๓๓๕ ประกาศว่าด้วยเนื้อนิลกสาปน์

มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทาน แหวนนากปลอกมีดไปให้ทราบ ว่าแหวนนี้ทำด้วยทองผสมชื่อเนื้อนิลกสาปน์ผสมตามตำราของโบราณฦกซึ้ง คือเข้าทองนพคุณหุงสุกที่สุดจนบริบูรณ์แท้ส่วนหนึ่ง เงินไล่ให้จนสิ้นชินแลทองแดง เปนเงินบริสุทธิ์แท้ส่วนหนึ่ง ทองแดงไล่ให้สิ้นสังกสีดีบุกแลชินทีเดียวสองส่วน แล้วจึ่งผสมโลหสามอย่างนี้ให้กินกันเปนอันเดียว เรียกว่าเนื้อนิลกสาปน์เปนของโบราณ กาลก่อนเมื่อเวลาแรกตั้งพระพุทธสาสนาในเมืองมคธ เขาใช้เนื้อโลหนี้เปนรูเปียหนัก ๔๐ กล่ำคือสองสลึงเฟื้อง เรียกชื่อนิลกสาปน์ก็ดี นิลกหาปนะก็ดี ก็ขาฤๅเซี่ยวคือส่วนที่ ๔ ของนิลกสาปน์นั้น คือเนื้อเช่นนี้หนัก ๑๐ กล่ำเรียกว่าบาท ก็ด้วยบาทอันนี้แลพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติอทินนาทานปาราชิกแก่ภิกษุแลภิกษุนีทั้งหลาย ว่าภิกษุแลภิกษุนีซึ่งลักแลฉ้อเนื้อโลหอย่างนี้หนัก ๑๐ กล่ำขึ้นไปก็ดี สิ่งของอื่นที่ตีราคาเท่าฤๅสูงกว่าเนื้อโลหนี้ ซึ่งหนัก ๑๐ กล่ำก็ดี ภิกษุแลภิกษุนีนั้นเปนปาราชิก ถ้าต่ำกว่านั้นอาบัติไม่ถึงปาราชิก คือถ้าลักแลฉ้อเนื้อโลหเช่นนี้ หนักแต่กล่ำหนึ่งสองกล่ำฤๅสิ่งของอื่นควรค่าเพียงเท่านั้นเปนแต่อาบัติทุกกฎ ถ้าเนื้อโลหนี้มากกว่าสองกล่ำขึ้นไป ต่ำกว่า ๑๐ กล่ำลงมา ฤๅของควรค่าเนื้อโลหนี้เท่านั้น ภิกษุแลภิกษุนีผู้ลักแลฉ้อก็ต้องอาบัติถุลลัจจัย พระบัญญัติวินัยเปนของโบราณ บังคับด้วยเนื้อนิลกสาปน์นี้ มีในพระคัมภีร์แลตำราของเก่าแน่นอน ครั้นพระสาสนาแผ่ไปในนานาประเทศที่ไม่มีเนื้อนิลกสาปน์นี้ใช้ โบราณท่านจึงคิดตามลัทธิ ว่าทองนพคุณหนัก ๒๐ เม็ดเข้าเปลือกราคาเท่ากับเนื้อนิลกสาปน์หนัก ๑๐ กล่ำที่เรียกว่าบาท คิดดูเนื้อทองในเนื้อนิลกสาปน์ ๑๐ กล่ำนั้น กล่ำหนึ่งหนัก ๔ เม็ดเข้าเปลือก ๑๐ กล่ำเปน ๔๐ เม็ดเข้าเปลือก ก็ใน ๑๐ กล่ำนั้นมีเนื้อทองแต่ ๑๐ เม็ดเข้าเปลือก เนื้อเงิน ๑๐ เม็ดเข้าเปลือก เนื้อทองแดง ๒๐ เม็ดเข้าเปลือก ก็เมื่อจะแยกคิดว่าทองแดงราคาเท่าใด ราคาทองแดงก็จะน้อย เมื่อมาผสมเข้ากับเงินที่หนักเท่ากับทองส่วนหนึ่งอีก ราคาก็จะไม่เท่ากับราคาทองนพคุณ ที่โดยต่ำเปน ๑๖ หนักโดยสูงเปน ๑๘ หนัก แต่ท่านคิดโดยคุณของผสมแล้ว ท่านตัดความว่า เนื้อนิลกสาปน์หนัก ๑๐ กล่ำราคาเท่ากับราคาทองนพคุณหนัก ๒๐ เม็ดเข้าเปลือก เมื่อคิด ๑๖ หนักก็เปนเงิน ๕ สลึง ก็เนื้อนิลกสาปน์ ๑๐ กล่ำนั้น ถ้าคิดแต่ ๘ หนักอย่างราคานากในกาลทุกวันนี้ ก็เปนเงิน ๕ สลึงถูกต้องกัน เนื้อนิลกสาปน์นี้ราคาก็เท่ากับราคานากที่ใช้ซื้อขายกันโดยมากในกาลทุกวันนี้ แต่อาจารยที่ไม่รู้จักเนื้อนิลกสาปน์นี้ แลไม่ได้คิดเทียบราคานากที่คนซื้อขายกันอยู่ ก็มักคิดราคาบาทเปนวัตถุอทินนาทานวุ่นๆ ไปไม่ต้องกัน เนื้อนิลกสาปน์ที่เปนแหวนพระราชทานมานี้ ได้มีพระบรมราชโองการให้ช่างทองชำระไล่หล่อหลอมทำให้ถูกต้องตามตำราจริงๆ แล้วจึงทำเปนแหวนปลอกมีดละวงๆ หนักวงละสองสลึงเฟื้อง นับว่าเปนนิลกสาปน์หนึ่ง เมื่อพระราชทานไปแก่ผู้ใดให้ผู้นั้นเก็บไว้ ฤๅสรวมนิ้วมือไว้สำหรับระฤกถึงพระเดชพระคุณ เมื่อเล็กไปกว่านิ้วของผู้ได้รับพระราชทานไปแล้ว จะไปให้ช่างรายรีดให้เขื่องออกไปควรแก่นิ้วของตัวก็ตาม ฤๅถ้าจะเอาเปนเครื่องราง เปนวัตถุที่เปนสวัสดิมงคล เมื่อเวลาสบายๆ จะถวายให้ทรงลงอักษร ซึ่งเปนมงคลสำคัญๆ ก็จะลงพระราชทานเอาไว้ใช้สรวมนิ้วทำการมงคล คือโกนจุกตัดผมฤๅล้างหน้าแลเจิม อย่าเอาไปสรวมนิ้วที่จะจับของโสมมไม่เปนมงคล ผู้ใดได้รับพระราชทานแหวนเนื้อนิลกสาปน์ไปสรวมนิ้วใช้สรอย ทรงพระอธิฐานพระราชทานส่วนพระราชกุศลเปนพระราชวราสา ขอให้ท่านผู้นั้นเจริญอายุวรรณสุขพลปฏิภาณ สุนทรสารสมบัติ สิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสรรพศุภผลทุกประการเทอญ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ