พระราชพิธีเดือนอ้าย
๏ การพระราชพิธีในเดือนอ้าย ตามที่มาในกฎมนเทียรบาลว่าไล่เรือ เถลิงพิธีตรียัมพวาย เช่นได้นับและอธิบายในคำนำนั้นว่าเป็นพิธีเปลี่ยนกันกับเดือนยี่ แต่การที่เปลี่ยนกันนั้นประสงค์ว่าแต่ตรียัมพวายซึ่งยังเป็นพิธียังคงทำอยู่ในกรุงเทพฯ แต่พิธีไล่เรือซึ่งอยู่หน้าพิธียัมพวายนั้นคงยังเป็นเดือนอ้ายอยู่ พิธีนี้เป็นพิธีไล่น้ำตามคำที่กล่าวกันมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งอยู่เนืองๆ เป็นต้นว่าการที่ยกโคมชัยในพิธีจองเปรียงนั้น ถือกันว่าถ้าเสาโคมยังไม่ได้ลดแล้ว น้ำยังไม่ลด นัยหนึ่งว่าถ้าไม่ยกเสาโคมแล้วน้ำจะลด การที่ยกเสาโคมนั้นเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้น้ำอยู่เลี้ยงต้นข้าวให้แก่ทั่วถึงก่อน เป็นพิธีอุปการะแก่การนาอยู่ด้วย และมีคำกล่าวว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าเวลายังไม่ได้ลดโคมชัย ถึงว่าจะหนาวเท่าหนาวอย่างไร ที่จะสวมเสื้อเข้าเฝ้านั้นไม่ได้ กริ้วว่าแช่งให้น้ำลด รับสั่งให้ไปวิดน้ำเข้านาท้องสนามหลวง แต่ข้อที่ว่าโคมชัยเป็นทำนบปิดน้ำนี้ ถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าเขาว่าเขาว่าอยู่ ก็ไม่เห็นลงในประกาศพระราชพิธีจองเปรียง จะเป็นด้วยทรงเห็นช่างเถอะหนักหรืออย่างไร แต่นับว่าเป็นพิธีที่กระวนกระวายขวนขวายจะให้น้ำอยู่เลี้ยงต้นข้าวให้นานหน่อยหนึ่ง
ส่วนการพระราชพิธีไล่เรือนั้นเป็นพิธีข้างจะให้น้ำลดเร็วๆ คือถึงเดือนอ้ายแล้วน้ำยังมากไม่ลด เมล็ดข้าวในรวงแก่หล่นร่วงลงเสียในน้ำ ถึงโดยว่าจะค้างอยู่ก็เป็นข้าวเมล็ดหักละเอียดไป เพราะเกี่ยวไม่ได้ด้วยน้ำมาก จึงต้องกระวนกระวายขวนขวายที่จะให้น้ำลด การพิธีนี้คงจะต้องทำในเดือนอ้าย จะเลื่อนไปเดือนยี่ก็เป็นเวลาเกินต้องการไป ตามในกฎมนเทียรบาลกล่าวไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี พระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ และพระสนม แต่งอย่างเต็มยศโบราณลงเรือพระที่นั่ง เจ้าพระยามหาเสนาตีฆ้อง มีจดหมายไว้ว่า ครั้นถึงท้ายบ้านรุนเสด็จออกยืนทรงพัชนี ครั้นถึงประตูชัยทรงส้าว ดูอยู่ข้างจะทำธุระเหลือเกินมาก แต่การที่ทำอย่างนี้ คงจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งมีพระอัธยาศัยและพระอาการที่ประพฤติว่องไวเช่นนั้นเป็นปรกติพระองค์ เหมือนอย่างแผ่นดินพระเพทราชาที่ทรงถือพัชนีฝักมะขามเสมอๆ เสด็จออกในการชักพระบรมศพทรงโบกพัชนีสามครั้งให้ทิ้งทาน ก็คงจะไม่เป็นตำแหน่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่จะต้องทรงโบกพัชนีเช่นนั้นทั่วไปทุกพระองค์ เป็นแต่เฉพาะพระอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นเป็นเช่นนั้น ซึ่งจะเอามาเรียบเรียงหนังสือในครั้งอื่นคราวอื่น ว่าทรงโบกพัชนีฝักมะขามเช่นนั้นก็เป็นการไม่จริง และเป็นการไม่ควรด้วย เหมือนทรงส้าวนี้ก็คงจะเป็นเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งได้เคยทรงทำเช่นนั้นแล้วจดหมายไว้ เหมือนอย่างพระเพทราชาโบกพัชนีฝักมะขาม ที่จะว่าถ้าตั้งพระราชพิธีไล่เรือแล้วจะต้องทรงส้าวอี๋ ทรงส้าวอี๋ไปเสมอนั้นไม่ได้ และพิธีไล่เรือนี้ก็เห็นได้ชัดว่าไม่เป็นพิธีที่ทำเสมอ ใช่ว่าแต่ไม่เสมอทุกปี ไม่เสมอทุกแผ่นดินด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรสันนิษฐานว่า ซึ่งอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเช่นนั้นเป็นการเฉพาะพระองค์ต้องเข้าใจว่าไม่เป็นพิธีทำทุกปี ทำแต่ปีใดจะต้องการที่จะให้น้ำลด
พิธีนี้ได้ทำที่กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งเมื่อปีเถาะ[๑] ตรีศก ๑๑๙๓ เป็นการที่รู้แน่ชัดว่าได้ทำ แต่เมื่อปีมะเส็งสัปตศก ๑๑๔๗ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จะได้ทำหรือไม่ได้ทำไม่มีผู้ใดเล่าให้ฟัง สังเกตได้แต่ในคำประกาศเทวดาซึ่งมีอยู่เป็นสำนวนครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า แต่ฉบับนั้นคงจะเป็นเขียนคัดลอกใหม่เมื่อปีเถาะตรีศก พอจะสังเกตสำนวนและลายมือในสองรัชกาลได้ จึงควรเข้าใจว่าการพิธีนี้คงจะทำในปีมะเส็งสัปตศก แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งหนึ่ง ในปีเถาะตรีศกแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้เรียกว่าพิธีไล่เรือ เรียกว่าพิธีไล่น้ำ ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ปีมะแมตรีศก ๑๒๓๓ น้ำมากเกือบจะเท่ากับที่น้ำมากมาแต่ก่อนก็ไม่ได้ทำ เป็นอันเลิกสูญกัน
บัดนี้จะยกแต่รายการพระราชพิธีไล่น้ำเมื่อปีเถาะตรีศกมาว่าไว้พอเป็นตัวอย่าง ด้วยพิธีนี้คงจะไม่มีอีกต่อไปภายหน้า การที่ทำนั้นว่าขึ้นไปตั้งประชุมกันที่วัดท้ายเมืองแขวงเมืองนนทบุรี มีอาลักษณ์หรือราชบัณฑิตอ่านคำประกาศตั้งสัตยาธิษฐานมัสการพระรัตนตรัยและเทพยดา และพระเจ้าแผ่นดินซึ่งนับเป็นสมมติเทพยดา แล้วอ้างความสัตย์ซึ่งได้มีความนับถือต่อเทพยดาทั้งสาม คือวิสุทธิเทพยดา อุปปาติกเทพยดา สมมติเทพยดา ขอให้น้ำลดถอยลงไปตามความประสงค์ ข้อใจความในคำประกาศมีอยู่เพียงเท่านี้
แต่พระพุทธรูปซึ่งใช้ในการพระราชพิธีไล่น้ำนี้ ที่ปรากฏในคำประกาศ มีชื่อแต่พระชัย พระคันธารราษฎร์ หามีพระห้ามสมุทรไม่ แต่ได้ทราบจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ว่าเมื่อเวลาปีเถาะตรีศกนั้นท่านพึ่งทรงผนวชได้ ๓ พรรษา ทราบว่าเกิดมีข้อเถียงกันด้วยเรื่องพระห้ามสมุทรซึ่งจะเชิญไปไล่น้ำ ว่าจะเป็นอย่างที่ยกพระหัตถ์เดียวหรือสองพระหัตถ์เป็นห้ามสมุทรแน่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตัดสินไว้ว่ายกสองพระหัตถ์ เป็นเหตุให้พอสันนิษฐานได้ว่าพระสำหรับไล่น้ำตามคำประกาศ ซึ่งอ้างถึงว่าพระคันธารราษฎร์ดูไม่เข้าเรื่องกันกับที่จะให้น้ำน้อยนั้น ถ้าจะได้ใช้คงจะได้ใช้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยเป็นเวลาที่แรกทรงสร้าง อยู่ข้างจะโปรดปรานมาก การที่เอามาใช้ในการไล่น้ำ ก็คงจะถือว่าพระพุทธปฏิมากรอย่างนั้น เป็นที่ทำให้น้ำฝนตกลงมาได้ ก็คงจะทำให้แห้งได้ ด้วยในเวลานั้นตำรับตำราอันใดก็สูญหาย เป็นแต่ทำไปตามอัตโนมัติ หาเหตุผลที่จะเกณฑ์ให้พระพุทธเจ้าทำพิธีมีเค้าเงื่อนอันใดก็ยกหยิบเอามา พอเป็นเหตุที่ตั้งให้การพระราชพิธีเนื่องในพระพุทธศาสนาซึ่งถือว่าเป็นที่ตั้งแห่งความสวัสดิมงคลยิ่งใหญ่กว่าเทพยดา ครั้นตกมาแผ่นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไปเห็นเค้าเรื่องที่ทรมานชฎิล พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในที่มีน้ำท่วมโดยรอบก็ไม่ท่วมถึงพระองค์ เป็นเค้ามูลดีกว่าพระคันธารราษฎร์ จึงได้เปลี่ยนพระห้ามสมุทร การซึ่งโจษเถียงกันนั้นก็จะเป็นด้วยไม่เคยใช้มา แต่พอรู้ได้ว่าคงใช้พระห้ามสมุทรเป็นแน่
แต่การพิธีที่ขึ้นไปทำอย่างไรต่อไป ก็ไม่ได้ตำราชัดเจนเป็นแต่ได้ทราบตามคำบอกเล่าว่ามีกระบวนแห่คล้ายเสด็จพระราชดำเนินพระกฐิน เชิญพระพุทธปฏิมากรลงเรือพระที่นั่งมาหน้า แล้วมีเรือศรีโขมดยาสำหรับพระสงฆ์ตามมาภายหลัง เรือลำหนึ่งมีพระราชาคณะรูป ๑ มีฐานานั่งสองข้าง กลางตั้งเครื่องนมัสการแต่เวลาที่มาตามทางนั้นพระสงฆ์จะสวดคาถาอันใดก็ไม่ได้ความ ได้ทูลถามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ก็ไม่ทรงทราบ ด้วยเวลานั้นยังมิได้ทรงเกี่ยวข้องในการพระราชพิธี การทั้งปวงนี้ตกอยู่วัดพระเชตุพนทั้งสิ้น จะหาเค้ามูลอันใดที่ควรจะใช้ในการพระราชพิธีนี้ก็ไม่เห็นมี บางทีจะเป็นคาถาเก็บเล็กประสมน้อย ทำขึ้นใหม่คล้ายคาถาสวดหล่อพระชัย ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงแจกให้สวดในรัชกาลที่ ๔ เป็นคาถาที่มีคำไชยะไชยะบ่อยๆ เห็นว่าจะยกมาจากมหาชัย คาถาไล่น้ำนี้ถ้าโดยจะมีวิเศษ ก็คงจะเป็นของทำใหม่คล้ายเช่นนั้น
การซึ่งมีกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน อย่างพิธีไล่เรือครั้งกรุงเก่านั้น ในปีเถาะตรีศกนี้ทราบว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เสด็จขึ้นไปแทนพระองค์ มีกระบวนเรือดั้งเรือกันเรือตามเหมือนอย่างกระบวนกฐิน ไปตั้งกระบวนมาแต่เมืองนนทบุรี ลงไปจนถึงปากน้ำเหมือนกัน แต่เชื่อได้แน่ว่าไม่ทรงส้าวเป็นแน่ การพระราชพิธีไล่เรือหรือไล่น้ำเก็บความได้เพียงเท่านี้
ส่วนพิธีเดือนยี่ที่มีมาในกฎมนเทียรบาล ซึ่งว่ายกขึ้นมาเดือนอ้าย คือพิธีบุษยาภิเษกอย่างหนึ่ง พิธีเฉวียนพระโคกินเลี้ยงอย่างหนึ่ง ทั้ง ๒ นี้พิธีก็ไม่ได้ทำที่กรุงเทพฯ เลย พิธีบุษยาภิเษกนั้นถ้าจะเทียบชื่อกับพิธีกะติเกยาก็เป็นชื่อพิธีสำหรับเดือนยี่ แต่ครั้งกรุงเก่าจะยกมาทำเดือนอ้ายหรือไม่ยกมาก็ยังว่าแน่ไม่ได้ ด้วยพิธีกะติเกยาที่เป็นชื่อพิธีเดือนสิบสองยังยกไปเดือนอ้ายได้ แต่ถ้าพิธีนี้ยังคงอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะโปรดให้ไปทำเดือนยี่เป็นแน่ ได้พบในจดหมายคำให้การขุนหลวงหาวัดว่าไว้ในเดือนยี่ เพราะฉะนั้นจึงจะต้องยกพิธีบุษยาภิเษกไปว่าในเดือนยี่ แต่เฉวียนพระโคกินเลี้ยงนั้นคงจะยกมาทำในเดือนอ้ายแน่ การพระราชพิธีเฉวียนพระโคกินเลี้ยงนั้น มีในกฎมนเทียรบาลว่านำพระโคอุสุภราชซึ่งแต่งตัวเขาบุทองประดับเนาวรัตน์ มีเครื่องประดับกีบตาบหูสายสะพายใช้ไหม ขึ้นยืนบนแท่นสูง ๒ ศอก มีเงินทองแก้วแหวนและแพรพรรณต่างๆ กองอยู่ใต้ท้อง ตั้งพานทองรองหญ้า คนโททอง พระโคนั้นแปรหน้าไปทางทิศอุดร ตั้งกุณฑ์คือกองเพลิงพิธี ตรงหน้าพระโค มีบายศรีสมโภช พระราชครูประจำที่สี่มุม ทำพิธีบูชากุณฑ์ตลอดคืนยังรุ่ง พระราชกุมารป้อนหญ้า ครั้นเวลารุ่งเช้ามีกระบวนแห่เสด็จ พระเจ้าแผ่นดินทรงถือดอกบัวทอง พระอัครมเหสีทรงถือดอกบัวเงิน แห่ประทักษิณพระโคอุสุภราชเก้ารอบแล้วมีสมโภชเลี้ยงลูกขุน พระราชพิธีนี้ทำในพระราชวัง แต่เห็นจะเลิกมาเสียช้านานทีเดียว จนในคำให้การขุนหลวงหาวัดก็ไม่มีปรากฏ พิธีเฉวียนพระโคนี้ เป็นพิธีใบโตเต็มที จึงไม่ตั้งอยู่ได้ช้านาน ซึ่งเก็บมาว่านี้เพราะในเดือนอ้ายไม่มีพิธีอันใด มีแต่การพระราชกุศลประจำปี ๚
[๑] ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๗๔ นี้ ที่เรียกว่าปีเถาะน้ำมาก ในรัชกาลที่ ๓