การพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้ง

๏ การตักบาตรน้ำผึ้งนี้ ไม่ได้เป็นพระราชกุศลซึ่งมีมาในเรื่องราวเก่าๆ ปรากฏในหนังสือแห่งใด เป็นการพึ่งเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เหมือนอย่างวิสาหบูชาและมาฆบูชา ทำอนุโลมตามผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาแต่ก่อนได้เคยทำมา แต่การที่ทำนั้นก็ไม่สู้จะเป็นราชการสำหรับแผ่นดินแท้นัก ทำเป็นส่วนธรรมยุติกา หรือเฉพาะแต่วัดบวรนิเวศด้วยอีก เป็นการของวัดมากกว่าของบ้าน คือเมื่อเวลาทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ได้เคยมีการวิศาขบูชา มาฆบูชา ตักบาตรน้ำผึ้ง เมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้ทรงยกเข้ามาทำในวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกส่วนหนึ่ง พระสงฆ์ที่ฉันในการตักบาตรน้ำผึ้งเดิมก็ใช้ราชาคณะฐานานุกรมวัดบวรนิเวศวัดเดียวทั้งสิบรูป ต่อภายหลังเมื่อทรงสร้างวัดราชประดิษฐ์ จึงได้มีพระราชาคณะฐานานุกรม วัดราชประดิษฐ์ เข้าในจำนวนสิบรูปนั้นด้วย ครั้นภายหลังเมื่อปีข้าพเจ้าบวชเณรย้ายเข้ามาเลี้ยงพระที่พระที่นั่งพุทธมนเทียรใต้ มีเจ้าพระเจ้าเณรที่บวชใหม่ เติมนอกจากจำนวนสิบรูปขึ้นไปอีก ต่อมาภายหลังก็เลยเป็นแบบ เจ้าพระเจ้าเณรทรงผนวชใหม่เข้ามาฉัน และได้น้ำผึ้งที่ทรงบาตรนั้นด้วย เป็นฉลองเจ้าพระเจ้าเณรด้วยกลายๆ ครั้นในรัชกาลปัจจุบันนี้ เชิญพระพุทธบุษยรัตน์ไปประดิษฐานที่พระพุทธรัตนสถานแล้ว จึงย้ายเลี้ยงพระไปที่พระพุทธรัตนสถาน แต่ที่แคบไม่พอพระสงฆ์ จึงต้องแยกไปฉันที่พระตำหนักทรงผนวชบ้าง แต่ก่อนทรงบาตรที่มุขหลังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังจึงย้ายมาที่พระที่นั่งทรงธรรม ครั้นเมื่อไปเลี้ยงพระที่พระพุทธรัตนสถาน การทรงบาตรก็ย้ายไปที่ชาลาใต้ต้นจันทน์หน้าประตูกมลาสน์ประเวศมาจนทุกวันนี้ บาตรที่ทรงนั้นมีบาตรพระพุทธรูปในที่ต่างๆ และบาตรพระสงฆ์ มีแต่ตัวบาตรไม่ได้หุ้มถลกตั้งเรียงบนม้า ทรงด้วยขันเงินทรงบาตร บาตรละขัน มีผลสมอทิ้งลงไปในบาตรนั้น บาตรละเก้าผลสิบผลตามแต่จะมีมากมีน้อย ต่อนั้นไปเจ้านายฝ่ายในเสด็จขึ้นมาทรงบาตรน้ำผึ้ง ตามแต่พระองค์ใดจะทรงศรัทธามากน้อยเท่าใดไม่มีกำหนด แต่น้ำผึ้งคงได้เต็มทุกๆ บาตร เพราะบกพร่องบาตรใดก็คงเติมจนเต็มจำนวนบาตรที่ทรงบาตรน้ำผึ้งดังนี้ ในการทรงบาตรน้ำผึ้งนั้น เสด็จลงทรงจุดเครื่องนมัสการทรงศีล พระสงฆ์ถวายพรพระทรงประเคนแล้ว เสด็จทรงบาตรน้ำผึ้ง เมื่อเสด็จกลับก็พอใกล้กับเวลาที่พระสงฆ์ฉันแล้ว ทรงถวายไทยทาน หมากพลูธูปเทียน และน้ำผึ้งขวดอัดขนาดเล็กขวดหนึ่ง พระสงฆ์ถวายอนุโมทนาด้วยกาเล และยัสสะทาเนนะแล้วก็เสด็จขึ้น มีการเทศนาเรื่องตักบาตรน้ำผึ้งต่อไป การเทศนาเป็นกัณฑ์หลวงแต่ไม่ได้เทศน์หน้าที่นั่ง เทศน์ที่พระที่นั่งทรงธรรม เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในฟัง เรื่องที่เทศน์นั้นว่าด้วยนิทานเรื่องตักบาตรน้ำผึ้ง ที่มีมาในเภสัชขันธ์ เป็นการแสดงมูลเหตุอนุโมทนาในมธุทานที่ได้ทำในวันนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะนำมูลเหตุตามทางที่เทศนานั้นมากล่าวในที่นี้ พอจะได้รู้เรื่องตลอดว่าเหตุการณ์อย่างไรจึงได้เกิดตักบาตรน้ำผึ้งขึ้น และน้ำผึ้งซึ่งดูก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดนัก สู้ข้าวสารไม่ได้ ทำไมจึงได้ต้องถึงตักบาตรตักพกดูก็น่าจะถามอยู่ แต่เรื่องที่ข้าพเจ้าจะเล่านั้น จะไม่เดินเนื้อความแต่ตามที่เทศนาอย่างเดียว จะขอแสดงความเห็น และตามที่ตัวทราบเพิ่มเติมปนลงบ้างตามสมควรแก่ข้อความ

ใจความในเภสัชขันธ์นั้นว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในเมืองสาวัตถี ประทับ ณ เชตวนาราม อารามแห่งอนาถปิณฑิกคหบดี ครั้งนั้นพระภิกษุทั้งหลายอาพาธเรียกว่าสรทิกาพาธ แปลกันว่าไข้เกิดในสรทกาล อาการที่เป็นนั้น คือ “ฉันยาคูและภัตไม่ตั้งอยู่ตามปรกติได้ ยาคูที่ดื่มแล้วก็พิบัติขึ้นเสีย ออกเสียจากมุขทวาร ไม่อยู่ได้นานในอุทรประเทศ” คำที่ว่านี้เป็นโวหารแปลจากภาษามคธ ถ้าพูดกันอย่างไทยๆ ก็ว่าในฤดูนั้นพระสงฆ์ฉันยาคูก็ดี อาหารอื่นก็ดี ให้เกิดโรคอาเจียนออกมาเสียอาหารไม่ตั้งอยู่ได้ เป็นเหมือนกันมากๆ ก็พากันหิวโหยอ่อนเปลี้ยไป ร่างกายก็ผ่ายผอมเศร้าหมอง ผิวเหลืองขึ้นเหลืองขึ้น เมื่อผอมไปเช่นนั้น เส้นก็สะพรั่งขึ้นตามกายเพราะโรคที่เป็นนั้น พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นตรัสถามพระอานนท์ พระอานนท์ก็กราบทูลตามเหตุที่เป็นนั้น ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าอยู่​ ณ ที่สงัด จึงทรงพระปริวิตกถึงทุกข์พิบัติซึ่งเกิดขึ้นแก่พระสงฆ์นั้น จึงได้ทรงพระดำริจะหาสิ่งใดอนุญาตให้แก่พระสงฆ์ให้เป็นยาด้วยเป็นอาหารด้วย แต่จะไม่ให้เป็นอาหารหยาบ เมื่อทรงพระดำริเช่นนั้น จึงทรงคิดเห็นยาห้าอย่าง คือ เนยใสอย่างหนึ่ง เนยข้นอย่างหนึ่ง น้ำมันอย่างหนึ่ง น้ำผึ้งอย่างหนึ่ง น้ำอ้อยอย่างหนึ่ง ถือกันว่าเป็นยาด้วย เป็นอาหารด้วย แต่ไม่เป็นอาหารหยาบ เนยใสเนยข้นที่กล่าวในที่นี้ จะเข้าใจว่าเป็นบัตเตอและชีสตามอย่างเช่นของฝรั่งมีขายเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ตัวนวนิตเนยข้นนั้นเหลวกว่าบัตเตอ ที่เราเรียกว่าเนยเหลวของฝรั่ง สัปปินั้นกลับเหลวคว้างยิ่งขึ้นไปเป็นน้ำมัน แต่เป็นของเกิดด้วยน้ำนมทั้งสองอย่าง ต้องเข้าใจว่าเป็นเนยอย่างซ้องหัตถ์ชนิดหนึ่งเช่นนี้ ส่วนน้ำมันนั้นเล่าก็หมายเอาน้ำมันงาเป็นที่ตั้ง แต่ท่านรวบรวมน้ำมันบรรดาที่ออกจากผลไม้และเปลวสัตว์เข้าไว้ในหมวดน้ำมันนี้ด้วย น้ำผึ้งนั้นเป็นอันมีอย่างเดียวไม่ต้องคิดถึง น้ำอ้อยนั้นรวบน้ำตาลต่างๆ เข้าในหมวดนั้นด้วย เภสัช ๕ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าควรจะอนุญาตให้พระสงฆ์ทั้งหลายฉันในเวลาเช้าชั่วเที่ยง จึงได้ทรงอนุญาตแก่พระสงฆ์ทั้งปวงเป็นครั้งแรก คำซึ่งเรียกว่าอนุญาตในที่นี้ ถ้าจะว่าตามความเห็นเราไทยๆ ในเวลาเช้าชั่วเที่ยงอาหารเหล่านี้ก็ไม่เป็นที่ห้ามปรามไม่ให้พระสงฆ์ฉันมาแต่ก่อน เมื่ออนุญาตก็ไม่ได้อนุญาตให้ฉันนอกกาล คือนอกเวลาที่พระสงฆ์ฉันอาหารได้ตามปรกติ ถ้าเป็นคนเราทุกวันนี้ก็น่าจะเรียกว่าชวนหรือสั่งให้ฉัน ด้วยความมุ่งหมายคิดเห็นว่า จะให้แก้โรคด้วยแก้หิวด้วย ไปมีฝืนกันอยู่คำหนึ่งที่ว่าทำไมจึงต้องหาที่ไม่ให้เป็นอาหารหยาบ เพราะในเวลาเช้าเช่นนั้น อาหารหยาบพระสงฆ์ยังฉันได้อยู่ เห็นว่าที่หาไม่ให้เป็นอาหารหยาบนั้น คือจะทรงเห็นว่า อาหารหยาบไม่ย่อยซึมซาบไปได้โดยง่าย ต้องไปตั้งอยู่ช้านานจึงได้กระท้อนอาเจียนออกมาเสีย ถ้าเป็นอาหารละเอียดเช่นนี้ถึงว่าอาหารหยาบจะอาเจียนออกมาเสีย อาหารละเอียดคงจะเหลืออยู่ได้เป็นกำลังแก้หิวโหย และของห้าอย่างนี้ ในประเทศนั้นถือกันว่าเป็นยา บางทีจะเป็นเครื่องบำบัดโรคที่เป็นนั้นได้ด้วย ครั้นเมื่อพระสงฆ์ได้รับอนุญาตเช่นนั้น ก็พากันบริโภคเภสัช ๕ อย่าง แต่ไปกลับเกิดขลึกขลักมากไป ตามสำนวนเทศน์ท่านว่า “โภชนะที่เศร้าหมอง ของบริโภคตามปรกติทั้งหลาย ยังไม่ชอบใจแต่ภิกษุเหล่านั้นแล้ว จะไปกล่าวถึงโภชนที่ระคนให้เหนียวด้วยสัปปินวนิตเป็นต้นนั้นเล่า ครั้นมาระคนเข้าให้เหนียวด้วยสัปปินวนิตเป็นต้นแล้ว ก็ยิ่งไม่เป็นที่ชอบใจฉันไม่ได้โดยพิเศษกว่าโภชนะที่เศร้าหมองตามปรกติอีกเล่า อาศัยสรทิกาพาธนั้นด้วย บริโภคฉันภัตตาหารไม่ได้ด้วย ทั้งสองโทษนี้ภิกษุทั้งหลายนั้นก็ผ่ายผอมหนักไปกว่าแต่ก่อน” ข้อความที่ว่ามานี้ คือแปลว่าอาหารเดิมที่เป็น อันอีเตเบอล ไม่น่ากินหรือกินไม่ได้อยู่แล้วนั้น มาคลุกเคล้าเข้าด้วยเนยเหลวเนยข้นเป็นต้น ก็ยิ่งอันอีเตเบอลกินไม่ได้หนักไป เมื่ออาหารตามปรกติก็อาเจียนอยู่แล้ว ยิ่งคลุกเคล้าเข้าด้วยซ้องหัตถ์ทั้งหลายเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้อาเจียนมากขึ้นด้วย และกินเข้าไปไม่ได้ด้วย เพราะอาหารยิ่งน้อยลงไปเช่นนี้พระสงฆ์จึงผอมหนักไปกว่าแต่ก่อน ครั้นพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสถามพระอานนท์อีก เมื่อพระอานนท์กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายอนุญาตให้รับเภสัช ๕​ ประการ บริโภคฉันได้ในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนรุ่งสว่างอีกชั้นหนึ่ง เพื่อจะให้ได้เลี่ยงเวลากันกับฉันอาหารและอยู่ข้างจะสำหรับแก้หิวด้วย ดูก็เป็นการตกลงเรียบร้อยกันไป แต่ไม่ได้มีกำหนดว่ารับไว้บริโภคได้เพียงใด เป็นทางที่ผู้เลื่อมใสจะถวายคิลานปัจจัยเภสัชบริขารแก่พระสงฆ์มากขึ้น พระสงฆ์รับแล้วก็เก็บไว้ฉันต่อๆ ไป ไม่มีกำหนด จนไปเกิดเหตุขึ้น คือมีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่าพระปิลินทวัจฉะ ชำนาญในอิทธิวิธญาณ วันหนึ่งพระเถรเจ้าปรารถนาจะทำที่อยู่ที่เงื้อมเขาในเมืองราชคฤห์ ให้ชำระปัดกวาด พระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปเห็น จึงดำรัสถามว่าพระผู้เป็นเจ้าจะต้องการอารามิกบุรุษ คนรักษาอารามหรือ พระผู้เป็นเจ้าถวายพระพรว่า พระพุทธเจ้ายังมิได้อนุญาต พระเจ้าพิมพิสารจึงว่าขอให้พระผู้เป็นเจ้ากราบทูลแล้วบอกให้ข้าพเจ้าทราบด้วย แล้วพระผู้เป็นเจ้าจึงให้นำข้อความนั้นไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต ครั้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสารเสด็จออกไปครั้งที่สอง ถามพระมหาเถรได้ความว่าพระพุทธเจ้าทรงพระอนุญาตแล้ว จึงตรัสว่าจะถวายคนรักษาอารามคนหนึ่ง แต่ครั้นเมื่อเสด็จกลับเข้าไป มีราชการมากทรงลืมเสีย ล่วงมาช้านานจึงทรงระลึกได้ รับสั่งถามสัพพัตถกะอำมาตย์ ว่าเราจะถวายคนรักษาอารามแก่พระปิลินทวัจฉะนั้น ได้ถวายแล้วหรือยัง อำมาตย์ทูลว่ายังไม่ได้ถวาย ดำรัสถามว่าล่วงมาได้กี่มากน้อยแล้ว อำมาตย์ทูลว่าตั้งแต่ทรงรับมาวันนั้นจนถึงวันนี้ได้ห้าร้อยราตรี พระเจ้าพิมพิสารจึงสั่งให้ถวายอารามิกมนุษย์ห้าร้อยคน ทวีขึ้นราตรีละคน หมู่บ้านเลขวัดนั้น คนทั้งปวงจึงเรียกว่าอารามิกคามบ้าง ปิลินทคามบ้าง พระปิลินทวัจฉะ ก็เป็นกุลูปกะเข้าออกอยู่ในหมู่บ้านนั้น วันหนึ่งมีการเล่นมหรสพเป็นการเอิกเกริก เด็กๆ ในบ้านนั้นแต่งตัวด้วยเครื่องประดับและดอกไม้ต่างๆ เล่นการมหรสพ พระปิลินทวัจฉะเข้าไปบิณฑบาต เมื่อไปถึงเรือนแห่งหนึ่ง ลูกหญิงของเจ้าของเรือนนั้นเห็นเด็กๆ ทั้งปวงแต่งตัว ก็เข้าไปขอเครื่องแต่งตัวและดอกไม้กับบิดามารดา พระปิลินทวัจฉะทราบว่าเด็กนั้นอยากจะได้เครื่องแต่งตัวบ้าง จึงถือเอาเสวียนหญ้าอันหนึ่งส่งให้แก่มารดาให้สวมศีรษะเด็กหญิงนั้น เสวียนหญ้าก็กลายเป็นดอกไม้ทองงามควรชม ถึงนางในพระราชวังก็ไม่มีดอกไม้ทองงามเปรียบเหมือนได้ เมื่อคนทั้งปวงเห็นดังนั้นก็เข้าใจว่าจะได้มาด้วยโจรกรรม จึงกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารก็สั่งให้จับข้าพระตระกูลนั้นไปจำไว้ ครั้นคราวที่สอง พระปิลินทวัจฉะไปที่เรือนนั้นอีกไม่พบเจ้าของเรือน จึงได้ถามผู้ที่อยู่ใกล้เคียงได้ความว่า เพราะดอกไม้ทองพวงนั้นเป็นเหตุให้ต้องจำ จึงได้เข้าไปในพระราชวัง แล้วทูลถามพระเจ้าพิมพิสารว่า เอาข้าพระตระกูลนั้นมาจำไว้ด้วยเหตุอันใด พระเจ้าพิมพิสารจึงตอบว่า ดอกไม้ทองเช่นนั้นแต่คนที่อยู่ใกล้เคียงข้าพเจ้ายังไม่มี คนจนเช่นนั้นจะไปได้มาแต่ไหน คงจะต้องไปขโมยเขามาไม่ต้องสงสัย เมื่อพระปิลินทวัจฉะได้ยินเช่นนั้นก็อธิษฐานให้ปราสาทพระเจ้าพิมพิสารเป็นทองคำ แล้วถวายพระพรถามว่า ปราสาททองคำนี้พระองค์ได้มาแต่ไหน พระเจ้าพิมพิสารจึงตอบว่า ข้าพเจ้าทราบแล้วว่าเป็นด้วยอานุภาพฤทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ถึงดอกไม้ทองนั้นก็จะเป็นเช่นนี้ จึงรับสั่งให้ปล่อยข้าพระตระกูลนั้นจากเวรจำ เมื่อคนทั้งปวงได้ทราบก็มีความเลื่อมใสมาก พากันนำเภสัชทั้ง ๕ นี้มาถวายมากจนล้นเหลือ พระผู้เป็นเจ้าไม่สะสมเภสัชที่ได้นั้นไว้ แจกจ่ายให้แก่ภิกษุที่เป็นบริวาร ภิกษุที่เป็นบริษัทมักมากก็เก็บเภสัชที่ได้แจกนั้นไว้ในภาชนะต่างๆ จนถึงห่อผ้ากรองน้ำบ้าง ถุงบ้าง ห้อยเกี่ยวไว้ตามบานหน้าต่าง เภสัชเหล่านั้นก็ไหลซึมซาบอาบเอิบเปรอะเปื้อนเสนาสนะ หนูทั้งปวงก็เข้าประทุษร้ายเสนาสนะทั้งของเป็นอันมาก คนทั้งปวงเห็นก็พากันติเตียนว่า สมณะศากยปุตติย์เหล่านี้ มีคลังเหมือนพระเจ้าพิมพิสารมคธราช เมื่อภิกษุที่มักน้อยสันโดษมีความละอายและมักสงสัยก็พากันยกโทษติเตียน และกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงได้ประชุมพระสงฆ์ไต่ถาม ภิกษุพวกนั้นรับเป็นสัตย์ ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วจึงตั้งบัญญัติสิกขาบทว่า เภสัชทั้ง ๕ นี้ ภิกษุรับแล้วสะสมไว้บริโภคตลอดเจ็ดวันเป็นอย่างยิ่ง ถ้ารับแล้วเก็บไว้พ้นเจ็ดวันไป ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุเจ้าของต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะมีบัญญัติเช่นนี้ ของทั้งปวงนั้นจึงเรียกว่าสัตตาหกาลิก คือมีกำหนดเจ็ดวัน ตั้งแต่วันรับไป เป็นกาละ ถ้าไม่สละเสียในเจ็ดวัน หรือไม่ได้ตั้งใจเสียในเจ็ดวันว่าจะไม่กินเลย เมื่อล่วงเจ็ดวันไปถึงอรุณวันที่แปด ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ เจ้าของต้องอาบัติปาจิตตีย์ นับตามของมากของน้อย ต้องเสียสละของนั้นก่อน จึงจะแสดงอาบัตินั้นได้ เมื่อเทศนาเล่าเรื่องมาถึงเพียงนี้จะจบลงจึงได้ว่าเพราะพระพุทธานุญาตสมัยมีมาฉะนี้ บัณฑิตชาติผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงได้บูชาพระพุทธานุญาตนั้นบริจาคน้ำผึ้ง อันนับภายในยา ๕ ประการ ในพุทธบริษัทในสมัยถึงสรทะ หรือจวนใกล้สรทกาลเป็นธรรมเนียมมีมาด้วยประการฉะนี้

เรื่องยา ๕ สิ่งนี้ ถ้าจะคิดตามประเทศของเรานอกจากน้ำผึ้งแล้วก็เป็นของแสลง ที่หมอจะพึงห้ามไม่ให้คนไข้กินทั้งนั้น จะเป็นเพราะเหตุนั้นหรืออย่างไร การถวายเภสัชทั้ง ๕ ในสรทกาลนี้ จึงคงถวายอยู่แต่น้ำผึ้งอย่างเดียว ถวายด้วยความมุ่งหมายว่าจะให้ใช้เป็นยาตามเรื่องเก่า ไม่ได้ถวายอย่างหมากพลู น้ำตาลทราย ใบชาเช่นในเวลาอื่นๆ แต่ในประเทศอินเดียตลอดลงมาจนถึงลังกา เภสัช ๕ อย่างนี้ดูอยู่ข้างหยอดกันมาก จนถึงนิทานในมหาวงศ์[๑] มีเรื่องราวกล่าวถึงเรื่องน้ำผึ้ง ว่าด้วยชาติก่อนของพระเจ้าศรีธรรมาโศก และพระเจ้าเทวานัมปิยดิศ เจ้านิโครธ สามเณร ทั้งสาม ชาติก่อนเป็นกฎุมพีพี่น้องกัน เป็นพ่อค้าน้ำผึ้งทั้งสามคน พี่ใหญ่พี่กลางไปซื้อน้ำผึ้งมาให้น้องสุดท้ายขาย พระปัจเจกโพธิองค์หนึ่งอยู่ที่เขาคันธมาทน์เป็นวัณโรคอันควรจะเยียวยาด้วยน้ำผึ้ง ได้ความเวทนารุ่มร้อนด้วยโรคอันนั้น พระปัจเจกโพธิอีกองค์หนึ่ง ทราบว่าโรคนั้นจะหายด้วยน้ำผึ้ง จึงเหาะมายังเมืองพาราณสี เพื่อจะหาน้ำผึ้ง พบผู้หญิงชาวบ้านที่รับจ้างเขาลงไปตักน้ำ จึงถามว่าร้านขายน้ำผึ้งอยู่แห่งใด นางนั้นก็ชี้บอกร้านให้ เมื่อไปถึงที่ร้านก็ไปหยุดยืนอยู่ พ่อค้าน้ำผึ้งคนเล็กมีความเลื่อมใส จึงรับบาตรไปรินน้ำผึ้งลงเต็มบาตรแล้วส่งถวายพระปัจเจกโพธิ น้ำผึ้งก็ล้นไหลลงยังพื้นแผ่นดิน พ่อค้านั้นจึงได้ตั้งความปรารถนา ขอให้ได้เอกราชสมบัติใหญ่ในสกลชมพูทวีป และให้มีอาณาจักรแผ่ไปเบื้องบนโยชน์หนึ่ง ภายใต้แผ่นดินโยชน์หนึ่ง เพราะเหตุนั้นพระเจ้าศรีธรรมาโศกจึงได้มีเดชานุภาพมาก น้ำผึ้งแก้โรคได้จนถึงเป็นฝีเช่นนี้ ก็แปลกกับยาบ้านเรามาก แต่ดูยังไม่สู้วิเศษเสมอน้ำมันเนย ซึ่งเพราะไม่ได้น้ำมันเนยเท่านั้นถึงแก่ตายได้ มีเรื่องราวในมหาวงศ์เหมือนกัน ว่ามีพระเถระสององค์ พี่ชื่อดิศ น้องชื่อสุมิทธิ์ เป็นพระอรหันต์ พระดิศเถรถูกพิษแมลงบุ้งได้ความทุกขเวทนา พระสุมิทธิ์น้องชายจึงถามว่าทุกขเวทนาครั้งนี้เห็นจะหายด้วยอันใด ท่านพี่ชายบอกว่า ถ้าได้เปรียงมาสักซ้องหัตถ์หนึ่งก็หาย แต่ท่านดิศองค์นั้นจะถือธุดงค์บิณฑบาตอยู่อย่างไร จึงได้สั่งว่าอย่าให้ไปขอแก่ท้าวพระยาผู้ใดเป็นคิลานภัต ให้แต่ไปเที่ยวบิณฑบาตในเวลาเช้า พ้นเพลแล้วได้มาก็ไม่เอา ท่านน้องชายไปเที่ยวบิณฑบาต ตั้งแต่เช้าจนเพลก็ไม่ได้ ความเวทนานั้นกล้าขึ้นพ้นกำหนด โดยจะได้เปรียงมาบริโภคสักร้อยหม้อก็ไม่หาย พระดิศเถรตาย พระเจ้าศรีธรรมาโศกทราบเข้า จึงได้สั่งให้ขุดสระใหญ่ไว้ทั้งสี่ประตูพระนคร ให้ก่ออิฐถือปูนผิวข้างในให้มั่นคง แล้วยังสระใหญ่ทั้งสี่ประตูพระนคร ให้เต็มไปด้วยน้ำมันสระหนึ่ง เต็มไปด้วยสัปปิคือเนยใสสระหนึ่ง น้ำผึ้งสระหนึ่ง ขัณฑสกร คือน้ำตาลกรวดสระหนึ่ง อุทิศถวายแก่พระสงฆ์อันมาแต่จาตุทิศ เพื่อจะมิให้ลำบากต้องเที่ยวบิณฑบาตเภสัช ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกบ้าง แต่ยกมาสองเรื่องนี้พอเป็นตัวอย่างให้เห็น ว่าตามความคิดของเรา จะคิดเห็นคุณประโยชน์ของยานี้อย่างไรคิดไม่ถึงได้เลย ถ้าตามความเห็นเราแล้วต้องเห็นว่า โรคที่พระมหาเถรเจ็บ ชั่วแต่ถูกบุ้งเท่านี้ถึงแก่ความตายได้ ก็โคมเต็มที ยาที่เสาะแสวงหาจะแก้หรือก็หาน้ำมันเนย กินแก้ถูกพิษบุ้งก็โคมอีกเหมือนกัน ถ้าเป็นใจเราถูกบุ้งเข้าเช่นนั้น คงจะคิดหาขี้ผึ้งหรือแป้งอันใดมาคลึงให้ขนมันออกเสียก็แล้วกัน และไม่ตายเป็นแน่ด้วย นี่ท่านหาเนยกันซ้องหัตถ์เดียวเท่านี้ ถึงแก่ความตายได้ แต่บุ้งกัดเท่านี้จะหายารักษา ยังต้องนึกถึงเนยแล้ว การที่พระพุทธเจ้าทรงนึกถึงเนยในเวลาที่พระสงฆ์ป่วยสรทิกาพาธ ก็ไม่เป็นการอัศจรรย์อะไร ยังเข้าเค้าเข้าเรื่องมากกว่าถูกบุ้ง เรื่องเนยเป็นอาหารทิพย์หรือเป็นยาทิพย์ของประเทศนั้น ก็ยังเป็นไปอยู่จนถึงเวลาปัจจุบันนี้ เมื่อข้าพเจ้าไปที่อินเดียไปตามถนนที่เป็นแขกล้วน มีร้านขายขนมสองข้างทาง เช่นถนนที่ตรงเข้ามาเยียมัมมัสจิต[๒] ที่เมืองเดลีเป็นต้น เป็นร้านขายขนมทั้งสองข้าง เมื่อแลเห็นไปแต่ไกล มีขนมใส่ภาชนะต่างๆ ตั้งเรียงราย มีไหทำนองไหกระเทียมหรือหม้อเล่าอ๋วยกรอกน้ำมันเนยตั้งอยู่หลายๆ ไหทุกร้าน เยี่ยมเข้าไปถึงปากตรอกถนน เหม็นเหลือกำลังที่จะทน จนจะอาเจียน เข้าไปไม่ได้ต้องกลับมา และเมื่อกลับจากเมืองพาราณสี (เบนนาริส) พระเจ้าอิศวรีประสาทเจ้าเมืองพาราณสี ให้นำขนมมาส่งให้ในรถไฟที่พ่วงมาข้างท้าย มีขนมยี่สิบตะแกรงใหญ่ น้ำมันเนยใสห้าไห เป็นเวลาชุลมุนไม่ทันรู้ เขาก็เอาบรรทุกรถข้างท้ายมา ครั้นเมื่อถึงสเตชั่นลงมาเดินได้กลิ่นน้ำมันเนยฟุ้งซ่าน ถามจึงได้ความว่าเป็นของพระเจ้าพาราณสีให้ รถกระเทือนไหน้ำมันเนยแตกไหหนึ่งจึงได้ส่งกลิ่นกล้านัก สั่งให้ยกของทั้งนั้นมาให้พวกแขกอยู่ที่สเตชั่นนั้นกิน ดูแย่งกันหยุบๆ หยับๆ อร่อยเหลือทน ขนมนั้นท่วงทีคล้ายๆ ทองพลุ จิ้มน้ำมันเนยแทนน้ำตาลเชื่อม ผู้ที่เขาเคยไปอยู่ที่อินเดียนานเขาเล่าว่า ความที่นับถือเนยกันนั้น ถ้าเป็นผู้มีอันจะกินจึงจะมีน้ำมันเนยกิน เมื่อกินแล้วยังต้องอวดมั่งมีต่อ คือเอาน้ำมันเนยนั้นทาริมฝีปากให้เป็นมันย่อง แสดงว่ากินข้าวมาแล้วกับเนย เป็นคนมั่งมี กรมหมื่นสมมตได้เคยซื้อมาให้แขกฮินดูคนหนึ่ง ซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ กิน เอาคลุกกับข้าวสุกเอาน้ำตาลทรายเจือหน่อยหนึ่ง กินเอร็ดอร่อยมาก น้ำมันเนยที่เหลืออยู่ก็ลูบทาไปตามเนื้อตามตัวดูสบายเต็มที น้ำมันเนยนี้เป็นเครื่องสักการบูชาอย่างวิเศษ ด้วยใช้สำหรับประพรมในไฟบูชายัญมากว่าสามพันปีแล้ว เรื่องที่ทาจุดเทียนโคมจองเปรียงนี้จะไม่ใช่อื่นไกลเลย คือเรื่องบูชายัญนั้นเอง คงจะเห็นเป็นกลิ่นหอมกันเป็นแน่ เพราะสิ่งของเหล่านี้เป็นอาหารและเป็นยาเป็นที่นับถือ ทั้งเป็นเครื่องบูชาสืบมาช้านาน พระพุทธเจ้าจึงได้อนุญาตให้เป็นยาสำหรับพระสงฆ์ พระสงฆ์ผู้ที่ได้รับอนุญาตนั้นก็คงพอใจสบายดีทีเดียว และจะใช้กันอยู่เสมอ พระเจ้าศรีธรรมาโศกจึงต้องถึงขุดสระใหญ่ไว้สำหรับให้ใครๆ ไปตักได้ทุกเวลา แต่สระนั้นน่ากลัวจริงหนอ ให้เห็นเป็นว่าแมลงวันจะลอยเหมือนกับแหนในหนองน้ำ ถึงจะกันแมลงวันได้ก็เรื่องมดยังหนักใจมาก แต่ตกลงเอาเป็นใช้ได้ด้วยพอความปรารถนากันในชั้นนั้นแล้ว แต่ส่วนพระสงฆ์ในประเทศเราที่ไม่สมัครฉันยาห้าอย่างนี้ ดูได้ความลำบากน่าสงสาร เมื่อเวลาป่วยไข้ที่จะฉันในเวลาเช้าไม่ได้ เวลาบ่ายก็ฉันไม่ได้ ครั้นจะหายาและอาหารที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ฉันได้ในเวลาวิกาล หมอก็ห้ามว่าแสลงและแสลงจริงด้วย ขืนกินเข้าไปก็ตายจริงด้วย คงใช้ได้บ้างแต่น้ำผึ้ง แต่น้ำผึ้งที่ได้ไปถึงบาตรใหญ่ๆ หรือสองบาตร ก็มีพระสงฆ์สักองค์เดียวที่ข้าพเจ้าเคยเห็นฉันได้หมดบาตร หรือจะมีผู้อื่นจะฉันได้อีกบ้างก็คงจะมีอีกเพียงองค์หนึ่งหรือสององค์เป็นแน่ นอกนั้นก็ไม่เห็นเป็นประโยชน์อันใด มีอีกอย่างหนึ่งก็กวนยางมะตูมหรือเคี่ยวตังเม เหลือนั้นก็ทิ้งหายหกตกหล่นหรือใครๆ กินเท่านั้น ดูไม่รู้สึกว่าเป็นหยูกยาอันใดเลย ถ้าสิ่งซึ่งจะให้เป็นอาหารสำหรับภิกษุป่วยไข้ในประเทศเราเช่นนั้น อะไรจะมาดียิ่งกว่าน้ำข้าวต้มไปเป็นไม่มี ข้าพเจ้านึกแน่ใจว่า ถ้าพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ ถ้าทรงทราบประเพณีบ้านเมืองข้างเราแล้ว คงจะอนุญาตให้ภิกษุไข้ฉันน้ำข้าวต้มได้เป็นแน่ ความคิดซึ่งเห็นว่าควรอนุญาตเช่นนี้ข้าพเจ้าจะชี้แจงได้ยืดยาว แต่ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดซึ่งจะกล่าว เพราะจะแก้ไขอันใดไม่ได้ในเวลานี้ เพราะฉะนั้นการที่ถวายเภสัชซึ่งเป็นยาด้วยเป็นอาหารด้วย จึงยังคงมีที่พอจะทำได้อยู่แต่น้ำผึ้งอย่างเดียว การพระราชกุศลถวายเภสัชจึงมีแต่บาตรน้ำผึ้ง เภสัชอีกสี่อย่างนั้นต้องเป็นอันยกเว้นเสีย เพราะแสลงโรคและไม่เป็นอาหารที่จะฉันได้

ในการตักบาตรน้ำผึ้งแผ่นดินปัจจุบันนี้ ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเสียหลายปี เป็นแต่การพระราชกุศลนั้นยังคงอยู่ตามเคยอย่างหริบหรี่ๆ ๚

[๑] หนังสือมหาวงศ์เป็นพงศาวดารของลังกาทวีป

[๒] เยียมัมมัสจิต เป็นสุเหร่าแขกสำคัญอยู่ที่เมืองเดลี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ