การพระราชกุศลฉลองไตรปี

๏ การฉลองไตรนี้ ไม่ปรากฏว่าเป็นธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งกรุงเก่าหรือประการใด แต่เป็นธรรมเนียมมีมาในกรุงรัตนโกสินทรนี้แต่เดิม ไม่นับว่าเป็นพระราชพิธี เป็นการพระราชกุศลประจำปีซึ่งนำมากล่าวในที่นี้ด้วย เพราะเหตุว่าการฉลองไตรนี้เนื่องอยู่ในพระราชพิธีจองเปรียง และลอยพระประทีป ความประสงค์ของการฉลองไตรนั้น คือว่าพระสงฆ์ซึ่งได้รับยศเป็นราชาคณะฐานานุกรมเปรียญพิธีธรรมบางองค์ หรือคิลานภัตร พระทรงรู้จัก พระช่าง สามเณรเปรียญ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชเป็นภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี เกินกว่าพรรษาหนึ่งขึ้นไป ท่านทั้งปวงนี้ได้พระราชทานไตรจีวรสำรับหนึ่งในเวลาเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินทุกปี มิใช่เกี่ยวในการกฐิน พระสงฆ์และสามเณรทั้งปวงเหล่านี้มีจำนวนทั้งในกรุงและหัวเมืองปีหนึ่งอยู่ใน ๕๐๐ เศษขึ้นไปถึง ๖๐๐ รูป ทั้งที่ได้รับกฐินหลวงด้วย เมื่อผ้าไตรที่ได้พระราชทานไปแก่พระสงฆ์เป็นอันมากดังนี้ ก็ควรจะเป็นที่ชื่นชมยินดีในการพระราชกุศลที่ได้ทรงบริจาคไปเป็นอันมากนั้น จึงได้มีการพระราชกุศลขึ้นในกลางเดือนนั้น กำหนดวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ให้นิมนต์พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญทั้งปวง บรรดาซึ่งได้รับพระราชทานไตรปีมาประชุมพร้อมกันในพระบรมมหาราชวัง ทั้งในกรุงหัวเมือง ยกเสียแต่หัวเมืองไกล ถ้าการสวดมนต์ฉลองไตรนี้ทำที่หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระสงฆ์ไทยสวดมนต์ที่
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทั้งสิ้น พระสงฆ์รามัญสวดมนต์ที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ถ้าทำข้างพระที่นั่งฝ่ายบุรพทิศ พระสงฆ์ไทยคณะมหานิกายสวดมนต์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม คณะธรรมยุติกนิกายสวดมนต์ที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทในปัจจุบันนี้ แต่ครั้นเมื่อภายหลังรื้อพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ทำใหม่ ก็ยกมาสวดมนต์รวมกันในพระที่นั่งอนันตสมาคมทั้ง ๒ คณะ แต่คณะรามัญนั้นคงสวดอยู่ที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ การสวดมนต์มีแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำวันเดียว ต่อนั้นไปแบ่งพระสงฆ์ออกเป็นสามส่วน มาฉันในท้องพระโรงวันละส่วน เข้าบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังวันละ ๒ ส่วน เปลี่ยนกันไปตลอดทั้ง ๓ วัน คือในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันแรมค่ำ ๑ การทรงบาตรในพระบรมมหาราชวังจัดอย่างนักขัตฤกษ์ คือมีผ้าลาดตามทางที่พระสงฆ์เดิน และมีเครื่องนมัสการพานทองน้อยเครื่องห้าตั้งที่ทรงบาตร มีของปากบาตรทวีขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมข้างในแต่งตัวตักบาตรฉลองไตรนี้ ห่อผ้าห่มนอนตาดและเยียรบับแพรเขียนทองหรือแต่งตัวต่างๆ ไปอีกก็มีเป็นคราวๆ แต่ไม่เป็นการเสมอตลอดไป ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ เวลากลางคืนมีทรงธรรม พระราชาคณะผู้ใหญ่ถวายเทศนากฐินทาน อนุโมทนาการพระราชกุศลที่ได้เสด็จไปพระราชทานพระกฐินกัณฑ์ ๑ จีวรทาน อนุโมทนาพระราชกุศลที่ได้พระราชทานไตรปีแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงกัณฑ์ ๑ ปฏิสังขรณทาน อนุโมทนาที่ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามทั้งปวงกัณฑ์ ๑ เครื่องกัณฑ์เทศน์ทั้ง ๓ กัณฑ์ นับในจำนวนเทศนา ๓๐ กัณฑ์ ซึ่งเป็นจำนวนการพระราชกุศลประจำปี คือมีเครื่องกัณฑ์คล้ายๆ บริขารพระกฐิน คือมีตะบะยาเป็นต้น มีเงินติดเทียน ๑๐ ตำลึง และขนมต่างๆ ที่เกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเป็นเจ้าของกัณฑ์

การฉลองไตรนี้ ในรัชกาลก่อนๆ ก็สวดมนต์เลี้ยงพระและเทศนาที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยตลอดมา ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ย้ายสวดมนต์เลี้ยงพระไปพระที่นั่งฝ่ายบุรพทิศ แต่ยังคงมาทรงธรรมที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพราะเป็นทางที่จะได้เสด็จลงทรงลอยพระประทีปในเวลาเมื่อทรงธรรมแล้ว ในปัจจุบันนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่กว้างขวาง ใหญ่กว่าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จึงโปรดให้การฉลองไตรทั้งปวงคงอยู่เหมือนเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

คำตักเตือนในการฉลองไตรนี้ เมื่อวันขึ้น ๑๓ ค่ำพระสงฆ์ที่สวดมนต์ถึง ๕๐๐ เศษหรือ ๖๐๐ รูป เทียนซึ่งถวายพระสงฆ์ในเวลาสวดมนต์จบนั้นมาก มหาดเล็กควรจะต้องคอยรับ และเวลาที่พระเจ้าลูกเธอจะไปถวายควรต้องคอยยกตาม อย่าให้ต้องรั้งรอกันเนิ่นช้าไป

อนึ่ง จะต้องเตือนอย่างจืดๆ อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเวลาพระสงฆ์ฉันแล้วจำจะต้องยถา จำจะต้องทรงพระเต้าษิโณทก ไม่มีเหตุการณ์อันใดที่จะยกเว้นพระเต้าษิโณทกได้เลยในเวลาพระสงฆ์ฉันแล้ว ซึ่งมหาดเล็กบางคนทำอึกๆ อักๆ ไม่แน่ใจว่าจะทรงหรือไม่ทรง หรือทอดธุระเสียว่าไม่ทรงนั้นเป็นการเซอะแท้ ไม่มีข้อทุ่มเถียงอย่างไรเลย

อนึ่ง ในเวลาเมื่อสวดมนต์จบและเวลาเลี้ยงพระแล้ว มีเสด็จออกขุนนางข้าราชการเฝ้าทูลใบบอกและข้อราชการต่างๆ ได้เหมือนออกขุนนางตามเคย

อนึ่ง ในเวลาค่ำที่ทรงธรรมนั้น พอเสด็จออกมหาดเล็กก็ต้องนำเทียนชนวนเข้าไปตั้ง ทรงจุดเครื่องบูชาเทวดาแล้วต้องคอยรับเทียนที่บูชาพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งจะปล่อยให้ทรงจุดทรงวางในตะบะอย่างเช่นมหาดเล็กเคยทำมาบ่อยๆ นั้นไม่ถูก เมื่อรับเทียนนั้นไปแล้วเคยไปติดที่บัวหลังพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งไม่เห็นมหาดเล็กไปติดมาช้านานแล้ว จะไม่มีใครรู้หรือประการใดสงสัยอยู่ เมื่อทรงจุดเทียนเทวดาแล้วทรงจุดเทียนดูหนังสือ ไม่ต้องรอคอยจนทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้วจึงยกไปให้เป็นการช้ายืดยาว พอทรงจุดแล้วก็ยกไป ถ้าธรรมาสน์กว้างตั้งบนธรรมาสน์ทั้งเชิง ถ้าธรรมาสน์แคบมีจงกล ถอนเทียนออกปักที่จงกล ถ้าธรรมาสน์แคบมีม้าตั้งข้างๆ ให้ตั้งบนม้า การที่ถอนเทียนออกติดกับกงธรรมาสน์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด ได้กริ้วมาหลายครั้งแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ก็ดูมีรายๆ อยู่บ้างไม่สู้หนานัก ขอให้เข้าใจว่าไม่โปรดเหมือนกัน ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ