พระราชพิธีจองเปรียง

๏ การพระราชพิธีในเดือน ๑๒ ซึ่งมีมาในกฎมนเทียรบาลว่าพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม ตรวจดูในความพิสดาร ในกฎหมายนั้นเองก็ไม่มีข้อความใดกล่าวถึงเสาโคมและการจุดโคมอย่างหนึ่งอย่างใดชัดเจน หรือจะเป็นด้วยเป็นการจืด ผู้ที่แต่งถือว่าใครๆ ก็เห็นตัวอย่างอยู่แล้วไม่ต้องกล่าว มีความแปลกออกไปนิดเดียว แต่ที่ว่าการพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม และเติม “ลงน้ำ” เข้าอีกคำหนึ่ง คำที่ว่า “ลงน้ำ” นี้จะแปลว่ากระไรก็สันนิษฐานยาก จะเข้าใจว่าเอาโคมที่เป็นโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าที่ชักอยู่บนเสามาแต่ต้นเดือนลดลงแล้วไปทิ้งลงน้ำก็ดูเคอะไม่ได้การเลย หรืออีกอย่างหนึ่งจะเป็นวิธีว่าเมื่อลดโคมแล้ว ลอยกระทง สมมติว่าเอาโคมนั้นลอยไปตามลัทธิพราหมณ์ ที่พอใจลอยอะไรๆ จัดอยู่เช่นกับลอยบาปล้างบาป จะถือว่าเป็นลอยเคราะห์ลอยโศกอย่างใดไปได้ดอกกระมัง การก็ตรงกันกับลอยกระทง ลางทีจะสมมุติว่าลอยโคม ข้อความตามกฎมนเทียรบาลมีอยู่แต่เท่านี้

ส่วนการพระราชพิธี ซึ่งได้ประพฤติอยู่ในปัจจุบันนี้นับว่าเป็นพระราชพิธีพราหมณ์ มิได้เกี่ยวข้องด้วยพระพุทธศาสนาสืบมา กำหนดที่ยกโคมนั้น ตามประเพณีโบราณว่า ถ้าปีใดมีอธิกมาสให้ยกโคมตั้งแต่วันขึ้นค่ำหนึ่งไปจนวันแรมสองค่ำเป็นวันลดโคม ถ้าปีใดไม่มีอธิกมาสให้ยกโคมขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง เป็นวันลดโคม อีกนัยหนึ่งว่ากำหนดตามโหราศาสตร์ว่า พระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤษภเมื่อใด เมื่อนั้นเป็นกำหนดที่จะยกโคม อีกนัยหนึ่งกำหนดด้วยดวงดาวกฤติกาคือดาวลูกไก่ ถ้าเห็นดาวลูกไก่นั้นตั้งแต่ค่ำจนรุ่งเมื่อใด เป็นเวลายกโคม การที่ยกโคมขึ้นนั้นตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม การซึ่งว่าบูชาพระเจ้าทั้งสามนี้เป็นต้นตำราแท้ ในเวลาถือไสยศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนา ก็กล่าวว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในดาวดึงสพิภพ และบูชาพระพุทธบาท ซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายเรียกว่านะมะทานที เป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่ แต่ถึงว่าโคมชัยที่อ้างว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธบาทดังนี้แล้ว ก็ยังเป็นพิธีของพราหมณ์พวกเดียว คือตั้งแต่เริ่มพระราชพิธี พราหมณ์ก็เข้าพิธีที่โรงพิธีในพระบรมมหาราชวัง และเวลาเช้าถวายน้ำพระมหาสังข์ตลอดจนวันลดโคม เทียนซึ่งจะจุดโคมนั้นก็ทาเปรียง คือไขข้อพระโคซึ่งพราหมณ์นำมาถวายทรงทา การที่บูชากันด้วยน้ำมันไขข้อโคนี้ก็เป็นลัทธิพราหมณ์แท้ เป็นธรรมเนียมสืบมาจนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าการพระราชพิธีทั้งปวงควรจะให้เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาทุกๆพระราชพิธี จึงโปรดให้มีการสวดมนต์เย็นฉันเช้าก่อนเวลาที่จะยกเสาโคม พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้น พระราชาคณะไทย ๑ พระครูปริตรไทย ๔ พระราชาคณะรามัญ ๑ พระครูปริตรรามัญ ๔ รวมเป็น ๑๐ รูป เวลาทรงศีลแล้วก่อนสวดมนต์ มีอาลักษณ์อ่านคำประกาศแสดงเรื่องพระราชพิธี และพระราชดำริซึ่งทรงจัดเพิ่มเติม และพระราชทานแผ่พระราชกุศลแก่เทพยดาทั้งปวง แล้วพระสงฆ์จึงได้สวดมนต์ต่อไป เวลาเช้าพระฤกษ์ทรงรดน้ำสังข์และเจิมเสาโคมชัยแล้วจึงได้ยก พระสงฆ์สวดชยันโตในเวลายกเสานั้นด้วย ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้วถวายไทยทานขวดน้ำมัน, ไส้ตะเกียง, โคม ให้ต้องเรื่องกันกับพระราชพิธี การสวดมนต์เลี้ยงพระยกโคมนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกไม่ใคร่จะขาด เสาโคมชัยประเทียบนั้นตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์แต่เดิมมา มีโคมชัยสามต้น โคมประเทียบสามต้น เสาใช้ไม้แก่นยาว ๑๑ วา เสาโคมชัยที่ยอดเสามีฉัตรผ้าขาวโครงไม้ไผ่ ๙ ชั้น โคมประเทียบ ๗ ชั้น เสาและตะเกียบทาปูนขาวตลอด มีหงส์ลูกพรวนติดชักขึ้นไปให้มีเสียงดัง ตัวโคมโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาว โคมบริวารเสาไม้ไผ่ ๑๐๐ ต้น ฉัตรยอด ๓ ชั้นทำด้วยกระดาษ ปลายฉัตรเป็นธง ตัวโคมโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษ โคมชัยโคมประเทียบเป็นพนักงานสี่ตำรวจ โคมบริวารเป็นพนักงานตำรวจนอกตำรวจสนม รอบพระราชวังมีโคมเสาไม้ไผ่ ตัวโคมข้างในสานเป็นชะลอม ปิดกระดาษเป็นรูปกระบอกตรงๆ เป็นของกรมล้อมพระราชวังทำปักตามใบเสมากำแพงมีจำนวนโคม ๒๐๐ ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีเติมขึ้นที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม[๑] โคมชัย ๒ ต้น โคมบริวาร ๑๐ ต้น แต่ใช้โคมแก้วกระจกสีเขียว, สีแดง, สีน้ำเงิน, สีเหลือง, สีขาว อย่างละคู่ การพระราชพิธียกเสาโคมชัยนี้ เมื่อเวลาเสด็จประทับอยู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ก็ทำที่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ เมื่อเวลาเสด็จไปประทับอยู่ในพระที่นั่งฝ่ายบุรพทิศ ก็ทำที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์บ้าง ด้วยมีเสาโคมชัยขึ้นในที่นั้น และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสตามหัวเมือง มีพระราชวังแห่งใด ก็โปรดให้ยกเสาโคมชัยสำหรับพระราชวังนั้น คือที่วังจันทรเกษม วังนารายณ์ราชนิเวศน์ และพระนครคิรี และที่วังปฐมเจดีย์ทุกแห่ง เทียนซึ่งสำหรับจุดโคมชัยคืนละ ๒๔ เล่ม (หรือมีเสาโคมชัยทางพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เป็น ๓๒ เล่ม) ฟั่นที่ห้องมนัสการเล่มยาวๆ พอจุดได้ ๓ ชั่วโมง ยังเหลือเศษ ในเวลาสวดมนต์ยกโคมชัย เจ้าพนักงานนำเทียนนี้ไปเข้าพิธีด้วย แล้วจึงเก็บไว้ถวายวันละ ๒๔ เล่มหรือครบสำรับหนึ่ง เวลาพลบเสด็จพระราชดำเนินออกประทับที่เสาโคมชัย มหาดเล็กนำพานเทียน ๒๔ เล่มกับเทียนชนวนซึ่งเสียบอยู่กับเชิงเล่ม ๑ วางมาในพานเล่ม ๑ ขึ้นถวายพระมหาราชครูพิธีจึงนำตลับเปรียงขึ้นถวาย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศศรีของวันนั้น แล้วทรงเจิมทั้งมัดนั้นด้วยเปรียง เป็นรูปอุณาโลมด้วยคาถา “อรหํ สัมมาสัมพุทโธ” แล้วจึงทรงทาเปรียงทั่วทุกเล่มเทียน ชักเทียนออกจากมัด ๖ เล่ม พระมหาราชครูจึงจุดเทียนชนวนซึ่งมีมาแต่โรงพิธี จากโคมซึ่งตามเพลิงพิธีมานั้นถวาย ทรงเทียนชนวนซึ่งเสียบมากับเชิงจุดเพลิงจากเทียนชนวนพราหมณ์ แล้วทรงบริกรรมคาถา “ทิวา ตปติ อาทิจ์โจ” จนถึง “มังคลัต์ถํ ปสิท์ธิยา” แล้วจึงทรงจุดเทียน ๖ เล่มนั้น เมื่อติดทั่วกันแล้วทรงอธิษฐานด้วยคาถา “อรหํ สัมมาสัมพุทโธ” จนตลอดแล้วจึงได้พระราชทานเทียนเล่ม ๑ ให้กรมพระตำรวจรับไปปักในโคมชัยต้นที่หนึ่ง ที่เหลือนั้นอีก ๕ เล่ม พระราชทานพระเจ้าลูกเธอไปทรงจุดในโคมชัยโคมประเทียบ ในเวลาเมื่อทรงชักสายโคมชัย เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์จนสิ้นเวลาที่ยกโคม มีแต่ยามแรกยามเดียว เมื่อยกโคมเสร็จแล้วจึงพระราชทานเทียนสำหรับโคมชัยโคมประเทียบ ที่ยังเหลืออยู่อีก ๑๘ เล่ม สำหรับไว้เปลี่ยนอีก ๓ ยาม และเทียนชนวนที่เสียบอยู่บนเชิง ให้กรมพระตำรวจรับไปจุดโคมบริวาร เทียนชนวนซึ่งเหลืออยู่อีกเล่มหนึ่งนั้น พระราชทานพระมหาราชครูพิธีสำหรับจะได้นำมาเป็นชนวนจุดเพลิงถวายในคืนหลังๆ ต่อไป

การจุดโคมชัยนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงจุดเองไม่ใคร่จะขาด แต่ครั้งเมื่อมีเสาโคมทางหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมขึ้น ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกโคมทางพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์นี้ โปรดให้พระเจ้าลูกเธอเสด็จมาทรงยกโคมที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเอง ตลอดจนโคมบริวารทั้ง ๑๒ ต้นโดยมาก แต่การซึ่งยกโคมนี้ได้ความว่า เมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลายกโคมยามแรกเป็นเวลาเข้าที่พระบรรทม ไม่ได้เสด็จออกทรงยกโคมเลย ต่อคราวที่ ๒ เวลาเสด็จออกทรงธรรม มหาดเล็กจึงได้นำเทียนถวายทรงจุดพระราชทานให้กรมพระตำรวจออกเปลี่ยน แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้เสด็จออกบ้างไม่ออกบ้าง ถ้าไม่เสด็จออกพราหมณ์ต้องส่งเปรียงและเพลิงเข้าไปข้างใน ทรงจุดพระราชทานพระเจ้าลูกเธอออกมายกโคม เหมือนอย่างในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ในเวลาที่ไม่ได้เสด็จออกนั้น และมีเสาโคมในพระบรมมหาราชวังปักประจำทุกตำหนักเจ้านาย ถ้าเป็นตำหนักเจ้าฟ้าใช้เสาไม้แก่นทาขาว ฉัตรผ้าขาว ๕ ชั้น โคมโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาวอย่างเดียวกันกับโคมประเทียบมีครบทุกพระองค์ ถ้าเป็นตำหนักพระองค์เจ้าหรือเรือนข้างในใช้เสาไม้ไผ่ โคมโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษอย่างโคมบริวารมีทั่วทุกตำหนัก แต่โคมทั้งปวงนี้ใช้ตามตะเกียงด้วยถ้วยแก้วหรือชามทั้งสิ้น เหมือนโคมบริวารข้างนอก ตามวังเจ้านายซึ่งอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่พระราชวังบวรฯ เป็นต้นลงไปมีเสาโคม แต่ในพระราชวังบวรฯ เท่านั้น มีโคมชัย, โคมประเทียบ, โคมบริวาร คล้ายในพระบรมมหาราชวัง วังเจ้าฟ้ามีเสาโคมเหมือนโคมชัยแต่ใช้ฉัตร ๕ ชั้น เจ้านายนอกนั้นตามแต่เจ้าของจะทำ

ในการพระราชพิธีจองเปรียงนี้ มีหน้าที่ของกรมมหาดเล็กซึ่งมักจะลืมหรือไม่รู้สึกบ่อย คือเวลาเย็นพลบพนักงานนำเทียนออกมาส่ง ลางทีก็ไม่มีใครรับ เวลาจะทรงก็ต้องเรียกกันเวยวายอย่างหนึ่ง หรือถ้ารับเทียนมาแล้ว เวลาจะนำเข้าไปถวายมักจะจุดเทียนชนวนเข้าไปถวาย การที่มหาดเล็กทำดังนี้เป็นการไม่ระวังในหน้าที่ของตัวและไม่รู้จักจำ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเสด็จออกพระราชทานเทียนให้พระเจ้าลูกเธอ หรือไม่ได้เสด็จออกพระราชทานเทียนให้พระเจ้าลูกเธอออกไป ก็เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กที่จะเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอไปทรงจุดโคมทุกๆ เสา และช่วยชักสายในเวลาที่ทรงชักโคมนั้นด้วย

ส่วนพนักงานของกรมพระตำรวจนั้น เป็นหน้าที่เจ้ากรมปลัดกรมจ่าเจ้าของเวร ต้องมาคอยรับเทียนไปติดในโคมชัยใบแรกที่จะทรงชัก เมื่อเวลาทรงชักต้องคอยโรยหางเชือก หรือถ้าเวลาฝนตกลงมาเชือกเปียกชื้นชักฝืด ก็ต้องเข้ามาช่วยสาวเชือกชักโคมนั้นด้วยอีกคนหนึ่ง แล้วรับเทียนสำหรับเปลี่ยนโคมและเทียนชนวนไปจุดโคมบริวาร ในการพระราชพิธีจองเปรียงมีการที่สำหรับจะไม่เรียบร้อยพร้อมเพรียงอยู่เพียงเท่านี้ ๚

[๑] พระที่นั่งอนันตสมาคมในพระราชนิพนธ์นี้หมายว่าองค์แรก สร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๔ อยู่หลังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ