คเชนทรัศวสนาน

๏ เรื่องคเชนทรัศวสนานนี้ พึ่งมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นเหตุนั้นมีเป็นสองเรื่อง เรื่องหนึ่งคือในหนังสือนพมาศ ซึ่งกล่าวว่าในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอรุณมหาราชกรุงสุโขทัยได้มีการแห่สนานช้างต้นม้าต้นปีละครั้ง ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว และการพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกที่ยังคงมีอยู่เป็นพิธีพราหมณ์ ไม่มีการอันใดซึ่งเกี่ยวข้องในพระพุทธศาสนา ก็การพระราชพิธีอันใดซึ่งเป็นพิธีประจําพระนคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มเติมให้เกี่ยวในพระพุทธศาสนาลงอีกหลายอย่าง การพระราชพิธีนี้ อยู่ข้างจะเป็นช่องเหมาะมีที่อ้างอิง ตัวอย่างว่าเป็นการพิธีมงคลมีมาแต่โบราณ จึงได้ทรงเทียบเคียงการเก่ามาตั้งเป็นแบบฉบับขึ้น

ข้อซึ่งนับว่าเป็นการเนื่องในพระพุทธศาสนานั้น คือได้มาจากทีฆาวุชาดก ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสยกเรื่องมาเป็นตัวอย่างเพื่อจะระงับความแตกร้าวกันในหมู่พระสงฆ์ มีเนื้อความตามนิทานชาดกนั้นว่า ในปางก่อน มีพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามพระเจ้าพรหมทัต ผ่านสมบัติในเมืองพาราณสี เป็นพระราชธานีนครใหญ่ มีกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามพระเจ้าทีฆีติโกศล ผ่านสมบัติในโกศลราฐ มีเขตแดนใกล้กับเมืองพาราณสี ด้วยจารีตของขัตติยซึ่งถือว่าการที่ไปปราบปรามกษัตริย์ผู้อื่น ถึงแม้ว่าจะไม่มีเหตุอันใดพอที่จะยกขึ้นกล่าว นอกจากที่ไม่ได้อ่อนน้อมยอมอยู่ในใต้อํานาจ ไม่เป็นการผิดธรรมนั้น พระเจ้าพรหมทัตได้ตระเตรียมกองทัพพรักพร้อมจะไปตีเมืองโกศลราฐ พระเจ้าทีฆีติโกศลทราบข่าวศึก เห็นว่ากำลังน้อยจะต่อสู้มิได้ ก็พาพระมเหสีหนีออกจากพระนครก่อนกองทัพยังไม่มาถึง แปรเพศเป็นปริพาชกเข้าไปอาศัยช่างหม้ออยู่ในเขตแดนเมืองพาราณสี ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตยกกองทัพไปถึงเมืองโกศลราฐไม่มีผู้ใดต่อสู้ ก็เก็บทรัพย์สมบัติกวาดครอบครัวกลับคืนพระนคร พระเจ้าทีฆีติโกศลกับพระมเหสีอาศัยอยู่กับนายช่างหม้อ ไม่นานพระมเหสีก็ทรงพระครรภ์ ด้วยอำนาจพระราชโอรสซึ่งปฏิสนธิในครรภ์มีบุญสมภารใหญ่ จึงบันดาลให้พระมเหสีปรารถนาจะใคร่ดูจตุรงคเสนาสี่เหล่าอันมีอาวุธพรักพร้อมอย่างในยุทธภูมิ และอยากจะดื่มน้ำล้างพระแสงทรงของพระเจ้าแผ่นดิน จึงทูลแก่พระราชสามี พระเจ้าทีฆีติโกศลก็ขัดข้องในพระหฤทัย ด้วยสิ้นอํานาจเสียแล้ว จึงไปแจ้งความแก่พราหมณ์ปโรหิตซึ่งเป็นที่ไว้ใจ พราหมณ์ปโรหิตผู้นั้นชำนาญในการสังเกตนิมิตเข้าใจว่าพระราชโอรสนั้นจะมีบุญญาธิการ จึงรับธุระมาทูลพระเจ้าพรหมทัตขอให้ประชุมพลจตุรงค์ และให้ชำระพระแสงเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่พระนคร พระเจ้าพรหมทัตก็โปรดให้จัดการตามคําปโรหิตกราบทูล พระราชเทวีพระเจ้าทีฆีติโกศล ก็ได้เห็นพลจตุรงค์เสนาและได้ดื่มน้ำล้างพระแสงสมดังความปรารถนา อยู่มามินานพระราชเทวีก็ประสูติพระราชโอรสประกอบด้วยธัญญลักษณสมบัติ จึงขนานนามว่าทีฆาวุกุมาร ครั้นเจริญขึ้นแล้วพระบิดามารดามิได้ไว้พระหฤทัยด้วยอาศัยอยู่ในเมืองปัจจามิตร ถ้ามีผู้รู้เหตุผลภัยมาถึง ก็จะพลอยพาให้พระโอรสถึงความพินาศด้วย จึ่งได้พาทีฆาวุกุมารไปฝากนายหัตถาจารย์ไว้ นายหัตถาจารย์ก็บํารุงพระราชกุมารจนเจริญวัย

การที่พระเจ้าทีฆีติโกศลมาอาศัยอยู่ในเมืองพาราณสีนั้นไม่มิด มีผู้กราบทูลพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตจึงสั่งให้พนักงานฆ่าโจรไปจับพระเจ้าทีฆีติโกศลและพระมเหสีผูกมัดมาจะพาไปยังที่สำเร็จโทษ เมื่อทีฆาวุกุมารได้ทราบเหตุก็รีบติดตามมาพบพระบิดามารดาที่กลางทาง เมื่อพระเจ้าทีฆีติโกศลเห็นโอรส ก็ทําเพิกเฉยเสียเหมือนไม่รู้จัก แล้วตรัสเปรยๆ ไปว่า ทีฆาวุเอ๋ยเจ้าอย่าเห็นแก่การสั้น และอย่าเห็นแก่การยาว เวรไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมสงบระงับไปด้วยไม่มีเวร ฝ่ายเจ้าพนักงานฆ่าโจรไม่ทันสังเกตเนื้อความนั้น ก็เข้าใจเสียว่าพระเจ้าทีฆีติโกศลตรัสเพ้อไปด้วยความกลัวภัยเป็นอย่างพิกลจริต แต่ทีฆาวุกุมารรู้ว่าพระบิดาให้โอวาท ก็กําหนดจําไว้มั่นคง ฝ่ายพวกพนักงานฆ่าโจรก็พาสองกษัตริย์ไปประหารด้วยอาวุธ บั่นเป็นท่อนๆ ไว้ในทิศสี่ตามธรรมเนียมฆ่าโจร เมื่อพวกฆ่าโจรสำเร็จโทษสองกษัตริย์เสร็จแล้ว ทีฆาวุกุมารจึงเก็บดอกไม้ไปบูชานบนอบประทักษิณพระศพเสร็จแล้ว ให้สินบนแก่พวกพนักงานฆ่าโจร ให้ช่วยเก็บศพพระบิดามารดาเผาเสียแล้วก็อาศัยอยู่กับนายหัตถาจารย์ต่อมาจนเจริญใหญ่ นายหัตถาจารย์จึงได้นำเข้าไปถวายตัวให้ทําราชการในพระเจ้าพรหมทัต ด้วยบุญญาภินิหารของทีฆาวุกุมารบันดาลให้พระเจ้าพรหมทัตโปรดปรานใช้สอยอย่างสนิทชิดชอบพระอัธยาศัยทุกประการ

ครั้งหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสด็จไปประพาสป่า โปรดให้ทีฆาวุกุมารเป็นสารถี ทีฆาวุกุมารขับรถพระที่นั่งไปโดยเร็วจนกระบวนล้าหมดตามเสด็จไม่ทัน เมื่อไปในราวป่าถึงต้นไทรใหญ่ร่มชิด พระเจ้าพรหมทัตจึงสั่งให้หยุดรถประทับพักเหนื่อยอยู่ใต้ร่มไทร โปรดให้ทีฆาวุนั่งลง แล้วเอนพระเศียรพาดตักทีฆาวุกุมารบรรทมหลับไป ฝ่ายทีฆาวุกุมารคิดว่า พระเจ้าพรหมทัตฆ่านี้บิดามารดาเราเสีย ครั้งนี้เป็นช่องที่เราจะตอบแทนได้แล้ว เราจะประหารชีวิตพระเจ้าพรหมทัตเสียบ้าง คิดแล้วเอื้อมไปชักพระแสงออกจากฝักจะฟันพระเจ้าพรหมทัต แล้วได้สติคิดถึงโอวาทของพระบิดาว่า เวรไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมสงบระงับไปด้วยไม่มีเวร เราจะล่วงละเมิดคำสอนของบิดานั้นไม่ควร คิดแล้วสอดพระแสงเข้าไว้ในฝักดังเก่า แล้วกลับคิดอีกว่าเมื่อไรเล่าจะได้ช่องอย่างนี้ เราจะตอบแทนเสียให้ทันท่วงทีดีกว่า จึงชักพระแสงออกจากฝักจะประหารพระเจ้าพรหมทัตอีก แล้วมีสติระลึกถึงโอวาทพระบิดายั้งไว้ได้อีก สอดพระแสงเข้าไว้ในฝักดังเก่า แต่ทําดังนี้อยู่หลายครั้งจนพระเจ้าพรหมทัตบรรทมตื่นขึ้นตรัสถาม ทีฆาวุกุมารจึงกราบทูลว่า ถ้าพระองค์ไม่ถือโทษโปรดให้ชีวิตข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจึงจะกราบทูลความเรื่องนี้ พระเจ้าพรหมทัตก็ทรงอนุญาตประทานความสัตย์แก่ทีฆาวุกุมาร ทีฆาวุกุมารก็ถวายสัตย์แก่พระเจ้าพรหมทัต ว่าจะไม่ประทุษร้ายกันแล้วจึงได้เล่าเหตุถวายตามที่เป็นนั้นทุกประการ พระเจ้าพรหมทัตก็มิได้มีพระหฤทัยรังเกียจ โปรดให้อภัยแก่ทีฆาวุ ให้ขับราชรถกลับคืนยังพระนคร แต่นั้นมาพระเจ้าพรหมทัตก็โปรดปรานทีฆาวุกุมารยิ่งขึ้น ชุบเลี้ยงให้มียศศักดิ์ศฤงคารคล้ายกับลูกหลวงเอก อยู่ไม่นานนักก็โปรดให้ทีฆาวุไปครองโกศลชนบท ซึ่งเป็นที่เดิมของบิดา ครั้นอยู่นานมาพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต ไม่มีพระราชโอรส ทีฆาวุกุมารก็ได้รับราชสมบัติในเมืองพาราณสี ดํารงพิภพทั้งสองพระนคร เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบวงศ์กษัตริย์ต่อไป

มีข้อความในทีฆาวุชาดกดังนี้ จึงถือว่าการซึ่งประชุมจตุรงคเสนาสี่หมู่ และชําระพระขรรค์เป็นการสวัสดิมงคลให้เจริญความสัตย์และระงับเวรแต่โบราณมา เป็นพระราชพิธีเนื่องกันทั้งถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา และการพระราชพิธีนี้ เรียกชื่อติดกันว่าขรรคโธวนพิธีศรีสัจจปานกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเพิ่มเติมการพระราชกุศลขึ้นเป็นพิธีสงฆ์ ตั้งที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ปราสาทซึ่งเป็นที่ทอดพระเนตรกระบวนแห่ พระแท่นมณฑลที่ใช้ในการพระราชพิธีนี้ ใช้เครื่องช้างเครื่องม้าตั้งแทน คือตั้งม้าทองใหญ่เรียงติดๆ กันไปสามม้า ข้างเหนือตั้งพระที่นั่งกาญจนฉันท์ที่สำหรับทรงพระชัยนำเสด็จ พระที่ตั้งในการพระราชพิธีนี้ใช้พระชัยเงินองค์น้อย ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเคยใช้อยู่ในการช้างๆ เป็นอันมาก และพระชัยเนาวโลหน้อยมีหม้อน้ำสำริดติดเทียนเล่มหนึ่งตั้งใบหนึ่ง หีบเครื่องพิชัยสงคราม ๒ หีบ ใต้กูบวางเครื่องช้างชนักต้น หลังพระที่นั่งกาญจนฉันท์นี้ผูกราวบันไดแล้วพาดพระแสงขอ คือ พระแสงเจ้าพระยาแสนพลพ่าย พระแเสงขอเกราะ พระแสงขอหอก พระแสงขอธารพระกร พระแสงของ้าวดับเพลิง พระแสงขอต่างๆ นี้อย่างละองค์หนึ่งบ้างสององค์บ้าง รวมด้วยกันเป็นพระแสงขอ ๑๑ องค์ มีม้ากลางตั้งพระคชาธารปักบวรเศวตฉัตร ๗ ชั้น ประดับด้วยเครื่องพระคชาธาร คือธงนารายณ์สองข้าง และตรงกลาง เป็นสามธงด้วยกัน มีราวพาดพระแสงสองข้าง คือพระแสงทวนคู่ ๑ พระแสงตรีด้ามยาวคู่ ๑ พระแสงง้าวคู่ ๑ พระแสงหอกซัดคู่ ๑ แพนหางนกยูงคู่ ๑ พระแสงซึ่งตั้งพระราชพิธีถือน้ำแล้วเชิญไปตั้งบนพระคชาธาร คือพระแสงศรสาม พระขรรค์ชัยศรี พระขรรค์เนาวโลห พระแสงเวียต พระแสงฟันปลาฝักประดับพลอยแดง พระแสงทรงเดิมฝักมุก พระแสงฝักทองเกลี้ยง เครื่องประดับเพชร พระแสงตรีเพชร พระแส้หางช้างเผือก พระแสงทั้งนี้ตั้งบนพานทองสองชั้น แต่ธารพระกรเทวรูป ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ ผูกควบคันพระเศวตฉัตร หีบพระแสงจีบกับพระแสงปืนสั้นวางอยู่กับพื้นพระคชาธาร มาข้างตะวันตกตั้งเครื่องม้าพระที่นั่ง คือพระที่นั่งอานเทพประณม ๑ อานครุฑกุดั่น ๑ อานฝรั่งปักทอง ๒ เป็น ๔ เครื่อง พระแส้สององค์ ตั้งเต้าลอนทองเหลืองสี่เต้า และบาตรน้ำมนต์ด้วย พระสงฆ์ที่สวดมนต์ใช้พระราชาคณะไทยนำ พระครูปริตรไทย ๔ พระราชาคณะรามัญนำพระครูปริตรรามัญ ๔

เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไม่ใคร่ขาด เพราะใกล้พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงจุดเครื่องนมัสการทรงศีลแล้ว อาลักษณ์อ่านคําประกาศ คําประกาศนั้นเริ่มว่า ขอประกาศแก่พระสงฆ์และเทพยดา ว่าพระเจ้าแผ่นดินได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงพระราชดําริถึงการแต่ก่อน เคยทําพระราชพิธีซึ่งเรียกว่าขรรคโธวนพิธีศรีสัจจปานกาล ชําระอาวุธและดื่มน้ำพระพิพัฒน์ ซึ่งเรียกว่าพระราชพิธีธรรมิกมงคล ให้เจริญความสามัคคีซื่อตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง ช่วยกันปราบปรามหมู่ปัจจามิตรรักษาพระราชอาณาเขต เป็นการยั่วยวนใจให้หมู่ทหารทั้งปวงเกิดความกล้าหาญ เคยทําปีละสองครั้งเป็นกําหนด ทรงพระราชดําริถึงพระคุณพระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณสืบมา จึงได้ทรงบําเพ็ญพระราชกุศลและให้ตั้งการพระราชพิธี เพื่อจะให้บรมราชพาหนะทั้งปวงเป็นสุขสบายด้วยอำนาจที่ได้ทรงบําเพ็ญพระราชกุศล และการพระราชพิธีนี้บันดาลให้คชตระกูลทั้งปวงมาสู่พระบารมี คือช้างนั้นช้างนั้นออกชื่อพระยาช้างทั้งปวงเต็มตลอดสร้อย จนถึงพระยาปราบไตรจักร พลายปานพลแสน พลายเล็บครบ และช้างวิเศษพลายพังอยู่ในกรุง อีกช้างต่อช้างเถื่อนพลายพังทั้งปวงที่อยู่กรุงเก่าและกองนอกหัวเมือง ม้าก็ว่าชื่อม้าระวางบรรดาที่มีอยู่ จนตลอดถึงม้าเกราะทองซ้ายขวา ม้าแซงนอกซ้ายขวา แล้วจึงได้ว่าถึงเรื่องนิทานที่มาในขันธกวินัย คือทีฆาวุชาดกโดยย่อดังได้กล่าวพิสดารมาข้างต้นแล้วนั้น ลงท้ายก็เป็นคําขอพรตามแบบประกาศทั้งปวงแปลกบ้างเล็กน้อยตามเหตุผลของพระราชพิธี แล้วพระสงฆ์จึงได้สวดมนต์

รุ่งขึ้นเวลาเช้าพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ปักปะรำ ปะรำละสามห้อง สี่ปะรำเรียงห่างกันเป็นระยะเป็นที่จตุรงคเสนาสี่หมู่มายืน วิธีจัดเสนาในเรื่องจตุรงค์สี่หมู่นี้จัดตามแบบซึ่งมีมาในวินัย ที่ว่าพระสงฆ์ดูกระบวนเสนาต้องอาบัติปาจิตตีย์ มีคําอธิบายว่าเสนานั้นคืออย่างไร จึงได้ชี้แจงวิธีซึ่งจัดทหารเข้ากองเป็น ทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ ทัพพลเดินเท้า ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตก็ได้ทรงยกมาว่าไว้ในหนังสือนครกัณฑ์อีกแห่งหนึ่ง เป็นวิธีจัดทหารเป็นหมู่เช่นกับเซกชัน แล้วรวมเป็นกัมปนี เป็นเรยิเมนต์ เป็นแบ็ดตะเลียนขึ้นไปตามลำดับ แต่ตำราที่ค้นได้กันนี้ คงจะไม่พอตลอดที่จะรู้ได้ทั่วถึงว่าวิธีจัดทหารอย่างโบราณนั้น เขาจัดหมวดจัดกองกันอย่างไร เพราะไม่ประสงค์ที่จะว่าให้เป็นตําราทหาร ประสงค์แต่จะว่า ว่าเมื่อภิกษุดูกองทหารเช่นนั้นเท่านั้น นับว่าเป็นกระบวนเสนาต้องอาบัติปาจิตตีย์เหมือนกับกําหนดว่าภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ให้ ตั้งแต่ห้ามาสกหรือสองสลึงเฟื้องขึ้นไปเป็นต้องอทินนาทานปาราชิก แต่ฝ่ายเราที่ต้องการจะยกมาจัดเอาอย่างบ้างนั้น ด้วยความประสงค์ที่จะให้เหมือนกับจตุรงคเสนาที่พระมเหสีพระเจ้าทีฆีติโกศลได้เห็นนั้นอย่างหนึ่ง และเป็นการพระราชพิธีอยู่ ถ้าเข้าบาล่ำบาลีอยู่บ้างดูเป็นมงคลมากขึ้น จึงจัดอย่างย่อๆ เพียงเซกชันหนึ่ง ตามที่มีปรากฏชัดเจน แต่ที่แท้พระมเหสีพระเจ้าทีฆีติโกศลคงจะได้ดูริวิ้วใหญ่ คงจะไม่ใช่ดูย่อๆ เช่นนี้เป็นแน่ ถ้าเรามีริวิ้วใหญ่ ประชุมทหารหมู่ใหญ่ได้เมื่อใด จะนับว่าเป็นสวัสดิมงคลยิ่งกว่าดูจตุรงคเสนานี้ได้เป็นแน่ จตุรงคเสนาที่จัดมายืนในเวลาเช้าสี่หมู่นี้ คือปะรําหนึ่ง พลช้างสามช้าง ผูกสัปคับเขน มีหมอควาญประจำ บนสัปคับมีทหารปืนนกสับนั่งช้างละสองคน พลล้อมเชิงถือดาบสองมือประจําเท้าช้างเท้าละสองคน เป็นแปดคน ปะรำที่ ๒ พลม้าสามม้า นายทหารม้าขี่สามคน พลล้อมเชิงถือง้าวสองคน เครื่องม้าผูกแพนหางนกยูง ปะรำที่ ๓ พลรถสามรถ รถนั้นเป็นรูปเกวียนทาเขียวๆ มีเพดาน เทียมโคผูกเครื่องอาวุธต่างๆ มีเสนารถคนหนึ่ง สารถีคนหนึ่ง คนล้อมรถถือดาบเขนรถละสี่คน ปะรำที่ ๔ พลเดินเท้าสามพวกๆ ละ ๑๒ คน พวกหนึ่งถือดาบเชลย พวกหนึ่งถือทวน พวกหนึ่งถือตรี รวมทั้งสี่ปะรำ เป็นคน ๙๓ คนนับเป็นกัมปนีหนึ่ง เมื่อใช้ทั้งสี่อย่างปนกันหรือเป็นอย่างละเซกชันในหมู่ทหารพวกหนึ่งๆ เมื่อเวลาเลี้ยงพระสงฆ์แล้วเคยโปรดให้กระบวนเสนาทั้งสี่หมู่นี้เดินไปเดินมาตามถนนหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์

เมื่อเสด็จขึ้นแล้ว พระพฤฒิบาศเชิญหม้อสำริดซึ่งตั้งอยู่ในพระราชพิธี ลงมาอ่านเวทพระอุเทน เป่าสังข์ถึงเจ็ดลา แล้วเชิญพระแสงซึ่งไปตั้งในพระราชพิธีนั้น ลงชุบในหม้อ น้ำในหม้อนี้สำหรับส่งข้างใน ถวายพระอัครมเหสีและพระสนมกํานัล เสวยและรับพระราชทาน แต่ภายหลังมานี้ดูรวมๆ กันไปอย่างไรไม่ทราบ ด้วยลัทธิที่ถือกันว่ามีครรภ์ กินน้ำมนต์แล้วลูกตกมีหนามาก อีกนัยหนึ่งที่เพ้อกันไปว่า เป็นน้ำล้างศัสตราอาวุธจะเข้าไปบาดลูกบาดเต้าหรือเป็นลูกของท่านไม่ต้องถือน้ำ ดูอุบๆ อิบๆ กันอยู่อย่างไรไม่เข้าใจชัด อยู่ในเป็นถ้าเวลาถือน้ำใครมีครรภ์ก็ไม่ไปถือน้ำโดยมาก จนคนนอกวังพลอยถือด้วยก็มีชุม ส่วนคนในวังที่เป็นคนดีๆ ไม่เชื่อถือตำรานี้ เวลามีครรภ์อ่อนๆ ไปถือน้ำ ก็ไม่มีผู้ใดเป็นอันตรายอย่างใด เว้นไว้แต่เวลาที่มีครรภ์แก่ ไม่งามที่จะเข้าประชุมจึงได้งดเว้นก็มีอยู่บ้าง อีกนัยหนึ่งพึ่งได้ทราบมาว่า มีผู้ถือกันว่าทารกที่เกิดมาในครรภ์นั้นเป็นสัตว์ไม่มีบาป ถ้ามารดามาถือน้ำมีใจทุจริตคิดประทุษร้ายอยู่อย่างหนึ่งอย่างใด ก็จะพาให้ทารกที่อยู่ในครรภ์ซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีบาปนั้นพลอยเป็นอันตรายด้วย ความคิดอันนี้เป็นการผิดมากไปยิ่งกว่าที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นสองอย่างหรือสามอย่าง คือข้อซึ่งว่ามีครรภ์อยู่กินน้ำมนต์มักจะทําให้ลูกตก ที่ถือเช่นนี้ไม่เลือกว่าน้ำมนต์อันใด น้ำพระพิพัฒน์นี้ก็นับว่าเป็นน้ำมนต์ ซึ่งพระสงฆ์ได้สวดปริตรแล้วอย่างหนึ่งเหมือนกันจึงถือด้วย เหตุที่ถือกันขึ้นนี้คงจะเกิดขึ้นด้วยน้ำสะเดาะ ที่เวลาคลอดลูกขัดข้องไม่สะดวก ก็มักจะมีผู้หลักผู้ใหญ่หรือมดหมอเสกน้ำสะเดาะให้กิน คาถาที่เสกน้ำสะเดาะนั้นมักจะเป็น ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะชาติยา ชาโต เป็นต้น หรือมีคาถาที่เป็นภาษาไทยแต่งอย่างมคธซึมซาบต่างๆ ตามลัทธิที่เคยถือมา ก็สวดปริตรทั้งปวง เช่นสิบสองตำนาน เจ็ดตํานานก็คงมีบทว่า ยะโตหัง ภะคินิ ด้วย กลัวจะไม่รั้งรอจะไปช่วยผลักช่วยรุนออกมาเสียแต่ยังไม่ถึงกําหนด ก็เอาเถิดว่าเป็นคนขี้เชื่อก็เชื่อไป อีกอย่างหนึ่งซึ่งกลัวว่าเป็นน้ำศัสตราวุธจะไปบาดเด็กในท้องนั้นก็เป็นการถือยับถือเยินด้วยความขลาด ให้เสียวไส้ไป ดูก็ไม่กระไรนัก การที่ถือว่าเป็นลูกเป็นเต้าของท่านไม่ต้องถือน้ำนั้น ก็เป็นอย่างซึมซาบเซอะซะเหลวเลอะไป เพราะเจ้านายลูกเธอเขาก็ต้องถือน้ำด้วยกันทั้งสิ้น ดูก็เป็นเซอะซะไปเสียไม่สู้กระไรนัก แต่ข้อซึ่งกลัวว่ามารดามีใจทุจริตจะพาให้ทารกซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีบาปพลอยเป็นอันตรายด้วย จึงไม่ถือน้ำเป็นการทําวินัยกรรมแก้ไขหลีกเลี่ยงนั้นเป็นการโกงมาก และโกงก็ไม่รอดตัวด้วย ใครผู้ใดจะเป็นประกันได้ ว่าคำสาบานและน้ำพระพิพัฒน์ที่ได้ถวายสัตย์และดื่มไว้แล้วหกเดือนล่วงมานั้น จะจืดสิ้นพิษสงลงในหกเดือนเป็นแน่แล้ว หรือจะมีผู้ใดมารับประกันว่าให้คิดการทุจริตอย่างไรอย่างไรก็คิดไปเถิด แต่ให้เว้นดื่มน้ำพระพิพัฒน์เสียคราวหนึ่งแล้วจะไม่มีอันตรายอันใดเลย ก็ถ้าหากอันตรายที่ดื่มน้ำพระพิพัฒน์ในเวลามีครรภ์อยู่นั้น จะทำอันตรายแก่ตัวมารดาซึ่งมีใจทุจริตได้ น้ำพระพิพัฒน์ที่ดื่มมาแต่ก่อนๆ ก็คงจะตามมาทำอันตรายได้เหมือนกัน จึงเห็นว่าการที่ถืออย่างชั้นหลังนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าพูดออกก็เห็นเป็นการโกงไม่งามเลย มีดีอยู่ท่าเดียวแต่เพียงว่าเวลามีครรภ์ไม่สมควรจะเข้าในที่ประชุม มีความอับอายเป็นสนิทกว่าอย่างอื่นหมด ก็แต่น้ำซึ่งทําในพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน ซึ่งไม่มีผู้บริโภคนี้จะเป็นมาแต่ครั้งไรก็ไม่ทราบ คงจะเป็นด้วยเหตุที่ถือลัทธิเล็กน้อยเหล่านี้นั้นเอง ยังคงอยู่แต่ถ้าพระอัครมเหสี พระราชเทวี หรือเจ้าจอมอยู่งานคนใดมีครรภ์ ก็ออกไปที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ดูจตุรงคเสนาและรับน้ำสังข์ ซึ่งพราหมณ์พฤฒิบาศมารดให้เป็นธรรมเนียมสืบมาจนทุกวันนี้ เป็นเสร็จการในเวลาเช้า

ครั้นเวลาบ่ายจึงได้ตั้งกระบวนแห่เดินแห่คเชนทรัศวสนานก็อย่างสระสนานนั้นเอง เป็นแต่ย่อเตี้ยๆ ลงพอสมควร คือ

กระบวนแรกธงห้าชายนำ ๑ ธงมังกร ๑๕ คู่ ธนูหางไก่ ๕ คู่ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๕ คู่ แล้วธงมังกรอีก ๕ คู่ จึงถึงกลองชนะ ๕ คู่ มีแต่จ่าปี่ ไม่มีจ่ากลอง พระที่นั่งกาญจนฉันท์ผูกช้างพลายมีชื่อทรงพระเทวกรรม เดินข้างช้างแส้หวาย ๑๐ คู่ กระบองกลึง ๖ คู่

กระบวนที่ ๒ ช้างดั้ง เมื่อยังไม่มีทหารช้างก็แต่งกระบวนมีพลล้อมเชิง เหมือนอย่างเช่นที่มายืนหน้าพลับพลาเวลาเช้า แต่ครั้นเมื่อมีทหารช้างแล้ว เปลี่ยนเป็นกระบวนทหาร มีธง แตร ออกหน้า ช้างทหาร ๖ ช้างผูกสัปคับเขน มีทหารประจํากลางสัปคับ ๒ หมอ ๑ ควาญ ๑ มีทหารเดินเท้าคั่น ๖ ตับๆ ละ ๒๔ คน เป็นกระบวนหนึ่ง

กระบวนที่ ๓ ธงห้าชายนํากระบวน ธงสามชายนำริ้ว ธงมังกร ๕ คู่ ธนูหางไก่ ๑๐ คู่ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๑๐ คู่ ธงเสือปีก ๒ คู่ กลองชนะ ๑๐ คู่ มีจ่าปี่จ่ากลอง แตรงอน ๖ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่ สังข์คู่ ๑ ช้างพังนำผูกเครื่องสักหลาด แส้หวายข้างช้าง ๘ คู่ กระบองกลึง ๖ คู่ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ จึงถึงพระยาช้าง เครื่องยศตาม กล้วยอ้อยมะพร้าวหญ้า หม้อน้ำสอง แส้หางม้าคู่หนึ่ง ช้างพังทูนบาศตามคู่หนึ่ง ต่อนั้นพระยาวานรเผือก คนหามไม้คานสอง สัปทนกั้นหนึ่ง มีโต๊ะเครื่องยศสอง เป็นกระบวนหนึ่ง กระบวนเช่นนี้พระยาช้างมีอยู่กี่ช้างในเวลานั้น ก็จัดกระบวนขึ้นตามรายตัว จํานวนคนก็เกือบๆ จะเท่ากัน ลดบ้างเล็กน้อย แต่พระยาวานรนั้น เฉพาะมีแต่กระบวนช้างเผือกพัง ที่ว่านี้อยู่ข้างจะเป็นอย่างหมาย แต่ที่จริงนั้นมักจะเห็นเต็มกระบวนอยู่เพียงสองกระบวนหรือสามกระบวน ที่พระยาช้างเหลือกว่านั้นมักจะเดินต่อๆ กันมาเปล่าๆ โดยมาก

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนช้างอย่างโท เครื่องแห่ก็คล้ายๆ กันกับกระบวนก่อน เป็นแต่ลดน้อยลงไป ใช้กลองชนะเขียว ยกแตรสังข์จ่ากลอง คงแต่จ่าปี่ประโคมอย่างที่เรียกว่าสี่ไม้ กระบวนโทนี้ก็เกณฑ์เป็นรายตัวช้างอีก แต่ก็มีกระบวนเดียวเดินต่อๆ กันทุกครั้ง

ถัดนั้นจึงถึงพระที่นั่งละคอ ถ้าหน้าแล้งคือเดือน ๕ ผูกเครื่องแถบกุดั่น หน้าฝนคือเดือน ๑๐ ผูกเครื่องลูกพลูแถบกลม ผูกพนาศน์พระที่นั่งทั้งสองคราว

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนพระราชวังบวรฯ มีช้างพังสีประหลาดซึ่งพระราชทานไปแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวช้างหนึ่ง แต่งกระบวนอย่างโท ช้างพลายอีกช้างหนึ่ง ผูกพระคชาธารปักเศวตฉัตรห้าชั้น มีคนฟ้อนแพนกลางช้าง เป็นสิ้นกระบวนช้าง

ต่อนั้นไปกระบวนม้า มีธงห้าชายนำกระบวน ๑ ธงสามชายนำริ้วคู่ ๑ ธงตะขาบ ๑๐ คู่ ธนูหางไก่ ๑๐ คู่ ธงตะขาบคั่นทวน ๑๐ คู่ ปี่กลองมลายูเดินหว่างริ้ว กลอง ๔ ปี่ ๒ ฉาบ ๔ กลองชนะ ๕ คู่ มีแต่จ่าปี่ กระบองกลึง ๕ คู่ ทหารม้าเกราะทอง ๒๔ เดินสองแถว ตัวนายกรมม้าสวมเสื้อเยียรบับโพกสีขลิบทองนำคู่ ๑ แล้วจึงถึงม้าพระที่นั่งคนจูง ๔ กระฉิ่งสอง เครื่องยศ ๒ แส้ ๑ ม้าที่ใช้เดินอยู่ใน ๖ ม้าเป็นกําหนด ม้าพระที่นั่งตัวหนึ่ง มีเจ้ากรมปลัดกรมกรมม้าขี่ม้านําคู่ ๑ ทุกม้า แต่ไม่มีกระบวนธนูและทวน แยกเป็นกระบวนใช้เดินต่อๆ กัน มีแต่กระฉิ่งเกล็ดเครื่องยศคั่น

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนม้าวังหน้าสองม้า ปลายกระบวนพิณพาทย์จีนสำรับหนึ่ง

สิ้นกระบวนม้าแล้วถึงกระบวนโค ธงเสือปีกนำกระบวน ๑ นำริ้ว ๒ ประตัก ๑๐ คู่ ธงเสือปีกคั่นคู่ ๑ ตะพด ๑๐ คู่ กลองแขกหว่างกระบวนสำรับหนึ่ง จึงถึงโค ๖ โค คนจูงโคละ ๔ สิ้นกระบวนโคแล้ว กระบวนกระบือเหมือนกันกับกระบวนโค แต่มักจะควบเป็นกระบวนเดียวกันโดยมาก

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนรันแทะเทียมโคเหมือนอย่างที่มายืนหน้าพลับพลาเวลาเช้าสามรันแทะ ต่อไปจึงเป็นรถพระที่นั่งทรงที่นั่งรองซึ่งใช้อยู่เป็นปรกติ

ต่อไปเป็นกระบวนทหารปืนใหญ่สามบอก มีธง ขลุ่ย กลอง หมดทหารปืนใหญ่แล้ว ถึงทหารปืนเล็ก มีแตรวง ทหาร ๒๐๐ กระบวนเหล่านี้เดินลงไปถึงท้ายป้อมมณีปราการ มีเกยข้างถนนสองเกย เกยข้างตะวันออกราชบัณฑิตคอยประน้ำพระพุทธมนต์ เกยข้างตะวันตกพราหมณ์สองคนคอยรดน้ำสังข์ กระบวนทั้งปวงเดินเลี้ยวทางถนนท้ายสนม แต่ทหารปืนเล็กเดินเวียนกลับเข้าไปในสนามมายืนรายหน้าพลับพลา

เมื่อเดินกระบวนสิ้นแล้ว ถ้าเป็นเดือน ๕ แต่ก่อนเคยมีผัดพาฬปักปะรําสองข้าง คนออกผัดพาฬบ้าง ขี่ม้าล่อแพนบ้าง บางปีก็มีช้างหนึ่ง บางปีก็มีสองช้าง แต่ก่อนๆ มีทรงโปรยทานเวลานั้นด้วย ใช้ทรงโปรยด้วยไม้ทานตะวันออกไปถึงกลางสนาม คนเข้ามาแย่งกันในเวลาผัดช้างดูมันช่างไม่กลัวเกรงกันเลย จนไปมีเหตุขึ้นครั้งหนึ่งกําลังคนเข้าไปแย่งทานอยู่ ครั้งนั้นพระบรมไอยเรศกําลังคลั่งมันจัด เห็นคนกลุ่มๆ อยู่ก็วิ่งผ่าเข้าไปในกลางคน คนก็ต่างคนต่างวิ่งหนีไป แต่คนหนึ่งนั้นกําลังคว้ามะนาวอยู่ล้มถลาไป พระบรมไอยเรศตรงเข้าเหยียบศีรษะแบนกับที่ แต่นั้นมาก็ไม่ได้ทรงโปรยทานในเวลาผัดช้างต่อไปอีก

เมื่อช้างน้ำมันกลับแล้ว จึงถึงม้าห้อ ม้าห้อนั้นใช้ม้าซึ่งเข้ากระบวนทั้งสิ้น ยกเสียแต่ม้าพระที่นั่ง มีจำนวนกำหนดว่า ๕๐ แต่ม้าในกระบวนก็ไม่ครบ ๕๐ เมื่อห้อไปถึงท้ายพระที่นั่งสุทไธศวรรย์แล้ว ก็เดินจูงม้ากลับมาทางห้างวิสหลุย[๑] มาห้อหน้าพลับพลาอีกจนครบจํานวน ๕๐ เป็นการเกรียวกราวเอิกเกริกสนุกสนานกันมากทั้งผัดช้างและม้าห้อ แต่เดือน ๑๐ เป็นฤดูฝน สนามเป็นหลุมเป็นโคลนไม่ได้มีผัดช้าง ม้าห้อนั้นบางปีก็ได้ห้อ บางปีก็ไม่ได้ห้อ

ครั้นวันเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ เจ้าพนักงานจัดบายศรีไปตั้งสมโภชเวียนเทียนพระยาช้างและช้างวิเศษ ช้างพระที่นั่ง ม้าพระที่นั่ง ทุกโรง เป็นเสร็จการพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน

คําตักเตือนสำหรับการพระราชพิธีนี้ แต่ก่อนๆ มาเคยเสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ทุกๆ คราวมิได้ขาด แต่ในรัชกาลปัจจุบันนี้ เพราะที่ประทับห่างที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ จึงไม่ใคร่จะได้เสด็จพระราชดำเนิน แต่ถึงอย่างไรก็ดี ควรที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่จะมาเฝ้าตามปรกติจะเข้ามาแต่เย็นหน่อยหนึ่ง เผื่อว่าถ้าเสด็จออกจะได้เฝ้าหน้าพลับพลาและบนพลับพลาให้แน่นหนาตามแบบอย่าง การตักเตือนนอกนั้นก็ไม่มีอันใด นอกจากที่จะเตือนกรมยุทนาธิการว่า ถ้าจัดการริวิ้วให้ได้คนมากๆ จริงๆ จะเป็นการสวัสดิมงคลแก่พระนคร และเป็นที่เกรงขามแก่ศัตรูหมู่ปัจจามิตร เป็นเหตุให้ราษฏรมีความสวามิภักดิ์รักใคร่ในพระเจ้าแผ่นดิน ยิ่งกว่ามีพระราชพิธีสระสนานหรือคเชนทรัศวสนานเป็นแท้ ๚

[๑] นายหลุยซะเวีย ภายหลังได้เป็นขุนภาษาบริวัติ เรียกกันในรัชกาลที่ ๔ ว่าวิสหลุย ตั้งห้างขายของที่ตึกแถว ๒ ชั้นของหลวง อยู่ตรงกับมุมวังสราญรมย์ตึกยังอยู่จนทุกวันนี้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ