แห่สระสนานใหญ่
๏ การแห่สระสนานใหญ่ในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ได้แบบอย่างไว้ว่าอย่างไร พบแต่ริ้วสระสนานในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีขาลโทศก ๑๑๙๒ เดินแห่ ๓ วัน คือวันขึ้น ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ๖ ค่ำ ตั้งกระบวนหน้าวัดชนะสงคราม ผ่านหน้าพระราชวังบวรฯ ลงมาทางถนนท้องสนามชัย กระบวนในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ก็คงเหมือนกันกับครั้งนี้ จะแปลกก็แต่กระบวนพระยาช้างพระยาม้าที่มีตามกาลตามเวลา กับเสนาบดีที่ไม่ชราก็คงจะขี่ช้าง ริ้วกระบวนนั้นดังนี้
ตํารวจถือธงห้าชายออกหน้า มีสารวัดธงคนหนึ่ง ต่อนั้นเป็นกระบวนพระยาช้าง กระบวนที่ ๑ พระยาช้าง พระเทพกุญชร ธงสามชายคู่หนึ่ง ธงมังกร ๕ คู่ ธนูหางไก่ ๒๐ สารวัดธนู ๑ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๒๕ คู่ สารวัดทวน ๑ แล้วแส้หวาย ๑๐ คู่ กระบองกลึง ๕ คู่ เดินสายนอก สายในธงฉาน ๒ คู่ กลองชนะ ๑๐ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ สารวัดกลอง ๑ แตรงอน ๖ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่ สังข์คู่ ๑ สารวัดแตร ๑ สารวัดกรมช้าง ๑ ช้างพังนำ ๑ ตัวพระยาช้างพระเทพกุญชรนั้นมีข่ายคนถือกั้นสี่ด้าน คนถือข่าย ๘ คน กระฉิ่งเกล็ด ๔ แส้หางม้าคู่ ๑ ถือเครื่องยศ ๖ คน คือกล้วยโต๊ะ ๑ อัอยโต๊ะ ๑ มะพร้าวโต๊ะ ๑ หญ้าโต๊ะ ๑ หม้อน้ำสองหม้อ ใช้เครื่องเงินทั้งนั้น ต่อนั้นไปช้างพังผูกเกณฑ์ตะพัด คือมีเครื่องที่สำหรับหัดช้างให้เดินฝีเท้าเรียบช้างหนึ่ง ช้างพังตามคู่ ๑ ช้างพังทูนบาศเป็นช้างเชือกคู่ ๑ ต่อนั้นไปกระบวนพระบรมฉัททันต์ ลดลงกว่าพระเทพกุญชร คือมีธงสามชายคู่ ๑ สารวัดธง ๑ ธงมังกร ๕ คู่ ธนูหางไก่ ๑๕ คู่ สารวัดธนู ๑ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๒๐ คู่ สารวัดทวน ๑ แส้หวาย ๘ คู่ กระบอกกลึง ๕ คู่ สายนอก สายในธงฉานคู่ ๑ กลองชนะ ๕ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ สารวัดกลอง ๑ แตรงอน ๔ คู่ แตรฝรั่ง ๒ คู่ สังข์คู่ ๑ สารวัดแตร ๑ สารวัดกรมช้าง ๑ ช้างพังนำ ๑ คนถือข่าย ๘ กระฉิ่งเกล็ด ๔ แส้หางม้าคู่ ๑ เครื่องยศ ๖ ช้างพังผูกเครื่องเกณฑ์ตะพัด ๑ พังตามคู่ ๑ ช้างเชือกทูนบาศคู่ ๑ กระบวนที่ ๓ พระบรมคชลักษณ์เหมือนกันกับกระบวนที่ ๒ กระบวนที่ ๔ พระบรมไอยราลดธนูลงคง ๑๐ คู่ ทวน ๑๕ คู่ กลองชนะ ๕ คู่ มีแต่จ่าปี่ ไม่มีแตรสังข์ กระบวนที่ ๕ พระบรมนาเคนทร์ เหมือนกันกับกระบวนที่ ๔ กระบวนที่ ๖ พลายไอยราพต ลดธงมังกรลงคงแต่สามคู่ แส้หวายคงแต่ ๖ คู่ กระบองกลึงคงแต่ ๔ คู่ ไม่มีกลองชนะ ช้างพังนํา ๑ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ พลายไอราพตเป็นช้างดั้ง มีกลางช้างถือเส้า มีแส้หางม้าและเครื่องยศสาม พังผูกเครื่องเกณฑ์ตะพัดตาม ๑ กระบวนที่ ๗ เจ้าพระยาปราบไตรจักร กระบวนที่ ๘ พลายมณีจักร กระบวนที่ ๙ พลายอัษฎาพงศ์ ในกระบวนที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ นี้เหมือนกันกับกระบวนที่ ๖ เป็นช้างดั้งทั้งสี่ กระบวนที่ ๑๐ พลายชัยนาเคนทร์ ธงมังกรคู่ ๑ ธนู ๑๐ คู่ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๑๐ คู่ สารวัด ๑ กระบวนที่ ๑๑ พลายมงคลรัตนาศน์ กระบวนที่ ๑๒ พลายแสนพลพ่าย กระบวนที่ ๑๓ พลายศิลป์นารายณ์ กระบวนที่ ๑๔ พลายสกลฤทธิ์ กระบวนที่ ๑๕ พลายเอกราวุธ กระบวนที่ ๑๖ พลายประกายมาศ กระบวนที่ ๑๗ พลายศรพระกาล กระบวนเหล่านี้เหมือนๆ กันกับที่ ๑๐ ตัวช้างแต่งอย่างพระยาช้าง หมอควาญซึ่งขี่พระยาช้างนุ่งสองปักลาย คาดราดตะคดสวมเสื้อครุยลอมพอก ถ้าพระยาช้างพลายใช้สีชมพู พระยาช้างพังใช้สีขาว ต่อนั้นไปเป็นกระบวนพระยาเพทราชา บโทนขัดดาบ ๓๐ คู่ ตัวพระยาเพทราชาขี่ช้างพังมีสัปทนกั้น ทนายขัดดาบริ้วหลัง ๒๐ คู่ ทนายตามแถวละยี่สิบคนห้า แถวเป็นร้อยคน ต่อนั้นไปถืออาวุธต่างๆ เดินเป็นสี่สายสายละสี่สิบคน รวมคนในกระบวนพระยาเพทราชา ๒๐๐ คน กระบวนพระยากําแพง บโทน ๒๕ คู่ ทนายขัดดาบตามหลัง ๑๕ คู่ ทนายตามแถวละ ๑๖ คน ๕ แถว ๘๐ คน อาวุธต่างๆ ตามหลัง ๔ แถวๆ ละ ๓๕ คน รวมกระบวนนี้ ๑๗๐ คน ที่ ๓ กระบวนพระยาพระกฤษณรักษ์ บโทนขัดดาบนำ ๒๐ คู่ ทนายขัดดาบตาม ๑๒ คู่ ทนายตามแถวละ ๑๒ คน ๕ แถว ๖๐ คน อาวุธต่างๆ สี่สายๆ ละ ๒๙ รวม ๑๑๖ คน ต่อนั้นไปกระบวนเจ้าพระยามหาเสนา บโทน ๖๐ คู่ กระฉิ่ง ๔ เจ้าพระยามหาเสนาขี่เสลี่ยงแปลง คนหาม ๘ มีบังตะวัน ทนายขัดดาบข้างหลัง ๔๐ ทนายตามแถวละ ๔๐ คน ๕ แถว ๒๐๐ คน อาวุธตาม ๔ แถวๆ ละ ๘๐ คน รวมกระบวนนี้ ๓๒๐ คน กระบวนเจ้าพระยาธรรมา เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยามหาโยธา เป็นกระบวนเสลี่ยงแปลงเหมือนกันทั้งสามกระบวน มีบโทน ๕๐ คู่ ทนายขัดดาบ ๓๒ คู่ ทนายตามแถวละ ๓๒ ห้าแถว ๑๖๐ คน อาวุธต่างๆ ตาม ๔ แถวๆ ละ ๖๙ รวมเป็นกระบวนละ ๒๗๖ คน ขุนนางที่ไปเสลี่ยงนี้สวมเสื้อครุยลอมพอก แต่ที่เป็นกระบวนช้างไม่ได้สวม ต่อกระบวนเสลี่ยงนี้ไปเป็นกระบวนช้าง ที่ ๑ เจ้าพระยาบดินทรเดชา กระบวนเท่ากันกับเจ้าพระยามหาเสนา มีสัปทนบังตะวัน กระฉิ่งเหมือนกัน กระบวนที่ ๒ เจ้าพระยาพระคลังเท่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา กระบวนที่ ๓ พระยาศรีพิพัฒน์ ที่ ๔ พระยาราชสุภาวดี ที่ ๕ พระยาจ่าแสนยากร เท่าเจ้าพระยาธรรมา กระบวนที่ ๖ พระยาสุรเสนา บโทน ๔๐ คู่ ทนายขัดดาบ ๒๗ คู่ ทนายตามแถวละ ๒๖ คน ๕ แถว ๑๓๐ อาวุธตามแถวละ ๕๔ คนสี่แถว รวม ๒๑๖ คน กระบวนที่ ๗ พระยามหาอำมาตย์ กระบวนที่ ๘ พระยาท้ายน้ำ กระบวนที่ ๙ พระยาสีหราชเดโช กระบวนที่ ๑๐ พระยาเพชรพิชัย กระบวนที่ ๑๑ พระพงศ์อมรินทร์ กระบวนที่ ๑๒ พระยาราชมนตรี กระบวนที่ ๑๓ พระยาเกษตรรักษา กระบวนที่ ๑๔ พระยาพิชัยบุรินทรา กระบวนที่ ๑๕ พระยาไกรโกษา กระบวนที่ ๑๖ พระยานครเขื่อนขันธ์ กระบวนที่ ๑๗ พระยาศรีสรไกร กระบวนที่ ๑๘ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี กระบวนเท่ากันกับพระยาสุรเสนา เมื่อกระบวนแห่เหล่านี้มาถึงหน้าพลับพลา ขุนนางผู้ขี่ช้างถวายบังคม แล้วเลี้ยวเข้าไปยืนเรียงประจําอยู่หน้าพลับพลา แล้วโปรดให้เรียกช้างน้ำมันมาผัดพาฬล่อแพนอยู่ในสามช้างสี่ช้าง ผู้ซึ่งขี่ช้างน้ำม้นนั้น ใช้เจ้ากรมปลัดกรมในกรมช้าง มีพระยาราชวังเมืองเป็นต้น ต่อผัดพาฬล่อแพนแล้วจึงได้เดินกระบวนโคกระบือม้ารถต่อไป กระบวนโคธงเสือปีกนํากระบวน ๑ นำริ้วคู่หนึ่ง ประตัก ๑๐ คู่ ตะพด ๑๐ คู่ พิณพาทย์ตีสามหามสี่หว่างริ้วสำรับหนึ่ง คนจูงโคๆ ละ ๔ โค ๕ ตัว ๒๐ คน กระบวนกระบือก็เท่ากัน กระบวนม้าธงห้าชายนำกระบวน ๑ ธงสามชายนําริ้ว ๒ ธงตะขาบ ๑๐ คู่ สารวัดธง ๑ ธนู ๑๐ สารวัดธนู ๑ ธงตะขาบคั่นคู่ ๑ ทวน ๒๐ สารวัดทวน ๑ ธงตะขาบคั่นคู่ ๑ แส้หวาย ๔ คู่ ธงตะขาบคั่นคู่ ๑ กระบองกลึงคู่หนึ่ง สายในปี่กลองมลายู ๑๘ คนสำรับ ๑ กลองชนะห้าคู่ กระฉิ่งเกล็ดคู่หนึ่ง ขุนหมื่นกรมม้าขี่ม้านํา ๑ ม้าต้นคนจูง ๔ สารวัดกรมม้า ๑ ถือเครื่องยศ ๒ เจ้ากรมปลัดกรมกรมม้าขี่ม้าตามคู่ ๑ กระบวนม้าอีก ๑๙ กระบวน มีธงตะขาบคู่ ๑ แส้หวาย ๔ คู่ แล้วธงตะขาบคั่นอีกคู่หนึ่ง กระบองกลึงสองคู่ กระฉิ่งเกล็ดคู่หนึ่ง ขุนหมื่นม้านํา ๑ ม้าตาม ๒ จูงม้าต้น ๔ สารวัด ๑ เครื่องยศ ๒ เหมือนกันทุกๆ กระบวนทั้ง ๑๙ แล้วถึงพิณพาทย์จีนคั่น ๑๔ คน ต่อนั้นไปเป็นกระบวนขุนนางขี่ม้า ที่ ๑ พระยาศรีสุริยพาห บโทนขัดดาบสองแถว ๓๐ คู่ ทนายขัดดาบตามหลัง ๒๐ คู่ ทนายตาม ๕ แถวๆ ละ ๒๐ คน อาวุธต่างๆ สี่แถวๆ ละ ๔๐ คน เป็น ๑๖๐ คน กระบวนที่ ๒ พระยาเทพวรชุน กระบวนที่ ๓ พระยาราชนิกูล กระบวนที่ ๔ พระยาพิชัยสงคราม กระบวนที่ ๕ พระยารามกําแหง กระบวนที่ ๖ พระยาราชโยธา กระบวนที่ ๗ พระยาเสนาภูเบศร์ กระบวนที่ ๘ พระยาณรงค์วิชัย กระบวนที่ ๙ พระยาอภัยสงคราม กระบวนที่ ๑๐ พระยาราชวังสรรค์ มีกระบวนเท่าๆ กันกับพระยาศรีสุริยพาห สวมเสื้อเข้มขาบกั้นสัปทนทั้งสิ้น ต่อนั้นไปกระบวนรถอีกสาม กระบวนที่ ๑ พระยาจุฬาราชมนตรีขี่รถเก๋งม้าคู่กั้นสัปทน มีคนจูงม้าชักรถ ๒ แขกวรเทศแทนบโทนนำหน้า ๓๐ คน ตามเท่ากันกับขุนนางขี่ม้า ที่ ๒ พระยาศรีราชอากร ขี่รถจีนเรียกว่ารถเกี้ยวคนจูง ๒ กั้นสัปทน ๑ บโทนใช้จีน ๔๐ คู่ ทนายขัดดาบตามหลัง ๒๗ คู่ ทนายตาม ๕ แถวๆ ละ ๒๖ คน อาวุธต่างๆ สี่แถวๆ ละ ๕๔ คน เป็นคน ๒๑๖ คน ที่ ๓ พระยาวิเศษสงคราม ขี่รถฝรั่งสี่ล้อเทียมม้าคู่ คนจูง ๒ กั้นสัปทน ๑ ฝรั่งแทนบโทนแห่หน้า ๓๐ คู่ กระบวนตามเหมือนพระยาจุฬาราชมนตรี กระบวนม้ากระบวนรถนี้ไม่ได้ยืนหน้าที่นั่ง เมื่อผ่านพ้นไปแล้วจึงให้เรียกม้าห้อ ม้าห้อนั้นกําหนดว่า ๑๒๐ ม้า แต่จะเป็นม้าต่างหากหรือม้าในกระบวนที่เดินแห่แล้วกลับลงมาห้อ แล้ววนกลับมาอีกเล่านั้นไม่ทราบเลย รับประกันไม่ได้
การแห่สระสนานใหญ่เช่นนี้ ไม่ได้แห่เวลาเย็นเหมือนคเชนทรัศวสนาน ใช้แห่แต่เวลาเช้ากว่าจะสิ้นกระบวนเสด็จขึ้นเกือบตกบ่าย เวลาเสด็จขึ้นแล้วข้าราชการที่ต้องแห่สระสนาน ยืนช้างอยู่หน้าพลับพลานั้น ลงจากช้างมารับพระราชทานเลี้ยงที่ที่พัก แล้วมีมวยมีกระบี่กระบองไปจนเวลาเย็น เสนาบดีเป็นผู้ตกรางวัล ต่อเวลาเย็นเลิกการเล่นทั้งปวงแล้วจึงได้กลับไปบ้าน ตามที่เล่ากันมาว่าในเวลาแห่สระสนานนั้น คนดูเป็นผู้ชายน้อย ด้วยต้องเข้ากระบวนเสียโดยมาก เวลาแต่ก่อนนี้คนในกรุงเทพฯ ก็ยังไม่มากเหมือนอย่างทุกวันนี้ ดูคงจะบางตาไปได้บ้างจริง อาวุธเครื่องแห่ในรัชกาลที่ ๓ นี้ ที่ทําเป็นอาวุธเหล็กจริงขึ้นนั้น เมื่อเสร็จการสระสนานแล้วพระราชทานเงินหลวงให้ตามราคา รวบรวมมาไว้ในคลังสรรพยุทธ คงยังได้ใช้ราชการแห่แหนมาจนทุกวันนี้ เพราะการสระสนานต้องลงทุนรอนมาก และเป็นการเล่นพิธีเช่นนี้ จึงได้มีแต่แผ่นดินละครั้ง ภายหลังมาในสองรัชกาลนี้ก็ไม่ได้มี ๚