- คำนำ
- พระประวัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
- ๓๑๓ ประกาศเรียกงาปิว่าเยื่อเคยในคำกราบทูล
- ๓๑๔ ประกาศให้เรียกว่าสวนนันทอุทยานให้ถูก
- ๓๑๕ ประกาศเรื่องใช้คำพูดว่า ต้นแผ่นดิน กลางแผ่นดิน ปลายแผ่นดิน
- ๓๑๖ ประกาศให้เรียกที่ประทับท้องสนามหลวงว่าพลับพลา
- ๓๑๗ ประกาศเรื่องพระพุทธบุษยรัตน
- ๓๑๘ ประกาศปฏิสังขรณ์วัดไชยพฤกษมาลาวัดเขมาภิรตาราม
- ๓๑๙ ประกาศว่าด้วยปฏิสังขรณ์วัดขุนแสน
- ๓๒๐ ประกาศว่าด้วยเงินสำหรับซ่อมแซมพระอารามซึ่งเปนส่วนพระองค์
- ๓๒๑ ประกาศเรื่องพระราชทานกฐินที่กรุงเก่า
- ๓๒๒ ประกาศแผ่พระราชกุศลในการฉลองวัดหงษรัตนาราม
- ๓๒๓ ประกาศแผ่พระราชกุศลฉลองพระศรีรัตนมหาเจดีย์
- ๓๒๔ ประกาศการทำของเลี้ยงพระในการเฉลิมพระชนม์พรรษา
- ๓๒๕ ประกาศเรื่องเงินปี้จีนปีชวดทำถนน
- ๓๒๖ ประกาศชำระเลขในสมเด็จพระนางนาถราชเทวี สมเด็จพระเทพศิรินทร์
- ๓๒๗ ประกาศเรื่องตราภูมคุ้มห้าม
- ๓๒๘ ประกาศสักเลขไพร่หลวง
- ๓๒๙ ประกาศไม่ให้ลูกหมู่ไพร่หลวง เมื่อบวชอยู่รับจ้างทำช่างทอง
- ๓๓๐ ประกาศไม่ให้เชื่อฟังเรื่องที่ผู้มีคดีไม่ฟ้องเอาไปลงหนังสือพิมพ์
- ๓๓๑ ประกาศเรื่องราษฎรเมืองรยองถวายฎีกากล่าวโทษผู้สำเร็จราชการเมือง
- ๓๓๒ ประกาศไม่ให้เชื่อข้อความที่มีผู้ทิ้งหนังสือไปลงหนังสือพิมพ์
- ๓๓๓ ประกาศเรื่องเอาศพไว้ค้างคืน
- ๓๓๔ ประกาศทรงอนุญาตให้ราษฎรถวายฎีกาทูลถามเรื่องที่เล่าฦๅได้
- ๓๓๕ ประกาศว่าด้วยเนื้อนิลกสาปน์
- ๓๓๖ ประกาศว่าด้วยเครื่องรองน้ำฝนอย่างยุโรป
- ๓๓๗ ประกาศกำหนดที่จะเอาทองแปมาขึ้นเอาเงินไปแต่ท้องพระคลัง
- ๓๓๘ ประกาศกำหนดที่รับทองทศพิศพัดดึงศ์
- ๓๓๙ ยิงปืนอาฏานา ฝั่งตวันตก
- ๓๔๐ ประกาศห้ามไม่ให้กระบวนแห่ตีสุนัขให้ไล่ไปเสียให้พ้น แลอย่าให้ตุ๊กแกมีในอุโบสถ หรือที่ประทับ
- ๓๔๑ ประกาศให้พระสงฆ์ทุกๆ พระอารามตั้งพิธีฝน
- ๓๔๒ ประกาศวางระเบียบผู้ซึ่งจะถวายตัวเปนมหาดเล็ก
- ๓๔๓ ประกาศเรื่องตั้งพันปากพล่อย
พระประวัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลางประจักษ์ศิลปาคม ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อณวัน ๗ ๑๕ฯ ๔ ค่ำปีมะโรงอัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ ตรงกับวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๙ เมื่อสมโภชเดือนแล้วพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ เพราะเมื่อประสูติมีผู้นำทองคำก้อนใหญ่ซึ่งขุดได้ที่ตำบลบางสพาน ในเวลานั้นเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ทรงถือว่าเปนศุภนิมิตมงคลสำหรับพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ เมื่อพระราชทานพระนามได้ทรงพระราชนิพนธ์คาถาพระราชทานพระพรดังนี้
มหาโสณฺณปิณฺฑิราสิ | เอวนฺนาโมว อตฺถโต |
โหเตฺวายํ สุกุมาโร | มหาสุวณฺณลาภโต |
อโรโค สุขิโต โหตุ | ทีฆายุโก อโกปิโย |
สทา ลาภี ยสสฺสี จ | รกฺขตํ ปิตุโน ยสํ |
สพฺเพหิ สามตฺถิเยหิ | ปโหตุ อภิรกฺขิตุํ |
ยาวชีวํ ปิตุ กิจฺจํ | ลภตํ กุลสนฺตกํ. |
คำแปล
กุมารดีนี้ จงมีชื่อว่า ทองกองก้อนใหญ่ อย่างนี้เทียว โดยเนื้อความ เพราะได้ทองแท่งใหญ่ จงไม่มีโรค เปนสุข มีอายุยืน อันใครๆ ให้เริบไม่ได้ จงมีลาภ แลมียศ รักษาเกิยรติยศของบิดาไว้ในกาลทุกเมื่อ จงอาจเพื่ออภิบาลกิจของบิดา ด้วยความสามารถทั้งปวง จนตลอดชีพ จงได้ทรัพย์สมบัติสำหรับตระกูล
กรมหลวงประจักษ์ ฯ เปนพระเจ้าลูกเธอ พระองค์ที่ ๒๕ ในพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปนที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ พระเจ้าลูกเธอในเจ้าจอมมารดาเดียวกันมีอีก ๓ พระองค์ คือ ๑ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ (กรมหลวงสรรพสาตร์ศุภกิจ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒) ๒ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าชายเจริญรุ่งราศรี (สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์) ๓ พระองค์เจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัญจนากร
กรมหลวงประจักษ์ ฯ ได้ทรงเริ่มศึกษาอักขรสมัยตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ แลตลอดมาจนต้นรัชกาลที่ ๕ นางเลียวโนเว็น แลนายแป็ดเตอสัน เปนพระอาจารย์ฝ่ายภาษาต่างประเทศ พระองค์เจ้ากฤษณา หม่อมเจ้าหญิงจอ แลหลวงราชาภิรมย์ (เปี่ยม ซึ่งภายหลังเปนพระยาปริยัติธรรมธาดา) เปนพระอาจารย์ฝ่ายอักษรสยามแลบาฬี ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๑๐ มีพระชนมายุเจริญวัยสมควรจะโสกันต์ สมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้โสกันต์ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทคราวเดียวกันกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร กรมหลวงอดิศรอุดมเดช แลกรมหมื่นภูธเรศร์ธำรงศักดิ์ รุ่งขึ้นปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทรงผนวชเปนสามเณรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับณวัดบวรนิเวศวิหาร ในสมัยเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงครองวัด ในระหว่างที่ทรงผนวชอยู่นี้ สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จพระราชดำเนิรไปทอดพระเนตร์สุริยอุปราคาที่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จด้วย ครั้นเสด็จกลับ สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระประชวรแลเสด็จสวรรคต ณวัน ๕๑๕ฯ๑๑ ค่ำปีมะโรง ตรงกันวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑
ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๑๘ กรมหลวงประจักษ์ ฯ มีพระชันษาเจริญวัยสมควรจะอุปสมบท พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วไปประทับวัดราชประดิษฐ์ในสมัยเมื่อสมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงครองวัด ทรงผนวชอยู่หนึ่งพรรษา เมื่อลาผนวชแล้วได้ทรงฉลองพระเดชพระคุณในน่าที่ต่าง ๆ มีการจัดการพวงระย้าห้อยเพดานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เปนต้น ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๒๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาขึ้นเปนพระองค์เจ้าต่างกรม มีประกาศดังนี้
คำประกาศ
ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาล เปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๒๔ พรรษาปัตยุบันกาล สัปปสังวัจฉรสาวนะมาส กาฬปักษเตรสีดิถีภุมวาร ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ทรงพระวัยวุฒิปรีชาว่องไวในการช่างต่างๆ มีความอุสาห์พากเพียรมิได้ย่อหย่อน ได้รับราชการอันใดก็ให้สำเร็จพระราชประสงค์โดยเร็วพลันทันเวลาเรียบร้อยมิให้เสียราชการ แลมีพระอัธยาศรรัยจงรักต่อราชการมิได้เบื่อหน่าย แลรอบรู้ในราชกิจทั้งปวง ควรจะเปนพระองค์เจ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งได้ จึงมีพระบรมราชโองการพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนตำแหน่งยศพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ เปนพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจาฤกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม มุสิกนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม ในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุพรรณสุขพลปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒมงคล วิบูลยศุภผลธนสารสมบูรณ์ อดูลยเกียรติยศเดชานุภาพทุกประการเทอญ
ให้ทรงตั้งเจ้ากรม เปนหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้งปลัดกรม เปนหมื่นอภิรมย์ราชกิจ ถือศักดินา ๔๐๐
ให้ทรงตั้งสมุห์บาญชี เปนหมื่นพินิจพลภักดิ์ ถือศักดินา ๓๐๐
ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งทั้ง ๓ นี้ ทำราชการในหลวงแลในกรมตามอย่างธรรมเนียม เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บาญชี ในพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวงสืบไป ให้มีความสุขสวัสดิ์เจริญเทอญ
กรมหลวงประจักษ์ ฯ ได้เริ่มทรงศึกษากฎหมายจากขุนหลวงพระยาไกรสี (หนู) แล้วเข้ารับราชการเปนนักเรียนศาลฎีกาในสมัยเมื่อกรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ทรงเปนอธิบดี แลทรงทำการโยธาต่างๆ เช่นทรงประดับมุกเชคน่าพระแกลพระพุทธปรางปราสาท แลปูพื้นทำพนักพระพุทธปรางปราสาท เมื่อคราวปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามเปนต้น แล้วทรงบังคับบัญชากรมวังนอกแลต่อมาเปนผู้ช่วยราชการกรมวังเวรใน ในสมัยเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงกำกับราชการกรมวังอีกด้วยตำแหน่งหนึ่ง เมื่อทรงเปนผู้ช่วยราชการกรมวังนี้ ได้ทรงตั้งกองทหารดับเพลิงในพระบรมมหาราชวังขึ้นกองหนึ่ง กับได้ทรงตั้งกรมทหารล้อมพระราชวัง (คือกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์เดี๋ยวนี้) แลได้รับพระราชทานยศเปนนายพันโทผู้บังคับบัญชาการทหารในกรมนี้ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้ทรงเปนกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ เกิดพวกฮ่อข้าศึก เข้ามาเบียดเบียฬประชาราษฎรในแขวงเมืองพวน มณฑลอุดร พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ ฯ เปนแม่ทัพยกขึ้นไปปราบปราม พวกฮ่อสงบแลจัดราชการบ้านเมืองจนสำเร็จเรียบร้อย แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จกลับกรุงเทพฯ ในเวลานั้นเสนาบดีกรมวังว่างลง พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า กรมหลวงประจักษ์ ฯ เคยรับราชการในกรมวังมาช้านาน ทรงรู้ขนบธรรมเนียมราชการดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมวัง ในคราวที่ทรงเปนเสนาบดีกรมวังนี้ ได้ทรงช่วยจัดวางระเบียบวิธีรับฎีกาซึ่งราษฎรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในกรมพระตำรวจด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปนเมเยอเยเนอราล (นายพลตรี) บังคับทหารซึ่งประจำรักษาราชการในพระบรมมหาราชวังทั้งสิ้น แลในปีเดียวกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปนปรีวีเคาน์ซิลเลอร์ (องคมนตรี) ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปนนายพลตรีในกรมทหารบก ถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ มีราชการสำคัญทางมณฑลฝ่ายเหนือเกิดขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองหนองคาย แลภายหลังมาประทับที่บ้านหมากแข้ง (ซึ่งเปนจังหวัดอุดรธานี้เดี๋ยวนี้) ในมณฑลอุดร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้เสด็จกลับลงมาฟังราชการที่กรุงเทพฯ ชั่วคราว แล้วเสด็จกลับขึ้นไปในปีนั้นเอง ในระหว่างที่ประทับอยู่กรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งเปนรัฐมนตรี เมื่อทรงจัดราชการในมณฑลฝ่ายเหนือสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ครั้น พ.ศ. ๒๔๔๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จกลับลงมารับราชการ ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรงกระลาโหม แลรั้งราชการในน่าที่ผู้บัญชาการทหารเรือด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง อนึ่งในปีนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระยศเลื่อนขึ้นเปนกรมหลวงมีประกาศดังนี้