การเฉลิมพระชนมพรรษา

๏ เฉลิมพระชนมพรรษานี้ นับว่าเป็นการพระราชกุศลแท้ ไม่มีพระราชพิธีพราหมณ์เจือปนเลย เมื่อจะกล่าวโดยทางค้นคว้าหาเหตุผลตัวอย่างชั้นต้นของที่เกิดแห่งพระราชพิธีพราหมณ์ทั้งปวงในหนังสือโบราณๆ เช่นหนังสือมหาภารตะ ที่ข้าพเจ้ากำลังอ่านอยู่บัดนี้ยังไม่ถึงครึ่ง ก็ไม่ได้พบเห็นแบบอย่างที่เจ้าแผ่นดินองค์ใดทำบุญวันเกิดเลย ได้พบแต่ในพงศาวดารอินเดียในชั้นหลัง เมื่อแขกเข้าไปครอบครองเป็นใหญ่ แต่เจ้าแผ่นดินแขกทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อมาเป็นเจ้าแผ่นดินอยู่ในประเทศอินเดีย ก็ย่อมละทิ้งศาสนามะหะหมัด ถือเลือนๆ ปนกันไปกับศาสนาพราหมณ์แทบทุกองค์ ที่เลยจะทิ้งศาสนามะหะหมัด จนไหลไปไม่รู้ว่าถือศาสนาอะไรทีเดียวก็มี ที่คงถือศาสนามะหะหมัดเคร่งครัดมีน้อยตัว หนึ่งหรือสองทีเดียว ท่านพวกเจ้าแผ่นดินที่ถือศาสนาเลือนๆ เหล่านี้ เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาแล้วมีการประชุมใหญ่ เสด็จขึ้นบนตาชั่ง ชั่งพระองค์ด้วยเงินทองสิ่งของเท่าน้ำหนักพระองค์ แล้วพระราชทานเงินทองเหล่านั้นแก่พราหมณ์และพระแขก เป็นพิธีสำหรับเฉลิมพระชนมพรรษา เห็นว่าการพิธีอันนี้ ตรงกับพิธีตุลาภารแท้ทีเดียว ชะรอยพิธีตุลาภาร คือชั่งพระองค์เจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีอยู่ในพระราชพิธีสิบสองเดือน จะเป็นพระราชพิธีสำหรับเฉลิมพระชนมพรรษาของเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนเสียดอกกระมัง การซึ่งกำหนดพิธีตุลาภารไว้ในเดือน ๙ นั้น ชะรอยเจ้าแผ่นดินเก่าที่เป็นต้นตำรานั้น จะประสูติในเดือน ๙ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ อู่ทองเองจะประสูติในเดือน ๙ จึงวางพิธีตุลาภารลงไว้ในเดือน ๙ ก็จะเป็นได้ วิสัยคนแต่ก่อนย่อมปิดบังวันเดือนปีที่เกิด ด้วยเชื่อว่าผู้ใดรู้วันเดือนปีแล้ว อาจจะไปประกอบเวทมนตร์ ทำอันตรายได้ต่างๆ จึงมิได้ปรากฏว่าเป็นการเฉลิมพระชนมพรรษา ครั้นผู้ตั้งตำราเดิมนั้นล่วงไปแล้ว ผู้ที่บัญชาการชั้นหลังไม่รู้ถึงมูลเหตุ จึงไม่ได้ย้ายพระราชพิธีมาให้ตรงกับวันประสูติของพระเจ้าแผ่นดินชั้นหลังซึ่งดำรงราชสมบัติอยู่ ถ้าการที่คาดคะเนนี้ถูก ก็ควรจะว่าพระราชพิธีตุลาภารนั้น เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างโบราณ แต่ข้าพเจ้าไม่ยืนยันเป็นแน่ว่าถูกตามนี้ เพราะวิชาที่เรียนยังตื้นนัก พึ่งจะรู้แต่เรื่องเจ้าแผ่นดินที่เก่าแก่ชั้นบูชายัญ พระราชพิธีที่มีปรากฏในหนังสือที่ได้พบเห็น ก็มีแต่เรื่องบูชายัญอัศวเมธราชสิยาเป็นต้น ยังไม่ได้กล่าวถึงพิธีชั้นหลังนี้เลย เรื่องนี้จะต้องขอผัดไว้สอบสวนค้นคว้าต่อไปอีกก่อน

แต่เรื่องทำบุญวันเกิดในประเทศสยามนี้ไม่เป็นแบบอย่างเหมือนเช่นเมืองจีนหรือประเทศยุโรป ดูไม่ใคร่มีผู้ใดถือว่าจำจะต้องทำอย่างไรในวันเกิดของตัว มักจะนิ่งเลยๆ ไปหรือไม่รู้สึกโดยมาก เมื่อเวลาเด็กๆ ที่เป็นเจ้านายบางทีก็มีสมโภช แต่สมโภชนั้น ก็ตามวันจันทรคติซึ่งนับบรรจบรอบ แต่ดูก็ทำแต่เมื่อเด็กๆ โตขึ้นก็ไม่ใคร่ได้ทำ ถ้าเป็นคนไพร่ๆ แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่รู้สึกเกือบทั้งนั้น เพราะเหตุว่าการที่นับอายุมากขึ้นไปอีกปีหนึ่งนั้น ไปนับเสียแต่เมื่อเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่ง หรือเถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ ว่าเป็นอายุมากขึ้นไปอีกปีหนึ่งแล้วเป็นพื้นธุระกันอยู่แต่เรื่องรับเทวดาเสวยอายุ เมื่อปีใดเป็นเวลาจะเปลี่ยนทักษา เป็นเจ้านายก็มีตำราสะเดาะพระเคราะห์โหรบูชา เสด็จขึ้นเกยส่งเทวดาเก่ารับเทวดาใหม่ มีสวดมนต์เลี้ยงพระเป็นการบุญเจือในพระพุทธศาสนาด้วย ถ้าเป็นชั้นผู้ดีที่มีความรู้หรือมีใจศรัทธาทำบุญ หรือเชื่อหมอดูกลัวเทวดาที่จะเสวยอายุงกงันไป ก็ถวายสังฆทานบ้าง ตักบาตรบ้าง มีลัทธิที่จะเรียกร้องเช่นรับพระเสาร์ พระราหู เลือกพระดำๆ เป็นต้น แต่การที่ทำทั้งปวงนี้ ก็ดูเฉพาะปีใดจะต้องรับเทวดาโดยมาก ในปีปรกติก็มักจะเฉยๆ ไป นัยหนึ่งที่ถือกันว่าผู้ใดเคยรับแล้วต้องรับทุกคราว เว้นเข้าก็ไม่สบายป่วยไข้หรือมีอันตราย ไม่รับเสียเลยดีกว่า ผู้ที่เชื่อถือเช่นนี้ไม่ทำอะไรเลยจนตลอดอายุทีเดียวก็มี บางคนก็ถือแต่ชื่อวันที่เกิด เมื่อถึงวันนั้นก็รักษาอุโบสถศีล เหมือนวันพระอีกวันหนึ่งตลอดไป การเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าแผ่นดินเล่า แต่เดิมมาก็ไม่มีแบบอย่างที่กล่าวถึงอย่างหนึ่งอย่างใด นอกจากรับเทวดาคราวหนึ่ง ต่อมาถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมาเกิดสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา เป็นบำเพ็ญพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี แต่ก็ไม่ตรงตามกำหนดวันที่บรรจบรอบ ตามสุริยคติกาลหรือจันทรคติกาลอย่างหนึ่งอย่างใด ลงลัทธิล่วงเข้าถึงปีใหม่ นับว่าพระชนมพรรษาเจริญขึ้นอีกปีหนึ่ง ก็สร้างขึ้นอีกองค์หนึ่ง

การทำบุญวันเกิดทุกๆ ปี ในเมื่อบรรจบรอบตามทางสุริยคติกาล เช่นทำกันทุกวันนี้เกิดขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำเป็นต้นเดิมมาแต่ยังทรงผนวชใช่ว่าจะตามอย่างจีนหรืออย่างฝรั่ง ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าการซึ่งมีอายุมาถึงบรรจบครบรอบปีไม่ตายไปเสียก่อนเป็นลาภอันอุดมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ควรยินดี เมื่อผู้มารู้สึกยินดีเช่นนั้น ก็ควรจะบำเพ็ญกุศลซึ่งเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น สมกับที่มีน้ำใจยินดี และควรที่จะทำใจให้เป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาท ด้วยไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า จะอยู่ไปบรรจบรอบปีเช่นนี้อีกหรือไม่ ควรที่จะบำเพ็ญการกุศล และประพฤติหันหาสุจริตธรรม วันเกิดปีหนึ่งเป็นเครื่องเตือนใจครั้งหนึ่ง ให้รู้สึกว่าอายุล่วงไปใกล้ต่อความมรณะอีกก้าวอีกคั่นหนึ่ง เมื่อรู้สึกมีเครื่องเตือนเช่นนี้ ก็จะได้บรรเทาความเมาในชีวิต ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเป็นตัวอกุศลธรรมนั้นเสีย การที่ทรงพระราชดำริ มาโดยทางความคิดของบัณฑิตชาติที่นับถือพระพุทธศาสนาแท้ดังนี้ จึงได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นนิตย์มาช้านาน แต่การที่บำเพ็ญพระราชกุศลในเวลาทรงผนวชแต่ก่อน จะทรงทำประการใดบ้าง ได้สืบดูได้ความจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์[๑]ว่า เคยมีสวดมนต์เลี้ยงพระบนพระปั้นหยา ๑๐ รูป เป็นการอย่างน้อยๆ เงียบๆ เสมอมา แต่การพระราชกุศลที่จะมีคราวพิเศษแปลกประหลาดอย่างใด ก็ไม่ใคร่จะจำได้ เพราะไม่ใคร่จะมีใครทราบพระราชดำริพระราชประสงค์ชัดเจน ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันใด มักจะทรงค้นหาเค้ามูลของเก่า หรือเหตุการณ์ที่เกิดใหม่ เป็นต้นว่าปีใดกาลกิณีมาเล็งมาทับร่วมธาตุหรืออะไรๆ ต่างๆ ตามวิธีโหรที่ถือว่าร้ายกาจอย่างใด การพระราชกุศลก็ทรงยักย้ายไปตามกาลสมัยเช่นนั้นด้วย และไม่ใคร่จะดำรัสชี้แจงให้ผู้ใดฟังนัก เมื่อทรงพระราชดำริเห็นควรจะทำอย่างไร ก็มีรับสั่งให้จัดการเช่นนั้นๆ ผู้ที่ได้รับกระแสพระราชดำริในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างมาก ก็คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์พระองค์หนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์องค์หนึ่ง นอกนั้นจะมีอีกบ้างก็พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอได้รับสั่งแก่ข้าพเจ้าเองว่า มีพระราชดำริในเรื่องการพระราชกุศลเหล่านี้ ท่านเป็นผู้รับพระบรมราชโองการมาสั่งหมาย บางทีก็เข้าพระทัยตลอด บางทีก็ไม่เข้าพระทัยตลอด พระราชดำรินั้นมักจะลึกซึ้งกว้างขวางจนคะเนหรือเดาไม่ถูกโดยมาก เพราะฉะนั้นการพระราชกุศลที่ทรงมาแต่ยังทรงผนวชก็ดี การเฉลิมพระชนมพรรษาที่ทำเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วก็ดี จะว่าลงเป็นแบบอย่างเดียวอย่างไรก็ไม่ได้เพราะไม่เหมือนกันทุกปี ซ้ำแบบอย่างที่จะพอชักมาให้เห็นชั่วปีหนึ่งหรือสองปี คือร่างหมายรับสั่งปีใดปีหนึ่ง ก็สาบสูญค้นไม่ได้เลยจนสักฉบับเดียว จะไต่ถามผู้ใดเอาให้แน่นอนในเวลานี้ ก็ไม่มีตัวผู้ที่จะชี้แจงได้ จำเป็นที่จะต้องเล่าแต่ตามที่สังเกตจำได้ และที่สืบสวนได้พอเป็นเค้าๆ คือได้ความจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์รับสั่งว่า ท่านทรงจำได้ว่าแต่ก่อนทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณตามจันทรคติกาล มีพระสงฆ์​ ๑๐ รูปเหมือนอย่างเมื่อทรงผนวช ภายหลังมาหลายปีจึงได้ทำตามสุริยคติขึ้น แต่เลี้ยงพระสงฆ์ ๕ รูป ที่พระที่นั่งราชฤดี ไม่มีสวดมนต์ ใช้โต๊ะฝรั่งนั่งเก้าอี้ ว่ามีเช่นนั้นอยู่หลายปี การที่พระที่นั่งไพศาลนั้นคงอยู่ตามเดิม ท่านได้เสด็จมาฉันสองครั้ง ภายหลังการที่พระที่นั่งราชฤดีนั้น มีพระมากขึ้น แต่จะเป็นจำนวนเท่าใดก็ทรงจำไม่ได้ สวดมนต์บนพระที่นั่งราชฤดี แล้วลงมาฉันที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ครั้นเมื่อเสด็จไปอยู่พระที่นั่งใหม่ มีสวดมนต์เลี้ยงพระบนพระที่นั่งภาณุมาศ ๑๐ รูป แต่ท่านรับสั่งว่าเป็นทางจันทรคติ การซึ่งฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษากองใหญ่ ท่านรับสั่งว่าไม่ทรงทราบ บางทีท่านจะไม่ถูกสวดมนต์ เพราะเป็นพระมหานิกายปน การที่สวดมนต์ ๑๐ รูปบนพระที่นั่งภาณุมาศนั้นเห็นจะเป็นสุริยคติ ใช้พระสงฆ์ธรรมยุติกาทั้งสิ้น เพราะท่านไปทรงระลึกได้ถึงเรื่องเทศนา ๔ กัณฑ์ ทรงออกพระองค์อยู่ว่าลืมเสียโดยมาก จนเฉลิมพระชนมพรรษาใหญ่เมื่อปีชวดฉศก[๒] ก็ทรงจำไม่ได้เลย แต่ไปได้ความดีอย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าลืมเสียนึกไม่ออกเลย คือการเฉลิมพระชนมพรรษานี้ เคยทำบนพระที่นั่งภูวดลทัศไนย มีครั้งหนึ่งหรือสองครั้งจริง นึกได้

ส่วนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นั้น ก็ได้ความเป็นท่อนๆ คือ ตอนเมื่อทรงผนวช และประทับพระที่นั่งเก่านั้นต้องกันกับที่สมเด็จกรมพระปวเรศรับสั่ง ตอนเมื่อเสด็จไปอยู่ที่พระที่นั่งใหม่ ทำที่พระที่นั่งภูวดลทัศไนย พระที่นั่งภาณุมาศต้องกัน แต่ไปได้แปลกออกไปว่า ทำพระที่นั่งบรมพิมานก็มี ข้าพเจ้าจำไม่ได้เลยว่าเป็นการเฉลิมพระชนมพรรษาหรืออะไร แต่จำได้ว่าพระสงฆ์ขึ้นไปสวดมนต์ชั้นบน แล้วลงมาฉันโต๊ะยาวที่ชั้นล่าง นั่งล้อมรอบอย่างเลี้ยงโต๊ะฝรั่งมากด้วยกัน เคยเห็นจะกี่เที่ยวกี่คราวไม่ทราบจนจำได้ ยังอีกเรื่องหนึ่งไปลงเป็นคำเดียวกัน ทั้งสมเด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซ้ำพระเทพกวี[๓]ด้วยอีกองค์หนึ่ง ว่าในการเฉลิมพระชนมพรรษาเช่นนี้ ครั้งหนึ่งดำรัสว่าพระสงฆ์ฉันอาหารต่างๆ มามาก ให้กรมขุนวรจักรทำอาหารเก้าอย่างเรียกว่าปณีตโภชนตามบาลี คือ สัปปิ เนยใส นวนิต เนยข้น เตลัง น้ำมัน มธุ น้ำผึ้ง ผาณิต น้ำอ้อย มัจฉะ ปลา มังสะ เนื้อ ขีระ นมสด ทธิ นมส้ม อาหารทั้งนี้ จัดลงในกระทงย่อมๆ แล้วลงกระทงใหญ่อีกกระทงหนึ่ง ทรงประเคน ตามคำพระเทพกวีว่าฉันไม่ได้เลย ต้องกันไว้เสียต่างหาก ลงฉันอาหารไทยๆ ทั้งนั้น การเลี้ยงเช่นนี้ว่ามีคราวเดียว นอกนั้นจะสืบหาเอาความอันใดอีกก็จำไม่ได้ แต่ตามที่ข้าพเจ้าจำได้เองนั้น คือการในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น มีพระสงฆ์สวดมนต์ ๕ รูป มีเทียนเท่าพระองค์ และเทียนพระมหามงคล มีจงกลบูชาเทวดานพเคราะห์สำหรับที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เอง ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นแบบเก่าที่เคยทำมาทุกปี แต่ดูไม่มีผู้ใดทราบว่าเรื่องอะไร ข้าพเจ้าตามเสด็จทุกปี แต่ไม่ได้ยินใครเล่าอย่างไรเลย เสด็จออกทั้งสามวัน การสวดมนต์นั้นมีอย่างหนึ่ง สวดมนต์ในพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ ซึ่งเป็นที่พระบรรทม แต่ก่อนบนดาดฟ้ามีเรือนไม้หลังคาตัด คล้ายกันกับเก๋งเรือไฟ ตั้งโต๊ะหมู่ มีพระพุทธรูปและพระเต้าตั้งเต็มไป มีเทียนเท่าพระองค์ เทียนพระมหามงคล และเทียนวัฒน เทียนหายนะอยู่ในนั้นด้วย แต่แรกพระสงฆ์ขึ้นไปสวดมนต์บนนั้น มีเจ้านายข้าราชการแต่เฉพาะที่เลือกฟั้นน้อยองค์ เวลาสวดมนต์จบแล้วทรงเสกน้ำมนต์และลงยันต์ต่างๆ ต่อไปจนดึก มีเวลาเว้นว่างแต่เสด็จลงมาเสวย แล้วก็เสด็จกลับขึ้นไปใหม่จนเวลาจวนสว่าง ไม่มีผู้ใดเฝ้าอยู่ในเวลานั้น ข้าพเจ้าเคยขึ้นไปรับใช้ก็รับสั่งไล่ให้ลงมานอน ต่อเวลารุ่งเช้าจึงได้ขึ้นไปแต่งดอกไม้ในที่นมัสการทุกๆ วัน เพราะพนักงานไม่ได้ขึ้นไป ในเก๋งนั้นถ้าเวลาเสด็จลงมาข้างล่างปิดพระทวาร ร้อนอ้าว เข้าไปเหงื่อแตกโซมทีเดียว จนคราวหนึ่งเทียนเท่าพระองค์ร้อนละลายพับลงมาไหม้ตู้ และไหม้โต๊ะหมู่ดูน่ากลัวเต็มที แต่เผอิญเป็นเดชะพระบารมี เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปทอดพระเนตรเห็น ยังไม่ทันลุกลามถึงติดตัวเก๋งขึ้น ทรงดับด้วยน้ำพระพุทธมนต์ที่ตั้งอยู่ เมื่อไฟดับแล้วจึงทอดพระเนตรเห็นสายสิญจน์ด้ายพรหมจารีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะหมู่ที่ไฟไหม้นั้น ยังเป็นกลุ่มดีปรกติ เป็นแต่ข้างนอกดำไป ด้วยอยู่ในกลางเพลิงนาน ด้ายสายสิญจน์กลุ่มนั้นรับสั่งว่าขลังสำหรับได้ผูกพระกรเจ้านายต่อมา ตั้งแต่เกิดเพลิงไหม้นั้นขึ้นแล้ว ก็เป็นอันเลิกไม่ได้ไปทำที่เก๋งนั้น ลงมาทำที่ห้องฉากซึ่งจัดไว้เป็นหอพระ ตรงที่พระบรรทมข้างตะวันออก แต่ถึงเวลาที่สวดมนต์อยู่บนดาดฟ้าก็ดี ลงมาสวดมนต์ข้างล่างแล้วก็ดี การเลี้ยงพระสงฆ์ก็เลี้ยงอยู่ที่ห้องนมัสการ พระสงฆ์นั่งเลี้ยวมาตามผนังฉากห้องพระบรรทม และมีโถยาคูเจ้าจอมมารดาชั้นใหญ่ๆ ถูกเกณฑ์คนละโถ และโถยาคูนั้นดูบางปีก็มี บางปีก็ไม่มี ข้าพเจ้าอยู่ข้างจะเลือนมาก เพราะไม่ได้ทราบพระราชดำริพระราชประสงค์ที่จะทรงทำอย่างหนึ่งอย่างใด และก็ไม่สู้เอาใจใส่นัก มาจำได้ชัดเจนมาเป็นรูปก็เมื่อปีชวดฉศกพระชนมพรรษาครบ ๖๐ ปี ในครั้งนั้นมีเจ้านายขุนนางทำบุญวันเกิดกันชุกชุมขึ้นแล้ว เรียกว่าซายิดบ้าง แซยิดบ้าง เป็นทำอย่างจีน ชะรอยก็จะเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาอายุห้าสิบเอ็ดคือห้าสิบถ้วน พวกจีนที่ประจบฝากตัวอยู่ทั่วกัน จะแนะนำขอร้องให้ทำอย่างไร จึงได้ทำกันขึ้นเป็นครั้งแรก ภายหลังการทำบุญเช่นนั้นก็ดูทำทั่วไปในบรรดาผู้ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ใหญ่ มีผู้ไปมาหาสู่ประจบประแจงอยู่ ดูการที่ทำบุญสุนทันอย่างไรก็เล็กน้อย เป็นแต่ประชุมคนแสดงเกียรติยศให้ปรากฏว่ามีผู้นับถือมาก ตั้งโรงครัวเลี้ยงกันไปวันยังค่ำ ค่ำแล้วมีละคร และผู้ใดที่นับถือก็มีของไปช่วยไปให้กันอย่างของกำนัล การโรงครัวก็ไม่ต้องออกเงินออกทองอันใด เมื่อผู้ใดได้บังคับการกรมใดมีเจ้าภาษีสำหรับกรม ก็เกณฑ์เจ้าภาษีนั้นมาเลี้ยง แล้วขอแรงตั้งโต๊ะอวดป้านกันบ้าง เป็นการสนุกสนานครึกครื้นมาก ไม่เงียบๆ กร่อยๆ เหมือนการหลวง จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็พลอยพระราชทานของขวัญ ตามทางคำนวณวันเดือนปี ที่โปรดทรงคำนวณอยู่ คือพระราชทานทองทศเท่าปี เงินบาทเท่าจำนวนเดือน อัฐตะกั่วเท่าจำนวนวัน สำหรับให้ไปแจกจ่ายทำบุญ พระราชทานพระราชหัตถเลขาให้พรด้วย แต่ทองเงินอัฐเหล่านั้น ก็ไม่เห็นใช้ในการบุญอันใด เป็นประโยชน์เกิดขึ้นอีกประตูหนึ่ง เมื่อถึงงานแซยิดใครๆ ก็เป็นการเล่าลือกันไปหมู่ใหญ่ ตั้งแต่เริ่มงานจนงานแล้ว ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ถึงเจ้านายลูกเธอต้องออกไปนอนค้างอ้างแรมกันก็มี เจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ไม่มีผู้ใดขาดได้ ถ้าไม่ช่วยงานแซยิดกันแล้วดูเหมือนเกือบไม่ดูผีกันทีเดียว เมื่องานข้างนอกๆ เป็นการใหญ่โตอยู่เช่นนี้ แต่การเฉลิมพระชนมพรรษาในพระบรมมหาราชวังกร่อยอย่างยิ่ง ขุนนางผู้ใหญ่แต่จะมาเฝ้าก็ไม่มี เพราะการที่ทรงนั้นเป็นคนละอย่างกันกับที่เขาทำๆ กันอยู่

เมื่อมาถึงปีชวดฉศก กำลังการทำบุญแซยิดสนุกสนานถึงอย่างเอกอยู่นั้น จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้การเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นการครึกครื้นบ้าง อาศัยที่พระชนมายุครบ ๖๐ ปี ต้องแบบข้างจีนเรียกว่าบั้นสิ้วใหญ่ สมเด็จเจ้าพระยาท่านก็เห็นด้วย จึงได้คิดจัดการเป็นการใหญ่ มีพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ที่ท้องพระโรงหกสิบรูปเท่าพระชนมายุ แล้วป่าวร้องให้เจ้านายข้าราชการทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระทุกวังทุกบ้าน แล้วให้จุดประทีปตามวังเจ้าบ้านขุนนางราษฎรทั่วไป เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ๆ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น จัดของถวายต่างๆ ตามแต่ผู้ใดจะคิดทำคิดสร้างขึ้น แต่ไม่สู้ทั่วกันนัก เจ้านายถวายมากกว่าขุนนาง พวกจีนก็ถวายเทียนดอกไม้และแพร มีเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคมคล้ายออกแขกเมือง เจ้านายและขุนนางอ่านคำถวายชัยมงคลทีละคราว แล้วพระราชทานเหรียญทองคำตรามงกุฎหนักตำลึงทองแจกจ่ายทั่วไปเป็นอันมาก เหรียญนั้นที่พระราชทานพวกจีน มีหูร้อยสายไหมสำหรับสวมคอ ข้างล่างมีห่วงสำหรับห้อยพู่ ครั้นเมื่อพระราชทานพวกจีนไปแล้ว ก็พากันห้อยคอเฝ้าในเวลาแต่งเต็มยศ แต่ไทยๆ ที่ได้รับพระราชทานก็ไปเก็บเงียบๆ อยู่ จึงรับสั่งให้ให้ทำห่วงติดเสื้อเสียบ้างก็ได้ เจ้านายขุนนางบางคนก็ทำติดเสื้อ เป็นห่วงขึ้นมาติดกับเข็มกลัดข้างล่างห้อยพู่ก็มี ไม่ได้ห้อยพู่ก็มี ที่ทำเป็นดอกจันทน์ด้วยแพรสีต่างๆ รองแล้วเย็บติดกับเสื้อก็มีต่างๆ ตามแต่ใครจะทำ ที่ติดก็มีไม่ติดก็มี บางคนก็เอาไปทำหลังตลับยาแดงสูบกล้องบ้าง ตลับยาใส่หีบหมากบ้าง งานเฉลิมพระชนมพรรษานั้นทำอยู่สามวัน มีเทศนา ๕ กัณฑ์ มีสรงมุธาภิเษก การทั้งปวงนั้นก็เป็นรูปเดียวกันกับเฉลิมพระชนมพรรษาทุกวันนี้ทุกอย่าง เป็นแต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยที่บ้านเมืองบริบูรณ์ขึ้น และคนทั้งปวงเข้าใจชัดเจนขึ้น แต่ในครั้งนั้นก็เป็นการเอิกเกริกสนุกสนานมาก โปรดให้มีหมายประกาศห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ในเวลาเฉลิมพระชนมพรรษานั้นด้วย แต่การต่อมาในปีฉลูปีขาลปีเถาะก็กร่อยๆ ไปเกือบจะลงรูปเดิม คงอยู่แต่พระราชกุศล แต่การข้างนอกยิ่งครึกครื้นใหญ่โตมากขึ้น ถึงมีจุดฟืนจุดไฟเลียนอย่างเฉลิมพระชนมพรรษาออกไปอีกด้วย จนถึงเมื่อจะพระราชทานสุพรรณบัฏเจ้าพระยายมราชเป็นเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก สมเด็จเจ้าพระยาได้รับสุพรรณบัฏไว้แต่เดิม เป็นแต่ว่าที่สมุหพระกลาโหม ด้วยในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ยังอยู่ ครั้นภายหลังจะพระราชทานสุพรรณบัฏให้เป็นที่สมุหพระกลาโหม ท่านไม่ยอมรับ เกะกะกันอยู่หลายปี ภายหลังต้องมาตกลงกันเป็นให้เสด็จพระราชดำเนินงานแซยิด แล้วพระราชทานสุพรรณบัฏด้วย แต่ไม่ยอมรดน้ำ พระราชทานแต่น้ำสังข์ เป็นอันได้เสด็จพระราชดำเนินในการแซยิดสมเด็จเจ้าพระยาครั้งหนึ่งแต่ปีชวดนั้นมา ก็เริ่มทรงพระราชดำริเตรียมการที่จะให้มีแซยิดใหญ่เป็นการตอบแทน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมหลวงวงศา สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งจะถึงร่วมกันเข้าในปีมะโรงสัมฤทธิศก ปีเดียวกันทั้งสามราย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า สวรรคตเสียก่อน กรมหลวงวงศา สมเด็จเจ้าพระยา ยังไม่ถึงวันเกิด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าก็เสด็จสวรรคตเสีย ได้มาทำในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ทำเป็นการใหญ่ทั้งสองราย แต่ที่กรมหลวงวงศานั้น ดูเหมือนจะน้อยไปกว่าที่กะคาดจะทำแต่เดิมมาก แต่ที่สมเด็จเจ้าพระยานั้น ยิ่งมโหฬารดิเรกมากขึ้น งานแต่ก่อนๆ เคยทำมาทั้งตัวงานและบริวารเพียงเจ็ดวันแปดวัน ในปีมะโรงสัมฤทธิศกนั้น มีละครมีงิ้วเลี้ยงดูเรื่อยเจื้อยไปกว่าสิบห้าวัน บรรดาเจ้าภาษีนายอากรที่มีงิ้ว หรือมีพวกพ้องมีงิ้วก็หางิ้วไปเล่นและเลี้ยงดูด้วย คนละสองวันสามวันจนทั่วกัน การทำบุญวันเกิด หรือที่เรียกว่าซายิดนั้น ผู้ใดทำได้ผู้นั้นจึงเป็นผู้มีเกียรติยศยิ่งใหญ่ หรือมีประโยชน์ขึ้นอีกมุขหนึ่งดังนี้

แต่ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้น เมื่อครั้งไปบวชเณร กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์รับสั่งแนะนำชักชวนตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชดำริทำการพระราชกุศลในวันประสูติตั้งแต่ยังทรงผนวช เช่นได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ข้าพเจ้าเกิดความเลื่อมใสเห็นจริงด้วย จึงได้เริ่มทำบุญวันเกิดนั้นมาตั้งแต่ปีขาลอัฐศก ๑๒๒๘ ทำอย่างอาราม คือมีสวดมนต์เลี้ยงพระและแจกฉลากสิ่งของต่างๆ ตามที่มีเหลือใช้สอย แก่พระสงฆ์ในวัดบวรนิเวศบ้าง วัดอื่นบ้าง ครั้นเมื่อสึกมาอยู่ที่สวนกุหลาบในปีเถาะนพศก ๑๒๒๙ นั้น ก็ได้ทำอีกครั้งหนึ่งอย่างอารามๆ เช่นทำที่วัด ไม่ได้บอกเล่าให้ใครรู้ ครั้นในปีมะโรงสัมฤทธิศก ๑๒๓๐ เมื่อถึงวันเกิดนั้น ข้าพเจ้าเจ็บหนักจนไม่รู้สึกสมประดีตัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระประชวรด้วย จึงได้เว้นไปปีหนึ่งไม่ได้ทำ ครั้นมาถึงปีมะเส็งเอกศก ๑๒๓๑ เป็นเวลาพระบรมศพยังอยู่ และจะคิดทำอะไรก็ยังไม่คล่องแคล่วไปได้ เลยค้างไปอีกปีหนึ่ง

ครั้นเมื่อปีมะเมียโทศก จึงได้ปรึกษากับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เรื่องที่จะหล่อพระชนมพรรษาตามแบบที่เคยหล่อมาแต่ก่อน เพราะในเวลานั้นไม่มีผู้ใดนึกฝันอันใดให้เลย การถือน้ำเดือนห้าในปีมะเส็งเอกศก ก็ตั้งพระพุทธรูปพระชนมพรรษาแต่สี่รัชกาล กรมสมเด็จท่านก็ทรงเห็นสมควรที่จะหล่อตามแบบอย่างแต่ก่อน จึงได้คิดเริ่มจะหล่อพระชนมพรรษาในต้นปีมะเมียโทศก ๑๒๓๒ แต่สมเด็จเจ้าพระยาท่านไม่เห็นด้วย ท่านว่าจะมานั่งใส่คะแนนอายุด้วยพระพุทธรูปเปลืองเงินเปลืองทองเปล่าๆ แต่ก่อนท่านทรงพระชราท่านจึงทำต่อพระชนมพรรษา นี่ยังเด็กยังหนุ่มอยู่จะต้องทำทำไม เมื่ออธิบายกันไปในเรื่องที่จะต้องตั้งถือน้ำเป็นต้น จึงได้ตกลงเป็นอันได้หล่อ ครั้นเมื่อหล่อพระแล้วก็จะต้องฉลอง และข้าพเจ้ามีความปรารถนาที่จะฉลองพระพุทธรูปนั้น ในเมื่อถึงกำหนดวันเกิดที่เคยทำบุญมาแต่ก่อน จึงได้คิดกำหนดการที่จะฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษาด้วย ทำบุญวันเกิดด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการใหญ่ ทีแรกซึ่งข้าพเจ้าจะได้ลงมือทำบุญ ในครั้งนั้นเป็นเวลาที่เลียนธรรมเนียมฝรั่งใหม่ๆ ได้ไปเห็นเขาตกแต่งฟืนไฟกันในการรับรองที่สิงคโปร์บ้าง ที่ปัตเตเวียบ้าง พวกที่ไปด้วยกัน และพวกที่มีความจงรักภักดี อยากจะช่วยตกแต่งในการทำบุญนั้นให้เป็นการครึกครื้นสนุกสนานเหมือนอย่างที่เคยไปเห็นมา และจะให้เป็นที่ชอบใจข้าพเจ้าด้วย จึงได้มีผู้มารับเป็นเจ้าหน้าที่ จะตกแต่งตามชาลาพระบรมมหาราชวังให้เป็นการสนุกสนาน แต่สมเด็จเจ้าพระยาท่านตกใจไปว่าจะทำการแซยิดอย่างจีนหรืออย่างไทยแกมจีน ซึ่งถือกันว่าเป็นเกียรติยศใหญ่สำหรับผู้ใหญ่ คือสูงวัยและสูงบรรดาศักดิ์ในเวลานั้น จึงเข้ามาห้ามไม่ให้ทำ โดยยกแบบอย่างจีนว่า ถ้าอายุยังไม่ถึงห้าสิบเอ็ดปีเขาห้ามไม่ให้ทำ ถ้าผู้ใดทำแล้วจะมีอายุสั้น ก็ได้อธิบายกันมาก ว่าที่จะทำนี้เป็นการฉลองพระและทำบุญกันอย่างไทยๆ แท้ไม่เกี่ยวกับจีนเลย ก็ยังไม่ตกลง ถึงเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มาค้นตัวอย่างในเรื่องจีนต่างๆ อธิบาย ดูเป็นการใหญ่โตกันมาก ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมรับว่าเป็นอย่างจีนอยู่ถ่ายเดียว ภายหลังตกลงเป็นอันได้ทำ แต่การที่จุดฟืนไฟนั้นประกาศห้ามปรามกันแข็งแรง ล่วงมาอยู่หลายเดือน คนหนุ่มๆ ที่ได้รับทำก็ไม่ฟังขืนทำการที่ตระเตรียมทำนั้นก็เฉพาะที่ในวังแห่งเดียว แต่เป็นด้วยการถุ้งเถียงกันนั้นโด่งดังมากอย่างไรนั้นอย่างหนึ่ง เพราะผู้ที่รับทำที่ในวังแล้วดื้อไม่ยอมเลิก เลยไปคิดทำที่บ้านตัวต่อไปอีกบ้างหรืออย่างไรก็ไม่ทราบเลย ไม่ได้มีประกาศบอกเล่าอันใดเหมือนอย่างปีชวดฉศก ๑๒๒๖ แต่ครั้นเมื่อถึงงานเข้าจริงมีผู้จุดไฟในลำแม่น้ำและตามถนนมากถึงห้าวันหกวันด้วยการครั้งนั้นหลายวันติดกัน ครั้นเมื่อจุดไฟหลายวันพวกฝรั่งก็พลอยจุดด้วยบ้าง และมีผู้ให้พรในวันเกิดนั้นขึ้นด้วย จึงได้มีเหรียญรางวัลบรรดาผู้ซึ่งแต่งซุ้มไฟในวังเป็นรางวัลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ การแต่งซุ้มไฟครั้งแรกนั้นเป็นการเอิกเกริกสนุกสนานอย่างยิ่ง ที่ราษฎรไม่เคยเห็นงดงามเช่นนั้น ความนิยมเต็มใจในการแต่งไฟก็มีขึ้นในวันหลังๆ มากขึ้นทุกวัน การที่เห็นเป็นข้อขัดข้องเสียหายอย่างใด ก็ดูเป็นไม่มีผู้ใดพูดถึง เมื่อมีผู้ไปพูดต่อว่าฝรั่งหรือชี้แจงเหตุผลตามแบบอย่างข้างจีนให้ฝรั่งฟังก็ไม่ถูกอารมณ์ฝรั่งเข้าได้ ด้วยเขาถือวันเกิดเจ้าแผ่นดินเป็นแนชันนัลฮอลิเดย์ก็กลับเห็นดีไปด้วย การที่ยกข้อขัดข้องอย่างจีนนั้นก็เป็นอันสงบ เป็นแต่ผู้ซึ่งเชื่อถือตำราจีน หรือไม่เชื่อถือแต่ชอบใจตำราก็บ่นอุบๆ อับๆ ไปด้วยความหวังใจว่าจะตายเร็วบ้าง เป็นห่วงด้วยทรัพย์สมบัติของคนอื่นจะสิ้นไร้ไม้ตอกไปบ้าง ในปีนั้นเองมีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการอ่านคำถวายพรอย่างเฉลิมพระชนมพรรษาปีชวดฉศก ๑๒๒๖ ขึ้นเป็นคราวแรก คำตอบจึงได้มีคำขอบใจที่จุดไฟติดท้ายอยู่ ซึ่งดูไม่น่าจะกล่าว แต่ที่กล่าวในเวลานั้นเพราะเป็นที่หมายแห่งความจงรักภักดี การจุดไฟในการเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นอันพร้อมมูลทั่วถึงขึ้นโดยลำดับโดยไม่ต้องกะเกณฑ์ขอร้องอันใด ในปีที่สองคือปีมะแมตรีศก ๑๒๓๓ เว้นไว้แต่บางแห่ง พึ่งมาเป็นอันจุดทั่วถึงกันในปีระกาเบญจศก ๑๒๓๕ เป็นล่าอย่างยิ่งอยู่เท่านั้น เพราะฉะนั้นการจุดไฟในงานเฉลิมพระชนมพรรษานี้ เกิดขึ้นโดยความเต็มใจของคนทั้งปวงแท้ ไม่ได้มีขอร้องอย่างหนึ่งอย่างใดเลย จนถึงทุกวันนี้ก็เป็นนักขัตฤกษ์อย่างหนึ่ง ซึ่งคนทั้งปวงรู้สึกว่าเป็นหน้าที่หรือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องทำเหมือนอย่างตรุษสงกรานต์ ก็เป็นอันต้องกับแบบอย่างประเทศอื่นๆ ยกเสียแต่เมืองจีน หรืออย่างไรที่ยกมาว่ากันอยู่นั้น

การพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนมพรรษามากขึ้นบ้างตามปีที่ผิดปรกติ น้อยลงบ้างตามปีที่เป็นปรกติ แต่คงนับว่าค่อยทวีขึ้นตามลำดับเป็นตอนๆ จนกว่าจะคงรูปเช่นทำอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็หลายคราวที่เปลี่ยนผลัดยักเยื้องกันไป จะต้องกล่าวแต่ปีซึ่งเป็นปรกติ เป็นท้องเรื่อง การเฉลิมพระชนมพรรษา มีชื่อปรากฏเป็นสองตอน คือฉลองอย่าง ๑ เฉลิมอย่าง ๑ คำที่เรียกว่าฉลองนั้น คือฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา ซึ่งมีมาแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้สมโภชในวันสวดมนต์ถือน้ำเดือน ๕ และวันสรงน้ำสงกรานต์เป็นการฉลอง ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกการฉลองพระชนมพรรษามาทำในเดือน ๑๑ การฉลองพระชนมพรรษาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าดูตามจำนวนพระสงฆ์ที่สวดมนต์ และที่ทำการในท้องพระโรง อยู่ข้างเป็นการใหญ่กว่าเฉลิมพระชนมพรรษา ยกเสียแต่ปีชวดฉศก ๑๒๒๖ การที่เป็นเช่นนั้นก็จะเป็นด้วยแต่เดิมเมื่อแรกจะทรงทำนั้น ทรงเห็นว่าวันตามทางจันทรคตินับบรรจบรอบอย่างไทยๆ นั้น เข้าใจง่ายทั่วกัน การพระราชกุศล เช่นวันประสูติ วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๓ พระองค์ที่ล่วงแล้ว และการพระราชพิธีฉัตรมงคลก็ทำอยู่ตามจันทรคติ แต่ส่วนที่จะทำการเฉลิมพระชนมพรรษานั้น เคยทรงมาแต่ก่อนตามสุริยคติ และโปรดว่าต้องกันกับทางคำนวณอย่างที่ใช้ในประเทศยุโรปด้วย ถ้าในเวลาแรก จะกำหนดการเฉลิมพระชนมพรรษาตามสุริยคติ ผู้ซึ่งทราบวิชาโหรอยู่ก็จะเข้าใจ ผู้ซึ่งไม่ทราบก็จะบ่นสงสัยไปต่างๆ เห็นเป็นเลื่อนไปเลื่อนมา เพราะนับเชื่อทางจันทร์เสียซึบซาบแล้ว จึงได้โปรดให้ยกการฉลองพระชนมพรรษามาฉลองในวันพระชนมายุบรรจบรอบตามทางจันทรคติ เป็นการออกหน้าออกตา การเฉลิมพระชนมพรรษาตามสุริยคติ ไว้ทำเป็นการลับๆ ซ่อนๆ ไม่ต้องบอกเล่าให้ผู้ใดรู้ ภายหลังเมื่อเกิดทำบุญซายิดขึ้นแรกๆ ก็ทำกันไปอย่างไทยๆ ทางจันทรคติ เมื่อทรงทราบทรงอดไม่ได้ จึงได้แนะนำให้ทำตามสุริยคติ ข้าพเจ้าเคยได้เคยได้ยินเองเนืองๆ เมื่อจวนผู้ใดจะทำบุญวันเกิด เห็นเคยเข้ามากราบทูล ทรงคำนวณวันพระราชทานบ่อยๆ เพราะการที่นับวันฝรั่งนั้น อยู่ข้างจะไม่มีใครทราบเหมือนทุกวันนี้ ต่อปลายๆ ลงมาเรื่องนับวันอย่างฝรั่งค่อยเข้าใจกันขึ้น จึงได้รับสั่งบอกสมเด็จเจ้าพระยาเป็นต้น ว่าเมื่อถึงวันเท่านั้นเดือนฝรั่งแล้วเป็นวันเกิด  สมเด็จเจ้าพระยาเองยังได้เคยชี้แจงบอกเล่าแก่ข้าพเจ้าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า วันเกิดตามสุริยคตินั้น ตรงกันกับวันฝรั่งทีเดียว ถ้าคำนวณวันเกิดแรกนั้นให้รู้เสียว่าเป็นวันที่เท่าใดของฝรั่งแล้ว เมื่อถึงบรรจบปีคำนวณอย่างไทยเข้าดู คงโดนกันเปรี้ยงทีเดียว คำสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งข้าพเจ้ายกมากล่าวในที่นี้ ถ้าคนทุกวันนี้ฟังก็จะเห็นว่าจืดเต็มที แต่ที่แท้ในเวลานั้นไม่จืดเลย กำลังเข้มงวดเป็นวิชาลับอย่างหนึ่งซึ่งขยับจะปิดกันด้วย การที่โจษกันขึ้นนี้ เพราะเรื่องวันเกิดข้าพเจ้า เมื่อคำนวณตามอย่างโหราศาสตร์ไทยๆ มักจะไปบรรจบรอบในวันที่ ๒๐ เวลาเที่ยงคืนแล้วเนืองๆ แต่วันกำหนดซึ่งลงไว้ในประดิทินหมอบรัดเลเป็นต้น ว่าเป็นวันที่ ๒๑ เดือนเสปเตมเบอ เคลื่อนจากวันที่ข้าพเจ้าเกิดจริงๆ วันหนึ่ง แต่เพราะเวลาที่บรรจบรอบนั้น มักจะล่วงเที่ยงคืนไปแล้ว การอะไรต่างๆ มีสรงมุรธาภิเษกเป็นต้น ข้าพเจ้าจึงให้เลื่อนไปไว้วันที่ ๒๑ เพื่อจะให้เป็นเวลากลางวันพรักพร้อมกัน และจะไม่ให้ต้องเป็นข้อทุ่มเถียงกันกับฝรั่ง ซึ่งได้ทราบมาเสียนานแล้ว ว่าเกิดวันที่ ๒๑ สมเด็จเจ้าพระยาท่านเข้าใจว่าเกิดวันที่ ๒๑ ครั้นเมื่อท่านทราบว่าโหรคำนวณตกในวันที่ ๒๐ จึงได้เกิดเถียงกันขึ้น ยกคำที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ารับสั่งนี้มาเล่า เพราะท่านเป็นผู้รับหน้าที่คำนวณวันเกิดให้ใครๆ มีท่านเจ้าพระยาภูธราภัยเป็นต้น แทนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ที่แท้ท่านไม่ได้คำนวณอย่างไทย ท่านนับวันอย่างฝรั่งเช่นนี้ ในเวลานั้นเป็นวิชาลับที่ไม่มีผู้ใดทราบก็เข้าใจกันว่าคำนวณอย่างไทย จึงได้เกิดเถียงกันขึ้นกับโหร จนได้ทราบความจริงในการที่ผิดไปเพราะวันเกิดของข้าพเจ้า ดังเช่นกล่าวมาแล้ว

เพราะการที่จะคำนวณวันเกิดตามสุริยคติมีผู้ทราบน้อยเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงทำการเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นการข้างใน ฉลองพระชนมพรรษาเป็นการข้างหน้าแต่เรียกว่าฉลองพระชนมพรรษา เพราะฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา การฉลองพระชนมพรรษาแต่ก่อน ทำที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระพุทธรูปพระชนมพรรษาปีเก่าๆ ตั้งบนพระที่นั่งเศวตฉัตร แต่องค์ที่หล่อใหม่นั้น ตั้งบนพานทองสองชั้น แล้วตั้งบนโต๊ะจีน อยู่ตรงหน้าพระแกล ตรงพระที่นั่งบรมพิมานลงมาที่พระแท่นถม (เดิมตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม หน้าพระที่นั่งเศวตฉัตร) ตั้งเทียนบูชาเท่าองค์พระพุทธรูป ใช้เทียนเล่มละสองสลึงติดเชิงเทียนแก้ว ธูปใช้ธูปกระแจะ พระสงฆ์นั่งมุขเหนือ ประทับข้างมุขใต้ พระสงฆ์ใช้เท่าพระพุทธรูป สวดมนต์เย็นฉันเช้า แล้วถวายเทศนามงคลวิเศษเวลาค่ำกัณฑ์หนึ่ง มีดอกไม้เพลิงด้วยทั้งสองคืน การฉลองพระชนมพรรษา เป็นการแทนมหาชาติที่เคยมีมาแต่ก่อน

ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ในคราวแรกการเฉลิมพระชนมพรรษา กับการฉลองพระชนมพรรษาวันใกล้กัน จึงได้ฉลองที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วงานเฉลิมพระชนมพรรษาต่อไป ครั้นภายหลังงานเฉลิมพระชนมพรรษาใหญ่ขึ้นตามลำดับ เมื่องานฉลองพระชนมพรรษา มีกำหนดวันห่างกับเฉลิมพระชนมพรรษาจะออกไปทำท้องพระโรงอย่างแต่ก่อน ก็จะเป็นงานใหญ่สองงานใกล้กันไป จึงได้ย้ายเข้ามาทำเสียที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ใช้บุษบกดอกไม้ที่ตั้งสมโภชในวันสวดมนต์ถือน้ำเดือนห้า มาตั้งพระพุทธรูปปีที่ล่วงมาแล้ว องค์ที่หล่อใหม่แยกไปตั้งโต๊ะหมู่ไว้ต่างหากเหมือนอย่างที่ตั้งโต๊ะจีนแต่ก่อน เทียนนมัสการเท่าองค์พระพุทธรูป ปักเชิงแก้วเหมือนอย่างแต่ก่อน เว้นแต่ใช้เล่มยาวขึ้นสองเท่า เพื่อจะให้ทนอยู่ได้ตลอดเวลาสวดมนต์ ใช้ตั้งรายตามฐานบุษบก แต่ธูปนั้นเปลี่ยนเป็นธูปจีน ก่อนเวลาที่สวดมนต์ มีพระสุหร่ายทรงประพรมน้ำหอม และทรงเจิมพระพุทธรูปด้วย พระที่หล่อใหม่ทรงห่มแพรสีทับทิมขึ้นไหม ที่หน้าบุษบกพระพุทธรูปตั้งพระเต้าน้ำพระพุทธมนต์ คล้ายกันกับเฉลิมพระชนมพรรษา พระสงฆ์ที่สวดพระพุทธมนต์ในรัชกาลก่อน ใช้พระราชาคณะพระครูเปรียญต่างวัด แต่ในรัชกาลปัจจุบันนี้ใช้พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญจนอันดับวัดราชบพิธสิ้นทั้งวัด ถ้าปีใดไม่พอ ก็ใช้พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญวัดนิเวศน์ธรรมประวัติเพิ่มเติมเท่าจำนวนพระพุทธรูป ของไทยทานที่ถวายในเวลาค่ำนั้น บางทีก็มีไตรสลับแพรบ้าง ไตรผ้าบ้าง ย่ามโหมดเทศ ที่มีพัดบ้างก็มีในคราวแรกฉลอง ทรงถวายไตรพระสงฆ์ห่มผ้าแล้วจึงได้สวดพระพุทธมนต์ สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรและเจ็ดตำนาน กำหนดการฉลองพระชนมพรรษานั้น คงจะอยู่ในวันเดือนสิบแรมสามค่ำ สวดพระพุทธมนต์ แรมสี่ค่ำฉัน เว้นแต่บางปีดิถีเคลื่อนจึงได้เลื่อนสวดมนต์ไปแรมสี่ค่ำ ห้าค่ำฉันบ้าง สวดมนต์จบแล้วจุดดอกไม้เพลิง มีพุ่มกระถางระทาฝนแสนห่า สหัสธารา ตู้พ้อม เวลาเช้าเลี้ยงพระ มีของไทยทานที่เป็นส่วนของหลวง และส่วนที่มีผู้ถวายช่วยในการพระราชกุศล เท่าจำนวนพระชนมายุบ้าง แต่ไม่มีกำหนดแน่ว่ามากน้อยเท่าใด บางทีก็ฝันกันไปเสียอย่างไร รอไว้ถวายต่อเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งมักจะอยู่ภายหลังฉลองพระชนมพรรษาโดยปรกตินั้นก็มี เพราะฉะนั้นเครื่องไทยทาน จึงขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่ ตามแต่จะมีผู้ถวายมากและน้อย และสิ่งของนั้นบางทีก็ซ้ำกันหลายๆ สิ่ง เช่นโคมสามใบสี่ใบเป็นต้น เพราะทรงพระราชอุทิศไว้ว่า ผู้ใดถวายของคำรบพระชนมพรรษา ทันกำหนดการฉลองพระพุทธรูปนี้แล้ว ก็ให้ใช้เป็นเครื่องไทยทานในการฉลองพระนี้ทั้งสิ้น เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้วถวายยถา มีสวดยัสมึ ปเทเส กัป์เปติ และยานี คาถารัตนสูตร ดับเทียนครอบพระกริ่งเหมือนการฉัตรมงคลวันกลาง แล้วทรงปล่อยสัตว์ สุ่นภริยาพระยาโชฎึกราชเศรษฐี[๔]เป็นผู้จัด พระราชทานเงินเป็นราคาปีละร้อยบาท เวลาบ่ายเจ้าพนักงานตั้งบายศรีเวียนเทียนสมโภชพระพุทธรูป ครั้นเวลาพลบค่ำสรงมุรธาภิเษกในที่พระบรรทม ไม่ได้ประโคมพิณพาทย์ แล้วสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายเทศนามงคลวิเศษต่างๆ เหมือนอย่างในรัชกาลที่ ๔ มีดอกไม้เพลิงอีกคืนหนึ่ง เป็นเสร็จการฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา

การเฉลิมพระชนมพรรษา ที่มีกำหนดงานอยู่เป็นปรกตินั้น เป็นสี่วันบ้าง ห้าวันบ้าง คือวันที่ ๑๙ เดือนกันยายน เป็นวันเริ่มสวดพระพุทธมนต์สะเดาะพระเคราะห์ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันที่ ๒๐ เวลาเช้าพระสงฆ์ฉัน เวลาค่ำพระสงฆ์ธรรมยุติกาสวดมนต์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันที่ ๒๑ เวลาเช้าฉันแล้วสรงพระมุรธาภิเษก เวลาเที่ยงพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการถวายชัยมงคล ถ้าปีที่เป็นปรกติไม่มีการไว้ทุกข์ในราชตระกูล มีการเลี้ยงโต๊ะในเวลาค่ำ ก็งดสวดมนต์ ไว้ต่อวันที่ ๒๒ พระสงฆ์มหานิกายจึงได้สวดมนต์ที่ท้องพระโรง วันที่ ๒๓ เช้าฉัน แล้วจึงได้มีเทศนาต่อไปอีก ๔ กัณฑ์ ถ้าเช่นนี้งานเป็น ๕ วัน ถ้าไม่มีเลี้ยงโต๊ะ พระสงฆ์มหานิกายสวดมนต์ ในวันที่ ๒๑ วันที่ ๒๒ ฉัน งานก็เป็น ๔ วัน แต่การเทศนานั้นไม่แน่ บางเวลามีพระราชกิจอื่นหรือไม่ทรงสบาย ก็เลื่อนวันไปจนพ้นงานก็มี สวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๓ วัน มักจะเริ่มในวันที่ ๑๙, ๒๐, ๒๑ บางปีเลื่อนไปวันที่ ๒๐, ๒๑, ๒๒, การที่เลื่อนไปเลื่อนมามักจะเป็นด้วยการเฉลิมพระชนมพรรษากระชั้นกันกับฉลองพระชนมพรรษานั้นอย่างหนึ่ง กระชั้นพระราชพิธีถือน้ำสารทอย่างหนึ่ง เป็นปีเปลี่ยนทักษา ซึ่งต้องสรงพระมุรธาภิเษก ตรงกำหนดเวลาเต็มนั้นอย่างหนึ่ง จึงจะกำหนดเอาแน่ทีเดียวนักไม่ได้ จำจะต้องฟังหมายสงกรานต์ หรือหมายที่ลงในราชกิจจานุเบกษาตามปีเป็นประมาณด้วย

สวดมนต์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๏ การสวดมนต์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เกิดขึ้นด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพต่อพระมหามณีรัตนปฏิมากรเป็นอย่างยิ่ง ถ้าการพระราชพิธีใหญ่ๆ อันใดเช่นบรมราชาภิเษก โสกันต์เขาไกรลาศ ก็โปรดให้ล่ามสายสิญจน์มาแต่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึงพระแท่นมณฑลด้วย เหมือนอย่างพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ด้วยแต่ก่อนมาพระมหามณีรัตนปฏิมากร เคยเชิญมาตั้งในพระแท่นมณฑลด้วยทุกครั้ง พึ่งเลิกเสีย เมื่อเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระเบญจาสูงตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในการเฉลิมพระชนมพรรษานี้ ก็นับว่าเป็นการใหญ่ ถึงว่าจะล่ามสายสิญจน์มาก็ยังเป็นการสมควรที่จะทรงสักการบูชาพระมหามณีรัตนปฏิมากรในเวลาที่เป็นมหาสมัยมงคลการนั้น จึงได้โปรดให้มีเทียนพระมหามงคลและเทียนเท่าพระองค์ด้วยสำรับหนึ่ง มีพระสงฆ์สวดมนต์วันละห้ารูปเปลี่ยนทั้งสามวัน เป็นสามสำรับ ตามในบริเวณพระอุโบสถ หลังพนักกำแพงแก้วตั้งโคมรายรอบ แต่ครั้นมาถึงในแผ่นดินปัจจุบันนี้ มีการตกแต่งศาลาราย และกำแพงแก้วพระพุทธปรางค์ปราสาท พระศรีรัตนเจดีย์เพิ่มเติมขึ้นอีก ในพระอุโบสถก็จุดเทียนรายจงกลตามชั้นบุษบก และมีเทียนเถาเล่มใหญ่ๆ จุดที่ตรงหน้าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ข้างละเจ็ดเล่มด้วย ตรงพระทวารกลางขึ้นไป ตั้งเสากิ่งจงกลบูชาเทวดานพเคราะห์เก้าต้น มีรูปเทวดาปักประจำทุกต้น มีเทียน ธูป ดอกไม้ ฉัตร ธง ตามสีและตามกำลังของเทวดานั้นๆ เมื่อเสด็จออกทรงถวายไตรย่ามพระสงฆ์ที่มาคอยสวดมนต์รับออกไปครองผ้าแล้ว ทรงจุดเทียนพระมหามงคล และเทียนเท่าพระองค์ เทียนพานตามหน้าพระแล้วเสร็จ พอพระสงฆ์กลับเข้านั่งที่พร้อมจึงได้ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ สังฆการีว่าวิปัตติทีเดียวไม่ต้องทรงศีล แล้วเสร็จทรงจุดเทียนธูปตามจงกลบูชาเทวดานพเคราะห์ เจ้ากรมปลัดกรมโหรว่าบูชาเทวดาด้วยภาษาโหรและแปลเป็นภาษาไทยตามลำดับที่เวียนของพระเคราะห์นั้นๆ ไม่ได้ประทับอยู่จนเวลาสวดมนต์จบ ด้วยมีการพระราชกุศลอยู่ข้างใน การที่เสด็จพระราชดำเนินวัดพระศรีรัตนศาสดารามเช่นนี้ เหมือนกันทั้งสามวัน แต่เวลาเช้าไม่ได้เลี้ยงพระ รอไว้มาฉันต่อวันพระสงฆ์มหานิกายฉัน ในวันที่ ๒๒ และ ๒๓ และได้รับของไทยทาน เหมือนกับพระสงฆ์มหานิกายที่สวดมนต์ในท้องพระโรง ๚

สวดมนต์สะเดาะพระเคราะห์

๏ การสวดมนต์สะเดาะพระเคราะห์นี้ พึ่งมาเกิดขึ้นเมื่อปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐ ซึ่งเป็นปีเปลี่ยนทักษา พระเสาร์รักษาพระชนมายุ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่จะต้องมีโหรบูชารับส่งตามแบบแต่ก่อน การเฉลิมพระชนมพรรษา ตั้งแต่ปีมะแมตรีศก ๑๒๓๓ มา ทรงบำเพ็ญแต่พระราชกุศลอย่างเดียว มิได้มีการบูชาเทวดาหรือบูชาพระเคราะห์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเกี่ยวข้องกับโหรเลย เพราะทรงทำตามอย่างที่เคยทรงมาแต่เมื่อยังทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ เป็นการในพระพุทธศาสนาแท้ ครั้นเมื่อถึงกำหนดที่จะเปลี่ยนทักษาไปเข้าแบบอย่างพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน ที่เมื่อถึงกำหนดเช่นนี้ต้องทำการรับส่งอย่างไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นราชประเพณีมีมามิได้ขาด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ จึงได้ทรงจัดการตามแบบอย่างแต่ก่อน คือจะให้มีโหรบูชาสะเดาะพระเคราะห์รับส่งด้วย แต่ท่านไปทรงคิดตำราบูชาขึ้นใหม่ให้ดีกว่าที่โหรทำเหลวๆ มาแต่ก่อน คือให้มีการสวดมนต์แทรกด้วยในระหว่างบูชาเทวดา นับเป็นธรรมพลี แต่ก่อนๆ ก็เห็นจะมีตำราทำมา แต่ข้าพเจ้าไม่เคยทำและไม่ได้เคยเห็น เป็นแต่ได้ยินเล่า เขาจัดคาถาต่างๆ ตามองค์เทวดา ว่าเทวดาองค์นั้นเสวยอายุ ให้สวดคาถาอย่างนั้นกี่จบตามกำลังวัน คือพระอาทิตย์สวด อุเทตยัญจักขุมา ๖ จบ พระจันทร์สวดยันทุนนิมิตตัง ๑๕ จบ พระอังคารให้สวดยัสสานุภาวโตยักขา ๘ จบ พระพุธให้สวดสัพพาสีวิสชาตินัง ๑๗ จบ พระเสาร์ให้สวดยโตหัง ๑๐ จบ พระพฤหัสบดีให้สวด ปูเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง โมรโยนิยัง ๑๙ จบ พระราหูให้สวด กินนุสันตรมาโนว ๑๒ จบ พระศุกร์ให้สวดอัปปสันเนหินาถัสส ๒๑ จบ พระเกตุให้สวดชยันโต ๙ จบ จะสวดสลับกับโหรหรือสวดคนละทีอย่างไรก็ไม่ทราบเลย แต่ท่านทรงเห็นว่าโคมแท้ จึงได้ไปปรึกษาเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดราชประดิษฐ์ จัดพระสูตรที่มีกำหนดนับได้ ตรงกันกับกำลังเทวดา เช่นอริยมรรคแปดตรงกับพระอังคารเป็นต้น ถ้าที่ไม่ครบ ก็ใช้สองสูตรสามสูตร พอให้บรรจบครบจำนวนกำลังวัน จัดเป็นส่วนของเทวดาองค์นั้นๆ ตามลำดับ คือพระอาทิตย์สวดอนุตตริย ๖ พระจันทร์สวดจรณ ๑๕ พระอังคารสวดอัฏฐังคิกมรรค ๘ พระพุธสวดพละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ รวม ๑๗ พระเสาร์สวดทศพลญาณ ๑๐ พระพฤหัสบดีสวดทศสัญญา ๑๐ อนุบุพวิหาร ๙ รวม ๑๙ พระราหูสวดสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ รวม ๑๒ พระศุกร์สวดอริยทรัพย์ ๗ สัปปุริสธรรม ๗ สัมมาสมาธิปริกขาร ๗ รวม ๒๑ พระเกตุสวดอาฆาตวัตถุ ๙ มีคาถาแผ่ส่วนบุญและให้พรเจ้าของงานผู้ที่บูชา แทรกสลับไปทุกหมวด ถ้อยคำที่โหรจะบูชานั้นก็แต่งใหม่ ให้เป็นภาษามคธดีขึ้นกว่าภาษาโหรเดิม ที่เป็นคำไทยก็ใช้เรียงเป็นคำร่าย โหรเริ่มบูชาไหว้ครูและบูชานพเคราะห์ทั่วกันก่อน แล้วพระสงฆ์เริ่มสวดมนต์ตั้งแต่นโมไปจนจบคาถาที่สำหรับสวดก่อนสูตรต่างๆ แล้วหยุดไว้ โหรจึงบูชาเทวดารายองค์ ตั้งแต่อาทิตย์เป็นต้นไป ว่าภาษามคธเป็นทำนองสรภัญญะแล้วว่าภาษาไทยแปล เชิญเทพดาองค์นั้นกับทั้งบริวารให้รับอามิสพลีธรรมพลี และให้ป้องกันรักษาเจ้าของงานผู้ทำ พอจบองค์หนึ่งหยุดไว้ พระสงฆ์สวดสูตรต่างๆ สลับกันไปทุกๆ องค์เทวดา เมื่อหมดแล้วโหรจึงได้ว่าคำอธิษฐาน และคำให้พรรวบท้ายอีกครั้งหนึ่ง พระสงฆ์ก็สวดคาถาให้พรรวบท้าย แล้วสวดคาถาเมตตสูตร ขันธปริตร และท้ายสวดมนต์จึงเป็นอันจบ อยู่ใน ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง วิธีที่สวดเช่นนี้ กรมสมเด็จท่านทรงทำที่วังมาช้านานแล้ว ครั้นเมื่อถึงปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐ เป็นเวลาที่จะต้องทำการบูชาเทวดา สะเดาะเคราะห์ตามแบบอย่างเก่า ท่านจึงได้นำแบบใหม่นี้มาแก้ไขตกแต่งถ้อยคำให้ต้องกันกับการหลวง มาขอให้ทำเสียอย่างใหม่ ด้วยอย่างเก่านั้นเร่อร่าแหลกเหลวนัก ครั้นเมื่อได้ทำในปีขาลนั้นเป็นคราวแรกแล้ว ปีต่อๆ มาท่านก็ขอให้ทำเหมือนๆ กันต่อไปตามเคยที่ได้ทำแล้ว จึงได้มีการสวดสะเดาะพระเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันสวดมนต์ใหญ่ขึ้นอีกวันหนึ่ง

การที่จัดพระแท่นมณฑลในพระที่นั่งไพศาลทักษิณก็เป็นอันพึ่งมีใหม่ขึ้นในครั้งนั้นเหมือนกัน พระแท่นมณฑลองค์น้อยระบายสามชั้นทำขึ้นใหม่องค์หนึ่งตั้งพระพุทธรูปในแบบ พระแท่นมณฑลอย่างเตียงฝรั่งตั้งพระพุทธรูปนอกแบบ และเทวรูปเครื่องบูชาเทวดาพระแท่นหนึ่ง แต่พระพุทธรูปและเทวรูปซึ่งตั้งบนพระแท่นทั้งสองนั้น เกิดขึ้นตามลำดับแล้วผลัดเปลี่ยนกันไปตามกาลสมัย จะว่ายืนที่เป็นแน่ไม่ได้

การสวดมนต์พระสงฆ์ธรรมยุติกา

การที่จัดตกแต่งพระที่นั่งและสวดมนต์ทั้งปวง คงตามแบบเดิมตั้งแต่เริ่มมีการเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้น ไม่ได้ยักเยื้องเปลี่ยนแปลงเลย คือตั้งม้าหมู่บนพระที่นั่งเศวตฉัตร ที่ม้ากลางตั้งพระพุทธรูปชัยวัฒน์สำหรับแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาวัน และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาปี ม้าสองข้างและตรงหน้าตั้งเชิงเทียนพานพุ่มเครื่องนมัสการพอสมควร ที่ม้าหน้าและที่พื้นพระแท่นตั้งพระเต้าเครื่องสรงมุรธาภิเษกต่างๆ ทั้งขันหยกเชิงเทียนมีเทียนทองปัก เหมือนอย่างพระราชพิธีทั้งปวง ตามชั้นเตียงลาก็ตั้งเชิงเทียนพานพุ่ม ที่ฐานเฉียงตั้งต้นไม้ทองเงินสี่ทิศ และมีระย้าโคมไฟขวดปักดอกไม้ตั้งรอบ ที่พระแท่นถมตั้งเทียนพระมหามงคล เท่าองค์พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา กลางตั้งโต๊ะถมวางครอบพระเกี้ยวยอดทรงเดิม และครอบมยุรฉัตรตั้งพานพุ่มทองคำสองชั้น สลับลายกันกับเชิงเทียนตามสมควร เครื่องนมัสการโต๊ะทองคำลงยาราชาวดี ข้างพระแท่นเศวตฉัตรตั้งตู้เทียนเท่าพระองค์ทั้งสองข้าง บนพระที่นั่งบุษบกตั้งเครื่องศิริราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงประจำรัชกาล มีเครื่องนมัสการทองน้อยด้วยสำรับหนึ่ง

พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้น ทรงพระราชดำริว่า เมื่อการฉลองพระชนมพรรษา ใช้พระสงฆ์เท่าองค์พระพุทธรูปแล้ว ครั้นการเฉลิมพระชนมพรรษา จะใช้พระสงฆ์เท่าจำนวนนั้นอีก เวลานั้นพระชนมายุน้อย พระสงฆ์ที่จะสวดมนต์ก็น้อยรูป การที่จะบำเพ็ญพระราชกุศลก็น้อยไป ไม่สมควรกับที่เป็นการใหญ่ ด้วยการสะเดาะพระเคราะห์และการที่พระสงฆ์มหานิกายสวดมนต์อีกวันหนึ่งนั้นยังไม่มี จึงได้โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ธรรมยุติกาสวดมนต์หกสิบรูป ประจำเสมอทุกปีไม่ขึ้นลง เพราะเหตุที่การฉลองพระชนมพรรษา ได้สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรไว้แล้ว ในการเฉลิมพระชนมพรรษา จึงได้เริ่มสวดมหาสมัยสูตรก่อนแล้วจึงได้สวดเจ็ดตำนาน ทรงถวายไตรและย่ามโหมดเทศก่อนเวลาสวดมนต์ เหมือนการฉลองพระชนมพรรษา รุ่งขึ้นเช้าพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน และถวายชยันโตในเวลาสรงมุรธาภิเษก การสรงพระมุรธาภิเษกนั้นก็เหมือนกับสรงมุรธาภิเษกอื่นๆ แปลกแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ถวายน้ำครอบพระกริ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้สำหรับพระองค์ท่าน ครั้นเมื่อล่วงมาถึงปีจอฉศก ๑๒๓๖ เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดราชประดิษฐ์ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในเวลาทรงผนวชแล้ว จึงได้โปรดให้ถวายน้ำเต้าศิลาอีกรูปหนึ่ง บรรดาพระเถระในธรรมยุติกา ก็มีน้ำพระพุทธมนต์ส่งมาองค์ละเต้าศิลา แต่มิได้ถวายเอง เจ้าพนักงานนำขึ้นถวาย

เต้าศิลานี้ มีมาแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้กลึงขึ้น จะมีจำนวนเดิมมากน้อยเท่าใดไม่ทราบ แล้วพระราชทานไปไว้ตามพระเถระในธรรมยุติกา เมื่อถึงเวลาเฉลิมพระชนมพรรษาแล้ว ก็ต่างองค์ต่างทำน้ำมนต์ถวายเข้ามาทุกๆ รูป ครั้นเมื่อถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ทำการเฉลิมพระชนมพรรษา ท่านก็ทำส่งเข้ามาตามเคย เป็นการแปลกขึ้นกว่าสรงมุรธาภิเษกอื่นๆ แต่พระเต้าศิลาของพระเท่านี้

เมื่อสรงมุรธาภิเษกแล้ว ทรงถวายเครื่องไทยทานพระสงฆ์อยู่ในองค์ละสามสี่สิ่ง เป็นเสร็จการในส่วนเวลานั้น การที่ทำน้ำมนต์กับเทียนครอบพระกริ่งที่ท้องพระโรงนี้ ใช้ทำในเวลาสวดมนต์วันที่ ๒๐ ไม่ได้รอไว้ต่อเวลาเช้าเหมือนอย่างการฉลองพระชนมพรรษา

สวดมนต์พระสงฆ์มหานิกาย

การสวดมนต์พระสงฆ์มหานิกายแต่เดิมก็ไม่มี เกิดขึ้นพร้อมกันกับปีที่สวดมนต์สะเดาะพระเคราะห์ เพื่อจะให้เป็นสวดมนต์สามวัน แต่ครั้นเมื่อพระสงฆ์เคยได้รับพระราชทานหนหนึ่งแล้ว ครั้นจะงดเว้นเสียดูก็ไม่สู้ควร จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสวดมนต์พระสงฆ์มหานิกายติดต่อมาทุกปี กำหนดพระสงฆ์ ๓๐ รูป ทรงถวายไตรผ้า ย่ามสักหลาด เหมือนอย่างพระสงฆ์สวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามแบบนั้น ในวันพระสงฆ์มหานิกายนี้สวดสิบสองตำนาน แต่ที่ยักเยื้องไปเป็นอย่างอื่นบ้างก็มี การทั้งปวงก็เหมือนกับวันสวดมนต์ใหญ่ เว้นแต่วันเลี้ยงพระนั้น พระสงฆ์ที่สวดมนต์วัดพระศรีรัตนศาสดารามสามสำรับสิบห้ารูป มาฉันด้วย จึงรวมพระสงฆ์ฉันเป็นสี่สิบห้ารูป ทรงถวายเครื่องไทยทานเหมือนกัน

ถวายเทศนา

การถวายเทศนานี้ มีมาแต่เริ่มตั้งการเฉลิมพระชนมพรรษา เทศน์เนื้อความตามแบบที่มีมาแต่รัชกาลที่ ๔ คือ มงคลสูตรกัณฑ์ ๑ รัตนสูตรกัณฑ์ ๑ เมตตสูตรกัณฑ์ ๑ เทวตาทิศนกถากัณฑ์ ๑ ประจำที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง พระสงฆ์รูปใดเทศน์ก็ยืนตัว เว้นไว้แต่ชราอาพาธจึงได้ผลัดเปลี่ยน แต่ก่อนมาเริ่มงานก็ถวายเทศน์ก่อนสวดมนต์ คือ มงคลสูตร รัตนสูตร สองกัณฑ์ เหลือไว้ภายหลังฉันเช้าแล้วสองกัณฑ์ เทศน์ก่อนนั้นมีสายสิญจน์โยงไปที่ธรรมาสน์ พระสงฆ์ที่เทศน์ถือกลุ่มสายสิญจน์ด้วย ครั้นตกมาชั้นหลังเมื่อมีสวดมนต์สะเดาะพระเคราะห์และเลี้ยงพระเช้าเสียแล้วไม่มีเวลาว่าง จึงได้เลื่อนเทศนาไปไว้วันเลี้ยงพระมหานิกายทั้งสี่กัณฑ์ แต่บางปีก็เลื่อนต่อไปอีกจนนอกงานก็มี แล้วแต่เวลาว่างจะมีเมื่อใด เครื่องกัณฑ์เทศนานั้นเหมือนเทศนาวิเศษ เป็นแต่เปลี่ยนไตรย่าม เป็นของสำหรับเฉลิมพระชนมพรรษาและเพิ่มเติมเครื่องไทยทานต่างๆ บ้าง มีเงินประจำกัณฑ์ ๑๐ ตำลึง และเครื่องกัณฑ์ขนมด้วย ๚

การแจกทาน

๏ แจกทานนี้ ได้มีในการเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีชวดฉศก ๑๒๒๖ ครั้งหนึ่ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการเฉลิมพระชนมพรรษามาก็ได้เคยพระราชทานผ้าสองสำรับ เงินสิบตำลึง แก่ข้าราชการที่สูงอายุ มีกำหนดเท่าปีพระชนมายุ ทวีขึ้นทุกปีตามลำดับ แบ่งเป็นฝ่ายหน้ากึ่งหนึ่ง ฝ่ายในกึ่งหนึ่ง ฝ่ายหน้านั้นเป็นข้าราชการที่เข้ามาในการเฉลิมพระชนมพรรษาโดยมาก แต่ฝ่ายในมักเป็นข้าราชการที่ชราพิการ ไม่ได้ทำราชการแล้ว มาแต่บ้านบ้างแต่เรือนบ้าง จึงโปรดให้มีสำรับเลี้ยงอาหารด้วย แต่ก่อนมา เมื่อผู้ซึ่งได้รับพระราชทานต่อพระหัตถ์แล้วก็ถวายพรตามใจตัวจะกล่าว บางทีก็นิ่งเฉยๆ ไปบ้าง ครั้นเมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร[๕] ท.จ. คนนี้ เป็นผู้กะบัญชีข้าราชการฝ่ายหน้า เห็นว่าเมื่อข้าราชการได้รับพระราชทานแล้วถวายพรอย่างไหลๆ เลือนๆ บ้าง ไม่ได้ถวายพรบ้าง รำคาญมาหลายปี จึงได้คิดผูกคาถาถวายชัยเป็นภาษามคธ และแปลเป็นคำไทยให้ว่าทุกคน คือว่า ชยตุ ชยตุ เทโว นิรามโย นิรุปัททโว ทีฆายุโก อโรโคจ โสตถินา เนตุ เมทนัง ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญพระชนมายุยิ่งกว่าร้อยพรรษา คำถวายชัยเช่นนี้ ได้ใช้อยู่แต่ข้าราชการฝ่ายหน้า ข้าราชการฝ่ายในยังบ่นพึมๆ พำๆ หรือนิ่งๆ อยู่อย่างเก่า เพราะไม่มีใครแนะนำสั่งสอน ทรงพระราชดำริว่า ครั้นจะให้ท่องให้บ่นตามแบบข้าราชการฝ่ายหน้า ก็จะเป็นที่เดือดร้อน เพราะอยู่ข้างจะชราหลงใหลฟั่นเฟือน หรือซึมซาบอย่างยิ่งอยู่ด้วยกันโดยมาก จึงโปรดให้เป็นไปตามอย่างแต่ก่อน ส่วนที่แจกทานราษฎรนั้น พระราชทานตามพระชนมายุวันกำหนดขึ้นวันละสลึงแต่เดิมมา ถ้าปีใดเป็นปีที่มีพระราชกุศลวิเศษ ก็พระราชทานมากขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ๚

การประชุมพระบรมวงศานุวงศ์

และข้าราชการถวายชัยมงคล

๏ ธรรมเนียมนี้ได้เกิดมีขึ้นเมื่อเฉลิมพระชนมพรรษาใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีชวดฉศก ๑๒๒๖ นั้น เสด็จพระราชดำเนินออกบนพระที่นั่งเศวตฉัตร พระที่นั่งอนันตสมาคม อย่างแขกเมืองใหญ่ ฝ่ายพระบรมวงศานุวงศ์ พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมขุนนรานุชิตเป็นผู้ทรงอ่านคำถวายชัยมงคล ฝ่ายข้าราชการเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ซึ่งยังเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เป็นผู้อ่าน ด้วยท่านทั้งสองนี้เป็นผู้มีชนมายุมากกว่าพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการทั้งปวง เมื่อเจ้านายอ่านคำถวายชัยมงคลแล้วถวายบังคมสามครั้งเหมือนอย่างขุนนาง เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เคยเห็น ข้าราชการก็เหมือนกัน แต่ไม่มีพระราชดำรัสอันใด เป็นแต่พระราชทานพรย่อๆ เล็กน้อยแล้วก็เสด็จขึ้น ในเวลาประชุมใหญ่นั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จลงมา เพราะเป็นเวลาทรงพระประชวรอยู่ข้างจะซูบผอมมากอยู่แล้ว แต่ครั้นเวลาเย็น ทรงพระอุตสาหะเสด็จลงมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงทราบ เวลานั้นข้าราชการก็ไม่สู้มีใคร ข้าพเจ้าเดินดูเครื่องตกแต่งในพระที่นั่งอนันตสมาคมอยู่ไม่ทันรู้ตัว เสด็จขึ้นมาจับศีรษะสั่นเหลียวหลังไปจึงเห็น ตกใจเป็นกำลัง รับสั่งให้เข้าไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกมา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าถวายของ และถวายชัยมงคล ครู่หนึ่งก็เสด็จกลับด้วยไม่ทรงสบาย ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่สุดที่ได้เสด็จลงมาพระบรมมหาราชวังในเวลานั้น คนต่างประเทศก็มีถวายชัยมงคลเหมือนกัน แต่เป็นคนละเวลากับข้าราชการ ไม่ได้เสด็จขึ้นพระที่นั่งและไม่สู้จะเป็นการพรักพร้อมกันครั้งเดียวนัก

อนึ่งในการเฉลิมพระชนมพรรษานี้มีการปล่อยปลาตามแบบเฉลิมพระชนมพรรษาครั้งปีชวดฉศก ๑๒๒๖ เป็นราคาวันละ ๑๐ ตำลึง กรมวังทูลถวายพระราชกุศลตามแบบ

ในวันที่ ๒๑ มียิงปืนใหญ่สลุต ทั้งทหารบกและเรือรบซึ่งจอดรายอยู่ในลำน้ำ แต่ก่อนมาใช้เวลาละ ๒๑ นัด ยิงเวลาเช้า ๒ โมง เวลาเที่ยง เวลาบ่าย ๕ โมง ตั้งแต่ปีมะเมียจัตวาศก ๑๒๔๔ ปีรัตนโกสินทรศก ๑๐๐ จึงได้ยิงถัวกันสามเวลา ครบ ๑๐๑ นัด

การแต่งประทีปในพระบรมมหาราชวังเป็น ๕ คืน แต่ข้างนอกแต่ง ๓ คืน เพราะการที่แต่งประทีปไม่ได้เป็นการกะเกณฑ์ ผู้ที่ตกแต่งก็อยากจะได้ถวายตัวให้ทอดพระเนตร จึงได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสตามลำน้ำ ในเวลากลางคืนวันที่ ๒๑ ทุกปีเสมอมามิได้ขาด กระบวนเสด็จพระราชดำเนินนั้น ใช้เรือไฟลำเล็กๆ แล่นขึ้นไปเหนือน้ำก่อนแล้วจึงได้ล่องลงไปข้างล่าง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงหน้าบ้านหน้าห้างใหญ่ๆ บางราย ก็จุดพลุแทนปืนสลุต ๒๑ นัดบ้าง จุดพุ่มพะเนียงกรวดตะไลดอกไม้เทียนต่างสีบ้างตามแต่ผู้ใดจะหาได้ เป็นการแสดงความชื่นชมยินดี

และในวันที่ ๒๑ นั้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เมื่อยังว่าการต่างประเทศ จัดการเชิญคนต่างประเทศประชุมเต้นรำที่บ้าน ให้เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศในการเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้น เมื่อทรงทราบจึงได้พระราชทานเงินทุนในการที่จะใช้จ่ายนั้นให้ ต่อมาก็มีการเต้นรำเช่นนั้นเสมอมาทุกปี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับขึ้นมาตามลำแม่น้ำก็หยุดประทับที่ศาลาว่าการต่างประเทศ ให้คนต่างประเทศได้เฝ้าครู่หนึ่ง แล้วจึงเสด็จคืนพระบรมมหาราชวัง ครั้นเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรประการ ว่าการต่างประเทศ ย้ายการเต้นรำมาที่วังสราญรมย์ การเสด็จพระราชดำเนินประพาสลำน้ำคงอยู่ ต่อเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบก ประทับที่วังสราญรมย์ให้คนต่างประเทศเฝ้าเหมือนอย่างแต่ก่อน

การเฉลิมพระชนมพรรษานี้ จะว่าให้ละเอียดเป็นแน่นอนไปทีเดียวไม่ได้ ด้วยการยังเป็นปัจจุบันแท้ มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยเป็นคราวๆ เมื่อก่อนมาแรกที่จัดตั้งมิวเซียมขึ้นที่ศัลลักษณสถาน[๖] ในการเฉลิมพระชนมพรรษาก็เปิดให้ราษฎรมาดู ราษฎรพากันมาดูวันหนึ่งหลายๆ พันคน จนกว่าจะแล้วงานนับด้วยหมื่น ได้เปิดมาหลายปี ครั้นเมื่อจัดการยักย้ายไปอย่างอื่น ก็ไม่ได้เปิด การพระราชกุศลที่เป็นวิเศษ บางปีก็มีตามกาลสมัย คือเวลาข้าวแพงพระราชทานข้าวสารองค์ละถัง และปลาเค็ม แก่พระสงฆ์ทั่วทั้งแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ เวลาที่ตั้งพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุก็จ่ายพระราชทรัพย์พระคลังข้างที่ออกช่วยทาสปล่อยให้เป็นไทหลายสิบคน เวลาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสเกาะสีชัง ซึ่งเป็นที่คนป่วยไข้ออกไปอยู่รักษาตัว ก็บริจาคพระราชทรัพย์พระคลังข้างที่ พระราชทานให้สร้างอาศัยสถาน สำหรับคนป่วยไข้ออกไปอยู่เปลี่ยนลมอากาศ การเหล่านี้มีพิเศษเปลี่ยนแปลกกันไป ไม่เสมอทุกปีและไม่เหมือนกันทุกครั้ง จึงไม่ว่าลงเป็นแบบได้แน่ ๚

คำตักเตือนในการฉลองพระชนมพรรษา

และเฉลิมพระชนมพรรษา

๏ ข้อความที่จะต้องตักเตือนนั้น ดูก็มีน้อยอย่างดอก เพราะครอบพระกริ่งซึ่งจะดับเทียนในวันพระสงฆ์ฉัน การฉลองพระชนมพรรษา ตั้งอยู่ในที่พระมณฑลแล้ว มีแต่จะต้องเตือนภูษามาลาว่าการสรงฉลองพระชนมพรรษานั้นโหรไม่ได้กำหนดฤกษ์ เคยสรงเวลาพลบค่ำก่อนทุ่ม ๑ ทุกวันไม่มีเวลายักเยื้องเลย ในการฉลองพระชนมพรรษาก็ดี เฉลิมพระชนมพรรษาก็ดี ที่เป็นข้อสำคัญของมหาดเล็กและพนักงานข้างในนั้น คือโคมไฟฟ้าซึ่งสำหรับทรงจุดเทียนเท่าพระองค์และเทียนพระมหามงคล ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่ง ๑ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแห่ง ๑ พระที่นั่งไพศาลทักษิณแห่ง ๑ ถ้าเสด็จพระราชดำเนินแห่งใดในเวลาค่ำแล้ว เป็นมีโคมไฟฟ้าทุกแห่งทุกวัน ขาดไม่ได้เลย ไม่ควรที่จะเข้าใจว่า เผื่อจะอย่างนั้นอย่างนี้ การอื่นๆ ก็ดูไม่สำคัญอันใด ๚

จบพระราชนิพนธ์เพียงเท่านี้

[๑] คือสมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐ์

[๒] ปีชวดจุลศักราช ๑๒๒๖ พ.ศ. ๒๔๐๗

[๓] พระเทพกวี นิ่ม อยู่วัดเครือวัลย์

[๔] พระยาโชฎึก เถียร ต้นสกุลโชติกะเสถียร เป็นข้าหลวงเดิมทั้งสามีภริยา

[๕] พระยาศรีสุนทรโวหารน้อย

[๖] คือตึกใหญ่หน้าประตูพิมานชัยศรี ต่อมาเป็นหอพระสมุดอยู่คราว ๑

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ