การพระราชกุศลในวันประสูติและสวรรคต
๏ การพระราชกุศลอย่างนี้ มีกำหนดตามวันซึ่งตรงกับวันประสูติและสวรรคต ของพระบรมอัฐิแลพระอัฐินั้นๆ รายไปตามเดือนวันต่างๆ กัน แต่ข้าพเจ้าลืมเสียหาได้กล่าวตามรายเดือนที่ได้บำเพ็ญพระราชกุศลนั้นไม่ ครั้นเมื่อนึกขึ้นได้แล้ว ก็คิดเห็นว่าการพระราชกุศลนั้นเป็นแบบเดียวกันทุกครั้ง เป็นแต่ต่างวันกันไปเท่านั้น ควรจะรวมว่าในที่แห่งเดียว เหมือนอย่างเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากรได้ จึงได้รอไว้จนเดือนเก้า ซึ่งเป็นเดือนสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นับว่าเป็นที่หนึ่งและเป็นเดือนที่มีการน้อยพอจะแทรกแซงได้
การพระราชกุศลเรื่องนี้ พึ่งเกิดมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ การที่ทำนั้นเป็นการข้างใน คือเชิญพระบรมอัฐิไม่ต้องมีประโคมกลองชนะ ด้วยพระราชประสงค์จะให้เป็นแต่การเงียบๆ จึงได้ทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณตรงหอพระอัฐิลงมา เหมือนทำในหอพระอัฐิเอง การที่จัดนั้น พระบรมอัฐิตั้งแว่นฟ้าทองคำสองชั้น บุษบกทองคำมีเครื่องสูงบังแทรก ตั้งเครื่องราชูปโภคบริโภคบนม้าทองใหญ่สองข้างแว่นฟ้า เครื่องนมัสการโต๊ะทองคำลงยาราชาวดี มีเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมอัฐิสำรับ ๑ ถ้ามีพระอัฐิ ใช้พานทองสองชั้นใหญ่รอง ตั้งบนโต๊ะจีน ม้านมัสการทองน้อยอีกสำรับ ๑ โยงพระภูษาเส้นหยาบ ให้เนื่องกันกับพระบรมอัฐิ พระภูษาโยงใหญ่รองพานมหากฐินมีแต่เฉพาะที่พระบรมอัฐิ ตั้งโต๊ะหมู่ที่ผนังด้านหุ้มกลองตรงรูปพระเทวกรรม์ ตั้งพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาวันของพระบรมอัฐิ แลพระอัฐิ พระสงฆ์ซึ่งใช้ในการพระราชกุศลนี้มีกำหนดพระบรมอัฐิ ๑๐ รูป พระอัฐิ ๕ รูป แต่ถ้าพระอัฐิแยกออกต่างหาก ใช้ ๑๐ รูป แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามสมัยรัชกาลอยู่ดังนี้
คือเมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทำวันประสูติคราว ๑ วันสวรรคตคราว ๑ พระสงฆ์คราวละ ๑๐ รูป ไตรๆ ๑ ผ้าขาว ๙ พับ กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ มารวมพร้อมกันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระสงฆ์คราวละ ๕ รูป ผ้าไตรคราวละไตร ผ้าขาวคราวละ ๔ พับ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทำทั้งวันประสูติและวันสวรรคต พระสงฆ์คราวละ ๑๐ รูป ผ้าไตรคราวละ ๑๐ ไตร
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเลี้ยงพระสวดมนต์มีเทศนาแต่วันประสูติ วันสวรรคตสดับปกรณ์พร้อมด้วยกาลานุกาล พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์คราวละ ๑๐ รูป ไตรคราวละไตร ผ้าขาวคราวละ ๙ พับ กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย มีแต่คราวที่พร้อมกับวันประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสงฆ์ ๕ รูป ผ้าไตร ๆ ๑ ผ้าขาว ๔ พับ
กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ทำตามวันประสูติและวันสวรรคตของท่าน ไม่ได้รวมในการพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ใช้พระสงฆ์คราวละ ๑๐ รูป ผ้าไตรคราวละ ๑๐ ไตร แปลกแต่ที่ตั้งพระอัฐิใช้โต๊ะจีน พระอัฐิรองพานสองชั้นใหญ่ มีเครื่องอุปโภคบริโภคตั้งสองข้าง พระภูษาโยงใหญ่ใช้พานมหากฐิน เครื่องนมัสการใช้โต๊ะถมพานทองสองชั้น มีเครื่องทองน้อยสำรับ ๑
แต่ครั้นเมื่อถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ พระอัฐิกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ยกไปทำพร้อมกับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัฐิใช้ผ้าไตรคราวละไตร ผ้าขาวคราวละ ๙ พับ พระอัฐิใช้ผ้าไตรคราวละไตร ผ้าขาวคราวละ ๔ พับ เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์
เพิ่มการพระราชกุศลวันประสูติ และวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ขึ้นใหม่ แต่วันประสูติและวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ้องกับการพระราชกุศลออกพรรษา การออกพรรษาแต่ก่อนเคยเลี้ยงพระสงฆ์อยู่วันละ ๒๐ รูป ทั้ง ๒ วันแล้ว พระสงฆ์ที่ทำบุญในการพระบรมอัฐิจะลดลงเป็น ๑๐ รูป ตามแบบเดิมก็ไม่ควร จึงได้คงเป็นวันละ ๒๐ รูป ผ้าไตรเป็นวันละ ๒๐ ไตร เชิญพระบรมอัฐิออกตั้งสดับปกรณ์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเป็นที่เลี้ยงพระในการออกพรรษาอยู่เดิมนั้น จึงต้องกลายเป็นมีประโคมแตรสังข์มโหระทึกกลองชนะ เป็นการนอกพระราชวังแปลกไปงานหนึ่ง แต่กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ คงใช้ตามแบบกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ นั้น
ในการทำบุญพระบรมอัฐิ และพระอัฐิทั้งปวงนี้ มีสดับปกรณ์ ๒๐๐ รูป ในเวลาพระสงฆ์ฉันแล้ว เวลาค่ำสวดมนต์จบมีเทศนากัณฑ์ ๑ เครื่องกัณฑ์ ผ้าจีวรเนื้อดีผืน ๑ ธูป ๑๐๐ เทียน ๑๐๐ หมากพลู และสิ่งของเครื่องบริโภคต่างๆ เงินติดเทียน ๓ ตำลึงเหมือนกันทุกครั้ง เว้นไว้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกลางเดือน ๑๑ เคยมีเทศนาวิเศษ เครื่องกัณฑ์ไตรแพรบริขารกฐิน เงินติดเทียน ๑๐ ตำลึงอยู่แล้ว จึงได้คงไว้ตามเดิม
การที่ทำนั้นเวลาเช้าเลี้ยงพระสงฆ์ เมื่อรัชกาลที่ ๔ ไม่โปรดในการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงถวายสำรับเป็นสังฆทาน พระสงฆ์รับสาธุและอปโลกน์แล้ว จึงทรงประเคน ซึ่งเป็นธรรมเนียมมีมาทุกรัชกาลแต่ก่อนๆ ด้วยทรงเห็นว่าของที่พระสงฆ์ฉันไม่หมด เหลือไปให้ลูกศิษย์กินเป็นกินของสงฆ์ พระสงฆ์ผู้ที่รับและผู้ที่ให้นั้นต้องอาบัติจึงได้ทรงเลิกเสีย เวลาพระสงฆ์ถวายพรพระจบลงก็ทรงประเคนทีเดียว เป็นส่วนบุคลิก แต่ในการทำบุญพระอัฐิเช่นนี้ เคยทรงเป็นการพิเศษอย่างหนึ่ง คือมีคนโทกรอกน้ำถ้วยครอบทรงถือลงมาด้วย เวลาพระสงฆ์ถวายพรพระจบแล้ว สดับปกรณ์ผ้าไตรผ้าขาวพับ พระสงฆ์กลับไปนั่งที่เรียบร้อยแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไปที่ต้นแถว ทรงรินน้ำลงในถ้วยแก้ว แล้วรับสั่งด้วยภาษามคธ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่ากระไรแลไม่สนใจจะฟังด้วย เห็นแต่เมื่อจบลงแล้วทรงประเคนถ้วยน้ำนั้น พระสงฆ์รับไปลูบหน้าบ้าง รินลงในขันน้ำบ้าง ส่งต่อๆ กันไปจนตลอดแถวแล้วจึงได้ทรงประเคน แต่มาในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจก็ไม่ได้ทำอย่างนั้นเลย เป็นแต่ประเคนสำรับตามธรรมเนียม เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้วในชั้นหลังๆ ทรงชักเงินที่สำหรับแจกเจ้านายและเจ้าพนักงาน ออกพระราชทานให้สังฆการีถวายพระสงฆ์องค์ที่มาฉันองค์ละสลึง ก็เลยเป็นตำราชาวคลังจัดมาพอครบองค์ละสลึงต่างหาก พระที่ฉันกลับไปแล้วจึงได้สดับปกรณ์รายร้อย มีสวดมาติกาถวายยถาอีกครั้งหนึ่ง พระราชทานเงินสดับปกรณ์รายร้อยสำหรับพระสงฆ์รูปละเฟื้องให้สังฆการี แล้วพระราชทานแจกพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่เนื่องในพระวงศ์เสมอองค์ละสลึง เหลือนั้นพระราชทานให้เจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้บังคับเจ้าพนักงานบางกรม มีกรมหมื่นอุดมรัตนราศี ซึ่งบังคับกรมสังฆการีเป็นต้น ให้แจกเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องในการทำบุญนั้นทั่วทุกกรม เป็นเสร็จการในเวลาเช้า ครั้นเวลาค่ำพระสงฆ์ที่ฉันเวลาเช้านั้น มาสวดมนต์อีกเวลาหนึ่ง ไม่ได้ทรงศีล สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรจบแล้วมาติกา ต่อภายหลังมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อหนังสือสวดมนต์ปีมะโรงโทศกออกแล้ว วันประสูติจึงได้สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตร วันสวรรคตสวดอนัตตลักขณสูตร เมื่อสวดมนต์จบแล้ว สดับปกรณ์ผ้าเช็ดปาก ธูปเทียน และทรงประเคนหมากพลู ใบชา แล้วพระสงฆ์ที่เทศนาเข้ามานั่งเข้าแถวพระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้น เวลาที่พระเทศน์เข้ามา รับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอไปเชิญเสด็จเจ้านายข้างในขึ้นไปทรงธรรมที่ชานพัก มีโต๊ะดอกไม้ธูปเทียนเครื่องนมัสการด้วยทุกองค์ เวลาเทศน์จบสดับปกรณ์ผ้าจีวรของหลวงแล้ว เจ้านายฝ่ายในถวายผ้าสบง หมากพลู ธูปเทียนองค์ละสำรับ การที่ถวายของพระในปัจจุบันนี้ยังคงอยู่ แต่เครื่องนมัสการนั้น เจ้านายชั้นหลังท่านจะทรงเห็นเร่อร่ารุงรังอย่างไร ดูเลิกหายไปเงียบๆ ไม่มีเหตุการณ์อันใด พระสงฆ์ที่สวดมนต์รับสัพพีอติเรกถวายพระพรลากลับพร้อมกันกับพระเทศน์ เสร็จการในเวลาค่ำ
แต่การทำบุญพระอัฐิในชั้นหลัง ตั้งแต่พระพุทธมนเทียรแล้วเสร็จ ย้ายไปทำที่พระพุทธมนเทียรมุขเหนือ ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเรื่องที่ทรงพระราชดำริจะให้พระพุทธมนเทียรไม่เป็นที่ร้างเปล่า และจะให้เป็นที่เก็บแว่นฟ้าและบุษบกทองคำ ไม่ต้องให้ยกไปยกมาซึ่งเป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมมากนั้น การพระราชกุศลทั้งปวงก็คงอยู่ตามเดิม เป็นแต่เปลี่ยนที่เท่านั้น
กำหนดวันทำบุญพระบรมอัฐิ และรายวัดพระสงฆ์ซึ่งใช้ประจำอยู่ในการพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก วันประสูติเดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ พระสงฆ์วัดพระเชตุพน วันสวรรคตเดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ พระสงฆ์วัดพระเชตุพนบ้าง วัดสระเกศบ้าง กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระสงฆ์วัดรัชฎาธิษฐาน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วันประสูติเดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ วันสวรรคตเดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ถ้าเป็นอธิกมาศใช้เดือน ๘ อุตราสาฒ พระสงฆ์วัดอรุณราชวราราม กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระสงฆ์วัดเขมาภิรตาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ พระสงฆ์วัดราชโอรส สวรรคตเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ พระสงฆ์วัดสุทัศนเทพวราราม กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระสงฆ์วัดหนัง กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ประสูติเดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ถ้าเป็นปีอธิกมาศก็ใช้เดือน ๘ อุตราสาฒ สวรรคตเดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ พระสงฆ์วัดเทพศิรินทราวาสทั้งสองคราว แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น วันประสูติและวันสวรรคตติดกันอยู่ คือประสูติเดือน ๑๑ขึ้น ๑๔ ค่ำ สวรรคตเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จำนวนพระสงฆ์ก็มากถึง ๔๐ รูป และพระสงฆ์ที่เคยฉันในการออกพรรษาแต่ก่อนก็เคยใช้พระราชาคณะวัดต่างๆ กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ จึงได้ทรงเปิดวันประสูติให้เป็นพระสงฆ์วัดต่างๆ แต่เลือกวัดที่ได้ทรงสถาปนาบ้าง ทรงปฏิสังขรณ์บ้าง คือวัดโมฬีโลก วัดมหาพฤฒาราม วัดชัยพฤกษมาลา เป็นต้น ต่อวันสวรรคตจึงได้ใช้วัดราชประดิษฐ์ทั้งวัด พระสงฆที่ถวายเทศน์ ก็อยู่ข้างจะเกือบประจำตัว เป็นพระสงฆ์ในวัดที่ทรงสร้างบ้าง เป็นหลานเธอในรัชกาลนั้นบ้าง
คำตักเตือนในการพระราชกุศลเรื่องนี้ ถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะต้องเตือนเรื่องตั้งเครื่องนมัสการ แต่ในปัจจุบันนี้ตั้งเครื่องนมัสการเสียเสร็จแล้วก็ไม่ต้องมีอะไรเตือน ยังมีอยู่อย่างเดียวแต่ถ้าพระอัฐิออกพร้อมกับพระบรมอัฐิ เครื่องทองน้อยที่ตั้งอยู่บนโต๊ะจีนหน้าพระอัฐิ แปลว่าสำหรับเจ้าแผ่นดินนมัสการพระอัฐิ มิใช่สำหรับพระอัฐิทรงธรรม ซึ่งควรจะจุดในเวลาทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทรงธรรม เครื่องทองน้อยหน้าพระอัฐิเช่นนี้ ต้องทรงจุดก่อนหน้าพระสงฆ์ฉันหรือเวลาสวดมนต์ มหาดเล็กต้องคอยถวายเทียนชนวน มีเรื่องที่จะเตือนอยู่อย่างเดียวเท่านี้ ๚