สลากภัต
๏ บัดนี้จะว่าด้วยการสลากภัตซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ข้าพเจ้าได้เคยจําได้ว่าได้ดูแห่สลากภัตไปวัดพระเชตุพน ที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ครั้งหนึ่ง มีกระบวนเป็นอันมาก แต่กระบวนทั้งปวงนั้นจําไม่ได้หมดว่ามีอะไรบ้าง ไปจําได้อยู่สองอย่างแต่ว่ามีสหัสเดชะขี่เกวียนตัวหนึ่ง หัวโตสักเท่าตุ่มขนาดย่อมๆ มีมือหลายมือ ถืออะไรต่ออะไรหลายอย่าง จําก็ไม่ได้ว่าถืออะไรบ้าง เห็นแต่เวลาเกวียนเดินแล้วสั่นหรกๆ มาแต่ไกล ได้ตั้งตาดูแต่เหนือพลับพลา แล้วแลตามตลอดจนท้ายพลับพลา อยู่ข้างจะชอบใจมากกว่าสิ่งอื่น อีกกระบวนหนึ่งนั้นพิเภกคนๆ เราแต่งเป็นโขน มีลิงตามเป็นกองโต ถือผลไม้ต่างๆ เขามีพิณพาทย์ตี พิเภกและลิงนั้น เต้นตามเพลงพิณพาทย์ออกสนุกอีกอย่างหนึ่ง ได้ดูจําไว้ได้แต่สองอย่างเท่านี้ จะได้มีปีใดก็ไม่ทราบแน่ และไม่ไว้ใจตัวว่า การที่จําไว้นั้นจะถูกต้องหรือไม่ เที่ยวสอบถามใครๆ เขาดู เขาก็ว่ามีสลากภัตวัดพระเชตุพนจริง แต่จะมีกระบวนเช่นข้าพเจ้าจําได้หรือไม่นั้น เขาไม่ทราบหรือจําไม่ได้ ก็ยิ่งออกหนักใจขึ้นกลัวว่าจะไปเฟือนเอาเล่นโขนชักรอกเมื่อพิธีน้ำทิพย์มาฝันเห็นไปดอกกระมัง แต่ยังจําได้แน่นอนนัก จึงได้ค้นดูจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ก็ได้ความว่า สลากภัตนั้นได้มีเมื่อปีมะโรงอัฐศก อายุข้าพเจ้าได้สามขวบเต็ม แต่ไม่มีสหัสเดชะดังเช่นที่ฝันเห็นไปนั้น เป็นแต่พรรณนาความกว้างๆ ว่า “ของหลวงไปหน้า แต่งละครข้างในหาบสลากภัตเป็นคู่ๆ ถึงท่านที่ต้องเกณฑ์ก็คิดทําประกวดกัน จัดหญิงศีรษะจุกและหญิงรุ่นสาวมาตกแต่งให้นุ่งผ้ายกบ้าง นุ่งสังเวียนบ้าง ห่มเข้มขาบบ้าง หาบสลากภัตเป็นสี่แถว แล้วก็มีคนถือสำรับคาวหวาน เครื่องไทยทานเป็นขนมผลไม้ต่างๆ ที่จะถวายพระสงฆ์ในสลากภัตนั้น ตามไปเบื้องหลังเป็นอันมาก ลางแห่งก็แต่งเป็นละครยืนเครื่องและนางเป็นคู่ๆ กันหาบสลากภัต ลางแห่งก็แต่งเป็นยักษ์บ้างลิงบ้าง ลางแห่งก็แต่งเป็นเสี้ยวกางแทงพิสัยไปข้างหน้า ลางแห่งก็แต่งเป็นงิ้วรบกัน ลางแห่งก็แต่งเป็นนางต่างภาษา ทูนกระบุงสิ่งของเป็นอันมาก ลางแห่งก็จัดเป็นรถและเกวียนบรรทุกสิ่งของเป็นคู่ๆ ลางแห่งก็จัดเอาเด็กที่รุ่นมาแต่งตัวถือผลไม้ต่างๆ ไปเป็นอันมาก ตามแต่ปัญญาผู้ใดจะเห็นดีก็ทําไป มีพิณพาทย์จีนพิณพาทย์ไทยไปบนเกวียนบ้างทุกๆ กระบวน ตั้งกระบวนที่หน้าประตูวิเศษชัยศรี ไปเลี้ยวป้อมเผด็จดัสกร เดินกระบวนไปวัดพระเชตุพน คิดกระบวนหนึ่งคนที่อย่างน้อยทั้งหญิงทั้งชายเพียงร้อยเศษ ที่อย่างมากก็ถึงสองร้อยเศษ แต่ล้วนถือสิ่งของทั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทอดพระเนตรอยู่บนพระหนึ่งสุทไธศวรรย์” ได้ความจากจดหมายเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าดังนี้ ได้ความจากผู้อื่น คือท้าวเจ้าจอมมารดาอิ่มว่าตัวเองได้แต่งเป็นคนแก่ คนหาบสลากภัตนั้น ดวงคําเจ้าจอมมารดาหาบทอง จีบหาบถม แว้งหาบเงิน ละครแต่งเป็นพราหมณ์ เป็นศีรษะจุกสวมเกี้ยว ถือดอกไม้ธูปเทียน นอกนั้นมีละครสวมชฎา เป็นมนุษย์บ้าง ยักษ์บ้าง ขี่ม้าเป็นคู่ๆ และมีแต่งเป็นจีนเดินแห่ด้วย นี่เป็นกระบวนหลวง ได้ความจากผู้อื่นอีก ว่ากระบวนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า มีแคนใหญ่อันหนึ่งวางบนล้อเลื่อนไป มีลาวขับแคนเดินแวดล้อมไปด้วย แล้วจึงมีปราสาทผึ้งใหญ่หลังหนึ่งวางบนล้อเลื่อนลากไปเหมือนกัน ของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย มีช้างบรรทุกทุเรียน ของผู้อื่นก็มีเป็นละครบ้างงิ้วบ้าง อีกกระบวนหนึ่งไม่ทราบว่าของใคร มีทุเรียนประดับ เป็นทุเรียนผลใหญ่ขึ้นล้อเลื่อน ได้ความเฉียดๆ ไปอย่างนี้ แต่เรื่องสหัสเดชะของข้าพเจ้ายังไม่ได้ยินใครเอ่ยถึง เป็นแต่มีสลากภัตครั้งหนึ่งนั้น นับว่าเป็นถูกแน่มิใช่ฝัน แต่กระบวนนั้น บางทีคนอื่นเขาจะชอบใจอย่างอื่น แต่ข้าพเจ้าเป็นเด็กโคมจะไปชอบใจโคมที่เขาไม่ชอบกัน จึงไม่มีใครจำไว้หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่สังเกตได้ว่า ถ้าเด็กเช่นนั้นไม่ชอบใจอย่างยิ่งแล้วไม่จําได้ ถ้าจำได้แล้วไม่ลืมเลย สลากภัตวัดบวรนิเวศ ซึ่งว่ากันว่ามีครั้งหนึ่งก่อนหรือภายหลังวัดพระเชตุพน ข้าพเจ้าไม่ได้นึกวี่แววได้เลยสักนิดเดียว ถามใครก็ดูรวมๆ ไปหมดทั้งสิ้น
การสลากภัตทั้งสองคราว คือวัดพระเชตุพน และวัดบวรนิเวศต้องนับว่าเป็นการจร ส่วนสลากภัตที่ลงเป็นการประจำปีนั้น ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการมีในเดือน ๗ แต่จะเป็นขึ้นแปดค่ำหรือขึ้นสิบห้าค่ำจําไม่ถนัด คงอยู่ในวันพระ เป็นแต่สลากภัตของหลวงกับเจ้านายข้าราชการฝ่ายใน แห่ออกทางประตูราชสำราญ ผ่านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมไป เข้าประตูหน้าพระอุโบสถ ทอดพระเนตรที่ศาลาบอกหนังสือ สลากภัตเช่นนี้ มีกระบวนแห่เป็นผู้หญิงถือธงชาย ๑๐ ธงตะขาบ ๑๐ มีพิณพาทย์ผู้หญิงตีสามหามสี่ไปในระหว่างสำรับหนึ่ง ต่อไปละครขี่ม้า บางทีก็อย่างละสองคู่ บางทีก็อย่างละคู่ คือยืนเครื่อง พราหมณ์ ลิง ยักษ์ ในระหว่างละครขี่ม้านี้ มีพิณพาทย์อีกสำรับหนึ่ง ต่อนั้นไปเป็นละครเด็กๆ ถือดอกไม้คู่หนึ่ง ธูปคู่หนึ่ง เทียนคู่หนึ่ง แต่แต่งตัวนั้นยักเยื้องกันไปเป็นคราวๆ บางคราวก็แต่งศีรษะจุกทั้งหกคน บางคราวก็แต่งเป็นพราหมณ์ทั้งหกคน บางคราวก็แต่งเรียกว่าอย่างเจ้าหนุ่ม คือแต่งเป็นละครแต่โพกผ้าสีทับทิมติดขลิบ ต่อนั้นลงมาเป็นหาบหลวง ทองหาบหนึ่ง เงินหาบหนึ่ง กระเช้าที่หาบนั้น ใช้ไม้เป็นแป้นหกเหลี่ยมปิดทองปิดเงิน ร้อยสายโซ่โยงขึ้นไปเป็นสาแหรก ในสาแหรกนั้น ตั้งพานทองพานเงินข้างหนึ่งเป็นกระทงข้าวเหนียว ข้างหนึ่งเป็นกระทงสังขยา คนที่หาบแต่งตัวนุ่งยกบ้างสังเวียนบ้าง ห่มซับในแพร ห่มตาดชั้นนอก ต่อไปจึงถึงงานกลางเชิญเครื่องโต๊ะเงินผูกถุง ทั้งคาวหวานและเคียง พวกงานกลางนุ่งผ้าลาย นุ่งหยี่ ห่มซับในแพร ขึ้นนอกอัตลัดดอกราย ต่อนั้นไปจึงถึงหาบเจ้านายข้าราชการฝ่ายในเดินเป็นคู่ๆ กระเช้าที่หาบทําเป็นกระทงเจิม เป็นเครื่องขี้รักปิดทองบ้าง เครื่องอังกฤษบ้าง ปลายคานที่หาบเป็นศีรษะนาคหางนาค มีกระทงในกระเช้าทั้งสองข้าง มีซองพลูหมากธูปมัดเทียนมัดอยู่ในกระเช้า แล้วมีธงกระดาษปักฉลากหมายที่ ๑ ที่ ๒ บอกชื่อเจ้าของ สบงพาดศีรษะคานผืนหนึ่ง คนที่หาบนั้นแต่งตัวนุ่งสังเวียนบ้างยกบ้าง ที่เลวๆ ลงไปยกไหมก็มี ห่มตาดเยียรบับเข้มขาบอัตลัด ตามแต่ผู้ใดจะมีและจะหาได้ จํานวนหาบมากและน้อยตามจํานวนพระสงฆ์ที่มาฉัน ปรกติเห็นจะอยู่ใน ๓๐ รูป แต่ก่อนๆ มาใช้ทุเรียนทั้งผลกระเช้าหนึ่ง กระทงข้าวเหนียวกระเช้าหนึ่ง พึ่งจะมาเกิดกริ้วกันขึ้นเมื่องานสมโภชช้าง เห็นจะเป็นครั้งพระเศวตรสุวภาพรรณ ไปเหม็นตลบอบอวลขึ้นอย่างไรรับสั่งให้ไปทิ้งเสียทั้งสิ้น ภายหลังจึงได้กลายเป็นสังขยาบ้าง ผลไม้ต่างๆ บ้าง กระเช้าหนึ่งบางทีก็มีทั้งสังขยาและผลไม้ด้วย หาบหลวงและเครื่องโต๊ะเงินนั้นเป็นข้าวพระทั้งสองสำรับ นอกนั้นก็ถวายพระสงฆ์ตามที่ ๑ ที่ ๒ เป็นลำดับกัน เวลาทรงประเคนสำรับ ทรงประเคนกระเช้าสลากภัตด้วยทีเดียว การเลี้ยงพระก็ไม่แปลกประหลาดอันใด จืดๆ เหมือนเลี้ยงขนมเบื้อง ถ้ามีการสมโภชบ้าง ก็เลิกสสากภัตตามธรรมเนียมเสีย ไปมีสลากภัตในการสมโภชช้างสามวัน พระสงฆ์มากออกไปเป็นร้อยแปดรูป ถ้าเช่นนั้นก็ต้องเกณฑ์เจ้านาย เจ้าคุณ ท้าวนาง เจ้าจอมมารดาใหม่ เจ้าจอมมารดาเก่า จนกว่าจะพอ บางปีก็ยกไปวัดราชประดิษฐ์ก็มี วัดราชบพิธก็มี บางทีก็เลยลืมๆ ไปเสียไม่ได้ทําก็มี แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ สลากภัตตามธรรมเนียมวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้มี มีแต่การสมโภชช้างและไปวัดราชบพิธเท่านั้น จะว่าเป็นพระราชกุศลที่เลิกแล้วทีเดียวก็ว่าไม่ได้ จะว่ายังคงอยู่ก็ว่าไม่ได้ ขยับจะกลายไปเป็นการจร ๚