พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท
การพระราชพิธีนี้ ที่มีมาในกฎมนเทียรบาล เป็นความรวมๆ อย่างยิ่ง เหมือนอย่างพิธีอื่น คือว่าในรัตนสิงหาสน์เบญจาเก้าชั้น ฉัตรทอง ฉัตรนาก ฉัตรเงิน ฉัตรเบญจรงค์ เสด็จบนเบญจาเก้าชั้นและชั้นเจ็ด ฝ่ายซ้ายขุนราชแพทย์ ฝ่ายขวาสมุหประธานนาหมื่น หัวเมืองทั้งสี่ขึ้นก่อน จึงนาหมื่นจตุสดมภ์ ลงมาถึงนาพันหกร้อยและนาห้าพันหลังเอง กว่านั้นสมุหประธานรับหลัง นาหมื่นกะละออมทอง นาห้าพัน นาสามพัน กะละออมนาก นาพันหกร้อย กะละออมเงิน นอกราชวัตินอกฉัตร ขัดแห่หัวหมื่นองค์รักษ์นารายณ์ ผูกพระปราบพระชายานุภาพยืนที่ อ่างทองรองพระบาท ครั้นเสด็จทูลน้ำล้างพระบาทเสด็จออกเลี้ยงเอากะละออมน้ำตั้งศีรษะ ผ้าพอกโอบกะละออมน้ำ ตรัสยื่นหมากสามคําเอาศีรษะรับ มีข้อความในกฎมนเทียรบาลเพียงเท่านี้
ข้อความในจดหมายขุนหลวงหาวัดว่า “เดือนเก้า (ซึ่งข้าพเจ้าเปลี่ยนมาเป็นเดือน ๗ ตามเหตุที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น) ชื่อพิธีนารายณ์บรรทมสินธุ์ เสด็จสรงสนานในมณฑปกลางสระ ปุโรหิตจึงถวายพระมุรธาภิเษก แล้วจึงถอดฉลองพระองค์ แล้วเปลื้องพระภูษาให้แก่พราหมณ์” มีความเพียงเท่านี้
ข้อซึ่งว่าด้วยที่สรงหรือที่ทำพิธีแปลกกัน คือแห่งหนึ่งว่าในรัตนสิงหาสน์ คําว่า “ในรัตนสิงหาสน์” นี้มักใช้เป็นตรงหน้าพระบัญชรหรือหน้ามุขเด็จซึ่งเป็นที่เสด็จออก มณฑปพระกระยาสนานนั้นคงจะตั้งอยู่หน้าปราสาทซึ่งเป็นที่ชาลากว้างๆ แต่อีกอย่างหนึ่งซึ่งว่ามณฑปในกลางสระนั้น จะเป็นยักย้ายไปใหม่อย่างไรอยู่ ตามที่ว่าก่อนดูเหมือนต้องทํามณฑปพระกระยาสนาน เช่นใช้ในการราชาภิเษกขึ้นใหม่ปีละครั้ง หรือตัวไม้เก่านั้นแลแต่รื้อลงเสียต้องกลับคุมขึ้นใหม่ปีละครั้ง ทั้งเบญจาเก้าชั้นคือยกพื้นขึ้นไปเป็นชั้นๆ ถึงเก้าชั้นต้องทําทุกปี กว่าจะแล้วก็คงหลายๆ วัน ต้องทําต้องรื้ออยู่เสมอ ที่ว่าเป็นมณฑปกลางสระนั้น มณฑปก็ลงกันกับมณฑปพระกระยาสนาน หรือจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินภายหลังทรงเห็นว่าต้องทําๆ รื้อๆ เป็นการลำบาก จึงได้คิดทำขึ้นเสียเป็นเครื่องไม้จริง อยู่คงที่ไม่ต้องรื้อ เมื่อถึงเวลาการพระราชพิธี จึงตกแต่งผูกม่านปักฉัตรประดับประดาเครื่องสดขึ้นคราวหนึ่ง เมื่อเวลาอยู่ปรกติจะทิ้งไว้แต่มณฑปโทงเทงเช่นนั้น ก็จะไม่สู้งามและไม่สู้มีประโยชน์อะไร จึงได้คิดขุดสระประกอบแวดล้อม ให้เป็นที่ประพาสชมผักชมปลาอะไรชนิดเดียวกันกับพระแท่นมุรธาภิเษก ที่ปากอ่างปลาเงินปลาทองข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยก็เป็นได้ สถานที่ที่ทำพิธีจึงได้แปลกกันไป แต่อาการซึ่งประพฤติพระราชพิธีนั้น ข้างฝ่ายหนึ่งว่าเป็นชำระพระบาท ข้างฝ่ายหนึ่งว่าเป็นสรงมุรธาภิเษก ไกลกันเป็นพระเศียรข้างหนึ่ง พระบาทข้างหนึ่งทีเดียวนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าซึ่งจะไปนั่งชําระพระบาทแล้วไม่สรงด้วยนั้นดูกระไรๆ อยู่ หรือคำที่เรียกว่าทูลน้ำล้างพระบาทนั้น จะเป็นแต่คำยกย่องให้สมควรแก่พระเจ้าแผ่นดิน เช่นคําว่าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท คำว่าทูลน้ำล้างพระบาทจะเป็นถวายน้ำสรงเสียดอกกระมัง มีเค้ามูลอยู่อีกอย่างหนึ่งในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ครั้งใดๆ มา เจ้านายข้าราชการไม่มีได้เคยถวายน้ำเลย มีแต่สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะและพระอาจารย์วิปัสสนา กับเจ้าพนักงานภูษามาลาชาวที่ และพราหมณ์อีกพวกหนึ่งเป็นผู้ได้ถวายน้ำ พระสงฆ์นั้นถวายน้ำรดพระขนองอย่างผู้ใหญ่รดผู้น้อย ภูษามาลาชาวที่เป็นแต่ส่งหม้อถวายอย่างข้าส่งน้ำถวายเจ้า แต่พราหมณ์นั้นพระมหาราชครูพิธีคนเดียวได้ถวายพระขนอง นอกนั้นถวายที่พระหัตถ์ แต่ครั้นมาเมื่อบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ มีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเมื่อยังไม่ได้บวรราชาภิเษกเป็นต้น ข้าราชการมีสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังเป็นต้น ถวายน้ำหลายองค์หลายคนด้วยกัน ทรงจัดพระเต้าเป็นลำดับยศให้ถวาย แต่ที่ถวายนั้นก็เป็นแต่เข้าไปยืนถวายเหมือนอย่างเจ้าพนักงานภูษามาลาและชาวที่ แล้วทรงรับมาสรงเอง ถึงการบรมราชาภิเษกในรัชกาลปัจจุบันนี้ ก็ได้ไช้ตามแบบนั้นต่อมา แต่ไม่ได้ยินพระกระแสรับสั่ง หรือได้ยินผู้ใดแปลว่าธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุใด ก็ธรรมเนียมที่ถือกันอยู่ในปรกติ เชิญรดน้ำตั้งกรมเป็นต้น ก็ย่อมเลือกเชิญผู้มีอายุสูงกว่า หรือที่มียศบรรดาศักดิ์ใหญ่กว่าให้เป็นผู้รดน้ำ ไม่เชิญผู้ที่มีอายุต่ำกว่าหรือมียศต่ำกว่าให้รดน้ำ ก็ในการบรมราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดจะมียศยิ่งขึ้นไปกว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นก็ไม่มีแล้ว จะว่าที่เจริญพระชนมพรรษากว่ามีอยู่ก็ตามเถิด ก็พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็อ่อนพระชนมพรรษากว่า เหตุใดจึงโปรดให้ถวายน้ำด้วยเล่า เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาในทางกฎหมายละเอียดลออมาก และในการพระราชพิธีนี้ก็เป็นของโปรดมาก ทรงเสาะแสวงหาแบบเก่ามาทําโดยตรงๆ บ้าง โดยเอาแทรกปนเจือกับการอื่นๆ บ้าง การเรื่องถวายน้ำนี้ คงได้ทรงพระราชดําริโดยรอบคอบแล้ว ทรงเห็นว่าไม่เป็นการที่ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศลง กลับเป็นการเพิ่มพระเกียรติยศให้ยิ่งขึ้น จึงได้โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ถวายน้ำ เหตุซึ่งทรงพระราชดําริยกมาเป็นตัวอย่างนั้น เห็นจะเรื่องทูลน้ำล้างพระบาทนี้เอง แต่จะเอาเค้าเงื่อนให้แน่นอนเป็นพิธีต่างหากไม่ถนัด ด้วยเลือนเหลือที่จะเลือนเช่นคัดมาข้างต้นนั้น จึงได้ทรงยกไปใช้เสียในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เหตุทูลน้ำล้างพระบาทอย่างเก่า ถ้าคิดดูตามที่กําหนดศักดินาไว้ ว่าเป็นผู้ซึ่งควรถวายน้ำนั้น ดูจะหลายสิบคนเต็มที เพราะกําหนดตั้งแต่นาหมื่นลงมาจนถึงนาพันหกร้อย หรือจะแบ่งจําเพาะแต่ที่เป็นจตุสดมภ์มนตรีและหมอๆ ครูๆ พวกนายทหารเช่นเจ้ากรมพระตํารวจ กรมช้างกรมม้าจะไม่ใช้ดอกกระมัง ด้วยพวกเหล่านั้นมีหน้าที่ประจําการ ต้องแห่เสด็จต้องแวดล้อมตามราชวัติ ข้อซึ่งขุนหลวงหาวัดว่า สรงแล้วเปลื้องเครื่องพระราชทานพราหมณ์นั้น ก็ไม่เป็นการอัศจรรย์อะไร สรงมุรธาภิเษกก็คงต้องเปลื้องพระภูษาพระราชทานพราหมณ์ทุกครั้ง การพระราชพิธีนี้ดูจะจัดคล้ายการบรมราชาภิเษก หรือการออกแขกเมือง คือมีช้างพระที่นั่ง ม้าพระที่นั่ง ยืนประจําเกย ซึ่งได้ออกชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพ เจ้าพระยาปราบไตรจักรไว้ และจะมีการสมโภชเลี้ยงลูกขุน คือเลี้ยงแบงเควสใหญ่เหมือนอย่างการพระราชพิธีออกสนามใหญ่นั้นด้วย
ข้าพเจ้าไปจนเสียแต่เรื่องลงปลาย ที่เอากะละออมน้ำตั้งศีรษะ แล้วตรัสยื่นหมากสามคําเอาศีรษะรับ ที่ว่านั้นว่าในเวลาเลี้ยงเมื่อเสร็จการสรงแล้วด้วย เป็นจนความคิดไม่รู้ว่าจะแปลว่ากระไร ถ้าจะเล่นเอากะละออมตั้งหัวขุนนางทุกคนดูก็จะเหลือทน จะไปถูกลื่นๆ เข้าบ้างหรืออย่างไรตั้งไม่อยู่ จึงต้องเอาผ้าพอกโอบเป็นเสวียนขึ้นรับไว้ การที่จะยื่นหมากลงไปนั้นดูจะยากทั้งผู้รับผู้ยื่น ถ้ามีผมอยู่ก็พอจะแทรกเสียดอยู่ในผมได้ ถ้าถูกเกลี้ยงๆ จะทรงวางก็จะเลื่อนตกบ่อยๆ โดยว่าทรงวางได้แล้ว ผู้ที่ได้รับพระราชทานจะถอยหลังกลับออกมา ก็จะต้องย่องอย่างเอก ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้เห็นจะได้ฮากันลั่นๆ ไป การซึ่งว่าไว้เช่นนี้ จะเป็นด้วยแต่งสั้นเกินไป หรือจะเป็นด้วยมีผู้ใดแป้นอย่างเอกขึ้นสักคนหนึ่ง เวลาที่จะขึ้นไปถวายน้ำยกขึ้นทูลศีรษะมือประคองขึ้นไป เวลาที่พระราชทานหมากก็เอาศีรษะยื่นเข้าไปรับแทนผ้ากราบ แล้วจึงเอามือหยิบเหมือนผู้หญิงถวายของพระอย่างนั้นบ้างดอกกระมัง แต่การพระราชพิธีทั้งสองคือทูลน้ำล้างพระบาทหรือนารายณ์บรรทมสินธุ์นี้ ก็ไม่มีปรากฏว่ามีพิธีพราหมณ์อย่างใด ดูพราหมณ์ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร และพิธีทั้งสามอย่าง คือ เคณฑะ ทูลน้ำล้างพระบาท และนารายณ์บรรทมสินธุ์นี้ ไม่ได้มีทําที่กรุงรัตนโกสินทรนี้เลย นับว่าเป็นพิธีเลิกสูญแล้วทั้งสิ้น ๚