื่องระงับความกระวนกระวายร้อนใจของคนทั้งปวงให้เป็นที่เย็นอกเย็นใจได้ อย่างทําก็ไม่เสียหายอันใดมากนัก แต่ได้ประโยชน์ให้เป็นที่เย็นใจของคนทั้งปวงอันอาศัยในพระราชอาณาเขตเช่นนี้ก็จะมีบ้าง เหมือนอย่างพระราชพิธีอาพาธพินาศก็คือทําอย่างสัมพัจฉรฉินท์นี้เอง เป็นแต่เปลี่ยนชื่อ

พระราชพิธีอาพาธพินาศนี้ จะสืบสาวเอาเหตุผลให้ได้ความว่ามีมาแต่ก่อนหรือไม่ก็ไม่ได้ความ ได้พบแต่ร่างหมายพระราชพิธีอาพาธพินาศ เมื่อปีมะโรงโทศก ๑๑๘๒ อ้างถึงพระราชพิธีอาพาธพินาศที่ได้ทํามาแต่ก่อนเมื่อปีมะแมตรีศกศักราช ๑๑๗๓ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นเองทั้งสองคราว แต่ไม่ได้ความว่าคราวแรกนั้นทําด้วยเหตุอันใด ตรวจดูในจดหมายเหตุก็ไม่ได้กล่าว ถึงท้ายปูมก็ไม่ได้แทงไว้ แต่การที่ทําขึ้นนั้นก็คงจะอาศัยเหตุที่เกิดโรคภัยที่เป็นมากๆ ทั่วกัน เช่นไข้ทรพิษหรืออหิวาตกโรค เพราะเมื่อเทียบเคียงดูกับประเทศอื่น ก็เห็นว่าจะเป็นอหิวาตกโรค เพราะในระยะนั้นอหิวาตกโรคเกิดขึ้นที่ประเทศอินเดียก่อนแล้วเป็นระรานต่อมา แต่จะสอบปีให้ตรงกันกับศักราชเท่านี้ว่าเป็นคราวเป็นใหญ่ก็ไม่ตรง แต่ไข้เจ็บเช่นนี้เป็นขึ้นที่แห่งหนึ่งแล้วก็ค่อยๆ แผ่ไป จะกำหนดเวลาให้ตรงกันเป็นแน่ก็ไม่ได้อยู่เอง อหิวาตกโรคเกิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อปีขาลโทศกจุลศักราช ๑๑๓๒ เป็นคราวแรก แล้วแผ่ไปทั้งประเทศยุโรปและประเทศเอเซีย คงจะมีเข้ามาถึงกรุงสยามนี้ด้วย แต่จะไม่ใหญ่โตมากมายเหมือนปีมะโรง จึงไม่มีผู้ใดจำผู้ใดเล่า การซึ่งเกิดทําพิธีกันขึ้นนั้นก็คงจะเป็นด้วยเหตุความตกใจหวาดหวั่น ในการที่เกิดโรคอันมีพิษร้ายแรงเสมอด้วยพิษงูขึ้นใหม่ๆ และเป็นมากๆ พร้อมกัน เมื่อจะคิดเสาะแสวงหาเหตุผลว่าเกิดขึ้นด้วยอันใด ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ในเวลานั้น ด้วยมิได้เคยทดลองสังเกตสังกามาแต่ก่อน ยาที่จะกินนั้นเล่าก็ต้องเป็นยาเดาขึ้นใหม่ทั้งสิ้น กินยาก็ต้องเป็นการลองไปในตัว คนจึงได้ตายมาก จนลงเห็นกันว่าเป็นไม่มียาอันใดจะแก้ไขได้ ความคิดที่เชื่อพระผู้สร้างโลก เชื่อผีผู้ดีคือเทวดา เชื่อผีไพร่คือปิศาจ ก็เข้าครอบงําความคิดคนทั้งปวงในเวลานั้นตามแต่ใครจะถนัดทางใด พวกที่ถือว่ามีพระผู้สร้างโลก คอยให้บําเหน็จคอยลงโทษก็ต้องว่าเป็นการที่พระผู้สร้างโลกนั้นลงโทษ พวกที่เชื่อผีก็ต้องว่าผีมาแขก ความคิดคนทั้งสองพวกนี้ก็เป็นความคิดอันเดียวกันนั้นเอง ใครจะหัวเราะเยาะใครก็ไม่ได้ ข้างฝ่ายแขกฝ่ายฝรั่งก็คิดอ่านแก้ไขตามทางที่ตัวคิดเห็น คืออ้อนวอนขอร้องออดแอดไปแก่พระผู้เป็นเจ้า จนถึงเขียนยันต์เขียนไม้กางเขนปิดประตูสัพพีพระเยซู ให้ถูกพระทัยพระเป็นเจ้า ข้างฝ่ายไทยเราออกเชื่อผีมาแต่เดิมแล้ว ก็ตกลงกันโทษเอาว่าผีมาแขก เล่ากันเป็นจริงเป็นจังไป ก็ต้องคิดอ่านสัพพีพวกผีนั้นต่างๆ ตามแต่ใครจะนึกทํา มีเสียกบาล เป็นต้น ส่วนผู้ซึ่งมีใจเชื่อถือในพระรัตนตรัยมากกว่าผีสางเทวดา แต่ความสะดุ้งหวาดหวั่นต่อภัยอันตรายอันมีมาใกล้ตัวเข้าครอบงําแรงกล้า จนไม่สามารถที่จะรักษาน้ำใจให้สงบระงับอยู่โดยพระพุทโธวาทในทางพิจารณาพระไตรลักษณ์เป็นต้น ก็คิดเสาะแสวงหาไปกว่าจะหาเหตุผลหนทางอันใดให้เป็นเครื่องป้องกันอันตรายเหล่านี้ ให้เจือในพระพุทธศาสนาได้

ก็ความกลัวอันตรายเช่นนี้ ใช่ว่าจะพึ่งมีขึ้นในชั้นภายหลังนี้ก็หาไม่ ย่อมมีมาแต่ในเวลาใกล้ๆ ที่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ ผู้ซึ่งเคยคิดแก้ไขมาแต่ก่อนได้ทําเป็นตัวอย่างไว้มีมาแล้ว เช่นคาถารัตนสูตรสำหรับอธิษฐานบําบัดโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยอาศัยอ้างคุณพระรัตนตรัยเป็นต้นมีตัวอย่างมา เมื่อภัยเกิดขึ้นเช่นนี้ และซ้ำมีข้อสงสัยว่าเป็นด้วยผี ก็ไม่มีอะไรจะเหมาะยิ่งกว่าอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งกล่าวมาว่าสำหรับปราบปรามพวกภูตปิศาจไม่ให้ทําร้ายมนุษย์ จึ่งได้คิดตั้งพระราชพิธีให้มีสวดอาฏานาฏิยปริตร แต่ตั้งชื่อว่าอาพาธพินาศตามความต้องการ ให้เป็นการที่เย็นใจของชนทั้งปวงซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา แต่การพระราชพิธีนั้นเป็นการคาดคะเนทําขึ้น มิใช่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้ให้ทำสำหรับแก้ไขโรคภัยเช่นนี้ และความเข้าใจที่คะเนเอาว่าโรคนี้เกิดขึ้นด้วยผี จึ่งได้คิดขับไล่ผีเป็นการผิดอีกชั้นหนึ่งด้วย เพราะโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยผี เกิดขึ้นด้วยดินฟ้าอากาศ และความประพฤติที่อยู่ที่กินของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีวิญญาณจะขับไล่ได้ เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีจึงไม่ได้มีประโยชน์อันใด คำซึ่งบอกเล่าในการพระราชพิธีที่ทำนี้ มีเรื่องราวอันเป็นที่พิลึกพึงกลัวเป็นอันมาก เป็นต้นว่าคนที่เข้ากระบวนแห่และหามพระพุทธรูป และพระสงฆ์เดินไปกลางทางก็ล้มลงขาดใจตาย ที่กลับมาถึงบ้านแล้วจึ่งตายก็มีมาก และตั้งแต่ตั้งพิธีแล้วโรคนั้นก็ยิ่งกำเริบร้ายแรงหนักขึ้น ด้วยอากาศยิ่งร้อนจัดหนักขึ้นตามธรรมดาฤดู คนทั้งปวงก็พากันลงว่าเพราะการพิธีนั้นสู้ผีไม่ได้ผีมีกําลังมากกว่า ตั้งแต่ทําพิธีอาพาธพินาศในปีมะโรงโทศกนั้นไม่ระงับโรคปัจจุบันได้ ก็เป็นอันเลิกกันไม่ได้ทําอีกต่อไป คงอยู่แต่พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ตามธรรมเนียม ถึงเมื่อปีระกาเอกศกในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโรคปัจจุบันหนามากก็ไม่อาจทําพิธีนี้ ใช่จะเป็นด้วยคิดเห็นว่าความคิดที่จะอาศัยพระพุทธวจนะ ซึ่งมาในอาฏานาฎิยสูตรไม่ต้องกันกับเหตุการณ์ที่เป็นขึ้นดังเช่นกล่าวมา เลิกยกเว้นเสียด้วยไม่เป็นที่ชอบใจคนทั้งปวง คนทั้งปวงถือว่าการที่ทําพิธีนั้น เหมือนไปยั่วไปผัดล่อให้ผีมีความโกรธคิดเอาชนะมากไป เท่ากับคนชั้นหลังๆ คิดเห็นว่ากินขนมจีนน้ำยาในเวลาที่โรคปัจจุบันชุกชุมเหมือนอย่างไปผัดไปล่อช้างน้ำมันฉะนั้น

การพระราชพิธีอาพาธพินาศที่เคยทํามานั้น ก็คล้ายคลึงกันกับพิธีสัมพัจฉรฉินท์ที่ทําอยู่ทุกปี เป็นแต่มีเพิ่มเติมขึ้นบ้างคือเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต มาตั้งเตียงพระมณฑลที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วย ในวันแรม ๑๕ ค่ำเวลาเช้า มีสรงพระมุรธาภิเษกที่ชาลาข้างตะวันออกแห่งพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเวลานั้นเรียกว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานตลอดไป แล้วแบ่งพระสงฆ์เป็นพวกๆ มีกระบวนแห่พระพุทธรูปในฝั่งตะวันออกนี้เป็นสามกระบวน กระบวนที่หนึ่งพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตทรงยานมาศ มีรายกระบวนต่อไปดังนี้ ธงหน้า ๑ ธงนำริ้ว ๒ ธงฉาน ๒ ธงจีน ๓๐ นุ่งกางเกงแดง เสื้อเสนากุฎ หมวกหนัง คู่แห่นุ่งสองปักลาย เสื้อครุย ลอมพวก หน้า ๔๐ หลัง ๒๐ เครื่องสูงสำรับหนึ่ง ๑๐ บังสูรย์ ๑ บังแทรก ๖ นุ่งกางเกงยก เสื้อมัสรู่ คาดผ้าปัก คู่เคียง ๑๐ เกณฑ์ขุนนางผู้น้อยตลอดลงไปถึงหลวงป้อม แตรงอน ๑๐ แตรฝรั่ง ๔ สังข์ ๑ เป็น ๑๕ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ ปี่กลองมลายูสำรับหนึ่ง ๖ คน พิณพาทย์ ๓ วง หามสองผลัดเป็นคน ๓๖ คน ปืน ๕๐ กางเกงปัศตูแดงเสื้อดํา หมวกขาว ดาบ ๕๐ เสื้อเขียวตะแบงไหล่ ผ้าลาย หามยานมาศสองผลัด ๘๐ นุ่งกางเกงปัศตูแดง คาดผ้าลาย หามวอพระสงฆ์ ๕ วอ สองผลัด ๔๐ คน ยกบาตรน้ำบาตรทรายอย่างละ ๕ บาตร สองผลัด ๒๐ คน นุ่งกางเกงดำลำพู รวมคนในกระบวนที่หนึ่งนี้ ๔๔๓ คน พระราชาคณะขี่วอตามกระบวนประน้ำมนต์โปรยทราย ๕ รูป เดินกระบวนออกจากประตูวิเศษชัยศรี เลี้ยวลงไปออกประตูท่าพระ เลี้ยวขึ้นตามถนนริมกําแพงพระนครข้างนอก จนถึงป้อมพระสุเมรุทางหน้าบ้านพระยาบําเรอภักดิ์ แต่พระยาบําเรอภักดิ์ครั้งนั้นจะตั้งบ้านเรือนอยู่แห่งใดก็ไม่ได้ความ จะกลับเข้าในพระนครทางประตูใดก็ไม่ปรากฏ พิเคราะห์ความในหมายนั้นดูเหมือนว่าเมื่อถึงบ้านพระยาบำเรอภักดิ์แล้ว เดินตามถนนลงมาหน้าพระราชวังบวรฯ ศาลาสารบาญชีหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ไปหยุดที่วัดพระเชตุพน จะกลับเข้าพระราชวังทางใดก็ไม่ได้ความ สั่งสั้นกันอยู่เพียงเท่านั้น อีกกระบวนหนึ่งเป็นกระบวนพระชัย ก็มีกระบวนแห่คล้ายกันกับพระแก้วมรกต คือมีธงหน้าธงนำริ้วยกธงจีน คู่แห่ลดลง หน้า ๓๐ หลัง ๒๐ เครื่องสูงกลองชนะคงที่ คู่เคียงลดลงเพียง ๖ คน แตรงอนลดลงเพียง ๖ คน แตรฝรั่งคู่ ๑ สังข์ ๑ พิณพาทย์ลดลงเป็น ๒ วง แต่ปืนกลับขึ้นไปเป็น ๖๐ กระบอก ดาบเท่ากัน เสลี่ยงพระพุทธรูปว่าใช้เสลี่ยงงาหามสองผลัด ๑๖ คน วอเท่ากัน คนยกบาตรน้ำบาตรทรายก็เท่ากัน รวมคนในกระบวนที่สองนี้ ๓๑๗ คน แต่พระสงฆ์ที่ตามมีจํานวนมากขึ้น คือพระราชาคณะขี่วอ ๕ รูป พระอันดับ ๑๕ รูป รวมเป็น ๒๐ รูป เดินออกประตูวิเศษชัยศรีเหมือนกัน ว่าเลี้ยวลงประตูท่าพระ ดูเหมือนหนึ่งว่าจะออกไปนอกกําแพง แต่อย่างไรหวนกลับมาเข้าประตูสกัดเหนือไปออกประตูสกัดใต้ แล้วเลี้ยวขึ้นถนนท้ายสนม เลี้ยวมาทางหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์กลับเข้าประตูวิเศษชัยศรี พิเคราะห์ดูจำนวนพระสงฆ์มากขึ้น แต่ระยะทางกลับสั้นไปกว่ากระบวนพระแก้วมรกต ไม่รู้ที่จะเอายุติอย่างไร อีกกระบวนหนึ่งนั้นเป็นกระบวนพระห้ามสมุทรเท่ากันเหมือนกับกระบวนพระชัยมาก แต่ยังไม่เว้นที่แปลกทีเดียว คือมีธงจีนเติมขึ้น ๑๐ คัน กลองชนะลดลงเป็น ๑๐ แตรงอนคงแต่ ๒ คู่ แตรฝรั่งและสังข์เท่ากัน นอกนั้นก็เหมือนกับกระบวนก่อนทั้งสิ้น เว้นแต่คนหามวอพระเลยสูญไปข้างไหนไม่ทราบ ไม่เห็นมีบัญชี รวมคนในกระบวนที่สามนี้ ๒๘๓ คน มีวอพระสงฆ์ ๕ วอ พระอันดับ ๑๕ รูป กระบวนแห่และพระสงฆ์เดินออกจากประตูวิเศษชัยศรีไปเลี้ยวที่ศาลาสารบาญชี คือที่ตรงศาลหลักเมืองออกมา แล้วลงถนนโรงม้าคือที่ศาลายุทธนาธิการเดี๋ยวนี้ แต่เดิมเป็นโรงม้าก้าวก่ายเกะกะกันไปทั้งสิ้น แล้วไปถนนเสาชิงช้า ถนนรี ถนนขวาง ที่เรียกถนนรี ถนนขวางนี้จะเป็นถนนอันใดก็ไม่ได้ความ เห็นจะเป็นบํารุงเมืองเฟื่องนครนั้นเอง ดูกระบวนนี้อยู่ข้างต้องเดินมากกว่ากระบวนอื่นหมด ยังอีกกระบวนหนึ่งสำหรับฟากข้างโน้น เกณฑ์ให้เจ้าสามกรม คือ กรมหมื่นนราเทเวศร์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสกรมพระราชวังหลังเป็นผู้จัดกระบวน เห็นจะเป็นข้าไทในกรมพระราชวังหลังทั้งสิ้น ด้วยในขณะนั้นกรมพระราชวังหลังพึ่งสิ้นพระชนม์ไม่ช้านัก เจ้าสามกรมซึ่งเป็นลูกก็เป็นคนมีกําลังและอํานาจใหญ่ คงจะรวบรวมผู้คนไว้ได้ไม่แตกแตนร่วงโรยไปได้มากนัก จ่ายแต่คนถือปืน ๕๐ ถือหอกดาบ ๕๐ เพิ่มเติมไปให้จำนวนพระสงฆ์พระราชาคณะ ๕ อันดับ ๑๔ รวมเป็น ๑๙ รูป ให้แห่ประน้ำมนต์ในพระราชวังหลัง และถนนในพระนครฟากตะวันตก เป็นจำนวนคนที่เข้ากระบวนแห่ทั้งสี่กระบวนพันร้อยสี่สิบสามคน พระสงฆ์ ๖๔ รูป แต่ครั้นเมื่อตรวจดูบัญชีรายเกณฑ์เลี้ยงพระเพลก็โคมไปอีกใบหนึ่งต่างหาก ว่าพระสงฆ์ฉันที่พระสังฆราช ๘ ที่ พระวันรัต ๗ ฉันที่ป้อมตรงวัดสระเกศ ๑๕ ฉันที่วัดระฆัง ๑๕ พระเหลือนั้นสูญหายไปไหนก็ไม่เห็นกล่าวถึง การพิธีกลางเมืองและปิดประตูเมืองก็เหมือนพิธีสัมพัจฉรฉินท์ทุกวันนี้ เป็นแต่มีกําหนดหม้อน้ำมนต์โรงละ ๙ ใบ โรงพิธี ๑๐ แห่ง เป็นหม้อน้ำมนต์ ๙๐ ใบ บังคับว่าวันแรม ๑๕ คํ่า ให้มาคอยพร้อมที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มงคลพิสมรกระบองเพชรก็ดูใช้น้อยกว่าหมายรับสั่งการพิธีสัมพัจฉรฉินท์ในปัจจุบันนี้ แต่มียันต์กระดาษไทยเติมขึ้นอีก ๓๕๐ แผ่น สำหรับเที่ยวปิดตามตําหนักในวัง มีแผ่นดีบุกบริสุทธิ์ในหมายว่าให้ส่งไปที่พระองค์เจ้าพระวัดพระเชตุพน คือกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ให้ราชบัณฑิตไปเป็นผู้ลง แล้วส่งมากรึงพระแกลพระทวาร มีสายสิญจน์วงรอบพระที่นั่งและตําหนักเจ้านายในพระบรมมหาราชวัง แต่ในท้ายร่างรับสั่งนี้มีเนื้อความว่า ให้ทําพระราชพิธีระงับความไข้อย่างปีมะแมตรีศกนั้น แต่ยิงปืนและแห่พระชัยพระสงฆ์ประน้ำโปรยทรายในพระราชวังหลวงนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเสีย การแต่ก่อนจะทํามากกว่านี้อีกอย่างไรไม่ทราบเลย แต่หมายพิธีสัมพัจฉรฉินท์ทุกวันนี้ใช้หมายกรมวัง พิธีอาพาธพินาศนี้ใช้หมายกรมเมือง เจ้าพระยายมราชรับพระราชโองการ จะเป็นด้วยมีแห่และเกณฑ์ให้ปราบลู่ปราบทางอย่างไร จึงได้กลายเป็นกรมเมืองไป การพิธีอาพาธพินาศนี้คงจะไม่มีสืบไปภายหน้า นับว่าเป็นพิธีที่เลิกแล้วจึงมิได้นับเข้าในพระราชพิธีประจําเดือนทั้งปวง

การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ซึ่งทําอยู่ในปัจจุบันนี้ เริ่มตั้งน้ำวงด้ายในวันแรม ๑๑ ค่ำ พราหมณ์ได้เข้าโรงพระราชพิธีแต่วันแรม ๑๑ ค่ำ แต่ที่จริงนั้นพราหมณ์ไม่ได้ทําพิธีวันแรม ๑๑ ค่ำ คงทํา ๑๒ ค่ำ หมายกันไปหลวมๆ อย่างนั้นเอง

แต่พิธีพราหมณ์ในการสัมพัจฉรฉินท์นี้เป็นพิธีใหญ่ มีโหมกุณฑ์ พระมหาราชครูว่าแต่ก่อนเคยโหมกุณฑ์ทั้งพิธีจองเปรียงและพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้งดการโหมกุณฑ์ในพิธีจองเปรียงเสีย คงอยู่แต่พิธีสัมพัจฉรฉินท์ การที่ทําพิธีโหมกุณฑ์เดี๋ยวนี้ คงเป็นมีแต่บรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร กับพิธีสัมพัจฉรฉินท์ประจําปีละครั้ง และเมื่อลงสรงสยามมกุฎราชกุมารได้ให้มีโหมกุณฑ์อีกครั้งหนึ่ง โรงพระราชพิธีแต่ก่อนเคยปลูกที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สุดแต่จะทําพิธีอันใดก็ปลูกใหม่ทุกคราว ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างโรงพิธีขึ้นเป็นฝาก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องเคลือบขาว มีช่อฟ้าใบระกา พระราชทานชื่อว่าหอเวทวิทยาคม สำหรับทําพิธีไม่ต้องปลูกใหม่ ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ย้ายมาจากหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มาอยู่ที่มุมโรงกระษาปณ์เก่าจนทุกวันนี้ การที่จัดโรงพระราชพิธีนั้นมีคร่าวไม้ติดเสาถึงกันทุกเสาตามตําราพราหมณ์เรียกว่าพรหมโองการ แล้วจึงพาดผ้าโตรทวาร ในหอราชพิธีนั้นมีเตียงสามเตียง ตั้งลดเป็นลำดับลงมาตามแบบที่ตั้งพระของพราหมณ์คล้ายกันทุกพิธี ชั้นต้นตั้งพระอิศวร พระนารายณ์ พระมหาพิฆเนศวร และพระอิศวรทรงโค ซึ่งมีพระอุมาทรงอยู่ด้วย ม้ารองลงมาตั้งเทวรูปนพเคราะห์ ม้าที่สามตั้งเบญจคัพย์กลดสังข์ เตาซึ่งสำหรับโหมกุณฑ์นั้นอยู่ที่พระคลังในซ้าย เป็นเตาทองแดง ตั้งในโรงพิธีนั้นด้วย แล้วมีหม้อกุมภ์ตั้ง ๙ ใบ หม้อกุมภ์นั้น หม้อข้าวเราไทยๆ นี้เอง ไม่แปลกประหลาดอันใด

การที่ทําน้ำมนต์ด้วยหม้อข้าวนี้ เป็นแบบมาจากอินเดียแน่แท้ ข้างพราหมณ์ก็คือหม้อทองเหลืองซึ่งหุงข้าวและตักน้ำที่ได้กล่าวแล้วในเดือนสาม ข้างส่วนพระสงฆ์ก็ใช้บาตรๆ นั้นก็คือหม้อข้าวเป็นลัทธิประเทศเดียวกัน เป็นแต่ไม่ใช้หุง ใช้สำหรับขอ ตามลัทธิที่ท่านค้นคว้าตำรับตำรากันก็ได้ความว่าเล็กๆ ขนาดหม้อข้าวใหญ่ๆ ที่โตขึ้นไปเดี๋ยวนี้สำหรับรับของที่ห่อใบตองเป็นต้น เหตุด้วยอาหารของเรากับประเทศอินเดียห่างไกลกันมาก ซึ่งจะเห็นว่าทําบาตรโตเพราะตะกลามนั้นก็คงจะเป็นบ้างในบางจําพวก แต่บาตรที่ท่านใช้กันแต่ก่อนก็ใช้ตักน้ำเหมือนกัน เช่นกับที่มีเรื่องปรากฏมาว่าพระพุทธเจ้าจะเสวยน้ำให้นำบาตรไปทรงตัก เมื่อบาตรใช้ตักน้ำฉันเช่นนั้นแล้วก็คงใช้ทําน้ำมนต์ด้วยบาตรได้ แต่บาตรนั้นยักลัทธิเสีย ไม่ใช้ทองเหลืองเหมือนฮินดูพราหมณ์ทั้งปวงซึ่งใช้กันอยู่เป็นพื้นเมือง ใช้ดินและเหล็กเป็นภาชนะที่พระสงฆ์จําจะต้องมีองค์ละใบเหมือนพวกฮินดูต้องมีหม้อข้าวคนละใบ จึงได้ใช้บาตรทําน้ำมนต์มาจนทุกวันนี้

หม้อกุมภ์ทั้ง ๙ ใบนั้นตั้งอยู่กลางใบหนึ่ง รอบ ๘ ใบ ในหม้อกุมภ์นั้นมีเงินเฟื้องหนึ่งทุกๆ หม้อ พิธีที่ทําทุกวันนั้น กําหนดทําตั้งแต่เวลา ๘ ทุ่ม การพิธีพราหมณ์ทั้งปวงที่จะทําแล้วมักจะทํากลางคืนดึกๆ ทุกพิธี เว้นไว้แต่ที่เป็นการจําเป็นจะต้องทํากลางวัน เช่นวันพิธีตรียัมพวายกับตรีปวายต่อกันเป็นต้น ชะรอยว่าท่านผู้ต้นตำราจะเป็นค้างคาวอย่างเอก ถ้าพระมหาราชครูเป็นกาจะได้ความเดือดร้อนหาน้อยไม่ เริ่มทําพิธีอวิสูทธ์อัตมสูทธ์ชำระตัว ตามแบบพิธีทั้งปวงและบูชา ๘ ทิศอ่านตํารับ เมื่อจบลงแล้วบูชาพระอิศวรแล้วจึงได้บูชาเบญจคัพย์เอาน้ำรินลงในถ้วย อ่านตํารับบูชากลดสังข์บูชากุมภ์แล้ว จึงได้เอาน้ำผสมกันกรอกในกลดในสังข์และในหม้อกุมภ์ทั้ง ๙ หม้อ หม้อกุมภ์ใบกลางนั้นเป็นของพระมหาราชครูไปเก็บน้ำนั้นไว้ถวายในวันทรงเครื่องใหญ่และวันพิธีทั้งปวง อีก ๘ หม้อก็แจกกันไปตามเจ้ากรมปลัดกรม เป็นน้ำที่ไปเก็บไว้สำหรับถวายและเที่ยวรดใครๆ ต่อนั้นไปก็บูชากุมภ์ใบไม้โหมกุณฑ์ที่เรียกว่าใบไม้สมมิทธิมีในหมายรับสั่งมากอย่าง คือ ใบรัก ใบมะม่วง ใบตะขบ ใบยอ ใบขนุน ใบมะเดื่อ ใบเงิน ใบทอง ใบเฉียงพร้านางแอ ใบมะผู้ ใบระงับ ใบพันงู สิ่งละ ๕๐ ใบ มะกรูด ๑๕ ผล ส้มป่อย ๑๕ ฝัก แต่ที่ได้ใช้โหมกุณฑ์อยู่เดี๋ยวนี้แต่สามอย่าง คือใบตะขบ ๙๖ ใบทอง ๓๒ ใบมะม่วง ๒๕ ใบตะขบนั้นสมมติว่าเป็นที่หมายแทนฉันวุติโรค ๙๖ ประการ ใบทองแทนทวดึงสกรรมกรณ ๓๒ ประการ ใบมะม่วงว่าแทนปัญจวีสมหาภัย ๒๕ ประการ จำนวนใบไม้ก็ไม่ถูกกันกับในหมายจะเป็นคนละเรื่องหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ใบไม้ที่กล่าวมาข้างต้นจะสำหรับทําพิธีอย่างหนึ่ง แต่พราหมณ์จะตื้นเสียเลยไม่มีตํารา ตกลงเป็นเก็บมากองไว้เปล่าๆ แต่ใบไม้สามอย่างซึ่งกล่าวทีหลังนั้นทําเป็นสามมัด ถ้าในเวลาการบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร พระมหาราชครูนํามาถวายให้ฟาดพระองค์เวลาสวดมนต์เย็น แต่การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ไม่ได้นำมาถวาย เป็นแต่ทําไปตามเคย ที่เตากุณฑ์นั้นมีดินและมูลโครองในนั้น แล้วมีเต่าทองตัวหนึ่งหนักสองสลึงเฟื้อง สำหรับวางในกลางกองกุณฑ์ ฟืนที่สำหรับจะใช้โหมกุณฑ์นี้ใช้ไม้พุทรายาวดุ้นละ ๙ นิ้ว มัดละ ๙ ดุ้น วันละ ๒๐ มัด เมื่ออ่านเวทติดเพลิงถึงกําหนดแล้ว เอาใบไม้ชุบน้ำผึ้งรวงและน้ำมันดิบโหมกุณฑ์ เมื่อโหมกุณฑ์เสร็จแล้วก็เป็นเสร็จการพระราชพิธีส่วนวันนั้น แต่ยังไม่ได้ดับกุณฑ์ ต่อวันเสร็จพระราชพิธีจึงได้อ่านเวทดับกุณฑ์ด้วยน้ำสังข์ ประโยชน์ของพราหมณ์ที่ได้ในการพระราชพิธีนี้ คือเต่าทองสำหรับโหมกุณฑ์หนักทองสองสลึงเฟื้อง เงินทักษิณบูชา ๖ บาท เงินหม้อกุมภ์หม้อละเฟื้อง เป็นเงินบาทเฟื้อง ผ้าขาวห่อตํารับผืนหนึ่ง ผ้าพันหม้อกุมภ์ผืนหนึ่ง รองนพวรรคผืนหนึ่ง เบญจคัพย์ผืนหนึ่ง รองอาสนะพระผืนหนึ่ง รองอาสนะพราหมณ์ผืนหนึ่ง ผ้าโตรทวาร ๔ ผืน ผ้านุ่งผืนหนึ่ง ผ้าห่มผืนหนึ่ง หม้อข้าวเชิงกรานสำหรับหุงข้าวบูชาเทวดา หม้อคะนนใหญ่สำหรับน้ำใช้หม้อหนึ่ง หม้อน้ำมนต์จุ ๑๒ ทะนานหม้อหนึ่ง นมเนย ข้าวเปลือกรองหม้อ ข้าวสารสำหรับหุงบูชาเทวดา มะพร้าวอ่อน ส่วนเงินที่แบ่งปันกันในพราหมณ์ พระมหาราชครูได้กึ่งตําลึง พระครูอัษฎาจารย์ได้บาทเฟื้อง ปลัดสองคนๆ ละหนึ่งบาท ขุนหมื่นสี่คนๆ ละสองสลึง หมดเงินเจ็ดบาทเฟื้อง

ส่วนการพระราชพิธีสงฆ์ทําที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นนิตย์ เว้นไว้แต่มีพระบรมศพหรือพระศพอยู่บนนั้น จึงได้ย้ายไปทําที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามก็มี พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ก็มี พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยบ้าง พระที่นั่งอนันตสมาคมได้เคยมีสองครั้ง การจัดตั้งพระแท่นพระมณฑลแต่ก่อนก็ดูโหรงๆ พระพุทธรูปก็อยู่ในใช้แต่พระบรมธาตุ พระชัย พระห้ามสมุทร พระปริยัติธรรม เว้นไว้แต่การอาพาธพินาศจึ่งเชิญพระแก้วมรกตมาตั้งด้วย พระเต้าน้ำพระพุทธมนต์ก็มีปรากฏอยู่แต่พระเต้าเบญจคัพย์ พระมหาสังข์ ๓ พระเต้าปทุมนิมิตของเก่า ๔ หม้อดินกลีบบัว พระเต้าทอง พระเต้าเงิน นอกนั้นก็เป็นหม้อทองเหลือง บาตรเหล็กและเต้าทองเหลืองสำหรับรดน้ำช้างม้า พระแสงที่ใช้ก็ดูน้อยกว่าเดี๋ยวนี้ เพราะพระแสงประจํารัชกาลยังไม่มีใช้ คงใช้แต่พระแสงสำหรับแผ่นดิน คือ อัษฎาวุธ จักร ตรี พระแสงหอก พระแสงง้าว ธงกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์ พระกรรภิรมย์และเครื่องต้นเครื่องพิชัยสงครามคงตัวยืนอยู่เหมือนทุกวันนี้ แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มเติมขึ้นมาก ดูเหมือนหนึ่งพระแท่นมณฑลจะเปลี่ยนไปคนละท่ากับแต่ก่อนทีเดียว พระบรมธาตุระย้ากินนรนั้นก็ทรงหล่อรูปพระเจดีย์ถมตะทองครอบ แต่ก่อนมาการพระราชพิธีเคยเชิญพระแก้วมรกตมาตั้งอยู่บ้างนั้น ทรงเห็นว่าแต่ก่อนพระแก้วตั้งอยู่ต่ำจะยกจะรื้อก็ค่อยง่าย แต่ถึงดังนั้นก็เป็นของหนักยกไปมาน่ากลัวเป็นอันตราย ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทําพระเบญจาตั้งบุษบกสูงขึ้นไปแล้ว ก็เลยเป็นอันเลิกไม่ได้เชิญมาเข้าพระราชพิธีต่อไป ด้วยจะยกขึ้นลงลำบาก มีแต่สายสิญจน์โยงออกไปจากพระแท่นมณฑลถึงที่บุษบกด้วยทุกครั้ง ในการพระราชพิธีใหญ่ๆ จึงโปรดให้เชิญพระพุทธบุษยรัตนออกมาตั้งเป็นประธานในการพระราชพิธี แทนพระแก้วมรกต ส่วนพระสำหรับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พระนากสวาดิเรือนแก้วซึ่งได้มาแต่เมืองเวียงจันท์ พระในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พระแก้วเชียงแสนเป็นพระของเดิม พระในแผ่นดินปัจจุบันนี้ใช้พระพุทธบุษยรัตนน้อย แต่การซึ่งตั้งพระแก้วประจำแผ่นดินนี้ไม่เป็นสลักสำคัญอันใด ไม่ได้ตั้งมาแต่แรกเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินโปรดพระองค์ใดถึงได้มาภายหลังก็ตั้งเพิ่มเติมขึ้น พระที่เป็นสำคัญในการพระราชพิธีนั้น คือพระชัยทั้ง ๕ รัชกาล และพระชัยเงินองค์น้อยของเดิมในพระพุทธยอดฟ้า พระชัยเนาวโลหน้อยซึ่งสำหรับเสด็จประพาสหัวเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างแล้วพระราชทานข้าพเจ้าเมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต และพระเจดีย์ทองคําบรรจุพระบรมธาตุมาแต่เมืองลังกาใหม่ พระห้ามสมุทรทอง พระห้ามสมุทรเงิน พระธรรมสามคัมภีร์ พระเต้าที่ตั้งนั้นคือพระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ เบญจคัพย์น้อย เบญจคัพย์ห้าห้อง พระเต้าปทุมศิลาแดง พระเต้าปทุมยอดเกี้ยว พระเต้าศิลาลงอักษรสอง พระครอบพระกริ่ง พระมหาสังข์ห้า พระมหาสังข์สาม พระเต้าห้ากษัตริย์ พระขันหยกตั้งเชิงเทียนทองสำหรับพระราชพิธี พระเต้าปทุมนิมิต พระเต้าศิลากลีบบัว พระเต้าทองขาวชาวที่ พระเต้านพเคราะห์ พระเต้าเทวบิด พระเต้าไกรลาส พระมหามงกุฎ พระมหาชฎา เดิมใช้พระชฎาเดินหน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทูลขอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นไปตั้งพิธีในพระบวรราชวัง จึงได้ใช้พระชฎาพระกลีบแทน ครั้นเมื่อได้พระชฎาเดินหนคืนลงมาก็ไม่เปลี่ยนพระชฎาพระกลีบ คงใช้พระชฎาพระกลีบไปตามเดิม ฉลองพระองค์เครื่องต้น ฉลองพระองค์พิชัยสงคราม พระมาลาเส้าสูงประดับเพชร พระมาลาเบี่ยง หีบพระเครื่องพิชัยสงคราม ขวดน้ำมันพิชัยสงคราม ตลับพระธํามรงค์ หีบเทวรูป เทวดาเชิญหีบพระราชลัญจกร และเชิญธารพระกรเทวรูป ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ พระแสงกั้นหยั่น พระแสงศรสาม พระแสงจักร พระแสงตรีเพชร พระแสงปืนนพรัตน์ พระแสงคาบค่าย พระแสงใจเพชร พระแสงญี่ปุ่นฟันปลาประดับพลอยแดง พระแสงแฝด พระแสงทรงเดิม พระแสงฝักทองเกลี้ยงประดับเพชร พระขรรค์ชัยศรี พระขรรค์เนาวโลหะ พระแส้หางช้างเผือก พระแส้จามรี พระแสงของ้าว พระแสงขอไม้เท้าคร่ำทอง ชนักต้น พระแสงด่อน พระแสงหอกเพชรรัตน์ และพระแสงหอกอื่นอีกสามองค์ พระแสงง้าว พระแสงทวน พระแสงดาบโล่ถมตะทองอย่างละสี่ละสี่ พระแสงปืนคาบชุด ๑ พระแสงคาบศิลา ๑ พระแสงดาบ ๒ พระกรรภิรมย์เศวตฉัตร ๙ ชั้นที่สำหรับถวายในวันบรมราชาภิเษก ธงราชกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์คู่ ๑ ธงบัวคู่ ๑ ทั้งนี้ผูกเสาพระแท่นทั้งสี่ ตรงหน้าพระพุทธรูปตั้งพระสุพรรณบัฏ ดวงพระชันษา และหีบเครื่องพิชัยสงครามอีก ๒ หีบ ที่ฐานเฉลียงรองพระแท่นมณฑลนั้นตั้งพระเต้าก้าไหล่ทอง พระเต้าเงินสำหรับสรงเจ้าโสกันต์ และพระเต้าน้ำเงิน น้ำสระแก้ว สระเกศ สระคา สระยมนา สำหรับสรงมุรธาภิเษก กับหม้อทองเหลืองที่สำหรับพระสงฆ์ทําน้ำมนต์ เมื่อดับเทียนชัยมีจํานวนหมายว่า ๓๐ แต่หายหกตกหล่นไปไหนเหลืออยู่เล็กน้อย เต้าทองเหลืองสามลอนสำหรับรดช้างม้า ในใต้ฐานเฉียงนั้นบรรจุกระบองเพชรมีจำนวน ๑๐๐๐ พิสมรดอกเล็ก ๑๐๐๐ สาย พิสมรใหญ่สำหรับช้าง ๑๐๐ สำหรับม้า ๑๐๐ มงคลเข้าบรรจุหีบไว้หลังพระแท่นตามจำนวนเจ้านาย ข้าราชการ มงคลเป็นชั้นๆ ตามบรรดาศักดิ์ ข้างเหนือพระแท่นมณฑลตั้งโต๊ะจีนไว้พระนิรันตรายทองคํา ข้างใต้พระแท่นมณฑลตั้งโต๊ะจีนไว้พระสยามเทวาธิราช กับเทวรูปอีก ๔ องค์ และพระมหาสังข์ พระเต้า ต่อโต๊ะพระนิรันตราย โต๊ะพระสยามเทวาธิราชออกไป ตั้งปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ทองเหลืองรางเกวียน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหล่อขึ้นเป็นสังเขป แทนปืนใหญ่ซึ่งมีชื่ออย่างเดียวกันนี้ สำหรับใช้ยิงและตั้งในการพระราชพิธีทั้งปวง มีการหล่อพระชัยวัฒน์และยกพระมหาเศวตฉัตรเป็นต้น

มุขตะวันตกตรงหน้าพระแท่นมณฑลตั้งพระแท่นพระสงฆ์ สวดภาณวาร ตรงหน้าพระแท่นลงมาตั้งกระโจมเทียนชัย โยงสายสิญจน์ตั้งแต่พระแท่นมณฑลไปจนถึงเทียนชัย และพระแท่นพระสวดเป็นสองสาย สายสิญจน์ที่เรียงพระแท่นต่อพระแท่นถึงกันนี้ถือกันว่า ถ้าผู้ใดได้ลอดเป็นระงับเสนียดจัญไร เพราะฉะนั้นการเกศากันต์ในพิธีตรุษจึงไม่ต้องหาฤกษ์ ถึงจะต้องวันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ ร้ายแรงประการใดก็ใช้ได้ทั้งสิ้น เทียนชัยนั้นฟั่นที่วัดพระเชตุพน เป็นพนักงานพระครูลงเครื่องได้ฟั่น และลงเลขยันต์ตามตำราหลวง กําหนดด้ายไส้เทียน ๑๐๘ เส้น สีผึ้งหนัก ๑๐ ชั่ง ยาว ๓ ศอก ที่ผนังด้านตะวันตกท้ายอาสน์ ตั้งเตียงโถงสำหรับพระราชาคณะนั่งปรกเตียงหนึ่ง ข้างเตียงนั้นโยงสายสิญจน์ลงไปสำหรับราชบัณฑิตนั่งภาวนาชักประคำ ตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง จนเสร็จการพระราชพิธี ที่เสากลาง[๓]ตรงมุขตะวันตกโยงสายสิญจน์ออกทั้งสองข้าง ปล่อยลงข้างเสากลางนั้นสองเส้น ที่เสามุมตรงรักแร้ข้างละเส้นสำหรับพระถือสวดมนต์ แต่ส่วนสายที่มาข้างรักแร้ตะวันตกเฉียงใต้นั้นเลี้ยวมาตามฉาก จนถึงเสากลางมุมตะวันตกสำหรับโยงมงคลเจ้าโสกันต์ และวงสายสิญจน์รอบพระราชมนเทียรทั่วทุกแห่ง และวงสายสิญจน์กรองด้วยหญ้าคารอบกําแพงพระราชวังและกําแพงพระนคร

พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้น มีจํานวน ๖๘ รูป เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่เรียกว่าแม่การ ๘ รูป พระราชาคณะยกและฝ่ายวิปัสสนาธุระสำหรับนั่งปรก ๑๒ รูป พระครูคู่สวดในกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ๒ ในกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ๒ สวดธรรมจักร ในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ที่พระสังฆราช ๒ ในสมเด็จพระวันรัต ๒ สวดมหาสมัยสูตร พระพิธีธรรม ๔๐ พระพิธีธรรมนี้แต่เดิมก็เป็นพระอนุจรถือตาลิปัตรใบตาลตามธรรมเนียม แต่เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตอนกลางๆ แผ่นดินทรงพระราชดําริเห็นว่า พระพิธีธรรมต้องถูกราชการสวดพระราชพิธีในพระราชวังอยู่เสมอตลอดลงไปถึงสวดพระจัตุเวททุกวันพระ จึงโปรดให้ทําตาลิปัตรพื้นแพรติดริ้วไหมทอง ที่นมตาลิปัตรประดับมุกว่าพระพิธีธรรมเป็นสี่สี คือสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีขาว สำรับหนึ่งใช้สีต่างกันทั้งสี่ พระสงฆ์พิธีธรรมนั้นจ่ายไว้ตามวัด ให้จัดฝึกซ้อมกันสำหรับรับราชการเป็นเหมือนหนึ่งตําแหน่งฐานา คือเดิมมีวัดมหาธาตุสำรับ ๑ วัดหงส์สำรับ ๑ วัดพระเชตุพนสำรับ ๑ วัดสุทัศน์สำรับ ๑ วัดโมฬีโลกสำรับ ๑ วัดอรุณสำรับ ๑ วัดราชบุรณะสำรับ ๑ วัดระฆังสำรับ ๑ วัดสระเกศสำรับ ๑ วัดราชสิทธิ์สำรับ ๑ ภายหลังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีสวดภาณยักษ์เปลี่ยนทํานองเป็นสรภัญญะวัดบวรนิเวศน์ขึ้นอีกสำรับ ๑ จึงได้ยกพระพิธีธรรมวัดโมฬีโลกออกเสียสำรับ ๑ แต่ยังไม่มีคู่ซึ่งจะสวดภาณพระ จึงโปรดให้ถามดูตามพระว่า วัดใดจะรับอาสาสวดภาณพระอย่างธรรมยุติกาให้เข้าคู่กันได้บ้าง ครั้งนั้นวัดสุทัศน์รับอาสาสวด วัดสุทัศน์จึงได้สวดอย่างธรรมยุติกาติดมาจนทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ข้างจะโปรดมาก ถ้าสวดภาณยักษ์ภาณพระจบที่ ๑ ที่ ๒ จบใดดีก็ได้รางวัล แล้วได้ขึ้นภาณยักษ์จบแรกเปลี่ยนกันอยู่ในสามวัด คือ วัดมหาธาตุ วัดระฆัง วัดหงส์ จบที่ ๓ ที่ ๔ เป็นวัดบวรนิเวศน์และวัดสุทัศน์ ทรงฟังอยู่จนถึงจบที่ ๕ ที่ ๖ บ้างทุกปี พระสงฆ์นั่งสวดมนต์ พระราชาคณะ ๒๐ รูปนั่งทางผนังมุขตะวันออกและมุขเหนือ พระครูและพระพิธีธรรมนั่งมุขตะวันตกเป็นสี่แถว แถวกลางหันหลังเข้าหากัน

และการพระราชพิธีนี้มีโรงพิธีตั้ง ๘ ประตูเมือง และกลางพระนคร ๒ ตําบล คําที่ว่าพระนครในที่นี้ ไม่ได้กําหนดกําแพงที่กรุงตั้ง แต่ยกเมืองธนบุรีขึ้นเป็นกรุงเทพมหานคร ก่อกําแพงพระนครสองฟากน้ำ เอาแม่น้ำไว้กลาง อย่างเมืองพิษณุโลก โอฆบุรี ต่อมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยกวังข้ามมาอยู่ฝั่งตะวันออก ทรงพระราชดําริเห็นว่าการที่เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองเป็นช่องกว้างใหญ่รักษายาก และต้องลัทธิเขากล่าวว่าเป็นเมืองอกแตกไม่ถาวรยืนยาว อีกประการหนึ่งที่ปลายแหลมซึ่งตั้งพระราชวังขึ้นใหม่นี้ เป็นที่แม่น้ำอ้อมโอบเป็นคูอยู่เกือบครึ่งหนึ่งเป็นชัยภูมิอันดี จึงโปรดให้รื้อกําแพงฝั่งตะวันตกยกมาต่อก่อฝั่งตะวันออกโดยรอบ ขุดคลองบางลําพู คลองโอ่งอ่างเป็นคูพระนคร ด้านตะวันออกบรรจบแม่น้ำทั้งสองข้าง จึงน่าที่จะเข้าใจว่าตั้งโรงพิธี ๘ ประตูเมือง และโรงพิธีกลางเมืองนั้น น่าจะอยู่ฝั่งตะวันออกนี้ทั้งสิ้น แต่การพระราชพิธีนี้ไม่ได้เปลี่ยนมาตามกําแพงเมือง คงทําเป็นเมืองสองฟากน้ำอยู่อย่างแต่ก่อน โรงพิธีกลางเมืองฟากตะวันออกนี้ ตั้งที่วัดสุทัศน์ซึ่งถือกันว่าเป็นกลางเมือง จึงได้ทำเทวสถานและปักเสาชิงช้าในที่นั้น และวัดสุทัศน์ที่จะสร้างนั้นก็ว่าเป็นศูนย์กลางเมืองจึ่งได้สร้างวัดขึ้น แต่ที่จริงทำแผนที่อย่างใหม่นี้เห็นว่าไม่ตรงศูนย์กลางเมืองเลย การวัดเส้นเชือกและวางที่แต่ก่อนนี้ดูไม่มีตรงเลย จนที่สุดที่จะก่อสร้างขึ้นก็เบี้ยวๆ บูดๆ ทุกแห่ง เช่นโรงแสงและโรงม้าเป็นต้น แต่ที่วัดสุทัศน์นี้นับว่าเป็นกลางเมือง เมื่อยังไม่ได้สร้างวัดสุทัศน์ขึ้นก็ต้องปลูกโรง ครั้นเมื่อมีวัดสุทัศน์แล้ว ก็อาศัยศาลาวัดสุทัศน์ได้ เมื่อวัดสุทัศน์ยังไม่มี ใช้พระสงฆ์วัดมหาธาตุมาสวดมนต์ในที่นั้น ๒๐ รูป แต่ครั้นมีวัดสุทัศน์ขึ้นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังคงพระวัดมหาธาตุต้องเดินไปสวดมนต์ถึงวัดสุทัศน์ตามเดิม ประตูเมืองฝั่งตะวันออก ๔ ประตูนั้น ไม่ได้สวดที่ประตู เป็นแต่ชื่อว่าประตูเมือง คงขึ้นสวดบนป้อม ด้านเหนือป้อมพระสุเมรุ พระสงฆ์วัดสังเวชสวดมนต์ ๑๐ รูป ด้านตะวันออกเหนือป้อมมหากาฬ พระสงฆ์วัดสระเกศสวดมนต์ ๑๐ รูป ด้านใต้ป้อมมหาชัย พระสงฆ์วัดราชบุรณะสวดมนต์ ๑๐ รูป ด้านตะวันตกป้อมมหาฤกษ์ พระสงฆ์วัดพระเชตุพนสวดมนต์ ๑๐ รูป และฝั่งตะวันตกนั้นต้องปลูกโรง เพราะไม่มีที่อาศัย กำหนดให้ปลูกโรงกลางเมือง ขื่อกว้าง ๖ ศอก ยาว ๓ วา ๒ ศอก มีพาไลเฉลียงรอบ ยกพื้นในประธานสูงศอกคืบ พาไลเฉลียงศอกหนึ่ง เป็นหน้าที่กรมพระนครบาลปลูก โรงประตูเมืองอีกสี่โรงนั้น ขื่อกว้าง ๕ ศอก ยาว ๙ ศอก มีพาไลเฉลียงรอบ ยกพื้นในประธานศอกคืบ พาไลเฉลียงศอกหนึ่ง โรงทั้งสี่นี้กรมท่าโรง ๑ กรมนาโรง ๑ กรมวังโรง ๑ กรมเมืองก็ถูกอีกโรง ๑ โรงกลางเมืองฝั่งตะวันตกนั้นปลูกที่ถนนอาจารย์ พระสงฆ์วัดระฆังสวดมนต์ ๒๐ รูป ประตูด้านตะวันออกปลูกที่วัดอรุณราชวราราม พระสงฆ์วัดอรุณสวดมนต์ ๑๐ รูป ประตูด้านใต้ปลูกที่วัดโมฬีโลก พระสงฆ์วัดโมฬีโลกสวดมนต์ ๑๐ รูป ประตูด้านตะวันตกปลูกที่ศาลหลวงเก่า พระสงฆ์วัดระฆังสวดมนต์ ๑๐ รูป ประตูด้านเหนือปลูกที่วัดอมรินทร์ พระสงฆ์วัดอมรินทร์สวดมนต์ ๑๐ รูป เวลาเย็นพระสงฆ์สวดมนต์ ตั้งแต่วันแรม ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ วัน ๑๔ ค่ำสวดอาฏานาฏิยสูตรคืนยังรุ่ง เมื่อสวดไปถึงกำหนดยิงปืนก็หยุดรอจนยิงปืนแล้ว จึ่งได้สวดต่อไปเป็นระยะ การเลี้ยงพระกําหนดเกณฑ์เจ้านายเลี้ยงอยู่หกแห่ง คือกลางเมืองทั้งสองฟากและประตูเมืองฟากตะวันออก เจ้านายองค์หนึ่งต้องเกณฑ์เลี้ยงพระวันหนึ่ง ตามที่ผู้ใดถูกตําบลพระมากพระน้อย ถ้าถูกตําบลพระมากก็ต้องเลี้ยงเช้า ๒๐ เพล ๕ รูป ถ้าตําบลพระน้อยก็ต้องเลี้ยงเช้า ๑๐ รูป เพล ๕ รูป แต่ที่ประตูเมืองฟากตะวันตกนั้นเกณฑ์กรมท่า กรมนา กรมวัง กรมเมือง เลี้ยงกรมละตําบล ต้องเลี้ยงเช้าเพล ๒ เวลาสามวัน เลี้ยงแต่เช้าเวลาเดียววันหนึ่ง พระพุทธรูปที่ตั้งตามโรงพิธีทั้งปวง ใช้พระห้ามสมุทรแล้วแต่จะหาได้ เป็นพนักงานของสังฆการี มีผ้าดาดเพดานผ้าขาวสำหรับตั้ง และราวเทียนเป็นราวเหล็กตามธรรมเนียม ตั้งหน้าพระสำหรับจุดเทียนบูชาราวหนึ่ง มีบาตรน้ำมนต์ ตั้งโรงพิธีกลางเมืองแห่งละ ๒ บาตร โรงประตูเมืองแห่งละบาตร หม้อคะนนใหญ่โรงพิธีกลางเมืองแห่งละ ๘ หม้อ โรงประตูเมืองโรงละ ๔ หม้อ

ในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ แต่เดิมมาก็ไม่มีเจ้านายเกศากันต์นอกจากพระเจ้าลูกเธอโสกันต์ ต่อตกมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าหลานเธอบ้าง หม่อมเจ้าในกรมซึ่งเป็นที่ทรงคุ้นเคยโปรดปรานบ้าง โปรดให้มาเกศากันต์พร้อมกับพระเจ้าลูกเธอนับว่าเป็นเกียรติยศใหญ่ ต่อตกมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้หม่อมเจ้าในวังหลวงเข้ามาโสกันต์ได้ในวังทั้งสิ้น แต่หม่อมเจ้าวังหน้านั้นในกรมซึ่งรับราชการอยู่ในวังหลวง ก็โปรดให้มาเกศากันต์ในวังหลวงบ้าง นอกนั้นไปเกศากันต์ในพระราชพิธีในพระบวรราชวังทั้งสิ้น การเกศากันต์ในพิธีวังหน้านี้มีมาแต่เดิมเป็นครั้งเป็นคราว ไม่เสมอและไม่ทั่วไป เมื่อไม่มีวังหน้า หม่อมเจ้าวังหน้าก็มาสมทบเกศากันต์ที่วังหลวง กําหนดฟังสวดเกศากันต์ตั้งแต่วันตั้งน้ำวงด้ายแต่แรม ๑๑ ค่ำไป ถ้าเป็นพระองค์เจ้าแต่ก่อนมาเคยมีตํารวจนําตามแต่เจ้าของจะหามามากบ้างน้อยบ้าง ตัวพระองค์เจ้าทรงเสลี่ยงงา กั้นพระกลดกํามะลอ มีพราหมณ์โปรยข้าวตอกคู่ ๑ โปรยข้าวสารดอกมะลิคู่ ๑ บัณเฑาะว์คู่ ๑ สังข์คู่ ๑ ข้าหลวงตามมากๆ หม่อมเจ้าทรงเสลี่ยงงา กั้นกลดกํามะลอ มีพราหมณ์โปรยข้าวตอกข้าวสารคน ๑ บัณเฑาะว์คน ๑ สังข์คน ๑ มีแต่ข้าหลวงตามไม่มีตํารวจ แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ โสกันต์รวมกับพิธีตรุษเช่นที่ว่านี้น้อยพระองค์[๔] คงเป็นหม่อมเจ้าเกศากันต์เป็นพื้น

การพระราชพิธีเริ่มสวดมนต์วันแรม ๑๑ ค่ำ พระราชาคณะ ๒๐ รูป รุ่งขึ้นวัน ๑๒ ค่ำ พระสงฆ์ฉันพร้อมกันทั้ง ๖๘ รูป จุดเทียนชัยนั้นมีฤกษ์ ถ้าฤกษ์เช้าก็จุดก่อนพระฉัน ถ้าฤกษ์สายก็จุดภายหลัง ไฟซึ่งจะจุดเทียนชัยนั้นใช้ไฟฟ้าส่องด้วยพระแว่นกรอบลงยาราชาวดี เวลาจะส่องไฟมีคาถาสำหรับจะส่องเหมือนกันกับจุดเทียนจองเปรียง เลี้ยงเพลิงไปจนถึงเวลาที่จะจุดเทียนชัย เมื่อเวลาจะจุดเทียนชัยนั้น พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงจุดเทียนทองซึ่งตั้งอยู่กลางพระขันหยกสำหรับพระราชพิธี ทรงตั้งสัตยาธิษฐานแล้วจึงส่งถวายแด่ท่านผู้เป็นประธานในการพระราชพิธี แต่ก่อนมาดูเป็นหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงจุด ตั้งแต่การบรมราชาภิเษกมาจนตลอดสิ้นพระชนม์ทุกๆ พระราชพิธี ต่อมากรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ได้ทรงจุดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในเวลาที่จุดเทียนชัยนั้น พระสงฆ์สวด พุทโธ สัพพัญญุตัญญาโณ บนพระที่นั่งที่ตั้งพิธี พราหมณ์เป่าสังข์คู่ ๑ ขับไม้บัณเฑาะว์คู่ ๑ ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์ พระสงฆ์ฉันและกลับแล้วทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการตระบะมุก และเทียนดูหนังสือเล่ม ๑ พระพิธีธรรมสำรับแรกขึ้นสวดภาณวาร พระราชาคณะนั่งปรก ราชบัณฑิตชักประคํา จนถึงเวลาเพลฉันเพล ๕ รูป แล้วสวดต่อไปจนถึงเวลาเที่ยงเปลี่ยนสำรับใหม่ ผลัดกันสวดสำรับละ ๖ ชั่วโมงทั้งกลางวันกลางคืน เวลาค่ำพระสงฆ์สวดมนต์อีกทุกวัน จนถึงวันแรม ๑๔ ค่ำเวลาเช้า พระองค์เจ้าหม่อมเจ้าที่จะโสกันต์ แต่งเครื่องถอดออกไปนั่งรายเป็นแถวตรงหน้าพระสงฆ์ที่มุขตะวันออก ถ้ามากแถวก็ยาวออกไปถึงกลางปราสาท แบ่งพระเกศาเสร็จแล้วพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ แล้วทรงพระธํามรงค์พระมหาวิเชียรบ้าง พระมหาเพชราวุธบ้าง แล้วทรงจรดกรรไตรกรรบิด โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ทรงบ้าง เวลานั้นพระสงฆ์สวดชยันโตบนพระที่นั่ง พราหมณ์เป่าสังข์คู่ ๑ ขับไม้บัณเฑาะว์คู่ ๑ ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์ ที่สรงแต่ก่อนนั้นปลูกเป็นร้านขึ้นที่รักแร้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทข้างตะวันตกเฉียงใต้ เสด็จพระราชดําเนินพระราชทานน้ำทางพระแกล ยังใช้มาเช่นนี้ช้านาน ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดในทางที่เข้าออกทางพระแกล และโปรดให้ทําเขาไกรลาสด้วยศิลาที่ชาลาด้านตะวันตกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึ่งให้เจ้านายโสกันต์ไปสรงที่เขาไกรลาส เลิกพระแท่นสรงเสียทีเดียว ใช้เพดานพระแท่นสรงตั้งที่เขาไกรลาส ครั้นภายหลังการที่จะปิดน้ำเปิดน้ำกาหลมากนัก เวลาเสด็จพระราชดําเนินเข้าไปพระราชทานน้ำ ถ้าไม่ปิดน้ำเสียก่อนก็เปียก จึงได้เกิดที่สรงขึ้นที่รักแร้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตามเดิม แต่ลดพื้นเตี้ยลง เป็นที่สำหรับพระราชทานน้ำ ธรรมเนียมแต่เดิมมา ถ้าโสกันต์พระองค์เจ้าจึงได้พระราชทานพระมหาสังข์สาม ถ้าเป็นแต่หม่อมเจ้าก็ใช้แต่หม้อเงินหม้อทองและพระเต้าศิลากลีบบัว แต่ครั้นเมื่อหม่อมเจ้าเกศากันต์พร้อมกับพระองค์เจ้า ก็พลอยได้พระราชทานพระมหาสังข์สามด้วย ก็ตกลงเป็นธรรมเนียม ถึงเกศากันต์แต่หม่อมเจ้าก็คงได้พระราชทานพระมหาสังข์สามตลอดมา พระเต้าซึ่งพระราชทานอยู่ในบัดนี้ คือพระมหาสังข์สาม พระเต้าไกรลาส พระเต้าเทวบิฐ พระเต้าจารึกอักษร หม้อทอง หม้อเงิน พระสังข์อุตราวัฏของเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระมหาสังข์ประดับเพชรเป็นที่สุด ถ้าเป็นพระองค์เจ้าเคยพระราชทานพระเต้าห้ากษัตริย์บ้างก็มี แต่ดูไม่สู้ทั่วไป พระราชทานน้ำแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นต่างกรมผู้ใหญ่ และท่านเสนาบดีก็รดต่อไป ในเวลาสรงนั้นมีแต่เครื่องประโคมดังเช่นกล่าวมาแล้ว แต่พระสงฆ์สวดถวายพรพระ เมื่อพระราชทานน้ำแล้วเสด็จขึ้นมาทรงประเคน พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ในวันนี้สำรับพระสงฆ์ฉันทั้งเช้าทั้งเพล ไม่ได้ใช้เนื้อสัตว์ เป็นเครื่องกระยาบวชใช้ถั่วงาทั้งสิ้น เครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชก็เป็นเครื่องกระยาบวชเหมือนกัน ลัทธิที่พระสงฆ์ฉันบวชมีแต่เฉพาะวันพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์วันเดียว เห็นจะเป็นมาจากลัทธิพราหมณ์ที่ถือติดชินมาแต่ก่อน ถ้าจะทําอะไรให้ขลังดีวิเศษก็ไม่กินของสดคาว จนไม่รู้ว่ามาจากแห่งใด การที่เกิดขึ้นในพระราชพิธีนี้ก็เพื่อจะให้ขลังอย่างเดียว และในการเลี้ยงพระตรุษซึ่งนับว่าวัน ๑๔ ค่ำนี้เป็นวันต้นไป มีข้าวบิณฑ์ทั้งเครื่องนมัสการด้วย มีแต่เฉพาะวันแรม ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่งสามวัน พระสงฆ์ฉันแล้วประกาศเทวดา ตําแหน่งผู้ประกาศนี้เป็นหน้าที่ของพระพิมลธรรม อย่างเจ้าพระยาพลเทพสำหรับแรกนายืนชิงช้า ถ้าพระพิมลธรรมประกาศได้ก็เป็นพระพิมลธรรมประกาศองค์เดียว แต่พระพิมลธรรมมักจะชราเสียบ้าง เสียงไม่เพราะบ้าง ขัดข้องไป จึ่งต้องเปลี่ยนให้พระราชาคณะผู้อื่นว่าแทน คําประกาศนั้นไม่ได้อ่านหนังสือเหมือนประกาศทั้งปวง ใช้เล่าจนจําได้แล้วว่าปากเปล่า เพื่อจะมิให้พลาดพลั้ง จึ่งต้องมีผู้ทานหนังสือตามไปด้วยอีกองค์หนึ่ง ใช้พระราชาคณะผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชำนาญหนังสือไทยด้วย

ในคําประกาศเทวดาที่ใช้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่เดิมมานั้นมาจากเมืองลังกา ภาษาที่ใช้ก็ใช้เป็นภาษาลังกาแปลเป็นไทยบ้างไม่ได้แปลบ้าง พระนามที่ใช้ในคําประกาศแต่ก่อนใช้พระนามรามาธิบดี แต่จะค้นหาฉบับเดิมก็ไม่ได้ พบแต่คำประกาศวังหน้าครั้งพระปิ่นเกล้าฯ ก็คงจะคล้ายคลึงกัน อยู่ข้างจะเร่อร่ากว่าที่ประกาศอยู่ทุกวันนี้สักหน่อยหนึ่ง คือไต่ถามเทวดาถึงรับศีลแล้วหรือยัง ชวนให้รับศีล และการขับไล่ผีสางก็เป็นจริงเป็นจังมากไปสักหน่อยเป็นต้น ทํานองที่ใช้ก็เป็นทำนองเทศน์มหาชาติหรือขัดตํานานบอกอนุศาสน์ตามแต่จะสนัดว่า แต่ครั้นตกมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเพิ่มเติมแก้ไขเสียมากตัดเป็นตอนๆ ภาษามคธ ภาษาไทย ภาษาลังกา แทรกสลับกันไปดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า พระนามนั้นก็ทรงเปลี่ยนพระนามใหม่ลง แต่สร้อยพระนามในภาษาลังกายังใช้สร้อยเดิมอยู่มาก พระนามนี้ทรงถือว่าพระบรมรามาธิบดีเดิมนั้นเป็นพระนามสำหรับกรุง เหมือนอย่างคําโคลงแช่งน้ำก็คงใช้ได้ไม่ผิด รับสั่งว่าถ้าใครเป็นเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็ต้องเป็นรามาธิบดีด้วย ถึงในสร้อยพระนามใหม่ก็มีรามาธิบดีไว้ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพระนามในภาษาสิงหลนี้จึงได้คงใช้ปนๆ กันอยู่กับของเก่า เช่นว่า บรมบพิตรปะระมินทะ มะหาจุฬาลังกรณะ ปะตินทระเทพยะมะหามะกุฎ บุรุษยะรัตนะราชะระวิวังษะ วรุตตะมะพังษะปริพัทธะ วระขัติยะราชะนิกะโรตตะมะ จาตุรันตะปะระมะมหาจักรพัติราชาธิปรัตเตยยะ บุณะรุจจิริทธิรามิศะเรยยะมเหยยะมหิทธิริทธิเตโชเชยยะ ตรีโลกะเชษฐาธิมะหาพุทธางกุเลยยะ วะระธรรมิกะราชาธิราชะ รามาธิปรัตเตยยะมหาสวามินทะ ปะวะระรัตนะโกสินทะมหินทราโยทธะยามหานะคะรินทะนุวะระวะเสยยะ เป็นต้น คําประกาศนั้นคงเป็นสามภาษาอยู่ตามเดิม ตัดแต่ที่รุงรังถามจู้จู้จี้จี้ออกเสียบ้าง ที่จะตัดออกไม่ได้เป็นท่อนยาวก็คงว่าแต่ภาษาลังกาไม่แปลเป็นไทย เวลาประกาศนั้น พระสงฆ์ผู้ประกาศกราบพระแล้วว่านโมสามหนที่หน้าพระแท่น แล้วออกมายืนบนอาสนะท้ายอาสนสงฆ์กลางพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หันหน้าไปทิศตะวันตก เริ่มคําประกาศเป็นภาษามคธ ตั้งแต่สุณันตุ ทิพพโสเตนะ จนจบ คุตติงสังวิทะหันตุจาติ แล้วจึงว่าคําแปลเป็นภาษาไทยออกชื่อท้าวมหาราชทั้งสี่และเทพยดา หมู่ยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ นาค ขอให้มาประชุมกันในเวลาค่ำวันนี้ เพื่อจะอนุโมทนาในส่วนพระราชกุศล มีพระพุทธบูชาเป็นต้น ซึ่งทรงแผ่ส่วนพระราชกุศลให้ และขอให้ปลดเปลื้องสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ นำมาซึ่งความสิริสวัสดิ์แก่พระเจ้าแผ่นดิน และมหาชนอันอยู่ในพระราชอาณาเขต ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในสยามวงศ์ทรงชนะ แล้วต่อนั้นไปว่าเป็นภาษาลังกานำพระนามเจ้าแผ่นดินตั้งแต่มินยะปะฑินนะเป็นต้น แล้วจึงว่าพระนามเจ้าแผ่นดินเต็มตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ คือตลอดจนถึงชื่อกรุงลงปลายสักทัติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ตามอย่างเก่า แล้วว่าตามภาษาลังกาอีกตอนหนึ่งแสดงพระราชอาณาเขต แล้วจึ่งออกชื่อหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ ทั่วทุกหัวเมือง มีจํานวนนับรวมยอดข้างท้ายสี่ร้อยสามสิบแปดแล้วออกชื่อกรุงเต็มชื่อ จึ่งมีคําขอเทพยดาซึ่งรักษาพระราชอาณาเขต ออกนามพระกาฬชัยศรี พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ขอให้บริบาลรักษาพระเจ้าแผ่นดิน และพระมหานครขอบเขตประเทศราชทั้งสี่ทิศ ให้ปัจจามิตรยําเกรงอย่าให้คิดประทุษร้าย ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ราชพิริยโยธาผู้ใหญ่ผู้น้อย จงมีสมัคสโมสรซื่อสัตย์สุจริตต่อกันสิ้นกาลนาน และขออย่าให้มีอันตรายมาพ้องพานแก่มนุษย์และสัตว์จตุบททวิบาท ให้วัสโสทกตกตามฤดูกาล เป็นอุปการะแก่ธัญญาหารบริบูรณ์ทั่วพระราชอาณาเขต เมื่อจบคําประกาศตอนนี้แล้วพระสงฆ์ผู้ประกาศหันหน้าไปข้างทิศเหนือ มีสังฆการีสองคนเข้ามายืนรับคําสั่ง จึงสั่งเป็นภาษามคธว่า อัม์โภ เทวตา อาราธกะ เป็นต้น สังฆการีรับสาธุๆ คะมิส์สามิ ภัน์เต แล้วพระสงฆ์ผู้ประกาศจึงสั่งเป็นภาษาสยาม ให้รับสังฆาณัติไปเชิญเทพยดา อันเป็นที่มหาชนนับถือทั้งปวงมาประชุมกันในการพระราชพิธี เพื่อจะสดับพุทธภาษิตในเวลาค่ำวันนี้ สังฆการีรับว่าสาธุๆ พระพุทธเจ้าข้า แล้วท่านผู้ประกาศว่าภาษาสิงหลต่อไป ตั้งแต่วิหาระภูตุลูเป็นต้น ถึง อิยะยุต์ตะเยติ เป็นจบประกาศเวลาเช้า

และในเวลาที่พระสงฆ์ฉันและอ่านคําประกาศอยู่นั้น เจ้าที่เกศากันต์แต่งตัวเสร็จแล้ว ก็มานั่งเก้าอี้เรียงเป็นลำดับอยู่ที่มุขตะวันออกหันหน้าเข้าหาเตียงพระมณฑล เมื่อพระสงฆ์ประกาศเทวดาจบแล้วพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ใบมะตูม และทรงเจิมเจ้าที่เกศากันต์ทุกองค์ แล้วพระสงฆ์ถวายยถา ในวันนี้มีสัพพพุทธาก่อนอติเรก เป็นส่วนให้พรแก่เจ้าที่เกศากันต์ ในการพระราชพิธีนี้ในวัน ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ไม่ต้องมีอนุโมทนาอย่างอื่น นอกจาก ยถา สัพพี อติเรก ภวตุสัพพ์ เมื่อพระสงฆ์อติเรกก็โปรดให้เจ้าที่เกศากันต์นั้นกลับ พระราชาคณะ ๒๐ รูป ซึ่งนับว่าเป็นสวดมนต์ในการเกศากันต์นั้น ได้รับกระจาดเครื่องบริโภคของแห้งตามธรรมเนียมการโสกันต์ด้วยในวันนี้องค์ละกระจาด เวลาบ่ายตั้งบายศรีแก้วทองเงินที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวียนเทียนสมโภช เจ้าที่เกศากันต์ทรงเสลี่ยงออกทางประตูสนามราชกิจ สมโภชแล้วขึ้นมาคอยเฝ้าบนพระที่นั่ง พระราชทานน้ำพระมหาสังข์อุตราวัฏของเดิมในรัชกาลที่ ๑ และทรงเจิม พระราชทานเงินสมโภชตามแบบ พระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวัง ๓ ชั่ง พระองค์เจ้าในพระราชวังบวรฯ ๒ ชั่ง หม่อมเจ้าในพระบรมมหาราชวังชั่ง ๑ หม่อมเจ้าในพระราชวังบวรฯ ๑๐ ตําลึง แต่ที่เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ หรือหม่อมเจ้าในพระเจ้าน้องยาเธอ ก็พระราชทานเงินพระคลังข้างที่เพิ่มเติมอีกบ้าง ไม่เป็นการเสมอหน้าทั่วไป

ครั้นเวลาเย็นพลบตั้งกระบวนแห่พระสงฆ์ แต่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกําหนดกระบวนหน้ามีทหารในเกณฑ์ร้อยหนึ่ง บางทีก็มีทหารมหาดเล็กทหารเรือมาสมทบแห่บ้าง บางปีก็มีทหารล้อมวังลากปืนแคตลิงคันเข้ากระบวนด้วย แต่ไม่เป็นการแน่นอนลงได้ และมีม้าเกราะทอง ๑๒ ม้า ธงศึกคือธงยันต์ ๓๐ ปืนแดง ๓๐ ดาบสองมือ ๓๐ ดาบโล่ ๓๐ ดาบเขน ๓๐ ทวน ๓๐ ดั้ง ๓๐ กระบวนเหล่านี้เดิน ๒ แถว แล้วถึงพระแสงปืน พระทรงสวัสดิ พระสุบินบันดาล ขึ้นแคร่หาม เป็นพนักงานกรมแสงกำกับ แต่พระแสงสององค์นี้ในแผ่นดินปัจจุบันไม่ได้แห่ คงแห่แต่ปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ลากล้อ เป็นพนักงานกรมกองแก้วจินดา แล้วถึงแตรงอน ๑๐ แตรฝรั่ง ๖ สังข์ ๒ แล้วจึงถึงสังฆการีแต่งสวมเสื้อครุยลอมพอก ซึ่งเป็นพนักงานขานคำตอบพระสงฆ์ ต่อไปนั้นเป็นกระบวนพระสงฆ์ ที่หนึ่งพระวอกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ มีคนเชิญตาลิปัตรนำหน้า ที่ ๒ พระวอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ต่อไปวอสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์[๕] ต่อนั้นไปแคร่พระราชาคณะ ที่เป็นเจ้านายกั้นพระกลด ที่เป็นพระราชาคณะกั้นสัปทนแดง มีตาลิปัตรนำหน้าทุกองค์ เป็นแคร่ ๗ คู่ ขาดคู่อยู่แคร่หนึ่ง เพราะติดนั่งปรกบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อนั้นไปพระครู ๘ รูป พระพิธีธรรม ๓๖ รูป เดินถือตาลิปัตรเป็นตับๆ ละสี่รูป ๑๑ ตับ ต่อไปจึ่งถึงกระบวนหลัง คือคนถือกระบอง ๓๐ ถือง้าว ๓๐ ตรี ๓๐ ดาบเชลย ๓๐ การที่มีกระบวนแห่พระนี้ ก็เป็นการย่อมาจากอาพาธพินาศเทือกเดียวกันกับคเชนทรัศวสนานเป็นการย่อของสระสนาน พอกระบวนแห่ถึงกำแพงแก้วก็ประโคม พระสงฆ์ขึ้นนั่งเรียบร้อยแล้วเสด็จออกทรงจุดเครื่องนมัสการ ในเวลาวันนี้มีเทียนเล่มหนึ่งหนัก ๖ บาท ฟั่นเล่มสั้นๆ ปิดทองคำเปลว ปักเชิงเทียนทองคำ ๔ เชิง เล่มที่หนึ่งทรงจุดเมื่อแรกพระสงฆ์สวดปริตรพร้อมกันแล้วตั้งไว้บนเตียงพระมณฑล เล่มที่สองจุดเมื่อสวดธรรมจักร เล่มที่สามจุดเมื่อสวดมหาสมัยสูตร เล่มที่สี่จุดเมื่อสวดอาฏานาฎิยสูตรภาณยักษ์จบแรก เทียนทั้งสามเล่มข้างหลังนี้จุดที่เตียงพระสวดทั้งสามเล่ม

เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว มีประกาศเทวดาอีกคราวหนึ่ง แต่อาสน์สงฆ์ซึ่งสำหรับพระสงฆ์ยืนประกาศเทวดาในเวลาค่ำนี้ใช้ผ้าขาวพับหนึ่งให้พระสงฆ์ยืน เมื่อประกาศเทวดาเสร็จแล้ว ทรงประเคนผ้าขาวพับแก่พระสงฆ์ผู้ประกาศเทวดา ในเวลาค่ำวันนี้พระสงฆ์ยืนหันหน้าข้างเหนือ ถามสังฆการีซึ่งเป็นผู้รับสังฆาณัติไปเชิญเทพยดาด้วยภาษามคธก่อน เริ่มต้นตั้งแต่ โย โส อัช์ชะ ปุพ์พัณ๎ห เป็นต้น สังฆการีตอบ อิทาหํ ภัน์เต อาคัน์ต๎วา ฐิโตม๎หิ ท่านผู้ประกาศจึงถามต่อไปว่า อัช์เฌสิตา นุ โข เต เป็นต้น สังฆการีตอบ อามะภัน์เต จนถึง อัย์ยัส์สะ วะจะนะสะวะนายะ เป็นที่สุดแล้วจึงถามเป็นภาษาไทยต่อไปว่า ราชบุรุษผู้ซึ่งเราได้สั่งไปเชิญเทพยดานั้นได้กลับมาแล้วหรือยัง สังฆการีรับว่า ได้มายืนอยู่ที่นี่แล้ว (คำที่ว่ายืนนี้ยืนจริงๆ มิใช่พึ่งยืน เมื่อก่อนยืนทั่วกันแต่เดิมก็ยืนมาแล้ว ทําตามลัทธิเทวดาที่มาหาพระตั้งแต่เฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นต้น มักจะมีเรื่องราวที่ว่ายืนมากกว่านั่งทุกแห่ง) ท่านผู้ประกาศจึงได้ถามว่า ได้อาราธนาเทพยดาแล้วหรือ สังฆการีตอบว่า ได้ไปบวงสรวงยกหนังสืออาราธนาแล้ว และกลับมาในที่นี้โดยความเข้าใจว่า ถ้าเทพยดานั้นเป็นสัมมาทิฐิ คงจะไม่ขัดอาณาสงฆ์ คงจะมาด้วยอทิสมานะกาย ในคําประกาศตอนนี้เป็นแปลกกว่าของเก่ามาก คนละทางกันทีเดียว ของเก่านั้นเอาสังฆการีสองคนนั้นต่างว่าเป็นเทวดาทีเดียว พระสงฆ์จึงได้ถามถึงรับศีลแล้วหรือยัง และอะไรต่างๆ เป็นเล่นฟัน[๖]กันแท้น่าหัวร่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงแก้เสียทั้งมคธ ภาษาไทยให้เป็นถามกันอย่างใหม่ดังกล่าวมานี้ ดูก็ไม่น่าหัวร่อต่อกระซิกอันใด แต่คนที่เข้าใจว่าสมมติว่าตาสองคนนั้นเป็นเทวดาตามอย่างเก่าไม่เอาหูฟัง ยังหัวเราะเพ้อๆ ไปบ้างก็มี ที่หัวเราะเพราะแก่ติดกระอึกกระอักบ้างก็มี ถ้าหัวเราะอย่างหลังแล้วก็ควรอยู่ แต่ถ้าหัวเราะอย่างก่อนแล้วเป็นเคาะเน้อ อย่าเพ้อต่อไป เมื่อสังฆการีตอบภาษาไทยแล้ว ผู้ประกาศจึงได้ถามเป็นภาษาลังกาตามแบบของเดิมต่อไปว่า เทวตา อาราธนา วัต์ตกิโย อาวุย์ยะ สามครั้ง สังฆการีตอบว่า อวิติน์ท๎รี วิตินัน์นะ สามครั้งเหมือนกันแล้วจึงถาม เทวุย์โย อาวุย์ยะ สังฆการีตอบ อามา จะ เทวุย์โย สยัม์ปริวาเรนะ พยัพ์ตะสิกี สามครั้งเหมือนกัน ต่อนั้นไปผู้ประกาศเทวดาได้ประกาศเทวดาเป็นภาษาไทย ตามเนื้อความในคำประกาศเดิมไม่ได้แก้ไข ออกชื่อเทพยดาซึ่งมาประชุมในสถานที่นั้น คือ ท้าวมหาราชทั้งสี่ ขอให้ตั้งโสตลงสดับพระธรรม และขออานุภาพพระรัตนตรัยให้สถิตในพระบรมธาตุ พระพุทธบุษยรัตน พระชัย พระห้ามสรรพอุปัทว พระแก้วเรือนทอง พระปิฎกธรรม ซึ่งเชิญมาไว้ในการพระราชพิธี ขอให้เป็นศรีสวัสดิมงคลกันสรรพภัยทั่วพระราชอาณาเขต และขออํานาจท้าวโลกบาลทั้งสี่ และเทพยดาทั้งปวง จงบันดาลให้เครื่องราชูปโภค คือพระสุพรรณบัฏ พระขรรค์ชัยศรี และเครื่องนานาสรรพวราวุธ ทั้งพระมหามาลา พระมหามงกุฎ ฉลองพระองค์ เครื่องสรรพาภรณ์พิชัยยุทธ์ ธงชัยกระบี่ธุชครุฑพ่าห์และพระกรรภิรมย์ พระมหาสังข์ พระธํามรงค์ พระราชลัญจกร อีกมงคลพิสมร น้ำพระพุทธมนต์ บรรดาที่ได้ตั้งไว้ในการพระราชพิธีให้มีฤทธิ์อํานาจ บรรดามนุษย์และอมนุษย์ซึ่งเป็นราชปัจจามิตร ให้คิดครั่นคร้ามขามขยาด มาตรแต่ว่าเห็นสิ่งของในพระราชพิธีก็อย่าให้มีจิตคิดประทุษร้ายได้ และขอให้นำทิพยวารีมาโปรยปรายในภาชนะที่เต็มด้วยปริตโตทก เมื่อประปรายต้องกายผู้ใด ก็ให้พ้นสรรพทุกข์โศกโรคภัยทุกประการเป็นจบตอนหนึ่ง ต่อนั้นไปเป็นคําประกาศว่า ถ้าเทพยดาหมู่ใดที่ถือสัมมาทิฐิ จงตั้งโสตลงสดับพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร และมหาสมัยสูตรในเวลาค่ำวันนี้ แล้วจงพิทักษ์รักษาพระบรมราชาธิราช อันมีพระนามประกาศประกาศิต ออกพระนามเต็มเหมือนอย่างเวลาเช้า แต่ไม่ได้ออกนามกรุง ในคําประกาศพิธีตรุษนี้เรียงลำดับพระบรมวงศานุวงศ์แปลกกว่าที่เรียงลําดับในอื่นๆ ทั้งสิ้น เป็นของมีมาแต่โบราณ คือเมื่อลงท้ายพระนามว่า จุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม แล้วต่อไปว่าทั้งองค์พระอัครบรมรัตนราชนารี แต่ของเดิมเห็นจะเป็นมเหสี ซึ่งถือว่าเป็นคําไม่เพราะ แล้วต่อไปว่าสุรางคนิกรกัญญา พระบรมบุตรบุตรี พระราชนัดดา ทั้งพระประยูรวงศาเสนามาตยราชมนตรีกวีชาติ พฤฒามาตย์ราชปโรหิต บัณฑิตสมณพราหมณ์ประชาราษฏรทั้งหลาย การที่นับพระนามพระราชวงศานุวงศ์ไม่มีแก่กว่าพระเจ้าแผ่นดินเลยเช่นนี้เป็นอย่างเก่าแท้ เช่นมีมาในกฎหมายตําแหน่งนาพลเรือน ต่อไปนั้นก็ขอพรให้บริบูรณ์ทุกประการ แล้วจึงรื้อความว่า อนึ่งเทวดาหมู่ใดถือมิจฉาทิฐินอกพระพุทธโอวาท มิอาจรักษาพระบรมราชาธิราช อันมีพระนามประกาศประกาศิต พระบาทบรมบพิตร สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎบุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ ทั้งองค์พระบรมรัตนราชนารีสตรีพระสนม และพระบรมราชบุตรบุตรีนัดดา พระญาติประยูรวงศา เสนามาตย์ราชกวีชีพราหมณชนทั้งหลายและสัตว์ทั้งปวงได้ไซร้ เทวดาหมู่นั้นจงเร่งถอยหนีออกไปนอกขอบเขตจักรวาลจงเร็วๆ พลันๆ อย่าให้ทันพระสงฆ์สวดอาฏานาฎิยสูตรอันวิเศษ อันท้าวเวสวัณไพสพมหาราชหากอารธนาแด่สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าไว้ ให้สำทับขับภูตปิศาจชาติฝูงยักษ์ คนธรรพ์กุมภัณฑ์นาคนิกรสัตว์ โดยสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าตรัสบัณฑูรไว้ฉะนี้ ความตอนนี้ที่คัดมาลงไว้เป็นตัวการเรื่องขับผีของพิธีนี้มีอยู่เพียงเท่านี้ ที่เป็นต้นเหตุให้เห็นกันเป็นวิ่งชุลมุนชุลเกตามเช่นเล่าๆ กันนั้น ต่อนั้นไปตามที่จดหมายในตําราว่า เป็นคําเรียกเทวดาในกําพูฉัตร ให้มาช่วยขับยักษ์มิจฉาทิฐิ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า เป็นคำเขากรวดน้ำแผ่ส่วนบุญเป็นภาษาลังกา ยืดยาว ไม่มีคำแปลเป็นไทย ขึ้นต้นแต่ เมต์ตะยัน์ติ ไปจนถึง รุจ์จะติ สังฆัส์สาติ เป็นจบ การที่ไม่ได้แปลเป็นภาษาไทยนั้นก็เพราะยืดยาวเสียเวลาพรรณนาชื่อเทวดาต่างๆ ที่แผ่ส่วนบุญนั้นก็เป็นการเหลวๆ อยู่ จึงได้ยกไว้ ใช้แต่ภาษาลังกาพออย่าให้เสียธรรมเนียมเดิม เป็นเสร็จคําประกาศในเวลาค่ำเพียงเท่านี้

เมื่อประกาศเทวดาเสร็จแล้ว ทรงจุดเทียนทองตระบะมุกเทียนดูหนังสือ แล้วทรงทอดผ้าขาว ๔ พับ เฉพาะพระสงฆ์นั่งบนพระแท่น พระครู ๔ รูปขึ้นสวดตั้งนโมสรณาคมน์ แล้วพระราชาคณะที่ประกาศเทวดาขึ้นไปบนพระแท่นขัดตํานาน พระสงฆ์สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตร แต่เดิมสวดลงสังโยคอย่างตามธรรมเนียม แต่เมื่อถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าช้านัก ถ้าเสด็จออกล่าไปหน่อยหนึ่งยามเศษก็ไม่ได้ยิงปืนตามกำหนด จึงโปรดให้สวดเสียอย่างธรรมยุติกา พระราชาคณะที่ขัดตํานานนั้นลงมานั่งปรกจนจบ แล้วเสด็จไปทรงจุดเทียนทองอีกเล่มหนึ่ง ทรงทอดผ้าอีก ๔ พับ พระครูอีก ๔ รูป ขึ้นบนพระแท่นตั้งนโมแล้ว พระราชาคณะที่นั่งปรกขึ้นไปขัดตํานานแล้วกลับลงมานั่งปรก พระครูสวดมหาสมัยสูตร ที่คาถาก็สวดเป็นสรภัญญะ ถึงมหาสมัยสูตรนี้แต่ก่อนก็สวดเป็นสังโยคเหมือนกัน เปลี่ยนพร้อมกันกับธรรมจักร เป็นสวดอย่างธรรมยุติกาถึงว่าฐานาสมเด็จพระปรมานุชิต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระวันรัต จะเป็นพระสงฆ์มหานิกาย ก็ต้องซ้อมสวดอย่างธรรมยุติกาให้เป็นการเร็วขึ้น ในระหว่างนั้น เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนแรกๆ เสด็จพระราชดําเนินลงไปพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ และทรงเจิมพระแสงปืน มหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ทั้ง ๔ กระบอก ครั้นภายหลังมาพระราชทานให้ข้าพเจ้าลงไปรดน้ำและเจิมทุกปีมิได้ขาด ทั้งพระทรงสวัสดิ พระสุบินบันดาล และพระแสงปืนหลักก็รดน้ำและเจิมด้วย ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ตำแหน่งนี้ตกอยู่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ จนสิ้นพระชนม์ จึงได้ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จลงไปรดน้ำและเจิมพระแสง ต่อมาสวดสมัยสูตรจบแล้วทรงจุดเทียนทองอีกเล่มหนึ่ง พระสงฆ์พิธีธรรมสำรับแรกขึ้นพระแท่นตั้งนโมสรณาคมน์ นโมและสรณาคมน์ของภาณยักษ์อย่างเร็วอยู่ใน ๒๕ มินิต อย่างช้าก็ถึง ๓๐ มินิต เมื่อจบสรณาคมน์พระราชาคณะนั่งปรกขึ้นไปขัดตำนานแล้ว กลับมานั่งที่อาสนะในหมู่ตามเดิม พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระไปนั่งปรกแทนต่อไป พระสงฆ์สวดภาณยักษ์ เมื่อจบแล้วก็เปลี่ยนกันไปตามลำดับ กำหนดที่ได้ยิงปืนคราวแรกอยู่ในยามเศษ ภาณยักษ์จบแรกยิงปืน ๓ ครั้งๆ ที่หนึ่งที่ ตายํเวลายํ ครั้นสวดไปถึงวิปัสสิสในคราวแรก พระสงฆ์ซึ่งนั่งอยู่ข้างล่างจับสายสิญจน์สวดคาถาวิปัสสิสจนตลอดจบหนึ่ง ต่อไปไม่ได้สวดอีก ในจบแรกยิงปืนครั้งที่สองที่อุชชาเปตัพพัง เรียกกันว่าอุชชาใน ยิงปืนอีกครั้งหนึ่งที่อุชชาเปตัพพังหลัง เรียกว่าอุชชานอก ต่อไปตั้งแต่จบที่สองภาณพระยิงจบละสองคราวปืน คือที่ตายํเวลายํคราวหนึ่ง ที่อุชชาในอีกครั้งหนึ่ง เป็นสองครั้งตลอดไปทุกจบ สวดตลอดคืนยังรุ่งอยู่ในสิบเอ็ดจบ ถ้าเสด็จออกหัวค่ำเป็นสิบสองจบบ้าง บางทียิงปืนอยู่ใน ๒๓ คราวปืนเป็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นสิบสองจบก็เป็น ๒๕ คราวปืน

ปืนที่ยิงในวันยิงอาฏานานี้ แต่เดิมมาใช้สังฆการีตีฆ้อง เมื่อถึงกําหนดจะยิงใช้กรมพระแสงปืนต้นยิงปืนสัญญาณบนชาลาพระมหาปราสาท แล้วทนายปืนกรมพระตํารวจ ยิงปืนคาบศิลายิงเป็นตับเป็นสัญญาณแล้วจึงได้ยิงต่อๆ กัน ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดรักษาพระองค์ปืนทองปรายขึ้น ก็ให้รักษาพระองค์ปืนทองปรายยิง เมื่อเกิดเกณฑ์หัดปืนแดงขึ้น ก็ให้เกณฑ์หัดปืนแดงมายิงอีกพวกหนึ่ง ครั้นตกมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทหารปืนทองปรายคงยิงอยู่ตามเดิมพวกหนึ่ง ถอนเกณฑ์หัดปืนแดง เอาทหารเกณฑ์หัดปืนอย่างยุโรปยิงแทนอีกพวกหนึ่ง ครั้นเมื่อหล่อปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ขึ้นพร้อมกันกับที่ทรงสร้างพระแสงปืนนพรัตน์สำหรับเข้าพิธี ก็ทรงพระแสงปืนนพรัตน์ ซึ่งเป็นปืนอย่างที่เรียกว่าโก๊อย่างเก่าๆ ทรงยิงเองทางช่องพระแกลที่ ๒ ด้านเหนือมุขตะวันออก เป็นสัญญาณให้ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ พระแสงปืนนพรัตน์นั้นไม่สู้สะดวกนัก จึงได้โปรดให้จัดพระแสงปืนหลักที่สำหรับลงหน้าเรือพระที่นั่ง ขึ้นมาตั้งที่ชาลาหน้าพระมหาปราสาท ตรงช่องพระแกลที่กล่าวแล้ว ล่ามสายไหมเบญจพรรณถักติดกับไกปืนขึ้นมาผูกกับพนักพระแกล เจ้าพนักงานประจุปืนอยู่ข้างล่าง เมื่อเวลาถึงกําหนดยิง ก็ทรงกระตุกเชือกยิงพระแสงปืนหลักนั้นเป็นสัญญาณ ซึ่งให้เป็นสององค์ไว้นั้นเพื่อจะสับปลับเมื่อไม่สับปลับก็ทรงทั้งสององค์ ภายหลังมาเมื่อพระแสงปืนพระทรงสวัสดิเข้ามาถึง เป็นพระแสงปืนใหญ่บรรจุท้ายซึ่งได้เข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในครั้งแรกโปรดยิ่งนัก ได้ทรงทดลองที่ปทุมวันและที่ลานเทหลายครั้ง ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีก็โปรดให้มาตั้งที่ตรงหน้าพระแกล โยงเชือกขึ้นมาทรงกระตุกเป็นสัญญาณ พระแสงปืนหลักทั้ง ๒ องค์นั้นก็คงไว้ด้วย ครั้นมาภายหลังเมื่อปลายๆ แผ่นดินทรงพระสุบินไป ว่ามีปืนอย่างหนึ่งซึ่งเป็นรูปปืนใหญ่แต่ยิงได้หลายๆ นัด มีครกหันเหมือนอย่างปืนที่เรียกกันว่าโก๊ตั้งไว้ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม มีเจ้านายหลายพระองค์เสด็จเข้ามาเฝ้า ทรงจําได้ว่ากรมขุนวรจักรองค์หนึ่ง ได้ทรงยิงปืนนั้นเป็นสลุตรับ จึงมีพระราชหัตถเลขาสั่งออกไปให้ทําตามกระแสพระสุบิน แต่ผู้ที่ทํานั้นจะคิดหันให้เป็นอย่างปืนโก๊ก็ไม่ไว้ใจ จึงทําเป็นรางบรรจุปัศตันยาวๆ สอดเข้าไปในช่องข้างท้ายบอกปืน เลื่อนไปทีละช่องยิงได้ตับละหลายๆ นัด เมื่อได้ทอดพระเนตรก็รับสั่งว่าไม่เหมือนที่ทรงพระสุบิน แต่ยิงได้หลายนัดคล้ายคลึงกัน จึงพระราชทานชื่อว่าพระสุบินบันดาล ให้ตั้งยิงในการพระราชพิธีนี้ด้วย ในปีแรกๆ ทรงเที่ยวหนึ่งๆ อยู่ใน ๖ นัด ครั้นภายหลังมาพระราชทานให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ยิงเนืองๆ สายล่ามไกนั้นโยงขึ้นมาที่พระแกลที่หนึ่ง ไม่ได้รวมอยู่ในพระแกลที่สองซึ่งเป็นที่ประทับ พระแสงปืนอย่างเช่นทรงพระสุบินนั้น ภายหลังก็ทรงสั่งมาอีกจนได้แต่พึ่งมาถึงภายหลังไม่ทันจะพระราชทานชื่อ การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชธุระในเรื่องยิงปืนมากนี้ ทรงเป็นการแปรกติสฝึกหัดให้คุ้นเคยในการยิงปืน ด้วยเวลาอื่นนอกจากยิงอาฏานาฏิยสูตรนี้แล้วก็ไม่ได้ทรงเลย ในเมื่อตอนแรกยังเสด็จอยู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเคยทรงพระแสงปืนเล็กทางสีหบัญชรเนืองๆ เอาหม้อข้าวกรอกน้ำเสียแล้วนั้นไปแขวนไว้บนต้นไม้ตามที่คลังและที่โรงหม้อ ทรงยิงหม้อข้าวนั้น เผอิญครั้งหนึ่งกระสุนปืนเข้าไปตกถึงพระที่นั่งวังจันทร์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรทุกวันนี้ ในขณะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเสด็จอยู่ก็เป็นที่ตกพระทัย เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปพระราชทานทองคำสมโภชลิ่มหนึ่ง แต่นั้นมาก็ไม่ได้ทรงพระแสงปืนอีกเลย นอกจากเวลาพิธี ถ้าจะติดดินพระแสงองค์ใดลองก็รอไว้การพิธีทุกครั้ง แต่ถ้าจะติดกระสุนลองแล้วก็ไปลองที่ปทุมวันหรือที่ลานเท ที่ปทุมวันนั้นภายหลังก็เป็นอันเลิกไป เมื่อกระสุนไปถูกกระบือที่คนจูงมากระบือล้ม แต่คนไม่เป็นอันตราย แต่นั้นมาก็คงมีอยู่ที่ลานเทแห่งเดียว ต่อเมื่อพระแสงใหม่มีมาจึงได้ลอง เป็นการนานๆ มีทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงการพระราชพิธีตรุษนี้แล้วจึงได้ทรงยิงปืนเป็นการฝึกซ้อมให้ชำนาญทุกปีมิได้ขาด เมื่อมีทหารผู้หญิงอยู่แต่ก่อน ก็เคยโปรดให้มายิงที่ชาลาข้างพระที่นั่งวิมานรัถยาพร้อมกับคราวปืนข้างหน้ามาช้านานหลายปี ถ้าเวลาตั้งแต่ยิงปืนยกแรกไปแล้ว ไม่ใคร่จะได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับทางเจ้านายขุนนาง ประทับอยู่ที่ตรงพระแกล ตรัสกับกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์อยู่จน ๗ ทุ่ม ๘ ทุ่ม จึงได้เสด็จขึ้นทุกปี ถึงทหารก็เหมือนแต่ก่อนมา ไม่ได้เคยฝึกซ้อมติดดินในที่อื่น ต้องผลัดเปลี่ยนกันเข้ามายิงอาฏานา เป็นการหัดติดดินตลอดมาถึงทหารมหาดเล็กในแผ่นดินปัจจุบันนี้ก็ยังถือว่าเป็นการฝึกหัดเช่นนั้นเหมือนกัน แต่พระแสงปืนที่สำหรับยิงเป็นสัญญาณนั้นเลิก คงใช้สัญญาณระฆังตามเดิม จำนวนและตำบลลำดับที่ยิงปืน ดังจะว่าต่อไปนี้

ฝั่งตะวันออก คือในพระบรมมหาราชวังชั้นกลาง ที่ชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทหารมหาดเล็ก ๓๐ คนยิงปืนอินฟินพวกหนึ่ง ทหารรักษาพระองค์ ๓๐ คน ทหารแคตลิงคัน ๓๐ คน ยิงปืนสามแหมทั้งสองพวก กรมกองแก้วจินดาเจ้ากรม ปลัดกรม ขุนหมื่น ๑๕ คน ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ พวกหนึ่ง เป็นสัญญาณใน

กรมทหารปืนใหญ่ ยิงปืนทองฟินลินปิด ๒ บอก ยิงที่หน้าประตูวิเศษชัยศรี เป็นสัญญาณนอก

กรมทวนทองซ้ายขวา กรมเขนทองซ้ายขวา คุมปืนทองอย่างไทร ๒ บอก ยิงที่ประตูมณีนพรัตน์

กองอาสารองซ้ายขวา ปืนทองฝรั่งเปิดหมวก ๒ บอก ยิงที่ถนนหน้าศาลพระหลักเมือง

กรมฝีพายคู่ชักซ้ายขวา ปืนทองรางแท่น ๒ บอก ยิงที่ถนนหน้าศาลพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง

กรมล้อมพระราชวัง คุมปืนเหล็กหามแล่น ๑๒ บอก ปืนคาบศิลา ๕ บอก ยิงบนป้อมรอบพระบรมมหาราชวัง ๑๒ ป้อม

กรมตํารวจและพลพันทหารใน คุมปืนหามแล่น ๑๘ บอก ยิงบนเขื่อนเพชรกำแพงวัง ๑๐ ตำบล คือ

กรมทหารในซ้ายขวา ยิงที่เขื่อนหน้าโรงทานบอก ๑ เขื่อนตรงท่ากระแซบอก ๑

กรมพลพันซ้าย ยิงที่เขื่อนด้านวัดพระเชตุพน

กรมพลพันขวา ยิงที่เขื่อนโรงไหม

กรมตำรวจสนมซ้าย ยิงที่เขื่อนริมอุโมงค์

กรมตำรวจสนมขวา ยิงที่เขื่อนบันไดตรงวัดพระเชตุพน

กรมพระตำรวจนอกซ้าย ยิงที่เขื่อนเหนือและใต้พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ปราสาท

กรมพระตำรวจนอกขวา ยิงที่เขื่อนบันไดริมป้อมสัญจรใจวิง

กรมพระตำรวจในซ้าย ยิงที่เขื่อนท้ายพระที่นั่งสุทไธศวรรย์

กรมพระตำรวจใหญ่ขวา ยิงที่เขื่อนริมป้อมสัญจรใจวิง พวกที่ว่ามานี้ปืนแห่งละ ๒ บอกทั้งสิ้น

กรมกองแก้วจินดา ปืนทองมนิลา ๒ บอก ยิงบนป้อมเหนือป้อมใต้พระที่นั่งสุทไธศวรรย์

กรมรักษาพระองค์ซ้ายขวา ปืนทองรางแท่น ๒ บอก ยิงที่ป้อมพรหมอํานวยศิลป์ ป้อมอินทร์อํานวยศร

กรมเรือดั้งทหารใน ปืนทองอย่างไทร ๒ บอก ยิงที่หน้าประตูศรีสุนทร ๑

กรมพระตำรวจนอกซ้าย ยิงที่ท่าพระ ๑ หน้าวัดมหาธาตุ ๑ ยิงที่ประตูดินพระราชวังบวร ฯ ๑

กรมพระตำรวจใหญ่ขวา ยิงที่ท่าช้างพระราชวังบวรฯ ๑ ประตูใหญ่หน้าบ้านเจ้าพระยามหาโยธา ๑

กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งซ้าย ยิงที่ประตูใหญ่หน้าวังกรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช ๑

กรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ยิงที่หน้าบ้านพระยานาวานุโยค ๑ มุมบ้านเจ้าพระยาธรรมา คือประตูใหญ่ริมบ้านพระยานรรัตน ๑ ประตูใหญ่วัดบวรนิเวศ ๑

กรมพระตำรวจในขวา ยิงที่ประตูใหญ่วัดรังษีสุทธวาส ๑ ประตูใหญ่ป้อมมหากาฬ ๑

กรมพระตำรวจในซ้าย ยิงที่ประตูหน้าวัดเทพธิดา ๑ ประตูเหนือป้อมหมูทลวง ๑

กรมพระตำรวจสนมขวา ยิงที่หน้าประตูสำราญราษฎร์ ถนนบํารุงเมือง ๑ ประตูถนนเจริญกรุง ๑

กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งขวา ยิงที่ประตูหน้าวังกรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ คือวังบูรพาภิรมย์เดี๋ยวนี้

กรมพระตํารวจสนมซ้าย ยิงที่ประตูสะพานหัน ๑ ประตูใหญ่วัดราชบุรณะ ๑

กรมพระตำรวจนอกขวา ยิงที่ประตูวัดพระเชตุพน ๑ ประตูท่าเรือจ้างศาลต่างประเทศ ๑ ปืนหามแล่นแห่งละ ๒ บอกทั้งสิ้น

ฝั่งตะวันตกกรมอาสาวิเศษซ้าย ยิงที่ป้อมวิชัยประสิทธิตําบล ๑

กรมอาสาใหม่กรมท่าขวา ยิงที่ถนนวัดโมฬีโลกตำบล ๑

กรมอาสาใหม่กรมวังซ้าย ยิงที่ถนนวัดอมรินทร์ตำบล ๑

กรมอาสาใหม่กรมวังขวา ยิงที่ถนนวังกรมหมื่นเทวานุรักษ์ ตําบล ๑

กรมเรือกันซ้ายขวา ยิงที่ถนนอาจารย์ตำบล ๑ ปืนหามแล่นแห่งละ ๒ บอกเหมือนกัน

รวมตำบลซึ่งยิงปืนฝั่งตะวันออก สัญญาณใน ๑ สัญญาณนอก ๑ ประตูวัง ๒ ป้อมหมู่วัง ๑๖ เขื่อนเพชร ๑๐ ถนนใหญ่ ๒ ประตูใหญ่รอบพระนคร ๒๐ รวม ๕๒ ตําบล ฝั่งตะวันตกป้อม ๑ ถนน ๔ รวม ๕ ตําบล รวม ๕๗ ตําบล

จํานวนปืนที่จ่ายไปยิง ปืนอินฟิน ๓๐ ปืนสามแหม ๖๐ ปืนคาบศิลา ๕ ปืนทอง มหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ๔ ปืนฟินลินปิดสัญญาณนอก ๒ ปืนอย่างไทร ๔ ปืนฝรั่งเปิดหมวก ๒ ปืนทองมนิลา ๒ ปืนทองรางแท่น ๒ ปืนหามแล่น ๘๐ บอก รวมปืนเล็ก ๙๕ ปืนใหญ่ ๙๖ รวม ๑๙๑ บอก กำหนดที่ยิงปืนนั้นยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบก่อน แล้วจึงยิงปืนตับ เมื่อยิงปืนตับแล้วจึงยิงปืนสัญญาณนอกที่ประตูวิเศษไชยศรี แล้วปืนป้อมเขื่อนเพชรยิงไปเป็นลำดับ ประทักษิณรอบพระราชวังและพระนคร

อนึ่ง เมื่อเวลายิงปืนนั้น มีกรมพระตํารวจกับกรมต่างๆ ซึ่ง จะว่าต่อไปเป็นกองตรวจตําบลที่ยิงปืนตามประตูเมืองฝั่งตะวันออก ๔ กอง ฝั่งตะวันตก ๑ กอง คือพระยามหามนตรี พระราชโยธาเทพไปตรวจแต่ประตูใหญ่ศาลต่างประเทศถึงประตูสำราญราษฎร์ ๖ ตําบล พระยามหาเทพ หลวงราชมานู ไปตรวจแต่ประตูเหนือป้อมหมูทลวงถึงหน้าวัดรังษี ๔ ตําบล พระอินทรเทพ หลวงสุรินทรเดชะ ตรวจแต่หน้าวัดบวรนิเวศถึงมุมบ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ ๕ ตําบล พระพิเรนทรเทพ หลวงเสนาภิมุข ตรวจแต่ท่าช้างพระราชวังบวรฯ ถึงท่าพระหน้าประตูศรีสุนทร ๕ ตําบล พระพรหมบริรักษ์ พระสุริยภักดี ไปตรวจฝั่งตะวันตกทั้ง ๕ แห่ง

การสวมมงคลธรรมเนียมแต่เดิม เจ้านายข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในต้องสวมมงคลตั้งสามวัน ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาค่ำวัน ๑๑ ค่ำ ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ไม่ได้เสด็จพระราชดําเนินพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเลย ถึงจะมีการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอก็ไม่เสด็จ แต่เวลาเช้านั้นเสด็จทุกวันไม่ได้ขาด ด้วยการถวายสังฆทานและเลี้ยงพระ ในเวลานั้นถือว่าเป็นการสำคัญพระราชกุศลมาก แต่ถึงไม่ได้เสด็จพระราชดําเนินอย่างนั้น เจ้าพนักงานก็ตั้งผอบพระมหามงคล และที่สรงพระพักตร์ตามแบบทั้งวัน ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ส่วนเจ้านายและข้าราชการซึ่งจะเข้าไปเฝ้าในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ก็ต้องสวมมงคลทั้งสองคืน ต่อเวลาค่ำวันแรม ๑๔ ค่ำ จึงได้เสด็จพระราชดำเนิน ถ้าเจ้านายและข้าราชการสวมมงคลตั้งแต่เวลาเสด็จออกไป แต่ที่ทรงเองนั้นต่อเวลาสวดสมัยธรรมจักรจบแล้ว พอภาณยักษ์ขึ้นจึงได้เสด็จพระราชดําเนินขึ้นในม่าน ประทับราชอาสน์สรงพระพักตร์ ทรงพระมหามงคลซึ่งโยงสายสิญจน์ประทับอยู่จนภาณยักษ์จบแรกจบ ทรงพระมหามงคลคู่ผลัดแล้ว เสด็จพระราชดําเนินกลับ ไม่ได้ทรงฟังภาณยักษ์จบสองต่อไป ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินออกทั้งเช้าทั้งเย็นไม่ได้ขาดเลย แต่เจ้านายข้าราชการซึ่งเฝ้าในวัน ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ โปรดให้ยกเลิกเสียไม่ต้องสวมมงคล พระมหามงคลซึ่งตั้งไว้นั้นก็พระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอบ้าง พระเจ้าลูกเธอบ้างทุกวัน แต่พระเจ้าลูกเธอซึ่งทรงพระเยาว์อยู่นั้น อยู่ข้างจะตื่นทรงมงคลกันจู๋จี๋มาก ที่ได้ทรงวันเดียวไม่สะพระทัยบ่นออดแอดกันไปต่างๆ จึงโปรดให้มีมงคลมาสวมพระราชทานวันละสองพานแว่นฟ้าทั้งสามคืน การที่ทึ่งมงคลนี้ก็มีมาจนเจ้านายเล็กๆ ทุกวันนี้ ต้นเหตุที่จะทึ่งหนักทึ่งหนาเพราะอยากโสกันต์เป็นเบื้องหน้า เห็นเจ้านายเข้ามาฟังสวดและเข้ามาเกศากันต์เวลาเช้ามันให้อยากใจเต้นไปไม่หาย เป็นเช่นนี้ด้วยกันโดยมาก ได้สวมมงคลเข้าก็ดูค่อยสบายวางหน้าวางตาเป็นเจ้าโสกันต์ ถ้าถึงวันยิงอาฏานาได้ถือกระบองเพชรเข้าด้วยยิ่งคมคายขบขันขึ้นมาก ถึงจะหาวนอนให้หวอดๆ เท่าไรก็ทนได้ไม่เป็นไร ใครอยากดูให้เห็นจริงคอยดูพิธีตรุษปีนี้ได้ การทรงพระมหามงคลในวัน ๑๔ ค่ำนั้น เมื่อเวลาภาณยักษ์ขึ้นเสด็จขึ้นข้างในทรงพระมหามงคล แต่ทรงเด็ดเสียที่โยงสายสิญจน์ พระมหามงคลคู่ผลัดก็ทรงสวมพระกรออกไปด้วย บางทีก็พระราชทานผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ได้พระราชทานในสองวันล่วงมาแล้ว บางทีก็ไม่ได้พระราชทาน ทรงอยู่เพียงยิงปืนครั้งแรกแล้วก็เปลื้อง ด้วยประทับอยู่นาน เวลาจะเสด็จกลับทรงสวมพระกรทั้งสองข้าง ไม่ได้ทรงกลับมา กระบองเพชรและพิสมรจ่ายในเวลาภาณยักษ์ เป็นหน้าที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอทรงจ่ายมาแต่เดิม ถึงเวลาก็เสด็จขึ้นไปหลังพระแท่นกับเจ้าพนักงานหยิบถุงออกมา แล้วถวายกระบองเพชรทรงซึ่งจารึกคาถา อริโย อุต์ตโม มัค์โค เป็นต้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้จารึกใหม่แปลกกันกับกระบองเพชรสามัญซึ่งจารึก สัพ์เพเทวาปิสาเจวะ เป็นต้น แล้วจึงได้นำไปที่มุขเหนือส่งข้างในและแจกเจ้านายข้าราชการฝ่ายหน้า แต่คําที่เรียกว่าแจกนี้เป็นแต่สักว่าแจก น่าที่จะเรียกว่าแย่งมากกว่า และเวลาจ่ายแล้วเสียงดั่งเฮอลั่น แล้วกระทบกันดังกรอกแกรกๆ จนเกือบไม่ได้ยินภาณยักษ์ ถ้าโยนลงไปกลางหมู่คนสักมัดหนึ่งคงจะแย่งกันเหมือนแย่งติ้วเป็นแน่

ในวันยิงอาฏานานี้เป็นประเพณีมาแต่เดิม เจ้านายและข้าราชการต้องเข้ามาประชุมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ไม่ใคร่มีใครค่อยเว้นว่าง ด้วยเป็นพระราชพิธีซึ่งจะให้เป็นมงคลทั่วกัน และเป็นเวลายิงปืนกลางคืนค่อยจะอยู่ข้างขับขัน ถึงชั้นเสนาบดีนอนหัวค่ำก็ยังคงรักษาแบบอย่างเดิมอยู่ ไม่ใคร่จะขาดเหมือนการพระราชพิธีอื่นๆ

วันแรม ๑๕ ค่ำ ตั้งแต่เวลารุ่งไปพระสงฆ์ที่สวดภาณยักษ์หยุดแล้ว ขึ้นสวดแผ่เมตตาพรหมวิหารจนเวลาเสด็จออกเลี้ยงพระ เมื่อเลี้ยงพระเสร็จแล้วทรงจุดเทียนหลังครอบพระกริ่งถวาย กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ชาวที่ยกหม้อน้ำมนต์ทองเหลืองตั้งรายตามหน้าพระราชาคณะ แล้วสวดทําน้ำมนต์ตั้ง นโม นัต์ถิเม ยํกิญ์จิ รตนํ โลเก แล้วจึงสวดคาถารัตนสูตร แต่ก่อนสมเด็จพระพุฒาจารย์ ภายหลังสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ดับเทียนชัยด้วยใบพลู เมื่อถึงปลายคาถารัตนสูตร แล้วสวด สัพ์พโรควินิมุต์โต ลงท้าย ยถา ทีโป จ นิพ์พุโต เป็นเสร็จการทำน้ำมนต์ พระสงฆ์ซึ่งเข้าพระราชพิธีทั้งที่พระมหาปราสาทและที่กลางเมืองและประตูเมือง ได้ผ้าสบงองค์ละผืนทั่วกัน การอนุโมทนาวันนี้มีสัพพพุทธาภายหลังอติเรกอีกวันหนึ่ง เป็นส่วนในพระเจ้าแผ่นดิน พระสงฆ์ไปแล้วพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ แล้วทรงเจิมพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง แต่น้ำนั้นใช้ในน้ำพระพุทธมนต์ในครอบพระกริ่งที่เหลืออยู่อีกมากน้อยเท่าใด ภูษามาลานำเข้ามาตั้งถวายในที่สรงข้างใน เทียนชัยซึ่งดับแล้วเหลืออยู่นั้นส่งพนักงานพระศรีหุงสีผึ้งสีพระโอษฐ์

ในเวลาวันนี้พระสงฆ์ที่เข้าในพระราชพิธีนี้กลับไปแล้ว ต้องเที่ยวประน้ำมนต์กําหนดตามหมายรับสั่งของเดิมว่า ประน้ำโปรยทรายเข้าในพระบรมมหาราชวัง พระสงฆ์ ๑๐ รูป บาตรน้ำ ๘ บาตรทราย ๒ ชาวที่ใหญ่รับบาตร รอบพระบรมมหาราชวังชั้นกลาง พระสงฆ์ ๑๐ รูป บาตรน้ำ ๘ บาตรทราย ๒ เหมือนกันเป็นแห่ง ๑ ในโรงพิธีฝั่งตะวันออก พระสงฆ์วัดสุทัศน์ ๑๒ รูป หม้อน้ำ ๑๐ บาตรทราย ๒ ประแต่วัดสุทัศน์มาถึงถนนสี่ทิศ คือแยกถนนบํารุงเมือง ถนนเฟื่องนคร แล้วแยกไปข้างเหนือ ๖ รูป ข้างใต้ ๖ รูป จนถึงป้อมสุดถนนเฟื่องนครทั้งสองข้างแห่งหนึ่ง พระสงฆ์โรงพิธีป้อมพระสุเมรุ ๖ รูป หม้อน้ำ ๕ บาตรทราย ๑ ประไปจนถึงป้อมมหากาฬแห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีป้อมมหากาฬ ๖ รูป มีหม้อน้ำบาตรทรายเท่ากันกับที่ป้อมพระสุเมรุ ประไปถึงป้อมมหาชัยแห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีป้อมมหาชัย ๖ รูป ประไปถึงป้อมมหาฤกษ์แห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีป้อมมหาฤกษ์ ๖ รูป ประไปถึงป้อมพระสุเมรุแห่ง ๑ รวม ๕ แห่ง ผู้ถือบาตรน้ำบาตรทรายกรมพระนครบาล ในฝั่งตะวันตก พระสงฆ์ที่โรงพิธีวัดโมฬีโลก ๖ รูป ประไปถึงศาลหลวงเก่าแห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีศาลหลวงเก่า ๖ รูป ประไปถึงโรงพิธีวัดอรุณแห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีวัดอรุณ ๖ รูป ประไปถึงโรงพิธีถนนอาจารย์แห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีถนนอาจารย์ ๖ รูป ประไปถึงวัดอมรินทร์แห่ง ๑ พระสงฆ์วัดอมรินทร์ ๖ รูป ประรอบพระราชวังหลังแห่ง ๑ รวม ๕ แห่ง หม้อน้ำบาตรทรายก็เท่ากับโรงพิธีประตูเมืองฝั่งตะวันออก และเป็นธุระกรมพระนครบาลรับหม้อน้ำบาตรทรายด้วยเหมือนกัน แต่การที่ประทำน้ำมนต์นอกพระราชวังนี้ จะเลิกเสียแต่เมื่อครั้งใดก็ไม่ทราบ หรือจะเป็นแต่รวมๆ กันไปเอง แต่หมายยังคงขึงแต้อยู่ตามเดิม ที่ประอยู่ทุกวันนี้มีแต่ในพระบรมมหาราชวัง พระราชาคณะ ๔ รูป บาตรน้ำ ๒ บาตรทราย ๒ ขึ้นประบนพระราชมนเทียรทุกแห่งตลอดจนที่พระบรรทม ในเวลาเย็นเจ้าพนักงานเวียนเทียนพระแท่นมณฑลสมโภชพระพุทธรูปและเครื่องราชูปโภค เป็นเสร็จการพระราชพิธี

แต่ในส่วนตรุษนั้น มีการพระราชกุศลประจําปี คือมีการทรงบาตรพระสงฆ์มากขึ้นกว่าปรกติอย่างเทศกาล และมีน้ำอบที่เรียกกันว่าแป้งสด แต่เป็นคำที่เรียกกันอย่างโบราณ ทุกวันนี้ไม่มีใครเรียก ดูกลิ่นอายเหมือนกับจะหอมเย็นๆ แต่สันนิษฐานว่าเป็นอย่างดีหรืออย่างเลวทายไม่ถูก ต้องสืบถามจึงได้ความว่าแป้งสดนั้น คือน้ำอบที่อบด้วยตะคันอย่างเช่นใช้กันอยู่ธรรมดานั้นเอง ปรุงก็ปรุงด้วยแป้งรํ่า แต่เจือน้ำดอกไม้สดลงไปเพื่อจะให้หอมเย็นหรือจะให้เปลืองน้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คงใช้เป็นน้ำอบอย่างเลว แต่ก่อนมาพนักงานในพระบรมมหาราชวัง มีคนหนึ่งเรียกว่าพนักงานแป้งสด อยู่ในบัญชีต่อท้ายพนักงานพระสุคนธ์ พระสุคนธ์นั้นเป็นน้ำอบอย่างดี แป้งสดเป็นน้ำอบอย่างเลว หน้าที่ของพนักงานแป้งสด มีอยู่สองอย่างเท่านั้น คือทำน้ำอบสำหรับสรงพระศรีมหาโพธิในเวลาตรุษคราวหนึ่ง สงกรานต์คราวหนึ่ง ทําน้ำอบที่สำหรับพระราชทานรดเจ้านาย ข้าราชการ ในเวลาสงกรานต์อย่างหนึ่ง นอกนั้นไม่มีธุระอันใด ตัวพนักงานมีมาแต่เดิม ก็ปล่อยให้อยู่ไปจนสิ้นชีวิต ครั้นเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วก็โปรดให้เลิกเสีย แต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว การแป้งสดตกอยู่ในพนักงานพระสุคนธ์เป็นผู้ทํา เมื่อเวลาเช้าทรงบาตรแล้ว เคยกรอกขวดคอปล้องขนาดใหญ่ ๕ ขวด ผ้าสีชมพู ๕ ผืน รองพานทอง หม้อน้าเงิน ๕ หม้อ มาตั้งถวายตัวที่ท้องพระโรงทุกวัน กําหนดมากน้อยเท่าใดนั้นจะเป็นตามจํานวนพระศรีมหาโพธิซึ่งทรงนับถือ คือวันที่หนึ่งไปสรงพระพุทธรูปและพระศรีมหาโพธิ วัดพระเชตุพนแห่ง ๑ วัดมหาธาตุ ซึ่งเรียกว่าวัดพระศรีสรรเพชญตามเดิมแห่ง ๑ วันที่สอง วัดอรุณราชวรารามแห่ง ๑ วัดสุทัศน์เทพวรารามแห่ง ๑ วันที่สาม วัดบรมนิวาสแห่ง ๑ วัดสระเกศแห่ง ๑ วัดบวรนิเวศวิหารแห่ง ๑

อนี่งในตรุษสามวันนี้ มีตั้งศาลาฉ้อทาน ๕ ตําบล คือหน้าวัดบวรนิเวศตําบล ๑ หน้าวัดมหาธาตุ ซึ่งยังคงเรียกอย่างเก่าว่า หน้าวัดพระศรีสรรเพชญตำบล ๑ วัดสุทัศน์เทพวรารามตำบล ๑ วัดพระเชตุพนตําบล ๑ วัดอรุณราชวรารามตําบล ๑ แต่เดิมว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีที่หน้าวัดราชโอรสด้วย จะเป็นเลิกที่หน้าวัดราชโอรสมาวัดบวรนิเวศหรือประการใดไม่ทราบ มีโรงปลูกขึ้นใหม่ทุกแห่ง วิเสทห้าโรง เป็นผู้ทําครัวและเป็นผู้เลี้ยง และมีผู้กํากับ คือกรมสัสดี มหาดไทย กลาโหม ชาววังตัวสี่ ชาวคลัง สรรพากร มหาดเล็ก วังนอกซ้ายขวา จ่ายข้าวสารโรงหนึ่งข้าวขาววันละ ๕ ถัง ข้าวแดงวันละ ๑๐ ถัง ห้าโรงเป็นข้าวขาววันละ ๒๕ ถัง ข้าวแดงวันละ ๕๐ ถัง สามวันเป็นข้าวขาว ๗๕ ถัง ข้าวแดง ๑๕๐ ถัง แต่ส่วนที่ซื้อกับข้าวนั้นเมื่อถึงกําหนดตรุษและสงกรานต์แล้ว ท้าวอินทร์สุริยาก็นำเงิน ๑๐ ชั่งมาถวายทรงจบพระหัตถ์ แล้วจึงไปจ่ายให้แก่นายวิเสททั้ง ๕ โรง และมีในหมายเกณฑ์ให้กรมแสงจัดมีดโกนและกรรไตรไปประจําอยู่ที่โรงทานทั้ง ๕ ตําบล สำหรับราษฎรจะได้ตัดผม ดูการที่จัดนั้นจะเป็นการสนุกอย่างศาลาฉ้อทานพระเวสสันดรอย่างเก่าๆ จะให้มีพรักพร้อมทุกอย่าง แต่การเลี้ยงทั้งปวงนั้นไม่ต้องสงสัยเลยคงเป็นอย่างสูง[๗]เป็นแน่ ของอาหารอย่างสูงเช่นนี้ต้องใช้ท้องเหล็กจึงจะพอรับรอง แต่มีที่พิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือเจ้านายขุนนางมักจะได้สำรับที่ท้าวอินทร์สุริยา ไปเที่ยวแจกถึงวังถึงตำหนัก ถ้าเป็นของเช่นนี้แล้วอยู่ข้างจะทำพอใช้ แต่เจ้านายที่ในวังนี้ บางแห่งก็เข้าใจกันว่าของที่ท้าวอินทร์สุริยาไปให้นั้นเป็นให้สำหรับทำบุญนำไปถวายพระสงฆ์เสียก็มี ที่จะเสวยเองนั้นมีน้อย ข้าหลวงกินนั้นมีมาก แต่ที่แท้นั้นสำหรับจะได้มาลงในริโปตหางว่าวถวายพระราชกุศล ซึ่งกรมวังสำหรับมาตะโกนตรงหน้าพระที่นั่งอย่างปลาปล่อย อ้างได้ว่าพระบรมวงศานุวงศ์เสวยเท่านั้นองค์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเท่านั้น พระสงฆ์และราษฎรเท่านั้น หางว่าวถวายพระราชกุศลนี้จะเหมือนกันทุกปีหรือแปลกกันก็แคลงอยู่ เพราะไม่ใคร่จะได้ฟัง แว่วๆ บ้างก็ไม่จํา ด้วยรู้ว่าเป็นการช่างเถอะโดยมาก ได้ขอจำนวนหางว่าวที่กรมวังมาเก็บยอดบัญชีลงไว้เป็นตัวอย่างปีหนึ่งมีจำนวนดังนี้ โรงทานทั้ง ๕ โรงมีคนกินเลี้ยง ๓ วัน พระสงฆ์ ๔๑๒ สามเณร ๒๘๓ ข้าราชการ ๒๔๑ ราษฎรชายหญิง ๓๓๓ นักโทษ ๒๒๕ รวม ๑๔๙๔ จำนวนสำรับที่เลี้ยง สำรับเอก ๓๑๓ สำรับโท ๒๕๙ สำรับตรี ๓๑๒ รวม ๘๘๔ สำรับ ๚

[๑] เมื่อทรงพระราชนิพนธ์นี้เรื่องนี้แล้วช้านาน เสด็จประพาสชวาทวีปครั้งหลัง เมื่อประทับอยู่ที่เมืองโซโลราชธานีของสุรเขต สบเวลาเจ้านครสุรเขตทำพิธีปีใหม่ พิธีนั้นมียิงปืนขับไล่แม่มดแทนปิศาจ ทํานองเดียวกับแบบพิธีตรุษอย่างโบราณ ทรงพระราชดำริว่าพิธียิงปืนอาฎานาที่จริงเดิมเห็นจะเป็นพิธีในอินเดีย ลังกาเป็นแต่เอาพระพุทธศาสนาเข้ามาปนในพิธี

[๒] พระยาโชฎึก (เสถียร) เป็นผู้ทําน้ำประปาจําหน่ายในสําเพ็งก่อน

[๓] เสาในพระมหาปราสาท เอาออกเมื่อพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทั้ง ๔ เสา

[๔] เพราะโปรดให้จัดเป็นการพิเศษ และมีแห่เป็นพื้น

[๕] สมเด็จพระวันรัตไปเป็นประธานทำพิธี ในพระราชวังบวร ฯ

[๖] เล่นฟัน หมายความว่า เล่นตลก

[๗] คําว่าสูงตรงนี้ มาแต่ภาษาอังกฤษ หมายความว่าจวนบูด

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ