การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม
๏ เมื่อพระราชทานแจกเทียนให้พระบรมวงศานุวงศ์ไปจุดตามวัดเสร็จแล้วเสด็จขึ้น เป็นสิ้นการในเวลาเช้า เวลาบ่าย เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนินออกทางพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จวัดพระเชตุพนก่อน แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับทางพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อจะทรงจุดเทียนสวดมนต์ที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ คือพระสำหรับซึ่งจะฉันในการสดับปกรณ์กาลานุกาลในวันแรมค่ำหนึ่งเวลาเช้า แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ต้องมีพระราชกิจเพิ่มเติมขึ้นอีก คือต้องเสด็จพระราชดำเนินพระพุทธมนเทียร และพระพุทธรัตนสถาน พระที่นั่งบรมพิมานก่อน แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินวัดพระเชตุพนทางพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จขึ้นพระอุโบสถก่อน ทรงจุดเทียนพรรษาและถวายเครื่องสักการะเสร็จแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินถวายเครื่องสักการะที่พระโลกนาถ แล้วทรงจุดเทียนพรรษาและถวายเครื่องสักการะในพระวิหารทั้งสี่ทิศ พระเจดีย์ทั้งสี่องค์ และพระพุทธไสยาสน์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกทางประตูข้างการเปรียญ ข้ามถนนไปตำหนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ถวายเครื่องสักการะพระอัฐิ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกุฎีพระพิมลธรรม ถวายพุ่มแต่เฉพาะองค์เดียว ถึงว่าเมื่อพระธรรมเจดีย์ยังอยู่ก็ไม่ได้พระราชทาน เพราะเหตุว่าพระพิมลธรรมเป็นผู้รักษาพระอัฐิ[๑] การเสด็จพระราชดำเนินวัดพระเชตุพนนี้ กว่าจะนมัสการเสร็จทุกแห่งอยู่ในชั่วโมงครึ่งทุกปี
วันแรมค่ำหนึ่งเวลาเช้า เสด็จพระราชดำเนินออกสดับปกรณ์กาลานุกาลเหมือนอย่างเดือนอื่นๆ ทุกคราว แปลกแต่มีเครื่องสักการะสำหรับเข้าพรรษา ทรงประเคนองค์ละตะลุ่ม เมื่อพระสงฆ์กลับแล้ว เสด็จพระราชดำเนินออกเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากร ในรัชกาลที่ ๔ มีเสด็จพระบวรราชวัง ตามคำเล่าว่าในวัน ๑๕ ค่ำนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ยังทรงสบายปรกติอยู่ ก็เสด็จพระราชดำเนินลงมาเฝ้าในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดเทียนพรรษาเหมือนกัน แต่ตัวข้าพเจ้าเองไม่ได้จำได้ว่าเสด็จลงมาเลย เคยเห็นแต่เสด็จลงมาในการอื่นๆ คือถือน้ำสองคราวเป็นต้น ปีหนึ่งไม่เคยสังเกตว่ามากกว่าสามครั้ง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เสด็จพระราชดำเนินพระบวรราชวังปีละครั้งหนึ่งไม่ขาดเลย ถ้าจะเป็นสองครั้งก็มีโสกันต์ การที่เสด็จพระราชดำเนินนั้น อยู่ในเวลาเที่ยงหรือบ่ายโมงหนึ่ง ประทับที่พระที่นั่งศิวโมกข์นมัสการพระเสริม[๒]แล้ว จึงเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ จุดเทียนพรรษา แล้วสดับปกรณ์พระอัฐิกรมพระราชวังสามพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า เสด็จออกมาเฝ้าที่ปากฉากข้างใต้ตรงที่ประทับ เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินเช่นนั้น มีพระยาณรงค์วิชัย เดี๋ยวนี้ ยังเป็นจมื่นมหาสนิท[๓]อยู่ ตั้งเครื่องพระสุธารสมีเครื่องแกล้มทุกคราว ประทับอยู่จนบ่ายสองโมงบ้างสามโมงบ้าง จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ
แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินพระราชวังบวรฯ เลย เป็นแต่เสด็จออกสดับปกรณ์ และเปลื้องเครื่องพระแก้วแล้วเสด็จขึ้น บางทีก็ย้ายเสด็จพระราชดำเนินจุดเทียนพรรษาวัดพระเชตุพนมาไว้วันแรมค่ำหนึ่ง ถ้าเช่นนั้นเวลาเช้ามักจะไม่ใคร่เสด็จพระราชดำเนินออกเปลื้องเครื่องพระแก้ว ด้วยเป็นเวลาแดดร้อนจัดนัก
ในวันแรมสองค่ำ เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนินวัดบวรนิเวศ แต่มักจะเสด็จพระราชดำเนินเวลาค่ำโดยมาก ทรงนมัสการพระชินศรี พระเจดีย์ พระศรีศาสดา[๔] แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระตำหนักกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญในวัดบวรนิเวศนั้น รับเสด็จอยู่บนตำหนักพร้อมกัน ทรงถวายพุ่มทั่วทุกรูป แต่พระอันดับไม่ได้พระราชทานด้วย แล้วประทับรับสั่งอยู่จนห้าทุ่มบ้างสองยามบ้าง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระปั้นหยา[๕]เป็นการเยี่ยมเยียนด้วยทุกปี การถวายพุ่มทั่วทั้งวัด มาเกิดมีขึ้นที่วัดราชประดิษฐ์ในชั้นหลัง ตั้งแต่ปีแรกพระสงฆ์มาอยู่ เมื่อไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินจุดเทียนพรรษาวัดพระเชตุพนแล้ว เสด็จพระราชดำเนินในวันแรมค่ำหนึ่งซึ่งเป็นวันพระสงฆ์เข้าพรรษา ทรงถวายพุ่มทั้งวัด ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็เสด็จพระราชดำเนินวัดบวรนิเวศในวันแรมสองค่ำเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่พระสงฆ์อันดับในวัดบวรนิเวศ ที่ทรงคุ้นมาแต่เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรยังมีอยู่โดยมาก ที่ไม่ทรงรู้จักนั้นมีน้อย จึงได้ทรงถวายพุ่มทั้งวัด เมื่อพระสงฆ์ถึง ๕๐ เศษ ๖๐ รูปเช่นนั้น จึงได้ย้ายลงมารับพุ่มพร้อมกันในพระอุโบสถ เว้นไว้แต่พระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงผนวชภิกษุและสามเณร ยังคงเสด็จพระราชดำเนินไปถึงที่ตำหนัก แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับมาถวายพุ่มที่วัดราชบพิธและวัดราชประดิษฐ์ทั่วทั้งวัด เสด็จพระราชดำเนินแต่เวลาเย็น อยู่ในยามหนึ่งจึงได้กลับพระบรมมหาราชวัง
สถานที่มีเครื่องสักการะถวายในการเข้าพรรษา ในพระบรมมหาราชวังที่หอพระเจ้าแห่งหนึ่ง สำหรับพระพุทธรูปฉลองพระองค์และสำหรับพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษา ใช้พุ่มย่อมๆ เท่าจำนวนพระ หอพระบรมอัฐิสำหรับพระพุทธรูปพระชนมพรรษาสามรัชกาล หอพระน้อยสำหรับสมเด็จพระสังฆราช และพระพุทธโฆษาจารย์[๖] พระที่นั่งบรมพิมานสำหรับพระพุทธรูปพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๔ พระที่นั่งไพศาลทักษิณสำหรับพระสยามเทวาธิราช พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทสำหรับพระพุทธบุษยรัตน์น้อย พระสัมพุทธพรรโณภาศ พระพุทธรัตนสถาน สำหรับพระพุทธบุษยรัตน์มีต้นไม้ทองเงินด้วยคู่หนึ่ง พระพุทธมนเทียรสำหรับพระเจดีย์ พระพุทธสิหิงค์ พระฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ หอศัสตราคม หอเสถียรธรรมปริต พระภูมิหอแก้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระสัมพุทธพรรณี พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป หอพระมนเทียรธรรม หอราชกรมานุสร หอราชพงศานุสร พระคันธารราษฎร์ พระวิหารยอด พระศรีมหาโพธิ หอพระนาค เลยมาตามของเก่า เดี๋ยวนี้ไม่มีพระพุทธรูปแล้ว ก็เห็นจะไปรวมกันอยู่วิหารยอด หอพระคันธารราษฎร์ท้องสนามหลวงในพระราชวังบวรฯ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พระที่นั่งวังจันทร์คืออิศเรศราชานุสร วัดพระเชตุพน พระพุทธเทวปฏิมากร พระพุทธไสยาสน์ พระโลกนาถ พระวิหารทิศทั้ง ๔ พระเจดีย์ ๔ พระศรีมหาโพธิหนึ่ง พระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตหนึ่ง วัดบวรนิเวศ พระพุทธชินศรี มีต้นไม้ทองเงินด้วยคู่หนึ่ง พระศรีศาสดา พระนิรันตราย พระมุขตะวันออก พระมุขตะวันตก หอไตร พระไพรีพินาศ พระพุทธไสยาสน์ พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระพุทธวชิรญาณ พระพุทธปัญญาอัคคะ วัดราชประดิษฐ์ พระพุทธสิหิงค์ พระชินราช พระชินศรี พระศาสดา พระนิรันตราย พระศรีมหาโพธิ หอไตร วัดราชบพิธ พระประธาน พระนิรันตราย พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ วัดนอกนั้น บรรดาที่มีเทียนพรรษา ก็มีเครื่องสักการะสำรับหนึ่งทุกๆ วัด อนึ่ง วัดบรมนิวาส วัดปทุมวนาราม สองวัดนี้พระสงฆ์เคยได้รับพระราชทานเทียน ๑๐ เล่ม ธูป ๑๐ ดอก พุ่มเล็กพุ่ม ๑ มาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ครั้นในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็คงได้อยู่ตามเดิม เติมวัดเทพศิรินทร์ขึ้นอีกวัดหนึ่งได้เหมือนกัน อนึ่ง ต้นนิโครธที่สวนสราญรมย์ ก็มีเครื่องสักการะด้วยสำรับหนึ่ง
ส่วนพระราชาคณะฐานานุกรมหัวเมือง คือกรุงเก่า เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี ก็ได้พระราชทานกระจาดเครื่องสักการะเทียนร้อยเหมือนกัน แต่ให้เจ้าพนักงานส่งออกไป ลางทีก็ได้ถึงพระบ้าง ตกเรี่ยเสียหายโดยมาก ครั้นมาในแผ่นดินปัจจุบันนี้พระสงฆ์หัวเมืองเข้ามากรุงเทพฯ ในการฉลองไตร พากันมาทวงที่เจ้าพนักงานในกรุงว่าไม่ได้เทียนเนืองๆ ภายหลังตกลงยินยอมกันเองกับเจ้าพนักงาน ให้เก็บรอไว้จนเวลาฉลองไตรจึงได้มารับโดยมาก การถวายเครื่องสักการะเข้าพรรษานั้นก็ยิ่งเป็นการเล่นมากขึ้น พระสงฆ์ผู้ที่ได้รับต้องการก็แต่เทียนร้อยมัดเดียว พุ่มและต้นไม้ก็กระนั้นแล แต่กระจาดกับกระทงเมี่ยงแล้วกลับเป็นการอันหนัก เมื่อจะสังเกตดูก็ได้ วันถวายพุ่มที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะแลเห็นกระทงเมี่ยงทิ้งเกลื่อนไปตามพระระเบียงมากกว่าอย่างอื่น รองลงไปก็กระจาดมีทิ้งอยู่บ้าง พุ่มกับต้นไม้หักๆ โค่นๆ เกลื่อนกลาดอยู่ก็มี การซึ่งผัดกันไปจนออกพรรษาแล้วจึงมารับนั้น ก็แปลว่ารับเทียนร้อยนั่นเอง แต่ครั้นภายหลังมานี้ เวลาเข้าพรรษาแล้วเคยเสด็จพระราชดำเนินพระราชวังบางปะอิน ทรงถวายพุ่มพระพุทธรูปและพระสงฆ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จึงโปรดให้เป็นกำหนดเสียว่า วันแรมแปดค่ำให้พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญในกรุงเก่าและหัวเมืองที่ใกล้เคียงมารับพระราชทานฉันในพระอุโบสถบ้าง การเปรียญบ้าง ศาลาบ้าง แล้วทรงถวายพุ่มเหมือนอย่างในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เป็นอันได้ไปจริงๆ ทั่วกัน คงมารับในเวลาฉลองไตรแต่หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันออก
เครื่องสักการะสำหรับวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ คือ พระพุทธนฤมลธรรโมภาศ ๑ พระสาวก ๘ พระนิรันตราย ๑ พระลอยถาด ๑ พระจงกรม ๑ พระศรีมหาโพธิ ๑ พระคันธารราษฎร์ ๑ พระฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ที่การเปรียญ ๑ พระนาคปรกศิลา ๑ หอไตร ๑ พระสงฆ์อันดับและสามเณรวัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้เทียนแพหนักเล่มละกึ่งตำลึง พุ่มขนาดกลาง วัดเสนาสนาราม วัดชุมพลนิกายาราม วัดกระวิศราราม วัดมณีชลขันธ์ ได้เทียนกำพุ่มเล็กเหมือนวัดบรมนิวาส
อนึ่ง ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ มา โปรดให้ข้างในออกถวายพุ่มพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และบางปีที่ข้าพเจ้าจำได้นั้นเมื่อข้าพเจ้าบวชเณร โปรดให้ข้างในไปถวายพุ่มพระสงฆ์สามเณรที่วัดบวรนิเวศวิหารครั้งหนึ่ง และวัดราชประดิษฐ์หลายครั้ง ในรัชกาลปัจจุบันนี้การถวายพุ่มพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศคงอยู่ เพิ่มพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสขึ้นอีกองค์หนึ่ง และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเกาะบางปะอิน โปรดให้ข้างในไปถวายพุ่มพระสงฆ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติทุกปี ๚
อนึ่ง ในวันนักขัตฤกษ์เข้าพรรษาสามวันนี้ มีการสวดมหาชาติคำหลวงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามมาแต่โบราณ เรื่องพระมหาชาติคำหลวงนี้เป็นของพระไตรโลกนาถทรงธรรม ได้ทรงเรียบเรียงขึ้นไว้ด้วยทรงพระปรารภอย่างใด มีข้อความปรากฏในหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษปีนี้ แผ่นที่ ๓๖ หน้า ๔๒๗ แล้ว ข้าพเจ้าไม่กล่าวซ้ำถึงพระราชปรารภเดิมนั้นอีก จะขอกล่าวถึงแต่ตัวหนังสือพระมหาชาติคำหลวงนั้นเป็นเครื่องส่องให้เห็นความรู้ของพระเจ้าทรงธรรม ว่าพระองค์ทรงทราบอักขรวิธี ทั้งภาษามคธภาษาไทยและพากย์ภาษาอื่นต่างๆ ลึกซึ้ง และประกอบด้วยพระสติปัญญา ฉลาดในการที่จะประพันธ์ผูกลิลิต ร่ายกาพย์ โคลงฉันท์ ให้ไพเราะได้เป็นอย่างยิ่ง การที่ทรงแปลภาษาคาถามคธลงเป็นภาษาไทยให้เป็นลิลิตโคลงฉันท์กาพย์ต่างๆ สลับกันไป อาศัยข้อความที่จะต้องการกล่าวช้ากล่าวเร็วให้สมควรแก่เนื้อความ ความคิดที่ทรงแต่งหนังสือเช่นนั้นเป็นอย่างแปลกประหลาดเกิดขึ้นใหม่ มิได้มีประสงค์ที่จะเลียนแบบจากแห่งใด เหมือนอย่างนักปราชญ์ทุกวันนี้พอใจแต่เลียนหนังสือเก่านั้นเลย ถ้อยคำซึ่งกล่าวไว้ในพระมหาชาติคำหลวงเป็นคำที่ลึกซึ้งเกินกว่าคำพูดที่เราพูดจากันอยู่ทุกวันนี้ ที่แปลไม่ออกว่าจะหมายความอย่างไรมีมากคำ เป็นหนทางที่ผู้มีความรู้และมีสติปัญญาจะพิจารณาตริตรอง สืบสวนหาศัพท์โบราณ เสาะหาทางมาแห่งศัพท์ซึ่งใช้กันอยู่ในภาษาไทย ที่แปลไม่ออกไม่ทราบต้นเหตุที่มาได้กว้างขวางมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายอยู่ ด้วยหนังสือมหาชาติคำหลวงนั้นขาดหายเสียในครั้งบ้านแตกเมืองเสียหลายฉบับหาไม่ได้ ที่ยังคงอยู่เดี๋ยวนี้ คือ ทศพร หิมพานต์ วันประเวศ ชูชก มหาพน กุมาร มหาราช นครกัณฑ์ ส่วนฉบับที่ขาดนั้น มีผู้ทำเพิ่มเติมขึ้น แต่โวหารและความรู้ห่างไกลกันไม่ถึงพระราชนิพนธ์ของเก่า แต่ซึ่งเรายังได้พบอ่านเท่าที่มีอยู่นี้ก็นับว่าเป็นการดีนักหนาอยู่แล้ว ควรจะสรรเสริญท่านที่ได้ทรงแต่งหนังสือนี้ไว้ ให้เราได้รู้ถ้อยคำของคนโบราณซึ่งเป็นที่น่าจะรู้อย่างยิ่ง
แต่เมื่อจะพิเคราะห์ความรู้ของพระเจ้าทรงธรรมโดยละเอียดแล้ว ก็เห็นว่าพระองค์จะทรงทราบพระไตรปิฎกมากจริง และทรงทราบอักขรวิธีในภาษาไทยเป็นที่หนึ่งไม่มีผู้ใดเสมอในกาลครั้งนั้น แต่ถึงว่าทรงทราบมากเช่นนั้น ก็เห็นจะหาเป็นพระราชธุระในการที่จะสอดส่องเสาะหาธรรมที่ลึกที่วิเศษโดยละเอียดนักไม่ จะเป็นแต่ทรงสนุกในการหนังสือมากกว่าที่ประพฤติพระองค์ทดลองเลือกฟั้นให้ได้จริงในทางธรรม เหตุใดจึงได้กล่าวดังนี้ เหตุว่าการที่พระองค์ทรงประพฤติทั้งปวง มีบอกหนังสือพระสงฆ์เป็นต้นนั้น ก็เป็นแต่การที่จะชี้แจงอักขรวิธีในภาษามคธ เมื่อจะทรงเรียบเรียงเป็นพระราชนิพนธ์ ก็เรียบเรียงเพียงชั้นมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นเรื่องออกสนุกชวนอ่าน เพื่อจะเล่นทางอักขรวิธีทั้งภาษาไทยภาษามคธอย่างเดียว ส่วนในการพระพุทธศาสนา ไม่มีปรากฏว่าพระองค์ได้คิดชำระมลทินปลดเปลื้องการซึ่งเศร้าหมองอย่างใดให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเลย เมื่อว่ารวบยอดแล้ว การซึ่งพระองค์ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเษกขึ้นนั้น ก็อาจส่อให้เห็นได้ว่าพระองค์ทรงสนัดและโปรดทางเล่าเรียนมากกว่าการปฏิบัติ จึงไม่สู้สนพระหฤทัยที่จะบำรุงในทางปฏิบัติมากนัก
อนึ่ง มหาชาติคำหลวงนี้ มีทำนองที่สวดประกอบด้วยเม็ดพรายสูงต่ำลึกซึ้ง จนไม่สามารถที่จะจำไว้ได้ หรือจะนึกทำให้ถูกขึ้นใหม่ ต้องมีเครื่องหมายที่ขึ้นที่ลงที่สูงที่ต่ำระดะเต็มไปทุกๆ วรรค ทำนองนั้นก็ไม่คล้ายคลึงเทียบเทียมกับทำนองอย่างอื่นเลย เป็นทำนองอันเกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระเจ้าทรงธรรมนั้นเอง ส่อให้เห็นว่าท่านคงเป็นผู้ชำนาญในการสวดเรียนต่างๆ ทุกอย่าง มีพระสุรเสียงอันไพเราะคล่องแคล่ว อาจจะบัญญัติทำนองขึ้นใหม่ให้แปลกเปลี่ยนกับที่เคยมีมาแต่ก่อนได้ แล้วทรงพระอุตสาหะฝึกหัดด้วยพระองค์เอง ให้ราชบุรุษผู้เจ้าพนักงานรับเครื่องราชบรรณาการ เป็นกรมนักสวดด้วย ชะรอยว่าคนพวกนี้จะเป็นคนที่รับราชการอยู่ในพระราชมนเทียรสนิทสนม ด้วยเป็นภิกษุสามเณรหรือคฤหัสถ์ที่เป็นศิษย์ทรงใช้สอยสั่งสอนมาแต่เดิม สึกมาหมายเป็นข้าหลวงเดิม ด้วยได้เคยทรงใช้สอยสนิทสนมมาแต่ก่อน จึงได้ใช้สำหรับต้อนรับแขกและเฝ้าใกล้เคียง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยโปรดปรานมาก ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ คงต้องทรงซื้อสร้อยนาฬิกาที่สายโตๆ พระราชทานให้แขวนโตงเตงไปตามกัน เพราะคนพวกนี้เป็นคนสนิทชิดชมได้ทรงซักซ้อมให้สวดได้เนืองๆ ดีกว่าที่จะเอาผู้อื่นมาฝึกหัด พระสงฆ์ผู้ที่ชำนาญในการสวดเรียนต่างๆ ย่อมจะเป็นฝ่ายสมถวิปัสสนาธุระโดยมาก สืบมาจนเราได้พบได้เห็น และวิชาซึ่งพระสงฆ์ศึกษาในเวลานั้นเล่า ก็นับว่าฝ่ายวิปัสสนาธุระอย่างนั่งพระธรรมเป็นใหญ่ ตลอดมาจนกรุงรัตนโกสินทรนี้จึงเห็นว่าคุณวิเศษของพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเป็นที่นับถือของคนทั้งปวงจนถึงเป็นเจ้าแผ่นดินได้นั้น จะเกิดขึ้นทางวิปัสสนาธุระนั่งพระธรรมมากกว่าทางคันถธุระ เมื่อจะสังเกตดูในพระราชพงศาวดารก็จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เหนือแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมขึ้นไป การที่จะสรรเสริญเวทมนตร์คาถาอันใด น้อยกว่าตั้งแต่พระเจ้าทรงธรรมลงมา ตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมลงมาแล้ว มักจะกล่าวถึงอยู่คงกระพันชาตรีล่องหนหายตัว ทำเสน่ห์เล่ห์ลมเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เพราะเหตุว่าพระเจ้าทรงธรรมเป็นแต่พระราชาคณะองค์หนึ่งเท่านั้น สามารถที่จะชิงสมบัติจากพระเจ้าแผ่นดินอันสืบพระวงศ์เนื่องในประพันธ์กันมาถึงยี่สิบชั่วกษัตริย์ จึงเป็นเหตุให้คนเชื่อถือในทางวิชาเหล่านั้นแก่กล้าขึ้น ซึ่งแผ่นดินกรุงสยามในระยะนั้นชุ่มโชกไปด้วยน้ำมนต์และน้ำมันนั้น คงจะเป็นเหตุเพราะพระราโชบายของพระเจ้าทรงธรรมที่จะรักษาสิริราชสมบัติของพระองค์ให้มั่นมิให้มีผู้ประทุษร้ายได้ แต่เพราะเหตุที่คนที่เชื่อถือเท่านั้น ย่อมเชื่อถือฤทธิ์เดชต่างๆ อันพระอรรถกถาจารย์เจ้าพรรณนาไว้ ก็ต้องเชื่อปัญจอันตรธานอนาคตวงศ์ด้วย เมื่อถือเช่นนั้นแล้วก็ต้องถือว่าผู้ซึ่งเกิดมาภายหลัง ย่อมจะเสื่อมลงไปเสื่อมลงไปจากผู้ที่เกิดก่อน อีกประการหนึ่งถ้าเจ้าแผ่นดินองค์ใดไม่ว่าในพงศาวดารไทยหรือพงศาวดารต่างประเทศแห่งใด ยกย่องพระองค์ว่าดีกว่าพระราชโอรสซึ่งจะสืบสันตติวงศ์ หรือดีจริงๆ พระราชโอรสตามไม่ทันไล่เลี่ยกัน ราชวงศ์อันนั้นก็มักจะเสื่อมสูญลงไปในเร็วๆ นั้น เหมือนอย่างพระเจ้าทรงธรรมนี้ พระราชโอรสก็เรียวลงไปเป็นปางฉะนางทีเดียว ผู้ซึ่งได้ร่ำเรียนวิชาตามทาง ถึงแม้นว่าเป็นพระราโชบาย แต่ยังเป็นที่นิยมของคนอยู่ ก็อาจประทุษร้ายชิงเอาแผ่นดินได้โดยง่าย ตามทางซึ่งพระเจ้าทรงธรรมได้ทำอุบายไว้นั้นเอง เชื้อสายก็เพาะปลูกกันต่อๆ มา จนแผ่นดินไม่มีความสุขได้เลยตลอดจนเสียกรุง ยังมิหนำซ้ำมาเบียดเบียนเอากรุงธนบุรีไปด้วย ซึ่งอธิบายมานี้อยู่ข้างจะเลื้อยเกินเหตุ เป็นแต่อยากจะพูดออกความเห็นเท่านั้น ขอรวบเนื้อความลงว่า พระเจ้าทรงธรรมนั้นทรงถนัดในทางอักขรวิธีอย่างหนึ่ง การปฏิบัติของพระองค์ในเวลาทรงผนวชนั้นเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ ตามลัทธิอาจารย์เคยถือมา มิใช่สอดส่องหาธรรมที่ดีมาปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ อย่างเช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงสันทัดในทางที่จะทำทำนองสวดเรียนต่างๆ ตามลัทธิของพวกอาจารย์วิปัสสนาชอบเล่นอยู่เป็นปรกติ จึงได้ทรงคิดทำนองมหาชาติคำหลวงได้ร่ำเรียนสวดกันมาทุกกาลวันนี้ ถึงว่ามีผู้แต่งหนังสือมหาชาติคำหลวงเพิ่มเติมที่ขาดลงได้ ก็ไม่สามารถที่จะกะแบบทำนองสวดลงในหนังสือนั้นได้ มหาชาติคำหลวงที่สวดอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทุกวันนี้ก็สวดอยู่เท่าที่ขาดนั้นเอง
การสวดมหาชาติคำหลวง เป็นธรรมเนียมมีมาแต่ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม นัยหนึ่งเรียกว่าโอ้เอ้พิหารราย คำที่ว่าโอ้เอ้พิหารรายนี้ได้สอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ดูว่า จะหมายเอาสวดพระมหาชาติคำหลวงหรือจะหมายเอาที่นักเรียนโรงทานอ่านหนังสือสวดเป็นทำนองตามศาลาราย ก็ได้ความว่าที่นักเรียนโรงทานสวดตามศาลารายนี้ พึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ คำว่าโอ้เอ้พิหารรายมีเรียกมาก่อนนั้นแล้ว ตามความเข้าใจของผู้ที่บอกนั้น ว่าคำโอ้เอ้พิหารรายนั้น คือสวดพระมหาชาติคำหลวงนั้นเอง ดูคำแจ้งความนี้ไม่ยุติกันกับชื่อที่เรียก คำที่เรียกว่า “โอ้เอ้” ดูไม่เป็นคำสรรเสริญแท้นัก เป็นคำค่อนจะอยู่ข้างเยาะๆ ว่าสวดไม่ดี และคำ “พิหารราย” นั้นเล่า ก็บ่งตรงว่าไม่ได้สวดในพระวิหารหรือพระอุโบสถใหญ่ สวดตามวิหารน้อยๆ ที่รายอยู่โดยรอบ และคำ “ราย” นั้นดูเป็นพหูวจนะในภาษาไทยเหมือนว่าหลายๆ แห่ง มิใช่แห่งเดียว ก็ถ้าจะสวดพระมหาชาติคำหลวงอยู่ในพระอุโบสถหรือพระวิหารใหญ่แต่แห่งเดียวแล้ว จะเรียกว่าโอ้เอ้พิหารราย ความไม่ลงกันเลย จึงพิเคราะห์เห็นว่าการที่สวดพระมหาชาติคำหลวงก็ดี หรือจะเรียกว่าโอ้เอ้พิหารรายก็ดี คงได้ความชัดว่าสวดในวัดพระศรีสรรเพชญ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวัง เมื่อตรวจดูแผนที่วัดพระศรีสรรเพชญ ก็เห็นได้ว่ามีปราสาทสามองค์ คือไพฑูรย์มหาปราสาท เวชยันตปราสาท ไอศวรรย์ปราสาท เรียงกันไปสามองค์ มีระยะว่างห่างๆ กันเป็นปราสาทย่อมๆ ที่ได้สร้างขึ้นเป็นพระราชวังครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สร้างกรุง ครั้นแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถที่ ๑ มิใช่ทรงธรรม ยกวังทำเป็นวัด ลงมาสร้างพระราชวังใหม่ฝ่ายริมน้ำ ปราสาททั้งสามองค์นั้นก็เป็นวัดไป จึงสร้างพระเจดีย์แทรกลงในหว่างปราสาทนั้นอีกสามองค์ ชักทักษิณเดินถึงกันได้รอบ ปลายแถวของพระเจดีย์และปราสาทข้างตะวันออก เป็นพระวิหารใหญ่ที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ ปลายแถวข้างใต้ก็มีพระวิหารใหญ่อีกหลังหนึ่ง แต่ย่อมลงไปกว่าวิหารพระศรีสรรเพชญมาก พระวิหารและพระเจดีย์กับปราสาทนี้ เป็นแถวกลางพื้นเดียวติดกันตลอด คล้ายพระพุทธปรางค์ปราสาทพระมณฑปศรีรัตนเจดีย์ ที่ลานวัดนั้นมีพระวิหารอย่างย่อมๆ รายเป็นระยะไป เหมือนศาลารายรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ใหญ่กว่าและมีผนัง เห็นจะไม่เท่ากันทุกหลังด้วยตั้งอยู่เป็นระยะรายไปโดยรอบ คำที่เรียกว่า “พิหารราย” นี้ ชะรอยว่าการซึ่งฝึกซ้อมสวดพระมหาชาติคำหลวงนี้ จะไม่ได้ซ้อมสวดแต่สี่คนพอครบสำรับหนึ่ง จะซ้อมด้วยกันมากๆ แล้วเลือกคัดแต่ที่สวดได้ดีเต็มทำนองสมพระราชประสงค์ เข้าไปสวดถวายในพระวิหารใหญ่เป็นที่ทรงฟัง ส่วนพวกที่ฝึกซ้อมไว้มากด้วยกันนั้น ให้ไปสวดตามวิหารราย สำหรับสัปบุรุษทายกทั้งปวงไปฟัง พวกเหล่านั้นก็จะสวดดีบ้างไม่ดีบ้าง ที่สวดไม่ดีก็จะต้องถูกคนทั้งปวงติเตียน จึงเรียกเป็นคำขึ้นชื่อเสียว่าโอ้เอ้พิหารราย แปลว่าสวดที่วิหารรายนั้นแล้ว ไม่ดีเหมือนในวิหารใหญ่ แต่ครั้นเมื่อตกมาถึงกรุงรัตนโกสินทรนี้ ฝึกซ้อมขึ้นแต่สำรับเดียว สำหรับสวดในพระอุโบสถ คนทั้งปวงชินใจชินปาก ในการที่เคยไปฟังโอ้เอ้พิหารราย จึงได้เรียกติดไปว่าโอ้เอ้พิหารรายเป็นคำตลาด ส่วนในราชการก็คงใช้ว่าสวดมหาชาติคำหลวง เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชดำริเห็นชื่อไม่สมกับความจริงเช่นนี้ แต่ครั้นจะให้ฝึกหัดสวดมหาชาติคำหลวงขึ้นให้มาก คนในกรมนั้นก็มีน้อย และดูไม่เป็นประโยชน์อันใด ด้วยทุกวันนี้ก็ไม่มีผู้ใดชอบใจฟัง ด้วยฟังก็ไม่ใคร่จะเข้าใจ จึงได้โปรดให้จัดนักเรียนโรงทานอ่านหนังสือสวดตามที่ตัวเล่าเรียน เป็นทำนองยานี ฉบัง สุรางคณางค์ ตามแต่ผู้ใดจะถนัดสวดเรื่องใดทำนองใดทุกศาลาราย ศาลาละสองคน พระราชทานเงินคนหนึ่งวันละสลึงเป็นรางวัล ถ้าผู้ใดสวดดีอาจารย์ก็กันมาไว้ศาลาที่เป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน ถ้าสำรับใดสวดดี บางปีก็ได้พระราชทานรางวัลเพิ่มเติมบ้าง เป็นการล่อให้นักเรียนมีใจฝึกซ้อมในการอ่านหนังสือ แต่ส่วนที่สวดพระมหาชาติคำหลวงสำรับใหญ่นั้น คงสวดอยู่ในพระอุโบสถตามอย่างแต่ก่อน เริ่มตั้งแต่วันขึ้นสิบสี่ค่ำไป จนต่อวันแรมค่ำหนึ่งเป็นกำหนดสามวัน ที่ซึ่งสวดนั้นตั้งเตียงโถงไม่มีเพดาน มีตู้มาลัยสำหรับรองหนังสือ แต่ไม่ได้ปักตาลิปัตร มีเครื่องนมัสการตระบะมุกสำรับหนึ่ง มีพานหมาก กระโถน ขันน้ำ ยาเสียง ตั้งคล้ายๆ เตียงพระสวด ผู้ที่สวดคือขุนทินบรรณาการ ขุนธารกำนันเป็นต้น นุ่งขาวห่มขาวสี่คน สวดคาถาสองคน ว่าคำแปลสองคน ถึงเวลาที่พระสงฆ์มานั่งอยู่กับพื้นพระอุโบสถ พวกที่สำแดงธรรมสี่คนนั้นก็นั่งอยู่บนเตียง ต่อทรงจุดเครื่องนมัสการทรงศีลจึงได้หยุดลงจากเตียง เมื่อพระสงฆ์ฉันไปแล้วก็ขึ้นสวดบนเตียงต่อไปใหม่ ผู้ที่สวดนี้ได้เงินคนหนึ่งวันละ ๑ บาท
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จับโปรดขึ้นมาครั้งหนึ่ง รับสั่งให้เข้ามาสวดที่พระที่นั่งทรงธรรมในพระบรมมหาราชวังให้ข้างในฟัง คนแก่ๆ เฒ่าๆ ก็มีธูปเทียนดอกไม้ มานั่งจุดบูชาฟังเหมือนอย่างฟังเทศน์ วันแรกดูแน่นหนา ที่เป็นสาวแส้ก็มีมาฟัง รุ่งขึ้นวันที่สองก็หายไปหมด เหลือแต่ท่านพวกที่หลับตาหลับตา เหมือนอย่างเช่นยายหงเป็นต้น และที่ไหลๆ เหมือนอย่างเช่นยายหุ่นสวรรค์เป็นต้น นั่งฟังอยู่ห้าหกคน ก็ตกลงเป็นได้มีปีเดียว รุ่งปีขึ้นก็เลิกไป พวกเด็กที่สวดตามศาลาราย ก็นุ่งขาวห่มขาว มีธูปเทียนเครื่องบูชาเล็กน้อยทุกๆ ศาลาเหมือนกัน ดูก็ครึกครื้นดีอยู่ ถ้าเข้าพรรษาไม่มีสวดตามศาลารายและสวดในพระอุโบสถหน้าตากลิ่นอายจะไม่ใคร่เป็นเข้าพรรษา เมื่อมีสวดอยู่เช่นนี้ พอเข้าพระระเบียงไป ความรู้สึกที่เคยชินมาแต่เล็กๆ นั้น ก็รู้สึกชัดเจนว่าเข้าพรรษา ถ้าจะมีสวดเช่นนี้ในเดือนหกเดือนเจ็ด แล้วทำลืมเดือนหกเดือนเจ็ดเสียให้หายขาด เข้าไปในวัด หน้าตากลิ่นอายคงเป็นเข้าพรรษาเหมือนกัน ว่ามาด้วยเรื่องมหาชาติคำหลวง สิ้นความเท่านี้
อนึ่ง การเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งมีกำหนดในเวลาเปลี่ยนฤดู ปีละสามครั้งล่วงมายังหาได้กล่าวถึงไม่ บัดนี้กล่าวถึงกาลเข้าพรรษา เป็นเวลาที่บรรจบฤดูเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากรครั้งหนึ่ง จึงจะขอกล่าวรวบรวมไว้ในที่แห่งเดียวนี้ พระมหามณีรัตนปฏิมากรนั้นทรงเครื่องเป็นสามฤดู คือตั้งแต่เดือนแปดแรมค่ำหนึ่ง เข้าวัสสานฤดู ไปจนเดือนสิบสองขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงเครื่องอย่างห่มดอง คือผ้าทรงนั้นทำด้วยทองคำเป็นกาบๆ จำหลักลายประดับพลอยทับทิม ลายทรงข้าวบิณฑ์ เมื่อประกอบแล้วก็เหมือนหนึ่งผ้าทรงอย่างห่มดอง พระศกทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีสีน้ำเงินแก่ ที่ปลายพระเกศาที่เวียนเป็นทักษิณาวรรต ประดับด้วยนิลเม็ดย่อมๆ ทั่วไป พระรัศมีลงยาราชาวดีสีต่างๆ ตั้งแต่เดือนสิบสองแรมค่ำหนึ่งไปจนถึงเดือนสี่ขึ้นสิบห้าค่ำเป็นเหมันตฤดู เครื่องทรงเปลี่ยนเป็นผ้าทรงคลุม ผ้าที่คลุมนั้นทำด้วยทองคำเป็นหลอดลงยาราชาวดีร้อยลวดเหมือนตาข่าย คลุมทั้งสองพระพาหา พระศกใช้คงเดิมไม่ได้เปลี่ยน ตั้งแต่เดือนสี่แรมค่ำหนึ่งไป จนถึงเดือนแปดขึ้นสิบห้าค่ำเป็นคิมหฤดู ทรงเครื่องต้น เป็นเครื่องทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชรพลอยต่างๆ พระมงกุฎที่ทรงเป็นมงกุฎมีท้ายเทริดยอดประดับเพชรเม็ดใหญ่ การที่เปลี่ยนเปลื้องเครื่องทรงทั้งสามฤดูนี้ เมื่อถึงกำหนดตำรวจก็ผูกเกยขึ้นไปเสมอบุษบก มีบันไดไม้จริงขึ้นข้างด้านหลัง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสรงน้ำพระแก้วบนเกยนั้น มีโถแก้วพระสุคนธ์สองโถ พานแก้วรองผ้าซับพระองค์สองผืน เมื่อเสด็จขึ้นไปถึงบนเกยนั้นแล้ว ทรงหยิบพระสังข์ทักษิณาวรรต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายบูชาไว้ ในมังสีมีด้ามเหมือนทวยปักอยู่ที่บุษบกตรงพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร มารินพระสุคนธ์ลงในพระสังข์นั้นสรงพอทั่วพระองค์ครั้งหนึ่งแล้ว เจ้าพนักงานเชิญสังข์ทักษิณาวรรตอีกองค์หนึ่งมาถวาย ก็ทรงสรงพระอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงทรงผ้าซับพระองค์ผืนหนึ่ง ชำระล้างละอองสิ้นทั้งพระองค์ แล้วจึงทรงผ้าแห้งอีกผืนหนึ่ง ซับพระสุคนธ์ให้แห้งแล้ว เจ้าพนักงานจึงได้ถวายพระศกหรือพระมงกุฎตามฤดู ทรงถวายพระมหามณีรัตนปฏิมากรด้วยพระหัตถ์ แล้วก็เสด็จกลับลงมา พระสุคนธ์ซึ่งเหลือในพระสังข์นั้นทรงรินลงในโถแก้ว พระสุคนธ์ที่ติดผ้าซับพระองค์ผืนแรกชุ่มนั้น ก็บีบลงในโถแก้ว ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาถึงพื้นพระอุโบสถแล้ว ประทับที่ม้าตั้งพระสุคนธ์มุมฐานชุกชีด้านเหนือ ทรงรินพระสุคนธ์ในโถลงในพระสังข์ทักษิณาวรรตแล้วทรงรดพระเศียรก่อน แล้วจึงรินลงในผ้าซึ่งซับพระองค์ทั้งสองผืนให้ชุ่ม ผ้าสองผืนนี้เป็นผ้าซับพระพักตร์ บางทีก็พระราชทานแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาจะพระราชทาน ที่ได้เฝ้าอยู่ในเพลานั้น ตัวข้าพเจ้าได้รับพระราชทานผืนหนึ่งเกือบจะเสมอทุกคราว แล้วจึงทรงรินพระสุคนธ์ในพระสังข์นั้น ลงในหม้อแก้วหม้อทองหม้อถม เจือน้ำอบที่อยู่ในหม้อนั้นเต็มแล้วสำหรับแจกจ่ายประพรมทั่วไป แล้วจึงรินพระสุคนธ์ลงในพระสังข์ รดพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วทุกองค์ ส่วนข้าราชการที่มาเฝ้าในเวลานั้นก็ทรงรินพระสุคนธ์ในพระสังข์ลงในพระสุหร่ายประพระราชทานทั่วไปแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินไปเปลี่ยนพระรัศมีพระสัมพุทธพรรณี พระรัศมีนั้นมีสี่ คือก้าไหล่ทองหนึ่ง นากหนึ่ง แก้วขาวหนึ่ง แก้วน้ำเงินหนึ่ง ฤดูฝนใช้แก้วน้ำเงิน ฤดูหนาวใช้แก้วขาวบ้างนากบ้าง ฤดูร้อนใช้ก้าไหล่ทอง มีควงบิดเปลี่ยนลงที่กันได้ทั้งสี่ แล้วทรงสุหร่ายประพรมพระสัมพุทธพรรณีและพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วจึงทรงจุดธูปเทียนนมัสการต่อไป ในขณะเมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาจากเกยนั้นแล้ว เจ้าพนักงานคลังทองขึ้นประดับเครื่องแต่งพระองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรเบื้องล่าง เมื่อเสร็จแล้วพราหมณ์จุดแว่นเวียนเทียนสมโภช ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์มโหระทึก เป็นเสร็จการเปลื้องเครื่องคราวหนึ่ง อย่างนี้เสมอทุกปีมิได้ขาด
คำตักเตือนในการทรงผนวช วันสมโภช ภูษามาลาต้องเชิญพระมหาสังข์มาตั้งไว้ที่โต๊ะข้างพระที่นั่ง และต้องเก็บใบมะตูมให้พอแก่เจ้าที่ทรงผนวช เพราะภูษามาลาก็รู้จำนวนอยู่เองแล้ว ไม่ควรจะให้ใบมะตูมขาดไม่พอกัน เจ้าที่ทรงผนวชต้องนั่งหันหน้าเข้ามาทางพระที่นั่ง จนได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กลับหน้าไปข้างบายศรีจึงกลับได้ เมื่อพราหมณ์ป้อนน้ำมะพร้าวแล้ว ก็ต้องกลับหน้ามาทางที่เฝ้าในทันทีเหมือนกัน เวลาทรงผนวช มีสำคัญเรื่องพระเต้าษิโณทกเคยเกิดความเสมอ ด้วยเวลายาวมหาดเล็กไม่ใคร่สังเกต ควรจะสังเกตว่าถ้าเจ้าที่ทรงผนวชออกมารับผ้าเจ้านายข้างหน้าเสร็จแล้ว คงจะทรงพระเต้าษิโณทก การสวดมนต์ฉลองเทียนเดี๋ยวนี้ตกเป็นพิธีมืดๆ ไม่ใคร่จะเสด็จพระราชดำเนินออก ส่วนการเสด็จพระราชดำเนินทรงจุดเทียนพรรษามีวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นต้น จำจะต้องมีโคมไฟฟ้าขาดไม่ได้ การเสด็จพระราชดำเนินวัดบวรนิเวศ วัดราชบพิธ วัดราชประดิษฐ์ จำจะต้องเตรียมพานเทียน เหมือนอย่างที่ตักเตือนไว้แล้วในเดือนห้า การเปลื้องเครื่องพระแก้ว เวลาที่เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนเกย มหาดเล็กต้องเชิญพระแสงตามเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนั่งอยู่ที่บันไดเกย เวลาจะเสด็จพระราชดำเนินกลับลงมา ต้องล่วงหน้าลงมาก่อน คอยอยู่ที่ปลายบันได พานเทียนนั้นต่อทรงเปลี่ยนพระรัศมีพระสัมพุทธพรรณีแล้วจึงถวาย การ นอกนั้นไม่มีอันใด ๚
[๑] ครั้งนั้นพระธรรมเจดีย์ อุ่น เป็นเจ้าอาวาส ทรงตั้งพระพรหมมุนี ยิ้ม วัดสุทัศน์ เป็นพระพิมลธรรมมาอยู่วัดพระเชตุพน เป็นเจ้าคณะพระอัฐิ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาตั้งแต่สมเด็จพระวันรัต สมบุญ รวมอยู่ในองค์เดียว
[๒] พระเสริมนี้ เดิมอยู่เมืองเวียงจันท์ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพให้เชิญมาไว้ที่เมืองหนองคายเมื่อปราบขบถเวียงจันท์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญมากรุงเทพฯ ครั้นเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญไปไว้เป็นพระประธานในพระวิหารวัดปทุมวัน.
[๓] พระยาณรงค์วิชัยนี้ชื่อ ทัด รัตนทัศนีย์
[๔] พระชินศรีเดิมอยู่วัดมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเชิญลงไปวัดบวรนิเวศเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๒ พระศรีศาสดานั้น เดิมก็อยู่วัดมหาธาตุเมืองพิษณุโลกแห่งเดียวกับพระชินศรี เข้าใจว่าเพราะวิหารพัง อธิการวัดบางอ้อช้าง แขวงเมืองนนทบุรรี เชิญลงมาไว้วัดนั้น เข้าใจว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยปฏิสังขรณ์วัดประดู่ เชิญไปไว้เป็นพระประธานวัดนั้น ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เชิญลงมาไว้วัดสุทัศน์เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ ตั้งไว้ที่มุขโถงหน้าพระอุโบสถ จนปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ จึงเชิญไปไว้ในวิหารวัดบวรนิเวศ
[๕] พระปั้นหย่านี้ เป็นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเมื่อทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทาน.
[๖] สมเด็จพระสังฆราช ศุข (ณาณสังวร) ที่เรียกกันว่าพระสังฆราชไก่เถื่อน เป็นพระกรรมวาจา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระอุปัชฌาย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ขุน วัดโมฬีโลกเป็นพระกรรมวาจา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว.