การพระราชกุศลถวายผ้าจำพรรษา
๏ การพระราชกุศลอันนี้ เกิดมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาศัยเหตุที่ทรงพระปรารภเรื่องพระบรมอัฐิซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอารามบ้าง ด้วยพระราชประสงค์จะบำเพ็ญพระราชกุศลเพิ่มเติมให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตามเยี่ยงอย่างผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาแต่โบราณได้ทำมาบ้าง จึงได้เกิดถวายผ้าจำพรรษาวัดอรุณราชวรารามและวัดราชโอรสขึ้น แต่วัดพระเชตุพนไม่มี ด้วยพระมาก เจ้านายในรัชกาลที่ ๑ ก็มีน้อยพระองค์เหลือเกินที่จะกะเกณฑ์ผู้ใด แต่กำหนดที่จะถวายเมื่อใดนั้นไม่แน่ สุดแต่ว่างราชการเวลาใดในเขตจีวรกาล คือตั้งแต่เดือน ๑๒ แรมค่ำหนึ่งไปจนถึงเดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำเป็นใช้ได้ทั้งสิ้น
การที่ทำนั้นเวลาค่ำก่อนวันที่จะเลี้ยงพระ พระสงฆ์สวดมนต์ในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แต่ไม่ได้เป็นการเสด็จพระราชดำเนิน ครั้นรุ่งขึ้นจึงเสด็จพระราชดำเนินเลี้ยงพระ พระสงฆ์ฉันในพระอุโบสถสำรับหลวง ๒๐ รูป พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เคยเสด็จทรงเลี้ยงพระ เป็นส่วนในพระบวรราชวังที่พระวิหาร ๑๐ รูป ต่อมาว่างวังหน้าก็ไม่มีส่วนวังหน้า เมื่อวังหน้ามีก็เป็นส่วนวังหน้า ๑๐ รูป นอกนั้นแต่ก่อนเกณฑ์เจ้านายในรัชกาลที่ ๒ ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ไม่เกณฑ์เจ้านายสำรับอื่น ครั้นเมื่อท้ายรัชกาลที่ ๔ เจ้านายรัชกาลที่ ๒ บกพร่องไปบ้าง จึงโปรดให้เจ้านายลูกเธอบางองค์ที่ทรงพระเจริญแล้วช่วยด้วยบ้าง ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้เจ้านายในรัชกาลที่ ๒ ยิ่งน้อยลง ก็ต้องเกณฑ์เจ้านายราชวรวงศ์ และน้องเธอ และวรวงศ์เธอเข้าช่วย จนภายหลังมานี้ต้องเป็นอันรับสองบ่าทั้งเจ้านายราชวรวงศ์และน้องเธอ คือราชวรวงศ์ต้องถูกเลี้ยงพระวัดราชโอรสด้วย น้องเธอต้องถูกเลี้ยงพระวัดราชประดิษฐ์ด้วย ปีหนึ่งต้องถูกเกณฑ์เลี้ยงพระหลายๆ องค์ ของหลวงนั้นเลี้ยงพระแล้วถวายผ้าขาวเป็นของสงฆ์ ๒๐ พับ พระที่ฉันถวายสบง, ร่ม, รองเท้า, หมากพลู, ธูปเทียน และอ่างมังกรบรรจุข้าวสารผักปลา จ่ายเงินให้มหาดเล็กนายเวรหุ้มแพร ๔ เวรให้เป็นผู้จัดเป็นเงินอ่างละ ๑ บาท ในเย็นวันนั้นสวดมนต์วัดราชโอรส รุ่งขึ้นเลี้ยงพระเหมือนวัดอรุณ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเลย แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้เสด็จบ้างบางปี พระสงฆ์ที่ฉันส่วนของหลวงในวัดราชโอรสลดลงเป็น ๑๐ รูป ผ้าขาว ๑๐ พับ ของไทยทานก็เหมือนวัดอรุณ ส่วนเจ้านายนั้นในสองวัดนี้ท่านเคยสดับปกรณ์พระบรมอัฐิทุกปี แต่ไม่เป็นการมากมายอันใด คือองค์ละร้อยเฟื้องหรือร้อยสลึง หรือใบชาร้อยห่อ เป็นสดับปกรณ์สามัญแต่เฉพาะเจ้านายในแผ่นดินนั้น เจ้านายอื่นๆ ที่ขอแรงไปช่วยก็ไม่ได้มีผู้ใดทำ การซึ่งทรงพระราชดำริให้มีถวายผ้าจำพรรษาขึ้นแต่แรกนี้ ก็ดูเป็นที่นิยมยินดีของเจ้านายฝ่ายในที่ได้เป็นเวลาไปเที่ยวคราวหนึ่ง ได้พบปะกันกับเจ้านายผู้ชายที่เป็นพี่น้อง และพระญาติวงศ์ที่เป็นผู้ชายมาเฝ้าถวายข้าวของกันเป็นของเรือกของสวนต่างๆ เมื่อกลับมาแล้วก็นำของถวายที่ได้มานั้นขึ้นถวายทุกๆ พระองค์ และยังเล่ากันถึงวันนั้นไปได้นานๆ เป็นการสนุกหนุงหนิงรื่นเริงมาก แต่ครั้นภายหลังมาซ้ำทุกปีๆ เข้าก็จืด ชักให้เจ้านายทรงเกียจคร้านไม่ใคร่เสด็จ และการที่เกณฑ์สำรับนั้นก็มากขึ้นๆ ตามลำดับ ด้วยสิ้นพระชนม์ไปองค์หนึ่งผู้ยังอยู่ก็รับมรดก ถูกเข้าองค์หนึ่งถึง ๔ ถึง ๕ ทุนรอนก็บกพร่องเข้าไปจนเหลือสนุก ส่วนผู้ซึ่งเคยมาเฝ้ามาแหนก็ล้มตายหายจากหรือเบื่อหน่ายไปด้วยกัน ในชั้นหลังมานี้เป็นการฝืดเต็มที เห็นว่าการเรื่องถวายผ้าจำพรรษานี้ หน้าที่จะต้องเป็นการผลัดเปลี่ยนไปตามสมัย ด้วยมีตัวอย่างวัดพระเชตุพนก็เคยยกเว้นมาแล้ว ถ้าจะยืนอยู่เช่นนี้ต่อไปเจ้าแผ่นดินมากขึ้นๆ วัดก็คงจะต้องมีทุกองค์ เจ้านายในรัชกาลก่อนๆ หมดไป ต้องเกณฑ์เจ้านายที่ยังมีอยู่ไปใช้เนื้อแทนก็คงจะต้องเกณฑ์มากขึ้น จนถึงเจ้านายองค์หนึ่งต้องเลี้ยงพระเก้ารูปสิบรูปหรือยี่สิบรูปก็เห็นจะมากเกินไปนัก ถ้าเจ้านายในรัชกาลไหนสิ้นไปแล้วควรจะยกเว้นวัดนั้นได้ คงไว้แต่ผ้าขาวของหลวงที่เป็นส่วนของสงฆ์ก็เห็นจะดี แต่ถ้าจะทำเช่นนี้เข้า เขาจะนินทาว่าทำให้ผิดอัปริหานิยธรรมหรืออย่างไรก็ไม่แน่ใจ แต่เจ้านายคงเห็นด้วยโดยมาก จะเป็นก็แต่ที่อารามและในเวลานี้ก็ยังไม่ควรที่จะจัดด้วย จึงตกลงเอาเป็นพักไว้ที
แต่วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธสองวัดนี้ เป็นคนละอย่างกันอยู่กับวัดอรุณ วัดราชโอรส วัดราชประดิษฐ์นั้นคิดว่าถ้าธรรมเนียมที่มีสามัญสมาชิกในหอสมุดวชิรญาณยังคงอยู่ตราบใด การเลี้ยงพระถวายผ้าจำพรรษาคงยังมีอยู่ได้ไม่มีที่สุด ด้วยเหตุว่าส่วนเงินค่าเช่าตึกหน้าวัดประยูรวงศาราม ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระเจ้าลูกเธอแบ่งเป็น ๔๔ ส่วน ตามพระราชประสงค์เดิมนั้น ข้าพเจ้าได้เอามาแบ่งเป็น (๕๘) ส่วนแจกให้แก่เจ้านายที่มีตัวอยู่พอให้ทั่วกัน แล้วมีข้อบังคับสำหรับที่จะเป็นส่วนแบ่งปันสืบไปภายหน้าไว้ว่า ส่วนซึ่งแบ่งไว้เป็น (๕๘) ส่วนนั้น ไปแบ่งเป็นส่วนเดิม ๔๔ ส่วนพิเศษ (๑๔) ถ้าเจ้านายซึ่งเป็นเจ้าของส่วนเดิมสิ้นพระชนม์ ยกส่วนเดิมให้แก่ผู้ซึ่งได้ส่วนพิเศษ ถ้าเจ้านายผู้ซึ่งได้รับส่วนเดิมเปลี่ยนส่วนพิเศษแล้ว หรือได้แต่ส่วนพิเศษอยู่สิ้นพระชนม์ไป ให้ยกส่วนพิเศษนั้นเสีย เมื่อต่อไปภายหน้าเหลือแต่ส่วนเดิม ๔๔ ส่วนแล้ว จะไม่แจกส่วนให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งซ้ำเป็นสองส่วนสามส่วนต่อไป จะเลือกคัดผู้ซึ่งเนื่องในพระราชวงศ์ หรือผู้ที่ได้มีอุปการะแก่ราชตระกูลอันสืบมาแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้รับส่วนให้คงอยู่ ๔๔ ส่วนเสมอ ผู้ซึ่งได้รับส่วนทั้ง ๔๔ นั้น นับเป็นสามัญสมาชิกในหอสมุดวชิรญาณ พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์คงไม่มีมากเกินกว่า ๔๙ รูป คือเป็นส่วนสำรับหลวง ๕ รูป ส่วนสามัญสมาชิก ๔๔ รูป สามัญสมาชิกคงต้องเกณฑ์เลี้ยงพระปีละครั้งเสมอคนละรูปเท่านั้น จึงเห็นว่าถ้าธรรมเนียมที่แจกเงินค่าเช่าตึกหน้าวัดประยูรวงศ์ และหอสมุดนี้ยังคงอยู่ตราบใด การเลี้ยงพระถวายผ้าจำพรรษาวัดราชประดิษฐ์ยังจะคงอยู่ได้ตราบนั้น
แต่การเลี้ยงพระถวายผ้าจำพรรษาวัดราชประดิษฐ์ในปัจจุบันนี้ ก็มีสวดมนต์ต่อกันกับวันเลี้ยงพระวัดราชโอรส รุ่งขึ้นเสด็จเลี้ยงพระ แต่พระสงฆ์มีน้อยไม่พอเจ้านายที่มีตัว ก็คงเป็นแต่ของหลวงและเจ้านายพี่นางน้องนางเธอต้องเกณฑ์ แต่ท่านพวกนี้ท่านเล่นกันใหญ่ มีของถวายพระองค์ละรูป ลงทุนลงรอนกันองค์ละมากๆ แล้วซ้ำมีสดับปกรณ์เหมือนอย่างเช่นท่านแต่ก่อนท่านทำกันมาในสองวัดนั้นด้วย ผ้าของสงฆ์ส่วนหลวง ๕ พับ
แต่ส่วนวัดราชบพิธนั้นเป็นคนละเรื่องคนละอย่างกับสามวัดนี้ เดิมก็ไม่ได้มีมา ครั้นเมื่อเกิดขึ้นก็ไม่มีสวดมนต์สวดพรอันใด ไม่เป็นราชการแท้ เหตุที่ปรารภมีขึ้นนั้นเพราะเวลาเช้าๆ ออกไปเที่ยวที่สวนสราญรมย์ในเขตจีวรกาล เกิดคิดพร้อมกันขึ้นอยากจะไปเที่ยวที่วัดอย่างหนึ่ง เพราะมีศพลูกเล็กๆ ที่ไม่ได้เผา ฝังทิ้งไว้ในวัด และมีกระดูกไปฝังไว้ในวัด เป็นโอกาสที่จะหาช่องไปทำบุญเยี่ยมเยือนที่ฝังศพฝังกระดูกอีกชั้นหนึ่งจึงได้มีขึ้น แต่ภายหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ[๑] ท่านทรงเห็นเป็นการเถื่อนๆ ไม่เข้าแบบเข้าอย่างไป ท่านก็ไปเกณฑ์ให้พระสวดมนต์คล้ายๆ กับสามวัด การที่เลี้ยงพระนั้นยังคงอยู่ตามเดิม เมื่อตอนแรกๆ ลูกน้อยกว่าพระก็เกณฑ์ให้หาสำรับเลี้ยงพระคนละองค์ เหลือนั้นเป็นของเจ้านายและเจ้าจอมมารดาที่ได้ผลประโยชน์มาก สุดแต่มีพระมากน้อยเท่าใดก็เกณฑ์ลงไปตามลำดับ ครั้นทีหลังลูกมากขึ้นเท่าพระก็คงเกณฑ์แต่ลูก เมื่อลูกมากไปกว่าพระก็เกณฑ์ท้องละคนหนึ่งบ้างสองคนบ้าง รวมกันเป็นสองคนต่อสำรับก็มีคนเดียวก็มี แต่เป็นสำรับเจ้าของหามาไม่ใช่ของหลวงทั้งสิ้น เมื่อฉันแล้วเจ้าของสำรับถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ กำหนดให้มีเพียงจีวรหรือสบงผืนหนึ่ง กับไทยทานเล็กน้อย แต่ก็ไม่ฟังกัน หาไทยทานไปคนละมากๆ เกือบเป็นขึ้นกุฎิ มีผ้าไตรทุกคน คิดดูราคาของที่ซื้อคนหนึ่งอย่างแรงถึงสามชั่ง อย่างต่ำเพียงชั่งหนึ่ง ทำเช่นนี้มาหลายปี จนเมื่อปีกุนนพศกคิดเห็นว่าของซึ่งลงทุนซื้อมาเป็นราคามาก ส่วนพระสงฆ์ผู้ที่ได้รับไปนั้น ที่ชอบและต้องการใช้ก็มี ที่ไม่ชอบใจไม่ต้องการ จะไปเก็บตั้งทิ้งไว้ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด เหมือนอย่างเป็นของไม่มีราคา ก็มักจะเอาของนั้นไปเลหลังแลกเปลี่ยนเอาสิ่งของที่ต้องการใช้โดยราคาถูก ส่วนผู้ที่ลงทุนนั้นต้องลงทุนมาก แต่ประโยชน์ผู้ได้ได้น้อยไป มีประโยชน์อยู่แต่ผู้ขายของ จึงคิดเห็นว่าเสนาสนะซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ ก็เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่ความสุขของพระสงฆ์ทั่วกัน ไม่เฉพาะหน้า และพระสงฆ์ที่ป่วยไข้ขัดสนก็มี ควรจะยกเงินค่าซื้อของนี้ ไว้เป็นสำหรับปฏิสังขรณ์เสนาสนะ และสำหรับเป็นคิลานภัตรพระสงฆ์ป่วยไข้เป็นต้น จึงได้ทูลปรึกษาพระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากรและพระสงฆ์ในวัดราชบพิธก็เห็นชอบด้วยพร้อมกัน จึงได้จัดการที่เปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ในปีกุนนพศก ให้มีแต่สำรับและผ้าธูปเทียนหมากพลู แล้วให้เรี่ยไรเจ้าลูกเธอเสมอองค์ละชั่งทั่วกัน รวมเงินนั้นไว้เป็นของกลางสำหรับวัดเช่นกล่าวมาแล้ว ส่วนผ้าซึ่งถวายเป็นของทั่วไปนั้น คือบรรดาเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมอยู่งานมีผ้าสบงบ้างผ้าชุบอาบน้ำบ้าง คนหนึ่งตั้งแต่ ๒๐ ผืนลงมาจนผืนหนึ่ง ไปกองกลางโบสถ์แล้ว ว่าคำถวายตามธรรมเนียมถวายผ้าอย่างธรรมยุติกนิกาย ตามแต่พระสงฆ์จะแบ่งผ้ากันเอง ส่วนของหลวงมีแต่เบี้ยหวัด วัดราชประดิษฐ์ถวายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดราชบพิธถวายพระองค์เจ้าพระอรุณ เป็นการนอกธรรมเนียมส่วนพระคลังข้างที่ เมื่อเสร็จการเลี้ยงพระแล้วจึงออกไปทำบุญที่ๆ ฝังศพฝังกระดูกวางพวงมาลัยดอกไม้ ซึ่งเก็บจากในสวนสราญรมย์ทำไปสำหรับที่ทุกๆ แห่ง หรือผู้อื่นใครจะมีไปก็ตาม เที่ยววางตามชอบใจ แล้วทอดผ้าสดับปกรณ์ของหลวง ผ้าขาวพับเท่าจำนวนพระสงฆ์สามเณรในวัดนั้น เที่ยวทอดไว้ตามที่ฝังศพและฝังกระดูกไม่เป็นกำหนดแน่ว่าแห่งใดเท่าใดนัก ส่วนมารดาญาติพี่น้องของศพและกระดูกนั้น ก็มีของทำบุญไปทอดไว้ที่ๆ ฝังศพที่ฝังกระดูกตามแต่ใครจะมีมากน้อยเท่าใด แล้วพระสงฆ์จึงออกมาชักเป็นผ้าบังสุกุล ตามแต่จะแบ่งปันกัน เป็นเสร็จการทำบุญที่วัดราชบพิธ
การซึ่งเก็บเงินค่าของไทยทานรวมเป็นเงินกลางนี้ เจ้านายพี่นางน้องนางเธอ น้องยาเธอ คิดเห็นชอบด้วยหลายองค์ นัดกันไว้ว่าในปีชวดสัมฤทธิศกนี้ จะออกเงินเรี่ยไรสำหรับวัดราชประดิษฐ์บ้าง แต่คิดกำหนดกันว่า จะตั้งจำนวนเพียงองค์ละ ๕ ตำลึง ด้วยวัดราชบพิธนั้นจะลดจากจำนวนเดิมลงมามากนักไม่ควร จึงคงเป็นองค์ละชั่ง ถึงว่าจะเป็นเงินลดต่ำลงกว่าจำนวนเดิมบ้าง ก็ยังมีส่วนผู้ที่เกิดใหม่เพิ่มขึ้นใช้เนื้อ และผู้ซึ่งถูกเกณฑ์รวมกันเป็นสองคนต่อสำรับ ก็ต้องแยกกันออกไปเป็นคนละชั่ง เงินไม่ต่ำกว่าจำนวนราคาสิ่งของที่พระสงฆ์ได้อยู่แต่ก่อนนัก แต่เพราะลงทุนเดิมไว้แรงเสียแล้วเงินจึงได้สูงอยู่ ส่วนวัดราชประดิษฐ์นี้เจ้านายข้างหน้าไม่ได้ถูก จึงคิดเฉลี่ยที่เจ้านายข้างในเคยเสียอยู่แบ่งเฉลี่ยออกมาข้างหน้า ก็เห็นว่าจะไม่ต่ำกว่าแต่ก่อน แต่การซึ่งเรี่ยไรเงินสำหรับวัดนี้ ไม่เป็นหน้าที่ของผู้ซึ่งเป็นสามัญสมาชิกของหอสมุดซึ่งมิได้เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะต้องเสีย เป็นแต่จะขอแรงให้เลี้ยงพระอย่างเดียว เมื่อเจ้านายที่เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหมดไปแล้ว เงินส่วนกลางนี้ก็ต้องเป็นอันหมดไปด้วยอยู่เอง
ส่วนวัดราชบพิธนั้น ในเรื่องเงินเรี่ยไรก็เหมือนกันกับวัดราชประดิษฐ์ แต่ไม่เป็นการจำเป็นที่สามัญสมาชิกในหอสมุดเดี๋ยวนี้จะต้องไปเลี้ยงพระเหมือนอย่างวัดราชประดิษฐ์ ได้คิดไว้ว่าจะหาประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด เป็นส่วนสำหรับให้แก่หอสมุดทำนองเดียวกันกับตึกหน้าวัดประยูรวงศ์ ให้มีสามัญสมาชิกขึ้นใหม่อีกพวกหนึ่ง เป็นการเกื้อกูลแก่หอสมุด และสำหรับเลี้ยงพระวัดราชบพิธต่อไปด้วย แต่การนี้ยังหาสำเร็จตลอดไปไม่
คำตักเตือนสำหรับถวายผ้าจำพรรษาที่วัดอรุณ วัดราชโอรส ถ้าเสด็จก็มีเครื่องสำหรับขาดต้องโวยวายอยู่ ๒ สิ่ง คือพานเทียนและพระเต้าษิโณทก แต่ที่วัดราชประดิษฐ์นั้นมีวิเศษออกไป คือมหาดเล็กต้องรับเบี้ยหวัดสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จากข้างในออกไปคอยถวายในเวลาเมื่อเลี้ยงพระแล้ว อาลักษณ์ต้องเขียนตั๋วเตรียมไว้ด้วย แต่ส่วนวัดราชบพิธนั้นเป็นกระบวนข้างใน อาลักษณ์ต้องส่งตั๋วเข้ามาข้างใน นอกนั้นก็ไม่มีการ ๚
[๑] คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์