พระราชพิธีพรุณศาสตร์

๏ พิธีนี้เหตุใดจึงไม่มีในกฎมนเทียรบาลและในจดหมายขุนหลวงหาวัดทั้งสองแห่งก็ไม่ทราบเลย จะว่าไม่เคยทำที่กรุงเก่าก็ว่าไม่ได้ ด้วยในตำราของพราหมณ์ก็มีอยู่ว่าเดือน ๙ พระราชพิธีพรุณศาสตร์มหาเมฆบูชา มีวิธีซึ่งจะทำชัดเจน อนึ่งการพิธีขอฝนนี้ก็ดูเป็นพิธีสำคัญ มีเครื่องเตือนที่จะให้เลิกไม่ได้อยู่ คือถึงว่าเจ้าแผ่นดินจะดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมมิได้ปรวนแปร ซึ่งคนบางพวกมักพาโล ว่าดินฟ้าอากาศมักจะเป็นไปตามอาการของเจ้าแผ่นดินประพฤติ การฝนแล้งข้าวแพงนี้ ดูก็ไม่ใคร่จะเลือกเวลา มีเรื่องราวโบราณและเรื่องใหม่ๆ หลายเรื่อง ที่ได้กล่าวถึงว่าเวลาฝนแล้งข้าวแพง เจ้าแผ่นดินนั้นตั้งอยู่ในยุติธรรม ทรงพระกรุณาแก่อาณาประชาราษฎร์ที่ต้องอดอยาก ทรมานพระองค์ต่างๆ เพื่อจะให้ฝนตก เช่นมีมาในคัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา พระเจ้าแผ่นดินลงบรรทมอยู่ในลานพระเจดีย์ด้วยตั้งอธิษฐานว่า ถ้าฝนไม่ตกลงมาขังลานพระเจดีย์จนพระองค์ลอยขึ้นก็จะไม่เสด็จลุกขึ้นเป็นต้น ก็เป็นความดีส่วนพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองแผ่นดินอยู่ในเวลาข้าวแพงนั้น ฝนก็แล้งข้าวก็แพงได้ อนึ่งในประเทศที่ใกล้เคียงกรุงสยาม เช่นอินเดียและจีน ฝนแล้งข้าวแพงถึงคนตายนับด้วยพันด้วยหมื่น ก็มีตัวอย่างเป็นอยู่เนืองๆ จะพาโลผู้ปกครองแผ่นดินว่าทำให้ฝนแล้งข้าวแพงนั้นเป็นการไม่ควรเลย แต่กระนั้นคนก็ยังคิดเห็นกันอยู่โดยมากว่าเป็นได้ ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าก็มีปีข้าวแพงหลายครั้ง จะทิ้งพระราชพิธีนี้เสียเห็นจะไม่ได้ แต่บางทีจะคิดเห็นว่าเป็นพระราชพิธีจร เพราะปีใดฝนบริบูรณ์ ก็ยกเว้นเสียไม่ทำ ต่อปีที่ฝนแล้งจึงได้ตั้งพระราชพิธีตามที่มีเป็นแบบอย่างสืบมาจนถึงทุกวันนี้

แต่เมื่อครั้งกรุงสุโขทัย คงจะเป็นพระราชพิธีประจำปี นางนพมาศได้กล่าวถึงโดยเนื้อความละเอียด แต่พิธีที่ทำนั้นดูต่างอย่างไปกว่าตำราพราหมณ์ของเรา เห็นจะเป็นเรื่องต่างครูกันอีก พิธีตามตำราพราหมณ์ทำเป็นอย่างจะขอฝนให้ตกเดี๋ยวนั้น ด้วยอาศัยเสกเวทมนตร์เรียกบ้าง ด้วยอาศัยล้อพระพิรุณบ้าง แต่พิธีสุโขทัยนั้นเป็นตั้งท่าขอให้บริบูรณ์ทั่วไปแต่ต้นมือ

ข้อความที่นางนพมาศกล่าวไว้นั้นว่า “ครั้นถึงเดือน ๙ พราหมณาจารย์ก็พร้อมกันกระทำการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ตั้งเกยสี่เกยที่หน้าลานเทวสถานหลวง ประดับด้วยฉัตรธงอันกระทำด้วยหญ้าคาหญ้าตีนนก อ่างทองสัตตโลหะสี่อ่าง อ่างหนึ่งเต็มไปด้วยเปือก ปลูกชาติสาลีมีพรรณสอง คือ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว สามอ่างนั้นใส่มูลดินอันเจือด้วยโคมัย ปลูกถั่วงาอ่างหนึ่ง ปลูกม่วงพร้าวอ่างหนึ่ง ปลูกหญ้าแพรกหญ้าละมานอ่างหนึ่ง ตั้งไว้บนนางกระดานแป้นปักตรงหน้าเกย ครั้นถึงวันกำหนดฤกษ์ หมู่พราหมณ์ทั้งหลายมีพระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงส์เป็นประธาน ต่างน้อมเบญจางค์บวงสรวงสังเวยพระเป็นเจ้า ตั้งสัตยาธิษฐานขอฝนให้ตกชุกชุม ทั่วทุกนิคมคามเขตขอบขัณฑสีมากรุงพระมหานครสุโขทัยราชธานีบุรีรัฐ ให้ชุ่มแช่ชาติสาลีอันมีพรรณต่างๆ ซึ่งเป็นของเลี้ยงชีพประชาชายหญิงสมณพราหมณาจารย์ทั่วทั้งแผ่นดิน จงบริบูรณ์ด้วยเม็ดรวง ปราศจากด้วงแสน ด้วยอำนาจวัสสวลาหกและพรพระสยม อนึ่งโสดอันว่าลดาชาติทั้งหลายมีถั่วงาเป็นต้น ขอจงบริบูรณ์ด้วยพืชผลให้ล้นเหลือ จะได้เป็นเครื่องกระยาบวชบำบวงสรวง อนึ่งเล่าพรรณรุกขชาติต่างๆ มีม่วงพร้าวเป็นต้น ขอจงบริบูรณ์ด้วยดอกดวงพวงผล จะได้เป็นอาหารแห่งหมู่มนุษยนิกรทั้งผอง ประการหนึ่งติณชาติต่างพรรณอันเขียวขจิตงามด้วยยอดและใบ มีหญ้าแพรกหญ้าละมานเป็นต้น สำหรับเป็นภักษาหารช้างม้าโคกระบือ ขอจงงอกงามตามชายหนองคลองน้ำไหล ด้วยอำนาจวัสสวลาหกให้บริบูรณ์ ครั้นกล่าวคำอธิษฐานแล้วจึงพราหมณาจารย์ทั้งสี่ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระเวทเพทางคศาสตร์ แต่งกายสยายมวยผมนุ่งอุทกสาฎก ถือเอาธงประดากสีมอดุจเมฆมืดฝนอันรายยันต์พรุณศาสตร์ตามขอบข้างละสี่คู่ ซึ่งปักบูชาไว้คนละคันโดยสักกัจจเคารพ พระครูพรหมพรตพิธีเป่าสังข์ดำเนินหน้า หมู่พราหมณ์ทั้งหลายก็แห่ห้อมออกจากเทวสถานไปยังเกย ขึ้นสถิตยืนอยู่บนเกยๆ ละคน ต่างอ่านโองการประกาศแก่วัสสวลาหก โบกธงธวัชกวัดแกว่งบริกรรมอิศรเวท ขอฝนตามตำรับไตรเพทสิ้นวารสามคาบ แล้วก็ลงจากเกยคืนเข้าสู่พระเทวสถาน พราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้พระมนต์พรุณศาสตร์ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นยืนบนเกย โบกธงร่ายเวทขอฝนวันละสองเวลา คือเช้าและเย็นถ้วนคำรบสามทิวาในวันนักขัตฤกษ์” ลงท้ายนางนพมาศแสดงเวลาที่ตัวได้ไปเห็นพระราชพิธีนี้ ว่าได้ตามบิดาไปเมื่ออายุ ๗ ขวบจึงได้จำไว้ได้

การพิธีที่สุโขทัย มีแต่พิธีพราหมณ์ การซึ่งเกิดพิธีสงฆ์ขึ้นจะพึ่งมีในภายหลัง แต่พิธีพราหมณ์ที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นคนละอย่างกันกับที่นางนพมาศกล่าว ทำพร้อมกันกับพิธีสงฆ์ แต่แยกออกไปทำอยู่ที่ทุ่งส้มป่อย เพราะอยู่ข้างจะเร่อร่าหยาบคาย การตกแต่งโรงพระราชพิธีและเทวรูป ก็คล้ายกันกับพระราชพิธีอื่นๆ คือปลูกโรงพิธีขื่อกว้าง ๕ ศอก ยาว ๑๐ ศอก สองห้อง เฉลียงรอบ แต่ในประธานไม่มุงหลังคา มุงไว้แต่ที่เฉลียงรอบ สำหรับที่จะให้พระผู้เป็นเจ้าซึ่งตั้งในโรงพิธีนั้น ต้องอยู่กลางแดดกั้นม่านรอบ มีโตรทวาร ไม้อุณาเทวา พรหมโองการทั้งแปดทิศตามธรรมเนียม หน้าโรงพิธีในหมายว่าทิศพายัพ (พระมหาราชครูว่าทิศบูรพา) ห่างออกไปสามศอก ปลูกเกยสูง ๔ ศอก ๕ นิ้ว กว้าง ๒ ศอก ๕ นิ้ว มีพนักสามด้าน บันไดขึ้นลง ตรงหน้าเกยออกไปขุดสระกว้าง ๓ ศอก ยาว ๓ ศอก ลึกศอกหนึ่ง มีรูปเทวดาและนาคและปลาเหมือนสระที่สนามหลวง ยกเสียแต่รูปพระสุภูต ตรงหน้าสระออกไปปั้นเป็นรูปเมฆสองรูป คือปั้นเป็นรูปบุรุษสตรีเปลือยกายแล้วทาปูนขาว การที่จะปั้นนั้น ต้องตั้งกำนล ปั้นพร้อมกันกับที่พิธีสงฆ์ มีบายศรีปากชามแห่งละสำรับ เทียนหนักเล่มละบาทแห่งละเล่ม เงินติดเทียนเป็นกำนลแห่งละบาท เบี้ย ๓๓๐๓ เบี้ย ข้าวสารสีสัด ผ้าขาวของหลวงจ่ายให้ช่างปั้นช่างเขียนนุ่งห่ม ช่างเหล่านั้นต้องรักษาศีลในวันที่ปั้น เทวรูปที่ตั้งในการพระราชพิธี คือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหมธาดา พระมหาพิฆเนศวร วันแรกตั้งพระราชพิธี มีกระบวนแห่ๆ พระเป็นเจ้าออกไปส่งโรงพิธี กระบวนแห่ก็เหมือนกันกับการพระราชพิธีจรดพระนังคัล แต่เทวรูปนั้นตั้งกึ่งกลางโรงพิธี การบูชาเวลาค่ำทำเหมือนพระราชพิธีอื่นๆ แต่ไม่ได้ตั้งนพเคราะห์ การที่เป็นวิเศษสำหรับพิธีฝนนั้น คือเวลาเช้าพระมหาราชครูพิธี ขึ้นบนเกยอ่านเวทโบกธงผ้าขาวซึ่งรายยันต์พรุณศาสตร์ ยาว ๕ ศอก กว้างเท่าผืนผ้า ติดปลายไม้ลำมะลอก ยาว ๓ วา โบกไปมาสามครั้งเป่าสังข์ แล้วเจ้ากรมปลัดกรมขุนหมื่นพราหมณ์โหรดาจารย์แปดคน นั่งล้อมเทวรูปในโรงพระราชพิธีซึ่งเป็นกลางแจ้ง เพราะมิได้มุงหลังคานั้น ชักประคำ คาถาซึ่งสำหรับชักประคำนั้นเปลี่ยนตามวันทั้ง ๘ วัน ครั้นเวลา ๕ โมงเช้าหยุดพักตอนหนึ่ง ตอนบ่ายชักประคำไปอีกจนเวลาแดดลบ พระมหาราชครูขึ้นโบกธงเหมือนอย่างเวลาเช้าอีกครั้งหนึ่งแล้วเป็นเลิก ไปจนเวลาดึกจึงได้บูชาพิธีตามธรรมเนียม ทำเช่นนี้ทุกวันกว่าจะเลิกการพระราชพิธี การพิธีพราหมณ์นี้เป็นอันรอฟังพระราชพิธีสงฆ์ ที่ทำอยู่ท้องสนามหลวง เมื่อพิธีข้างในเลิกเมื่อใดก็พลอยเลิกด้วย มีกระบวนแห่พระเป็นเจ้ากลับ ในร่างรับสั่งเก่าว่า แห่มาเวียนทักษิณพระราชวัง ถวายชัยเจ้าแผ่นดินแล้วจึงได้กลับเทวสถาน แต่ได้ถามพระมหาราชครูว่า ภายหลังนี้ไม่ได้มา ด้วยไม่มีผู้ใดสั่งใคร ตกลงเป็นรวมเลิกไปเหมือนอย่างแห่พระประน้ำในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ประโยชน์ที่พราหมณ์ได้ คือผู้ซึ่งชักประคำได้ผ้าขาวนุ่งห่มคนละสำรับ ได้เงินทักขิณบูชา ๖ บาท หม้อกุมภ์หม้อละเฟื้อง ผ้าขาว หม้อ มะพร้าว ข้าว ตามอย่างพิธีอื่นๆ การพิธีพราหมณ์ต่อพิธีพราหมณ์เทียบกัน ครั้งกรุงสุโขทัยและในปัจจุบัน ไม่เหมือนกันเช่นนี้

ส่วนการพระราชพิธีสงฆ์ เห็นความได้ชัดว่าคงเกิดภายหลังพิธีพราหมณ์ และเอาอย่างพราหมณ์นั้นเอง ด้วยในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่เกิดพระพุทธศาสนานั้น เป็นประเทศที่มีฝนลักลั่นไม่ทั่วถึง และเกิดวิกลวิการต่างๆ จนถึงคนต้องอดอาหารตายบ่อยๆ จนถึงในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นอยู่เนืองๆ พราหมณ์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เป็นที่นับถือของคนในประเทศนั้น จึงได้คิดวิธีที่จะบูชาเซ่นไหว้ขอร้องต่อพระเป็นเจ้าซึ่งเขานับถือว่าเป็นผู้สร้างและเป็นผู้ให้โทษให้คุณแก่มนุษย์ทั้งปวง แต่วิธีที่ทำนั้นก็คงจะไม่เหมือนกันทั่วไป ตามอัธยาศัยของผู้ซึ่งแรกคิดขึ้น ด้วยเหตุว่าไม่สามารถที่จะถามพระเป็นเจ้าว่าจะชอบอย่างไรได้ จึงต้องคิดทำตามใจที่ตัวเห็นว่าดีทดลองดู เมื่อสบช่องที่ดีได้ฝนดังปรารถนา ตำรานั้นก็ตั้งเป็นแบบอย่างต่อมา ก็ถ้าผู้ที่ตั้งพิธีฝนพร้อมกันสามแห่งสี่แห่งในที่ใกล้ๆ กัน แต่ความคิดเห็นที่จะทำพิธีนั้นต่างกันไปทั้งสามแห่งสี่แห่ง เมื่อฝนตกลงมาก็ตกทั้งสามแห่งสี่แห่ง พิธีนั้นก็ขลังทั้งสามแห่งสี่แห่ง ลัทธิที่ทำจึงได้แยกเป็นสามอย่างสี่อย่าง แต่ถึงพิธีนั้นจะขลังศักดิ์สิทธิ์ทุกครั้งก็ดี ไม่ศักดิ์สิทธิ์ทุกครั้งก็ดี เมื่อผู้ใดตั้งขึ้นที่ใด ก็คงเป็นที่ชอบใจของผู้ซึ่งมีความนับถืออย่างเดียวกัน ด้วยจะได้จริงมิได้จริงก็เป็นความประสงค์อันดี เหมือนอย่างคนสองคน คนหนึ่งมาพบเราเข้าให้พร เราก็รู้อยู่ว่าคำที่คนๆ นั้นให้พรไม่เป็นการแน่นอนที่จะได้จริงเช่นนั้น แต่เรายังชอบใจถ้อยคำของคนๆ นั้น เพราะมีความปรารถนาดีต่อเรา ฝ่ายคนอีกคนหนึ่งมาถึงมาแช่งให้เรา เราก็รู้ว่าคำแช่งของคนผู้นั้นจะไม่เป็นจริงตามปาก แต่เป็นการแสดงน้ำใจร้ายต่อเรา เราก็ไม่ชอบใจจะฟังถ้อยคำผู้นั้น เพราะเหตุฉะนี้ พิธีฝนทำเหมือนหนึ่งให้พรให้ฝนตกบริบูรณ์ จะได้จริงหรือมิได้จริงก็ไม่มีผู้ใดโกรธแค้น ซ้ำเป็นการเกาถูกที่คัน คือความปรารถนาที่จะอยากได้น้ำฝนนั้นแรงกล้าอยู่ด้วยกันทั่วหน้าแล้ว จึงเป็นที่ชอบใจเกิดมีพิธีขอฝนต่างๆ ขึ้น และยังไม่รู้สาบสูญจนถึงบัดนี้

ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น เมื่อว่าโดยอย่างอุกฤษฏ์แล้ว พระพุทธเจ้าก็หาได้เกี่ยวข้องในการดินฟ้าอากาศอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ แต่ยังมีเหตุการณ์ที่กล่าวถึงว่าพระพุทธเจ้าได้เกี่ยวข้องในการธุระเรื่องนี้บ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ซึ่งเลือกฟั้นอย่างอุกฤษฏ์แล้ว ก็จะต้องกล่าวคัดค้านข้อความที่กล่าวถึงนี้เสีย ว่ามากเกินไป ความนั้นก็อยู่ข้างจะเป็นจริง แต่ถ้าจะกล่าวอะลุ้มอล่วยให้พอไม่เคร่งครัดนัก ก็จะต้องว่า พระพุทธเจ้าถึงได้ละกิเลสกับทั้งวาสนาขาดจากพระสันดานแล้ว แต่พระองค์ยังประกอบไปด้วยพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ เมื่อได้เห็นมนุษย์และสัตว์ทั้งปวงต้องมีทุกข์อันใหญ่หลวงด้วยทุพภิกขภัยเช่นนั้น ก็คงจะเป็นเหตุให้เกิดพระมหากรุณาขึ้นในพระหฤทัยเป็นแท้ แต่การที่พระองค์ได้ทรงกระทำตามที่กล่าวมาในเรื่องพระคันธารราษฎร์ จะได้ตั้งพระหฤทัยทำจริงหรือมิได้ตั้งพระหฤทัยทำจริง แต่ไปประจวบกาลที่ฝนจะตกลงมาก็ดี ชนทั้งปวงในเวลานั้นย่อมได้ยินหรือเชื่อถือการขอฝนได้อยู่ทั่วกัน เมื่อได้เห็นมหัศจรรย์เช่นนั้น ก็คงต้องเข้าใจว่าเป็นด้วยพุทธานุภาพ ก็ถ้าเรื่องนิทานอันนี้จะเป็นของมีผู้คิดอ่านตกแต่งขึ้นภายหลังแท้ทีเดียว ไม่มีเค้าเงื่อนเหตุผลอันใดซึ่งเนื่องมาจากองค์พระพุทธเจ้าเลย ก็คงเป็นความคิดอันดีของผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา เหมือนอย่างผู้ที่มาถึงแล้วให้พร เพราะฉะนั้นการบูชาพิธีขอฝนของผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา จึงยังมียั่งยืนสืบมาจนถึงบัดนี้

เรื่องราวซึ่งกล่าวถึงว่าพระพุทธเจ้าได้บันดาลให้ฝนตกใหญ่ครั้งหนึ่งอย่างไร ได้กล่าวมาแล้วในประกาศพระราชพิธีพืชมงคล เพราะฉะนั้นจึงยกเสียไม่กล่าวซ้ำในที่นี้อีก แต่เพราะเหตุที่มีนิทานกล่าวถึงเช่นนั้น จึงได้เกิดพระพุทธรูปแสดงอาการพระหัตถ์ขวากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงาย ซึ่งได้สมญาว่าพระคันธารราษฎร์ เป็นพระสำคัญซึ่งสำหรับใช้ในการพระราชพิธีอย่างหนึ่ง และในท้ายเรื่องราวของพระคันธารราษฎร์นั้น มีเรื่องราวกล่าวถึงวาริชชาดกที่ข้าพเจ้าได้ผัดไว้ไม่เล่าถึงเมื่อพิธีพืชมงคลนั้น ในนิทานวาริชชาดก ว่าพระยาปลาช่อนอาศัยอยู่ในบึงตำบลหนึ่ง คราวนั้นเป็นเวลาแล้งน้ำในบึงแห้งขอดเป็นตม ฝูงกาลงกินปลาในบึงนั้นอยู่เกลื่อนกลุ้ม พระยานฬปะจึงผุดขึ้นในตมแหงนดูอากาศเสี่ยงบารมี ตั้งสัจจาธิษฐานแล้วกล่าวคาถา ว่า อภิตฺถนยปชุณฺณ เป็นต้น ว่าข้าแต่ปชุณณะเทพยดา เป็นผู้มีอำนาจอาจจะให้ฝนตกได้ ขอท่านจงบันดาลให้เมฆฝนตั้งขึ้น แล้วจงให้ห่าฝนตกลงเป็นท่อธารใหญ่ ท่วมบึงบ่อทั้งปวงเถิด จงทำนิธิขุมทรัพย์ของฝูงกาทั้งหลายให้พินาศไป ทำฝูงกาให้โศกเศร้าเพราะอดอาหาร และขอท่านจงกรุณาเปลื้องปลดข้าพเจ้ากับหมู่ญาติทั้งหลายให้พ้นภัยพิบัติโศกเศร้า พ้นอำนาจหมู่กาซึ่งจะมาเบียดเบียนเป็นภัยอันใหญ่หลวงนี้เถิด ด้วยอำนาจสัจจาธิษฐานของพระยาปลาช่อน ห่าฝนใหญ่เป็นท่อธาร ก็บันดาลตกลงมาไหลลบล้นท่วมบึงบ่อทั่วทุกสถาน หมู่วาริชชาติก็ได้พ้นภัยพิบัติทั่วกัน เพราะฉะนั้นจึงได้ขุดสระมีรูปปลาช่อนในการพระราชพิธีนี้ด้วย

ยังมีเรื่องราวซึ่งเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ทั้งมีรูปและเป็นเนื้อความในคาถาซึ่งสวดขอฝนมาในคัมภีร์พระอรรถกถาแห่งหนึ่ง มาในเรื่องตำราขอฝน ซึ่งเขาแต่งเป็นภาษามคธแห่งหนึ่ง ความมุ่งหมายก็เห็นจะกล่าวถึงพระเถระองค์เดียวกันนั้น แต่ชื่อเสียงและเนื้อความแปลกเพี้ยนกันไปบ้าง จะเล่าตามที่มาในคัมภีร์พระอรรถกถาก่อน ในคัมภีร์นั้นออกชื่อว่าพระสุภูตเถร เริ่มเรื่องว่าพระเถรเจ้าองค์นี้ ได้ปรารถนาฐานันดรอันหนึ่ง ณ บาทมูลพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วบำเพ็ญกุศลให้เป็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตเป็นลำดับมา จนถึงมาเกิดในตระกูลสุมนเศรษฐีมีนามว่าสุภูต ครั้นในพุทธกาลนี้ ได้บรรพชาอุปสมบทในวันเมื่ออนาถปิณฑิกคหบดีฉลองพระเชตวัน เจริญสมณธรรมบรรลุพระอรหัต พระผู้ทรงพระภาคย์ได้ยกย่องว่าเลิศกว่าภิกษุบริสัช บรรดาซึ่งเป็นอรณวิหารี ครั้นเมื่อได้บรรลุพระอรหัตแล้วเที่ยวมาโดยลำดับ ถึงพระนครราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบก็เสด็จมายังสำนักพระมหาเถร ตรัสปฏิญาณว่าจะทำที่อยู่ถวาย แต่เพราะราชการมากก็หาได้ทำถวายตามคำปฏิญาณไม่ พระเถรเจ้าไม่มีเสนาสนะ ก็อยู่แรมในที่แจ้ง ในเวลานั้นเป็นฤดูฝนที่ควรจะตก ก็บันดาลไม่ตก มนุษย์ทั้งหลายคิดหวาดหวั่นที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงพร้อมกันเข้าไปกราบทูลพระมหากษัตริย์ พระเจ้าพิมพิสารทรงพระดำริหาต้นเหตุ ว่าซึ่งฝนไม่ตกนั้นจะเป็นด้วยเหตุใด จึงทรงอนุมานว่าเห็นจะเป็นเหตุด้วยพระเถรเจ้าพักอยู่กลางแจ้ง จึงรับสั่งให้ทำกุฎีมุงและบังด้วยใบไม้ถวาย ครั้นเมื่อพระเถรเจ้าเข้าไปในกุฎีแล้วนั่งในที่ลาดด้วยหญ้า ฝนก็ตกเล็กน้อยยังหาเต็มตามที่ไม่ พระเถรเจ้าคิดจะกำจัดภัย คือฝนไม่ดีไม่งามนั้น จึงได้กล่าวคาถาแสดงว่าตนได้พ้นอันตรายแล้วให้เทพยดาทราบ ว่าขอวัสสวลาหกทั้งหลายจงยังฝนให้ตกในที่ทั้งปวงเถิด อันตรายภายนอกไม่มีแก่เราแล้ว เพราะกุฎีของเรามุงดีแล้ว ควรเป็นฐานที่ตั้งแห่งความสุขสำราญ และมีบานประตูหน้าต่างอันชิดสนิทดีไม่มีช่องลม ขอเทพยเจ้าจงยังฝนให้ตกตามปรารถนาเถิด อนึ่ง อันตรายภายในก็ไม่มีแก่เรา เพราะจิตของเรามั่นด้วยสมาธิพ้นพิเศษจากกิเลสแล้ว ในบัดนี้เราปรารภเริ่มความเพียร เพื่อทิฐธรรมสุขวิหารอยู่ ณ ขณะอิริยาบถ ขอเทพยเจ้าจงยังฝนให้ตกทั่วที่ทั้งปวงเถิด ครั้นกล่าวพระคาถานี้จบลงแล้ว ในทันใดนั้นมหาเมฆตั้งขึ้น ฝนตกทั่วทิศด้วยอานุภาพพระสุภูต ควรเป็นอัศจรรย์ ใจความในพระอรรถกถาได้กล่าวเรื่องราวมาดังนี้

ก็ถ้าจะคิดดูตามเรื่องราวที่กล่าวนี้ กับการที่ทำในพระราชพิธีดูไม่ต้องกัน คือปั้นรูปพระสุภูตเถรนั่งแหงนหน้าดูอากาศตั้งไว้ที่ปากสระ ก็ถ้าฝนไม่ตกเพราะพระมหาเถรอยู่กลางแจ้ง ไปปั้นรูปพระมหาเถรไว้กลางแจ้ง ก็น่าที่จะเป็นเหตุให้ฝนไม่ตก ดูเหมือนว่าจะต้องทำโรงร่มคลุมรูปพระมหาเถรนั้นให้มิดชิด แล้วจึงสวดคาถาซึ่งพระมหาเถรกล่าวแก่เทพยดา อาการที่ทำและถ้อยคำที่กล่าวจึงจะตรงกัน

การที่ปั้นรูปพระมหาเถรนั่งกลางแจ้งนั้น เห็นจะมาตามเค้านิทานซึ่งแต่งเป็นภาษามคธ แต่มีท่านนักปราชญ์ผู้รู้มากได้กล่าวว่าเป็นหนังสือแต่งขึ้นภายหลังแท้ เนื้อความในนิทานนี้ ซึ่งเรียกว่าสุภูติสูตร ว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวารประมาณ ๕๐๐ เสด็จจารึกไปในมคธชนบท ถึงอังคุตตรนิคม ประทับอยู่ในที่นั้น ในขณะนั้นเกิดฝนแล้งข้าวแพง พระองค์จึงตรัสแก่พระสุภูติเถร ว่าสุภูติไปสิ ท่านจงอาศัยความกรุณาแก่โลก นั่ง ณ ที่แจ้งเข้าอาโปกสิณสมาบัติแล้วให้ฝนตกลงมา ให้ประโยชน์ความสุขสำเร็จแก่เทพยดาและมนุษย์ พระสุภูติเถรรับพุทธพจน์แล้วออกไปนั่ง ณ กลางแจ้ง เข้าอาโปกสิณสมาบัติแล้ว และขึ้นไปบนอากาศเปล่งอุทานวาจาอธิษฐานขอฝน เมื่อเทวดาได้ฟังคำอธิษฐานก็ชอบใจ อนุโมทนาในถ้อยคำพระมหาเถร แต่ตัวคาถาที่พระมหาเถรกล่าวนี้ยืดยาว จะว่าเป็นคำอุทานตลอดไปก็ไม่ได้ จะว่าจบลงเพียงใดก็ไม่ได้ รวบรวมใจความนั้นขอให้เทวดาช่วยบ้าง อ้างคุณพระรัตนตรัยบ้าง ขอให้ฝนตก แต่ท่านผู้ที่รู้ๆ ท่านกริ้วกราดกันเสียว่าเลอะเทอะนัก จึงไม่ยอมให้ลงในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ลงคำแปลคาถานั้นมาโดยละเอียด ซึ่งกล่าวถึงนี้เพื่อจะให้ได้ความสันนิษฐานว่าการซึ่งปั้นรูปพระสุภูตินั่งแหงนหน้าอยู่กลางแจ้งในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้ มาตามทางนิทานที่เรียกว่าสุภูติสูตร เป็นลัทธิเกิดขึ้นแต่ผู้ที่เชื่อถือหนังสือสุภูติสูตร จึงได้มีติดอยู่ในการพระราชพิธี แต่ส่วนคาถาซึ่งสวดสำหรับพระราชพิธีนั้น ไม่ได้สวดตามเรื่องสุภูติสูตร ไปสวดตามเรื่องที่มาในพระอรรถกถา คำที่สวดกับรูปที่ปั้นไว้นั้นไม่ตรงกัน ถือเสียว่าเป็นคนละลัทธิ ถึงลัทธิสุภูติสูตรจะเหลวแหลกประการใด ก็นับเอาเป็นเหมือนคนมาให้พรให้ได้เงินหม้อทองหม้อ ก็ไม่ควรที่จะไปขู่ผู้ให้พรนั้นว่าข้าไม่เอา หรือเหลวไหลประการใด ตกลงเป็นเรื่องที่มีความปรารถนาดีแล้ว เป็นใช้ได้เช่นกล่าวมาข้างต้นนั้น

ยังมีพระพุทธรูปอีกอย่างหนึ่ง เป็นของมาแต่เมืองมอญ พระมอญพอใจเอามาถวาย ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ มาจนถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้มีมากหลายองค์ เป็นรูปพระเถระนั่งก้มๆ หน้า มีใบบัวคลุมอยู่บนศีรษะ และมีเข็มตุ้มปักตามหัวไหล่ตามเข่าหลายแห่ง ฐานรองนั้นเป็นดอกบัวคว่ำดอกหนึ่ง หงายดอกหนึ่ง ใต้ฐานมีรูปดอกบัว ใบบัว เต่า ปลา ปู ปั้นนูนๆ ขึ้นมา เป็นพระทำด้วยแก่นพระศรีมหาโพธิลงรักปิดทองเบาๆ ว่าเป็นพระสำหรับขอฝน มีเรื่องราวนิทานได้ยินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าอยู่ แต่ข้าพเจ้าจำไม่ได้ ในท้องเรื่องนั้นก็คล้ายๆ พระสุภูตะ หรือสุภูติเถระนี้เอง ได้สอบถามพระสุเมธาจารย์[๑] แจ้งว่าเป็นรูปพระสุภูติที่ขอฝนนั้นเอง เข็มตุ้มที่ปักอยู่ตามพระองค์ ซึ่งท่านเรียกว่าหมุดว่าเป็นช่องที่บรรจุพระบรมธาตุ ฟังดูที่กล่าวนั้น ก็เคล้าหาเรื่องสุภูติอย่างไทยๆ ไม่แปลกอะไร

แต่ได้สอบถามพระคุณวงศ์[๒] แจ้งความไปคนละเรื่อง อ้างผู้บอกเล่ามีเรื่องราวยืดยาวว่า เมื่อท่านออกไปนมัสการพระบรมธาตุที่เมืองรางกูนกลับมาถึงวัดกะนอมซอน พักอยู่สองคืน ภิกษุพม่ารูปหนึ่งซึ่งอยู่ในวัดนั้น นำพระเช่นนี้มาให้องค์หนึ่ง พระนันทยะสัทธิงวิหาริกของท่านได้ถามว่า พระเช่นนี้เรียกพระอะไร พระพม่านั้นบอกว่า เรียกพระทักขิณสาขา ได้มาจากเมืองอังวะ ผู้ถามจึงถามว่า เหตุใดจึงมีหมวกสวมอยู่บนศีรษะ พระพม่าอธิบายว่า พระอุปคุตตะเถระองค์นี้ อยู่ในปราสาทแก้วใต้น้ำ เดินไปในกลางฝนเหมือนอย่างมีร่มกั้นไม่เปียกกาย บางทีเห็นนั่งบนน้ำ ลอยขึ้นล่องแสงแดดไม่ต้องกาย มีคำกล่าวกันว่าชาวเมืองรางกูนผู้หนึ่ง ได้ตักบาตรพระอุปคุตแล้วได้เป็นเศรษฐี ชาวเมืองรางกูนทั้งปวงจึงพากันหุงข้าวแต่ยังไม่สว่าง คอยตักบาตรพระอุปคุตจนทุกวันนี้ก็ยังมีความนับถือพระอุปคุตเช่นนี้แพร่หลายมากขึ้น แต่ไม่มีผู้ใดได้โอกาสตักบาตรพระอุปคุต จึงได้กล่าวว่า ถึงว่าไม่ตักบาตรแต่เพียงได้ทำสักการบูชา ก็จะมีผลานิสงส์เหมือนกัน จึงได้พากันสร้างรูปพระอุปคุตขึ้นทำสักการบูชา ซึ่งทำเป็นใบบัวคลุมอยู่บนพระเศียรนั้น สมมติว่าเป็นเงาที่กันน้ำฝนและแดดรูปเหมือนใบบัว พวกเมืองอังวะทราบเรื่องจึงเลียนไปทำแพร่หลายมากขึ้น

นัยหนึ่งว่าพระเจ้าอังวะองค์หนึ่ง ประสงค์จะใคร่สร้างพระพุทธรูปด้วยกิ่งพระศรีมหาโพธิ แต่มีความสงสัยอยู่ว่าจะควรหรือไม่ จึงให้ประชุมพระเถรานุเถระปรึกษา พระเถระทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่าเป็นการควร จึงได้แต่งบรรณาการให้อำมาตย์ ๘ คนกับไพร่ ๓๖๐ ให้ไปเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิที่ว่านี้ ดูทีเหมือนจะไปอินเดีย ก็พากันไปตายสูญเสียเป็นอันมาก เหลือมา ๑๖ คน ไม่ได้พระศรีมหาโพธิมา จึงให้ไปเชิญกิ่งเบื้องขวาพระศรีมหาโพธิที่เมืองลังกา ได้มาแล้ว ให้สร้างเป็นพระพุทธรูปหน้าตักกว้างศอกหนึ่ง เศษเหลือนั้นให้สร้างพระสาวก พระพุทธรูปที่มีปลา ปู ดอกบัว อยู่ใต้ฐานนั้น สำหรับสังเกตว่าเป็นรูปพระอุปคุต พระพุทธรูปเดิมนั้นสร้างด้วยทักขิณสาขาของพระศรีมหาโพธิจริง แต่ภายหลังมามีผู้สร้างมากขึ้นก็ใช้กิ่งไม้อื่นบ้าง ข้อความที่กล่าวมานี้ท่านทราบจากพระพม่ารูปนั้นบ้าง ที่ผู้ใหญ่เล่ามาแต่เดิมบ้างดังนี้

ฟังดูเรื่องที่เล่าก็เป็นเฉียดๆ ไปกับเรื่องเดิม อย่างไรจะถูกก็ตัดสินไม่ได้แน่ แต่พระเช่นนี้ใช้ตั้งในการพระราชพิธีฝนหลายองค์ ยังรูปพระมหาเถรอีกองค์หนึ่ง ที่แขนเป็นลายรียาวเรียกว่าพระมหาเถรแขนลาย ก็เป็นพระตั้งขอฝนอีก มีเรื่องราวเล่าเป็นเกร็ดๆ อย่างเดียวกันกับพระที่คลุมใบบัว ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้เสียอีก จะถามผู้ใดก็ยังนึกหน้าไม่ออกว่าผู้ใดจะจำเรื่องราวได้ แต่พระองค์นี้อยู่ที่หอพระคันธารราษฎร์ท้องสนามหลวง เป็นพระหล่อด้วยทองสำริดรมดำไม่ได้ปิดทอง

การซึ่งมีพระพุทธรูป หรือรูปพระเถระสำหรับขอฝนต่างๆ นี้ ก็คงจะเกิดขึ้นด้วยมีเหตุสบช่องเหมาะครั้งหนึ่ง เช่นเล่าว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จลงสรงน้ำในสระโบกขรณี เป็นเวลาฝนแล้งน้ำแห้งขอด เผอิญฝนตกลงมามากในเวลานั้น ก็นับว่าเป็นด้วยพุทธานุภาพฉันใด พระเถระทั้งหลายเหล่านี้ บางทีจะไปมีการอันใดประกอบเหตุให้ฝนตก ก็เลยนับถือว่าพระมหาเถรองค์นั้นมีอานุภาพอาจจะบันดาลให้ฝนตก เหมือนกันกับพวกที่ถือศาสนาโรมันคาทอลิกนับถือแปตรอนเซนต์ ที่พวกหมอๆ มิสชันนารีแปลกันว่านักบุญ คือที่เป็นลูกศิษย์พระเยซูนั้นเป็นต้น ท่านพวกเหล่านั้นก็เป็นเจ้าของต่างๆ กัน การที่พวกโรมันคาทอลิกถือเช่นนี้ ก็เป็นการไหลมาตามลัทธิกรีก ที่ถือว่ามีเทวดาสำหรับการสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราที่เป็นผู้ถือพุทธศาสนาเล่าก็เคยถือลัทธิพราหมณ์ว่ามีเทวดาสำหรับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถึงการที่นับถือเทวดายังไม่ขาดก็อ่อนลงไปเสียมากแล้ว นับถือพระพุทธศาสนามากกว่า แต่พระพุทธศาสนาไม่แก้ความอยากความทะยานสดๆ ได้ดังใจ ก็ต้องแส่หาพระพุทธเจ้าบ้างพระเถระบ้างมาบูชาเซ่นสรวงแทน หรือให้ช่วยแรงเทวดา ด้วยถือว่ามีอานุภาพมากกว่าเทวดา เรื่องพระเถระขอฝนทั้งปวงนั้นคงเป็นมาด้วยเหตุอันนี้อย่างหนึ่ง ยังมีอีกอย่างหนึ่งก็เป็นแต่ความคิดของผู้ใดผู้หนึ่งคิดขึ้น เช่นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระทรมานมิจฉาทิฐิ เป็นพระนั่งอยู่ในครอบแก้ว มีทะเลอยู่ตรงหน้า เรือกำปั่นมาแตกจมอยู่ตรงนั้น ก็เกิดขึ้นด้วยเรือเซอร์เยมสบรุกเข้ามา เรือติดที่สันดอน ประสงค์จะบำเพ็ญพระราชกุศลเหมือนอย่างเป็นการสมโภชพระพุทธศาสนา ที่พวกมิจฉาทิฐิไม่มาย่ำยีได้ก็สร้างขึ้น ยังมีที่เป็นคู่กัน คือทรมานข้าว พระพุทธเจ้านั่งอยู่บนฐานในครอบแก้ว ตรงหน้าออกมาเป็นท้องนามีข้าวกำลังเป็นรวง ตามครอบแก้วก็เขียนเป็นรูปห้างคนขับนกและฝูงนกที่บิน พระพุทธรูปครอบแก้วที่เรียกว่าทรมานข้าวนี้ ก็ใช้ตั้งในการพระราชพิธีแรกนา

เพราะฉะนั้นพระพุทธรูปก็ดี รูปพระเถระก็ดี ที่ใช้ในการขอฝนนี้ บางทีก็จะเป็นนึกขึ้นใหม่โดยไม่มีเหตุมีมูล เป็นแต่ประสงค์จะขออานุภาพให้มาระงับความอยากกระวนกระวายเช่นนี้ก็จะเป็นไปได้

พระพุทธรูปอย่างพระคันธารราษฎร์ที่ใช้ตั้งในการพระราชพิธีนี้ก็มีอาการและสัณฐานต่างกัน คือพระพุทธคันธารราษฎร์พระองค์ใหญ่ซึ่งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างขึ้น ตามในประกาศที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ ว่าสำเร็จ ณ ปีเถาะเบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ เดิมลงรักปิดทอง แต่ภายหลังมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก้าไหล่ทองขึ้นใหม่ และติดเพชรเม็ดใหญ่เป็นพระอุณาโลม พระพุทธรูปพระองค์นี้เป็นพระนั่งผ้าทรงเป็นอย่างที่พาดสังฆาฏิตามธรรมเนียม ดวงพระพักตร์และทรวดทรงสัณฐานเป็นอย่างพระโบราณ พระรัศมีกลมเป็นรูปดอกบัวตูมเกลี้ยงๆ ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทอดพระเนตรเห็นพระโบราณ จึงให้ช่างถ่ายอย่างหล่อให้เหมือนพระพุทธรูปตัวอย่าง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริตามเรื่องพระคันธารราษฎร์ ในท้องเรื่องนั้น เวลาที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงสรงในสระโบกขรณีนั้น ว่าเสด็จยืนอยู่ที่ปากสระ จึงโปรดให้หล่อองค์ย่อมอีกองค์หนึ่ง ทรงผ้าอุทกสาฎก ตวัดชายคลุมพระพาหาข้างหนึ่ง เสด็จยืนอยู่บนบัวกลุ่ม ที่ฐานมีคั่นอัฒจันทร์ลงไปสามคั่น ให้เป็นที่หมายว่าเป็นคั่นอัฒจันทร์ลงในสระ พระพุทธรูปคันธารราษฎร์จึงมีอาการเป็นสองอย่าง แต่ก็ใช้ในการพระราชพิธีทั้งสององค์ ยังพระคันธารราษฎร์จีน ก็ยกพระหัตถ์คล้ายกันกับพระคันธารราษฎร์สององค์ แต่ดวงพระพักตร์เป็นอย่างจีน มีแต่พระเมาฬีไม่มีพระรัศมี ผ้าที่ทรงจะว่าเป็นจีวรก็ใช่ เป็นผ้าอุทกสาฎกก็ใช่ ใช้คลุมสองพระพาหา แหวกที่พระอุระกว้างทำนองเป็นเสื้อหลวงญวน อย่างเช่นพระจีนทั้งปวง พระหัตถ์ที่ยกนั้นน่าสงสัยว่าบางทีจะเป็นใช้บทอย่างทำกงเต๊ก แต่ไม่ถึงกรีดนิ้วออกท่า เป็นกวักตรงๆ แต่รูปร่างหมดจดงดงามดี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนับถือโปรดปรานมาก โปรดให้ทำจอกน้ำมนต์วางในพระหัตถ์ซ้าย ช้อนสำหรับตักน้ำมนต์ลงยันต์สอดในหว่างนิ้วพระหัตถ์ขวา มีจงกลติดเทียนทองอยู่ที่ฐานตรงพระพักตร์ แล้วโปรดให้ก้าไหล่ทองทั้งพระองค์และเครื่องประดับสำหรับตั้งพระราชพิธีพืชมงคลและพรุณศาสตร์ เป็นพระคันธารราษฎร์อีกอย่างหนึ่ง ครั้นมาถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้ พระที่เหลือจากทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมีอยู่สองปาง คือพระลองหนาวและพระคันธารราษฎร์ จึงได้เลือกพระคันธารราษฎร์เป็นพระชนมพรรษา ตามที่ได้กล่าวไว้ในพิธีเดือนห้าแล้วนั้น

แต่พระอาการของพระพุทธรูปนั้น ยังเป็นข้อวินิจฉัยอยู่ ด้วยมีคำเล่ามาว่า เมื่อจะจารึกพระพุทธรูปปางต่างๆ ทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่านั้น ทรงกะพระปางนั้นจะจารึกถวายองค์นั้น ได้มีพระกระแสประภาษว่าชั้นหลังๆ ลงมาให้ยืนให้เดินบ้างก็ได้ เอาพระพุทธรูปที่นั่งๆ ไปถวายชั้นแรก เพราะชั้นแรกท่านยังนั่งแน่นอยู่ ทำนองที่ว่านั้นดูเหมือนหนึ่งว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดอยู่ในราชสมบัติยั่งยืนยืดยาว หรือเป็นต้นพระวงศ์จะใช้พระนั่ง องค์ใดที่อยู่ในราชสมบัติน้อยหรือมีเหตุอันตราย ซึ่งเป็นการหมดแผ่นดินไปโดยไม่ปรกติ ให้ใช้พระยืน แต่ครั้นเมื่อพิเคราะห์ดูตามรายพระนามก็ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดินในบรมราชวงศ์เชียงราย ตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ลงมา จนถึงพระมหินทราธิราช เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ๑๖ พระองค์ ใช้พระพุทธรูปนั่งทั้ง ๑๖ ก็พระเจ้าแผ่นดินใน ๑๖ พระองค์นี้ เจ้าทองจันทร์ได้สมบัติก็เพียง ๗ วัน พระราเมศวรฆ่าเสีย พระเจ้ารามอยู่ในสมบัติ ๑๕ ปี ต้องนิรเทศ พระรัษฎาธิราชอยู่ในสมบัติ ๕ เดือน พระไชยราชาฆ่าเสีย พระยอดฟ้าอยู่ในสมบัติปีเศษขบถภายในฆ่าเสีย พระมหินทราธิราชอยู่ในสมบัติปีเศษเสียกรุงแก่รามัญ ก็ถ้าจะใช้พระยืนเป็นที่หมายอันตรายจริงเช่นนั้น ท่านเหล่านี้ก็ควรจะใช้พระยืน เหตุใดจึงใช้พระนั่ง ส่วนพระมหาธรรมราชา พระนเรศวร พระเอกาทศรถ พระศรีเสาวภาคย์ เป็นพระยืนทั้งสี่องค์ ถ้าจะว่าตามเค้าที่ว่า ก็ควรยืนแต่พระศรีเสาวภาคย์องค์เดียว ครั้นต่อมาในวงศ์พระเจ้าทรงธรรมสามองค์ ก็ดีอยู่แต่พระเจ้าทรงธรรมองค์เดียว ต่อมาอีกสององค์ไม่เป็นการ ทำไมจึงพลอยนั่งไปด้วยกันทั้งสามองค์ มาสมความที่ว่าอยู่แต่ชั้นวงศ์พระเจ้าปราสาททอง มีนั่งแต่พระเจ้าปราสาททององค์เดียว นอกนั้นยืนทั้งสิ้น จึงเห็นความว่าชะรอยผู้ที่ฟังพระกระแสนั้นจะไม่เข้าใจชัดเจน ที่มีพระกระแสนั้นจะทรงหมายความว่าพระพุทธรูปทั้ง ๓๔ ปางนี้ จะตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ก็คงจะต้องเรียงเป็นแถวๆ พระเจ้าแผ่นดินแรกๆ คงต้องอยู่แถวหน้า พระเจ้าแผ่นดินชั้นหลังๆ ก็ต้องอยู่แถวหลัง ถ้าจะใช้พระนั่งไว้แถวหลังพระยืนอยู่แถวหน้า ก็คงบังแถวหลัง จึงรับสั่งว่าชั้นแรกๆ ให้เป็นพระนั่ง ชั้นหลังๆ ให้เป็นพระยืน เมื่อตั้งในหมู่เดียวกันจะได้แลเห็นตลอดไม่บังกัน พระราชดำริคงเป็นแต่หมายความเพียงชั้นเท่านี้ แต่ผู้ฟังคิดมากไป แล้วไม่ได้ตริตรองเทียบเคียงดู จึงได้กล่าวไปตามความเข้าใจของตัว ที่ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ก็มีข้อสงสัยอยู่อีกอย่างหนึ่งซึ่งจะมีผู้กล่าวคัดค้านได้ ว่าเหตุใดพระเจ้าแผ่นดินในวงศ์พระมหาธรรมราชาจึงได้เป็นพระยืน จะเป็นด้วยทรงหมายว่าเป็นปลายวงศ์เชียงราย ตามเช่นพงศาวดารนับว่าเป็น ๒๐ พระองค์ วงศ์พระเจ้าทรงธรรมเป็นต้นวงศ์ตั้งขึ้นใหม่ จึงได้เป็นพระนั่งดอกกระมัง ถ้าจะว่าเข้าทางอ้อมเชื่อเอาว่า พระมเหสีของพระเจ้าปราสาททองแปดพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระเจ้าทรงธรรมร่วมพระมารดาเดียวกัน ได้เป็นพระมารดาเจ้าฟ้าไชยองค์หนึ่ง พระมารดาพระนารายณ์องค์หนึ่งตามคำขุนหลวงหาวัดว่า จึงรวมวงศ์พระเจ้าปราสาททองเข้าเป็นวงศ์เดียวกับพระเจ้าทรงธรรมเช่นนั้นแล้วก็เป็นพอจะว่าได้ แต่ถ้าจะว่าอีกอย่างหนึ่งตามเรื่องเกร็ดที่เล่าว่า พระเจ้าปราสาททองเป็นพระราชโอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถแล้ว จะมิต้องนับว่าวงศ์พระเจ้าปราสาททอง เป็นวงศ์เชียงรายคืนมาได้ราชสมบัติหรือ ข้อความที่กล่าวทั้งสองฝ่ายนี้ ไม่มีในพระราชพงศาวดารซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงเรียบเรียง ท่านแยกวงศ์พระเจ้าทรงธรรมกับพระเจ้าปราสาททองออกเป็นคนละวงศ์ แต่มีข้อสงสัยจริงอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าก็ยังคิดไม่ตกลงตลอด ว่าเหตุที่ทรงเลือกพระถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่านั้นจะทรงหมายความอันใดบ้างหรือไม่ ถ้ามีที่หมาย บางแห่งก็เห็นได้ บางแห่งก็มืดไม่แลเห็นได้เลย ที่เห็นได้ง่ายชัดเจนนั้น คือพระยอดฟ้าเป็นพระพุทธรูปนั่งยกพระหัตถ์ขวาปลงพระชนม์ พระที่นั่งสุริยามรินทร์เป็นพระลีลา ที่ไม่เห็นเสียโดยมาก ถ้าเช่นนั้น พระพุทธรูปสำหรับพระนเรศวรใช้พระห้ามสมุทร จะเป็นที่หมายว่าพระเดชานุภาพมาก พระถวายเนตรเป็นของพระเอกาทศรถ จะแปลว่าเป็นผู้ชื่นชมยินดีในสมบัติและอำนาจที่มีชัยชำนะแล้วได้บ้างดอกกระมัง เพราะฉะนั้นพระยืนจึงได้ไปแทรกอยู่ในวงศ์พระมหาธรรมราชา แต่ครั้นเมื่อมาถึงพระเจ้าทรงธรรม น่าจะเหยียบรอยพระพุทธบาทเต็มที่ ทำไมกลายเป็นนั่งเรือขนานไปก็ไม่ทราบ พระปาลิไลยก์ พระฉันมธุปายาส ของท่านโอรสอีกสององค์นั้น ก็ดูไม่มีเค้ามูลอะไรเลย จะว่าพระเชษฐาเป็นเด็กจึงให้ชอบช้างชอบลิง ท่านก็ไม่เด็ก จะว่าพระอาทิตยวงศ์ต้องถูกถอด เพราะพี่เลี้ยงแม่นมต้องตามเอาพระอาหารไปเที่ยวป้อน ให้ฉันมธุปายาส แปลว่าตะกลามก็ดูทักเหลือเกินนัก แต่เรื่องนี้ยังชอบกลมากน่าคิด แต่ถ้าจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องราวในพระพุทธศาสนามากๆ แต่ไม่ทราบเค้าพระกระแสที่เคยทรงพระราชดำริการทั้งปวงอย่างไร ก็คงจะพาเข้าวัดเข้าวาไปไม่ถูก ถ้าจะเป็นแต่ผู้รู้แต่พระกระแส ไม่สันทัดในเรื่องราวในพระพุทธศาสนา ก็จะไปลงรอยพระฉันมธุปายาส เพราะตะกลามเช่นข้าพเจ้าว่านี้แหละ จึงยังตัดสินเรื่องนี้ไม่ตลอดได้ แต่ข้อซึ่งว่าด้วยเรื่องพระยืนพระนั่งนี้ ข้าพเจ้ายังลงเนื้อเห็นข้างทรงมุ่งหมายในเรื่องที่ตั้งมากกว่าหมายความลึกซึ้งไปเท่าที่กล่าว แต่มีคำที่กล่าวขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็ควรจะละเว้นไม่ให้เป็นที่สงสัย เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาจะสร้างพระพุทธรูปพระชนมพรรษา ข้อที่ปรึกษากันเลือกพระคันธารราษฎร์ เพราะเป็นพระปางเหลืออยู่นั้นอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ท่านผู้ใหญ่ๆ ท่านก็เห็นว่า เมื่อปีฉลูเบญจศก ซึ่งข้าพเจ้าเกิดนั้น ฝนแล้งมาแต่ปีชวดจัตวาศก ครั้นถึงปีฉลูต้นปีฝนก็แล้งนัก จนข้าวก็ขึ้นราคา ข้าวในนาก็เสียมาก เวลาเมื่อประสูติข้าพเจ้า ในทันใดนั้นฝนตกมาก ตามชาลาในพระราชวังท่วมเกือบถึงเข่า เห็นกันว่าเป็นการอัศจรรย์อยู่ พระองค์เจ้าอินทนิลจึงได้ประทานข้าวเปลือกเป็นของขวัญตลอดมา และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าก็พอพระทัยรับสั่งประภาษถึงเรื่องนี้เนืองๆ รับสั่งให้ข้าพเจ้าเป็นหน้าที่สำหรับทำพิธีฝนแต่เล็กมา ท่านผู้ใหญ่จึงได้ตกลงกันให้ใช้พระคันธารราษฎร์เป็นพระชนมพรรษา แต่ไปเกิดข้อรังเกียจกันด้วยเรื่องจะนั่งหรือจะยืน ตามเหตุว่ามาแล้ว คำตัดสินนั้นตกลงว่าถึงที่ยืนเป็นถูกต้องตามที่กล่าวมาก็จริง แต่เป็นพระพุทธรูปพึ่งเกิดขึ้นใหม่มีองค์เดียว พระเก่าๆ ที่มีมาก็เป็นพระคันธารราษฎร์นั่งทั้งสิ้น จึงได้ตกลงให้สร้างพระคันธารราษฎร์นั่ง กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ท่านโปรดพระชนมพรรษานี้มาก จึงได้ขอหล่อขึ้นอีกองค์หนึ่งต่างหาก ไม่ก้าไหล่ทอง ท่านได้ไปตั้งพิธีฝนหลายครั้งก็ว่าขลังดีวิเศษ จึงได้ขอให้พระองค์นั้นเข้ามาตั้งในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ด้วย เป็นอันมีพระคันธารราษฎร์แปลกออกไปอีกอย่างหนึ่ง มีดวงพระพักตร์เป็นพระอย่างใหม่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พาดสังฆาฏิกว้าง ไม่มียอดพระเมาฬี มีพระรัศมีแหลมเหมือนอย่างใหม่ๆ พระคันธารราษฎร์ที่ตั้งในการพระราชพิธีมีเป็นสี่อย่างด้วยกันดังนี้

การพิธีพรุณศาสตร์เป็นพิธีประจำปี เว้นแต่ถ้าปีใดฝนบริบูรณ์อยู่แล้วก็งดเว้นเสียไม่ทำ เพราะดูเหมือนหนึ่งว่าจะขอซ้ำให้มากเกินไป การที่จะได้ทำพระราชพิธีหรือไม่ได้ทำ มีเขตกำหนดอยู่เพียงเดือน ๙ ถ้าฝนภายในเดือน ๙ เข้ามาบริบูรณ์ดี ถึงจะไปแล้งในปลายมือประการใดก็ไม่เคยทำพระราชพิธี ถ้าฝนต้นปีภายในเดือน ๙ แล้ง จึงได้ทำพิธี แต่การที่จะทำพระราชพิธีนั้น มีวิธีแก้ไขอย่างอื่น และตั้งพิธีอย่างน้อยไปหลายๆ วันก่อน เมื่อเห็นฝนยังไม่ตกบริบูรณ์จึงได้ตั้งพิธีใหญ่ต่อไป อาศัยการที่ทำพิธีล่วงหน้าเช่นนี้ พอผ่อนผันให้การพระราชพิธีใหญ่ได้ช่องตามที่เคยสังเกตว่าเป็นเวลาฝนมักจะตกนั้นด้วย

การล่วงหน้าพระราชพิธี ซึ่งเป็นแบบอย่างโบราณมา ก็คือให้โขลนร้องนางแมวอย่างหนึ่ง ตัดต้นคนทีสออย่างหนึ่ง ช้างบำรูงาอย่างหนึ่ง วิธีร้องนางแมวนั้นก็ไม่ประหลาดอันใด เด็กๆร้องเป็นอยู่ด้วยกันทั่วหน้า ไม่ต้องการจะกล่าวถึง ตัดต้นคนทีสอนั้นเล่าก็ตัดเราดื้อๆ อย่างนั้นเองไม่ต้องกล่าวถึง จะขอว่าด้วยช้างบำรูงาซึ่งเป็นการเลิกเสียไม่ได้เล่นมาช้านาน วิธีที่จะให้ประงากันนั้น ช้างมีน้ำมันสองช้าง ปักแท่นตะลุงเบญจพาส ห่างกันยี่สิบวา ท้ายแท่นออกไปมีเสาปองสองแถวๆ ละห้าต้น เป็นสิบเสา ระยะเสาปองห่างกันศอกหนึ่ง เสาปองนั้นทำด้วยไม้จริงโตสองกำ สูงพ้นดินศอกหนึ่ง มีแผงตั้งบนล้อบังในระหว่างกลางแท่นช้างทั้งสองข้างมิให้เห็นกัน เมื่อนำช้างซึ่งแต่งเครื่องมั่นมีหมอถือขอเกราะขี่คอ ควาญท้ายถือขอเรียกว่าขอช้างพลาย ปลายด้ามขอนั้น มีปืนด้ามยาว ๔ ศอกบ้าง ๕ ศอกบ้าง มายืนแท่นผูกตะลุงอย่างช้างยืนโรงเรียบร้อยแล้ว เมื่อจะให้บำรูงาเมื่อใดจึงติดเชือกบาศที่เท้าหลังข้างละสองเส้นทั้งสองช้าง ปลายเชือกบาศพันเสาปอง เป็นลำดับกันไปทั้งห้าเสา แล้วจึงถอดปลอกปลดเชือกมัดขา นำช้างลงจากแท่น ชักแผงบังตาเสีย ช้างทั้งสองช้างยังห่างกันอยู่ ก็คัดเชือกออกจากเสาปองทีละคู่ๆ โรยให้ใกล้กันเข้าไป พองาประกัน ช้างทั้งสองที่กำลังคลั่งมันก็ย่อตัวโถมปะทะงาประกัน เสียงดังกึกก้องแต่ไม่มีอันตรายถึงตัวช้าง ด้วยมิได้หย่อนให้มากจนถึงแทงกันได้ นัยหนึ่งกล่าวว่าไม่มีแพ้ชนะกัน แต่อีกนัยหนึ่งกล่าวว่ามีแพ้ชนะกัน การที่แพ้ชนะกันนั้น คือช้างใดได้ล่างงัดงาช้างหนึ่งแหงนหงายขึ้นไป เหวี่ยงสะบัดไม่กลับลงได้ ช้างที่ต้องงัดนั้นแพ้มักจะร้องให้เสียง เมื่อแพ้ชนะกัน หรือประงากันพอสมควรแล้ว หมอก็กดให้ถอยหลังออกมา ในเวลาที่จะให้ถอยนั้นเป็นการยากลำบากของหมอ ด้วยช้างกำลังโทสะกล้าทั้งสองข้าง บางทีก็หันหน้ากลับเอางาเสยเชือกบาศที่หย่อนอยู่ข้างหลังนั้น ยกขึ้นตวัดไปบนหลัง หมอต้องคอยก้มหลบหลีกเชือกให้ว่องไว ถ้าหลบไม่พ้นเชือก กำลังช้างหันมาโดยเร็วเชือกพานตัวมีอันตรายต่างๆ บางคราวก็ถึงชีวิต เมื่อนำช้างพรากกันออกมาได้แล้ว รักษาไว้ให้สงบหายคลั่งทั้งสองฝ่าย หมอควาญจึงได้รำเยาะเย้ยกัน หมอควาญช้างตัวที่ชนะรำก่อน ลักษณะที่รำนั้นมีท่าและมีชื่อเรียกต่างๆ ตามแต่ผู้ใดจะชำนาญท่าใด ท่าที่หมอรำนั้น เรียกว่าปัดเกล้าบ้าง แป้งผัดหน้าบ้าง นางกรายบ้าง ท่าที่ควาญรำเรียกว่าลำลำจะพุ่งบ้าง ชมพูพาดบ่าบ้าง จูงนางลีลาบ้าง แต่เมื่อจะจบเพลงร้องโผะ เป็นการโห่เยาะเย้ยผู้ที่แพ้ แล้วผู้ที่แพ้รำแก้หน้าบ้าง ร้องโผะเยาะเย้ยเหมือนกัน แล้วนำเข้าประงากันใหม่ และรำขอเยาะเย้ยกันครบสามครั้ง เป็นเสร็จการบำรูงา

การช้างบำรูงานี้ไม่เป็นแต่สำหรับพิธีฝนอย่างเดียว ถือว่าเป็นการสวัสดิมงคลแก่พระนครด้วย การพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานใช้แทนผัดช้างก็มีบ้าง การอื่นที่เป็นการสำคัญก็มีบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นสวัสดิมงคลนั้น ก็คงจะเป็นเหตุมาจากที่ฝึกหัดช้างทหาร ให้กล้างาเป็นกำลังในการศึกสงครามเป็นต้นเหตุ แล้วภายหลังจึงกลายลงมาเป็นอาการที่ช้างเอางาต่องาประกันนั้นเป็นมงคลไป และในเวลาซึ่งช้างประงากันเช่นนั้นจะถูกฝนตกหลายคราว จึงกลายเป็นเครื่องทำให้ฝนตกได้ เป็นการสำหรับขอฝนไปอีกชั้นหนึ่ง ในเรื่องช้างบำรูงานี้ ชะรอยแต่ก่อนท่านจะเล่นกันอยู่เสมอๆ จนไม่เป็นการอัศจรรย์อะไร ไม่มีผู้ใดใคร่จะกล่าวถึง ไปกล่าวถึงแต่เมื่อมีเหตุที่เป็นอัปมงคล คือแผ่นดินพระยอดฟ้า จุลศักราช ๘๙๐ ปีชวดสัมฤทธิศก มีช้างบำรูงา ช้างหนึ่งชื่อพระฉัททันต์ กับช้างชื่อพระยาไฟ ครั้นเมื่อช้างประงากัน งาช้างพระยาไฟหักเป็นสามท่อนก็ถือกันว่าเป็นนิมิตอัปมงคล จึงเกิดเหตุการจลาจลในแผ่นดินภายหลังไม่ช้านัก การช้างบำรูงาที่ไม่มีเหตุผลอันใดก็ไม่ได้กล่าวถึง จนชั้นเช่นในกรุงรัตนโกสินทรนี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้มีช้างบำรูงาครั้งหนึ่ง ผู้ซึ่งควรจะได้เห็นนั้นมีมาก ก็ไม่ใคร่มีใครกล่าวถึง ตั้งแต่ครั้งนั้นมาก็ยังไม่ได้มีช้างบำรูงาอีกเลย

วิธีขอฝนล่วงหน้า ซึ่งเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือแห่พระวิมลรัตนกิรินี พระวิมลรัตนกิรินีนี้ ลงมาถึงกรุงเทพฯ ในปีฉลูเบญจศก สมัยเดียวกับปีข้าพเจ้าเกิดนั้น ในวันที่แห่เข้ามายืนโรงสมโภชในพระบรมมหาราชวัง ฝนก็ตกมากอีกครั้งหนึ่ง จึงต้องเป็นพนักงานขอฝนด้วยอีก การที่ให้ไปขอฝนนั้น คือแต่งเครื่องทองแทบกลม มีกระบวนแห่อย่างช้างเผือกลงน้ำในเวลาสมโภช แห่ออกจากในพระบรมมหาราชวังไปยืนแท่นผูกตะลุงที่เกยหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์เวลาบ่ายๆ ทุกวัน มีโปรดให้ข้าพเจ้าไปรดน้ำบนเกยครั้งหนึ่ง จะเป็นด้วยเหตุใดพระราชประสงค์อย่างใดไม่ทราบเลย เพราะเวลานั้นยังเด็กอยู่

อนึ่งการที่พิธีล่วงหน้าเช่นนี้ เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ รับสั่งให้สังฆการีไปเผดียงพระสงฆ์ทุกๆ พระอารามหลวงให้สวดขอฝน แต่ครั้งเมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพิธีหลวงอย่างน้อยขึ้น พิธีหลวงอย่างน้อยนี้เริ่มลงมือพร้อมกันกับพระสงฆ์สวดตามวัด ทำบนหอพระที่ท้องสนามหลวง ตั้งพระพุทธรูปที่เกยต่อออกมากับเฉลียงหอ มีโต๊ะทองใหญ่โต๊ะหนึ่ง ตั้งพระคันธารราษฎร์จีน พระมหาเถรแขนลาย พระขอฝนของรามัญหลายองค์ มีราวเทียน ไม่ได้ตั้งเครื่องนมัสการ เทียนที่ทรงจุดนมัสการนั้นใช้อย่างเล่มละสองสลึง ตามกำลังวันในวันที่ทำพิธีนั้น ธูปเท่ากัน ดอกไม้ตามสีวันเท่ากัน พระสงฆ์ที่สวดมนต์ก็เท่ากันกับกำลังวัน ใช้พระราชาคณะนำองค์หนึ่ง นอกนั้นพระพิธีธรรมทั้งสิ้น ทรงจุดเทียนนมัสการแล้วประพรมน้ำหอมทรงเจิม แล้วจึงทรงตั้งสัตยาธิษฐาน พระสงฆ์สวดเจ็ดตำนานถึงท้ายสวดมนต์สวดคาถาขอฝน เริ่มต้นตั้งแต่ ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ ไปจนจบ สวดเท่ากำลังวัน พระสงฆ์นั้นนั่งตามเฉลียงหอพระ หันหน้าเข้าข้างใน การพิธีน้อยเช่นนี้ เสด็จพระราชดำเนินออกโดยมาก ถ้าไม่เสด็จพระราชดำเนิน ก็โปรดให้ข้าพเจ้าไปทำทุกครั้ง ไม่มีผู้อื่นผลัดเปลี่ยนเลย แต่ไม่ได้ประทับอยู่จนสวดมนต์จบ ทรงจุดเทียนแล้วประทับอยู่ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่ไม่ทันพระสงฆ์สวดจบก็เสด็จกลับ ถ้าวันใดฝนตกก็พระราชทานรางวัลพระสงฆ์สำรับนั้น มากบ้างน้อยบ้าง ที่เพียงองค์ละเฟื้องก็มี ข้าวสารองค์ละถังก็มี เงินองค์ละบาทเป็นอย่างมาก การพระราชพิธีอย่างน้อยเช่นนี้ ตั้งติดๆ กันไปเก้าวันสิบวันจนถึงสิบห้าวันก็มีบ้าง ไม่เป็นกำหนด สุดแต่ฝนตกมากแล้วก็เป็นหยุดเลิก ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ตั้งพระราชพิธีใหญ่ต่อไป ถ้าตั้งพระราชพิธีใหญ่ก็สวดไปจนบรรจบวันตั้งพระราชพิธี แต่สวดขอฝนตามวัด ในเวลาตั้งพระราชพิธีใหญ่ก็สวดอยู่ด้วย

การพระราชพิธีพรุณศาสตร์ใหญ่เคยทำมาทุกรัชกาลแต่เห็นจะห่างๆ กว่าในรัชกาลที่ ๔ และในรัชกาลปัจจุบันนี้ ด้วยได้ไต่ถามดูว่าในรัชกาลที่ ๓ เคยทำอย่างไรทำที่ไหน ก็ได้ความจากผู้ที่แจ้งความนั้น ว่าจำได้ว่าทำสองครั้ง ทำที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฟังดูก็ยุติด้วยเหตุผล คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงสร้างพระคันธารราษฎร์ใหญ่ขึ้น ก็ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อีกประการหนึ่ง การพระราชพิธีพรุณศาสตร์ในรัชกาลที่ ๔ ถึงว่ายกออกไปทำที่พลับพลาท้องสนามหลวง ก็ยังโยงสายสิญจน์เข้ามาที่พระมหามณีรัตนปฏิมากรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในสามรัชกาลนั้นคงจะทำที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามทุกครั้ง ต่อรัชกาลที่ ๔ จึงได้ย้ายออกไปทำที่พลับพลาท้องสนามหลวง พระแท่นมณฑลในการพระราชพิธีจัดเหมือนพืชมงคล เพิ่มแต่พระแท่นสวดตั้งท้ายพลับพลาข้างเหนือ มีกระโจมเทียนชัย น้ำหนักขี้ผึ้งและไส้เทียนชัยเหมือนพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ พระพุทธรูปที่ตั้งบนพระแท่น ตั้งพระบรมธาตุระย้ากินนรครอบพระเจดีย์ถม พระคันธารราษฎร์องค์ใหญ่ พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล พระห้ามสมุทร พระชัยเนาวโลหน้อย พระทรมานข้าว พระธรรม มีกระบวนแห่พระเหมือนอย่างพิธีพืชมงคล โยงสายสิญจน์พระแท่นต่อพระแท่นถึงกันเหมือนอย่างพระราชพิธีที่มีท้องภาณทั้งปวง ที่หน้าพลับพลากลางแจ้งขุดสระ กว้างสี่ศอก ยาวสี่ศอกสี่เหลี่ยม ลึกศอกหนึ่ง พูนดินเป็นคันรอบสูงศอกหนึ่ง ปั้นรูปพระสุภูตนั่งริมฝั่งสระหันหน้าไปข้างเหนือรูปหนึ่ง ตัวทาสีคราม หน้าทาเสน ผ้าห่มสีเหลือง นั่งขัดสมาธิแหงนหน้าดูฟ้า มุมสระมีนาคมุมละตัว โลกบาลมุมละรูป ที่กลางสระมีรูปพระอินทร์ พระยาปลาช่อนและบริวารสิบรูป มีกบ เต่า ปู ปลา บ้างตามสมควร มีราชวัติฉัตรกระดาษกั้นสี่มุม ตั้งศาลลดโหรบูชาห้าศาล ที่พลับพลาโถงตั้งเทวรูป รอบกำแพงแก้ว พลับพลาท้องสนามหลวงมีราชวัติฉัตรกระดาษ ปลูกต้นกล้วยอ้อยวงสายสิญจน์รอบไป

การพระราชพิธีมีท้องภาณอย่างน้อยเช่นนี้ มีกำหนดพระสงฆ์เพียง ๒๕ รูป คือเป็นแม่การเสียรูปหนึ่ง นั่งปรก ๔ สวด ๔ สำรับๆ ละ ๕ รูป แต่เช้าจนเที่ยง แต่เที่ยงจนค่ำ แต่ค่ำจนสองยาม แต่สองยามจนรุ่ง เวลาเย็นสวดมนต์พร้อมกัน เช้าฉันพร้อมกัน เวลาเพลฉัน ๑๒ รูป แม่การในพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้ เป็นหน้าที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เสด็จแต่เวลาจุดเทียนชัย สวดมนต์วันเดียว ต่อนั้นไปสวดมนต์และฉันเป็นวันละ ๒๔ รูปเท่านั้น ไม่มีตั้งน้ำวงด้าย เริ่มจุดเทียนชัยเวลาบ่าย พราหมณ์โหรดาจารย์ติดพระราชพิธีทุ่งส้มป่อย จึงเกณฑ์พราหมณ์พฤฒิบาศมาเป่าสังข์ เวลาจุดเทียนชัยมีขับไม้บัณเฑาะว์ด้วย ทรงถวายสบงจีวรกราบพระและย่ามสีน้ำเงิน พระสงฆ์ห่มผ้าแล้วจึงจุดเทียนชัย คาถาที่พระสงฆ์สวดในเวลาจุดเทียนชัย ก็ใช้ พุทโธ สัพพัญญุตญาโณ เหมือนอย่างพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เปลี่ยนแต่บทท้ายที่ต่อ เอตัสส อนุภาเวน เป็น เทโว วัสสตุ กาลโต วัสสันตรายา มาเหสุํ ปลายลงอย่างเดิมว่า สัพพโสตถี ภวันตุ เต แล้วราชบัณฑิตอ่านคำประกาศ ต้นเป็นภาษามคธสรรเสริญพระพุทธคุณแล้วว่าสัคเคประกาศเทวดา แล้วจึงกล่าวคาถาภาษิตซึ่งมาในเทวตาสังยุตที่มีข้อความเกี่ยวข้องด้วยเรื่องฝนจบแล้ว จึงได้กล่าวคำนมัสการเป็นสยามพากย์แปลจากภาษามคธนั้นเอง ในคำสรรเสริญพระพุทธคุณ แต่มิได้แปลสัคเคประกาศเทวดา ต่อท้ายสรรเสริญพระพุทธคุณว่า พระผู้มีพระภาคย์พระองค์นั้น ได้ดำรัสภาษิตพระคาถาสองพระคาถานี้ไว้ ว่าแต่บรรดาสระที่น้ำไหลไปทั้งหลาย มีน้ำฝนเป็นอย่างยิ่ง เหล่าสัตว์ทั้งหลายผู้อาศัย ณ แผ่นดินย่อมเลี้ยงชีวิตพึ่งน้ำฝน ดังนี้ แล้วจึงลงคำอธิษฐานว่าพระพุทธภาษิตทั้งสองนั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายคิดตามก็เห็นเป็นความจริง ด้วยอำนาจคำจริงนี้ วลาหกเทพยดาทั้งหลาย จงให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้สรรพธัญญาหารงอกงามบริบูรณ์ด้วยรวงผล เป็นประโยชน์แก่ประชุมชนทุกประการ แล้วจึงไขความพิสดารในสองพระคาถานั้นต่อไป ว่าเทพยดาองค์หนึ่งทูลว่าของรักซึ่งจะเสมอด้วยบุตรไม่มี ทรัพย์สิ่งของอันมนุษย์จะพึงถนอม ซึ่งจะยิ่งกว่าโคไม่มี แสงสว่างซึ่งจะยิ่งกว่าพระอาทิตย์ไม่มี สระที่น้ำไหลไปทั้งหลายมีสมุทรสาครเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสตอบแปลงเสียใหม่ว่า ของรักซึ่งจะเสมอด้วยตนไม่มี ทรัพย์สิ่งของอันมนุษย์จะพึงถนอมซึ่งจะเสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มี แสงสว่างซึ่งจะเสมอด้วยปัญญาไม่มี สระที่น้ำไหลไปทั้งหลาย มีน้ำฝนเป็นอย่างยิ่ง แล้วจึงกล่าวคำอธิษฐานเช่นว่ามาแล้วอีกครั้งหนึ่ง ต่อนั้นไปจึงว่าด้วยคาถาเทพยดาทูลถาม ว่าสิ่งอะไรเป็นวัตถุที่อยู่ของมนุษย์ทั้งหลาย อะไรเป็นสหายอย่างยิ่งของมนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยในแผ่นดินพึ่งอะไรเลี้ยงชีวิต ทรงวิสัชนาว่า บุตรเป็นวัตถุที่อยู่ของมนุษย์ทั้งหลาย ภริยาเป็นสหายอย่างยิ่งของมนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยในแผ่นดินพึ่งน้ำฝนเลี้ยงชีวิต แล้วก็ลงคำอธิษฐานเหมือนที่กล่าวมาแล้ว เพิ่มแต่ที่ปลายว่า ตามพระบรมราชประสงค์ ทุกประการเทอญ ก็เป็นจบกันเท่านั้น แล้วพระสงฆ์ก็สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถา ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ นับจบตามกำลังวันเหมือนอย่างพระราชพิธีอย่างน้อย ถ้าถูกวันที่มีกำลังมากเช่นวันศุกร์เป็นต้น อยู่ในสองชั่วโมงเศษสามชั่วโมงจึงได้จบ

ข้อความในคาถาที่สำหรับสวดนี้ เก็บเรื่องต่างๆ มารวบรวมกันผูกเป็นคาถา แต่เดิมมาที่พระสงฆ์สวดขอฝนก็ใช้คาถาสุภูติสูตร ต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชธุระในเรื่องการพระราชพิธี ให้มีราชบัณฑิตอ่านประกาศขึ้นด้วยเป็นต้น จึงทรงผูกคาถานี้ให้ติดเนื่องเป็นประพันธ์อันเดียวกันสำหรับการพระราชพิธี เริ่มเนื้อความในคาถา เริ่มต้นตั้งแต่ ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ ฌายินํ วโร ยกความว่าพระผู้มีพระภาคย์อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐกว่าผู้เพ่งอารมณ์ทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้อุดมพิเศษสูงสุดกว่าผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย พระหฤทัยเยือกเย็นไปด้วยความเอ็นดูในหมู่สัตว์ เป็นคำสรรเสริญเบื้องต้น ต่อนั้นไปจึงกล่าวถึงเรื่องนิทานพระคันธารราษฎร์ ดำเนินความตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่จำพรรษา ณ เชตวันอารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดีเมืองสาวัตถี ในกาลนั้นแว่นแคว้นโกศลชนบทเกิดฝนแล้งข้าวแพง พระผู้ทรงพระภาคย์เสด็จไปบิณฑบาต ประชุมชนอาราธนาเพื่อจะให้ฝนตก พระองค์อาศัยความกรุณาในประชุมชน เสด็จกลับประทับที่ฝั่งสระโบกขรณีที่น้ำแห้งจะสนานพระกาย ทรงผลัดผ้าอันตรวาสก ทรงอุทกสาฎก ชายข้างหนึ่งคลุมพระองค์ ในขณะนั้นมหาเมฆตั้งขึ้นมาข้างปัจฉิมทิศ ยังฝนให้ตกเพียงพอประโยชน์ความประสงค์ของมหาชน ต่อนั้นไปจึงเป็นคำอธิษฐานว่าด้วยอานุภาพพระพุทธเจ้านั้น ซึ่งยังปรากฏอยู่ตลอดมาถึงกาลปัจจุบันนี้ ขอเทพยเจ้าจงบันดาลให้ฝนตกโดยกาลอันควร ให้มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยธัญผลเสมอไป นี่เป็นตอนหนึ่ง ต่อไปอีกตอนหนึ่งเป็นคาถาคำอธิษฐาน เริ่มตั้งต้นแต่ มหาการุณิโก นาโถ พระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณาแลเป็นที่พึ่งของสัตว์ เปลี่ยนความเที่ยวแรกว่า อัตถาย สัพพปาณินํ ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อความต้องการแก่สรรพสัตว์ จบที่ ๒ ว่า หิตาย สัพพปาณินํ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ จบ ๓ ว่า สุขาย สัพพปาณินํ เพื่อความสุขแก่สรรพสัตว์ แล้วไปรวมความว่าได้บรรลุถึงพระสัมโพธิญาณอันอุดมแล้ว ด้วยวาจาภาษิตอ้างพระกรุณาคุณขันธ์เป็นสัตยาธิษฐานนี้ ในจบต้นว่า เทโว วัสสตุ ธัมมโต ขอเทพยเจ้าจงบันดาลให้ฝนตกโดยธรรม จบ ๒ ว่า กาลโต โดยกาล จบ ๓ ว่า ฐานโส โดยฐานะ สวดคำอธิษฐานนี้เป็นสามจบ แล้วจึงว่าด้วยเรื่องพระสุภูต เริ่มตั้งแต่ สุภูโต จ มหาเถโร มหากาโย มโหทโร เป็นต้น จนตลอดคำอธิษฐานของพระเถรเจ้าตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ต่อนั้นไปยกคำอธิษฐานของพระยาปลาช่อนมาว่าตั้งแต่ อนุสสริต๎วา สตํ ธัมมํ ปรมัตถํ วิจินตยํ เนื้อความเบื้องต้นซึ่งยังไม่ได้กล่าวมา ใจความว่าข้าพเจ้าตามระลึกถึงธรรมของท่านผู้ระงับทั้งหลาย คิดค้นหาปรมัตถ์อยู่ ได้ทำสัจกิริยาซึ่งเป็นของเที่ยงยั่งยืนในโลก คือจำเดิมแต่ข้าพเจ้าระลึกจำตนได้ ย่อมไม่รู้ไม่เห็นว่าได้เคยแกล้งเบียดเบียนสัตวอื่นแม้แต่ตัวหนึ่ง ด้วยสัจวาจาภาษิตนี้ ขอปชุณณเทพยเจ้าจงยังฝนให้ตกเถิด ต่อนั้นไปลงร่วมความกับคาถา อภิตถนยํ ปชุณณ นิธึ กากัสสนาสย ซึ่งได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ไปลงความข้างปลายว่า เอวรูปํ สัจจกิริยํ กัต๎วา วิริยมุตตมํ ข้าพเจ้าทำสัจกิริยาซึ่งเป็นความเพียรอันอุดม อาศัยกำลังอำนาจความสัจให้ฝนตกได้ตามปรารถนา ธรรมอันใดอันหนึ่งซึ่งจะเสมอด้วยความสัจไม่มี การที่ทำสัจกิริยาปลดเปลื้องตนแลบริษัทให้พ้นมรณภัยได้นี้เป็นสัจบารมีของข้าพเจ้า คาถาที่สวดมีเนื้อความเพียงเท่านี้ เมื่อสวดมนต์จบแล้วจึงสวดภาณวารต่อไป ภาณวารนั้นสวดสุภูติสูตร มีราชบัณฑิตนุ่งขาวห่มขาวชักประคำอยู่ที่ปากสระคนหนึ่ง ผลัดเปลี่ยนกันทั้งกลางวันกลางคืนกว่าจะเสร็จการพระราชพิธี ที่บนเกยข้างหอพระคันธารราษฎร์ตั้งพระคันธารราษฎร์จีน พระมหาเถรแขนลาย พระบัวเข็มรามัญ มีธูปเทียนดอกไม้เครื่องนมัสการตามวันอย่างพิธีน้อย ยกแต่พระสงฆ์สวดมนต์

การพระราชพิธีพรุณศาสตร์ไม่มีกำหนดกี่วันเลิก สุดแต่เทียนชัยยังยาวอยู่ ถ้าฝนยังตกน้อยก็ตั้งต่อไป บางคราวถึงห้าวันหกวันจึงได้เลิกก็มี เมื่อเลิก พระราชาคณะที่นั่งปรกซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่าทุกองค์เป็นผู้ดับเทียนชัย พระสงฆ์สวดคาถาดับเทียนชัยตามธรรมเนียม แต่ในเวลาเลี้ยงพระเช้าตลอดจนวันดับเทียนชัย ไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินตลอดพระราชพิธี เสด็จพระราชดำเนินแต่เวลาเย็นจนพระสงฆ์สวดมนต์จบ ถ้าฝนตกมากก็พระราชทานรางวัล ตั้งแต่องค์ละบาทจนถึงองค์ละ ๔ บาท ตามฝนมากฝนน้อย อนึ่ง การพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้ไม่มีกำหนดที่ บางปีก็ยกขึ้นไปตั้งกรุงเก่า ในรัชกาลปัจจุบันนี้ยกขึ้นไปตั้งที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติครั้งหนึ่ง

อนึ่ง การห้ามปรามอยู่ข้างจะกวดขัน ในสิ่งซึ่งถือว่าไม่บริสุทธิ์ คือตั้งต้นแต่พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งจะเสด็จออกไปทรงตั้งสัตยาธิษฐานขอฝนนั้น ต้องสรงน้ำชำระพระกายด้วยดินสอพองให้หมดจด และห้ามมิให้ทรงถูกต้องกายสตรี ในจังหวัดพลับพลาซึ่งวงสายสิญจน์ก็ห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าไป ถ้าการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ครั้งใด ก็เป็นการเดือดร้อนของพระเจ้าลูกเธอที่เป็นพระราชบุตรีอันต้องห้ามไม่ให้ตามเสด็จ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มาทุกครั้ง ถึงพระสงฆ์ที่จะสวดมนต์ในการพระราชพิธี ก็มีหมายให้ตั้งที่สรงน้ำ แต่จะรวมเสียหรือประการใดไม่ทราบ บรรดาผู้ที่จะเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีตลอดจนช่างปั้น ก็บังคับให้ชำระกายให้หมดจดทั่วไป ถ้าฝนแล้งในปีใด ราษฎรทั้งปวงก็บ่นหาว่าเมื่อไรจะตั้งการพระราชพิธี เจ้านายและเสนาบดีผู้ใหญ่แต่ก่อนๆ ก็พอใจเป็นธุระกราบทูลตักเตือนให้ตั้งการพระราชพิธีมีอยู่เนืองๆ แต่ปรกตินั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงฟังรายงานน้ำฝนต้นข้าวอยู่เสมอ เมื่อทรงเห็นว่าฝนไม่ปรกติตามฤดูกาล สมควรจะตั้งพระราชพิธีก็โปรดให้ตั้งพระราชพิธี ไม่ทันมีผู้กราบทูลตักเตือนหรือร้องหานั้นโดยมาก การพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้เป็นที่ชอบใจของราษฎรชาวนา มักจะคอยสังเกตว่า ถ้าตั้งพระราชพิธีฝนมีบริบูรณ์ก็เป็นที่อุ่นใจโจษกันไปไม่ใคร่จบ ถ้าฝนขัดข้องก็มักจะบ่นหนักอกหนักใจไม่ใคร่สบายไป พระราชพิธีพรุณศาสตร์จึงเป็นเครื่องประคองใจของราษฎรให้เป็นที่ชื่นชมยินดี มีความนิยมอยู่โดยมาก จึงเป็นพระราชพิธียั่งยืนมาด้วยประการฉะนี้

อนึ่ง ข้าพเจ้าลืมกล่าวถึงการบูชาขอฝนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ลงพิมพ์ไปเสียแล้ว จะแทรกไม่ทัน การบูชาเช่นนี้จะมีมาแต่ครั้งใดก็ไม่ปรากฏ แต่ดูเหมือนจะมีมาช้านาน เป็นของโบราณ จนในคำให้การขุนหลวงหาวัดก็ได้มีกล่าวถึงว่า “ถ้าฝนไม่ตก ให้เอาคำโองการออกอ่านฝนก็ตก” ดังนี้ คำโองการนี้เห็นจะไม่ใช่เรื่องอื่นเสียแล้ว คงเป็นตำราที่จะว่าต่อไปนี้เอง บางทีจะเกิดขึ้นในแผ่นดินบรมโกศนั้นเองก็จะได้ ด้วยตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมมา เรื่องเสกๆ เป่าๆ เชื่ออะไรต่ออะไรยับเยินมีมาก ยิ่งชั้นหลังลงมาดูยิ่งหนักแก่มือขึ้นไป จนเหลวเกือบไม่เป็นชิ้นได้ เหมือนโยคีคนหนึ่งที่จดหมายชื่อไว้ว่าอาตมารามสัญญาศรี เล่าว่าตัวบวชเป็นโยคีแล้วออกเดินป่ามา ได้พบเมืองถึงสองร้อยเศษ เห็นหงส์ กินนร นาค เมืองหนึ่งไถนาด้วยหนูและจามรี เห็นลิงใหญ่ตาแดงเหมือนแสงไฟ มีบริวารประมาณสักห้าพันเศษ ได้เห็นศาลรามสูรมีขวาน และได้ไปที่สังขเมษาธารมีดอกบัวที่ตูมโตเท่าบาตร ที่บานโตเท่าดุมเกวียน ได้พบฤๅษีกอดต้นไม้บริกรรมอยู่จนเล็บยาวกึ่งตัว บางองค์นกกระจอกก็อาศัยทำรังอยู่ในหนวด ลางองค์นั่งอยู่กับพื้นแผ่นดิน ใบไม้หล่นลงมาจนมิดกาย แล้วยังบอกต่อไปว่ามีอีกมากจะพรรณนาไปก็จะยาว ถ้อยคำที่โยคีแจ้งความนี้เป็นที่น่าเชื่อถือไม่ควรที่จะสงสัยเลย เพราะพระเจ้าแผ่นดินได้รับสั่งให้พระราชวังเมืองไปซักไซ้ไต่ถาม แกล้งตลบทบทวนหลายอย่าง ก็แจ้งความยั่งยืนไม่ฟั่นเฟือนแฝงแคลง อายุโยคีนั้นกว่าร้อยปี ผมยาวกว่าสี่วา กินแต่ผลไม้เป็นอาหาร กำลังกายสิทธิ์และฌานนั้นแก่กล้านัก โยคีนั้นอยู่ที่วัดนางแมนนอกกรุง คือนอกกำแพงเมือง นี่แลถ้อยคำของขุนหลวงหาวัดคือเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจ ที่เป็นกรมพระราชวังแล้วเป็นเจ้าแผ่นดิน ทรงเชื่อถือมั่นคงเช่นนี้ พอจะเป็นตัวอย่างให้เห็นได้ว่าในเวลานั้นผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ก็ดี ผู้มีบรรดาศักดิ์น้อยก็ดี ที่อายุมากก็ดี อายุน้อยเช่นขุนหลวงหาวัดนี้ก็ดี จะเชื่อถือและมีความรู้หลักเป็นประการใด ข้าพเจ้าจึงสามารถที่จะประมาณเอาว่า ถ้าตำราขอฝน เช่นจะว่าต่อไปนี้ จะเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบรมโกศเองก็เห็นจะได้ ตำรานั้นเลื้อยเจื้อยเปรอะอย่างยิ่ง ได้ทำการบูชาแทรกในพระราชพิธีอยู่แต่ก่อนนั้น คือในเวลาพระราชพิธีพรุณศาสตร์ บ่าย ๓ โมงพราหมณ์เชิญฤๅษีกไลยโกฏินั่ง ๑ ยืน ๒ มาตั้งที่แท่นกลางแจ้งหน้าหอพระราชพิธีเก่าในพระราชวัง มีเครื่องบูชาธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้จัดลงตระบะเครื่องบูชาเหมือนอย่างบริขารกฐิน แล้วขุนหมื่นพราหมณ์อ่านเทพชุมนุมจบ ๑ เป่าสังข์สองคน อ่านวันละสามจบทุกวัน แล้วตั้งรูปพระฤๅษีนั้นผึ่งแดดตรำฝนไว้ตลอดพระราชพิธี

การที่จะอ่านเทพชุมนุมนี้ มีข้อบังคับไว้ว่า เมื่อจะสังวัธยายพระมหาเทพชุมนุมนี้ ให้นมัสการเป็นเบญจางคประดิษฐ์ ตั้งนโมสามจบ แล้วว่าพระไตรสรณคมน์ แล้วจึงว่าคำนมัสการพระศิวลึงค์อีกสามจบ แล้วตั้งอธิษฐานปรารถนาก่อนแล้วจึงอ่าน ในเรื่องเทพชุมนุมนั้น ขึ้นต้นขอนมัสการพระรัตนตรัย และนมัสการคุณพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูป พระสถูป พระศรีมหาโพธิ พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ พระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าอีก ๒๘ พระองค์และพระพุทธเจ้าสามพระองค์ และพระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ พระแก้ว พระบาง พระแก่นจันทน์ พระพุทธสิหิงค์ แล้วต่อไปออกชื่อพระอรหันต์ปนกันเลอะไปกับชื่อพระพุทธเจ้าแต่ก่อนๆ แล้วไปลงนวโลกุตรธรรม ปีติ ๕ กรรมฐาน ๔๐ วิปัสสนา ๔๐ แล้วไหว้พระพุทธบาทอันมีในสถานที่ต่างๆ ทั้งพระจุฬามณี พระเชตวัน พระรัตนบัลลังก์ ภายใต้พระศรีมหาโพธิ พระสารีริกธาตุ พระปัจเจกโพธิ แล้วไหลไปพระสิริสุทโธทน พระสิริมหามายา แล้วไปออกชื่อกษัตริย์โสฬสบางองค์ ซึ่งได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาตลอดลงมาจนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช แล้วออกชื่อเทวดา พราหมณ์ๆ ทั้งพระอิศวร พระนารายณ์ พระอุมาเป็นต้นอีกมากหลายองค์ จนถึงเทวดานพเคราะห์ และเทวดาที่รู้จักง่ายๆ เช่น นางมณีเมขลาเป็นต้น และภูมิเทวดา และชั้นกามาพจร ๖ พรหมโลกอีก ๑๖ ออกชื่อตลอด เชิญพระอินทร์และมเหสีทั้งครัว ท้าวโลกบาล พระยายมราช นายนิรยบาล โขมดฟ้าผ่า ยักขินี และปู่เจ้าต่างๆ มีสมิงพรายเป็นต้น เทวดาและยักษ์ที่เป็นอารักขเทวดาและเทวดาตีนพระเมรุ เลยไปจนถึงปลาตะเพียนทอง ช้างน้ำ ต้นไม้ประจำทวีป แล้วจึงนมัสการพระฤๅษีที่อยู่ในป่าพระหิมพานต์แปดหมื่นสี่พัน ที่ออกชื่อก็หลายองค์ มีฤๅษีกไลยโกฏิเป็นต้น แล้วเลยไปถึงเพทยาธรกินนรอะไรๆ อย่างยีโอกราฟีของไตรภูมิแล้ว ไปหาสัตว์ซึ่งมีฤทธิ์ คือช้างเอราวัณ ช้างฉัททันต์ อุโบสถ อัฐทิศ ราชสีห์ แล้วไปจับเรื่องจักรพรรดิ และเจ้าแผ่นดินในเรื่องนิทานรามเกียรติ์ อุณรุท เช่นท้าวทศรถ บรมจักรกฤษณ เป็นต้น จนถึงท้าวพระยาวานรและยักษ์ เช่นสัทธาสูร มูลพะลำ นกสำพาที มีชื่อตามแต่จะนึกได้ หมดชื่อเหล่านี้แล้วจึงต่อว่าเทวดา ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าจะเข้าสู่ปรินิพพาน ได้ฝากพระพุทธศาสนาไว้แก่เทวดาประจำทวีปทั้งสี่ มีพระอินทร์เป็นต้น ได้รับปฏิญาณว่าจะช่วยค้ำชูพระศาสนาพระสัพพัญญูถ้วนห้าพันพระวัสสา บัดนี้มีเข็ญร้อนทุกเส้นหญ้าทั่วทุกสรรพสัตว์ ขัดฟ้าฝนไม่ตกลงมาตามฤดูบุราณราชประเพณี มีวิบัติต่างๆ ผิดอย่างบุราณราช ผิดพระพุทธโอวาทให้เคืองใต้ฝ่าพระบาทพระบรเมศวรบรมนาถ บัดนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงใช้ให้ข้าพเจ้ามาทำพิธี ร่ายพระมนต์มหาจินดา ต่อนั้นไปบ่นพึมพำ ถึงพระมหาบุรุษลักษณ พระไตรสรณคมน์ เมตตาพรหมวิหาร ไตรลักษณญาณ และอะไรต่างๆ ขอให้กำจัดวิบัติราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย จัญไรทั้งปวง แล้วเชิญพระกรรมฐาน ๔๐ วิปัสสนา ๔๐ ลงอยู่ในศีรษะ ท้าวมหาพรหมอยู่หน้าผาก พระอินทร์อยู่แขนซ้าย พระนารายณ์อยู่แขนขวา แม่น้ำพระคงคามารองดวงใจ แล้วซ้ำเอาพระเสาร์มาไว้ข้างซ้าย เอาพระนารายณ์มาไว้ข้างขวา แล้วเอาพระอังคารไปไว้ข้างซ้าย เอาพระอาทิตย์มาไว้เป็นตัว เอาพระอิศวรมาไว้ในดวงใจ ทำการสิ่งใดให้สำเร็จดังปรารถนา แล้วขอคุณพระมหากษัตริย์และเทวดาให้มาประสิทธิ์ ลงท้ายกลายเป็นคาถาไม่เป็นภาษาคนสองสามคำแล้ว ก็จบผุบลงไปเฉยๆ อยู่ข้างจะเร่อร่าเป็นของคนเถนๆ อะไรแต่งขึ้นเรื่องเดียวกับสรรเสริญจระเข้ หรือปัดพิษติดแสลง แต่เล่าย่อๆ มานี้ก็ดูบ้าพอใช้อยู่แล้วขอยุติเสียที แต่การบูชาเช่นนี้เดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำมาเสียนานแล้ว นับว่าเป็นตำราสูญ

คำตักเตือน

การพิธีฝนอย่างน้อย มหาดเล็กต้องคอยรับเทียนนมัสการประจำวัน และเทียนพานตามเคยไปถวายที่เกยบนหอพระ ภูษามาลาคอยถวายพระสุหร่ายและแป้งทรงเจิม สนมคอยถวายเทียนชนวนตระบะมุกในหอพระ มหาดเล็กต้องถวายเทียนพานด้วยอีกครั้งหนึ่ง

พระราชพิธีใหญ่ ภูษามาลาจงอย่าได้ลืมเทียนทองสำหรับจุดเทียนชัย แต่ก่อนเคยขาดมามีตัวอย่าง มหาดเล็กอย่าลืมโคมไฟฟ้า แล้วให้คอยถวายเทียนพาน ภูษามาลาถวายพระสุหร่ายและทรงเจิม เสด็จขึ้นหอพระ หน้าที่มหาดเล็กภูษามาลาสนม เหมือนพระราชพิธีน้อย แล้วให้มหาดเล็กคอยเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอ และถือพานเทียนตามไปจุดเครื่องนมัสการเทวรูปที่พลับพลาน้อยด้วยทุกวัน

อนึ่งในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ใหญ่ เสด็จพระราชดำเนินออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามก่อนแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินพลับพลาท้องสนามหลวงทุกวัน มีพานเทียนสำหรับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งมหาดเล็กเคยถวายด้วย ๚

[๑] พระสุเมธาจารย์ ศรี วัดชนะสงคราม

[๒] พระคุณวงศ์ สน วัดปรมัยยิกาวาส

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ