การพระราชกุศลฉลองเทียนพรรษา

๏ เทียนพรรษาที่ต้องลงทุนลงรอนมากอย่างแต่ก่อน ก็เป็นที่น่าจะชื่นชมยินดีในส่วนพระราชกุศล และเป็นที่น่าจะอวดให้พระสงฆ์ได้อนุโมทนา เพราะฉะนั้นยกเสียแต่เทียนพรรษาหัวเมือง เมื่อประดับประดาเครื่องพิมพ์สีผึ้งภายนอกเสร็จแล้ว มาถวายตัวทรงจบพระหัตถ์ ส่งขึ้นไปก่อนจะได้จุดทันกลางเดือน ที่เหลือนอกนั้นเป็นส่วนกรุงเทพฯ ให้ยกเข้ามาตั้งที่เฉลียงท้องพระโรง มีสายสิญจน์วงรอบแล้วให้มีการสวดมนต์ พระสงฆ์ราชาคณะ ๒๐ รูป เริ่มสวดมนต์ตั้งแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำ แต่พระพุทธรูปใช้พระห้ามสมุทร ฉันเวรตามธรรมเนียม รุ่งขึ้นวัน ๑๔ ค่ำเลี้ยงพระ ก็คล้ายกันกับฉันเวรนั้นเอง แต่มีศุภรัตเข้ามาตะโกนทูลจำนวนเทียนที่หน้าพระสงฆ์ เพื่อจะให้ได้ทรงอนุโมทนา พระสงฆ์กลับไปแล้ว ทรงพระสุหร่ายประพรมและเจิมเทียนพรรษานั้นทุกเล่ม เจ้าพนักงานจึงนำไปตั้งในพระอุโบสถต่างๆ ตามที่มีกำหนด ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเวลากลางคืนนั้นว่าง ต่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำเวลาเช้า จึงเสด็จพระราชดำเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เลี้ยงพระสงฆ์ราชาคณะ ๓๐ รูป ทรงจุดเทียนพรรษาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เทียนพรรษาที่จะจุดนั้น ต้องใช้ไฟฟ้าส่องด้วยพระแว่นลงยาราชาวดี เรื่องที่ใช้ไฟฟ้าซึ่งส่องด้วยแก้วหนาเช่นนี้ ถือว่าเป็นไฟบริสุทธิ์ เป็นธรรมเนียมของชาวอินเดียประพฤติมาแต่โบราณ ได้พบหนังสือหลายแห่งที่กล่าวถึงเรื่องไฟส่องด้วยแว่นเช่นนี้ ใช้ทั่วไปในการทั้งปวง ตั้งแต่ส่องไฟที่จุดขึ้นบูชาอาหุดีเป็นต้น และบางทีตัวแว่นนั้นเอง หรือศิลาและเหล็กซึ่งใช้ตีให้เกิดเพลิงขึ้น ก็เป็นเครื่องบูชาของคนบางจำพวกด้วย แต่ไฟนี้ จะเรียกว่าเป็นสำหรับการมงคลอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องถือว่าต้นตำราที่คิดเห็นชอบใจใช้ไฟอย่างนี้นั้น ถือว่าเป็นไฟบริสุทธิ์ที่มาจากดวงพระอาทิตย์ ใช้ทั่วไปทั้งการมงคลและการอวมงคล ไฟฟ้าเช่นนี้ที่ใช้อยู่ในราชการที่ถือว่าเป็นการมงคลนั้น คือจุดเทียนชัยในการพระราชพิธีต่างๆ ติดเชื้อกวนข้าวทิพย์ ที่เป็นส่วนการอวมงคล คือพระราชทานเพลิงเจ้านายใช้ส่องด้วยแว่น พระราชทานเพลิงข้าราชการใช้ตีเหล็กไฟ อีกส่วนหนึ่งเป็นเครื่องบูชาที่บริสุทธิ์ คือจุดเทียนพรรษา จุดเทียนรุ่งในการวิศาขบูชา จุดเทียนพระมหามงคล เทียนเท่าพระองค์ในการเฉลิมพระชนมพรรษา นับว่าเป็นบูชาด้วยเพลิงบริสุทธิ์ แต่ในการที่ต้องใช้เพลิงส่องแว่น ถ้าไม่มีโอกาสที่จะส่องจากดวงอาทิตย์ได้ ก็ต้องใช้ศิลาและเหล็กไฟ แต่แบ่งเป็นส่วนที่สำหรับใช้ในการมงคลและอวมงคล ขีดไฟเป็นของเกิดขึ้นใหม่ จะใช้ได้หรือไม่ได้ยังไม่เคยมีผู้ใดตัดสิน ถ้าจะเป็นอันใช้ไม่ได้ ก็คงจะเป็นเพราะเป็นของที่คนทำแท้มากไปกว่าเหล็กที่เอามาสูบถลุงและตีให้แบนๆ เป็นรูปเหล็กสำหรับตีเหล็กไฟ และศิลาที่ไปต่อยมาจากภูเขา ยังพอชัดว่าเป็นของเป็นเองได้ ขีดไฟนั้นดูจะเป็นพิธีน้อยไปสักหน่อยหนึ่ง แต่ในการเผาศพถ้าลั่นหน้าเพลิงไม่ติด ข้าพเจ้าก็เคยใช้บ่อยๆ แต่ถ้าถูกที่สลักสำคัญส่องแว่นไม่ได้ ก็ต้องยอมตีเหล็กไฟโกกกากให้ลดลงมาแต่ชั้นเดียวอย่าให้ถึงสองชั้น

แต่การที่จุดเทียนพรรษาเล่มแรกนั้น เคยจุดในหอพระเจ้าเป็นที่หนึ่ง ด้วยว่าเวลาเช้าเสด็จลงทรงบาตรในการนักขัตฤกษ์พรรษา การบิณฑบาตพรรษาตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำมา เป็นเวลาที่พระสงฆ์สามเณรบวชใหม่ ได้เข้ารับบาตรในพระบรมมหาราชวัง พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ทั้งพระทั้งเณร ได้เข้ารับบาตรทั่วกัน แต่พระมหาดเล็ก กรมธรรมการต้องทำบัญชีขึ้นถวาย ต่อโปรดให้ผู้ใดเข้ามาจึงจะมาได้ การทรงบาตรพระใหม่นี้ มีของไทยทานวิเศษเพิ่มเติม คือเป็นผ้าเช็ดปาก ผ้าเช็ดหน้า ใบชา และของเล็กๆ น้อยๆ เปลี่ยนกันไปทุกวัน เฉพาะได้แต่พระที่บวชใหม่ ส่วนของเพิ่มเติมตามเทศกาล มีธูปเทียน ไม้สีฟัน หมากพลูนั้น ได้ทั่วไปแก่พระสงฆ์ที่มาบิณฑบาต

เมื่อทรงบาตรเสร็จแล้ว เสด็จขึ้นจุดเทียนพรรษาในหอพระแล้วจึงเสด็จวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ครั้นเมื่อตกลงมาในรัชกาลที่ ๔ ชั้นหลัง เสด็จออกทางพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จขึ้นทางพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เทียนพรรษาที่หอพระก็เป็นอันจุดภายหลังวัดพระศรีรัตนศาสดารามไป เมื่อมีเทียนพรรษาขึ้นที่พระพุทธสิหิงค์ ทรงจุดเทียนพรรษาที่พระพุทธสิหิงค์ก่อน แล้วจึงเสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม การตั้งเทียนพรรษาวัดพระศรีรัตนศาสดารามแปลกอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่สังเกตก็จะไม่นึกถึง ตำราจะตั้งอันใดถ้าสิ่งใดเป็นใหญ่แล้ว ต้องตั้งไว้ข้างฝ่ายเหนือหรือฝ่ายตะวันออก สิ่งใดเป็นน้อยหรือต่ำกว่าแล้วต้องตั้งไว้ฝ่ายใต้หรือฝ่ายตะวันตก แต่เทียนพรรษานี้ เทียนวังหลวงตั้งข้างใต้ เทียนวังหน้าตั้งข้างเหนือ ถือเอาที่ประทับของเจ้าของเทียนเป็นประมาณ ถึงที่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ในพระราชวังบวรฯ ก็ตั้งเช่นนั้นเหมือนกัน ทรงจุดเทียนพรรษาแล้ว ถวายต้นไม้เงินทองพระมหามณีรัตนปฏิมากรคู่หนึ่ง และเครื่องสักการะ พุ่มต้นไม้ขนาดใหญ่ เทียนแพ ธูปแพ และดอกไม้รองพานทองสองชั้นสองสำรับ สำหรับพระสัมพุทธพรรณี ย่อมลงมาสำรับหนึ่ง แล้วถวายต้นไม้เงินทองและพุ่มต้นไม้ขนาดกลาง พานทองสองชั้นรองธูปเทียนดอกไม้ที่พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกสองแห่ง แล้วจึงได้ถวายพุ่มพระราชาคณะต่อไป พุ่มนั้นจัดลงในตะแกรงเรียกว่าตะแกรงตากรวย กำหนดให้กว้างศอกหนึ่ง สูงสี่นิ้ว เกณฑ์กรมต่างๆ ให้สาน กำหนด ๙๐๐ ใบ ในหมายบังคับว่า ให้ตรวจตราอย่าให้เม็ดพริกไทยลอดได้ แต่ที่แลเห็นอยู่นั้น บางใบเม็ดกันภัยก็ลอดได้ บางใบลูกพุทราทั้งลูกก็เห็นจะลอดได้ หมายขึงกันไปตามบุญตามกรรมเช่นนั้น แล้วส่งให้ทหารในปิดกระดาษเขียนลายป้ายๆ ตามบุญตามกรรม เป็นเครื่องสำหรับบรรจุของถวายพระ คือ พุ่มสีผึ้งพุ่มหนึ่ง กระถางต้นไม้กระถางหนึ่ง กระทงเมี่ยงเป็นกระทงเจิม ปากกว้างกว่าแปดนิ้วหรือสิบนิ้ว ในนั้นมีเมี่ยงเท่าหมากตำคำหนึ่ง เทียนมัดหนึ่งร้อยเล่ม ไม้สีฟัน ไม้ขูดลิ้น ไม้ชำระ อย่างละมัด หมากพลูซองหนึ่ง บรรดาพระสงฆ์ที่เป็นราชาคณะ พระครูเจ้าคณะ ทั้งในกรุงและหัวเมืองที่ใกล้ คือ เมืองนนทบุรี ปทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ นครชัยศรี และเจ้าพระ เจ้าเณร พระมหาดเล็ก บางองค์เข้ามารับต่อพระหัตถ์ในพระอุโบสถ พระครู เปรียญ ฐานานุกรม พระพิธีธรรมพระปริตทั้งปวงนั่งรายอยู่ตามพระระเบียง ก่อนเวลาที่เสด็จโปรดให้เจ้านายไปถวายแล้วทรงแจกเทียนชนวนที่สำหรับจุดเทียนพรรษา แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ให้ไปจุดเทียนพรรษาตามพระอารามต่างๆ การจุดเทียนพรรษานี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าเคยได้พระราชทานไปทรงจุดเทียนที่วัดพระเชตุพนทุกปีเสมอมาจนตลอดสิ้นรัชกาลที่ ๒ ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินทรงจุดเทียนพรรษาวัดพระเชตุพน ในเวลาบ่ายวันขึ้น ๑๕ ค่ำนั้นเสมอทุกปี จนอายุข้าพเจ้าได้สิบขวบ จึงโปรดให้ข้าพเจ้าไปจุดต่อมา จนตลอดแผ่นดินปัจจุบันนี้ พึ่งจะมาเปลี่ยนให้ลูกชายใหญ่[๑]ไปจุดได้สองปี กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นผู้ซึ่งทรงเป็นพระธุระในเรื่องจุดเทียนพรรษามาก โดยจะไม่ได้เสด็จเข้ามาในวังช้านานเท่าใด ถ้าวันจุดเทียนพรรษาแล้วเป็นเสด็จเข้ามาไม่ได้ขาดเลย เว้นไว้แต่ประชวรจนเสด็จลุกขึ้นไม่ได้ เมื่อหายประชวรแล้วยังต้องจูงอยู่ก็ให้จูงมา ท่านประพฤติเช่นนี้จนสิ้นพระชนม์ จึงได้ความจากท่านรับสั่งเล่าว่า เจ้านายเดี๋ยวนี้สบาย ต้องไปจุดเทียนพรรษาแต่คนละวัดสองวัด เมื่อในรัชกาลที่ ๒ มีผู้ซึ่งจุดเทียนพรรษาอยู่สามสี่องค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าองค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าองค์หนึ่ง ท่านองค์หนึ่ง กับใครอีกองค์หนึ่งสององค์ ข้าพเจ้าจำไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าและพระปิ่นเกล้าเสด็จไปน้อยวัด ท่านต้องไปกว่ายี่สิบวัด แต่เช้าจนค่ำจึงได้กลับ ท่านรู้สึกพระองค์ว่าการจุดเทียนพรรษานี้เป็นหน้าที่ของท่าน ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าได้ทรงปักหน้าที่ไว้ จึงได้ทรงพระอุตสาหตามเคยเสมอมาตลอดจนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ก็ว่าพระเจ้าลูกเธอเสด็จไปจุดโดยมาก แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ นี้ พระเจ้าลูกเธอไปจุดก็หลายวัด แต่เฉพาะวัดเดียวๆ คือแต่เดิมข้าพเจ้าไปจุดวัดราษฎร์บุรณ ด้วยอาศัยเหตุที่วังพระองค์เจ้ามงคลเลิศที่เป็นลุงข้าพเจ้า อยู่ที่วังกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์เดี๋ยวนี้ ที่บ้านพระยาพิชัยสงครามอ่ำนั้นลงมือทำการครั้งแรก จะเป็นบ้านข้าพเจ้าในที่นั้น[๒] เมื่อไปจุดเทียนวัดราษฎร์บุรณ จะได้แวะไปที่บ้านลุงและบ้านใหม่นั้นด้วย พระองค์เจ้าโสมาวดีซึ่งโปรดให้เป็นลูกเลี้ยงสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว คือเป็นผู้ได้มรดกนั้น โปรดให้ไปจุดเทียนพรรษาวัดโสมนัสวิหาร กรมหลวงพิชิต สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นตาๆ หลานๆ กันอยู่ จึงโปรดให้ไปจุดเทียนวัดประยูรวงศ์ เพื่อจะได้แวะบ้านนั้น ส่วนกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์โปรดให้ไปจุดเทียนวัดเครือวัลย์ จะได้ไปแวะบ้านเจ้าพระยาภูธราภัย ซึ่งเป็นตาจริงๆ ที่พระราชทานพระเจ้าลูกเธอ เป็นแต่ที่มีต้องการอย่างอื่นอยู่เช่นนี้ เพราะพระเจ้าลูกเธอยังทรงพระเยาว์อยู่โดยมาก พระเจ้าน้องยาเธอที่ได้ทรงจุดเทียนพรรษา ก็เห็นมีแต่กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เก่าแก่ นอกนั้นก็พระเจ้าราชวรวงศ์เธอบ้าง หม่อมเจ้าบ้าง รายกันไปมากพระองค์ ที่วัดบวรนิเวศ วัดรังษี วัดมหรรณพาราม วัดบุญศิริ วัดเทพธิดา วัดราชนัดดา ในห้าหกวัดนี้มักจะตกอยู่ในพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้า ที่ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานเทียนชนวนในเวลาที่มารับพุ่ม ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ และหม่อมเจ้าจุดคล้ายในรัชกาลที่ ๔ เมื่อผู้ใดได้รับเทียนชนวนแล้ว ก็รับโคมไฟฟ้าไปด้วยโคมหนึ่ง แล้วให้มหาดเล็กรับพุ่มเครื่องนมัสการสำหรับในพระอุโบสถไปด้วย วัดใดเทียนพรรษากี่เล่มก็มีพุ่มเครื่องสักการะนั้นเท่ากันโดยมาก เว้นไว้แต่วัดสำคัญ เช่น วัดพระเชตุพน วัดบวรนิเวศเป็นต้น จึงได้มีพุ่มมาก ถ้าถูกวัดพระเชตุพนแล้ว ต้องมีบ่าวมากจึงจะรับของไปหมด แต่เทียนที่พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป หอพระมนเทียรธรรม หอพระคันธารราษฎร์ท้องสนามหลวง หอเสถียรธรรมปริต ที่เหล่านี้พระราชทานพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ไปจุด จำนวนเทียนพรรษาวัดใดมีเท่าใดต่อไปดังนี้

ที่หอพระในพระบรมมหาราชวัง เทียนหล่อใหญ่ ๒ เล่ม หอพระเสถียรธรรมปริต เทียนหล่อเล็ก ๑ เล่ม หอพระคันธารราษฎร์สนามหลวง เทียนหล่อเล็ก ๑ เล่ม พระที่นั่งพุทไธศวรรย์พระราชวังบวรฯ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม พระที่นั่งพุทธมนเทียร เทียนหล่อเล็ก ๒ เล่ม พระพุทธบุษยรัตน์ เทียนหล่อเล็ก ๒ เล่ม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระอุโบสถ เทียนหล่อใหญ่ ๒ เล่ม หอพระคันธารราษฎร์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วิหารยอด เทียนสลัก ๑ เล่ม พระศรีรัตนเจดีย์ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม หอพระมนเทียรธรรม เทียนสลัก ๑ เล่ม รวม ๖ เล่ม วัดราชประดิษฐ์ เทียนหล่อเล็ก ๒ เล่ม วัดราชบพิธ เทียนหล่อเล็ก ๒ เล่มในพระอุโบสถ เทียนสลัก ๑ เล่มที่พระเจดีย์ วัดมหาธาตุ เทียนสลัก ๑ เล่มในพระวิหาร[๓] เทียนสลัก ๑ เล่มในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพน ในพระอุโบสถ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม วิหาร ๔ ทิศ เทียนสลัก ๔ เล่ม พระพุทธไสยาสน์ เทียนสลัก ๑ เล่ม รวม ๖​ เล่ม วัดสุทัศน์เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่มในพระวิหาร เทียนสลัก ๑ เล่มในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่มในพระอุโบสถ เทียนสลัก ๑ เล่มในพระเจดีย์ เทียนสลัก ๑ เล่มในวิหารพระศาสดา วัดบรมนิวาส เทียนสลัก ๑ เล่มในพระวิหาร เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่มในพระอุโบสถ วัดอรุณ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่มในพระอุโบสถ เทียนสลัก หอไตร ๑ เล่ม การเปรียญ ๑ เล่ม พระวิหาร ๑ เล่ม รวม ๔ เล่ม วัดราชโอรส เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่มในพระอุโบสถ เทียนสลักที่พระพุทธไสยาสน์ ๑ เล่ม ที่พระวิหาร ๑ เล่ม รวม ๓ เล่ม วัดบุญศิริ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราชาธิวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราษฎร์บุรณเทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม รวม ๒ เล่ม วัดสุวรรณาราม เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดสระเกศ เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดชัยพฤกษมาลา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดประยูรวงศาราม เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดนวลนรดิศ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดปากน้ำ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดโมฬีโลก เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดหงส์เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดหนัง เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดนางนอง เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดรัชฎาธิษฐาน เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดกาญจนสิงหาสน์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดชนะสงคราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดอัปสรสวรรค์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดบพิตรพิมุข เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดสัมพันธวงศ์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดทองธรรมชาติ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราชคฤห์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดปทุมคงคา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดยานนาวา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเทพธิดา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราชนัดดา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดพิชัยญาติ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดอนงคาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดโชตนาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดทองนพคุณ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเทพศิรินทราวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเศวตฉัตร เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเขมาภิรตาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดหิรัญรูจี เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดศรีสุดาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดกัลยาณมิตร เทียนสลักในพระอุโบสถ ๑ เล่ม ในพระวิหาร ๑ เล่ม วัดอินทาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดจันทาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดอภัยทามริการาม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดคูหาสวรรค์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดสังข์กระจาย เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราชสิทธาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเครือวัลย์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดนาคกลาง เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดพระยาทำ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดระฆัง เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดอมรินทร์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดดุสิดาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดดาวดึงส์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดคฤหบดี เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดชิโนรสาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดภคินีนาฏ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเทวราชกุญชร เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดจักรวรรดิราชาวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดสามพระยา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดสังเวชวิศยาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดรังษีสุทธาวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดไพชยนต์พลเสพ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดโปรดเกศ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเฉลิมพระเกียรติ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดบุปผาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดมหรรณพาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดโสมนัสวิหาร เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดพระนามบัญญัติ เทียนสลักในพระวิหาร ๓ เล่ม ในพระอุโบสถ ๓ เล่ม รวม ๖ เล่ม วัดส้มเกลี้ยง เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเวฬุราชิณ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดปทุมวัน เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดมหาพฤฒาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดบวรมงคล เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดวงศมูลวิหาร เทียนสลัก ๑ เล่ม​ ๚

[๑] คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

[๒] ที่นี้อยู่ในกำแพงเมืองริมปากคลองตลาดฝั่งใต้ ต่อเชิงสะพานไปทางถนนจักรเพชร

[๓] ภายหลังเป็นเทียนหล่อ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ