การพระราชกุศลแจกเบี้ยหวัด
๏ การแจกเบี้ยหวัดไม่มีกำหนดแน่ว่าวันใด แต่คงอยู่ในวันจันทร์หรือวันพุธข้างแรมเดือนสิบสอง ธรรมเนียมการแจกเบี้ยหวัดนี้แต่เดิมก็ไม่มีการมงคลอันใด พึ่งมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงพระปรารภเรื่องเจ้านายที่ทรงผนวชแต่ก่อนมาเคยได้เบี้ยหวัดตามกรมเหมือนอย่างฝ่ายคฤหัสถ์ ผู้ซึ่งมารับเบี้ยหวัดแทนเจ้าซึ่งทรงผนวชนั้น ไม่ได้สลักสำคัญอันใดมาจากเจ้านายเป็นคำอนุญาตให้รับ เมื่อรับไปแล้วไปนุ่งเสียก็มีโดยมาก ไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ผู้ที่ได้ ครั้นจะว่ากล่าวทวงถามขึ้นก็เป็นการขัดอยู่ด้วยสิกขาบท อีกประการหนึ่งการซึ่งพระราชทานเบี้ยหวัด ขึ้นชื่อว่าเป็นพระราชทานเงินแด่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชโดยตรงๆ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชทรงปฏิบัติตามวินัยโดยเคร่งครัด ก็เป็นที่รังเกียจว่าเงินนั้นเป็นอกัปปิยไม่ควรรับ พระราชทรัพย์ซึ่งต้องจำหน่ายไปเป็นอันมากนั้น ก็ไม่เป็นประโยชน์แด่พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวชโดยมาก พระราชทรัพย์หลวงก็เป็นอันเสียเปล่า เพราะพระองค์ได้ทรงผนวชอยู่นาน ได้ทรงทราบการทั้งปวงเหล่านี้แล้ว จึงได้ทรงคิดแก้ไขเสียใหม่ ทำเป็นตั๋วทรงพระราชอุทิศต่อสิ่งซึ่งควรแก่สมณบริโภค ตามจำนวนเงินเบี้ยหวัด มีพระราชหัตถเลขาและพระราชลัญจกรประจำเป็นสำคัญ พระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งได้รับเบี้ยหวัดนั้น มอบให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นกัปปิยการก มารับเงินจากเจ้าพนักงาน และในท้ายตั๋วสำคัญนั้น มีพระบรมราชานุญาตว่า ถ้ากัปปิยการกปฏิบัติไม่บริบูรณ์ตามสมควร ก็ให้มาร้องต่อพระยาราชภักดีได้ด้วย
การซึ่งจะพระราชทานตั๋วสำคัญเช่นนี้ ก็เป็นเหตุที่ควรจะต้องให้มีเวลาที่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชได้เข้ามาทรงรับต่อพระหัตถ์ อีกประการหนึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่า พระราชทรัพย์ซึ่งจะจับจ่ายไปเป็นอันมาก ก็ควรจะเริ่มจำหน่ายในการพระราชกุศลในพระพุทธศาสนาก่อนจำหน่ายไปแก่ผู้อื่น อนึ่งก็ควรจะมีการสมโภชให้เป็นมงคลแก่สิริราชสมบัติ เมื่อทรงพระราชดำริดังนี้แล้ว จึงโปรดให้มีการมงคลในวันแรกแจกเบี้ยหวัด ให้เชิญเฉพาะแต่พระราชวงศานุวงศ์ บรรดาที่ทรงผนวชเข้ามารับพระราชทานฉัน สำรับต้นเป็นสำรับหลวง ต่อนั้นไปเป็นของเจ้าพนักงานกรมพระคลังมหาสมบัติหามาคนละสำรับ และให้ตั้งโต๊ะเชิญพระสยามเทวาธิราช มีเครื่องสังเวย ตั้งแร่ทองคำซึ่งเกิดในพระราชอาณาเขต อันก่อเป็นเขามออย่างย่อมๆ และเงินซึ่งจะแจกเบี้ยหวัด ทั้งสมุดบัญชีและกระดานสำหรับแจกเบี้ยหวัด ตั้งบายศรีแก้วทองเงิน พระสงฆ์ฉันแล้วทรงจุดเทียนเครื่องสังเวยเทวดา โหรว่าบูชาเทวดาแล้วอาลักษณ์อ่านคำประกาศกระแสพระราชดำริดังซึ่งกล่าวมาแล้ว แต่มีข้อความเติมพิสดารออกไปอีกข้อหนึ่ง ว่าพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวชไม่ได้ช่วยราชการแผ่นดินอันใด ก็ชอบที่จะยกเบี้ยหวัดเสียเหมือนข้าราชการที่กราบถวายบังคมลาบวชล่วงพรรษาหนึ่งไปแล้ว แต่ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวช ก็นับว่าเป็นผู้มีความชอบอยู่ ที่ได้นำให้พระบรมราชวงศ์เป็นญาติในพระพุทธศาสนา ความในคำประกาศข้อนี้ ข้าพเจ้าไม่สู้เห็นชอบด้วย เพราะเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งมิได้ทรงผนวช แต่มิได้ช่วยราชการแผ่นดินอย่างหนึ่งอย่างใด และที่ซ้ำประพฤติความชั่วให้เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เช่นพระองค์เจ้าลำยอง ก็เห็นแต่สูบฝิ่นอยู่กับวังก็ยังได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดถึง ๕ ชั่ง และเงินขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่าเงินกลางปี ก็ยังคงได้ไม่ได้ลดทอนอันใด นี่เป็นตัวอย่างว่าไม่เป็นแต่ไม่ได้ช่วยราชการ ซ้ำประพฤติความชั่วด้วย ที่ไม่ได้ช่วยราชการอยู่เฉยๆ เปล่าๆ เช่นเจ้าวังหน้า มีพระองค์ทัดทรงเป็นต้น ก็มีเป็นอันมาก ถ้าจะเทียบกันในหม่อมเจ้าพระกับหม่อมเจ้าที่เป็นคฤหัสถ์นั้นเล่า หม่อมเจ้าที่รับราชการมีหลายองค์จริงอยู่ แต่ที่ไม่ได้รับราชการมีโดยมาก ที่สุดจนที่สูบฝิ่นก็ยังได้เบี้ยหวัดอยู่ปีละ ๖ บาท ถ้าจะว่าไม่ได้ช่วยราชการควรตัดเบี้ยหวัดแล้วต้องนับว่าควรตัดทั้งสิ้น ถ้าจะว่าไปพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชต้องเข้ามาราชการในการพระราชพิธีต่างๆ มากกว่าพระองค์เจ้าหม่อมเจ้าที่อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรโดยมาก ความข้อนี้ดูไม่น่าจะยกขึ้นประกาศ แต่ไม่อาจแก้ไข ด้วยเห็นว่าคำข้างต้นเป็นการยกโทษพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวชอยู่หน่อยๆ ก็จริง แต่ยกโทษขึ้นเพื่อจะแสดงความชอบที่ได้นำให้พระบรมราชวงศ์เป็นญาติกับพระพุทธศาสนา ความยกย่องอันนี้ จะเป็นที่ต้องพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวช ไม่มีผู้ใดนึกระแวงรังเกียจข้อต้นที่กล่าว ถ้ายกความข้อนี้เสีย บางทีก็จะเป็นที่วิตกกินแหนงของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวช ซึ่งเคยทรงฟังคำประกาศนี้มาแต่ก่อน ว่าข้าพเจ้าไม่นับถือยกย่องความชอบของท่านเหมือนอย่างเช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่อง อีกประการหนึ่ง การใดๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้แล้วถ้าไม่เป็นการขัดข้องต่อกาลสมัยอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าก็ไม่ได้คิดจะเปลี่ยนแปลงรื้อถอนอย่างหนึ่งอย่างใดเลย เพราะฉะนั้นจึงได้คงคำประกาศนั้นไว้ ครั้นจะไม่ว่าไว้ในที่นี้ ผู้ซึ่งมักสังเกตตรวจตราละเอียดก็จะสงสัยว่าข้าพเจ้าเก็บข้อความในคำประกาศนั้นไม่หมด หรือถ้าผู้ซึ่งมักตริตรองจะคิดเห็นเหตุซึ่งไม่ควรจะกล่าวในคำประกาศซึ่งข้าพเจ้าคิดเห็น ก็จะกล่าวคัดค้านต่างๆ จึงกล่าวไว้เพื่อจะให้เห็นว่าคำประกาศข้อนี้ได้เห็นเหตุแล้วว่ามีทางที่จะคิดได้ แต่ยังเป็นที่ชอบพระทัยของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชที่เป็นเจ้าของพระนามอยู่ จึงมิได้ยกถอนเปลี่ยนแปลง ด้วยการเคยเป็นมาแล้วไม่อยากจะก่อให้เป็นที่วิตกสงสัยต่างๆ ในท้ายประกาศนั้นก็เป็นทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลแก่เทพยดาเป็นต้น เมื่ออ่านประกาศจบแล้ว เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ ทรงรดน้ำพระมหาสังข์ทรงเจิมเทวรูปและทองคำเงิน พราหมณ์รดน้ำสังข์เจิมภายหลัง แล้วพระราชทานตั๋วสำคัญแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชทุกพระองค์ แล้วทรงพระเต้าษิโณทก พระสงฆ์ยถาสัพพี แล้วสวดคาถาทานัญจะ ปิยะวาจาจะ แล้วอติเรกถวายพระพรลา เมื่อพระไปแล้วจึงได้เริ่มแจกเบี้ยหวัดกัปปิยการกของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชนำตั๋วเข้ามารับเงินแจกเสร็จแล้ว จึงได้พระราชทานเบี้ยหวัดพราหมณ์โหร ต่อนั้นไปจึงถึงทหารในช่างสิบหมู่ตามธรรมเนียม
คำเตือนในการเริ่มแจกเบี้ยหวัดนี้ เทียนชนวนซึ่งสำหรับทรงจุดเครื่องสังเวยนั้น เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กไม่ควรจะเหลียวเล่อล่าอย่างหนึ่งอย่างใดเลย อนึ่ง เงินพระคลังข้างในซึ่งเคยพระราชทานเติมเบี้ยหวัดพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ๑๐ ชั่ง เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กต้องรับมาจากเถ้าแก่นำไปส่งเจ้าพนักงานคลัง อาลักษณ์ต้องคอยถวายตั๋วสำคัญตั้งแต่เวลาที่ทรงเจิมเงินแล้วไป พระเต้าษิโณทกต้องทรง เว้นไม่ได้ ๚