การพระราชกุศล สลากภัต
๏ การพระราชพิธีสำหรับเดือน ๗ เลิกเสียไม่ได้ทําทั้งสิ้นแล้ว การพระราชกุศลอันใดในเดือน ๗ ก็ไม่มี ตลอดจนการสดับปกรณ์พระบรมอัฐิซึ่งมีแทบจะทุกเดือน ในเดือน ๗ ก็จำเพาะถูกคราวเว้นการจรที่เป็นการมงคลก็ไม่ทำในเดือน ๗ การเผาศพใหญ่ๆ ก็ไม่ใคร่ทําในเดือน ๗ ด้วยเป็นฤดูฝน เพราะฉะนั้นในเดือน ๗จึงได้เว้นว่างอยู่ทั้งเดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดให้มีสลากภัตเป็นการพระราชกุศลเพิ่มขึ้นในเดือน ๗
การสลากภัตนี้ เมื่อจะว่าโดยเหตุเดิม ตามที่คนโบราณได้ทํามาก็ไม่เป็นกำหนดฤดู ที่มีมาในวินัยบาลี คัมภีร์จุลวรรคว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จอยู่ ณ เวฬุวันเมืองราชคฤห์ ครั้งนั้นข้าวแพง ชนทั้งหลายที่เคยถวายสังฆภัตทั่วๆ ไปไม่มีกําลังจะถวายได้ จึงได้พากันคิดจะถวายอุเทศภัตเพียงรูปหนึ่ง สองรูป สามรูปอย่างหนึ่ง นิมันตภัต คือเฉพาะแต่ที่นิมนต์ไปถวายอย่างหนึ่ง สลากภัตคือให้พระสงฆ์จับสลากตามแต่ผู้ใดจะได้นั้นอย่างหนึ่ง ปักขิกภัต ถวายเฉพาะวันหนึ่ง ในปักษ์ข้างขึ้นปักษ์ข้างแรมนั้นอย่างหนึ่ง ปาฏิปทิกภัต ถวายเฉพาะในวันขึ้นค่ำหนึ่ง และแรมค่ำหนึ่งนั้นอย่างหนึ่ง ยักย้ายไปตามชอบใจของตนๆ ภิกษุทั้งหลายนำความขึ้นกราบทูลพระผู้ทรงพระภาค พระองค์จึงอนุญาตให้พระสงฆ์รับภัตทั้ง ๗ นี้ สลากภัตนับเป็นภัตอันหนึ่งใน ๗ อย่าง ก็ไม่เป็นกำหนดฤดูหรือกำหนดเหตุอันใด ที่เป็นกาลควรทำใช่กาลที่ควรทํา ในกรุงสยามแต่ก่อน ที่ได้กล่าวถึงถวายสลากภัตแก่พระสงฆ์ ในส่วนราชการและส่วนราษฎร ก็มีมาอย่างเช่นในหนังสือนพมาศเป็นต้น ก็ว่าถวายกันในเดือนหก ประจวบนักขัตฤกษ์วิศาขบูชา ถึงที่ในกรุงรัตนโกสินทรเกิดสลากภัตขึ้น ก็ทําในการวิศาขบูชาเหมือนกัน และสลากภัตใหญ่วัดพระเชตุพน เมื่อปีมะโรงอัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสลากภัตวิเศษนอกจากวิศาขะคราวแรก ก็ทําในเดือนหกเหมือนกัน ที่ย้ายลงมาเดือนเจ็ดนั้น เห็นจะย้ายลงมาหาตาว่างอย่างเดียวเท่านั้น การซึ่งกำหนดสลากภัตในเดือนเจ็ด ก็ด้วยอาศัยผลไม้บริบูรณ์ ผลไม้อื่นก็ทำเนา ดูเป็นข้อใหญ่ใจความอยู่ที่ทุเรียน ถ้าฤดูสลากภัตต้องคราวทุเรียนชุกชุมแล้ว ก็เห็นจะเป็นใช้ได้ทั้งสิ้น
การเรื่องถวายภัตต่างๆ หรือจีวรต่างๆ ตามที่มีมาในพระวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตไว้นั้น ดูเป็นการทำเล่นต่างว่าไปหมดทุกอย่าง ด้วยเหตุว่าภูมิประเทศบ้านเมืองไม่เหมือนกัน ทั้งผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาก็ไม่เหมือนกัน ในประเทศอินเดียมีทุพภิกขภัยฝนแล้งข้าวแพง จนถึงมนุษย์และสัตว์ต้องตายด้วยอดอาหาร ในประเทศสยามนี้การเช่นนั้นไม่เคยพบเห็น เพราะแผ่นดินอุดมดีกว่าในประเทศอินเดียบางแห่ง การที่จะเสาะแสวงหาอาหารของภิกษุไม่เป็นที่อัตคัดขัดสน คนในพื้นเมืองประเทศอินเดียเป็นหลายสิบพวกหลายสิบเหล่าประกอบด้วยทิฐิมานะกระด้าง ถือชาติถือโคตรถือลัทธิบูชาเซ่นสรวงต่างๆ กัน ลัทธิที่ถือเหล่านั้นล้วนแต่หึงหวงพวกอื่นๆ สอนให้หมิ่นประมาทพวกอื่น ให้ถือพวกอื่นเป็นศัตรูอบรมกันมาช้านาน ถึงโดยว่าพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นจะแพร่หลายไปได้มากเพียงเท่าใด ก็ไม่พอที่จะลบล้างทิฐิเดิมให้สิ้นเชื้อสิ้นซากได้ และไม่พอที่จะสั่งสอนคนให้ทิ้งละทิฐิเดิม กลับมาถือพระพุทธศาสนาทั่วกันไปได้ ส่วนในแผ่นดินสยามนี้ แต่เดิมมาก็คงจะเป็นแต่ถือเจ้าถือผีเช่นเมืองลาว เจ้าและผีเหล่านั้นไม่มีกฎหมายข้อบังคับที่ได้สั่งสอนคนให้ประพฤติตัวอย่างหนึ่งอย่างใด เหมือนอย่างคัมภีร์เวท หรือคัมภีร์ไบเบลที่มีผู้มาชี้บอกเล่าสั่งสอน เป็นแต่นับถือก็เซ่นสรวงบูชาไปลองดู เมื่อได้สมประสงค์จงใจ ก็เข้าใจเอาเป็นว่าการที่ตัวทำนั้นถูก ถ้าไม่ได้สมประสงค์จงใจ ก็เข้าใจว่าการที่ตัวทำนั้นเป็นการผิดไม่ชอบใจเจ้า คิดยักย้ายทำอย่างอื่นไป ที่สุดจนการหยาบๆ คายๆ ที่คนกล้าๆ บ้าๆ ไปทำ เมื่อคนที่ทำไม่มีอันตรายอันใด ก็ถือว่าเป็นถูกใจเจ้าเช่นกับนิทานเขาเล่าว่าขโมยบนถวายควายเขาเกะแค่หู เมื่อได้ควายมาแล้วมาผูกไว้ที่เสาศาล ควายนั้นออกวิ่งไป กระชากเชือกที่ผูกเสาศาลจนศาลทลาย เมื่อผู้ที่ทําเช่นนั้นไม่มีอันตรายอันใด ก็ตกลงใจว่าเจ้าชอบการที่เป็นตลกขันๆ เป็นต้น การที่ถือลัทธิไม่มีข้อบังคับเป็นแต่การทดลองเช่นนี้ จึงไม่เป็นเหตุให้เชื่อถือมั่น จนถึงเป็นทิฐิมานะกระด้างแข็งแรง ครั้นเมื่อพราหมณ์นำศาสนาอิศวรนารายณ์เข้ามา ถึงว่าศาสนานั้นมีกฎหมายบังคับความประพฤติของคน แต่วิธีลักษณอาการก็ไม่สู้ผิดกันไปกับเจ้าผีซึ่งเคยถือมาแต่ก่อนนัก เมื่อรับมาถือก็เข้าใจว่าเป็นผีอย่างเก่านั้นเอง แต่เป็นผีผู้ดีขึ้นไปกว่านั้นอีกหน่อยหนึ่ง หรือเป็นเจ้าแผ่นดินของผี ถึงว่าจะนับถือดีขึ้นไปกว่าผีที่เคยนับถือมาแต่ก่อน ก็ไม่มีใครปฏิบัติตามกฎหมายแบบอย่าง เป็นแต่นับถือบูชาหลวมๆ อยู่อย่างเช่นผีอย่างเก่านั้นเอง ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามา เป็นลัทธิแปลกไปใหม่ ไม่เหมือนอย่างที่เคยถืออยู่แต่ก่อนเลย เป็นการลึกซึ้งเข้าใจยากต้องร่ำเรียน ครั้นเมื่อร่ำเรียนรู้แล้ว ก็ยิ่งเห็นความอัศจรรย์ในคำสั่งสอนนั้นมากขึ้น ได้รับผลแห่งความปฏิบัติแน่นอนดีกว่าที่ได้จากผีไพร่หรือผีผู้ดีที่เคยถือมาแต่ก่อน ก็ทำให้ความเลื่อมใสศรัทธาเจริญกล้าขึ้น เมื่อมีผู้ร่ำเรียนรู้มากขึ้น คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ยิ่งแพร่หลายออกไป หยั่งลงตั้งมั่นในประเทศสยามแน่นหนามั่นคง ยิ่งกว่าศาสนาพราหมณ์ เพราะเป็นคำสอนที่มีแก่นสารให้ผลปรากฏในปัจจุบันไม่มีสับปลับพลิกแพลงเลย ถึงว่าศาสนาเก่าที่เคยถือมาทั้งสองอย่าง จะไม่ละทิ้งเสียได้ด้วยใจอ่อน ก็ยังเหลือแต่ความเกรงใจมากกว่าที่นับถือจริง ประเทศสยามเป็นภูมิภาคที่สมควรจะทรงพระพุทธศาสนามากกว่าประเทศอินเดีย ด้วยที่นับถือเดิมนั้นอ่อน จึงได้แพร่หลายมั่นคงมีผู้นับถือปฏิบัติบูชาแก่พระสงฆ์ทั้งปวงทั่วหน้า ถึงตาพระสงฆ์ทั้งปวงไม่มียามขัดสนกันดารเหมือนอย่างประเทศอินเดีย ด้วยอาศัยภูมิประเทศเป็นที่บริบูรณ์อย่างหนึ่ง ด้วยความนับถือของชนทั้งปวงทั่วถึงและมั่นคงประการหนึ่งดังกล่าวมานี้
การซึ่งมีแบบอย่างมาจากประเทศอินเดีย ในเรื่องภัตทานก็ดี จีวรทานก็ดี เป็นเรื่องสำหรับประเทศที่หาอาหารยากและหาผ้ายากทั้งสิ้น ไม่ต้องกันกับในประเทศนี้เลย แต่หากผู้ซึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอยากจะหาช่องหาอุบายบําเพ็ญทานต่างๆ ให้เจริญความยินดีปรีดาในสันดาน ก็ยักย้ายทําไปตามลัทธิที่กล่าวมาแต่ก่อนอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง แต่มักจะเป็นการไม่แท้โดยมาก อย่างเช่นว่าให้ผ้าปังสุกุลจีวรได้อานิสงส์มาก ก็มาทําย่อๆ เอาผ้าพาดโยงจากศพ แล้วเอาจีวรไปพาดบนผ้านั้น นิมนต์พระสงฆ์ตามที่ตัวนับถือชอบใจ มาชักผ้านั้นเป็นปังสุกุลจีวร ที่จริงผู้ทําก็รู้ว่าผ้านั้นพระสงฆ์จะเอาไปอธิษฐานเป็นปังสุกุลจีวรไม่ขึ้น พระสงฆ์ก็ไม่ได้เอาไปอธิษฐานเป็นปังสุกุลจีวรเลย แต่ก็ยังถวายผ้าปังสุกุลอย่างนั้นอยู่ได้เสมอ เป็นการสังเขปต่างว่าย่อๆ เพราะความจริงพระสงฆ์ในประเทศสยามนี้ ไม่ต้องการที่จะใช้ปังสุกุลจีวรเลย ด้วยผ้าที่ทายกถวายมากมายเหลือใช้ยิ่งนัก ถึงการสลากภัตนี้ก็เหมือนกัน สักแต่ชื่อว่าสลากภัต เมื่อทำไปถวายที่วัดใดก็ได้ทั่วๆ กันทั้งวัดเป็นสังฆภัต แต่ยักเรียกเสียว่าเป็นสลากภัต ที่สลากภัตหลวงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เป็นนิมันตภัต ยักเรียกว่าสลากภัต บรรดาสสากภัตของหลวงทั้งสิ้นไม่เป็นสลากภัตแท้ เป็นแต่สมมติว่าเป็นสลากภัต เหมือนอย่างที่ทําบุญการศพ สมมติว่าเป็นได้ทอดผ้าปังสุกุลฉะนั้น ๚