๓๑๗ ประกาศเรื่องพระพุทธบุษยรัตน

ขอประกาศปฏิญาณว่าด้วยสิ่งเปนศรีเปนมิ่งมหัศจรรย์อยู่ในพระพุทธสาสนา คือพระพุทธปฏิมาพระองค์หนึ่งมีอยู่เปนของดีมาก พระพุทธรูปนั้นเปนแก้วผลึกขาวบริสุทธิอย่างเอกอุดมทึบทั้งแท่งงามหนักหนา ที่ช่างทองเรียกว่า บุษย์น้ำขาวบ้าง เพ็ช์รน้ำขาวบ้าง โดยฝีมือช่างทำก็งามดีกว่าพระพุทธรูปอื่นๆ บรรดามีในที่ต่างๆ ที่ช่างดีดีทำ แม้นใครจะพิเคราะห์โดยเลอียดจนถึงเอากางเวียนมากางจับกระเบียดเทียบเคียงดูก็ดี จะจับส่วนที่คลาดเคลื่อนไม่เที่ยงเท่ากัน ฤๅจะติว่าที่นั้นๆ ไม่งามไม่ดี จะว่าดังนี้โดยความจริงใจจะได้เปนอันยาก เสียอยู่แต่ปลายพระกรรณ์ข้างขวานั้นลิชำรุดอยู่หน่อยหนึ่ง ถึงกระนั้นก็มีผู้เอาเนื้อแก้วเช่นนั้น จรนัยแล้วตัดติดสนิทดี หามีแผลต่อปรากฎไม่ น้ำแก้วใสบริสุทธิโปร่งแลดูตลอดหน้าไปหลังแลหลังไปหน้า แต่ที่ต้นพระเพลาลงมาจนทับเกษตรนั้นมียวงดังฝ้ายขาวแทรกอยู่บ้าง เปนเหตุให้ผู้เห็นเปนแน่ใจว่าแก้วนั้นเปนแก้วศิลาแท้ มิใช่แก้วหุงสามัญดังเครื่องแก้วกระจก ในส่วนทับเกษตรใต้พระองค์พระพุทธรูปนั้นมีรอยร้าวราญอยู่หน่อยหนึ่ง แต่ไม่เกินขึ้นมาถึงองค์พระพุทธรูปจนผู้ดูจะเห็นได้ เมื่อพระพุทธรูปนั้นประดิษฐานอยู่บนแท่นสถานมีทับเกษตรจมลงในพุทธอาศน์แล้ว รอยราญร้าวนั้นก็มิได้ปรากฎเห็นเลยทีเดียว พระพุทธรูปแก้วพระองค์นี้งามยิ่งหนักหนาหาที่จะเปรียบมิได้ ถึงแก้วผลึกที่มีในเมืองจีนแลเกาะสิงหฬลังกาที่เขาทำเปนแว่นตา ฤๅรูปพระพุทธปฏิมาแลสิ่งอื่นใช้อยู่นั้น เมื่อจะเอามาเทียบเข้าก็คล้ำไป คือเนื้อแก้วหยาบต่ำเลวไปสู้ไม่ได้เลย พระพุทธรัตนปฏิมากรแก้วผลึกพระองค์นี้มีประมาณสูงแต่ที่สุดทับเกษตรขึ้นไปจนสุดปลายพระจุฬาธาตุ ๑๒ นิ้ว หน้าตักวัดแต่ระหว่างพระชาณุทั้งสอง (๘ นิ้วกับ ๓ กระเบียดอัษฎางค์) ๙ นิ้วกับกระเบียดอัษฎางค์ระหว่างพระกรรณ์ปุรทั้งสอง ๔ นิ้ว ระหว่างพระอัษกูฎทั้งสอง ๕ นิ้วนับ ๓ กระเบียดอัษฎางค์ ประมาณพระเศียรแต่ปลายพระหณุขึ้นไปถึงที่สุดพระจุฬาธาตุ ๓ นิ้วกึ่งกับ ๖ กระเบียดอัษฎางค์ กว้างพระภักตรวัดในระหว่างปลายพระกรรณ์ ๒ ข้าง ๒ นิ้ว กับ ๔ กระเบียดอัษฎางค์ นิ้วที่ว่านั้นคือนิ้วช่างไม้ นับนิ้วหนึ่ง คือ ๗ เมล็ดเข้าเปลือกเรียงกัน พระพุทธรูปแก้วผลึกพระองค์นี้เปนของดีอัศจรรย์นัก หาที่จะมีอื่นซึ่งจะบริสุทธิสอาดงามดีเสมอบมิได้เลย เปนของวิเศษประเสริฐแลเปนรูปพระพุทธเจ้าแท้ใช่เทวรูปแลตุกตา เพราะมีทีท่าได้ส่วนกับพระพุทธลักษณ แลมีอาการทรงจีวรสบงผ้าพาดเปนอย่างพระพุทธรูปแท้ทีเดียว ผู้ที่แต่งจดหมายกำหนดนี้ ได้บูชานมัสการบูชาปฏิบัติ แลได้ตรวจตราดูพระพุทธรูปแก้วพระองค์นี้อยู่เนืองๆ นานกว่า ๕๐ ปี สังเกตเห็นเปนแน่แท้ดังนี้แล จึงได้เขียนคำกำหนดนี้ เขียนสรรเสริญไว้ด้วยคำจริงไม่กล่าวเท็จเลย จะกล่าวเท็จไว้ทำไม มุสาวาทเปนกุศลฤๅ ซึ่งกล่าวนี้ก็มิได้บอกขายบอกซื้อ กล่าวเพื่อจะให้ผู้อ่านเห็นจริงแล้วแลนับถือชมสรรเสริญด้วยกันเปนความอัศจรรย์ แลเปนที่ยินดีโดยการอันจริงแท้เท่านั้น เปนประโยชน์แลความประสงค์

แต่นี้จะว่าโดยทางปัญหากรรมคือคำที่คนจะพึงถามปรารภพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกพระองค์นั้นต่อไป ปัญหากรรมคำถามนั้นจัดเปนสองภาค คือภาคต้นแลภาคปลาย

ภาคต้นนั้นมีคำถาม ๔ อย่าง คือ ถามว่าพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกพระองค์นี้ผู้ใดสร้างขึ้นไว้เปนอย่างที่ ๑ สร้างที่ตำบลไหนเปนอย่างที่ ๒ สร้างขึ้นในกาลครั้งใดเปนอย่างที่ ๓ สร้างขึ้นเพราะเหตุอะไร ต้องการอะไรเปนอย่างที่ ๔

ภาคปลายนั้นก็มีคำถาม ๔ อย่าง ว่าพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกพระองค์นี้ผู้ใดได้รับรักษาปฏิบัติต่อๆ มา เปนอย่างที่ ๑ ว่าได้ตั้งอยู่ณที่ไหนบ้างที่ไหนบ้างเปนอย่างที่ ๒ ว่าได้ประดิษฐานอยู่ณที่ไหนนานเท่าไรเร็วเท่าไร เปนอย่างที่ ๓ ว่าเพราะเหตุอันใดบ้าง อันใดบ้าง จึงออกจากที่โน่นไปอยู่ที่นั้น ออกจากที่นั้นมาอยู่ที่นี้ เปนอย่างที่ ๔ จะว่าอธิบายให้วิถารแต่ปัญหากรรมภาคต้นให้เลอียด แล้วจึงวิสัชนาให้เห็นจริงได้บ้าง ตามอนุมาณแลตัวอย่างที่คล้ายคลึงกัน

ที่ถามอย่างที่ ๑ ว่า พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกพระองค์นี้ผู้ใดสร้างขึ้นไว้นั้น คือถามหาผู้ซึ่งเปนเจ้าของให้สร้างแลเปนช่างให้การทำแลลงมือทำ ผู้สร้างนั้นจะเปนเทวดาฤๅมนุษย์ บุรุษฤๅสัตรีผีฤๅคน คนทรพลฤๅคนมีกำลัง คนเปนที่พึ่งที่หวังฤๅคนเปนไพร่ผู้ใหญ่ฤๅผู้น้อย จะเปนคนแช่มช้อยฤๅคนมุทลุ จะเปนภิกษุฤๅคฤหัสถ์ จะเปนชาววัดฤๅชาวบ้าน จะเปนชนชาวถิ่นสถานบ้านเมืองใด ชาติใดภาษาใด จะมีอำนาจฤทธานุภาพเท่าใด จึงได้แก้วอย่างดีใหญ่เท่านี้มาอยู่ในอำนาจเพื่อจะทำได้ตามปราถนา จึงได้สร้างเปนพระพุทธปฏิมาฝีมือช่างอย่างเอกอุดมดีดังนี้ขึ้นได้

แลปัญหากรรมอย่างที่ ๒ ที่ถามว่าสร้างที่ตำบลไหนนั้น คือถามว่าเนื้อแก้วที่เปนองค์พระพุทธปฏิมาพระองค์นี้ แต่เดิมมีอยู่ที่ไหน อยู่ในน้ำฤๅบนบกบนภูเขาฤๅแผ่นดิน ฤๅเปนของเทวดานฤมิตรขึ้นด้วยเทวฤทธิ์ เมื่อมีผู้ใดมาสร้างเปนพระพุทธปฏิมานั้นสร้างที่ไหน สร้างขึ้นในเทวโลกฤๅมนุษยโลก ถ้าสร้างในมนุษยโลกเปนของมีผู้สร้างขึ้นในบ้านใดเมืองใดในป่าฤๅในบ้านในวัด อนึ่งเมื่อสร้างนั้นลอบลักสร้างขึ้นลับๆ ฤๅโจ่งแจ้งปรากฎประการใด

ปัญหากรรมอย่างที่ ๓ ที่ถามว่า สร้างขึ้นในกาลครั้งใดนั้น คือถามว่าสร้างขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ฤๅเสด็จปรินิพานแล้วพระพุทธสาสนากาลมหาศักราชเท่าไร จุลศักราชเท่าไร ปีใดเดือนใดวันใด ฤกษ์ยามอย่างไร ทำอยู่กี่ปีกี่เดือนกี่วัน จึงสัมฤทธิ์

ปัญหากรรมที่ ๔ ที่ถามว่า สร้างขึ้นเพราะเหตุไรต้องการอะไรนั้น คือถามว่าสร้างขึ้นเพราะผู้สร้างอยากได้บุญอยากได้กุศล บริจาคแก้วก้อนใหญ่นั้น สร้างขึ้นด้วยกุศลเจตนาอันบริสุทธิ์แท้ ฤๅว่าเข้าตาจนในการศึกเสือเหนือใต้ ฤๅใกล้จะถึงความตายเกิดเสียดายแลละอายกลัวแก้วจะไปเปนของผู้อื่นเสีย จึงตัดเจียนจรนัยสร้างเปนพระขึ้นให้เปนเกียรติยศแก่ตัว ฤๅสร้างเพราะกลัวผู้อื่นบังคับบัญชาให้ทำ ฤๅสร้างเพื่อจะไปซื้อขายแก่ผู้ใดที่มีศรัทธารักรูปพระปฏิมา จะใคร่ได้ไว้บูชาไม่คิดว่าถูกแพงประการใด

พึงรู้เถิดว่าปัญหากรรม ๔ อย่างที่ว่าข้างต้นนั้น คือเปนประตูความของผู้ถามจะซักไซร้ไล่เลียงจู้จี้ถ้วนถี่ไป โดยนัยที่อธิบายมาฤๅอย่างอื่นๆ ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก ก็คำวิสัชนาปัญหากรรม ๔ อย่างนี้ ถ้าตกในอารมณ์ของชนโบราณซึ่งเปนผู้ช่างพูดช่างเล่า ช่างแต่งหนังสือแล้วก็คงจะเล่าเพลินไปตามปราถนา เอานิยายต่างๆ มากล่าวมาว่าเพ้อเจ้อไป จะว่ายืนยันดังหนึ่งเห็นแลรู้ด้วยหูทิพตาทิพแลอตีตังสญาณ เปนการที่เพลิดเพลินของผู้อ่านผู้ฟัง แลผู้แต่งหนังสือนี้จะทำอย่างนั้นบ้างก็ได้ดอก นึกๆ เอาแล้วก็ว่าไปพอให้ต่อติดเปนเรื่องราว จะเขียนให้ยาวไป ๒ เล่ม ๓ เล่มสมุดก็ได้ แต่คิดว่าจะเอาอย่างนั้นหาต้องการไม่เพราะว่าเรื่องนี้กล่าวถึงพระปฏิมารูปเปนอุเทศเจดีย์ของพระพุทธเจ้า ที่เปนพระสาสดาที่พึ่งที่นับถือของเราทั้งหลาย พระพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงติเตียนมุสาวาท แลสัมผัปปลาปกะถาเจรจายืดยาวหาประโยชน์มิได้นั้นโดยอเนกบรรยาย พระองค์ตรัสว่าผู้ใดไม่มีละอายในที่จะเจรจามุสาวาทแล้ว ผู้นั้นก็มีสมณคุณความรำงับ อันทอดเททิ้งเสียด้วยประการทั้งปวง เพราะฉนั้นผู้แต่งหนังสือนี้ จะขอบูชาพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าซึ่งเปนพระสาสดานั้น ด้วยการเจรจาแต่โดยความจริงใจ จะไม่เอาอย่างชนโบราณด้วยการเจรจาเพ้อเจ้อเล่านิยายนิทานต่างๆ นั้นแล้ว เมื่อท่านทั้งปวงจะดูถูกดูหมิ่นไม่นับถือว่าไม่รู้ไม่เห็นก็ตามเถิด คนเก่าๆ ที่อวดรู้อวดเห็นแล้วแลเล่านิยายยาวๆ ไปนั้น ก็มักทำการด้วยหาสติมิได้ พูดฟู่มๆ ฟ่ามๆ ไปให้เกินกว่าเหตุกว่าผล แลผิดธรรมดาคนผิดกิริยามนุษย์ กล่าวการผู้ดีเหมือนการไพร่ ทำให้ล่อๆ แหลมๆ ออกมาในท่วงทีถ้อยคำ จนนักปราชญ์ที่เขารู้การเลอียดเขาจับเท็จได้ถมไป ที่ใครไม่สังเกตสังกาก็ฟังเพลินไป ผู้ที่สังเกตเข้าลางคนก็สงสัย ลางคนก็ลงใจเสียว่าไม่จริงมีโดยมาก เพราะฉนั้นขอเสียเถิดท่านทั้งหลาย อย่าแสวงหาเพื่อจะฟังคำวิสัชนาพระพุทธปฏิมานี้ ด้วยการเล่านิยาย ว่าเอาง่ายๆ พล่อยๆ แต่ด้วยปาก ไม่มีสักขีพยานแลสถานที่สาธกนั้นเลย ผู้แต่งหนังสือนี้ไม่ได้ความสนัดแน่เลย ว่าพระพุทธปฏิมาพระองค์นี้ผู้ใดสร้างที่ตำบลใดเมื่อใดเพราะเหตุใด เพราะไม่ได้คำบอกเล่าฤๅหนังสือเก่ายืนยันมั่นคง ให้เปนที่รู้ที่เห็นเลย แต่จะว่าตามสังเกตโดยอนุมานนั้นพอจะได้อยู่

ถ้าจะมีผู้ถามว่า พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกนี้ เทวดาสร้างฤๅมนุษย์สร้าง ก็ควรจะเห็นว่าเปนของมนุษย์สร้าง ด้วยเทวดานั้นมีฤทธิ์มากนัก ถ้าจะสร้างแล้วเห็นจะไม่เอาแก้วอย่างนี้สร้าง เห็นจะเอาศิลาเพ็ชรฤๅที่ดียิ่งกว่าเพ็ชรมาสร้าง ฤๅจะนฤมิตรให้เปนแก้ววิเศษแปลกประหลาดอย่างมีรัศมีสว่างในกลางคืน ฤๅมีปาฏิหารอย่างอื่นๆ

อนึ่งรูปพรรณพระพุทธปฏิมานั้นก็จะไม่ปรากฎเปนของว่าทำด้วยมือดังการของช่างปั้นแลช่างแกะนั้นเลย เหมือนหนึ่งรูปที่เขาถ่ายฉายเอาด้วยเงาในกระจก ก็ผิดกับรูปเขียนระบายด้วยเส้นภูกันนั้น แลพระปฏิมากรพระองค์นี้ ก็ยังปรากฎอยู่ว่าเปนเนื้อแก้วศิลาที่บังเกิดเอง แลผู้ตัดเจียนจรนัยตามวิสัยช่างแก้ว เพราะฉนั้น จะต้องลงใจเห็นว่าเปนของมนุษย์ทำ ฝ่ายชนเล่านิยายโบราณนั้น จะกล่าวถึงสิ่งใดๆ คือบ้านคือเมืองก็ดี คือพระสถูปพระเจดีย์ ฤๅพระพุทธรูปสำคัญก็ดี ก็มักพอใจที่จะเล่าว่าบ้านนั้นเมืองนั้น แลวัดถุสิ่งนั้นๆ เปนของพระอินทร์ลงมาสร้าง แลให้เวสสุกรรมเทพบุตรนฤมิตรฤๅว่าฤๅษีนักสิทธิ์ชุบเศกนฤมิตรขึ้นด้วยเวทมนต์ กล่าวดังนี้เนืองๆ แลสิ่งซึ่งมีนิทานชนโบราณกล่าวทั้งปวงนั้นบรรดาที่ยังเหลืออยู่ ก็ยังไม่เห็นสิ่งใดที่จะผิดจากฝีมือคนทำ ถ้าเปนบ้านเมืองก็ยังเห็นกำแพงเมืองนั้นก่อด้วยอิฐ ที่คนทำครุๆ คระๆ ฤๅด้วยศิลาแลงที่มีรอยถากแลรอยขูดแลต่อติดด้วยโบกปูนผสมทรายดินเชิงเทินถมก็เห็นว่าขุดฉายออกจากคู ได้เห็นอยู่ว่าเปนของคนทำดังนี้ ถึงพระสถูปเจดีย์ก็เหมือนกัน

พระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ที่ว่าเทวดาสร้าง ก็ยังปรากฎว่ามีทางชนวนน้ำทองเดินแลแผลเข้าไม้ในที่มีพวย แลหล่อไม่เต็มแลมีรอยบั้งรอยตะไบรอยสกัด ถึงพระพุทธรูปศิลาก็มีรอยเราะรอยเลื่อยตัดเจียนจรนัย แลวางส่วนไม่เสมอคลาดเคลื่อนบ้างปรากฎอยู่แทบทุกองค์ ในที่มีอสนีบาตตก คนไปขุดร่อนหาว่าจะเปนสิ่งใดตกลงมาทำลายที่นั้น ลางคนพูดกันว่าได้ขวานฟ้าเอามาสู่ให้กันดู ว่าอยู่ดังนี้เนืองๆ ขวานที่ได้มานั้น ลางทีก็เห็นเปนขวานผ่าฟืนขวานช่างไม้เปนของใช้มีสนิมกินแลรอยบิ่นที่ต่อตั้งเหล็กอ่อนกับเหล็กกล้า ลางทีมีรอยตรายี่ห้อหนังสือจีนประจำขวานนั้นอยู่ก็มี ลางทีเปนของทำด้วยทองแดงทองเหลืองสังกะสีมีรอยชนวนหล่อฤๅฆ้อนตีตะไบใส ลางทีสิ่งที่ว่าขวานฟ้านั้นเปนศิลา ที่รู้จักสนัดจำได้ว่าศิลานั้นเปนเช่นหินเหล็กไฟฤๅศิลาในเขาในถ้ำนั้นๆ ที่รู้แห่งเคยเอามาใช้อยู่ทั้งสิ้น มีรอยเราะรอยฝน เมื่อพิเคราะห์ไปก็เห็นว่าเปนฝีมือคนทำทั้งสิ้น มิใช่ฝีมือเทวดาอัศจรรย์ไปกว่าฝีมือมนุษย์เลย โดยที่สุดรอยพระพุทธบาทที่ว่า พระพุทธเจ้าทำปาฏิหารเหยียบไว้ก็ยังมีรอยเราะรอยสกัด แลฝีมือพลั้งทำพลาดในที่แบ่งรอยปลายนิ้วให้คลาด ควรเห็นว่าพระบาทนั้นมีติ่งเปนนิ้วที่ ๖ ไป ฤๅลายลักษณในพระบาทนั้น พระบาทมีในเมืองไหน ลายลักษณะมีกระบวนลายแลรูปภาพอย่างฝีมือจำหลักปั้นแลเขียนของชนบ้านนั้นเมืองนั้นไม่ต้องกัน

ผู้แต่งหนังสือนี้คำนึงว่า ประณีตกายเหล่าใดที่เรียกเทวดา ประณีตกายเหล่านั้นแต่ก่อนได้มีฉันใด ถึงในบัดนี้ก็จะมี ก็ปรกติของเทวดาในกาลบัดนี้เปนฉันใดแต่ก่อนก็เห็นว่าเปนฉันนั้น เทวดามีธรรมดาไม่ปรากฎแก่จักษุมนุษย์ ไม่มีทางที่จะได้พูดได้เจรจากันตรงๆ มนุษย์ไรจะได้พบได้เห็นเทวดาก็มีแต่ว่าได้พบเมื่อหลับคือฝันเห็น ทางที่จะได้พูดกับเทวดาก็มีแต่ว่า มาเข้าคนทรงพูดเปนเหตุให้เชื่อยากไป แต่เหตุที่อื่นซึ่งปรากฎเปนอัศจรรย์นั้นมีอยู่ ปรากฎอยู่เนืองๆ เหมือนอย่างว่าสิ่งไรควรจะเปนอย่างไร ผู้ได้ควรจะได้อย่างไรควรจะเสียอย่างไรเพราะความดีความชั่วของตัว เมื่อจะมีสติปัญญาแลพยายามของมนุษย์เปนอันมาก ฤๅมนุษย์ที่มีกำลังมากจะมาขัดขวางสิ่งที่ควรจะเปนอย่างไรจะไม่ให้เปนอย่างนั้น ผู้ที่ควรจะได้อย่างไรจะไม่ให้ได้อย่างนั้น ผู้ที่ควรจะเสียอย่างไรจะไม่ให้เสียอย่างนั้น ความคิดแลพยายามที่ขัดแก่สิ่งแลเหตุผลอันควรนั้นถึงปรากฎอยู่ ก็ไม่ใคร่ตลอดสำเร็จประสงค์ไป คงจะมีเหตุอื่นๆ ที่ผู้คิดอ่านพยายามจะขัดขวางนั้น ไม่ได้เห็นมาแต่เดิมเกิดขึ้นรอบด้าน ไปขัดขวางทางความคิดแลพยายามของมนุษย์ ผู้จะขัดขวางอันควรแลเปนเหตุผลอันควรนั้นเสีย คงให้สิ่งที่ควรจะเปนอย่างไรนั้นเปนจนได้ ปรากฎอยู่เนืองๆ โดยมาก เหมือนอย่างท่านผู้ใดที่มีความดีจะเปนคุณแก่ชนทั้งปวงมาก ควรจะได้อิศริยฐานนั้นๆ แล้ว เมื่อเวลาก่อนได้อิศริยฐานนั้นๆ มีผู้ฤษยาหรือหวงกันอิศริยฐานนั้นๆ คิดอ่านแลพยายามขัดขวางด้วยอุบายต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ ถ้าถึงเวลาท่านผู้นั้นจะมาสู่อิศริยฐานนั้นๆ ผู้ที่คิดอ่านแลพยายามขัดขวางนั้น ถึงมากเท่าใดก็พะเอินหลีกไปเองไม่ต้องไล่ การที่เปนเหมือนที่รกชัดอยู่อย่างไรก็เตียนไปไม่ต้องถาง ถึงสัตรูก็กลายเปนมิตรไป ฝ่ายผู้ที่มีความคิดความประสงค์ไม่เปนคุณแก่ชนทั้งปวง เปนความชั่วควรจะได้โทษได้ทุกข์แล้ว ถึงตัวผู้นั้นจะมีอำนาจอิศริยยศพวกพ้องที่พึ่งพาอาศรัย มีกำลังเท่าใดๆ ประคับประคองรักษาอยู่ก็พะเอินมีประตูวิบัติเปิดมารอบด้าน ถึงผู้ที่เปนมิตรก็จะกลับเปนสัตรู ช่วยทับถมให้ล้มซวน ผู้ที่ไม่ควรอิศริยยศฐานนั้นถึงพยายามจะเอาเพราะเห็นว่ามีท่าทีจะได้ ก็คงจะมีเหตุที่ผู้นั้นไม่ได้คิดเห็นแต่เดิมว่าจะมีนั้นมามีมาเปนขึ้นรอบด้านไป จนไม่ได้ตามที่ประสงค์นั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงการนั้นๆ บุคคลนั้นๆ ที่เปนไปในโลกนี้แล้ว ก็คงเปนไปถูกต้องเปนยุติกับเหตุแลผลอันควรนั้นโดยมากกว่าที่ควรเปนไปผิดๆ อย่าให้ต้องออกชื่อออกเรื่องเลยคิดดูเถิดจะเห็นจริง ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีคำนึงว่าจะมีผู้ทำผู้แต่งผู้ช่วยทำนุบำรุงสิ่งที่จะเปนอย่างไรให้ได้เปนอย่างนั้น ผู้ใดควรจะเปนอย่างไรให้ได้เปนอย่างนั้น นอกไปจากความคิดแลพยายามของมนุษย์ทำแก่กันนั้นจะมีอยู่ ก็ผู้ทำที่มิได้ปรากฎแก่จักษุโสตแลความรู้ของมนุษย์เช่นนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายสำคัญว่าเปนการของผีของเทวดาบ้าง เปนการของเคราะห์ร้ายเคราะห์ดี แลชะตาราษีตามกำเนิดผู้นั้นๆ บ้าง แต่ตามเหตุที่เห็นเปนชัดนั้น ก็ความดีความชั่วซึ่งสำเร็จมาแต่ความคิดจะให้เปนคุณเปนโทษแก่ชนเปนอันมากนั้น แลเปนประมาณ ด้วยเหตุนี้จึงมีโคลงสุภาสิตชนโบราณกล่าวไว้ ว่า

๏ พวกแพทย์กล่าวว่าไข้ ลมกุม
โหรกล่าวว่าเคราะห์รุม โทษให้
แม่มดว่าผีคุม ทำโทษ
ปราชญ์ว่ากรรมก่อนให้ ผ่อนแก้ผลกรรม

แลของวิเศษต่างๆ ซึ่งมีในโลกนี้ เมื่อท่านผู้มีวาสนาบารมีควรจะได้ครองมีตัวแล้วก็พะเอินมีผู้รู้ประจักษ์ปรากฎขึ้น จนท่านผู้ควรครองได้ครอง ถ้าไม่มีท่านผู้ควรครองแล้ว ก็พะเอินพลัดแพลงซุกซนซ่อนหายไป ถ้าจะว่าตามสิ่งซึ่งมีในพระบาฬี เหมือนหนึ่งแก้วมณีโชติเวฬุริยรัตน เมื่อไรในโลกมีพระมหากษัตริย์จักรพรรตราธิราชขึ้นแล้ว เทพยเจ้าก็นำเอาแก้วนั้นมาถวายให้ทรงใช้เปนราชูประโภค เมื่อสมเด็จบรมจักรพรรตราธิราชนั้น ทรงพระผนวชฤๅมีพระชนม์ล่วงแล้ว เทพยเจ้าก็นำเอาแก้วนั้นคืนไปซุกซ่อนใส่เสียในภูเขามิให้ผู้ใดพบ ความที่ว่าดังนี้นั้นก็เปนการอันยิ่ง ของดีๆ มีหลายสิ่งในพระราชอาณาจักรแผ่นดินบ้านเมืองนั้นๆ ก็พระเจ้าแผ่นดินเมืองนั้นๆ องค์ใดมิใช่ท่านผู้มีพระบารมีควรจะได้ครองเปนเจ้าของสิ่งนั้นๆ ถึงจะมาได้เปนพระเจ้าแผ่นดินกี่ปีกี่เดือนกี่วัน ของดีๆ ที่มีในพระราชอาณาจักรนั้นก็พะเอินให้ไปซุกซนซ่อนหายจมดินจมทราย ฤๅมีผู้พาไปหวงปกปิดไว้ไม่ให้ของนั้นเข้ามาท่านเปนของพระเจ้าแผ่นดินได้ เมื่อใดท่านผู้มีวาสนาบารมีควรจะครองเปนเจ้าของสิ่งที่ดีนั้นมาได้เปนใหญ่ในแผ่นดินแล้ว ก็พะเอินให้มีผู้ขุดได้ไปพบนำมาถวาย ฤๅผู้ที่หวงลักซ่อนเก็บไว้ ก็พะเอินให้มีอันตรายจนสิ่งนั้นประจักษ์ปรากฎออก ต้องตกมาเปนของท่านผู้มีวาสนาบารมีควรครองเปนเจ้าของสิ่งนั้นจงได้ เหตุเช่นนี้ เมื่อสังเกตไปก็จะทราบดอกอย่าให้ต้องออกชื่อออกเรื่องเลย

พระปฏิมากรแก้วผลึกพระองค์นี้ แต่เดิมทีก็เห็นจะเปนแก้วก้อนใหญ่อยู่ในภูเขาฤๅอยู่ในดิน แลแก้วก้อนใหญ่ที่มีเนื้อสนิทจนถึงได้เอามาเจียนทำพระพุทธปฏิมาได้เท่านี้นั้น ก็ควรเห็นว่าเปนของดีมีศรีมีมิ่ง ตั้งแต่แก้วบังเกิดมาแลตั้งอยู่ในที่ใดนานกี่ร้อยปีพันปี ไม่มีมนุษย์ผู้ใดไปพบเห็นเข้าแล้วเอามาตลอดเวลาเท่านั้น จะว่าเพทยดาไม่เห็นว่าผู้ใดควรจะบริโภคจะได้ใช้จึงหวงกันกำบังไว้ก็ว่าได้ เมื่อเวลาใดมีท่านผู้มีวาสนาบารมีเปนพระเจ้าแผ่นดินฤๅคหบดีควรจะได้แก้วนั้นมาเก็บไว้ชมเปนมิ่งเปนศรี ฤๅจะได้ก่อสร้างกุศลบารมีให้ยิ่งขึ้นไป ด้วยมาเจียนมาตัดเปนพระพุทธรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ เปนกองกุศลราษีอันประเสริฐนั้นบังเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นก็พะเอินให้มีผู้ไปพบเข้าแล้วก็คัดตัดยกมาเก็บรักษาไว้ด้วยตัวเปนเจ้าของเอง ฤๅนำไปถวายฤๅขายให้แก่ท่านผู้อื่นซึ่งควรจะเปนเจ้าของ เมื่อเปนดังนี้ใครไปพบเข้า จะว่าเทวดาดลใจนำไปเห็นเข้าก็ว่าได้ เทวดาผู้รักษานั้นยอมให้มาก็ว่าได้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ