กาลานุกาล พิธีตรุษ

๏ การพระราชกุศลกาลานุกาล ที่เรียงลงในเรื่องพิธีสิบสองเดือนแต่ก่อนว่าเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น ยกไว้แต่สงกรานต์นั้นเป็นการผิดไป บัดนี้ได้ความมาว่ากาลานุกาล ท้ายพระราชพิธีตรุษ พระราชพิธีสารท เข้าพรรษา ออกพรรษา และท้ายฉลองไตรปีนี้เป็นของมีมาแต่เดิม ท้ายวิศาขบูชาเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็กาลานุกาลท้ายพระราชพิธีตรุษนี้ ได้ทําในวันเดือน ๕ ขึ้นค่ำหนึ่ง ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีพิธีการพระราชกุศลทั้งปวงเหมือนเช่นได้กล่าวมาแล้วในการกาลานุกาลท้ายฉลองไตร แต่พระสงฆ์ใช้พระสงฆ์กรุงเทพฯ สดับปกรณ์ ใช้ผ้าสบงผืนหนึ่ง หมากพลู ธูป เทียน ร่ม รองเท้า จำนวนพระสงฆ์รายวัดประจำพระอัฐิซึ่งสดับปกรณ์นั้น เห็นว่าความในเดือนนี้มากแล้ว จะว่าก็จะยาวหนักไป การสดับปกรณ์กาลานุกาลเดือน ๖ มีจำนวนพระเหมือนกัน จึ่งจะของดไปไว้ว่าเดือน ๖ ต่อไป

ในการพระราชพิธีเดือน ๔ กับเดือน ๕ นี้ติดเนื่องกัน เพราะตัวนักขัตฤกษ์ ที่เรียกว่าตรุษเองนั้นก็คาบปี คือวันแรม ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ขึ้นค่ำหนึ่งเสียแล้ว การจึงต้องติดเนื่องพัวพันกันไป ครั้นจะตัดเอาสงกรานต์เป็นเดือน ๕ ก่อนสงกรานต์เป็นเดือน ๔ ตามความจริงซึ่งเป็นอยู่ดังนั้น คือถือน้ำในเดือน ๕ ก็เรียกว่าถือน้ำพระราชพิธีตรุษ เป็นต้น ก็จะต้องว่าตลอดจนคเชนทรัศวสนานซึ่งเป็นคู่กัน จะชักให้ยืดยาวเหลิงเจิ้งมากแล้วจะต้องฝืนชื่อเดือนอยู่ ครั้นจะตัดเอาแรม ๑๕ ค่ำ และขึ้นค่ำหนึ่งให้ขาดเป็นรายเดือนไป การพระราชกุศลในกระบวนตรุษก็ขนาบคาบเกี่ยวกัน จึงได้ขอแบ่งการวันใด ซึ่งเห็นว่าควรจะว่าในเดือน ๔ เสียให้เสร็จทีเดียวเช่นกาลานุกาล เพราะเป็นของต่อพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ก็จะว่าเสีย ที่เป็นเรื่องยืดยาวตั้งแต่การปีใหม่เป็นต้น ขอตัดไปไว้เดือน ๕

การที่ควรจะตักเตือนนั้น ที่เป็นข้อสำคัญยิ่งใหญ่เกือบจะว่าไม่ใคร่จะมีปีที่พร้อมเพรียงได้นั้น คือ วันแรม ๑๒ ค่ำ เวลาเช้าจุดเทียนชัย ถ้าไม่ทรงพระประชวรหรือไม่มีที่เสด็จพระราชดำเนินแห่งใด จะเสด็จพระราชดําเนินในการพระราชพิธีนั้นไม่ได้ขาดเลย แต่ก่อนมามหาดเล็กมักจะโรเรไม่ใคร่มีใครมา จะเรียกโคมไฟฟ้าซึ่งสำหรับจุดชนวนเทียนชัยไม่ใคร่จะได้ วิ่งกันตังตังตังเปล่าไป ขอให้จําไว้ว่าวันนั้นแล้วเป็นโคมไฟฟ้าขาดไม่ได้ และวัน ๑๔ ค่ำ เป็นหน้าที่ของมหาดเล็ก ซึ่งจะต้องถวายเทียนทอง ๔ เล่ม และโคมไฟฟ้าด้วยเหมือนกัน หน้าที่กรมภูษามาลาก็มีหลายแห่ง แต่อยู่ข้างจะดีไม่สู้จะขาดนัก คือในวัน ๑๔ ค่ำนั้น ต้องเชิญพระมหาสังข์และพระธํามรงค์มาตั้งไว้ที่ที่ทรงกราบ เมื่อเจ้าเกศากันต์แล้วต้องเชิญพระมหาสังข์ลงไปพระราชทานที่สรงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสรงแล้วต้องเชิญพระมหาสังข์ขึ้นมาตั้งไว้ที่โต๊ะข้างพระเก้าอี้ ต้องมีใบมะตูมด้วย แต่ใบมะตูมนี้ภูษามาลาค่อนอยู่ข้างจะเคอะเหลือที่จะเคอะ ถ้าได้จะเก็บใบอ่อนก็อ่อนจนเป็นสีแดงพับไปพับมา ถ้าได้จะแก่ก็เป็นเขียวแข็งกราก ถ้าได้จะโตก็โตจนกว้างเกือบนิ้วกึ่ง ถ้าได้จะเล็กก็จนพอผลิออกมาเป็นสามใบ เกิดมาเป็นภูษามาลาเห็นเก็บใบมะตูมเป็นอันอย่างยิ่งเป็นนิจนิรันดร์ ไม่ได้เคยเหมาะแต่สักครั้งเดียว ควรจะไปขอทานพราหมณ์หรือไปเรียนตำราเก็บใบมะตูมมาเสียให้ได้จะดีขึ้น เมื่อพระราชทานน้ำเจ้าซึ่งขึ้นมาเฝ้าบนพระมหาปราสาทแล้ว ต้องเก็บพระมหาสังข์และพระมหาธำมรงค์ขึ้นตั้งที่เดิม เวลาค่ำเมื่อสวดธรรมจักรและสมัยต้องเชิญพระมหาสังข์ถวายสำหรับทรงรดน้ำและเจิมปืน วัน ๑๕ ค่ำ เวลาเช้าต้องเชิญครอบพระกริ่งลงมาตั้งไว้ที่ที่ทรงกราบ และเชิญหรือคอยรับพระมหาสังข์ ซึ่งพระราชทานน้ำพระบรมวงศานุวงศ์แล้วขึ้นตั้งไว้ที่ ถ้าไม่ได้เสด็จพระราชดําเนินออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต้องเชิญพระครอบพระกริ่งถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงดับเทียน ในเวลาดับเทียนชัยแล้ว เชิญพระครอบและพระมหาสังข์มาคอยถวายที่ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ในวัน ๑๔ ค่ำเวลาเย็นเสด็จพระราชดำเนินออกทอดพระเนตรแห่พระ ข้าราชการตํารวจมหาดเล็กต้องสวมมงคลแต่เวลาเย็น แต่พระบรมวงศานุวงศ์ไปสวมต่อเสด็จขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท การอื่นๆ อันใดไม่ใคร่จะมีขาดนัก ถึงพระเต้าษิโณทกที่พระมหาปราสาทนี้มหาดเล็กอยู่ข้างจะดีกว่าทุกแห่ง เพราะมิใช่เวลาแต่งตัว ถ้าถูกเสื้อเยียรบับแล้วจะอยู่ข้างวุ่นๆ เสมอไป เพราะมัวมองดูหน้าอกเนืองๆ จึงได้เผลอ ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ