พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลคือถือน้ำพิพัฒน์สัจจา
๏ เป็นพระราชพิธีใหญ่สำหรับแผ่นดินมีสืบมาแต่โบราณ ไม่มีเวลาเว้นว่าง มีคําอ้างถึงว่าเป็นพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง กําหนดมีปีละสองครั้ง คือในเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำครั้งหนึ่ง เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำครั้งหนึ่ง
เมื่อจะคิดหาต้นเหตุการถือน้ำให้ได้ความว่า เหตุใดเมื่อให้คนอ่านคําสาบานทําสัตย์แล้วจึงต้องให้ดื่มน้ำชำระพระแสงด้วยอีกเล่า ก็เห็นว่าลัทธิที่ใช้น้ำล้างอาวุธเป็นน้ำสาบานนี้ ต้นแรกที่จะเกิดขึ้นด้วยการทหาร เป็นวิธีของขัตติย หรือกษัตริย์ ที่นับว่าเป็นชาติทหารในจำพวกที่หนึ่งของชาติ ซึ่งแบ่งกันอยู่ในประเทศอินเดีย คล้ายกันกับไนต์ของอังกฤษ หรือสมุไรของญี่ปุ่น ชาติขัตติยเป็นชาติที่ไม่ได้หากินด้วยการค้าขายไถหว่านปลูกเพาะ หรือรับไทยทานจากผู้ใดผู้หนึ่งให้ ย่อมหาเลี้ยงชีวิตด้วยคมอาวุธ แต่มิใช่เป็นผู้ร้ายเที่ยวลอบลักทําโจรกรรม ใช้ปราบปรามโดยตรงซึ่งหน้าให้ตกอยู่ในอำนาจ แล้วและได้ทรัพย์สมบัติโดยผู้ซึ่งกลัวเกรงกำลังอำนาจยกยอให้ แต่การที่ประพฤติเช่นนี้ เมื่อว่าโดยอย่างยิ่งแล้วก็อยู่ในเป็นผู้ร้ายนั้นเอง แต่เป็นผู้ร้ายที่มีความสัตย์ และคิดแบ่งการที่ตัวประพฤติ (ถึงแม้ว่าไม่เป็นธรรมแท้ของโลก) ออกเป็นสองภาค ภาคหนึ่งถือว่าการซึ่งตนจะกระทำเช่นนั้นไม่เป็นการผิดธรรม ภาคหนึ่งถ้าตนจะกระทำเช่นนั้นเป็นการผิดธรรม คำว่าธรรมในที่นี้เป็นธรรมของชาติขัตติย มิใช่ธรรมของโลก เมื่อว่าเท่านี้จะยังเข้าใจยาก จะต้องยกตัวอย่างให้เห็นหน่อยหนึ่ง ว่าตามลัทธิความประพฤติของชาติขัตติยโบราณ คือเหมือนหนึ่งว่าผู้มีอำนาจเป็นชาติขัตติยใต้ปกครองแผ่นดิน ทราบว่าลูกสาวของขัตติยเมืองอื่นมีอยู่สมควรแก่ตน ตนยังไม่มีคู่ซึ่งจะได้อภิเษก เมื่อไปขอบิดามารดาของหญิงนั้นไม่ยอมให้ ขัตติยผู้ที่ไปสู่ขอถือว่าการที่ตัวคิดนั้นเป็นการชอบธรรม ด้วยใช่ว่าจะเอามาทําอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด ประสงค์จะมายกย่องให้เป็นใหญ่โต บิดามารดาของหญิงที่ไม่ยอมให้นั้นหมิ่นประมาทต่อผู้ซึ่งไปสู่ขอ เป็นการประพฤติผิดธรรมประเพณี เพราะไม่รักษากิริยาอันดีต่อกัน ผู้ซึ่งไปสู่ขอสามารถที่จะประกาศแก่ทหารของตัว ว่าการซึ่งตัวประพฤตินั้นเป็นการชอบธรรม แต่บิดามารดาของหญิงประพฤติไม่ชอบธรรม จะต้องยกไปรบชิงเอานางนั้นให้จงได้ แล้วก็ยกกองทัพไปทําลายบ้านเมืองนั้นเสียได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดธรรม หรือเมื่ออยู่ดีๆ เชื่อตัวว่ามีวิชาความรู้ กําลังวังชาแข็งแรง ยกไปชวนพระราชาที่เป็นชาติขัตติยอื่นซึ่งเสมอๆ กัน ให้มาต่อสู้ลองฝีมือกัน เมื่อผู้ใดแพ้บ้านเมืองก็เป็นสินพนัน ก็ถือว่าการซึ่งขัตติยผู้ไปชวนนั้นไม่ได้ประพฤติผิดธรรมเหมือนกัน
ก็ถ้าขัตติยนั้นไปพบลูกสาวชาวบ้านซึ่งเป็นชาติต่ำมีกําลังน้อยไม่สามารถที่จะต่อสู้ ฉุดชิงมาด้วยอำนาจและกําลังพวกมาก หรือเห็นคนยากไร้เดินอยู่ตามถนน เอาศัสตราอาวุธประหารให้ถึงแก่ความตายหรือป่วยลำบาก ขัดติยผู้ซึ่งประพฤติการทั้งสองอย่างนี้เป็นประพฤติผิดธรรม การยุติธรรมและไม่เป็นยุติธรรม หรือต้องด้วยธรรมและไม่ต้องด้วยธรรมของพวกขัตติยนั้นเป็นดังนี้ จึงกล่าวว่ามิใช่ยุติธรรมของโลก
เมื่อขัตติยทั้งปวงประพฤติในการซึ่งถือว่าเป็นธรรมและใช่ธรรมอยู่เช่นนี้ ผู้ใดมีวิชาชำนิชํานาญในการใช้คัสตราวุธและพวกพ้องมาก พวกพ้องเหล่านั้นก็ย่อมถือการชํานิชำนาญในศัสตราวุธเป็นที่ตั้ง ปราบปรามขัตติยทั้งปวงให้ตกอยู่ในใต้อำนาจได้มาก คนทั้งปวงก็ย่อมเป็นที่หวาดหวั่นกลัวเกรง จึงยกขึ้นให้เป็นพระราชาสำหรับที่จะได้ดูแลบังคับผิดและชอบในบ้านเมือง แล้วแบ่งสรรปันส่วนทรัพย์สมบัติอันตนหาได้ให้เป็นเครื่องเลี้ยงอุดหนุนแก่ขัตติยผู้เป็นพระราชานั้น ด้วยเหตุว่าขัตติยเป็นผู้ถือลัทธิว่าหาเลี้ยงชีวิตด้วยคมอาวุธเช่นนี้ จึงเป็นที่คนทั้งปวงยําเกรงมากกว่าตระกูลอื่นๆ คนทั้งปวงจึงมักจะเลือกตระกูลขัตติยขึ้นเป็นพระราชา ด้วยความเต็มใจหรือความจําเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง มากกว่าที่จะเลือกตระกูลอื่นๆ มีชาติพราหมณ์เป็นต้นขึ้นเป็นพระราชา จนภายหลังมาคําซึ่งว่าขัตติยหรือกษัตริย์ ในประเทศไทยเรามักจะเข้าใจกันว่าเป็นชื่อแห่งพระราชา หรือพระเจ้าแผ่นดิน แต่ที่แท้เป็นชื่อแห่งชาติตระกูลของคนพวกหนึ่ง มิใช่เป็นชื่อยศของพระราชาเลย เป็นเพราะเหตุที่ชาตินี้ตระกูลนี้ได้เป็นพระราชามากกว่าชาติอื่นตระกูลอื่น แล้วเป็นพระราชาสืบตระกูลต่อๆ กันไป ก็ยังคงเป็นชาติขัตติยอยู่ทุกชั่วทุกชั้น คําที่เรียกพระราชากับที่เรียกขัตติยจึงปนกันไปเท่านั้น
ก็เมื่อชาติขัตติยถือว่าคมอาวุธเป็นทางหากินเช่นนี้แล้ว ก็เป็นการจําเป็นที่จะเสาะแสวงหาคัสตราอาวุธที่เป็นอย่างดีวิเศษ สำหรับตัวที่จะได้ใช้ให้คล่องแคล่วสมดังประสงค์ อาวุธนั้นย่อมเป็นที่รักยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติอื่นๆ มีไม่วางห่างกายเลยเป็นต้น และเมื่อถืออาวุธนั้นไปทํายุทธสงครามกับผู้ใดได้ชัยชนะ ก็ย่อมถือว่าอาวุธนั้นเป็นของดีมีคุณวิเศษ เมื่อมีเหตุการณ์อันใดซึ่งควรจะประกอบให้เห็นได้เป็นอัศจรรย ก็พาให้เห็นได้ว่าอาวุธนั้นมีสิ่งซึ่งสิงรักษา เป็นเครื่องช่วยกําลังตัวที่จะประหัตประหารแก่ศัตรู เมื่อมีผู้ใดมาอ่อนน้อมยินยอมอยู่ในใต้อำนาจ จึงได้เอาอาวุธนั้นล้างน้ำให้กินเป็นคู่กับคําสาบาน เพราะเชื่อว่าอาวุธนั้นสามารถที่จะลงโทษแก่ผู้ซึ่งคิดประทุษร้ายตนอย่างหนึ่ง เพราะรักเกือบจะเสมอด้วยตนเองและวางอยู่ใกล้ๆ ตัวที่จะหยิบง่ายกว่าสิ่งอื่น จึงได้หยิบอาวุธนั้นออกให้ผู้ซึ่งมายินยอมอยู่ใต้อำนาจทำสัตย์ การซึ่งทำสัตย์กันเช่นนี้ในชั้นแรกคงจะได้ทำสัตย์กันในเวลาอยู่ที่สนามรบ มากกว่าเวลาที่อยู่ในบ้านเมืองโดยปรกติ เมื่อใช้ลงเป็นตัวอย่างครั้งหนึ่งแล้วก็ใช้ต่อๆ ไป จึงเห็นว่าการซึ่งถือน้ำด้วยอาวุธนี้คงจะเกิดขึ้นด้วยชาติขัตติยเป็นต้น ถ้าพราหมณ์เป็นพระราชาบางที่จะถือน้ำด้วยคัมภีร์เวทได้บ้างดอกกระมัง
แต่ยังมีเรื่องประกอบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในคำประกาศคเชนทรัศวสนาน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในภายหน้า ว่าด้วยน้ำล้างพระแสงขรรค์ชื่อทีฆาวุ นับว่าผู้ได้กินนั้นได้รับความสวัสดิมงคลคล้ายน้ำมนต์ ซึ่งถือเช่นนี้เห็นจะเป็นเกิดภายหลังเหตุที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว เพราะฉะนี้การถือน้ำจึงต้องใช้พระแสงชุบน้ำให้บริโภคด้วย เป็นแบบมาแต่โบราณ
ครั้นเมื่อประเพณีการถือน้ำ ต้องการที่จะใช้ขึ้นในประเทศอื่นๆ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงประเทศอินเดีย รับธรรมเนียมอินเดียมาใช้เป็นประเพณีบ้านเมือง หรือบางเมืองก็มีเรื่องกล่าวว่า พวกขัตติยซึ่งได้เป็นพระราชาในประเทศอินเดียนั้น ด้วยหลบหลีกข้าศึกศัตรู มาสร้างพระนครใหม่บ้าง ด้วยคิดอ่านแผ่อาณาเขตออกมาตั้งอยู่นอกประเทศอินเดียบ้าง ก็ยกเอาแบบอย่างถือน้ำด้วยอาวุธนี้มาตั้งลงในประเทศที่ใกล้เคียงเป็นต้นเดิม เมื่อต่อมาถึงผู้มีบุญวาสนาจะตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นดิน โดยจะไม่ได้เป็นขัตติยสืบแซ่ตระกูลมาแต่ประเทศอินเดีย เมื่อมีอํานาจเป็นพระราชาปกครองแผ่นดินขึ้น คนทั้งปวงก็ย่อมสมมติตระกูลนั้นว่าเป็นขัตติยตระกูล จึงได้ประพฤติตามขัตติยประเพณี คือใช้อาวุธเป็นเครื่องล้างน้ำให้คนบริโภคแสดงความซื่อสัตย์สุจริต ลัทธิแสดงความสัตย์เช่นนี้ก็มีแต่ในประเทศทั้งปวง ซึ่งถือว่าพระราชากับราชตระกูลเป็นขัตติย ไม่ตลอดทั่วไปในประเทศอื่น เช่นเมืองจีนหรือเมืองแขกอื่นๆ ซึ่งถือศาสนามะหะหมัด เป็นต้น
การถือน้ำที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ นี้มีห้าอย่าง คือถือน้ำแรกพระเจ้าแผ่นดินได้รับราชสมบัติอย่างหนึ่ง ถือน้ำปรกติ ผู้ที่ได้รับราชการอยู่แล้วต้องถือน้ำปีละสองครั้งอย่างหนึ่ง ผู้ซึ่งมาแต่เมืองปัจจามิตรเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารอย่างหนึ่ง สามอย่างนี้เป็นถือน้ำอย่างเก่า ยังทหารซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธอยู่เสมอ ต้องถือน้ำทุกเดือนพวกหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการต้องถือน้ำพิเศษในเวลาแรกเข้ารับตำแหน่งอีกพวกหนึ่ง ในสองพวกนี้เป็นถือน้ำเกิดขึ้นใหม่ ในการถือน้ำของพวกที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๕ ไม่มีกําหนดว่าเมื่อใด แล้วแต่เหตุการณ์นั้นๆ และต้องอ่านคำสาบานตลอดทั่วหน้าไม่มียกเว้น แต่ถือน้ำอย่างที่ ๒ นั้น พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยแล้ว ไม่ต้องอ่านคําสาบาน เป็นแต่ดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัจจา การถือน้ำทั้งสามอย่าง คือ ที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๕ นั้น นับว่าเป็นการจร แต่ถือน้ำอย่างที่ ๒ ที่ ๔ นั้นเป็นการประจําปี ซึ่งจะนับเข้าในหมวดพระราชพิธี ๑๒ เดือน อันเป็นเรื่องที่จะกล่าวอยู่นี้
กําหนดที่ถือน้ำอย่างที่ ๒ ซึ่งเป็นการประจําปีปีละสองคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในวิธีอธิษฐานน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ซึ่งได้ลงในหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษเล่ม ๒ หน้า ๑๕๙ และหน้า ๑๖๗ มีเนื้อความพิสดารอยู่แล้ว จะย่นย่อแต่ใจความมากล่าวในที่นี้เป็นสังเขป เพื่อให้ผู้ซึ่งไม่อยากจะต้องขวนขวายค้นหาหนังสือวชิรญาณเก่ามาอ่านได้ทราบเค้าความว่า กําหนดถือน้ำแต่ก่อนนั้นเคยใช้กําหนดในท้ายพระราชพิธีสารทครั้งหนึ่ง ท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ครั้งหนึ่ง ใช้น้ำมนต์ซึ่งตั้งในการพระราชพิธีนั้น ทำน้ำพระพิพัฒน์สัจจา การพระราชพิธีสารทเริ่มแต่วันเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ไปเสร็จลงในวันเดือน ๑๐ แรม ๑๕ ค่ำ เวลาเช้า การถือน้ำสารทคงอยู่ในวันเดือน ๑๐ แรม ๑๕ ค่ำ หรือเดือน ๑๑ ขึ้นค่ำหนึ่ง การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เริ่มแต่วันเดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ไปเสร็จลงในวันเดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำเวลาเช้า คงถือในวันเดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ หรือเดือน ๕ ขึ้นค่ำหนึ่ง ว่าเป็นธรรมเนียมเดิมมาดังนี้ แต่เพราะเหตุที่เดือน ๔ ต้องกับนักขัตฤกษ์ตรุษ เป็นเวลาที่คนทั้งปวงเล่นการนักขัตฤกษ์ต่างๆ มีเล่นเบี้ยเป็นต้น และคนเมามายตามถนนก็ชุกชุม ต้องตั้งกองลาดตระเวนรักษาโจรผู้ร้าย ต่างคนต่างไม่เต็มใจที่จะมาถือน้ำในท้ายพระราชพิธีตามกำหนดเดิม จึงได้คิดเลื่อนกำหนดเสีย ซึ่งเลื่อนกำหนดไปจนถึงเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำปีใหม่นั้น เพราะตั้งแต่วันแรม ๑๓ ค่ำ มาถือว่าเป็นวันจ่ายตรุษ วันแรม ๑๔ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ ขึ้นค่ำหนึ่ง เป็นวันตรุษ วันขึ้น ๒ ค่ำเป็นวันส่งตรุษ เมื่อตั้งวันขึ้น ๓ ค่ำเป็นวันถือน้ำ ก็เป็นอันพ้นเขตตรุษ ซึ่งถือน้ำปีหลังเกี่ยวเข้าไปในปีใหม่นั้น ถือว่ายังไม่เป็นปีใหม่ เพราะยังมิได้เถลิงศกเปลี่ยนศักราชใหม่ คงนับเป็นถือน้ำปีหลัง เมื่อถือน้ำตรุษเลื่อนวันไปเช่นนี้แล้ว จึงมีผู้คิดเลื่อนถือน้ำสารทเข้ามาเสียก่อนพระราชพิธี ให้ตกอยู่ในวันเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ด้วยจะให้เป็นที่สังเกตง่าย ว่าเมื่อถือน้ำสารทนี้เป็นวันไร คือวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ ถือน้ำตรุษในปีนั้นก็คงเป็นวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ตรงกัน ที่ว่าดังนี้ต้องเข้าใจว่าถือน้ำสารทเป็นคราวแรก ถือน้ำตรุษเป็นคราวหลัง คือเหมือนอย่างถือน้ำจํานวนปีชวดสัมฤทธิศกนี้ เมื่อถือน้ำสารทเป็นวันพุธเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ถือน้ำตรุษในปีฉลูยังเป็นสัมฤทธิศก ซึ่งนับว่าเป็นถือน้ำจํานวนปีชวดสัมฤทธิศก ก็คงตกในวันพุธเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ เป็นวันพุธต่อวันพุธตรงกันดังนี้
แต่ส่วนถือน้ำที่ ๔ ซึ่งเป็นส่วนถือน้ำประจำเดือนของทหารนั้นใช้วันขึ้น ๓ ค่ำ ทุกๆ เดือนไม่ได้เปลี่ยนแปลง ซึ่งกำหนดเอาวันขึ้น ๓ ค่ำนั้น ก็เพราะเหตุที่ทหารเปลี่ยนกันเข้ามารับราชการเป็นเดือนๆ กําหนดเข้าวันขึ้นค่ำหนึ่งไปจนวันขึ้น ๓ ค่ำเป็นกําหนด ถ้าพ้นขึ้น ๓ ค่ำไป ทหารไม่มาเข้าเวรเป็นกําหนดเกาะเหมือนกันกับเลขไพร่หลวงจ่ายเดือนทั้งปวง แต่ที่ต้องทําน้ำพระพิพัฒน์สัจจาสำหรับทหารต่างหากอยู่เพียงสิบเดือน ในเดือน ๕ กับเดือน ๑๐ ทหารคงถือน้ำพร้อมด้วยพระราชพิธีประจําปีเหมือนข้าราชการทั้งปวง การถือน้ำประจําเดือนเป็นการย่อๆ ลงกว่าถือน้ำสารทและตรุษ จะได้กล่าวภายหลัง
การพระราชพิธีถือน้ำสารทและตรุษที่จัดเป็นแบบอย่าง ก็เหมือนกันทั้งสองคราว แต่มีเหตุการณ์อื่นๆ มาบรรจบร่วมเข้าในเดือน ๕ ก็ทําให้เห็นว่าดูเหมือนถือน้ำตรุษจะเป็นใหญ่กว่าถือน้ำสารท การซึ่งเป็นเหตุมาบรรจบเข้านั้น คือเรื่องสมโภชพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาอย่างหนึ่ง การเสด็จพระราชดําเนินวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างหนึ่ง เรื่องสมโภชพระพุทธรูปพระชนมพรรษานั้น ก็เพราะเป็นวันใกล้กับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงสร้างพระนั้นเป็นครั้งแรก จึงได้ตั้งการสมโภชไว้ในวันถือน้ำ ก็เลยติดต่อมามิได้ยกเว้น ส่วนการที่เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรานั้น พึ่งเกิดมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและในพระบรมมหาราชวังยังไม่มีท่อน้ำ หรือมีแล้วแต่ตื้นตันไปไม่ได้แก้ไข ถ้าเวลาฝนตกลงมาน้ำฝนย่อมจะขังนองทั่วไป ถึงคืบหนึ่งคืบเศษ วันหนึ่งสองวันจึงได้แห้ง และการถือน้ำสารทมักจะถูกเวลาฝนตก เมื่อเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราเป็นกระบวนเดินช้า ก็มักจะถูกฝนกลางทางและต้องลุยน้ำ ไม่เป็นที่งดงามและทำให้เครื่องอานเปียกฝน จึงได้ยกการเสด็จพยุหยาตราในถือน้ำสารทเสีย คงใช้อยู่แต่ถือน้ำตรุษซึ่งเป็นเวลาแล้ง แต่ถึงดังนั้นก็ไม่เป็นการประจําเสมอทุกปีนัก ต่อปีใดที่มีแขกเมืองประเทศราชหรือต่างประเทศมาอยู่ในพระนคร จึงได้เสด็จเป็นกระบวนพยุทยาตรา แต่อยู่ในคงเป็นปีที่พยุหยาตรามากกว่าที่ไม่ได้พยุหยาตรา ไม่เหมือนอย่างแผ่นดินปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นการตกแต่งตัวข้าราชการที่ต้องเข้ากระบวนเสด็จพระราชดําเนิน ก็ต้องตกแต่งมากขึ้นกว่าถือน้ำสารท จึงเห็นถือน้ำตรุษเป็นการครึกครื้นใหญ่กว่าถือน้ำสารท
การถือน้ำครั้งกรุงเก่า ซึ่งได้ความตามคำเล่าสืบมาก็ว่าเหมือนกันกับที่กรุงรัตนโกสินทรนี้ เช่นแบบอย่างในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แปลกแต่ข้าราชการถือน้ำที่วัดพระศรีสรรเพชญ แล้วย้ายไปที่วิหารพระวัดมงคลบพิตร เมื่อถือน้ำแล้วมีดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปถวายบังคมพระเชษฐบิดร ซึ่งเป็นพระรูปพระเจ้าอู่ทอง คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งได้สร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา แล้วจึงได้เข้าไปถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน แต่พระราชวงศานุวงศ์นั้นไม่ได้เสด็จไปถือน้ำวัด ดังกฎมนเทียรบาลซึ่งได้ยกมากล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้น
ครั้นในกรุงรัตนโกสินทรนี้ ข้าราชการก็ไปพร้อมกันถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมีธูปเทียนมาถวายบังคมพระบรมอัฐิ ในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้ถวายบังคมพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีแทนพระเชษฐบิดร ในรัชกาลต่อๆ มาก็ถวายบังคมพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จสวรรคตล่วงไปโดยลําดับนั้นด้วย แล้วจึงพร้อมกันเฝ้ากราบถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินในท้องพระโรงเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่พระราชวงศานุวงศ์ตั้งแต่กรมพระราชวังเป็นต้นลงไป เจ้าพนักงานนำน้ำมาถวายให้เสวยในท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งเวลาที่เสด็จออกข้าราชการถวายบังคมนั้น
ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประชุมพร้อมกันเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้นเป็นเวลาทรงผนวช เสด็จพระราชดําเนินมาประทับอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทําสัตยานุสัตย์ถวายครั้งแรก ก็ต้องทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไม่ได้มาทำที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เหมือนอย่างเมื่อเปลี่ยนรัชกาลที่ ๑ เป็นที่ ๒ รัชกาลที่ ๒ เป็นที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ เป็นที่ ๕ จึงทรงพระราชดําริว่า การที่ประชุมพร้อมกันทําสัตยานุสัตย์ ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาเฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นพระฉลองพระองค์สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช สมเด็จพระบรมชนกนาถทั้งสองพระองค์นี้ ดูเป็นการสวัสดิมงคลและพร้อมเพรียงกัน ดีกว่าที่แยกย้ายกันอย่างแต่ก่อน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเวลาถือน้ำต่อๆ มา ด้วยอ้างว่าเป็นเหตุที่ทรงเคารพต่อพระมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปฉลองพระองค์ทั้งสองพระองค์นั้น เมื่อเสด็จพระราชดําเนินออกวัดดังนี้ การเพิ่มเติมต่างๆ และเปลี่ยนแปลงการเก่าก็เกิดขึ้นหลายอย่างดังที่ได้เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
บัดนี้จะกล่าวด้วยเรื่องพระพุทธรูป อันเนื่องในการพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจานี้โดยย่อ พอให้เป็นเครื่องประกอบทราบเรื่องราวตลอดไป คือเริ่มต้นแต่พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตซึ่งมีตำนานเรื่องราวยืดยาว ที่ควรเชื่อได้ว่าเป็นพระพุทธปฏิมากรของโบราณ เป็นที่นับถือของมหาชนทั้งปวงเป็นอันมากนั้นด้วยพันปีล่วงมา พระพุทธปฏิมากรพระองค์นี้ได้ตกไปอยู่ในประเทศต่างๆ หลายแห่ง แต่มิได้เคยมาอยู่ในกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณนั้นเลย ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จขึ้นไปปราบปรามเมืองเวียงจันท์ได้ชัยชนะเชิญพระพุทธปฏิมากรพระองค์นี้ลงมา เจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเป็นใหญ่ในเวลานั้น ก็เผอิญเกิดวิกลเสียจริตคลั่งคลุ้มไป ชนทั้งปวงพากันเชิญพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ให้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ปราบปรามยุคเข็ญทั้งปวงสงบเรียบร้อย ประดิษฐานพระนครขึ้นใหม่ ทรงพระราชดําริเห็นว่าพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้เป็นสิริแก่พระองค์และพระนคร จึงได้ขนานนามกรุงใหม่ว่ากรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา เพราะเป็นที่ประดิษฐานและเป็นที่เก็บพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ เพราะเหตุฉะนั้นการพระราชพิธีอันใดซึ่งเป็นการใหญ่ ก็ควรจะทำในสถานที่เฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากรนั้นประการหนึ่ง
อนึ่ง เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรารภถึงพระราชพงศาวดารซึ่งมีปรากฏมาว่า สมเด็จพระราชาธิบดีที่ ๒ ทรงหล่อพระศรีสรรเพชญหุ้มด้วยทองคําสูงแต่พระบาทถึงยอดพระรัศมี ๘ วา ทองที่หล่อหนักห้าหมื่นสามพันชั่ง ทองคําหุ้มหนัก ๒๘๖ ชั่ง และพระเจ้าแผ่นดินภายหลังก็ได้ทรงหล่อพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ คือพระเจ้าอู่ทองซึ่งเป็นปฐมบรมราชาธิราชผู้สร้างกรุงขึ้นไว้เป็นที่นมัสการ ด้วยอาศัยปรารภเหตุสองอย่างนี้ จึงทรงพระราชศรัทธาจะสร้างพระพุทธรูปใหญ่หุ้มด้วยทองคําให้เป็นพระราชกุศลใหญ่ และเป็นพระเกียรติยศบ้าง แต่มีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นพระฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แทนพระเชษฐบิดรที่กรุงเก่านั้นด้วย จึงได้ทรงปรึกษาด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่เมื่อยังทรงผนวชอยู่ ในขณะนั้นเป็นเวลาที่คิดกะส่วนสืบค้นจะให้ได้ความว่าพระพุทธเจ้าสูงเท่าใดเป็นแน่ ไปตกลงกันว่าอยู่ในราวหกศอกช่างไม้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายพระพรด้วยเรื่องนี้ จนทรงเห็นชอบตกลงเป็นลดส่วนพระพุทธรูปนั้นให้ย่อมลง และเพราะเพื่อที่จะแบ่งให้เป็นสององค์ขึ้นทั้งที่ย่อมลงนั้น จะตกแต่งให้งดงามดีกว่าใหญ่โตเหมือนอย่างแต่ก่อน จึงได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราชสองพระองค์ หุ้มด้วยทองคำเครื่องต้นประดับด้วยเนาวรัตน เป็นฝีมือช่างอย่างวิจิตรประณีตยิ่งนัก น้ำหนักทองคําซึ่งหุ้มพระองค์ และเครื่องทรงพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้หนักถึงพระองค์ละหกสิบสามชั่งสี่ตำลึงเศษ แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเมาฬีทั้งสองพระองค์ และเพราะเหตุซึ่งไม่โปรดคำที่คนเรียกนามแผ่นดินว่า แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ และพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศอย่างหนึ่ง หรือเรียกว่าแผ่นดินต้นแผ่นดินกลางอย่างหนึ่ง จึงได้ทรงขนานพระนามถวายพระพุทธรูปองค์ข้างเหนือว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชจักรพรรดินาถบพิตร องค์ข้างใต้ถวายพระนามว่าพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ซึ่งภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลงเป็นนภาลัย ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกบาถธรรมิกราชบพิตร และประกาศให้ออกนามแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ตามพระนามแห่งพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้สืบมา ด้วยเหตุผลซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดําริเริ่มการซึ่งจะสร้างพระพุทธรูป ๒ พระองค์นี้ขึ้น เพื่อจะเลียนอย่างพระเชษฐบิดรครั้งกรุงเก่า จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นการสมควร ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้ ในวันพระราชพิธีศรีสัจจปานกาลให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้กราบถวายบังคมอย่างพระเชษฐบิดรตามพระราชดําริเดิมนั้นด้วย
อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริถึงเรื่องสร้างพระโพธิสัตว์ ๕๕๐ พระชาติ ซึ่งมีปรากฏมาในพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงสร้างขึ้นนั้น ทรงเห็นว่าเป็นสร้างรูปสัตว์รูปสิงห์เหมือนทำเครื่องเล่นอยู่ ไม่เป็นที่ชักชวนความเลื่อมใสยินดี จึงทรงพระราชดําริยักอย่างใหม่ ให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงตรวจพระอิริยาบถของพระพุทธเจ้าซึ่งมีปรากฏมาในพระคัมภีร์ต่างๆ จะมีสักกี่อย่างกี่ปาง ในเวลานั้นตรวจกันได้ว่ามี ๓๗ ปาง เป็นเวลาที่แร่ทองแดงเมืองจันทึกเกิดขึ้นใหม่ จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปปางต่างๆ นั้นไว้ทั้ง ๓๗ ปาง เมื่อเสร็จแล้วก็ตั้งไว้ที่หอพระปริตร
ภายหลังมาทรงพระราชศรัทธาสร้างพระพุทธรูปด้วยเงินเป็นน้ำหนักองค์ละชั่งห้าตําลึง เท่าพระชนมพรรษาปีละองค์ ทรงสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยทั้งสองพระองค์ พระพุทธรูปนั้นก็เป็นขนาดเดียวกันกับที่ทรงหล่อพระปางต่างๆ ไว้แต่ก่อนทั้งสามสำรับ เปลี่ยนแต่พระอาการเป็นปางต่างๆ ในรัชกาลที่ ๑ นั้นเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรพระหัตถ์ห้อย ในรัชกาลที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปมารวิชัย ในรัชกาลปัจจุบัน (คือรัชกาลที่ ๓ นั้น) เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิพระหัตถ์ขวาซ้อนพระหัตถ์ซ้าย และพระพุทธรูปทั้งสามสำรับนี้มีพิเศษเพิ่มเติมขึ้น คือมีฉัตรเงินก้าไหล่ทองจําหลักปรุสามชั้นกั้น เท่าจํานวนที่ได้เสด็จดํารงสิริราชสมบัติ นอกนั้นซึ่งเท่าจํานวนพระชนมพรรษาเมื่อยังไม่ได้เสด็จดำรงราชสมบัตินั้นไม่มีฉัตรกั้น พระพุทธรูปทั้งสามสำรับนี้สำรับที่ ๑ ที่ ๒ ตั้งไว้ในช่องกระจกหอพระบรมอัฐิ แต่สำรับที่ ๓ ตั้งไว้ในหอพระเจ้า เป็นที่ทรงนมัสการเช้าเย็นเป็นนิตย์ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วยในพระราชดํารินี้ จึงได้ทรงสร้างพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษา มีอาการนั่งขัดสมาธิเพชรพระหัตถ์ขวาซ้อนพระหัตถ์ซ้าย แปลกกับปางเดิมไปอีกอย่างหนึ่ง และเปลี่ยนลักษณะอาการส่วนสัดตามพระราชประสงค์ และฐานนั้นก็ทําเป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงายอย่างโบราณ ไม่เป็นฐานพระพิมพ์อย่างแต่ก่อน มีเลขหมาย ๑. ๒. ๓. ๔ ไปตามลำดับพระชนมพรรษาทุกพระองค์ และพระสำรับที่สามนั้นก็ย้ายไปไว้ที่หอพระบรมอัฐิ พระสำรับที่ ๔ นี้ ตั้งแทนที่กันในหอพระเจ้าต่อไป ครั้นมาถึงในรัชกาลปัจจุบัน ปางพระซึ่งได้ทรงหล่อไว้แต่ก่อน ๓๗ ปาง เป็น ๓๘ ทั้งพระชนมพรรษา ในรัชกาลที่ ๔ ก็ยังไม่สิ้น มีระลึกได้ขึ้นใหม่ซึ่งได้ละลืมไว้เสียอีกบ้าง เมื่อจะสร้างพระชนมพรรษาตามแบบที่เคยทำมา จึงได้ตกลงเลือกพระคันธารราษฎร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรวดทรงสัณฐานคล้ายคลึงกันกับพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ ๔ แปลกบ้างเล็กน้อย และภายหลังนี้สังฆาฏิกว้างขึ้นตามกาลเวลาที่ใช้ เมื่อถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ พระพุทธรูปสำหรับพระชนมพรรษาสำรับที่ ๔ ก็ย้ายไปอยู่พระที่นั่งบรมพิมาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ สำรับที่ ๕ ตั้งในหอพระเจ้าแทนที่สืบมา และตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการสมโภชพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษานี้ ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณพร้อมกับการพระราชพิธีสัจจปานกาลเดือน ๕ ก็ยังคงเป็นแบบสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธรูปประจําพระชนมพรรษานี้จึงได้เป็นอันเกี่ยวข้องด้วยพระราชพิธีถือน้ำอีกอย่างหนึ่ง
ส่วนพระพุทธรูปปางต่างๆ ทั้ง ๓๗ อย่างซึ่งอยู่หอพระปริตรนั้น พระราชดําริเดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงประการใดก็หาทราบไม่ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นเค้าเงื่อนชอบกลอยู่ จึงโปรดให้หล่อเป็นฐานเฉียงเติมขึ้นอีกชั้นหนึ่ง แล้วให้ก้าไหล่ทองคำทั้ง ๓๗ ปาง เมื่อเสร็จแล้วจึงได้โปรดให้จารึก ทรงพระราชอุทิศแด่พระเจ้าแผ่นดินในกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ และกรุงธนบุรี ๓๔ องค์ ในกรุงรัตนโกสินทรสามพระองค์ คือ
- พระพุทธปฏิมากรทรงนั่งกวักพระหัตถ์เรียกเอหิภิกขุ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง)
- พระพุทธปฏิมากรทรงนั่งพระหัตถ์ปกพระเพลาทั้งสองสำแดงชราธรรม ในคําจารึกนั้นว่าทรงพระราชอุทิศถวายแด่พระเจ้าพฤฒิเดช นัยหนึ่งว่ามหาเดช ซึ่งทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งมีนาคปรก ทรงพระราชอุทิศเฉพาะเจ้าทองจันทร์ นัยหนึ่งว่าเจ้าทองลั่น
- พระพุทธปฏิมากร ทรงนั่งยกพระหัตถ์ขวาเสยพระเกศ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระราเมศวรที่ ๑
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งโบกพระหัตถ์ขับพระวักกะลี ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระเจ้าราม (พระยาราม)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งรับผลมะม่วง ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระมหานครินทราธิราช (อินทราชาที่ ๑)
- พระพุทธปฏิมากรทรงนั่งทําภัตกิจ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระเจ้าสามพระยา ซึ่งทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเป็นที่สอง
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งชี้พระหัตถ์เดียว แสดงเอตทัคคฐาน พระอัครสาวก พระอัครสาวิกา ทรงพระราชอุทิศ ถวายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งยกพระหัตถ์อธิษฐานบาตร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระอินทราชาธิราช (ที่ ๒)
- พระพุทธปฏิมากรทรงนั่งยกพระหัตถ์ขวาห้ามมาร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งรับน้ำด้วยบาตร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งฉันมธุปายาส ทรงพระราชอุทิศเฉพาะพระรัษฎาธิราชกุมาร
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งฉันผลสมอ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระชัยราชาธิราช
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งยกพระหัตถ์ขวาปลงพระชนม์ ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระยอดฟ้า
- พระพุทธปฏิมากร นั่งยกพระหัตถ์ซ้ายสำแดงโอฬาริกนิมิต ทรงพระราชอุทิศถวายพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งสนเข็ม ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระมหินทราธิราช
- พระพุทธปฏิมากร ทรงยืนผันพระองค์ทรงแลด้วยอาการนาคาวโลก ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (เป็นพระนามเดิม พระนามราชาภิเษก คือ สรรเพชญที่ ๑)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองห้ามสมุทร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สรรเพชญที่ ๒)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนประสานหัตถ์ทั้งสองถวายพระเนตร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระเอกาทศรถมหาราช (สรรเพชญที่ ๓)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัตถ์ซ้ายห้ามแก่นจันทน์ ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระศรีเสาวภาคย์ (สรรเพชญที่ ๔)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งห้อยพระบาท ณ เรือขนาน ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม (บรมไตรโลกนาถที่ ๒ หรือบรมราชาที่ ๑)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งห้อยพระบาทแบพระหัตถ์ขวารับช้างปาลิไลยก์ ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระเชษฐาธิราช (บรมราชาที่ ๒)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองรับมธุปายาส ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระอาทิตยวงศ์
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งลอยถาด ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง (สรรเพชญที่ ๕)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยื่นพระหัตถ์ขวารับกำหญ้าคา ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อเจ้าฟ้าชัย (สรรเพชญที่ ๖)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัตถ์ทั้งสอง ประทับพระอุระรำพึงพระธรรม ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระศรีสุธรรมราชา (สรรเพชญที่ ๗)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระบาทซ้าย พระหัตถ์ทั้งสองประทับพระเพลาจงกรม ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาเอกาทศรถราช (รามาธิบดีที่ ๓)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนห้อยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายถือธารพระกรปลงพระกรรมฐาน ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระธาดาธิเบศร์ (พระมหาบุรุษเพทราชา)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัตถ์ขวาลูบพระกายสรงน้ำ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (สรรเพชญที่ ๘ พระพุทธเจ้าเสือ)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนอุ้มบาตรด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระภูมินทรมหาราชา (สรรเพชญที่ ๙ ท้ายสระ)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนเหยียบรอยพระพุทธบาท ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมมหาราชาธิราชที่สาม (บรมโกศ)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนกางพระหัตถ์ทั้งสองเปิดโลก ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระอุทุมพรมหาพรพินิตราช (บรมราชาธิราชที่ ๔) (เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนลีลา ห้อยพระหัตถ์ซ้าย ยกพระบาทซ้าย ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระบรมเอกทัตอนุรักษ์มนตรีราช (บรมราชาที่ ๓ สุริยามรินทร์)
- พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งพระหัตถ์ทั้งสองประทับพระอุระทําทุกรกิริยา ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อเจ้ากรุงธนบุรี (บรมราชาที่ ๔ ขุนหลวงตาก)
พระพุทธรูปทั้ง ๓๔ พระองค์นี้ไม่มีฉัตร แต่พระพุทธรูปยังอีก ๓ ปาง ซึ่งตรงกันกับพระพุทธรูปพระชนมพรรษาทั้งสามรัชกาลที่ล่วงไปแล้วนั้นโปรดให้มีฉัตรเพิ่มพิเศษขึ้น แล้วจารึกทรงพระราชอุทิศทั้งสามพระองค์ แต่พระนามซึ่งจารึกในฐานพระนั้นใช้ตามพระนามซึ่งทรงขนานถวายใหม่ สำหรับจารึกกล่องศิลาซึ่งบรรจุพระบรมอัฐิในพระบรมโกศซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ เพื่อจะให้เป็นเครื่องป้องกันมิให้พระบรมอัฐิอันตรธานไป ด้วยต้องน้ำอบซึ่งสรงในเวลาสงกรานต์อยู่เสมอทุกปี เป็นต้น
พระนามซึ่งจารึกนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จารึกว่าทรงพระราชอุทิศถวายฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชา มหาจักรีบรมบาถ นเรศวรราชวิวัฒวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทโรดมบรมบพิตร
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จารึกว่าทรงพระราชอุทิศถวายฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระบรมราชพงศเชษฐมเหศวรสุนทร ไตรเสวตรคชาดิศรมหาสวามินทร์ สยามรัชฎินทรวโรดม บรมจักรพรรดิราช พิลาสธาดา ราชาธิราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จารึกว่าทรงพระราชอุทิศถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสฐ มหาเจษฎาธิบดินทร์ สยามินทรวโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร
พระพุทธรูปทั้งปวงนี้ เมื่อทําเสร็จแล้ว โปรดให้เชิญเข้าไปตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งสิ้น แต่แบ่งเป็นสองพวก พวกกรุงเก่าและกรุงธนนั้นตั้งโต๊ะจีน อยู่หน้าลับแลบังฉากข้างเหนือ แต่อีก ๓ องค์นั้นตั้งโต๊ะจีนอยู่หน้าลับแลบังฉากข้างใต้ ต่อเมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคตจึงโปรดให้สร้างหอพระขึ้นที่กําแพงแก้ว หลังพระอุโบสถสองหอ หลังข้างเหนือเป็นที่ไว้พระพุทธรูป ๓๔ องค์ ผนังเขียนเรื่องพระราชพงศาวดารกรุงทวาราวดี หลังบานหน้าต่างมีพระราชพงศาวดารย่อบอกเรื่องที่เขียน พระราชทานนามว่าหอราชกรมานุสร หลังข้างใต้ไว้พระพุทธรูปสามองค์ ผนังเขียนเรื่องพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร[๑] หลังบานมีพระราชพงศาวดารย่อบอกเรื่องที่เขียนเหมือนกัน พระราชทานนามว่าหอราชพงศานุสร ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ได้สร้างพระพุทธรูปขนาดเดียวกันกับสามองค์ก่อนนั้น มีพระอาการเหมือนอย่างพระพุทธรูปประจําพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ ๔ เพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่งเป็น ๔ องค์ และพระพุทธรูปทั้ง ๓๘ พระองค์นี้ เมื่อการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ก็มีธูปเทียนดอกไม้เครื่องนมัสการทรงบูชาตามส่วนองค์พระด้วยทั้งสองคราว จึ่งเป็นพระพุทธรูปซึ่งเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีถือน้ำอีกอย่างหนึ่ง
ในการจัดที่ถือน้ำอันเนื่องด้วยสมโภชพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาฝ่ายในนั้น ได้ทําที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณแต่เดิมมา เมื่อซ่อมแซมพระที่นั่งครั้งนี้จึงได้ย้ายมาที่พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬารที่ห้องเหลือง ครั้นเมื่อการแล้วเสร็จ ก็ย้ายไปพระที่นั่งไพศาลทักษิณตามเดิม บุษบกที่ตั้งพระพุทธรูปนั้นตั้งข้างตอนตะวันออกนับแต่หอพระเจ้าเป็นต้นมา ถึงมุมตู้ลับแลที่ตั้งพระสยามเทวาธิราชได้ห้าบุษบก ที่ตั้งพระของเดิมเป็นเตียงเท้าคู่แปดเหลี่ยมเขียนลายน้ำมัน มีเสาดาดเพดานระบายเป็นตาข่ายดอกไม้สดข้างบนปักฉัตรดอกไม้ห้าชั้น มีฐานเฉียงรองเป็นแปดเหลี่ยมเหมือนกัน ตั้งถ้วยขนาดถ้วยแชรีอย่างเลวๆ ปักพุ่มดอกไม้สด มีขวดคอปล้องปักดอกไม้สดคั่น ที่พื้นล่างตั้งตะเกียงน้ำมันมะพรัาวรายรอบ ที่ตั้งพระพุทธรูปเป็นเช่นนี้อยู่สามสำรับ มีมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่สำรับที่ ๔ นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำเป็นบุษบกลายจําหลักปิดทองประดับกระจก แต่คงใช้ระบายดอกไม้สดฉัตรดอกไม้สดอย่างเดิม เครื่องปักดอกไม้ที่ประดับก็เป็นอย่างเดียวกัน พระพุทธรูปสามสำรับก่อนนั้นใช้เครื่องทองทิศ สำรับที่ ๔ ใช้โต๊ะถมพานทองสองชั้น ครั้นเมื่อถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ทําที่ตั้งพระสำรับที่ห้าเหมือนที่สี่ใช้มาหลายปี ภายหลังเห็นว่าตั้งอยู่แถวเดียวกัน ไม่เหมือนกันก็ไม่งาม จึงได้ให้ทำบุษบกขึ้นอีกสามสำรับ ให้เหมือนกันทั้งห้า แต่เครื่องนมัสการโต๊ะถมย้ายลงมาเป็นสำรับที่ห้า สำรับที่สี่ใช้เครื่องทองทิศเหมือนสามสำรับก่อนนั้น การตกแต่งบุษบกและจัดพุ่มดอกไม้เครื่องประดับทั้งสิ้นนี้ เป็นหน้าที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ทรงทํามาแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นส่วนลงทุนรอนของท่านเอง ตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่ฉัตรดอกไม้ยอดบุษบกนั้นจะเป็นดอกไม้สดทั้งห้าองค์ร้อยไม่ไหว จึงได้ใช้ดอกไม้สดแต่บุษบกที่ ๕ อีกสี่สำรับใช้ดอกไม้แห้ง บายศรีที่สำรับเวียนเทียนไม่ได้ตั้งตรงหน้าบุษบกพระพุทธรูป ใช้ตั้งที่หน้าตู้พระสยามเทวาธิราช[๒] ที่หน้าตู้นั้นมีโต๊ะจีนตั้งโต๊ะของเดิมตั้งอยู่ตรงกลางโต๊ะหนึ่ง จัดไว้เป็นที่สำหรับตั้งพระแสง มีโต๊ะมาเทียบอีกข้างละโต๊ะ ข้างเหนือจัดไว้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปชัยวัฒน์และพระสุพรรณบัฏ ข้างใต้เชิญพระสยามเทวาธิราชลงมาจากวิมานตั้งไว้แต่ในเวลากลางคืนวันขึ้น ๒ ค่ำ ในบุษบกทั้งห้านั้นแต่เดิมก็ตั้งแต่พระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาปี ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระพุทธรูปพระชนมพรรษาวัน ทรงพระราชอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขึ้น จึ่งโปรดให้เชิญมาตั้งอยู่ตรงกลางบุษบก พระพุทธรูปพระชนมพรรษาประจําปีตั้งรายล้อมรอบ ส่วนสำรับที่สามนั้นให้เชิญพระพุทธรูปห้ามสมุทร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างมาตั้ง แต่เขื่องไปไม่ได้ขนาดกัน ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ จึ่งได้สร้างถวายใหม่องค์หนึ่งได้ขนาดกัน สำรับที่สี่นั้นโปรดให้เชิญพระพุทธสิหิงค์น้อยมาตั้งก็ติดต่อมาจนแผ่นดินปัจจุบันนี้ สำรับที่ห้าก็ตั้งพระชนมพรรษาวันซึ่งทรงหล่อขึ้นใหม่ เป็นเรื่องเดียวกันทั้งห้าสำรับ ในเวลาค่ำนี้เจ้านายฝ่ายในมีดอกไม้ธูปเทียนขึ้นมานมัสการพระพุทธรูปพร้อมกัน เวลาก่อนที่จะเสด็จพระราชดําเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จทรงนมัสการก่อน มีดอกไม้สำหรับโปรยปรายบนบุษบกและสุหร่ายน้ำหอมประพรม เมื่อเสด็จออกแล้วท้าวนางผู้ใหญ่จุดแว่นเวียนเทียนสมโภชพระชนมพรรษา และพระสยามเทวาธิราชด้วย
ส่วนการที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใช้ธรรมาสน์ศิลาซึ่งตั้งอยู่สำหรับพระอุโบสถ เป็นพระแท่นมณฑลทั้งพระพุทธรูปชัยวัฒน์เงินรัชกาลที่ ๑ องค์หนึ่ง พระชัยแผ่นดินปัจจุบันองค์หนึ่ง พระชัยเนาวโลหน้อยสำหรับนำเสด็จพระราชดําเนินองค์หนึ่ง พระปริยัติธรรมสามพระคัมภีร์ และเทวรูปพระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพรหม พระแสงศรสาม พระแสงหอกเพชรรัตนหนึ่ง พาดบันไดแก้ว เทวรูปเชิญพระขรรค์ธารพระกรข้างหนึ่ง ที่เคยเชิญหีบพระราชลัญจกร เปลี่ยนให้เชิญหีบลุ้งพระสุพรรณบัฏข้างหนึ่ง พระแสงต่างๆ ซึ่งสำหรับจะทําน้ำนั้นบรรจุในหีบมุก ตั้งอยู่หน้าโต๊ะหมู่พระพุทธรูป มีพระขันหยก เทียนสำรับพระราชพิธี และพระถ้วยโมราจานรองกรอบทองคำประดับเพชรเครื่องต้นสำรับหนึ่ง ริมฐานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีม้าเท้าคู้ทองเหลืองตั้งหม้อน้ำเงินสิบสองหม้อ ขันสาครตั้งข้างล่างสองขัน โยงสายสิญจน์ถึงกันตลอด การสวดมนต์ถือน้ำแต่ก่อนใช้พระสงฆ์น้อย ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระราชดําริจารึกทรงพระราชอุทิศพระพุทธรูปประจําแผ่นดิน ๓๗ ปางนั้นแล้ว จึงให้เพิ่มพระสงฆ์สวดมนต์ขึ้นเป็น ๓๗ รูป ครั้นถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้เพิ่มขึ้นอีกรูป ๑ เป็น ๓๘ ใช้เจ้าพระพระราชาคณะผู้ใหญ่และพระราชาคณะที่เป็นเปรียญทั้งสิ้น เครื่องประโคมในพระราชพิธีนี้ ใช้พิณพาทย์ทั้งข้างหน้าข้างใน แต่ไม่มีมโหรี
เมื่อเสด็จออกทรงศีลแล้วอาลักษณ์อ่านคําประกาศ เริ่มความรัตนพิมพวงศ์ย่อ และกระแสพระราชดําริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงวินิจฉัยในฝีมือช่าง ซึ่งสร้างพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้แล้ว จึ่งสรรเสริญพระคุณของพระมหามณีรัตนปฏิมากรว่าเป็นเครื่องคุ้มกันอันตรายต่างๆ ดำเนินข้อความเป็นจดหมายเหตุย่อในการแผ่นดินซึ่งได้เกิดขึ้น จําเดิมตั้งแต่พระมหามณีรัตนปฏิมากรลงมาประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วสรรเสริญพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งห้าพระองค์ ลงปลายเป็นคําตักเตือนข้าราชการทั้งปวง ให้ทําราชการโดยซื่อสัตย์สุจริต แล้วอธิษฐานขอพรเทพยดาตามธรรมเนียมคําประกาศทั้งปวง เมื่อจบคําประกาศแล้วพระสงฆ์จึ่งได้สวดมนต์ ใช้มหาราชปริตรสิบสองตํานานเป็นแบบมา เมื่อสวดมนต์จบแล้ว พราหมณ์อ่านดุษฎีคําฉันท์ เป็นคําสรรเสริญพระแก้วและสรรเสริญพระเกียรติ และอธิษฐานตามการพระราชพิธี เมื่อเสร็จการดุษฎีคําฉันท์แล้ว ราชบัณฑิตจึงได้ทําอธิษฐานน้ำพระพิพัฒน์สัจจาต่อไป เป็นเสร็จการในเวลาค่ำ
รุ่งขึ้นเวลาเช้า แต่ก่อนมีการเลี้ยงพระสงฆ์ในพระอุโบสถ เสด็จพระราชดำเนินออกทรงปฏิบัติพระสงฆ์ก่อน แล้วจึงได้ทําน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ครั้นภายหลังมาการที่ยกสำรับเลี้ยงพระสงฆ์มักจะหกเปื้อนเปรอะที่ซึ่งข้าราชการจะเข้ามารับพระราชทานน้ำ และเป็นการสับสนอลหม่านด้วยข้าราชการอยู่หน้าพระอุโบสถมาก จึงได้ตกลงกันให้ย้ายไปเลี้ยงพระเสียที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เมื่อเสด็จออกเมื่อใด พราหมณ์ก็เข้ามาอ่านโองการแช่งน้ำทีเดียว[๓]
โองการแช่งน้ำนี้เรียกว่าโคลง เขียนเป็นหนังสือพราหมณ์แต่เมื่อตรวจดูจะกําหนดเค้าว่าเป็นโคลงอย่างไรก็ไม่ได้สนัด ได้เค้าๆ บ้างแล้วก็เลือนไป แต่เนื้อความนั้นเป็นภาษาไทย ถ้อยคำที่ใช้ลึกซึ้งที่ไม่เข้าใจบ้างก็มี ตามคําบอกเล่าว่าเป็นของเกิดขึ้นในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช แต่ข้าพเจ้ามีความสงสัยว่าจะช้ากว่านั้น ด้วยถ้อยคำในนั้นไม่คล้ายคลึงกับพระราชนิพนธ์ เช่นสมุทโฆษคำฉันท์หรือพระลอลิลิตซึ่งว่าเกิดในรัชกาลนั้นเลย ถ้าจะเดาโดยพระนามซึ่งว่าเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีก็น่าจะเป็นพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือที่ ๒ มากกว่ารามาธิบดีที่ ๓ คือพระนารายณ์ และถ้อยคําในโคลงนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า คงจะตกหล่นและผิดเพี้ยนเสียเป็นอันมาก ถ้อยคํานั้นก็ลึกซึ้งจนฟังถ้าไม่ใส่ใจก็เกือบจะเป็นเสกคาถาภาษาอื่นได้ เรื่องที่ว่านั้นสรรเสริญพระนารายณ์ก่อน แล้วสรรเสริญพระอิศวร แล้วสรรเสริญพระพรหม ความต่อไปจึงเดินเรื่องสร้างโลก แล้วสรรเสริญพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดิน แช่งผู้ซึ่งทรยศคิดร้าย ให้พรผู้ซึ่งตั้งอยู่ในความสัตย์สุจริตจงรักภักดีเป็นจบความกัน พิเคราะห์ดูในคำโคลงแช่งน้ำนี้ ไม่มีเจือปนพระพุทธศาสนาเลย เป็นของไสยศาสตร์แท้ จนน่าสงสัยว่าจะมิใช่เกิดขึ้นในครั้งพระรามาธิบดีที่ ๑ ซ้ำไปอีก น่ากลัวจะแปลลอกคัดต่อๆ กันมาจากเมืองที่ถือไสยศาสตร์ ไม่ได้ถือพระพุทธศาสนาแต่โบราณ แต่การซึ่งจะชุบพระแสงศรสามองค์นี้ พึ่งเกิดขึ้นใหม่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทราบความจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบําราบปรปักษ์ ว่าเมื่อปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) นำหวายเทศมาถวายสามอัน เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยว่างดงามดี จึ่งทรงพระราชดําริว่าจะทําอะไร ครั้นจะทําเป็นธารพระกรก็มีอยู่แล้ว และมากหลายองค์นัก แต่ทรงพระราชดําริอยู่หลายวัน ภายหลังจึ่งดำรัสว่ากรุงเทพฯ นี้ก็อ้างชื่อว่าศรีอยุธยา เป็นเมืองนารายณ์อวตาร พระนามซึ่งใช้แช่งน้ำอยู่ก็ใช้นามรามาธิบดีเป็นการยุติลงกันอยู่แล้ว ควรจะสร้างพระแสงศรขึ้นไว้สำหรับใช้ในการพระราชพิธีถือน้ำจะได้เข้าเรื่องกัน จึงโปรดให้กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา เหลารูปพระแสงศรประกอบกับด้ามหวายเทศที่พระยาจุฬาถวาย ครั้นตกลงอย่างแล้ว จึ่งให้หาฤกษ์ตามตำราพิชัยสงคราม ตั้งโรงพระราชพิธีในโรงแสง รวมเหล็กตรอนตรีสินตีเป็นพระแสงศรสามองค์ ในขณะเมื่อตีนั้นมีประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ฆ้องชัยตลอดจนแล้ว ภายหลังจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ปั้นเทวรูปพระพรหมทรงหงส์ พระนารายณ์ทรงครุฑ พระอิศวรทรงโค ให้ทําพิธีพราหมณ์หล่อที่วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ แล้วติดกรึงที่ด้ามพระแสงศรทั้งสามองค์ แล้วจึ่งให้ขุดเหล็กฝังทองที่บ้องพระแสงเป็นตัวอักษรพราหมณ์ พระราชทานชื่อพระแสง องค์หนึ่งชื่อพรหมาสตร์ องค์หนึ่งประลัยวาต องค์หนึ่งอัคนิวาต ปลายด้ามถักผนึกด้วยลวดทองคำผูกขนนกหว้า เมื่อถึงเดือนสิบข้างขึ้นจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเสด็จขึ้นไปตั้งพิธีชุบพระแสงที่ทะเลชุบศรเมืองลพบุรี ตั้งโรงพระราชพิธีมีพระสงฆ์สวดภาณวาร เมื่อเวลาชุบพระแสงศรมีพระฤกษ์ประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ฆ้องชัยยิงปืนใหญ่ ๔ ทิศ และยิงปืนเล็กจนตลอดเวลาชุบพระแสง แล้วเวียนเทียนสมโภชตั้งกระบวนแห่ไปที่ศาลวัดปืน ต่อยศิลาศรนารายณ์บรรจุในบ้องมียันต์พรหมโองการ อิศวรโองการ นารายณ์โองการห่อด้ามบรรจุทั้งสามองค์ แล้วตั้งกระบวนแห่กลับลงเรือศรีมากรุงเทพฯ ทันการพระราชพิธีถือน้ำสารทในปีฉลูเบญจศกนั้น
การที่ชุบพระแสงศรเป็นหน้าที่ของพระมหาราชครูพิธี ผู้อ่านโองการแช่งน้ำ เมื่อเวลาจะอ่านเชิญพระขันหยกมีรูปนารายณ์ทรงธนูตั้งอยู่ในกลางขัน เชิญพระแสงศรประนมมือว่าคําสรรเสริญพระนารายณ์ จบแล้วชุบพระแสงศรสามครั้ง แล้วจึงรับพระแสงองค์อื่นมาทําต่อไปจนครบทั้งสามองค์ แล้วประนมมือเปล่าว่าไปจนตลอด เมื่อจบแล้วพระอาลักษณ์จึ่งได้อ่านคําสาบานแช่งน้ำ ในคําประกาศนั้นเชิญเทพยดาทั้งปวงมาประชุมในที่มหาสมัยสโมสรอันอุดม ที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือน กรมฝ่ายหน้าฝ่ายใน หัวเมืองเอกโทตรีจัตวาปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ และเจ้าประเทศราช แต่ล้วนชื่นชมยินดีจะกระทําสัตยานุสัตย์ถวาย ออกพระนามเต็ม แล้วจึ่งสรรเสริญพระเดชพระคุณที่ได้มีแก่ชนทั้งปวง อธิษฐานน้ำพระพิพัฒน์ ขอให้มีฤทธิอำนาจอาจจะให้เป็นไปตามคําสาบาน แล้วจึ่งแช่งผู้ซึ่งคิดคดทรยศไม่ซื่อตรง ให้พรผู้ซึ่งตั้งอยู่ในความกตัญญูสุจริต เมื่อจบคําประกาศแล้วเจ้ากรมพราหมณ์พฤฒิบาศ จึ่งได้รับพระแสงจากเจ้าพนักงานกรมแสง มีผ้าขาวรองมือเชิญพระแสงออกจากฝัก ชุบน้ำในหม้อเงินและขันสาครทุกหม้อทุกขัน พระแสงซึ่งใช้ชุบน้ำอยู่ในปัจจุบันนี้ คือพระขรรค์ชัยศรี พระแสงหอกเพชรรัตน พระแสงคาบค่าย พระแสงดาบใจเพชร พระแสงเวียต ทั้งนี้เป็นพระแสงในรัชกาลที่ ๑ พระแสงญี่ปุ่นฟันปลาประดับพลอย เป็นพระแสงในรัชกาลที่ ๒ พระแสงแฝด พระแสงขรรค์เนาวโลห เป็นพระแสงในรัชกาลที่ ๓ พระแสงทรงเดิมฝักประดับมุก พระแสงตรีเพชร ธารพระกรเทวรูป ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ พระแสงกั้นหยั่น พระแสงปืนนพรัตน์ เป็นพระแสงในรัชกาลที่ ๔ พระแสงฝักทองเกลี้ยงเครื่องประดับเพชร เป็นพระแสงทรงเดิมในแผ่นดินปัจจุบันนี้ จัดเป็นลำดับกันตามสมควร เมื่อขณะพราหมณ์แทงน้ำอยู่นั้น พระสงฆ์สวดคาถา สจฺจํ เว อมตา วาจา เป็นต้น ประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ฆ้องชัยจนตลอดกว่าจะทําน้ำแล้ว ฝ่ายพระบรมวงศานุวงศ์นั้นตั้งแต่เสด็จพระราชดําเนินออกก็ขึ้นไปเฝ้าอยู่บนพระอุโบสถ แต่ข้าราชการอยู่หน้าพระอุโบสถ มีกําหนดว่าเมื่ออาลักษณ์อ่านคําประกาศจบแล้ว ข้าราชการจึงขึ้นไปอ่านคําสาบาน คําสาบานนี้เป็นคำสาบานย่อ รูปเดียวกันกับที่อาลักษณ์อ่าน เป็นแต่ตัดความให้สั้นลง เมื่อชุบพระแสงเสร็จแล้วพระมหาราชครูพิธีแบ่งน้ำที่ชุบพระแสงศรลงในพระถ้วยโมราเครื่องต้น เจือกับน้ำพระราชพิธีพราหมณ์ซึ่งอบมีกลิ่นหอม แล้วเจ้ากรมพฤฒิบาศจึงได้รับพระขันหยกไปเทเจือปนในหม้อเงินและขันสาคร
ธรรมเนียมเดิมมา พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ได้เสวยน้ำพระราชพิธี พึ่งมาเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงถือว่าน้ำชําระพระแสงศรนั้นเป็นสวัสดิมงคลอย่างหนึ่ง เพื่อจะแสดงพระราชหฤทัยเมตตากรุณาโดยเที่ยงธรรม ซึ่งได้ทรงปฏิบัติอธิษฐานในพระราชหฤทัยเป็นนิตย์ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงได้ทราบ เป็นที่ชื่นชมยินดีทั่วหน้า จึงโปรดให้พระมหาราชครูพิธีนำน้ำซึ่งสรงเทวรูปและพระแสงศรมาถวายเสวยก่อน แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อแรกๆ ท่านผู้บัญชาการในพระราชพิธีทั้งปวงก็ได้ยกเลิกน้ำที่ถวายพระเจ้าแผ่นดินเสวยเสีย จะเป็นด้วยตัดสินกันประการใด หรือเกรงใจว่าไม่ได้รับสั่งเรียกก็ไม่ทราบเลย ภายหลังมาเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นอย่างไว้แล้ว เมื่อยกเลิกเสียโดยมิได้ปรากฏเหตุการณ์อย่างไร ก็ดูเหมือนหนึ่งไม่ตั้งใจที่จะรักษาความสุจริตกระดากกระเดื่องอย่างไรอยู่ จึ่งได้สั่งให้มีขึ้นตามแบบเดิม ตั้งแต่ปีบรมราชาภิเษกครั้งหลังมา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสวยแล้วจึ่งได้แจกน้ำชำระพระแสงในหม้อเงินทั้งปวง แด่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการให้รับพระราชทานต่อไป ถ้ามีวังหน้าเจ้ากรมพฤฒิบาศเป็นผู้นำน้ำไปถวาย ใช้ขันสรงพระพักตร์ลงยาราชาวดี มีนพรัตน์ในกลางขัน แต่คงใช้น้ำในหม้อเงินเหมือนพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง ขันซึ่งสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์เสวยนั้นเป็นขันลงยาเชิงชายสำหรับข้าราชการขันทองขันถม ถ้วยที่สำหรับตวงเป็นถ้วยหูก้าไหล่ทองบ้างสำริดบ้าง จารึกคาถาเป็นอักษรขอมว่า สจฺจํ เว อมตา วาจา เป็นต้น
ผู้กํากับถือน้ำและแจกน้ำในพระอุโบสถนี้ คือพราหมณ์พฤฒิบาศ พราหมณ์โหรดาจารย์ สนมพลเรือน และพระยาผู้กํากับถือน้ำในกรมพระกลาโหมคนหนึ่ง ในกรมมหาดไทยคนหนึ่ง[๔] พระบรมวงศานุวงศ์เสวยน้ำฟากพระอุโบสถข้างใต้ตรงที่ประทับ พระบวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ ซึ่งเสด็จอยู่หน้าพระอุโบสถขึ้นประตูกลาง แต่มาเสวยน้ำข้างใต้ ส่วนหม่อมเจ้านั้น แต่เดิมไม่ได้ขึ้นไปถือน้ำบนพระอุโบสถ ภายหลังทรงพระราชดําริว่า ก็นับว่าเป็นหลานเธอของพระเจ้าแผ่นดิน มีศักดินาสูง ส่วนข้าราชการผู้น้อย ที่ต่ำศักดินากว่าก็ขึ้นไปถือน้ำบนพระอุโบสถได้ จึงโปรดให้ขึ้นไปถือน้ำบนพระอุโบสถในสองสามปีนี้ แต่แยกออกไปอีกสายหนึ่ง คือขึ้นทางประตูข้างใต้ กลับลงทางประตูข้างใต้ ข้าราชการขึ้นประตูเหนือ ถือน้ำฟากพระอุโบสถข้างเหนือ กลับลงประตูกลาง จางวางหัวหมื่น นายเวรมหาดเล็กขึ้นประตูกลาง แต่ไปถือน้ำข้างเหนือแล้วกลับลงประตูกลาง ในขณะเมื่อข้าราชการลงมือถือน้ำนั้น ทรงพระเต้าษิโณทก พระสงฆ์ยถา เมื่อพระสงฆ์กลับ ต้องเบียดเสียดข้าราชการที่มาถือน้ำออกไปอยู่ข้างจะเป็นการกันดารกันทุกปี[๕] แต่ก่อนมาเมื่อข้าราชการถือน้ำหมดแล้ว เจ้ากรมปลัดกรมกองมอญขึ้นมาอ่านคําสาบานเป็นภาษารามัญหน้าพระที่นั่ง ต่ออ่านคําสาบานจบแล้วจึ่งได้เสด็จขึ้น แต่ครั้นมาถึงในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ทีหลังๆ มานั่งคอยอยู่ก็หายไป ถามก็ว่ามี แต่อย่างไรจึงรวมๆ ไปอยู่ต่อเวลาเสด็จขึ้นแล้วก็ไม่ทราบ เวลาเมื่อข้าราชการถือน้ำเสร็จแล้วเสด็จขึ้นทางข้างใน เพื่อจะให้ท้าวนางและภรรยาข้าราชการที่มาถือน้ำข้างในได้เฝ้า มหาดเล็กเชิญพระแสงตามเสด็จพระราชดําเนินทางข้างในด้วย กําหนดผู้มีบรรดาศักดิ์ฝ่ายในได้ถือน้ำนั้น ว่าภรรยาข้าราชการที่มีศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐ ขึ้นไปต้องมาถือน้ำ ท้าวนางนั้นแต่เดิมมาก็ไปถือน้ำวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งสิ้น แต่ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกเว้นท้าวนางที่เป็นเจ้าจอมมารดา ไม่ให้ต้องออกไปถือน้ำวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และข้างในต่างวังคือห้ามเจ้านายที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด และบุตรีท่านเสนาบดีซึ่งได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด และภรรยาข้าราชการซึ่งผัวตายแต่ยังคงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดอยู่ ก็โปรดให้เข้ามาถือน้ำข้างใน ภรรยาข้าราชการที่ถือน้ำนั้นมีพราหมณ์อ่านโคลงแช่งน้ำ อาลักษณ์อ่านคําสาบานอีกเที่ยวหนึ่ง เมื่อเสด็จขึ้นแล้ว เมื่ออ่านคําสาบานจบแล้ว ยื่นหางว่าวบอกรายชื่อตัว ถ้าส่งการ์ดอย่างฝรั่งก็ใช้ได้ลงกัน แก่ท้าวนางผู้กํากับแล้วจึ่งได้รับพระราชทานน้ำ แต่หางว่าวนั้นตกลงเป็นรู้จักกันเสียโดยมาก ท้าวนางก็หลวมๆ ไปไม่เข้มงวดเหมือนอย่างแต่ก่อน ท้าวนางวังหลวงนั่งเรียงตามผนังด้านใต้ ท้าวนางวังหน้านั่งเรียงตามฐานพระด้านเหนือ ภรรยาท่านเสนาบดี นั่งต่อท้าวนางวังหลวง ต่อไปจึงเป็นภรรยาข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์สูงๆ ภรรยาข้าราชการผู้น้อยนั่งที่มุขหลังพระอุโบสถ ภรรยาพวกมอญนั่งตามเฉลียงพระระเบียง ตั้งแต่เลี้ยวประตูฉนวนมาจนตลอดถึงประตูหลังพระอุโบสถ แต่ก่อนนั่งรายเต็มตลอด แต่เดี๋ยวนี้ก็ร่วงโรยไปมาก
ทางเสด็จพระราชดําเนินตามพระระเบียง ตั้งแต่ประตูฉนวนเลี้ยวมาออกประตูด้านตะวันตก ถ้ากระบวนพยุหยาตราเสด็จพระราชดําเนินออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับเปลื้องเครื่องศาลาเรียนหนังสือ ขากลับประทับพลับพลาเปลื้องเครื่องที่ข้างประตูพระระเบียงข้างตะวันตก เสด็จกลับประทับเกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ กระบวนเสด็จพระราชดําเนินแห่สี่สายเหมือนพยุหยาตรากฐิน แต่ตำรวจมหาดเล็กนุ่งท้องขาวเชิงกรวย ทรงเครื่องขาว ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระมหามงกุฎมหาชฎา แต่ไม่มีทรงโปรยเงินอย่างเช่นพยุหยาตรากฐิน
การแต่งตัวถือน้ำมีกําหนด ถ้าผู้ใดจะไปถือน้ำที่วัดจึงต้องนุ่งขาว ถ้าไม่ได้ไปถือน้ำที่วัดก็ไม่ต้องนุ่ง คือพระบรมวงศานุวงศ์แต่ก่อนถือน้ำในท้องพระโรง ก็ทรงผ้าลายอย่างและคาดทรงสะพักสีตามธรรมเนียม ข้าราชการที่ไปถือน้ำวัดต้องนุ่งขาว แต่ครั้นเมื่อจะกลับเข้ามาถวายบังคมในท้องพระโรง ก็นุ่งสองปักตามธรรมเนียม พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบรรดาที่ถือน้ำข้างในก็ไม่ต้องนุ่งขาวทั้งสิ้น ส่วนท้าวนางและภรรยาข้าราชการตลอดจ่าทนายเรือนโขลนที่ออกไปถือน้ำวัดพระศรีรัตนศาสดารามต้องนุ่งขาว เมื่อแรกๆ เสด็จพระราชดําเนินออกถือน้ำวัดพระแก้ว เจ้านายทรงผ้าลายพื้นขาวเขียนทองบ้าง ลายเปล่าบ้าง ยกท้องขาวเชิงชายบ้าง ฉลองพระองค์กระบอกผ้าขาวตามธรรมเนียม คาดฉลองพระองค์ครุย ภายหลังมาจะราวปีระกาตรีศก[๖]หรือปีจอจัตวาศกจึงโปรดให้เจ้านายต่างกรมทรงฉลองพระองค์ผ้าปักทองแล่งเย็บเป็นรูปเสื้อกระบอก ใช้มาจนตลอดรัชกาลที่ ๔ และในแผ่นดินปัจจุบันนี้ตอนแรกๆ ตั้งแต่ปีระกาเบญจศก[๗]แล้วมาจึงได้เปลี่ยนเป็นเยียรบับขาว ข้าราชการนั้นนุ่งสองปักท้องขาวเชิงกรวย สวมเสื้อผ้าขาวคาดเสื้อครุยเสมอมาจนปัจจุบันนี้ เป็นแต่เปลี่ยนรูปเสื้อไปตามกาลเวลา เจ้านายต่างกรมทรงพระวอ พระองค์เจ้าทรงเสลี่ยง ที่ได้รับพระราชทานพระแสงและเครื่องยศก็มีมาเต็มตามยศ ท้าวนางข้างในนุ่งผ้าม่วงพื้นขาวจีบ ห่มแพรชั้นใน ห่มผ้าปักทองแล่งชั้นนอก มีหีบทองหีบถมเครื่องยศพร้อมทั้งกาน้ำและกระโถน ออกไปตั้งตรงหน้าที่นั่งในพระอุโบสถด้วย ภรรยาท่านเสนาบดีบางคนที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศหีบทองเล็ก กา กระโถน และผ้าปักทองแล่ง ก็แต่งเต็มยศที่ได้พระราชทานตั้งเรียงต่อท้าวนางไป ภรรยาข้าราชการที่ถือน้ำนี้แต่ก่อนเล่ากันว่าเป็นการประกวดประขันกันยิ่งนัก ตัวผู้ที่เป็นภรรยาถือน้ำต้องนุ่งขาวห่มขาว แต่แต่งภรรยาน้อยที่มาตามห่มสีสัน ถือเครื่องใช้สอยต่างๆ กระบวนละมากๆ
ว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ได้เสด็จออกวัดนั้น พวกมหาดเล็กคอยอยู่ที่ประตูข้างริมฉนวนแน่นๆ กันไป ภายหลังมาก็กร่อยๆ ลง ต่อเตือนเอะอะกันขึ้นจึงได้แน่นหนาขึ้นเป็นคราวๆ เจ้าประเทศราชหัวเมืองลาวและเจ้าเขมรซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงเทพฯ ถือน้ำในพระอุโบสถพร้อมด้วยข้าราชการทั้งปวง แต่เมืองแขกประเทศราชถือน้ำตามศาสนาแขกที่ศาลาถูกขุน ภายหลังย้ายมาที่มิวเซียม[๘] พวกฝรั่งเข้ารีตมีบาดหลวงมานั่งให้ถือน้ำ เดิมถืออยู่ที่ศาลกรมวังซึ่งเป็นตึกทหารมหาดเล็กเดี๋ยวนี้ ทำตามอย่างฝรั่ง คำสาบานก็เปลี่ยนแปลงไปตามที่นับถือทั้งแขกทั้งฝรั่ง ข้าราชการผู้น้อยและขุนหมื่นที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดถือน้ำหน้าพระอุโบสถเป็นอันมาก แต่ที่มีเวรอยู่ในพระบรมมหาราชวังรับน้ำมาถือที่ห้องที่คลังก็มีบ้าง
การถือน้ำในชั้นหลังๆ นี้ เมื่อต้องคราวที่ทรงพระประชวร จะเสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้ ก็มีแต่ข้าราชการไปถือนํ้าที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเข้ามาถวายบังคมในท้องพระโรง พระบรมวงศานุวงศ์มาเสวยน้ำในท้องพระโรง ทรงเครื่องสีตามปรกติเหมือนอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน
การถวายบังคมพระบรมอัฐิซึ่งมีในหมายเดิมนั้นว่า เมื่อเปิดพระแกลหอพระประโคมแตรสังข์กลองชนะครั้งหนึ่ง ให้ข้าราชการจุดธูปเทียนกราบถวายบังคมแล้วหมอบเฝ้าอยู่ครู่หนึ่ง ประโคมอีกครั้งหนึ่งปิดพระแกลว่าเป็นเสด็จขึ้น ถวายบังคมอีกครั้งหนึ่งจึงให้กลับออกมา แต่ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นดังเช่นหมายนั้น เป็นด้วยที่คับแคบแดดร้อนและกําหนดกลองชนะก็ไม่ถูกจังหวะอย่างเก่า เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อพระแกลเปิดจึงได้ประโคม เมื่อเสด็จถึงพระที่นั่งสนามจันทร์แล้วจึงรับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอขึ้นไปบอกให้พนักงานหอพระเปิดพระแกล ถ้าใครถูกเป็นผู้เข้าไปบอกให้เปิดพระแกลแล้วเป็นเคราะห์ร้ายอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าเคยถูกเกือบจะไม่ขาดสักคราวหนึ่ง แต่เป็นผู้เร่งที่ ๒ ที่ ๓ ดีกว่าเป็นผู้ไปที่ ๑ ถ้าเป็นผู้ไปที่ ๑ มักจะถูกกริ้วว่าไปเชือนแชเสีย ด้วยความลำบากในการที่จะไปบอกนั้น คือเวลาถือน้ำเช่นนี้ ถ้ามีพยุหยาตราก็ต้องถึงสวมเกี้ยวสวมนวม ถ้าไม่มีพยุหยาตราก็เพียงสร้อยประแจ มันสารพัดจะหนักไปหมดทั้งตัว พอเข้าพระทวารไปก็ต้องคลานตั้งแต่พระทวารจนถึงหอพระ เมื่อขึ้นไปถึงหอพระแล้วจะต้องไปส่งภาษากับคุณยายเฝ้าหอพระ แสนที่จะเข้าใจยาก ไก๋แล้วไก๋เล่ากว่าจะลุกขึ้นได้ ถ้าถูกเร่งหลายทอดหนักเข้าต้องไปกระชากเปิดเอาเองก็มี กว่าจะเปิดได้ต้องทรงคอยอยู่ในไม่ต่ำกว่าสิบมินิต แต่ในปัจจุบันนี้กําหนดสัญญาณกันเสียใหม่ว่า เมื่อพระราชยานประทับเกยก็ให้ประโคม เมื่อพนักงานได้ยินเสียงประโคมก็ให้เปิดพระแกลทีเดียว ดูค่อยรวดเร็วสะดวกดีขึ้น แต่เมื่อว่าตามตําราแล้วก็อยู่ข้างจะผิดท่าอยู่หน่อยหนึ่ง ที่ต้องเปิดพระแกลคอยอยู่สักครู่หนึ่งจึงได้จุดเทียนเครื่องนมัสการ เวลาซึ่งจะถวายบังคมพระบรมอัฐินั้นสวมเสื้อครุย ยังคงทําตามแบบอยู่แต่พระเจ้าแผ่นดิน คือเมื่อทรงฉลองพระองค์แล้วเสด็จขึ้นไปบนพระที่นั่งสนามจันทร์ถวายบังคมสามครั้ง ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้วถวายบังคมอีก เฝ้าอยู่ครู่หนึ่ง จึงถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เปลื้องเครื่องทรงเครื่องสีตามธรรมเนียม ด้วยเป็นการมิใช่ถือน้ำวัดตามซึ่งกล่าวมาแล้ว เจ้านายข้าราชการจึงได้เข้ามาจุดธูปเทียน ถวายบังคมสามครั้งแล้วถอยออกไป เมื่อหมดคนที่กราบถวายบังคมเมื่อใด ก็ปิดพระแกลหยุดประโคมเมื่อนั้น
การถือน้ำข้างในแต่ก่อนๆ มา มีกําหนดรับน้ำที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเข้ามาห้าหม้อ ตั้งที่ท้องพระโรงหน้า เวลาเสด็จขึ้นเสวยกลางวันแล้วเสด็จออกประทับที่ช่องพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พนักงานพระสมุดอ่านคําสาบาน เนื้อความก็เหมือนกับที่อาลักษณ์อ่านที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างแต่อาการความประพฤติ คือเช่นเอาใจไปเผื่อแก่ไทต่างด้าวท้าวต่างแดน เปลี่ยนเป็นเอาใจไปเผื่อแผ่แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าเป็นต้น แล้วเจ้านายและข้าราชการฝ่ายในรับพระราชทานน้ำหน้าพระที่นั่ง เจ้านายประทับที่หน้าเสาท้องพระโรงหน้า ข้างตะวันตกตอนข้างเหนือตลอดเข้าไปจนในเฉลียง ตอนข้างใต้ท้าวนางเจ้าจอมมารดาเก่าเถ้าแก่เฉลียงด้านตะวันออก หม่อมเจ้าต่างวัง แต่เจ้าจอมอยู่งานนั้นอยู่บนพระที่นั่งไพศาลทักษิณบ้าง อยู่บนพระมหามนเทียรบ้าง ต่อถึงเวลารับพระราชทานน้ำจึงได้ลงไปที่ท้องพระโรง ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดเพิ่มเติมใหม่ คือมีโต๊ะสามโต๊ะเช่นได้กล่าวมาแล้ว เมื่อเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลแล้วจึงให้เรียกเจ้าพนักงานเชิญพระชัย พระสุพรรณบัฏ พระแสง เข้ามาตั้ง ทรงนมัสการพระพุทธรูปพระชนมพรรษาเหมือนเวลาค่ำแล้ว จึงได้ทรงเครื่องนมัสการพระชัยและเทวรูป ที่ซึ่งอ่านคําสาบานนั้นมีเครื่องบูชาแก้วสำรับหนึ่งตั้ง แล้วโปรดให้อ่านโองการแช่งน้ำอย่างพราหมณ์อ่าน แต่ต้องเลือกผู้ซึ่งเป็นตระกูลพราหมณ์ให้เป็นผู้อ่าน ท้าวหนูมอญซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยภูธร เป็นพนักงานพระสมุดอยู่ในเวลานั้นเป็นเชื้อพราหมณ์ จึงได้โปรดให้เป็นผู้อ่านตลอดมา ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ท้าวหนูมอญถึงแก่กรรม จึงโปรดให้ท้าวสมศักดิ์บุตรเจ้าพระยาภูธราภัย ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันนั้นอ่านสืบต่อมา ผู้ซึ่งอ่านโองการแช่งน้ำและคำประกาศนี้ นุ่งขาวห่มขาวและพระราชทานให้ห่มผ้าปักทองแล่งด้วย
ที่นั่งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเปลี่ยนไปไม่เหมือนอย่างแต่ก่อน คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระเจ้าพี่นางเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ นั่งรายริมช่องกบพระที่นั่งไพศาลทักษิณตลอดไปจนถึงหอพระเจ้า แล้วเจ้านายวังหน้าต่อด้านสกัดหุ้มกลองเลี้ยวมาจนริมผนังด้านเหนือ สมเด็จพระนางและพระเจ้าลูกเธอ ประทับรายตั้งแต่ช่องกบกลางไปตามริมช่องกบตลอดจนถึงที่สุด เป็นพระองค์เจ้า หม่อมเจ้าในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอและในเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ต่อไปจนถึงหอพระอัฐิ ริมผนังข้างเหนือเป็นที่สำหรับเจ้าคุณท้าวนางผู้กํากับถือน้ำนั่ง ชานพักสองข้างเป็นที่หม่อมเจ้า ที่ท้องพระโรงเฉลียงด้านตะวันตก เป็นที่เจ้าคุณราชินิกุลบุตรภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่นั่ง ตอนข้างเหนือ ตอนข้างใต้เป็นที่เจ้าจอมอยู่งานนั่ง เฉลียงด้านตะวันออกตอนข้างใต้เป็นที่เจ้าจอมมารดาเก่าข้างในต่างวัง ข้างเหนือเป็นที่มโหรีละครนั่ง เจ้าจอมมารดาในพระราชวังบวรฯ และมารดาหม่อมเจ้านั่งที่เก๋งและชาลาด้านตะวันตก
เมื่ออ่านคําสาบานจบแล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองน้อยในหอพระบรมอัฐิอีกครั้งหนึ่ง เจ้านายก็มีธูปเทียนขึ้นไปถวายบังคมพระบรมอัฐิเหมือนกัน ข้าราชการผู้น้อยโขลนจ่าถือน้ำที่ศาลา
การถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาหัวเมือง บรรดาหัวเมืองทั้งปวงต้องถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาเหมือนอย่างในกรุงเทพฯ กําหนดวันถือน้ำนั้นตรงตามกรุงเทพฯ นี้โดยมาก ที่ยักเยื้องไปบ้างนั้นด้วยเหตุสองประการ คือที่คงถืออย่างเก่า ท้ายพิธีตรุษ ท้ายพิธีสารทนั้นอย่างหนึ่ง เป็นเมืองใหญ่ที่มีเมืองขึ้นหลายๆ เมือง เจ้าเมืองกรมการในเมืองขึ้นเหล่านั้นต้องเข้ามาถือน้ำในเมืองใหญ่ทั้งสิ้น บางเมืองที่มาล่าต้องรั้งรอกันไป กำหนดวันก็เคลื่อนออกไป แล้วก็เลยตั้งเป็นแบบเคลื่อนวันอยู่เช่นนั้น อาวุธซึ่งใช้ทำน้ำนั้นใช้กระบี่พระราชทานสำหรับยศเจ้าเมือง วัดที่ถือน้ำวัดใดวัดหนึ่งซึ่งเป็นวัดสำคัญในเมืองนั้น หรือเป็นวัดหลวง ต่อมาถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนครคิรีและพระราชวังจันทรเกษมขึ้น ก็โปรดให้ย้ายเข้าไปถือน้ำในพระราชวังนั้นๆ แต่การที่สวดมนต์เลี้ยงพระนั้นไม่เหมือนกันทุกเมือง บางเมืองก็ทํามากบ้าง เช่นเมืองสงขลา ถึงสวดมนต์สามวัน บางเมืองก็ทําน้อย ในหัวเมืองบรรดาที่เป็นไทย เรียกตามคําเก่าว่าเมืองนํ้าพระพิพัฒน์สัจจา เมืองนอกนั้นไม่เรียกว่าเมืองน้ำพระพิพัฒน์สัจจา การแต่เดิมมาจะอย่างไรยังไม่ทราบสนัด แต่ในปัจจุบันนี้ ถึงเมืองลาวเมืองแขก ก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาเกือบจะทั่วกัน เช่นในเมืองแขก เมืองกลันตันเป็นทําการใหญ่กว่าทุกเมือง มีพระสงฆ์สวดมนต์ถึงสามวัน ที่หง่อยๆ อย่างเช่นเมืองตานี เมื่อถึงวันกําหนดถือน้ำก็พากันเอาน้ำไปที่วัด พระสงฆ์สวดพาหุงเสียจบหนึ่งแล้วก็ถือน้ำกันก็มี การซึ่งแบ่งเมืองเป็นเมืองถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา และไม่ใช่เมืองน้ำพระพิพัฒน์สัจจานี้ดูไม่น่าจะแบ่งเลย
อนึ่ง ข้าราชการทั้งปวง บรรดาซึ่งไปราชการตามหัวเมือง เมื่อถึงกําหนดถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาที่เมืองใด ก็ต้องไปพร้อมด้วยเจ้าเมืองกรมการถือน้ำในเมืองนั้น ด้วยการพระราชพิธีถือน้ำนี้เป็นแบบอย่างอันเดียวกันตลอดพระราชอาณาเขต เป็นพิธีที่มีกฎหมายบังคับเช่นมีในกฎมนเทียรบาลเป็นต้น วางโทษไว้ว่าผู้ใดขาดถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาโทษถึงตาย เว้นไว้แต่ป่วยไข้ ถ้าเป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่สำคัญ เจ้าพนักงานก็ต้องนำน้ำไปให้รับพระราชทานที่วังและที่บ้าน ต้องมีของแจกบ่ายเจ้าพนักงานผู้ที่นำน้ำไป ที่สุดจนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรไม่ได้เสด็จมาถือน้ำได้หลายปี เจ้าพนักงานนำน้ำขึ้นไปถวาย ก็ต้องพระราชทานเสื้อผ้าเป็นรางวัลปีละมากๆ ทุกคราว แต่ซึ่งเป็นแบบใหม่มีในหมายรับสั่งนั้นว่าถ้าขุนหมื่นในเบี้ยหวัดผู้ใดขาดถือน้ำให้เอาตัวสักเป็นไพร่หลวง และข้อห้ามจุกจิกซึ่งยกเว้นเสียแล้ว ซึ่งมีมาในกฎมนเทียรบาล คือ “ห้ามถือ (คือสวม) แหวนนาก แหวนทอง และกินข้าวกินปลากินน้ำ ยา และข้าวยาคูก่อนน้ำพระพิพัฒน์ ถ้ากินน้ำพระพิพัฒน์จอกหนึ่ง และยื่นให้แก่กันกิน กินแล้วและมิได้ใส่ผม เหลือนั้นล้าง (คือเทเสีย) โทษเท่านี้ในระหว่างขบถ” การซึ่งห้ามเช่นนี้ ห้ามไม่ให้กินอยู่อันใดนั้น ก็จะเป็นด้วยถือน้ำแต่ก่อนเวลาเช้า ครั้นเมื่อถือน้ำสายๆ ลงมา ข้อห้ามปรามอันนี้ก็เป็นอันเลิก แต่ซึ่งกินน้ำแล้วรดศีรษะนั้นยังเป็นประเพณีที่ประพฤติเกือบจะทั่วกัน เป็นการแสดงความเคารพ ไม่มีผู้ใดซึ่งเป็นผู้ใหญ่หรือผู้รู้แบบอย่างจะได้ยกเว้นเสียเลย มีบ้างแต่คนที่เป็นเด็กหลุกๆ หลิกๆ หรือผู้ใหญ่ที่เถื่อนๆ กินแล้วก็ไป มีน้อยตัวทีเดียว เป็นจบเรื่องการพระราชพิธีศรีสัจจาปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาประจําปีเท่านี้ เดือนสิบก็เหมือนกันกับเดือนห้านี้ ยกเสียแต่ไม่มีตั้งพระพุทธรูปพระชนมพรรษาที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณเท่านั้น ในเดือนสิบจะไม่ต้องกล่าวถึงการพระราชพิธีถือน้ำต่อไป
คำตักเตือนในการถือน้ำนี้ เมื่อแต่ก่อนมาดูก็ไม่ใคร่จะมีอะไรขาดเหลือในหน้าที่อื่นนอกจากมหาดเล็ก จำเดิมตั้งแต่เครื่องโต๊ะตาภู่ตกมาอยู่ที่เด็กชาอย่างหนึ่ง ย้ายถือน้ำข้างในมาพระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ย้ายถวายบังคมพระบรมอัฐิไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อกลับไปพระที่นั่งอัมรินทรใหม่ก็เลอะใหญ่ลืมกันหมดไม่มีใครจําอะไรได้เลย โต๊ะที่เคยตั้งหน้าตู้พระสยามสามโต๊ะ เมื่อเดือนสิบก็ตั้งทั้งสามโต๊ะ แต่เอาเทวดาไว้กลาง พระพุทธรูปอยู่ตะวันตก พระแสงอยู่ตะวันออก เป็นการเซอะของภูษามาลา ของกรมแสงของเด็กชา ครั้นถึงเดือนห้านี้ เด็กชาเลิกโต๊ะสองข้างเสีย ตั้งแต่โต๊ะกลางโต๊ะเดียว เอาม้าตั้งจะให้ไปประชันกันขึ้นบนนั้น ทั้งพระแสงและพระพุทธรูป และพระสุพรรณบัฏและเทวดา ครั้นต่อว่ากรมหมื่นประจักษ์เข้าไปจัดใหม่ ตกลงเป็นเทวดาไปอยู่กลางอีกเหมือนเมื่อปีกลายนี้ ต้องขนรื้อกันเวยวายในเวลาจะถือน้ำนั้น ขอให้ท่องไว้เสียให้จําได้ พระพุทธรูป พระสุพรรณบัฏตะวันออก พระแสงกลาง เทวดาตะวันตก อนึ่ง เทียนทองที่กลางขันหยกสำหรับพระราชพิธีนั้นไม่มีเหตุอันใดที่จะยกเว้น เทียนเครื่องนมัสการมีเทียนพานตามเคยพานหนึ่ง เทียนมัดบูชาพระ ๓๘ ปางอีกพานหนึ่ง คงจะทรงจุดเป็นแน่ อย่านึกว่าเผื่อจะไม่ทรงบ้าง อนึ่ง พวงมาลัยเปียสามพวง ที่มีออกไปนั้น คือแขวนที่ครอบแก้วหน้าพระสัมพุทธพรรณีพวงหนึ่ง พระพุทธยอดฟ้าพวงหนึ่ง พระพุทธเลิศหล้าพวงหนึ่ง อนึ่ง ขอเตือนไว้อีกอย่างหนึ่ง ในเวลานี้ก็ไม่สำคัญอันใด แต่เคยมีมาครั้งหนึ่ง คือพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี เมื่อไปถวายบังคมที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หาได้เชิญไปไม่นั้นเป็นการไม่สมควรแท้ ท่านได้เคยรับข้าราชการถวายบังคมมากว่าสองร้อยคราวถือน้ำมาแล้ว พึ่งจะมาขาดครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าต่อไปจะมีที่เชิญพระบรมอัฐิไปถวายบังคมในพระราชพิธีถือน้ำแห่งใด ขออย่าให้ลืมเป็นอันขาด
การถือน้ำประจำเดือนของทหาร ซึ่งได้กล่าวมาด้วยกำหนดวันว่าเคยพร้อมกันถือน้ำในวันขึ้นสามค่ำเดือนใหม่แล้วนั้น ไม่เป็นการพระราชพิธีมีพระสงฆ์สวดมนต์ เป็นแต่เมื่อถึงกําหนดวันนั้น กรมราชบัณฑิตเชิญพระชัยเงินองค์น้อยในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งสำหรับใช้ในการพระราชพิธีอย่างกลางๆ มีคเชนทรัศวสนานเป็นต้น กับพระธรรมไปตั้งที่ธรรมาสน์มุก กรมแสงหอกดาบเชิญพระแสงรูปอย่างคาบค่ายสามองค์ขึ้นพานทองสองชั้นไปตั้ง สังฆการีนิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูปตามแต่จะได้มานั่ง อาลักษณ์อ่านคําสาบานจบแล้ว พราหมณ์เชิญพระแสงชุบน้ำ พระสงฆ์สวดคาถาสัจจังเว อมตา วาจา หรือชยันโตเป็นพื้น แล้วตัวนายขึ้นไปรับพระราชทานน้ำบนพระอุโบสถ แล้วมาเรียกให้ทหารเข้าแถวที่หน้าพระอุโบสถ นายอ่านคำสาบานจบแล้วตัวทหารจึงได้ถือน้ำ บรรดาผู้ซึ่งประจําการในพระบรมมหาราชวัง เช่นนายประตูเป็นต้น ก็ต้องถือน้ำเดือนด้วยทั้งสิ้น ผู้กํากับถือน้ำสี่กรม คือ มหาดไทย กลาโหม ชาววัง มหาดเล็ก นายทหารต้องยื่นหางว่าวแก่ผู้กํากับ เป็นการตรวจคนที่ได้มาเข้าเดือนรับราชการครบหรือไม่ครบด้วยอีกชั้นหนึ่ง เมื่อทหารถือน้ำแล้วหันหน้าเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง ทําอาวุธคํานับเป่าแตรแล้วเป็นเสร็จการ แต่การถือน้ำเดือนเช่นนี้ เดี๋ยวนี้ได้เลิกเสียไม่ได้ใช้แล้ว เปลี่ยนไปเป็นธรรมเนียมตัวทหารที่เข้ารับราชการใหม่ และนายทหารซึ่งจะได้รับตําแหน่งใหม่ต้องถือน้ำทุกครั้งที่ได้เปลี่ยนตำแหน่งนั้น แต่ถือน้ำเช่นนั้นเป็นถือน้ำจร มิใช่การพระราชพิธีประจําเดือน ซึ่งได้กล่าวอยู่ในบัดนี้ ๚
[๑] รูปเขียนทั้ง ๒ หอนี้ เป็นฝีมือ “ขรัวอินโข่ง” พระวัดราชบูรณะ นับถือว่าเป็นช่างเอกในสมัยนั้น
[๒] ตู้พระสยามเทวาธิราช เป็นตู้ลับแลทั้งตรงพระทวารเทวราชมเหศวร หลังตู้ทําวิมานตั้งพระสยามเทวาธิราช เดี๋ยวนี้เลิกตู้เปลี่ยนเป็นลับแลทําด้วยฝาเฟี้ยมรดน้ำตอน ๑ ย้ายมาแต่พระมหาปราสาท พระสยามเทวาธิราชย้ายไปประดิษฐานไว้มหิศรปราสาท
[๓] ต่อมาทรงพระราชดําริว่าพระสงฆ์ต้องมาแต่เช้า คอยอยู่ช้านานนักลำบากแก่พระ จึงเลิกเลี้ยงพระในพิธีถือน้ำ
[๔] ตำแหน่งพระยากำกับถือน้ำมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ฝ่ายกลาโหมเป็นพระยาวิเศษสัจธาดา ฝ่ายมหาดไทยเป็นพระยาพฤฒาธิบดี ในรัชกาลที่ ๕ เติมพระยาจิรายุมนตรี พระยาวจีสัตยารักษ์ ขึ้นอีก ๒ คน
[๕] ตั้งแต่เลิกเลี้ยงพระ ไม่มียถา เป็นแต่ถวายอติเรก ถ้าไม่เสด็จออก สวดท้ายสัพพี แต่อภิวาทนสี ลิสฺสนิจฺจํ ไป และภวตุสัพ
[๖] ตั้งแต่เลิกเลี้ยงพระ ไม่มียถา เป็นแต่ถวายอดิเรก ถ้าไม่เสด็จออก สวดท้ายสัพพี แต่อภิวาทนสี ลิสฺสํ นิจฺจํ ไป และภวตุสัพ
[๗] ปีระกา จุลศักราช ๑๒๓๕ พ.ศ. ๒๔๑๖
[๘] คือตึกใหญ่หน้าประตูพิมานชัยศรี