พระราชพิธีเดือนสาม

๏ การพระราชพิธีในเดือนสามนี้ กฎมนเทียรบาลจดบัญชีไว้ว่าพิธีธานยเทาะห์ แต่ในจดหมายขุนหลวงหาวัดจดไว้ว่าธัญเทาะห์ เนื้อความก็เป็นอย่างเดียวกัน คือพิธีเผาข้าว ซึ่งเรียกกันเป็นภาษาไทยก็เรียก แต่ในกฎมนเทียรบาลจำหน่ายตำราสูญว่าเผาข้าวไม่มี ในจดหมายคำให้การขุนหลวงหาวัดเล่าถึงตำราพระราชพิธีนี้ว่า พระจันทกุมารเป็นผู้ฉลองพระองค์ออกไปทำการพิธี ตั้งโรงพิธีที่ทุ่งนา เห็นจะเป็นทุ่งหันตราซึ่งเป็นทุ่งนาหลวง มีกระบวนแห่ออกไปเช่นแรกนา แล้วเอารวงข้าวมาทำเป็นฉัตรปักไว้หน้าโรงพิธี พระจันทกุมารนั่งที่โรงพิธี แล้วจึงเอาไฟจุดรวงข้าวที่เป็นฉัตรนั้นขึ้น มีคนซึ่งแต่งตัวเสื้อเขียวพวกหนึ่ง เสื้อแดงพวกหนึ่ง สวมเทริด ท่วงทีจะคล้ายๆ กับอินทร์พรหมหรือโอละพ่อ สมมติว่าเป็นพระอินทร์พวกหนึ่ง พระพรหมพวกหนึ่ง เข้ามาแย่งรวงข้าวกัน ข้างไหนแย่งได้มีคำทำนาย แต่คำทำนายนั้นก็คงจะอยู่ในเค้าพิธีกะติเกยาดีทั้งนั้น

การซึ่งทำพิธีเสี่ยงทายเช่นนี้มีบ่อยๆ หลายพิธี ผู้ซึ่งจะแรกคิดพิธีขึ้นนั้น คงจะเป็นคนที่มีใจหวาดหวั่นต่อภัยอันตราย อยากรู้ล่วงหน้าว่าจะดีจะร้ายอย่างใดอยู่เสมอๆ แต่ไม่มีท่าทางที่จะรู้ได้เช่นนั้นให้ได้ทันใจทุกคราว เพราะจะแหงนดูดาวดูฟ้าลางทีเฉยๆ อยู่ก็มีเหตุมีการได้ หรือไม่รู้ได้ทันใจก็ต้องเล่นเสี่ยงทายอย่างเดียวกันกับแทงพระบท[๑]เป็นการแก้กระหายไปคราวหนึ่งๆ ถ้าไม่ฉะนั้นก็จะเป็นอุบายซึ่งจะระงับใจคนที่ฟุ้งซ่านซึ่งเชื่อนิมิตเชื่อลาง แล้วคิดการทุจริตเป็นผีซ้ำด้ำพลอยให้เกิดการยุ่งยิ่งหยุกหยิกขึ้น เมื่อเห็นว่าเสี่ยงทายได้นิมิตดีอยู่ ก็จะไม่อาจคิดอ่านฟุ้งซ่านฝืนฟ้าและดินไปได้ จึงได้พอใจเสี่ยงทายให้คนเห็นมากๆ เป็นการแสดงน้ำใจฟ้าดินและพระบารมีของพระเจ้าแผ่นดินให้เป็นที่เกรงขามแก่คนทั้งปวง แต่ครั้นเมื่อการซ้ำเข้าทุกๆ ปีดีเหมือนกันเป็นตีพิมพ์ก็กลายเป็นจืดไปไม่ต้องถามถึง จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นโคมลอย แต่ในการพิธีเผาข้าวนี้มีจดหมายในพระราชพงศาวดารแผ่นดินพระบรมราชาธิราช ซึ่งเรียกกันตามปรกติของแผ่นดินที่ล่วงหน้าไปก่อนหน้าแผ่นดินปัจจุบันว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

ขออธิบายนอกเรื่องหน่อยหนึ่ง ว่าการที่เรียกพระบรมราชาธิราชพระองค์นี้ ว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศติดมาจนปัจจุบันนี้นั้น เพราะเป็นพระราชบิดาของเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ที่เรียกกันว่าขุนหลวงหาวัด ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๒ และเจ้าฟ้าเอกทัศน์ ซึ่งเป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรีพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ที่สุดบรมราชวงศ์นั้น คำที่เรียกในพระบรมโกศ เรียกมาแต่แผ่นดินของพระองค์ที่ออกพระนามก่อนแต่อยู่ในราชสมบัติน้อยวัน และยังทรงพระชนม์อยู่ไม่ได้เป็นที่ในพระบรมโกศแทนพระองค์ก่อน ฉายาบรมโกศจึงได้ติดอยู่ในพระบรมราชาธิราชซึ่งเป็นผู้อยู่ในพระบรมโกศภายหลังใครๆ หมด การซึ่งเรียกติดต่อมาถึงที่กรุงเทพฯ นี้ก็ด้วยเหตุว่า เจ้านายและข้าราชการก็ล้วนแต่เป็นขุนนางเก่า เคยเรียกติดปากมาแต่กรุงยังไม่เสียแล้ว และพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสิ้นพระชนม์ภายหลัง ก็เป็นพระองค์ที่สุดซึ่งไม่ได้ทรงพระบรมโกศ เป็นแต่ลงหีบฝังไว้ เมื่อจะถวายพระเพลิงก็ต่อลุ้งพอสังเขปถวายพระเพลิง ถ้าจะเรียกพระบรมหีบหรือพระบรมลุ้งก็ดูขัดอยู่ จึงได้ออกพระนามเฉไปเป็นพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ที่ว่านี้ในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า แต่ครั้นเมื่อล่วงมาตั้งแต่แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าลงมา พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดที่สวรรคตลงใหม่ ก็เรียกว่าในพระบรมโกศทุกพระองค์ แต่ในพระบรมโกศเก่าท่านไม่มีฉายาอื่น ก็คงเรียกในพระบรมโกศอยู่ตามเดิม แต่มักจะเข้าใจกันเฉๆ ไป มีผู้ถามข้าพเจ้าว่าทำไมท่านถึงชื่อโกศเช่นนั้น ถ้าชื่อแต่ยังมีพระชนม์อยู่ก็ดูเป็นการทักเต็มที ก็ต้องอธิบายตามเช่นกล่าวมานี้ ส่วนที่กรุงเทพฯ นี้ พระเจ้าแผ่นดินเคยไม่โปรดให้เรียกในพระบรมโกศมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ แล้ว ครั้งนั้นเรียกพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๑ ว่า พระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศบ้าง แผ่นดินต้นบ้าง เรียกพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ ว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศบ้าง แผ่นดินกลางบ้าง จึงได้โปรดให้ออกพระนามตามพระนามพระพุทธปฏิมากรในวัดพระศรีรัตนศาสดารามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นเสียชั้นหนึ่งแล้ว ครั้นพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๓ สวรรคต ก็กลับเรียกพระนามเป็นพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศขึ้นอีก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด จึงได้ถวายพระนามเสียเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนฉายาที่ว่าพระที่นั่งนี้พระที่นั่งนั้น และมีคำประกาศกริ้วไว้ก็มี ส่วนพระองค์เองก็ทรงตั้งพระนามเสียเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว เพื่อจะกันในพระบรมโกศ และจะกันพระที่นั่งนี้พระที่นั่งนั้นด้วย แต่ครั้นสวรรคตลงก็ไม่ฟัง ขืนเรียกกันไปทั้งแผ่นดินแผ่นทราย เรียกไม่ใช่เรียกเปล่าๆ ค่อนเป็นทักข้าพเจ้าอยู่ด้วย ตามกิริยาและเสียงที่เรียกกับทั้งเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานั้น ถ้าผู้ใดได้อ่านพระราชพงศาวดารในท่อนแผ่นดินพระบรมโกศกับแผ่นดินสุริยามรินทร์ก็พอจะคะเนเค้าได้บ้าง แต่ผู้ซึ่งเรียกไม่ได้คิดจะทัก เป็นแต่พูดตามเขาไปนั้นมีโดยมาก แต่ถึงจะนึกอย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าไม่ชอบใจในถ้อยคำที่จะเรียกเช่นนั้น ให้ออกรำคาญใจ เห็นเป็นเขาทักอยู่ร่ำไป จึงได้ฝืนแก้เสียจนสงบหายไปได้นานมาแล้ว ยังอยู่แต่คนแก่คนเฒ่าที่ซึมซาบไม่รู้หายเพ้อเจ้อไปบ้างไม่ควรจะถือ บัดนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องความในพระราชพิธีนั้นต่อไป ในพระราชพงศาวดารแผ่นดินพระบรมโกศนั้นจดหมายไว้ว่า ถึงหน้านวดข้าวเสด็จออกไปที่นาหลวงทุ่งหันตรา บรรทุกข้าวลงในระแทะ แล้วให้พระราชวงศานุวงศ์และพระสนมกำนัลฝ่ายในเข็นข้าวเข้ามาในพระราชวัง แล้วเอาพวนข้าวทำฉัตรใหญ่ และยาคูไปถวายพระราชาคณะตามพระอารามหลวงทุกปีมิได้เว้น การเข็นข้าวตามที่ว่านี้ต่อกันกับพิธีเผาข้าว ในแผ่นดินพระบรมโกศนี้เล่นพิธีมาก ด้วยเป็นฤดูเวทมนตร์คาถาอยู่คงกระพันชาตรีหมอดูกระทำขลังนัก รวบรวมใจความลงว่า การพิธีเผาข้าวนี้เป็นการคู่กันกับพิธีจรดพระนังคัล เพื่อให้เป็นการสวัสดิมงคลแก่ธัญญาหาร ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับพระนคร ได้ข้อความตามพิธีเผาข้าวแต่เท่านี้ ๚

[๑] ตําราหมอดูโบราณสําหรับใช้เสี่ยงทายโดยวิธีเอาไม้แทง.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ