พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน
๏ การพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก เป็นพิธีของพราหมณ์พฤฒิบาศ ได้ทําในเดือนห้าครั้งหนึ่ง เดือนสิบครั้งหนึ่ง เป็นกระบวนเรื่องคชกรรมการของหมอช้าง ว่าทําเพื่อให้เจริญสิริสวัสดิ์มงคลแก่ช้าง ซึ่งเป็นราชพาหนะและเป็นกําลังแผ่นดิน และบําบัดเสนียดจัญไรในผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในการช้างทั้งปวงด้วย แต่การพระราชพิธีนี้ เฉพาะเหมาะกับคราวที่ควรจะประกอบการอื่นๆ หลายอย่าง คือเป็นต้นว่าเมื่อทําการจะให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ช้างม้าก็ต้องรดน้ำมนต์ช้างม้า เมื่อจะเอาไปรดเทซ่าๆ กับโรงเช่นนั้นก็ดูไม่เป็นประโยชน์อันใด และผู้รดจะเหน็ดเหนื่อยกว่าจะทั่ว จึงเห็นว่าถ้าปลูกเกยขึ้นแล้วจัดให้ช้างม้าเดินมาเป็นกระบวน พราหมณ์และราชบัณฑิตซึ่งเป็นผู้จะประน้ำมนต์นั่งคอยอยู่บนเกย เมื่อกระบวนมาถึงก็ประพรมไปจนตลอดกระบวนง่ายกว่า ทั้งจะได้ทอดพระเนตรตรวจตราชมเชยราชพาหนะทั้งปวงปีละสองครั้งด้วย อนึ่ง ธรรมดาพระมหานครใหญ่ ก็ต้องตระเตรียมให้พรักพร้อมด้วยเครื่องสรรพศัสตราวุธและพลทหารให้พร้อมมูลอยู่ เมื่อมีราชการศึกสงครามอันใด ก็จะได้จับจ่ายกะเกณฑ์ไปโดยง่ายโดยเร็ว เป็นการตรวจตราเครื่องศัสตราอาวุธและไพร่พลอย่างริวิ้วคราวหนึ่ง อนึ่ง ตามแบบอย่างแต่เดิม ซึ่งมีมาในเรื่องนพมาศ เป็นต้น จนถึงในกฎมนเทียรบาลความก็ลงกัน ว่าในการพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกและสนานใหญ่นี้ เป็นเวลาที่ประชุมท้าวพระยา ข้าราชการทั้งในกรุงและหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา ทั้งเจ้าประเทศราชเข้ามาเฝ้า กําหนดถวายดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ เป็นการประชุมใหญ่ครั้งหนึ่ง เวลานั้นก็ควรที่จะประชุมพลโยธาทวยหาญทั้งปวงให้พรักพร้อมเป็นการป้องกันพระนครด้วย แสดงพระเดชานุภาพให้หัวเมืองประเทศราชทั้งปวงเป็นที่เข็ดขามยำเกรงพระบารมีด้วย เพราะฉะนั้นการสนานใหญ่นี้จึงได้มีทั้งกรุงสุโขทัยและกรุงทวาราวดี มิได้เว้นว่างเหมือนอย่างพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ที่มียิงอาฏานาบ้างไม่ได้ยิงบ้าง
วิธีออกสนาม ซึ่งมีการในหนังสือนพมาศนั้น ว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เสด็จออกมุขเด็จพระที่นั่งอินทราภิเษก พระศรีมโหสถซึ่งเป็นปโรหิตใหญ่ขึ้นนั่งเหนือตั่งอันหุ้มด้วยเงิน ทูลเบิกท้าวพระยาและรับสนองพระโอษฐ์ตรัสปราศรัยสามนัดแล้วเสด็จขึ้น ต่อนั้นไปมีการฟ้อนรำและเลี้ยงท้าวพระยาทั้งปวง ในการประชุมนี้ข้างในร้อยดอกไม้เป็นรูปต่างๆ บรรจุเมี่ยงหมากถวายให้พระราชทานลูกขุนทั้งปวง ต่อรุ่งขึ้นพราหมณ์จึงได้ตั้งพระราชพิธีบูชาธนญชัยบาศ ที่สถานพระเทวกรรม บรรดาพระหลวงในกรมช้างกรมม้าโปรยข้าวตอกดอกไม้ รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งจึงได้เสด็จออกพระที่นั่งชัยชุมพล พร้อมด้วยพระอัครชายา พระราชวงศานุวงศ์สนมกํานัลนาง ส่วนข้าเฝ้าทั้งปวงนั้นนั่งบนร้านม้าห้าชั้น เป็นหลั่นลดตามผู้ใหญ่ผู้น้อย ภรรยาข้าราชการนั่งตามระหว่างช่องสีมาหน้าพระกาฬศาลหลวง ราษฎรทั้งปวงมาคอยดูกระบวนในรางเรียงท้องสนาม ได้เวลาสมควรจึงให้เดินกระบวน กระบวนช้างก่อนแล้วจึงถึงกระบวนม้า เดินสนานนั้นสามวัน วันแรกเดินพระยาช้างและม้าระวางต้น วันที่สองเดินช้างม้าระวางวิเศษ วันที่สามเดินช้างม้าระวางเพรียว เวลาเมื่อแห่แล้วมีการมหรสพขับร้อง เวลาค่ำมีหนัง จุดดอกไม้เพลิง สมโภชพระเทวกรรม ตามเรื่องที่กล่าวมานี้ การที่เสด็จออกพระที่นั่งอินทราภิเษกคือต้องกันกับเรื่องที่ถือน้ำแล้วถวายบังคมสมโภชเลี้ยงลูกขุน การพระราชพิธีในเวลากลางคืนอีกคืนหนึ่งนั้น ก็คือทอดเชือกดามเชือก แห่ช้างม้าสามวันนั้นก็อย่างแบบสระสนาน ตามที่ว่านั้นดูเหมือนที่สุโขทัยจะมีทุกปีไปไม่มีเวลาขาด
ส่วนข้อความที่ได้จากกฎมนเทียรบาล ดูยุ่งยิ่งเข้าใจยากไปกว่าหนังสือเรื่องนพมาศ เห็นจะเป็นด้วยภาษาที่จดนั้นจะเจือคำเงี้ยวเป็นไทยเหนือมาก หนังสือนพมาศเป็นตัวไทยใต้ เมื่อพระนครลงมาตั้งอยู่ข้างใต้ ถ้อยคำที่พูดจากันภายหลังก็กลายเป็นสำนวนไทยใต้ไป กฎมนเทียรบาลซึ่งเป็นของไทยเหนือแต่ง ถึงแม้ว่าภายหลังหนังสือนพมาศซึ่งเป็นของไทยใต้แต่งก็ดี ยังต้องเป็นที่เข้าใจยากกว่าหนังสือนพมาศซึ่งแต่งไว้ก่อนแล้ว เพราะเปลี่ยนสำนวนที่พูดไปตามภูมิประเทศ ในกฎมนเทียรบาลนั้นลงกําหนดไว้ว่าเดือนห้าขึ้นห้าค่ำออกสนามใหญ่ ซึ่งบอกกําหนดว่าขึ้นห้าค่ำนี้ ดูยังคลาดกันอยู่กับวันที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ แต่ถ้าเป็นสระสนานแห่สามวันแล้ว ก็คงต้องเกี่ยวถึงวันห้าค่ำอยู่เอง ข้อความที่ว่าไว้นั้นมัวๆ รางๆ ดูว่าย้อนไปย้อนมา สังเกตดูก็จะเป็นสองเรื่องปนกัน แต่ผู้ที่คัดลอกต่อๆ กันมาไม่เข้าใจเนื้อความก็ลงปนกันเลอะไป เห็นจะเป็นเสด็จออกถวายบังคมเลี้ยงลูกขุนเสียนั้นครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้ออกสนามแห่สระสนานอีกสามวันอย่างเช่นพระร่วง การที่เสด็จออกถวายบังคมเลี้ยงลูกขุนนั้น ว่าในพระบัญชรชั้นสิงห์ตั้งฉัตรเก้าชั้นเจ็ดชั้นห้าชั้นสามชั้นสองชั้น ชั้น ๑ ที่ ประทับสมเด็จหน่อพุทธเจ้าอยู่เฉียงฝ่ายซ้าย ที่ว่านี้เห็นจะเป็นฝ่ายซ้ายที่ประทับ คือถ้าเป็นมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท คงจะอยู่ตรงโรงถ่ายรูปกระจกออกมาได้แนวกับมุขเด็จ ส่วนสมเด็จพระอุปราชและเจ้านายอื่นๆ ไม่มีพลับพลา นั่งเฝ้าหน้าทิมดาบ แต่ทิมดาบนี้ไม่ปรากฏว่าคดหรือไม่คดอย่างไร บางทีจะเป็นโรงยาวๆ สองหลัง เช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำไว้ที่พระที่นั่งวิมานรัถยาที่วังจันทรเกษมก็ว่าเลียนอย่างเก่า หรือที่วังหน้าเมื่อยังไม่มีท้องพระโรงที่เรียกพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยก็มีทิมมหาวงศ์เป็นที่เฝ้า เพราะธรรมเนียมพระราชวังแต่ก่อนไม่มีท้องพระโรงอย่างเช่นพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อภายหลังมีพระที่นั่งทรงปืนใช้แทนท้องพระโรง ก็เป็นพระที่นั่งตั้งลอยออกมาต่างหาก เหมือนพระที่นั่งศิวโมกข์ในวังหน้า ทิมที่เฝ้านี้คงจะเป็นสองหลังซ้ายขวา มีระหว่างเป็นที่แจ้งอยู่กลางและคงจะไม่ยกพื้นสูงเหมือนอย่างทิมดาบคดที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนี้ด้วย จึงได้มีกำหนดว่าที่ประทับสมเด็จพระอุปราชสูงสองศอก มีหลังคามีม่านพนักอินทรธนู พระราชกุมารกินเมืองสูงศอกหนึ่ง มีหลังคาลดลงมาอีกชั้นหนึ่ง พระราชกุมารพระเยาวราชเตียงสูงคืบหนึ่ง แต่พระราชนัดดาออกชื่อไว้แต่ไม่ได้ความว่านั่งอย่างไร ไปว่าแต่หน้าหลังเฉยๆ หรือจะล้อมๆ กันอยู่เหล่านั้น ตรงหน้าพระที่นั่งตั้งเตียงสำหรับพระอาลักษณ์นั่งสนองพระโอษฐ์ สูงสิบศอก ต่อนั้นลงไปจึงมีผู้นั่งต่ออาลักษณ์ลงไปอีก ไม่ได้ความว่าจะเป็นปลัดทูลฉลองหรือใคร วิธีซึ่งใช้อาลักษณ์สนองพระโอษฐ์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลียนมาใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้อาลักษณ์ทูลเบิกและรับพระบรมราชโองการคราวแรกในเวลาเสด็จออกท้องพระโรง แต่ไม่ต้องนั่งเตียง ถ้าเสด็จออกมุขเด็จพระมหาปราสาท ไม่นั่งเตียงก็เห็นจะเต็มตะโกน การที่เสด็จออกตามที่ว่ามานี้ ก็เห็นจะเป็นออกเฝ้าถวายบังคมเลี้ยงลูกขุน ส่วนการออกสนามก็มีเค้าที่เห็นได้ชัด เช่นมีขุนหาญทั้งสิบขี่ช้างยืนที่เป็นต้นเป็นอย่างแห่สระสนาน ครั้นจะแปลหรือพิจารณาข้อความในกฎมนเทียรบาลลงให้ชัดแจ้ง ก็จะเสียเวลาและผิดๆ ถูกๆ เพราะรัวๆ รางๆ เป็นโคลงจีนทีเดียว
ส่วนในจดหมายขุนหลวงหาวัด ในเดือนห้านี้ก็ไม่ได้พูดถึงสระสนานเช่นได้กล่าวมาแล้ว ไปพูดถึงเอาต่อเดือนสิบซึ่งไม่มีเรื่องอื่นจะว่า พูดย่อๆ แต่ว่า เดือนสิบจึงรําขอและรำทอดเชือกดามเชือก สนานช้างต้นม้าต้น เห็นว่าในตอนหลังนี้จะเลิกเสียไม่ได้แห่แหนอันใดแล้วทั้งสองคราว เพราะฉะนั้นธรรมเนียมที่กรุงรัตนโกสินทรนี้ จึงยังไต่ตามแบบกรุงเก่าในท่อนปลายนี้สืบมา คือมีพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกทั้งสองคราว แต่ไม่มีการออกสนาม เว้นไว้แต่นานๆ แผ่นดินหนึ่งจึงได้มีเสียคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นพระเกียรติยศ หรือให้เป็นการสนุกเล่นแบบกันคราวหนึ่ง การซึ่งเลิกออกสนามแห่สระสนานเสียนี้ ก็ด้วยตําราที่แรกตั้งขึ้นประสงค์การอย่างหนึ่ง ครั้นต่อมาการกลายไปเป็นอย่างหนึ่ง แรกคิดนั้นเห็นเป็นประโยชน์ แต่ครั้นเมื่อการเคลื่อนคลายไปเสียก็กลับเป็นโทษ คือเมื่อพิเคราะห์ดูการแห่สระสนานในครั้ง ๑๒๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ในครั้งพระร่วงเมืองสุโขทัยนั้น เดินช้างเดินม้าเปลี่ยนกันทั้งสามวันเช่นกล่าวมาแล้ว ซึ่งเดินเช่นนั้นเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าช้างม้าพาหนะมีมาก ถ้าจะเดินวันเดียวให้หมดก็จะต้องเปลืองเวลามาก หรืออยากเล่นให้เป็นสามวันตามธรรมดาไทยๆ ชอบสามชอบห้าชอบเจ็ด ก็ยังคงจะมีช้างม้ามาก จึงได้แบ่งออกเป็นกระบวนได้สามกระบวนไม่ซ้ำกัน ศัสตราอาวุธที่จะใช้แห่ก็ต้องใช้มาก เป็นการตระเตรียมไพร่พลให้พรักพร้อมอยู่เสมอ ปีหนึ่งได้ริวิ้วใหญ่ถวายตัวเสียสองครั้ง พาหนะและไพร่พลจะทรุดโทรมเสื่อมถอยไปอย่างไร หรือบริบูรณ์ดีอยู่ก็ได้ทอดพระเนตรตรวจตราทุกปี บรรดาคนทั้งปวงซึ่งได้เห็นกําลังพลทหาร และพาหนะของพระเจ้าแผ่นดินพรักพร้อมบริบูรณ์อยู่ ก็เป็นที่ยําเกรงไม่ก่อเหตุการณ์อันใดขึ้นได้ จึงมีคํากล่าวมาแต่โบราณว่า พระราชพิธีนี้เป็นพิธีที่สำหรับทำให้ประชุมชนทั้งปวงมีใจสวามิภักดิ์รักพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นมงคลแก่ราชพาหนะ เป็นที่เกรงขามแก่ข้าศึกศัตรู การก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ซึ่งกลับเป็นโทษไปจนต้องเลิกเสียนั้นเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าช้างม้าพาหนะที่มีอยู่ในกรุงไม่พอที่จะเข้ากระบวนแห่ อย่าว่าแต่สามผลัดเลย แต่ผลัดเดียวเต็มกระบวนสระสนานที่เคยมีมาแต่ก่อนก็ต้องเอาช้างหัวเมืองเข้ามา นั่นก็เป็นความลําบากเกิดขึ้นเพราะจะเล่นพิธีอย่างหนึ่งแล้ว ศัสตราอาวุธที่จะใช้ในกระบวนแห่ก็มีไม่พอ จะทำอาวุธเครื่องเหล็กขึ้นก็ไม่เป็นที่ไว้ใจกันหรือราคาจะแพงมาก ต้องทำอาวุธไม้ อาวุธไม้นั้นไม่มีประโยชน์อันใดนอกจากที่จะถือแห่ให้เห็นงามๆ ก็เป็นอันป่วยการเปลืองเงินเปล่ายิ่งกว่าทำเครื่องละครที่ยังได้เล่นหากินอยู่ได้เสมอ เครื่องอาวุธเหล็กเข้ากระบวนแห่พึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่า ทำเครื่องอาวุธไม้เป็นการป่วยการเช่นกล่าวมานี้ ส่วนคนที่จะใช้ในกระบวนแห่นั้นเล่า แต่โบราณมาเขาจะใช้คนที่เป็นหมู่ทหารซึ่งประจํารักษาพระนคร และระดมทหารนอกจากเวรประจํามาให้เข้ากระบวนทัพถือเครื่องศัสตราอาวุธเป็นการฝึกหัดใหญ่ปีละสองครั้ง เมื่อได้เข้ากระบวนฝึกหัดอยู่ทุกปี ก็คงจะเรียบร้อยคล่องแคล่วกว่าที่ทอดทิ้งไม่ได้ฝึกหัด และเวลาบ่ายที่เสด็จขึ้นแล้วก็มีมวยปล้ำกระบี่กระบองต่อไป เป็นการฝึกหัดศัสตราอาวุธในการทหารแท้ทั้งนั้น ตกมาภายหลังเมื่อสิ้นการศึกสงครามแล้ว ทหารประจําเมืองก็เอาลงใช้เป็นพลเรือนเสีย ไม่ได้เคยถูกต้องศัสตราอาวุธ ไม่ได้เคยเข้ากระบวนทัพ เอามาจัดเข้ากระบวนก็เป็นการกะร่องกะแร่งรุงรัง คนจ่ายเดือนประจําพระนครไม่พอ ต้องเกณฑ์เอาคนนอกเดือนเข้ามาแทนทหารระดมอย่างแต่ก่อน มาบ้างไม่มาบ้าง คนแห่ไม่พอ เดินไปพอพ้นหน้าพลับพลาแล้ว ก็ต้องกลับมาเดินกระบวนหลังต่อไปใหม่ ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดในการที่จะตรวจตราผู้คน และไม่เป็นพระเกียรติยศที่จะเป็นที่เกรงขามอันใด เพราะใครๆ ก็เห็นว่ากระบวนหน้าวิ่งมาเป็นกระบวนหลังกลับเสียพระเกียรติยศไป ส่วนขุนนางผู้ที่ต้องแห่นั้นเล่า แต่ก่อนตัวเสนาบดีจตุสดมภ์มนตรีทั้งปวง ล้วนแต่เป็นแม่ทัพชำนิชํานาญในการขี่ช้างขี่ม้า ทั้งมีบ่าวไพร่สมกําลังที่ได้เคยไปการศึกสงคราม เมื่อมาเข้ากระบวนเดินสนานก็ไม่เป็นการเดือดร้อนอันใด ภายหลังมาขุนนางไม่ชำนิชำนาญในการทัพศึก ประพฤติตัวเป็นพลเรือนไปหมด จะถูกขี่คอช้างเข้าก็กลัวกระงกกระเงิ่น จะไปขี่เฉยๆ ไม่ฝึกหัดก็กลัว จะฝึกหัดก็อาย ว่าเป็นผู้ใหญ่แล็วต้องฝึกหัด บ่าวไพร่สมกําลังก็เอามาใช้สอยอยู่ในบ้านบ้างเก็บเอาเงินบ้าง จะเรียกหาเป็นการจรก็ไม่ใคร่จะได้ และประกวดประขันกันไปจนเกินกว่าที่มีกําลังจริงๆ ต้องเที่ยวหยิบยืมบ่าวไพร่ผู้อื่น กระบวนหน้าต้องกลับลงมาตามกระบวนหลัง เมื่อเอาคนของผู้อื่นมาใช้อย่างนั้น ก็ต้องแจกบ่ายให้ปันเปลืองเงินเปลืองผ้าเข้าไปอีก ขุนนางก็พากันเบื่อหน่าย เห็นเป็นบ่อแห่งความฉิบหายเกิดขึ้น การสระสนานจึงได้ต้องเป็นอันเลิก คงได้มีอยู่แผ่นดินละครั้งพอเป็นพิธีหรือเป็นพระเกียรติยศ แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้มีสระสนาน อันที่แท้นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดในการพระราชพิธีอย่างเก่าๆ มาก ได้ทรงลองหลายอย่าง จนถึงที่ไปส่งพระผู้เป็นเจ้าที่เทวสถานเป็นกระบวนช้างเป็นต้น แต่ทรงพระปรารภไม่สำเร็จอยู่สองเรื่อง คือเรื่องพิธีอาสวยุชตําราพราหมณ์หายเสีย กําลังจะคิดจัดการใหม่ก็พอสวรรคตเสีย เรื่องหนึ่งสระสนานใหญ่ทรงอยู่เสมอไม่ขาด ว่าถ้าได้ช้างเผือกใหม่จะมีสระสนาน แต่ครั้นเมื่อทรงพระปรารภกับสมเด็จเจ้าพระยาเมื่อไร[๑] ท่านก็ออดแอดบิดเบือนไปทุกครั้ง เรื่องขี่ช้างเป็นต้น จนตกลงเป็นจะให้ขี่เสลี่ยงก็ยังบ่นตุบๆ ตับๆ อยู่ เผอิญช้างเผือกก็ไม่ได้มา เป็นอันเลิกกันไป
เมื่อว่าที่แท้การพระราชพิธีทั้งปวง ถ้าเป็นพิธีเก่าแท้มักจะมีเหตุที่เป็นการมีคุณจริงอยู่ในพระราชพิธีนั้น แต่เมื่อการรวมๆ ลงมา ก็กลายเป็นแต่การทำไปตามเคยเพื่อสวัสดิมงคล จนเป็นการที่เรียกกันว่าพิธีสังเขปหรือต่างว่า เลยขาดประโยชน์ที่ได้จากความคิดเดิมนั้นไป ความคิดเรื่องถือสวัสดิมงคลนี้มักจะเผลอไปถือเอาสิ่งที่ไม่มีคุณ หยิบยกออกมาเห็นได้ว่าเป็นมงคล เหมือนกลับกลัวจัญไรที่ไม่มีตัวหยิบยกออกมาเห็นได้ว่าเป็นจัญไร ไม่เลือกค้นหาสิ่งที่เป็นจริง ถึงมีอยู่ในอาการที่ประพฤติก็ไม่ใคร่จะรู้สึก ไปถือสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงว่าเป็นความจริงเสียโดยมาก เหมือนอย่างเช่นเข้าในใต้ถุนถือว่าเป็นจัญไร ก็ถ้าเป็นเรือนฝากระดานหรือเรือนฝากระแชงอ่อนอย่างไทยๆ ปลูกอยู่กับที่เป็นพื้นโคลนฉำแฉะ คนอยู่บนเรือนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และกวาดขยะฝุ่นฝอยทิ้งลงมาที่ใต้ถุนเรือน ผู้ใดเข้าไปในใต้ถุนเรือนเช่นนั้น ก็คงพบแต่สิ่งซึ่งโสโครกเปื้อนเปรอะไปทั้งสิ้น นับว่าเป็นจัญไร มิใช่จัญไรเพราะอยู่ภายใต้ผู้อื่นอยู่ข้างบน จัญไรเพราะเปื้อนเปรอะเห็นปานนั้น แต่ผู้ที่ถือนั้นไม่ถือแต่เฉพาะเรือนเช่นนั้น ถือทั่วไปไม่ว่าเรือนดีเรือนเลวอันใด เอาแต่ชื่อใต้ถุนเป็นตัวจัญไร ส่วนที่เป็นมงคลนั้นเล่าเช่นกับอาบน้ำรดน้ำมนต์ ถ้าผู้ใดอาบนํ้ารดน้ำชำระกายให้บริสุทธิ์ ก็ย่อมจะเป็นที่สบายตัวสบายใจรู้สึกความหมดจดดีกว่าที่เปื้อนเปรอะอยู่ แต่ผู้ซึ่งปรารถนามงคลเชื่อเสียว่าน้ำที่เสกเป่าแล้วนั้น ถูกตัวแต่นิดหน่อยหนึ่งก็เป็นสวัสดิมงคล ไม่ต้องคิดถึงการที่ชำระกายให้บริสุทธิ์ ที่ว่านี้เป็นแต่การภายนอก เมื่อพิจารณาตามคำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน เช่นมาในมงคลสูตร เป็นต้น สวัสดิมงคลย่อมมาด้วยความประพฤติของผู้ที่ปรารถนามงคล ไม่ได้มาโดยมีผู้ใดมาเสกเป่าให้ หรืออ้อนวอนขอร้องได้ ความจริงเป็นอยู่เช่นนั้น แต่หากผู้ซึ่งจะประพฤติตามทางมาของสวัสดิมงคลไม่ได้ตลอด ความปรารถนาตักเตือนเร่งรัดเข้า ก็ต้องโวยวายขวนขวายไปอย่างอื่น หรือทําแต่พอเป็นสังเขป เพราะการสิ่งใดที่เป็นการไม่จริง ย่อมง่ายกว่าการที่จริง คนทั้งปวงก็ลงใจถือเป็นแน่นอนเสียตามที่แก้ขัดไปนั้น ว่าเป็นการใช้ได้จริง แล้วก็บัญญัติเพ้อๆ ตามไป เช่นกับกินมะเฟืองกินน้ำเต้าเสียสง่าราศีอะไรวุ่นไป เป็นบัญญัติที่เกิดขึ้นใหม่จากผู้ที่เข้าใจซึมซาบในวิธีที่เขาลดหย่อนผ่อนผันลงมาว่าเป็นความจริง การออกสนามใหญ่ คือสระสนานนี้ เมื่อพิเคราะห์ดูตามความจริงก็เห็นว่าเป็นการมีคุณแก่พระนครมาก เป็นเหตุที่จะให้ข้าศึกศัตรูครั่นคร้ามขามขยาดได้จริง แต่ต้องทําอย่างเก่าให้มีตัวทหารมีช้างมีม้าจริงๆ ถ้าจะเป็นแต่การหยิบๆ ยืมๆ ร่องแร่งอย่างเช่นทํากันมาแล้ว ไม่แห่ดีกว่าแห่ พรรณนามาด้วยวิธีแห่สระสนานที่แห่ขึ้นเพราะเหตุใด และเลิกเสียเพราะเหตุใด ยุติเพียงเท่านี้ ๚
[๑] คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แต่ยังเป็นเจ้าพระยาที่สมุหพระกลาโหม