พระราชกุศลเทศนามหาชาติ

๏ มีการพระราชกุศลในเดือนอ้ายนี้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการประจำปีอยู่ แต่เป็นการซึ่งเลือนๆ มา มิใช่แบบกำหนด คือเทศนามหาชาติ

เทศนาสำหรับแผ่นดิน เป็นพระราชกุศลนิจสมัยมีมาแต่เดิมนั้น ๓๓ กัณฑ์ ซึ่งมีกำหนดเครื่องกัณฑ์คล้ายบริขารกฐิน คือผ้าไตรแพร เงิน ๑๐ ตำลึง ขนมต่างๆ ดังเช่นกล่าวมาในเทศนาเดือน ๑๒ นั้น ธรรมเนียมแต่เดิมเคยเป็นเทศนามหาชาติ ๒ จบ ๒๖ กัณฑ์ อริยสัจ ๔ กัณฑ์ เดือนสิบสอง ๓ กัณฑ์ รวมเป็นเทศนาวิเศษสำหรับแผ่นดิน ๓๓ กัณฑ์

ในรัชกาล ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ในเดือนสิบเอ็ดวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำมีมหาชาติ แรมค่ำ ๑ มีอริยสัจ ครบทั้ง ๓๐ กันฑ์ เมื่อเทศนาจบแล้วจึงเสด็จลงลอยพระประทีป แต่ในรัชกาลที่ ๓ นั้น ถ้าปีใดมีพระองค์เจ้าหม่อมเจ้าทรงผนวชเป็นภิกษุและสามเณรมาก ปีนั้นก็มีมหาชาติ ปีใดไม่ใคร่มีพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าทรงผนวชก็เปลี่ยนเทศนาปฐมสมโพธิแบ่งวันละ ๑๐ กัณฑ์ ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลางเดือนสิบเอ็ดต้องกับการฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา ซึ่งทรงทำการเติมขึ้น ในเมื่อรัชกาลที่ ๓ แรกมีพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษานั้น เคยฉลองในวันเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ด้วยวันเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ ๓ นั้น คงตกอยู่ในเดือน ๔ ข้างแรม เดือน ๕ ข้างขึ้น พระพุทธรูปหล่อในเดือน ๔ ข้างขึ้น ถึงเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ก็ได้ฉลองทุกปี ครั้นมาถึงในรัชกาลที่ ๔ วันประสูติเดิมอยู่ในเดือน ๑๑ จึงได้โปรดให้เลื่อนการหล่อพระชนมพรรษามาหล่อในเดือน ๑๐ การฉลองพระชนมพรรษา จึ่งได้มาฉลองในเดือนสิบเอ็ดขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เทศนามหาชาติก็ต้องเลื่อนไป มีเทศนาวิเศษเปลี่ยนแทนวันละกัณฑ์ การเทศนามหาชาตินั้นคงไปตกอยู่ในเดือน ๑๒ ข้างขึ้นบ้าง ข้างแรมบ้าง ไม่กำหนดแน่ แต่มักจะโปรดให้มีแต่จบเดียว แล้วมีอริยสัจรวมเป็น ๑๗ กัณฑ์ ยกมหาชาติ ๑๓ กัณฑ์นั้นไปเป็นเทศน์วิเศษ ในกลางเดือนสิบเอ็ด ๓ กัณฑ์ ในการเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ กัณฑ์ ยังคงเหลือเทศน์วิเศษอยู่อีก ๖ กัณฑ์ ไว้สำหรับรายใช้ไปในการพระราชกุศลต่างๆ ไม่ให้ต่ำกว่าจำนวนเดิม ๓๓ กัณฑ์ ถ้าบางปีมีเจ้าพระเจ้าเณรบ้าง อย่างเช่นปีข้าพเจ้าบวชก็มีมหาชาติ ๒ จบเต็ม ๓๐ กัณฑ์บ้าง ถ้าเป็นเช่นนั้นเทศน์วิเศษก็คงเป็นอันเติมขึ้นอีก ๗ กัณฑ์ รวมเป็น ๔๐ กัณฑ์ แต่ครั้นตกมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ถ้าว่าการฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษาไม่ตกเดือนสิบเอ็ดก็จริง แต่ต้องทำบุญวันประสูติวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกลางเดือน ๑๑ จึงเลื่อนมหาชาติมามีตามเดิมไม่ได้ ยังซ้ำเดือน ๑๒ เมื่อเลื่อนฉัตรมงคลมาทำในเดือน ๑๒ ก็ทำให้การในเดือน ๑๒ มากจนไม่ใคร่มีเวลาว่าง เทศนามหาชาติจึงต้องเลื่อนต่อไปเดือนอ้าย ซึ่งเป็นเดือนว่าง แต่ถึงกระนั้นก็ถูกคราวเสด็จหัวบ้านหัวเมืองเสียไม่ได้มีเนืองๆ และเจ้านายที่ทรงผนวชก็ไม่ใคร่มีใครอยู่ถึงเดือนอ้าย จึ่งไม่ชวนจะให้มีด้วย เพราะฉะนั้นเทศน์มหาชาติจึ่งได้มีบ้างไม่ได้มีบ้าง บางปีก็มี ๒ จบ บางปีมีจบเดียว สุดแท้แต่มีเวลาพอสมควรเท่าใด แต่มีจบเดียวโดยมาก

การเทศนามหาชาติแต่ใน ๓ รัชกาลก่อนนั้น เทศน์บนพระที่นั่งเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแห่งเดียว ยกไว้แต่มีพระบรมศพอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึ่งได้ยกขึ้นไปเทศนาบนพระแท่นมุก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เคยยกไปมีที่พระที่นั่งอนันตสมาคม แต่แรกข้างในฟังไม่ได้ยิน จึงได้ย้ายเข้าไปมีที่พระที่นั่งทรงธรรมข้างใน ข้าราชการที่เข้าไปในการเทศนานั้น เฉพาะแต่เจ้านาย เจ้าพนักงานกรมพระตำรวจและมหาดเล็ก บนพระที่นั่งทรงธรรมเป็นข้างในฟังทั้งสิ้น ครั้นแผ่นดินปัจจุบันนี้ย้ายกลับมาเทศน์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยไปตามเดิม เพราะเสด็จอยู่ทางนี้ เมื่อพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยต้องซ่อมแซมใหม่ จึงได้ยกมาเทศน์ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

การตกแต่งเครื่องบูชาเทศนานั้น แบบที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย หลังพระที่นั่งเศวตฉัตรผูกกิ่งไม้ มีดอกไม้ร้อยห้อยย้อยเป็นพวงพู่ผูกตามกิ่งไม้ทั่วไป บนพระแท่นถมตั้งพานพุ่มดอกไม้พานทองสองชั้นขนาดใหญ่ขนาดเล็กเรียงสองแถว ตะบะถมตั้งหญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะลิ ถั่ว งา และมีพานเครื่องทองน้อยแก้วห้าสำรับ ตั้งตะเกียงแก้วแทรกตามระหว่างเครื่องทองน้อยตรงหน้าพระที่นั่งเศวตฉัตรออกไป ตั้งหมากพนมพานทองมหากฐินสองพาน หมากพนมใหญ่พานแว่นฟ้าสองพาน แล้วพานนี้เปลี่ยนเป็นโคมเวียน มีต้นไม้เงินทองตั้งรายสองแถว กระถางต้นไม้ดัดลายคราม โคมพโอมแก้วรายตลอดทั้งสองข้าง หน้าแถวมีกรงนกคิรีบูน ซึ่งติดกับหม้อแก้วเลี้ยงปลาทองตั้งปิดช่องกลาง ปลายแถวตั้งขันเทียนคาถาพัน ตามตะเกียงกิ่งที่เสาแขวนฉากเทศน์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ หน้าท้องพระโรงมีซุ้มตะเกียง ๔ ซุ้ม มีราชวัติฉัตรธงผูกต้นกล้วยต้นอ้อยตามธรรมเนียม เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นเวลาเล่นเครื่องแก้วกำลังมีราคามากนั้น ในห้องฉากซึ่งเป็นที่ประทับในพระเฉลียงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนี้ ตั้งเครื่องแก้วเป็นเครื่องนมัสการโต๊ะหมู่ และมีเครื่องประดับต่างๆ งดงามยิ่งนัก เจ้านายข้าราชการฝ่ายในก็มีตะบะเครื่องบูชาเป็นเครื่องแก้ว เครื่องทอง เครื่องถม ประกวดประขันกันเป็นการสนุกสนานมาก แต่ชั้นหลังมานี้ ในพระฉากมีแต่เครื่องนมัสการแก้วโต๊ะประดับกระจกสำรับเดียวเท่านั้น แต่เจ้านายข้าราขการฝ่ายในยังมีเครื่องบูชา ชั้นแก่ๆ จึงใช้ตะบะอย่างเก่าๆ ชั้นสาวๆ ก็เป็นโต๊ะเป็นพานย่อๆ ลงไป เล่นแต่สีดอกไม้ดอกไหล้ ไม่แข็งแรงเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่ถ้าเทศน์ที่พระที่นั่งทรงธรรม จัดม้าหมู่ตรงหน้าธรรมาสน์ มีเครื่องแก้วต่างๆ ฝรั่งบ้างจีนบ้างมากกว่าที่เทศน์ท้องพระโรง แต่ยกต้นไม้เงินทอง ใช้ตั้งต้นไม้สดรายออกไปถึงที่ตั้งเครื่องกัณฑ์

ในเทศนามหาชาติหลวง ได้มีเป็นการใหญ่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศนาคราวหนึ่ง มาเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าบวชเป็นเณรได้ถวายเทศน์ มีกระจาดใหญ่เป็นรูปเรือสำเภา ทำที่หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เป็นกัณฑ์เทศน์เฉพาะตัวคนเดียวคราวหนึ่ง

ธรรมเนียมเสด็จออกมหาชาติ กัณฑ์แรกทศพร เจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจต้องนำตะเกียงที่ซุ้มเข้ามาถวายทรงจุดซุ้มละตะเกียง ต่อไปไม่ต้องถวายอีก มหาดเล็กต้องคอยเปลี่ยนเทียนเครื่องนมัสการ ในเวลาที่เสด็จไปทรงประเคนเครื่องกัณฑ์ให้แล้วเสร็จ ทันเสด็จกลับมาประทับทุกครั้ง เวลาทรงจุดเทียนแล้วต้องรับเทียนประจำกัณฑ์ และเทียนคาถาพันทุกคราว ไม่มีเวลายกเว้น นอกนั้นไม่มีการอันใดซึ่งจะต้องขาดเหลือ ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ