การพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย
๏ การพระราชพิธีตรียัมพวาย ซึ่งเปลี่ยนมาแต่เดือนอ้าย การพิธีนี้ซึ่งกำหนดทำในเดือนอ้าย คงจะเป็นเหตุด้วยนับเปลี่ยนปีเอาต้นฤดูหนาวเป็นปีใหม่ของพราหมณ์ตามเช่นแต่ก่อนเราเคยใช้มา แต่การที่เลื่อนเป็นเดือนห้านั้นจะไว้ชี้แจงต่อเมื่อว่าถึงสงกรานต์ การที่เลื่อนมาเป็นเดือนยี่นี้ก็ได้กล่าวแล้วในคำนำ บัดนี้จะขอกล่าวตัดความแต่เพียงตรียัมพวายตรีปวายนี้เป็นพิธีปีใหม่ของพราหมณ์ ตรงกันกับพิธีมะหะหร่ำของพวกแขกเจ้าเซ็น นับเป็นทำบุญตรุษเปลี่ยนปีใหม่ จึงเป็นพิธีใหญ่ของพราหมณ์
พราหมณ์พวกซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ บัดนี้ ก็เป็นเทือกเถาของพราหมณ์ซึ่งมาแต่ประเทศอินเดีย แต่ในขณะแต่ก่อนเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองใหญ่ข้างฝ่ายใต้ เรือลูกค้าไปมาค้าขายอยู่ทั้งสองฝั่งทะเล คือข้างฝั่งนี้เข้าถึงเมืองนครศรีธรรมราช ข้างฝั่งตะวันตกเข้าทางเมืองตรัง พราหมณ์จึงได้เข้ามาที่เมืองนครศรีธรรมราชมาก แล้วจึงขึ้นมากรุงเทพฯ เป็นการสะดวกดีกว่าที่จะเดินผ่านเขตแดนพม่ารามัญ ซึ่งเป็นปัจจามิตรของกรุงเทพฯ ตั้งสกัดอยู่ข้างฝ่ายเหนือ เพราะฉะนั้นเชื้อพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราชไม่มีสิ้นสุดจนถึงบัดนี้ มีเทวสถาน มีเสาชิงช้าซึ่งพราหมณ์ยังคงทำพิธี แต่เป็นอย่างย่อๆ ตามมีตามเกิด เช่นพิธีตรียัมพวายเอาแต่กระดานขึ้นแขวนเป็นสังเขปเป็นต้น ที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ในชั้นหลังๆ นี้ก็มีโดยมาก จนพูดสำเนียงเป็นชาวนอกอยู่ก็มี เช่นพระครูอัษฎาจารย์บิดาหลวงสุริยาเทเวศร์[๑]เดี๋ยวนี้เป็นต้น ลัทธิเวทมนตร์อันใดก็ไม่ใคร่ผิดแปลกกัน เป็นแต่เลือนๆ ลงไปเหมือนพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ชะรอยหัวเมืองข้างใต้ตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมา จะเป็นเมืองที่มีพราหมณ์โดยมาก จนเมืองเพชรบุรีก็ยังมีบ้านพราหมณ์ตั้งสืบตระกูลกันมาช้านานจนถึงเดี๋ยวนี้
ลัทธิของพราหมณ์ที่นับถือพระเป็นเจ้าต่างๆ บางพวกนับถือพระอิศวรมากกว่าพระนารายณ์ บางพวกนับถือพระนารายณ์มากกว่าพระอิศวร บางพวกนับถือพรหม บางพวกไม่ใคร่พูดถึงพรหม บัดนี้จะว่าแต่เฉพาะพวกพราหมณ์ที่เรียกว่าโหรดาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ทำพระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวายอันเป็นต้นเรื่องที่จะกล่าวแต่พวกเดียว พราหมณ์โหรดาจารย์พวกนี้เป็นพราหมณ์ที่สำหรับใช้การพระราชพิธีในกรุงสยามทั่วไป ตั้งแต่การบรมราชาภิเษกเป็นต้น เว้นไว้แต่ที่เกี่ยวข้องด้วยช้าง จึงเป็นพนักงานพราหมณ์พฤฒิบาศ พราหมณ์โหรดาจารย์พวกนี้นับถือพระอิศวรว่าเป็นใหญ่กว่าพระนารายณ์ นับถือพระอิศวรคล้ายพระยะโฮวาหรือพระอ้าหล่าที่ฝรั่งและแขกนับถือกัน พระนารายณ์นั้นเป็นพนักงานสำหรับแต่ที่จะอวตารลงมาเกิดในมนุษยโลก หรืออวตารไปในเทวโลกเอง คล้ายกันกับพระเยซูหรือพระมะหะหมัด แปลกกันกับพระเยซูแต่ที่อวตารไปแล้วย่อมทำร้ายแก่ผู้กระทำผิด คล้ายมะหะหมัดซึ่งข่มขี่ให้มนุษย์ทั้งปวงถือศาสนาตามลัทธิของตน ควรจะเห็นได้ว่าศาสนาทั้งสามนี้มีรากเง่าเค้ามูลอันเดียวกัน แต่ศาสนาของพราหมณ์เป็นศาสนาเก่ากว่าสองศาสนา ชะรอยคนทั้งปวงจะถือศาสนามีผู้สร้างโลกเช่นนี้ทั่วกันอยู่แต่ก่อนแล้ว เพราะความคิดเห็นว่าสิ่งใดจะเป็นขึ้นเองไม่ได้ ย่อมมีผู้สร้าง การที่มนุษย์ทั้งปวงจะได้รับความชอบความผิดต้องมีผู้ลงโทษและผู้ให้บำเหน็จ เมื่อเห็นพร้อมใจกันอยู่อย่างนี้จึงเรียกผู้มีอำนาจนั้นว่า ศิวะ หรือยะโฮวะ หรืออ้าหล่า ตามสำเนียงและภาษา ก็เพราะศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาเก่า ได้กล่าวถึงพระนารายณ์อันรับใช้พระอิศวรลงมาปราบปรามผู้ซึ่งจะทำอันตรายแก่โลกเนืองๆ เมื่อมีผู้คิดเห็นขึ้นว่าความประพฤติของมนุษย์ทั้งปวงในเวลานั้นไม่ถูกต้อง ก็เข้าใจว่าตัวเป็นพระนารายณ์ผู้รับใช้ของพระอิศวรลงมาสั่งสอน หรือปราบปรามมนุษย์ แต่กระบวนที่จะมาทำนั้นก็ตามแต่อัธยาศัยและความสามารถของผู้ที่เชื่อตัวว่าอวตารมา หรือแกล้งอ้างว่าตัวอวตารมาด้วยความมุ่งหมายต่อประโยชน์ซึ่งจะได้ในที่สุด อันตนเห็นว่าเป็นการดีการชอบนั้น พระเยซูมีความเย่อหยิ่งยกตนว่าเป็นลูกพระยะโฮวา คือพระอิศวร แต่ไม่มีกำลังสามารถที่จะปราบปรามมนุษย์ด้วยศัสตราวุธ ก็ใช้แต่ถ้อยคำสั่งสอนจนถึงอันตรายมาถึงตัว ก็ต้องรับอันตรายกรึงไม้กางเขน พวกศิษย์หาก็ถือว่าเป็นการรับบาปแทนมนุษย์ ตามอาการกิริยาซึ่งพระเยซูได้ประพฤติเป็นคนใจอารีมาแต่เดิมตามความนับถือที่จะคิดเห็นไป ฝ่ายมะหะหมัดเกิดภายหลังพระเยซู เพราะไม่สู้ชอบใจในคำสั่งสอนของพระเยซู จนคิดจะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วนั้น จึงสามารถที่จะเห็นได้ว่าซึ่งพระเยซูอ้างว่าเป็นลูกพระยะโฮวานั้นเป็นการเย่อหยิ่งเกินไปและไม่สู้น่าเชื่อ ทั้งการที่จะป้องกันรักษาชีวิต ตามทางพระเยซูประพฤติมานั้นก็ไม่เป็นการป้องกันได้ จึงได้คิดซ่องสุมกำลังศัสตราอาวุธปราบปรามด้วยอำนาจแล้วจึงสั่งสอนภายหลัง อ้างตัวว่าเป็นแต่ผู้รับใช้ของพระอ้าหล่า ให้อำนาจและความคิดลงมาสั่งสอนมนุษย์ทั้งปวง การซึ่งมนุษย์ทั้งปวงเชื่อถือผู้ซึ่งอ้างว่ารับใช้พระอิศวรหรือพระยะโฮวาพระอ้าหล่าลงมาเช่นนั้น ก็ด้วยอาศัยในคัมภีร์ของพราหมณ์ได้กล่าวไว้ว่าพระนารายณ์ได้รับใช้พระอิศวรลงมาเป็นคราวๆ นั้นเอง จนถึงปัจจุบันเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่สิ้นความคิดเห็นอย่างนี้ ยังมีมะหะดีอวตารลงมาตามคำทำนายของมะหะหมัด มุ่งหมายจะประกาศแก่มนุษย์ทั้งปวงว่าเป็นอวตารตามอย่างเก่า แต่เป็นเวลาเคราะห์ร้ายถูกคราวที่มนุษย์ทั้งปวงเจริญขึ้นด้วยความรู้ไม่ใคร่มีผู้ใดเชื่อถือ จนเราอาจทำนายได้เป็นแน่ว่า สืบไปภายหน้าพระอิศวรคงจะไม่อาจใช้ใครลงมาได้อีก ถึงลงมาคงจะไม่มีผู้ใดเชื่อถือ
แต่ถึงว่าศาสนาทั้งสามเป็นศาสนาเดียวกันก็ดี ข้อความที่ลงกันอยู่ก็แต่เหตุผลที่เป็นรากเง่า แต่วิธีที่จะบูชาเซ่นสรวงและอาการความประพฤติของพระเป็นเจ้านั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงยักเยื้องกันไปตามความประพฤติที่จะเข้าใจง่ายในประเทศนั้น และตามสำนวนคนในประเทศนั้นๆ ตกแต่งเรียบเรียงขึ้น ก็บรรดาคัมภีร์สร้างโลกทั้งปวงย่อมกล่าวกิจการซึ่งพระเป็นเจ้าได้ทำนั้นแปลกประหลาดต่างๆ ตามแต่จะว่าไป ที่ไม่น่าทำไปทำก็มี ที่ควรจะทำได้เร็วไปทำช้า การที่เห็นว่าน่าจะต้องทำช้าไปทำได้เร็วๆ การที่ไม่พอที่จะวุ่นวายก็วุ่นวายไปได้ต่างๆ การที่ไม่พอที่จะเพิกเฉยก็เพิกเฉย จะยกหยิบเรื่องมาอ้างก็ชักจะยืดยาวหนักไป จะขอย่นย่อข้อความลงตามความประสงค์ในเหตุที่จะกล่าวบัดนี้ว่า บรรดาหนังสือเรื่องใดๆ ซึ่งเป็นของแต่งไว้แต่โบราณ ผู้แต่งย่อมมีความรู้และวิชาน้อย ด้วยยังไม่มีเวลาที่ได้ทดลองสืบสวนเทียบเคียงการเท็จจริงให้ตลอดไป มุ่งหมายแต่ความดีอย่างหนึ่ง แล้วก็แต่งหนังสือเรื่องราวตามชอบใจของตน ซึ่งคิดเห็นว่าจะเป็นเหตุชักล่อใจคนให้นับถือมากขึ้น แล้วจะได้เชื่อฟังคำสั่งสอนในทางที่ดีซึ่งเป็นที่มุ่งหมาย มิใช่จะกล่าวมุสาโดยไม่มีประโยชน์ จึงเห็นว่าไม่เป็นการมีโทษอันใด เมื่อคิดเห็นเช่นนั้นแล้วจะเรียบเรียงหนังสือลงว่ากระไรก็เรียงไปตามชอบใจ ไม่คิดเห็นว่าคนภายหลังจะมีวิชาความรู้มากขึ้นจะคัดค้านถ้อยคำของตน หรือแม้แต่เพียงนึกสงสัยประการใดไม่ ความคิดของคนแต่ก่อนเช่นนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นการผิดไปทีเดียว ด้วยเหตุว่ามนุษย์ทั้งปวงในเวลานั้น ก็ย่อมมีความรู้ความเห็นน้อยกว่าผู้ที่แต่งหนังสือนั้น ต้องเชื่อถือหนังสือนั้นว่าเป็นความจริงความดีสืบลูกหลานต่อๆ มา ถึงว่าลูกหลานต่อลงมาภายหลังจะนึกสงสัยสนเท่ห์บ้าง ก็เป็นความผิดใหญ่ที่จะหมิ่นประมาทต่อความประพฤติของพระเป็นเจ้า แต่ผู้ซึ่งจะไม่คิดเลยเพราะเคยนับถือเสียตั้งแต่เกิดมานั้นมีโดยมาก น้อยก็คงต้องสู้มากไม่ได้อยู่เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ หรือพระยะโฮวา หรือพระอ้าหล่า จึงได้มีเรื่องราวและถ้อยคำที่ไม่น่าเชื่ออยู่ในนั้นทุกๆ ฉบับ คำซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปภายหน้านั้น บางทีจะดูเหมือนล้อๆ พระเป็นเจ้าไปบ้าง จึงขอแสดงความประสงค์ไว้เสียแต่เบื้องต้นว่า ข้าพเจ้าไม่ได้คิดจะยกข้อทุ่มเถียงว่าพระเป็นเจ้ามีหรือไม่ในเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นอันยกเว้นเสียไม่กล่าวถึงในข้อนั้นทีเดียว เพราะใช่กาละที่จะกล่าวถึงและจะทุ่มเถียงกันในเวลานี้ ถ้าจะเป็นคำหมิ่นประมาทบ้างก็ไม่ได้คิดหมิ่นประมาทพระเป็นเจ้าอันจะมีอยู่จริงหรือไม่จริงนั้น เป็นแต่เห็นประหลาดในถ้อยคำของผู้ที่แต่งเรื่องราวอันไม่ยุติด้วยเหตุด้วยผล เพราะเป็นการล่วงเวลาที่ควรจะใช้จึงเป็นการขบขันไปบ้างเท่านั้น เมื่อท่านทั้งปวงได้จำถ้อยคำที่กล่าวนี้ไว้แล้วจงอ่านเรื่องราวต่อไปนี้เถิด
เมื่อจะว่าด้วยความประพฤติของพระเป็นเจ้าทั้งปวง ซึ่งผู้อยู่ในประเทศใดแต่งคัมภีร์ พระเป็นเจ้าก็ประพฤติพระองค์เป็นคนชาตินั้น ดังเช่นกล่าวมาแล้วนั้น พระอิศวรของพราหมณ์ที่อยู่ในกรุงสยามนี้ประพฤติพระองค์เป็นอย่างชาวอินเดีย คือไม่เสวยเนื้อสัตว์ โปรดข้าวเม่า, ข้าวตอก, กล้วย, อ้อย, มะพร้าว, เผือก, มัน, นม, เนย ตามที่พวกพราหมณ์ในประเทศอินเดียกินเป็นอาหารอยู่ และถือกันว่าพระอิศวรนั้นเป็นพระคุณ คือเป็นผู้ที่จะสงเคราะห์เทพยดามนุษย์ยักษ์มารทั่วไป ไม่มีที่จะลงโทษแก่ผู้ใด โดยจะต้องทำบ้างก็เป็นการจำเป็นโดยเสียไม่ได้ หลงๆ ลืมๆ เช่นครั้งปราบตรีบุรำเป็นต้น เมื่อแผลงศรไปไม่สำเร็จแล้วก็ไม่ตั้งความเพียรที่จะทำต่อไป มอบธุระให้พระนารายณ์เสียทีเดียว โดยว่ามักจะทรงกริ้วโกรธสนมกำนัลที่มีความผิดเล็กน้อยในการปฏิบัติวัดถาก มีจุดตะเกียงเป็นต้น จะสาปสรรให้ลงมาทนทุกข์ทรมานโดยกำลังกริ้วครั้งหนึ่ง ก็ยังทรงพระเมตตาให้มีกำหนดพ้นโทษ และให้เป็นประโยชน์แก่การเรื่องอื่น มีให้เป็นเมียหนุมานเป็นรางวัล และบอกหนทางพระรามเป็นต้น เพราะพระอิศวรเต็มไปด้วยความกรุณา ไม่เลือกว่าคนดีหรือคนชั่ว เพราะใครไปตั้งพิธีรีตองจะขออันใดก็ได้สมปรารถนา จะไปดีหรือไปชั่วตามแต่ตัวผู้ได้ไป เพราะพระทัยดีมีพื้นอันใหม่อยู่เป็นนิตย์ดังนี้ จึงได้มีพระนามปรากฏว่าพระคุณ
ส่วนพระนารายณ์มีพระอาการตามที่กล่าวว่า เมื่ออยู่ปรกติเสมอย่อมบรรทมอยู่ในกลางทะเลน้ำนมเป็นนิตย์ ต่อเมื่อเวลาใดมีการอันใดซึ่งพระอิศวรจะต้องการ รับสั่งใช้ให้ไปปราบปรามผู้ซึ่งประทุษร้ายแก่โลกทั้งปวงจึงได้ปลุกขึ้น เพราะฉะนั้นพระนารายณ์จึงเป็นแต่ผู้ทำลาย ที่สุดโดยปลุกขึ้นเพื่อการมงคลเช่นโสกันต์พระขันธกุมาร ก็ทรงขัดเคืองบริภาษจนพระเศียรพระขันธกุมารหายไป พระอิศวรต้องซ่อมแซมแก้ไขด้วยศีรษะช้าง เพราะเหตุฉะนั้นจึงมีคำกล่าวว่าพระนารายณ์ย่อมไม่ประสิทธิพรอวยสวัสดิมงคลแต่สักครั้งหนึ่งเลย ที่สุดจนเครื่องบูชาในเวลาพระราชพิธีตรีปวายก็ห้ามไม่ให้นำมาถวายด้วยกลัวพิษ จะแจกให้แก่ผู้ดีมีหน้าก็ไม่ได้ ต้องแจกให้แก่ยาจกวณิพก และถือกันว่าถ้าวันแรม ๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันส่งพระนารายณ์นั้นต้องวันพิษ มักจะเกิดเหตุตีรันฟันแทงกันชุกชุม (เพราะเดือนมืดคนไม่ใคร่ไปดู) พราหมณ์ทั้งปวงจึงต้องระวังกันเป็นกวดขัน เพราะพระนารายณ์เป็นพนักงานแต่ล้างผลาญเช่นนี้ จึงได้มีนามปรากฏว่าพระเดช เป็นคู่กันกับพระคุณ
ส่วนพระมหาวิฆเนศวรนั้น คือพระขันธกุมารซึ่งพระเศียรเป็นช้าง เป็นโอรสพระอิศวร เป็นครูช้าง พราหมณ์ย่อมนับถือโดยฤทธิเดชของพระองค์เองบ้าง โดยจะให้ถูกพระทัยพระอิศวรเป็นการสัพพีบ้าง จึงเป็นพระเป็นเจ้าอีกองค์หนึ่ง
เทวสถานซึ่งเป็นของสำหรับพระนครจึงทำเป็นสามสถาน สถานหนึ่งพระอิศวร สถานกลางพระมหาวิฆเนศวร อีกสถานหนึ่งพระนารายณ์ การพระราชพิธีตรียัมพวายและตรีปวายนี้ ทำที่เทวสถานทั้งสามนั้น
ความมุ่งหมายของการพิธีตรียัมพวายที่ทำนี้ ว่าพระอิศวรเป็นเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้งหนึ่งกำหนด ๑๐ วัน วันเดือนอ้ายขึ้น ๗ ค่ำเป็นวันเสด็จลง แรมค่ำ ๑ เป็นวันเสด็จกลับ ต่อนั้นในวันค่ำ ๑ พระนารายณ์เสด็จลง แรม ๕ ค่ำเสด็จกลับ การที่เลื่อนมาเดือนยี่เกินกำหนดซึ่งเสด็จลงมาแต่ก่อนก็จะไม่เป็นการยากอันใด ด้วยพราหมณ์ย่อมถือตัวว่าเป็นผู้ถือประแจสวรรค์คล้ายกันกับโป๊ป เมื่อไม่อ่านเวทเปิดประตูถวายก็เสด็จไม่ได้อยู่เอง การซึ่งรับรองพระอิศวรนั้นก็จัดการรับรองให้เป็นการสนุกครึกครื้นตามเรื่องราวที่กล่าวไว้ คือมีเทพยดาทั้งหลายมาเฝ้าประชุมพร้อมกัน เป็นต้นว่าพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี พระคงคา ซึ่งพราหมณ์ทำเป็นแผ่นกระดานมาฝังไว้หน้าชมรม โลกบาลทั้งสี่ก็มาเล่นเซอคัสโล้ชิงช้าถวาย พระยานาคหรือเทพยดาว่ากันเป็นสองอย่างอยู่ ก็มารำเสนงพ่นน้ำหรือสาดน้ำถวาย บรรดาในการพระราชพิธีตรียัมพวายส่วนพระอิศวรนั้น เป็นการครึกครื้น มีผู้คนไปรับแจกข้าวตอกข้าวเม่าที่เหลือจากสรวงสังเวยเป็นสวัสดิมงคล แต่ส่วนการพระราชพิธีตรีปวายของพระนารายณ์นั้นทำเป็นการเงียบ ด้วยพระองค์ไม่โปรดในการโซไซเอตี มีพื้นเป็นโบราณอยู่ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ความมุ่งหมายของการพระราชพิธีมีความนิยมดังกล่าวมานี้
มีความพิสดารในกฎมนเทียรบาลแต่เฉพาะว่าด้วยเรื่องสนาน คือสรงมุรธาภิเษกอย่างเดียว ลงท้ายไปว่าด้วยเรื่องถวายอุลุบ ก็เป็นบรรยายแต่ชื่อพนักงานผู้รับ หาได้ความชัดเจนอย่างไรไม่ แต่ข้อซึ่งว่าพิธีตรียัมพวายมีสรงมุรธาภิเษกด้วยนี้เป็นการเลื่อนลอยไม่ได้ยินในที่อื่น ถึงในพระราชพิธีที่นับว่ามีสนาน ๑๗ อย่างก็ไม่มีพิธีตรียัมพวาย แต่ถ้าจะคิดดูตามเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือไสยศาสตร์มาก อย่างเช่นพระนารายณ์มหาราช ทีจะเป็นด้วยทรงรื่นรมย์ในพระนามว่าเป็นพระเป็นเจ้าจนคนเห็นปรากฏว่าเป็นสี่กร หรือเป็นด้วยทรงเล่นวิชาช้างม้าอยู่คงกระพันชาตรีเพลิดเพลินไปอย่างใด จนมีจดหมายแห่งหนึ่งได้กล่าวไว้โดยคำชัดเจนว่า สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าทรงนับถือไสยศาสตร์มากกว่าพุทธศาสน์ดังนี้ เมื่อจะเทียบดูเหตุผลซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารที่คนเป็นอันมากได้อ่านก็จะพอเห็นได้ว่า คำที่กล่าวด้วยเรื่องทรงนับถือไสยศาสตร์นั้นจะไม่เป็นคำที่กล่าวโดยไม่มีมูลทีเดียวนัก คือได้ทรงสร้างเทวรูปหุ้มด้วยทองคำทรงเครื่องลงยาราชาวดีประดับหัวแหวน สำหรับตั้งในการพระราชพิธีเป็นหลายองค์ และในการพระราชพิธีตรียัมพวายก็เป็นอันปรากฏชัดว่าได้เสด็จไปส่งพระเป็นเจ้าถึงเทวสถานทุกปีมิได้ขาด จนถึงเวลาที่มีเหตุอันเข้าใจว่าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ คิดจะประทุษร้ายในวันซึ่งเสด็จส่งพระเป็นเจ้าเป็นแน่ชัดแล้วก็ยังรับสั่งว่าจะทำอย่างไรก็ตามเถิด แต่จะไปส่งพระเป็นเจ้าให้ถึงเทวสถานจงได้ มีพยานเจือคำกล่าวไว้ดังนี้จะพอสันนิษฐานได้ว่าพระนารายณ์เป็นเจ้าทรงนับถือไสยศาสตร์ (ถึงไม่ยิ่งกว่าตามที่เขาว่าก็คงจะ) มาก ก็ประเพณีพระเจ้าแผ่นดินซึ่งจะทำการบรมราชาภิเษก เบื้องหน้าแต่รับพระสุพรรณบัฏแล้วก็ต้องทรงรับสังวาลพราหมณ์ อันมหาราชครูพิธีประสิทธิถวายทรงก่อนที่จะรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งปวง นับว่าเหมือนบวชเป็นพราหมณ์สามเส้นครั้งหนึ่งทุกพระองค์ ก็ในพิธีตรียัมพวายนี้พราหมณ์ทั้งปวงต้องสนานกายสระเกล้าเพื่อจะรับพระเป็นเจ้าทั่วกัน ถ้าพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงรู้สึกพระองค์ว่าเป็นพราหมณ์อยู่หน่อยๆ หนึ่งเช่นนั้นจะสรงมุรธาภิเษกจริงดังว่าได้ดอกกระมัง
ในจดหมายคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่ตรงนี้ดูเลอะๆ ไม่ได้ออกชื่อพิธีตรียัมพวาย แต่พรรณนาถึงเรื่องเสาชิงช้าถีบชิงช้า และพระยาพลเทพยืนชิงช้าต้องยืนตีนเดียว ยืนสองตีนถูกริบเป็นต้น ไม่มีข้อความละเอียดว่าด้วยแห่แหนหรือการพิธีในเทวสถานประการใด แต่การสรงมุรธาภิเษกตามซึ่งกล่าวไว้นั้นไม่ได้มีในกรุงรัตนโกสินทรนี้เลย การที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้คงดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
แต่ก่อนมาเป็นแต่พิธีพราหมณ์ พระราชทานเงินและสีผึ้งช่วยและมีการแห่แหนตามสมควร แต่ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนับว่าพิธีนี้เป็นเหมือนพิธีมะหะหร่ำของแขกเจ้าเซ็น และวิศาขบูชาในพระพุทธศาสนา เป็นพิธีใหญ่สำหรับพระนครอยู่ข้างจะทรงเป็นพระราชธุระมาก จึงได้โปรดให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มเติมขึ้นด้วย พระสงฆ์รับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ในวัน ๗ ค่ำเวลาเช้าซึ่งเป็นวันทอดพระเนตรแห่กลับ เสด็จออกเลี้ยงพระเสร็จแล้วพอทันเวลาแห่กลับ พระสงฆ์ฉันพร้อมกันทั้ง ๑๕ รูป คือพระราชาคณะ ๓ รูป พระพิธีธรรม ๑๒ รูป มีเครื่องไทยทานสบง, ร่ม, รองเท้า, หมากพลู, ธูปเทียน และมีกระจาดข้าวเม่า, ข้าวตอก, เผือก, มัน, กล้วย, อ้อย, มะพร้าว, น้ำตาลทราย ถวายให้ต้องกันกับการพิธี เวลากลางคืนในวันขึ้น ๗ ค่ำ ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๙ ค่ำ แบ่งสวดมนต์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามวันละ ๕ รูป พระราชาคณะรูป ๑ พิธีธรรม ๔ รูป ทุกคืน ในชั้นแรกเสด็จพระราชดำเนินออกทุกคืน แต่ภายหลังมาก็จืดๆ ไป การที่เสด็จออกนั้นดูเป็นแทนเสด็จเทวสถานซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในกรุงเก่าเสด็จทุกปี ที่หน้าพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต มีพานข้าวตอก มะพร้าว กล้วย อ้อย ตั้งบูชาเหมือนเช่นพราหมณ์ตั้งที่หน้าเทวรูปในเทวสถาน ทรงจุดเครื่องนมัสการแล้วราชบัณฑิตอ่านคำบูชา แสดงพระราชดำริในเบื้องต้นที่ทรงเห็นว่าการพระราชพิธีนี้ควรจะเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา แล้วจึงได้ว่าสรรเสริญพระพุทธคุณ ถวายข้าวเม่า ข้าวตอก ผลไม้ต่างๆ เป็น ๓ ครั้ง มีข้อความต่างๆ กัน ถ่ายอย่างที่พราหมณ์ยกอุลุบถวายพระเป็นเจ้า เมื่อจบคำบูชาถวายข้าวตอกนั้นแล้วจึงได้สวดมนต์ต่อไปทั้งสามวัน ครั้นวันแรม ๕ ค่ำ เริ่มพระราชพิธีตรีปวายก็มีพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน พระราชาคณะไทย ๑ รามัญ ๑ พระครูปริตรไทย ๕ รามัญ ๔ ถวายเครื่องไทยทานเหมือนอย่างพระราชพิธีตรียัมพวาย เวลาค่ำสวดมนต์ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ไม่มีคำบูชาเจือ อยู่ข้างจะบำบัดพิษหน่อยๆ การพิธีสงฆ์ที่เกี่ยวในสองพิธีมีอยู่เท่านี้
ในการพระราชพิธีนี้ต้องมีข้าราชการผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งรับที่สมมติว่าเป็นพระอิศวรเป็นเจ้าลงมาเยี่ยมโลก ตามที่พราหมณ์คอยอยู่นั้น ตำแหน่งผู้ซึ่งรับสมมตินี้ แต่ก่อนเคยคงอยู่ในเจ้าพระยาพลเทพซึ่งเป็นเกษตราธิบดีผู้เดียว เป็นตำแหน่งเดิมแต่ครั้งกรุงเก่ามาจนตลอดถึงรัชกาลที่ ๓ ในกรุงรัตนโกสินทรนี้ข้างตอนต้น ครั้นตกมาตอนปลายเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ถึงแก่อสัญกรรม ไม่ทรงตั้งเจ้าพระยาพลเทพต่อไป โปรดให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ซึ่งยังเป็นพระยาราชสุภาวดียืนชิงช้าแทนปีหนึ่ง ต่อไปก็เปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) ซึ่งยังเป็นพระยาราชนิกูลเป็นผู้ยืน มีคำเล่าว่ารับสั่งให้ข้าราชการออกมาแห่ ครั้นเวลาเสด็จออกขุนนางรับสั่งถามว่างามอย่างไรบ้าง มีผู้ทูลว่างามเหมือนห่อพระอังคาร ต่อไปเป็นเจ้าพระยายมราช (ศุข) เมื่อยังเป็นพระยาสุรเสนายืนชิงช้า แต่ไม่เปลี่ยนทุกปี ยืนปีหนึ่งแล้วก็ซ้ำๆ ไป ต่อถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริเห็นว่าเจ้าพระยาพลเทพต้องแห่ทุกปี ปีละสองครั้งก็เฝือนักจนกระบวนแห่ก็กรองกรอย เป็นการโกโรโตเตไปไม่ครึกครื้น แต่ก่อนมาท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่อื่นๆ ยังมีช่องมีคราวที่ต้องถูกแห่สระสนานใหญ่ ครั้นเมื่อเกิดพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานขึ้นแทนการสระสนาน ท่านเสนาบดีและข้าราชการทั้งปวงก็เป็นอันไม่มีที่จะได้โอกาสแห่แหนอันใดให้เป็นเกียรติยศอย่างแต่ก่อน อนึ่ง บางทีก็เป็นที่บ่นกันว่าต้องถูกแห่ทุกปี ต้องแจกบ่ายเลี้ยงดูกระบวนเปลืองเงินทองไปมาก จึงทรงพระราชดำริเห็นว่าข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้รับพระราชทานพานทอง เป็นผู้ได้รับยศประโคมกลองชนะมีบโทนแห่ ควรจะให้ได้แห่ให้เต็มเกียรติยศเสียคนละครั้งหนึ่งๆ จึงได้โปรดให้ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองเปลี่ยนกันยืนชิงช้าปีละคน บางท่านที่มีคุณพิเศษต่างๆ ก็พระราชทานเสลี่ยงบ้าง กลดบ้าง ลอมพอกโหมดเกี้ยวลงยาบ้าง เป็นการเพิ่มเติมวิเศษขึ้นกว่าสามัญ จึงเป็นธรรมเนียมติดต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้
ข้าราชการผู้ซึ่งต้องยืนชิงช้านั้นต้องกราบทูลถวายบังคมลาเข้าพิธีก่อนหน้าที่จะไปยืนชิงช้า คนที่เข้ากระบวนเป็นคนจ่ายกำหนดอยู่ใน ๘๐๐ คือตำรวจสวมเสื้อคาดรัตคดถือหวายเส้น ๑๖ ดาบเขน ๓๐ ดาบโล่ ๓๐ ดาบดั้ง ๓๐ ดาบสองมือ ๓๐ พร้าแป๊ะกัก ๓๐ ดาบเชลย ๓๐ สวมกางเกงริ้วเสื้อแดงหมวกหนัง สารวัดสวมเสื้ออัตลัดโพกผ้า ๑๘ คน บโทน ๓๐๐ เป็นคนในตัว นุ่งตาโถงคาดผ้าลายริ้ว เสื้อปัศตูแดงปัศตูเขียว ตะพายกระบี่เหล็ก ขุนหมื่น ๒๐๐ เสื้ออย่างน้อยแพรสีต่างๆ นุ่งม่วงโพกแพรขลิบทองตะพายกระบี่ฝักทองเหลือง สารวัดขุนหมื่น ๕๐ นุ่งยกเสื้อเข้มขาบ โพกแพรขลิบทอง ตะพายกระบี่ฝักเงิน กลองชนะ ๑๐ คู่ สวมเสื้อแดง จ่าปี่ ๑ เสื้อริ้วตุ้มปี่แดง กรรชิงแดงหน้า ๒ คัน หลัง ๒ คัน สวมเสื้อมัสรู่ กางเกงปูม คนหามเสลี่ยงโถงไพร่หาม ๑๒ คน กางเกงปัศตู เสื้อขาว คาดเกี้ยว คู่เคียง ๘ คน หลวงในกรมท่า ๒ กรมเมือง ๒ กรมวัง ๒ กรมนา ๒ แต่งตัวนุ่งสนับเพลา นุ่งยก เสื้อเข้มขาบ โพกตาด อภิรมกั้นสัปทนแดง ๑ บังตะวัน ๑ สวมเสื้อมัสรู่ริ้ว กางเกงแดง ริ้วหลังขุนหมื่น ๕๐ แต่งตัวเป็นอย่างข้างหน้า หว่างริ้วทนายของตัวเองตับละ ๖ คน นุ่งผ้าไหมจีน เสื้อเข้มขาบอัตลัด ตับที่หนึ่งที่สองถือดาบกระบี่ ตับที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ถือเครื่องยศ ต่อนั้นไปถือหอกง้าวทวนเป็นตับๆ ต่อไปเป็นทหารเลวอีก ๒๐๐ ตามแต่จะมี ริ้วนอกถือปิไสหวาย ๓๐ ถือง้าว ๓๐ ตระบองหุ้มปลาย ๓๐ ถือทิว ๑๐๐ ทิวนี้เคยมีมาแต่โบราณไม่เคยขาดเลย สมมติกันว่าถุงปืน แต่ที่จริงดูถูกลมสะบัดปลิวก็งามดีอยู่ กระบวนที่เกณฑ์กำหนดเพียงเท่านี้ แต่ผู้ซึ่งต้องแห่คิดแต่งกระบวนตามกำลังของตัวเองเพิ่มเติมเป็นกระบวนหน้าบ้างกระบวนหลังบ้าง ถึงสองพันสามพันจนสี่พันคนก็มี
อนึ่งมีธรรมเนียมเกิดใหม่ คือใครเป็นผู้ต้องแห่ได้รับราชการอยู่กรมใด ก็ทำธงเป็นรูปตราตำแหน่งเย็บลงในพื้นปัศตูแดงนำไปหน้ากระบวน เป็นของเกิดขึ้นเมื่อมีทหารแห่เสด็จถือธงนำหน้าก็ลงเป็นตำราใช้กันมา ตลอดจนถึงขบวนที่เป็นของเจ้าของหามาเองนั้น ถ้าผู้ใดอยู่กรมใดก็มักจะจัดเครื่องแห่นั้นให้เข้าเรื่องกัน เป็นต้นว่าได้ว่าการคลังก็มีคนถือกระดานแจกเบี้ยหวัด เป็นสัสดีก็มีคนถือสมุด เป็นอาสาหกเหล่าก็มีคนหาบโพล่แฟ้มเป็นต้น ไม่มีกำหนดนิยมว่าอย่างไร แต่ลงท้ายแล้วคงเป็นโค้งๆ โฉ่งฉ่างเป็นอยู่ธรรมดาทุกๆ กระบวน
ตัวพระยาผู้ยืนชิงช้าแต่งตัวนุ่งผ้าเยียรบับ แต่วิธีนุ่งนั้นเรียกว่าบ่าวขุน มีชายห้อยอยู่ข้างเบื้องหน้า สวมเสื้อเยียรบับ คาดเข็มขัด สวมเสื้อครุยลอมพอกเกี้ยวตามบรรดาศักดิ์ การแห่ชิงช้านี้เป็นหน้าที่ของกรมเกษตราธิการ หรือจะเรียกว่ากรมนา เป็นต้น หมายและจัดกระบวนทั่วไป การซึ่งหน้าที่ยืนชิงช้าตกเป็นพนักงานของกรมนาอยู่นี้ ก็ชะรอยจะติดมาจากจรดพระนังคัล ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมนาแท้ การยืนชิงช้านี้ถ้าจะว่าข้างหน้าที่ที่ใกล้เคียงแล้ว น่าจะเอาเจ้าพระยายมราชมากกว่า แต่เห็นจะเป็นมาเพราะง่ายที่ได้เคยแล้วจึงได้รวมอยู่คนเดียว
วันขึ้น ๗ ค่ำเวลาเช้า ตั้งกระบวนแห่แต่วัดราชบุรณ ไปตามทางถนนรอบกำแพงพระนครเลี้ยวลงถนนบำรุงเมือง ในวันแรกหยุดพักโรงมานพ หรือ “มาฬก” ปลูกไว้ริมเชิงสะพาน นอกเฉลวกำหนดเขต พราหมณ์นำกระดานชิงช้าซึ่งสมมติว่าจะไปแขวนมารับพระยา เมื่อพระยามาถึงโรงมานพแล้ว ก็นำกระดานนั้นกลับคืนไปไว้ในเทวสถาน แล้วปล่อยกระดานซึ่งแขวนไว้ที่เสาชิงช้าเสร็จแล้ว เอาเชือกรัดให้ตั้งติดอยู่กับเสานั้นลง สมมติว่าเอากระดานแผ่นที่เอาไปเก็บไว้ในเทวสถานขึ้นไปแขวนแล้วจึงได้รดน้ำสังข์จุณเจิมเสร็จแล้ว นำพระยาไปที่ชมรม โรงชมรมนั้นทำเป็นปะรำไม้ไผ่ดาดผ้าขาวเป็นเพดานมีม่านสามด้าน กลางชมรมตั้งราวไม้ไผ่หุ้มขาวสำหรับนั่งราวหนึ่ง สำหรับพิงราวหนึ่ง นำพระยาเข้าไปนั่งที่ราว ยกเท้าขวาพาดเข่าซ้าย เท้าซ้ายยันพื้น มีพราหมณ์ยืนข้างขวา ๔ คน ข้างซ้ายเกณฑ์หลวงในกรมมหาดไทย ๒ คน กรมพระกลาโหม ๒ คนไปยืน มีพราหมณ์เป่าสังข์อยู่เบื้องหน้า ๒ คน เมื่อพระยาไปถึงชมรมแล้ว ส่งธูปเทียนไปบูชาพระศรีศากยมุนีในวิหารวัดสุทัศน์ทั้งเวลาเช้าเย็น เมื่อแต่ก่อนที่ข้าพเจ้าไปดูอยู่ เห็นตัวพระยาเข้าไปในวัดนมัสการพระถึงวิหารทีเดียวก็มี เวลาที่ไปนั้นมีกลองชนะตีนำหน้าเข้าไป และตีนำกลับออกมา แต่ภายหลังนี้ว่าไม่ได้เข้าไป เห็นจะเป็นย่อกันลง ด้วยเสด็จออกเย็นจะไม่ทันเวลาโล้ชิงช้าเป็นต้น จึงได้เลยเลือนไปทีเดียว นาลิวันขึ้นโล้ชิงช้ากระดานละ ๔ คน ๓ กระดาน มีเสาไม้ไผ่ปลายผูกถุงเงินปักไว้ กระดานแรก ๓ ตำลึง กระดานที่สอง ๑๐ บาท กระดานที่สาม ๒ ตำลึง นาลิวันซึ่งโล้ชิงช้านั้นแรกขึ้นไปนั่งถวายบังคม และนั่งโล้ไปจนชิงช้าโยนแรงจึงได้ลุกขึ้นยืน คนหน้าคอยคาบเงินที่ผูกไว้บนปลายไม้ คนหลังคอยแก้ท้ายให้ตรงเสาเงิน ครั้นโล้ชิงช้าเสร็จสามกระดานแล้ว ตั้งกระบวนกลับมาตามถนนบำรุงเมือง เลี้ยวลงถนนท้องสนามชัย เมื่อกระบวนแห่มาถึงหน้าพลับพลา กระบวนที่ถืออาวุธต้องกลับปลายอาวุธลง แต่ก่อนมาก็ไม่ได้มีเสด็จพระราชดำเนินออกทอดพระเนตรเลย พึ่งมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อเสลี่ยงมาถึงท้ายพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ พระยาลงจากเสลี่ยงเดินมา จนถึงหน้าพระที่นั่งที่ปูเสื่ออ่อนไว้ถวายบังคม พระราชทานผลกัลปพฤกษ์ ๒๐๐ ผล ถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วเดินไปจนสุดท้ายพระที่นั่ง ขึ้นเสลี่ยงกลับไปที่ชมรม วัน ๘ ค่ำเป็นวันเว้น มีแต่พิธีพราหมณ์ วัน ๙ ค่ำตั้งกระบวนแต่วัดราชบุรณมาคอยหน้าวัดพระเชตุพน เวลาเสด็จออกให้เรียกกระบวนแห่เมื่อใดจึงได้เดินกระบวน หยุดถวายบังคมและพระราชทานผลกัลปพฤกษ์ ๒๐๐ ผล เหมือนอย่างวัน ๗ ค่ำ กระบวนเดินเลี้ยวออกถนนบำรุงเมือง พักที่โรงชมรมที่หนึ่งข้างตะวันออกเหมือนวัน ๗ ค่ำแต่ไม่ต้องพักโรงมานพ และไม่ต้องมีกระดานมารับ ด้วยแขวนอยู่เสร็จแล้ว นาลิวันโล้ชิงช้า ๓ กระดาน เงินที่ผูกปลายไม้ก็เท่ากันกับวันแรก เมื่อโล้ชิงช้าแล้วนาลิวันทั้ง ๑๒ คนยกขันที่เรียกขันสาคร มีน้ำเต็มในขันมาตั้งหน้าชมรม รำเสนงสาดน้ำกันครบสามเสนง แล้วพระยาย้ายไปนั่งชมรมที่ ๒ ที่ ๓ นาลิวันก็ยกขันตามไปรำเสนงที่หน้าชมรม สาดน้ำแห่งละสามเสนงๆ เป็นเสร็จการ แห่กลับลงไปตามถนนบำรุงเมืองข้างตะวันออก เลี้ยวถนนริมกำแพงพระนครไปที่ประชุมหน้าวัดราชบุรณ ในการยืนชิงช้านี้มีเงินเบี้ยเลี้ยงของหลวงพระราชทานสิบตำลึง พระยาผู้ยืนชิงช้าเคยแจกคู่เคียงคนละตำลึงหนึ่ง ตัวนายคนละกึ่งตำลึงบ้างบาทหนึ่งบ้าง นายรองคนละสองสลึง ไพร่แจกคนละสลึงเสมอหน้า ถ้ามีกระบวนมากก็ต้องลงทุนรอนกันมากๆ ทั้งเงินที่เข้าโรงครัวเลี้ยงและเงินแจก และผ้านุ่งห่มเครื่องแต่งตัวกระบวนเพิ่มเติมบ้าง
ในการโล้ชิงช้านี้ เคยมีเจ้านายเสด็จไปทอดพระเนตรเนืองๆ เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเสด็จครั้งหนึ่ง เจ้านายฝ่ายในก็ตามไปมากด้วยกัน ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าลูกเธอเสด็จด้วยทุกปีมิได้ขาด เสด็จไปเป็นกระบวนช้าง บางคราวเวลาเย็นถึงทรงเกี้ยวทรงนวมก็มี แต่ที่เป็นปรกติและเวลาเช้านั้น ทรงยก คาดแพรสีติดขลิบทอง ทรงสร้อยประแจ ข้าพเจ้าเคยเป็นผู้ไปอยู่เสมอไม่ขาด ความที่อยากไปดูนั้นก็ใจเต้นเกือบนอนไม่หลับ แต่ความเหม็นเบื่อเครื่องแต่งตัวนั้นก็เป็นที่สุดที่แล้ว ยังเวลาแต่งตัวเช่นนั้น แต่ก่อนไม่ใช้สวมเสื้อ เล่นผัดฝุ่นกะเนื้อนั่งไปบนหลังช้าง ถ้าถูกปีที่หนาวขนชันไปตลอดทาง ยังจำกลิ่นอายรสชาติได้อยู่ ถ้าเวลาเจ้านายเสด็จเช่นนั้น ไปประทับที่ศาลาวัดสุทัศน์หลังตะวันออกแห่งประตูพระวิหาร ที่เป็นพลับพลาเปลื้องเครื่อง ผู้ซึ่งกำกับไปมักจะบังคับให้แหวกม่านหลังชมรมให้แลเห็นตัวพระยา และไล่คนที่ไปยืนมุงเป็นกลุ่มให้แหวกช่อง เมื่อถึงเวลารำเสนงมักจะให้เยื้องขันมาอยู่ข้างๆ ชมรม ด้วยศาลาที่ดูนั้นอยู่หลังชมรม ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ก็มีลูกเธอไปดูอยู่เนืองๆ เป็นกระบวนช้างบ้าง รถบ้าง วอบ้าง เป็นการปัจจุบันไม่ต้องเล่า
ส่วนการพระราชพิธีที่พราหมณ์ทำนั้น ตั้งแต่วันขึ้น ๖ ค่ำ บรรดาพราหมณ์ทั้งปวงก็ประชุมกันชำระกายผูกพรต คือคาดเชือกไว้ที่ต้นแขนข้างหนึ่งเป็นวันจะตั้งพิธี ตั้งแต่นั้นไปต้องกินถั่วงา ไม่กินเนื้อสัตว์และไม่อยู่ด้วยภรรยา พราหมณ์ทั้งปวงผูกพรตอยู่สามวัน คือตั้งแต่วันขึ้น ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๙ ค่ำ พ้นนั้นไปก็ออกพรต เว้นไว้แต่พระมหาราชครูพิธีที่เป็นผู้จะทำพิธีต้องผูกพรตไปตลอด ๑๕ วัน และนอนประจำอยู่ในเทวสถาน ไม่ได้กลับไปบ้าน ครั้นวันขึ้น ๗ ค่ำเวลารุ่งเช้า พระมหาราชครูอ่านเวทเปิดประตูเรือนแก้วไกรลาสศิวาลัยเชิญพระเป็นเจ้าเสด็จลง แล้วจึงได้ไปรับพระยาที่โรงมานพตามซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น เวลาค่ำเป็นเวลาทำพระราชพิธีเริ่มทำอวิสูทธชำระกายจุณเจิม และทำกระสูทธิ์อัตมสูทธิ์อ่านตำรับแกว่งธูปเป่าสังข์บูชาเสร็จแล้ว มีพราหมณ์คู่สวดยืนเรียงซ้อนต่อๆ กัน ๔ คน ยกพานข้าวตอกสวดคนละบท วรรคต้นชื่อมหาเวชตึก วรรคสองคนที่สองสวด เรียกโกรายะตึก วรรคสามคนที่สามสวด เรียกสาระวะตึก วรรคสี่คนที่สี่สวด เรียกเวชตึก เมื่อจบทั้ง ๔ คนแล้วจึงว่าพร้อมกันทั้ง ๔ คน เรียกลอริบาวาย ในเวลาว่าลอริบาวายนั้นเป่าสังข์ ว่าสามจบหยุดแล้วสวดซ้ำอย่างเดิมอีก ถึงลอริบาวายเป่าสังข์อีก เป่าสังข์ครบสิบสามครั้งเรียกว่ากัณฑ์หนึ่งเป็นจบ ต่อนั้นไป พระมหาราชครูยืนแกว่งธูปเทียนกระดึงเป่าสังข์บูชาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจบแล้ววางธูปเทียนถวายแล้วบูชาพานดอกไม้ อ่านเวทถวายดอกไม้รายชื่อพระเป็นเจ้าทั้งปวงจบแล้ว คู่สวดทั้ง ๔ คนนั้น ยกอุลุบอย่างเช่นเข้ามาถวายในท้องพระโรงอีกคนละครั้งเป็นการถวายข้าวตอก แล้วจึงเอาข้าวตอกนั้นแจกคนที่ไปประชุมฟังอยู่ในที่นั้นให้กินเป็นสวัสดิมงคลกันเสนียดจัญไร เป็นเสร็จการในเทวสถานใหญ่ แล้วเลิกไปทำที่สถานกลางต่อไปอีก การพิธีที่สถานกลางคือสถานพระมหาวิฆเนศวรนั้นก็เหมือนกันกับสถานใหญ่ คือสถานพระอิศวร แต่สวดต้องมากขึ้นไปเป็นสิบเจ็ดจบจึงจะลงกัณฑ์ แล้วก็มีแจกข้าวตอกเหมือนสถานใหญ่ การพิธีนี้ทำเหมือนๆ กันอย่างที่กล่าวมาแล้วตลอดทั้งสิบคืน ที่หน้าเทวรูปทั้งสองเทวสถานนั้นตั้งโต๊ะกองข้าวตอก มัน เผือก มะพร้าวอ่อน กล้วย อ้อย สิ่งละมากๆ เป็นกองโตทุกคืน
การซึ่งคนพอใจพูดกันชุมๆ ว่า กระดานลงหลุมๆ เป็นเครื่องสำหรับทำให้หนาว หรือเขตของความหนาวอย่างไรก็ไม่เข้าใจชัด เห็นแต่ร้องกันว่ากระดานลงหลุมแล้วหนาวนัก บางทีก็พูดดังโก๋ๆ ไม่รู้ว่าเขาหมายเอาเหตุการณ์อันใด คือในเดือนยี่หนาวจัดแล้วมีคนบ่นขึ้นว่าหนาว มักจะมีคนผู้ใหญ่ๆ ว่านี่ยังกระดานลงหลุมเดือนสามจะหนาวยิ่งกว่านี้ พูดเป็นจริงเป็นจังไปไม่รู้ว่ากระดานอะไรลงหลุมในเดือนสาม แต่ที่มีกระดานลงหลุมอยู่เรื่องหนึ่งในพิธีนั้นลงเสียแต่ก่อนคำที่ว่านั้นแล้ว คือเมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำเวลาจวนรุ่ง พระมหาราชครูเชิญกระดานสามแผ่น แผ่นหนึ่งยาวสี่ศอก กว้างศอกหนึ่ง สลักเป็นรูปพระอาทิตย์พระจันทร์แผ่นหนึ่ง เป็นรูปนางพระธรณีแผ่นหนึ่ง เป็นรูปพระคงคาแผ่นหนึ่ง ทาสีขาว สมมติว่าเป็นพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี พระคงคา ลงมาประชุมเฝ้าพระอิศวร บูชาในเทวสถานแล้ว จึงเชิญออกมาที่หลุมขุดไว้ตรงหน้าชมรม หลุมนั้นกว้างศอกสี่เหลี่ยม ลึกสี่นิ้ว ในนั้นปูอิฐวางขลังคือหญ้าคา ซึ่งพราหมณ์มักจะใช้รองอะไรๆ ในการพิธีทั้งปวง แล้วมีราวสำหรับพิงกระดาน เอากระดานนั้นวางลงในหลุมพิงอยู่กับราว มีชมรมสี่เสาดาดเพดานกั้นม่านลายรอบ ข้างนอกมีราชวัติ ๔ มุม ปักฉัตรกระดาษผูกยอดกล้วยยอดอ้อย พระอาทิตย์ พระจันทร์นั้น ลงหลุมที่หนึ่งข้างตะวันออก นางพระธรณีลงหลุมกลาง พระคงคาลงหลุมสุดท้ายข้างตะวันตก หน้ากระดานนั้นหันมาข้างใต้ตรงชมรมที่พระยานั่ง การที่เชิญกระดานลงหลุมนี้ ทำแล้วเสร็จในเวลาจวนรุ่งขึ้นวัน ๙ ค่ำ ซึ่งเป็นวันแห่เวลาเย็นนั้น แล้วกระดานนี้อยู่ที่หลุมสามวัน วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งเชิญกระดานขึ้นจากหลุมไปเก็บไว้ในเทวสถานตามเดิม
ในวันเดือนยี่แรมค่ำหนึ่ง เป็นวันพิธีตรียัมพวายและตรีปวายต่อกัน เวลาเช้าตรู่พราหมณ์ประชุมกันที่สถานพระนารายณ์ พระมหาราชครูอ่านเวทเปิดทวารเหมือนอย่างเช่นเปิดถวายพระอิศวร เวลาเย็นประชุมกันที่สถานพระนารายณ์อีกเวลาหนึ่ง สวดบูชาอย่างเช่นที่ทำในสองสถานก่อนนั้น เป็นแต่เปลี่ยนชื่อเป็นพระนารายณ์ คงสวดมหาเวชตึก แปลกกันแต่ว่าขึ้น ศิวาสะเทวะ ต่อไปก็สวดโกรายะตึก สาระวะตึก เวชตึก แล้วสวดโลขัดตุโน พร้อมกัน ๔ คน เป่าสังข์สวด ๙ จบ เป็นกัณฑ์หนึ่งตามที่บังคับไว้ แต่เวลาสวด พราหมณ์คู่สวดยืนเรียงเป็นตับ เสมอหน้ากันทั้ง ๔ คน ต่อนั้นไปก็ทำเหมือนอย่างเช่นที่กล่าวมาแล้ว เสร็จการที่สถานพระนารายณ์แล้วมาทำที่สถานมหาวิฆเนศวร เหมือนอย่างเช่นที่เคยทำอยู่นั้นอีก พิธีทั้งสองสถานนี้ต้องรีบให้แล้วเสียแต่เย็นเพราะจะต้องเตรียมการที่จะทำที่สถานใหญ่ต่อไป เป็นวันเหนื่อยมากของพราหมณ์ เพราะทั้งรับทั้งส่ง ครั้นเวลาค่ำพอเดือนขึ้นเดินกระบวนแห่ซึ่งเรียกกันตามสามัญว่าแห่พระนเรศวร์ หรือที่ร้องกันว่าพระนเรศวร์เดือนหงายพระนารายณ์เดือนมืด แห่พระนเรศวร์นั้น คือแห่พระอิศวรเวลาจะเสด็จกลับจากโลกนี้ โปรดแสงสว่าง จึงให้แห่ในเวลาเดือนขึ้น กระบวนนั้นเกณฑ์ขุนหมื่นกรมม้าแซงนอกแซงในเกราะทอง และขอแรงเชลยศักดิ์ตามที่จะหาได้ ขี่ม้าถือเทียนเป็นกระบวนหน้า แล้วถึงตำรวจนำริ้วถือธงมังกรคู่ ๑ ตำรวจถือโคมบัว ๘๐ กลองแขกเดินหว่างกระบวนหาม ๔ ตี ๒ ปี่ ๑ ถัดมาพิณพาทย์หาม ๔ ตี ๓ ปี่ ๑ ต่อนั้นมากลองชนะ ๒๐ มีจ่าปี่จ่ากลอง สังข์ ๒ แตรงอน ๖ แตรฝรั่ง ๔ เครื่องสูงที่แห่พระนั้นใช้พื้นขาว เครื่องหน้าห้าชั้น ๖ เจ็ดชั้น ๒ บังแทรก ๔ พวกพราหมณ์ขุนหมื่นถือเทียนเดินสองแถว ต่อกลองชนะมาจนถึงหน้าเสลี่ยงหงส์ ฉัตรเทียน ๔ คัน เป็นของพราหมณ์ทำถวาย เดินหน้าเสลี่ยงหงส์ ๒ คัน เดินหลังเสลี่ยงเทวรูป ๒ คัน เสลี่ยงที่ตั้งหงส์และตั้งเทวรูปนั้นใช้เสลี่ยงโถง แต่เสลี่ยงหงส์ใช้เพดานตรงๆ เสลี่ยงเทวรูปเป็นฉัตรซ้อนๆ ขึ้นไปห้าชั้นระบายสีขาวทั้งสิ้น รอบเสลี่ยงมีราวติดเทียน เทวรูปซึ่งตั้งมานั้นมีรูปพระอิศวร พระอุมา พระมหาวิฆเนศวร มีพราหมณ์ถือสังข์เดินหน้า ๔ คน มีพัดโบกบังสูรย์ พระมหาราชครูและปลัดหลวงขุนเดินเป็นคู่เคียง นุ่งจีบชายหนึ่ง โจงชายหนึ่ง ถือเทียนเล่มใหญ่ๆ ไปข้างเสลี่ยงพระเครื่องหลังเจ็ดชั้น ๒ ห้าชั้น ๔ บังแทรก ๒ ต่อนั้นไปเกณฑ์ละครผู้หญิงสาวๆ แต่งเป็นพราหมณ์ถือเทียนเดินแห่สองแถวอยู่ในร้อยคน ต่อนั้นไปถึงโคมบัวตำรวจอีก ๔๐ แล้วถึงม้ากรมม้าและม้าเชลยศักดิ์ตามแต่จะหาได้ อยู่ภายหลังอีก เดินแห่แต่เทวสถานมาตามถนนบำรุงเมือง เลี้ยวลงถนนสนามชัย ในเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทุกปีมิได้ขาด โปรดให้ปักพุ่มดอกไม้เพลิงบูชาพระเป็นเจ้า ๑๐ พุ่ม พอเสลี่ยงพระมาถึงหน้าพระที่นั่ง บ่ายเสลี่ยงหันหน้าเข้าตรงพระที่นั่ง พราหมณ์เป่าสังข์โองการถวายชัย ทรงจุดดอกไม้เพลิงแล้ว จัดเทวรูปในห้องภูษามาลา ซึ่งเป็นเทวรูปสำหรับเข้าพิธี ในพระแท่นมณฑล องค์เล็กๆ สามองค์ คือ พระอิศวร พระอุมา มหาวิฆเนศวร ขึ้นบนพานทองสองชั้น มีดอกไม้สดประดับในพานนั้นเต็มทั้งสองชั้น กับธูปเทียนเครื่องนมัสการ ทรงเจิมและประสุหร่ายแล้วจุดเทียนนมัสการ ๒ คู่ เหลือไปสำหรับบูชาที่เทวสถาน ๒ คู่ แล้วภูษามาลาเชิญเทวรูปไปขึ้นเสลี่ยง กั้นกลดกำมะลอ ออกประตูเทวาพิทักษ์ไปส่งขึ้นเสลี่ยงโถงที่ตั้งพระเป็นเจ้าแห่มานั้นไปขึ้นหงส์ด้วย
แต่เทวรูปซึ่งสำหรับส่งไปแห่นี้มีเรื่องราวที่จะต้องเล่าอยู่หน่อยหนึ่ง คือรูปมหาวิฆเศวรนั้นเป็นของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระราชทานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยถือกันว่าถ้าบูชามหาวิฆเนศวรแล้วทำให้จำเริญสวัสดิมงคล แต่ผู้ซึ่งจะรับไปบูชานั้นถ้าไม่ได้รับจากผู้ที่เคยปฏิบัติบูชามาแต่ก่อน เอาไปไว้มักจะมีไข้เจ็บต่างๆ จึงต้องมอบกันต่อๆ ไป ครั้นเมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๙ ขวบ ทรงคิดชื่อเจ้ากรมให้เป็นหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ เวลาแห่เทวรูปเช่นนี้ จึงรับสั่งว่าไหนๆ ก็ไปเอาชื่อเอาเสียงท่านมาชื่อแล้ว จะให้พระองค์นี้ไปสำหรับบูชาเหมือนอย่างเช่นพระองค์ท่านได้เคยทรงบูชามาแต่ก่อน จึงพระราชทานน้ำสังข์ทรงเจิมแล้ว มอบพระองค์นั้นพระราชทาน เอาพระองค์อื่นไปขึ้นหงส์แทนจนตลอดรัชกาล ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าจึงได้นำบุษบกเล็กๆ บุทองคำตั้งเทวรูปนั้นไว้แล้ว จึงได้ใช้บุษบกทองคำนั้นตั้งบนพานทองสองชั้นอีกทีหนึ่ง สำหรับเชิญไปขึ้นหงส์ เทวรูปมหาพิฆเนศวร ก็เปลี่ยนเอาองค์ที่ได้พระราชทานนั้นไปขึ้นหงส์ตามเดิม
ที่หน้าเทวสถานนั้นมีหนังโรงหนึ่ง ทั้งวันแรมค่ำหนึ่ง และวันแรมห้าค่ำ หนังและดอกไม้เพลิงนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการอนุโลมตามพระราชพิธีลดชุดลอยโคม ที่มีมาในกฎมนเทียรบาล ในคำซึ่งว่าที่หน้าพุทธาวาสตั้งระทา ๔ ระทา หนัง ๒ โรง เมื่อแห่กลับไปถึงเทวสถานแล้วทำพิธีต่อไป คือมีเตียงตั้งพระอิศวรเตียง ๑ ชั้นรองลงมาเรียกว่าภัทรบิฐ ทอดขลัง โรยแป้งอย่างเช่นที่พระที่นั่งภัทรบิฐซึ่งสำหรับบรมราชภิเษก เตียงหนึ่งตั้งเบญจคัพย์แล้วสังข์ตั้งข้างขวา กลดตั้งข้างซ้าย กลางเทวสถานตรงที่ตั้งหงส์ตั้งศิลาบดอันหนึ่ง เรียกว่าบัพโต คือต่างว่าภูเขา ท่านเก่าๆ ท่านก็พอใจบ่นกันว่าทำไมจึงไม่ใช้ก้อนหิน มาใช้ศิลาบด แต่ก็ไม่เห็นมีใครอาจแก้ไข เพราะเคยใช้มาแต่ก่อน พระมหาราชราชครูทำกระสูทธิ์อวิสูทธเจิมจันทน์ อ่านเวทสอดสังวาลพราหมณ์ ซึ่งเรียกว่าธุรำและแหวกเกาบิลแล้ว พราหมณ์คู่สวด ๔ คน สวดบุถุ ๑๓ จบ กัณฑ์หนึ่ง เหมือนเช่นอย่างสวดมาทุกคืน พระครูแกว่งธูปประน้ำอบ บูชาข้าวตอกดอกไม้ แล้วคู่สวดยกอุลุบเช่นทุกวัน แต่ในวันนี้ไม่แจกข้าวตอกแก่คนทั้งปวงที่ไป ยกไว้เป็นของส่วนถวายหลวง แล้วพระมหาราชครูอ่านเวทจบหนึ่งชื่อทรงสาร จบสองชื่อโตรพัด แล้วทักษิณบูชาศาสตร์ รินน้ำเบญจคัพย์ลงถ้วย ถวายธูปเทียนดอกไม้บูชาสังข์กลด แล้วอ่านเวทสนานหงส์อีกจบหนึ่ง แล้วจึงเชิญพระอิศวร พระอุมา พระมหาพิฆเนศวร สรงน้ำด้วยกลดแล้วสังข์แล้วจึงเชิญขึ้นภัทรบิฐทำศาสตร์อย่างบูชาอ่านเวท ชื่อสารเหลืองจบแล้ว ที่สองชื่อมาลัย ที่ ๓ ชื่อสังวาล แล้วจึงเชิญเทวรูปตั้งบนพานทองขาวเดินชูประทักษิณไปรอบที่ตั้งหงส์ เมื่อถึงศิลาบดเรียกบัพโตนั้น ยกเท้าขวาก้าวเหยียบขึ้นบนศิลาครั้งหนึ่ง แล้วก็เดินเวียนต่อไป เมื่อมาถึงศิลาก็เหยียบอีกจนครบสามครั้งจึงเชิญเทวรูปขึ้นบนบุษบกหงส์ ในระหว่างนั้นเป่าสังข์ตลอดจนพระขึ้นหงส์แล้วจึงได้หยุด แล้วอ่านเวทบูชาหงส์ บูชาพระสุเมรุ แล้วจึงว่าสรรเสริญไกรลาส เหมือนพระเจ้าแผ่นดินขึ้นภัทรบิฐ พราหมณ์ก็ว่าสรรเสริญไกรลาสอย่างเดียวกัน แล้วอ่านเวทส่งพระอุมาจบแล้ว อ่านสดุดี แล้วอ่านสรงน้ำพิเนศ จุดเทียน ๘ เล่ม มีดอกไม้ตั้งไว้ ๘ ทิศ อ่านเวทเวียนไปตามทักษิณาวรรตทั้ง ๘ ทิศ เรียกว่าโตรทวาร ต่อไปพราหมณ์ ๒ คนจึงได้ว่าช้ากล่อมหงส์ อย่างเดียวกันกับกล่อมขึ้นพระอู่เจ้านาย ๓ บท เป่าสังข์ ๓ ลา แล้วอ่านเวทส่งสารส่งพระเป็นเจ้าบท ๑ แล้วจึงอ่านเวทปิดทวารศิวาลัยอีกจบ ๑ จึงได้เป็นเสร็จการในเวลาค่ำนั้น กว่าจะแล้วเสร็จคงอยู่ใน ๗ ทุ่มหรือ ๘ ทุ่มเศษ ทุกปีไม่ต่ำกว่านั้น
การช้าหงส์นี้ เป็นธรรมเนียมโบราณ ที่พระเจ้าแผ่นดินเคยเสด็จไปส่งพระเป็นเจ้าถึงเทวสถาน ตามเช่นที่กล่าวมาแล้ว แต่พระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินส่งพระเป็นเจ้าเช่นแต่ก่อนเลย พึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนช้างตามอย่างแต่ก่อนครั้งหนึ่ง การที่เสด็จส่งพระเป็นเจ้านี้ มีแบบแผนหรือเกือบจะว่าร่างหมายติดอยู่ในกรมช้างเข้าใจกันซึมซาบดี และเล่ากันต่อมาว่าเสด็จนั้นทรงช้างพระที่นั่งละคอ นายสารใหญ่เป็นควาญพระที่นั่ง ทรงพระแสงของ้าว เครื่องช้างพระที่นั่งใช้เครื่องแถบกลม เพราะเป็นเวลากลางคืน มีเจ้านายและขุนนางขี่ช้างพลายพังตามเสด็จด้วยหลายช้าง การซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนช้างนั้นก็เป็นการลองเล่นตามอย่างเก่า ถ้าจะพูดตามโวหารเดี๋ยวนี้ ก็เรียกว่าอี๋ได้ ไม่ทรงเห็นเป็นการจำเป็นอย่างใดเป็นแน่ และมีครั้งเดียว ต่อมามีเสด็จพระราชดำเนินอีกก็เป็นกระบวนพระราชยาน อยู่ข้างเป็นการพาพระเจ้าลูกเธอไปทอดพระเนตรมากกว่าเป็นส่งพระเป็นเจ้า แต่พระเจ้าลูกเธอเสด็จไปทอดพระเนตรนั้นมีเนืองๆ เกือบจะแทบทุกปีก็ว่าได้ เหมือนอย่างพิธีเจ้าเซ็น จนพระมหาราชครูต้องหาของแจกพระเจ้าลูกเธอเตรียมไว้เป็นของประจำปี คือขวดปากกว้างอย่างย่อมๆ กรอกข้าวเม่าข้าวตอกลูกบัวถั่วลิสงเป็นต้นแจกให้ทั่วกัน ถ้าปีใดเจ้านายไม่ได้เสด็จไป ก็ตามเข้ามาถวายถึงในวังพร้อมกับวันถวายอุลุบ คล้ายกันกับของแจกในเวลาไปดูเจ้าเซ็น คือมีขวดแช่อิ่มและเครื่องหวานๆ ต่างๆ มีเปลือกส้มโอเป็นต้น แปลกกันแต่เจ้าเซ็นมีเทียนมัดและน้ำชะระบัดด้วยเท่านั้น ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ก็เคยเสด็จครั้งหนึ่งเป็นกระบวนรถ แต่ที่พระเจ้าลูกเธอไปทุกปีนั้นเลิกไป ด้วยเห็นว่าเป็นเวลาดึกมาก การซึ่งเสด็จพระราชดำเนินเก่าใหม่ และเจ้านายเสด็จไปนี้ ก็มีแต่เฉพาะวันแรมค่ำหนึ่งวันเดียว วัน ๕ ค่ำไม่มี ด้วยกลัวพิษดังกล่าวมาแล้ว
รุ่งขึ้นวันแรม ๒ ค่ำ พระมหาราชครูและพราหมณ์ทั้งปวงจัดของถวายเข้ามาตั้งในท้องพระโรง มีพาน ๒ ชั้น ข้าวตอก ๒ พาน นอกนั้นมีข้าวเม่า, กล้วย, มะพร้าวอ่อน, อ้อย เลยไปจนกระทั่งถึงขนมหลายสิบโต๊ะ เวลาเสด็จออกพระมหาราชครูถวายน้ำสังข์ พราหมณ์ ๒ คนเป่าสังข์ แล้วเจ้ากรมปลัดกรม ๓ คนยกพานข้าวตอกว่าอุลุบคนละครั้งครบ ๓ คราวแล้วเป็นเสร็จการ การที่ยกอุลุบนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ถ้าเจ้านายที่พระมารดาเป็นเจ้าควรรดน้ำพระเต้าเบญจคัพย์ และว่าสรรเสริญไกรลาสในเวลาเสด็จขึ้นพระอู่ได้แล้ว ก็ถวายอุลุบได้ เมื่อข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าลูกเธออยู่ตั้งแต่เล็กมา ถ้าพราหมณ์มายกถวายอุลุบเมื่อใดก็โปรดให้ยกอุลุบให้ข้าพเจ้าครั้งหนึ่งทุกปีมิได้ขาด ในปีแรกที่จะยกพระมหาราชครูพิธี (พุ่ม) เป็นผู้ยกเอง ไม่ได้ตัดคำบรมราชาข้างท้าย รับสั่งว่าไม่ถูก ซึ่งเคยยกถวายพระองค์ท่านมาแต่ก่อน เคยตัดคำบรมราชาข้างท้ายออกเสีย แต่นั้นมาก็ยกอุลุบไม่มีคำบรมราชาตลอดมาจนข้าพเจ้าเป็นเจ้าแผ่นดิน ครั้นเมื่อลูกชายใหญ่โตขึ้น พระมหาราชครูพิธี (พุ่ม) ตายเสีย พระมหาราชครูเดี๋ยวนี้[๒] เป็นผู้ยกก็ว่าบรมราชาเรื่อยไป เห็นจะจำของเก่าไม่ได้ด้วยเลิกร้างมาเสียนาน เตือนก็รวมๆ ตกลงเป็นไหลกันอยู่จนบัดนี้ เมื่อเวลายกอุลุบถวายแล้วแจกเงินพระราชทานพระมหาราชครูปีหนึ่ง ๑๐ ตำลึงก็มี ๑๒ ตำลึงก็มี แต่ในเกณฑ์นั้น ๕ ตำลึง นอกนั้นเป็นรางวัลใช้ทุนที่เห็นของถวายมาก เจ้ากรมอีกคนหนึ่ง ๓ ตำลึง ปลัดกรม ๒ ตำลึง หลวงสุริยาเทเวศร์ตำลึงกึ่ง พราหมณ์นอกนั้นที่ทรงรู้จักคุ้นเคย ๔ บาทบ้าง กึ่งตำลึงบ้าง บาทหนึ่งบ้าง จนถึงสลึงหนึ่ง แล้วโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่รับอุลุบนั้นแจกด้วยคนละเล็กละน้อยอีกส่วนหนึ่ง ต่อนั้นไปพราหมณ์ไปถวายวังหน้าและเจ้านายและขุนนางทั้งปวง เขาจะแจกบ่ายกันอย่างไรไม่ทราบเลย แต่ปีหนึ่งก็จะได้มากๆ อยู่
ต่อนั้นไปก็ทำพิธีตรีปวายในสถานนารายณ์แห่งเดียว เช่นทำมาในวันแรมค่ำหนึ่งนั้นทุกวัน ตลอดจนถึงวันแรมห้าค่ำแห่พระนารายณ์อีกครั้งหนึ่ง กระบวนแห่ทั้งปวงก็เหมือนกันกับแห่พระอิศวร ยกเสียแต่เสลี่ยงหงส์ ในเสลี่ยงพระนั้นตั้งรูปพระนารายณ์ พระลักษมี พระมเหศวรี แห่ก่อนเวลาเดือนขึ้น เดินมาตามถนนบำรุงเมือง มาลงถนนสนามชัยเหมือนวันก่อน เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จพระราชดำเนินออกทรงจุดดอกไม้ และส่งเทวรูปน้อยมีแต่รูปพระนารายณ์องค์เดียว ตั้งบนพานทองสองชั้น แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้เสด็จออกบ้าง ไม่ได้เสด็จออกบ้าง ไม่ได้ออกเป็นพื้น ภูษามาลาก็นำเทวรูปมาถวายทรงเจิม และพรมสุหร่ายที่พระที่นั่งจักรี แล้วเชิญขึ้นเสลี่ยงกั้นกลดไปเหมือนอย่างแต่ก่อน การซึ่งทำพิธีในเทวสถานนั้นก็เหมือนกันกับที่สถานพระอิศวร แปลกแต่ตัวเวทมีถ้อยคำยักเยื้องกันไปบ้างเล็กน้อย และมีหนังด้วยเหมือนคราวส่งพระอิศวร การพระราชพิธีตรีปวายก็เป็นอันเสร็จลงในวันแรม ๕ ค่ำนั้น
ของพระราชทานในพระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวายสองพิธีนี้ พระมหาราชครูได้เงินทักษิณบูชาสถานละ ๖ บาท ทั้ง ๓ สถาน ค่ากุมภ์อีก ๒ สถานๆ ละบาทเฟื้อง คู่สวดสถานละ ๔ คน ได้คนหนึ่งวันละเฟื้อง สถานใหญ่ สถานกลาง มีพิธี ๑๐ วัน เป็นเงินสถานละ ๕ บาท สถานนารายณ์มีพิธี ๕ วัน เป็นเงิน ๑๐ สลึง ของบูชาเทวรูปสถานใหญ่ สถานกลาง สถานละ ๑๐ ตำลึง สถานนารายณ์ ๕ ตำลึง สีผึ้งหนัก ๕๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
อนึ่งในการพิธีตรียัมพวายตรีปวายนี้ พราหมณ์ได้มีการสมโภชเทวรูปและทำบุญตามทางพุทธศาสนาด้วย คือวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๒ เวลาบ่ายมีสวดมนต์ที่ในเทวสถาน ๑๑ รูป รุ่งขึ้นวันแรม ๖ ค่ำเวลาเช้าเลี้ยงพระที่สวดมนต์ สำรับที่เลี้ยงพระและไทยทานของพราหมณ์เอง ในเวลาเช้าวันเลี้ยงพระมีราษฎรพาบุตรหลานมาโกนจุกที่เทวสถาน มีจำนวนคนตั้งแต่ ๑๕๐ คนเศษขึ้นไปจน ๓๙๐ คน พระราชครูพิธีได้แจกเงินคนละเฟื้องทั่วกัน และแจ้งความว่ามีจำนวนมากขึ้นทุกปี ครั้นเวลาบ่ายมีเวียนเทียนเทวรูปของหลวงมีบายศรีตองซ้ายขวา แตรสังข์พิณพาทย์กลองแขกไปประโคมในเวลาเวียนเทียนด้วย ๚