ข้าพเจ้า ผู้เขียนเรื่องนี้ เปนคนที่ถึงแก่กรรมแล้ว. ถึงแก่กรรมจริงๆ! ตายจริงๆ—ตายอย่างที่มีผู้รู้ผู้เห็นว่าตาย—ตายแล้ว และได้ฝังเสร็จแล้ว! ถ้าท่านไปถามชาวเมืองที่ข้าพเจ้าอยู่ เขาจะบอกท่านทันทีว่าในปีคริสตศักราช ๑๘๘๔ เกิดไข้ป่วงใหญ่ขึ้น ณ เมืองเนเปิลซ์ ในประเทศอิตาลี คราวนั้นมีคนตายเพราะไข้ป่วงเปนนักเปนหนา และตัวข้าพเจ้าเองก็ตายเพราะโรคนี้ เขาได้นำเอาศพข้าพเจ้าเข้าไปไว้ในกุฏิที่ฝังศพของบูรพชนผู้เปนต้นตระกูลของข้าพเจ้า ถึงอย่างนั้นแล้ว - ข้าพเจ้าก็ยังมีชีวิตอยู่! ข้าพเจ้ารู้สึกโลหิตอันอุ่นแล่นซ่าขึ้นตามเส้น—โลหิตอย่างสามสิบปีมาแล้ว;—ความหนุ่มกลับแล่นมาเข้าตัวอีก ทำให้ไนย์ตาข้าพเจ้าเปนมันและคมฉาบขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแน่นขึ้นราวกับเหล็ก—มือก็จับถือแน่นแฟ้นขึ้น—ตัวก็ยืนขึ้นได้ตรงและเปนสง่าผ่าเผย. เออ! ยังมีชีวิตอยู่จริง ถึงโดยหากว่าจะได้ลือชาปรากฏแล้วว่าถึงแก่กรรม; ข้าพเจ้ายังมีชีวิตและกำลังวังชาเช่นบุรุษย์ทั้งปวง—และถึงแม้นความทุกข์จะทิ้งรอยไว้ให้เห็นเปนพยานว่าได้มาเยี่ยมเยียนบ้างก็ยอม รอยเหล่านั้นก็ลบเลื่อนเกลื่อนหายไปเกือบหมดสิ้นแล้ว เว้นแต่รอยหนึ่ง ‘คือผม’ ผมซึ่งแต่ก่อนดำเนินมัน ประดุจขนกาน้ำนั้น บัดนี้ขาวเหมือนสำลี แต่ทว่ายังงอกงามคงอยู่อย่างเดิม

“เปนตามตระกูลละกระมัง ?” หมอยาคนหนึ่งถามข้าพเจ้า เมื่อเห็นผมขาวฉนั้น.

“สดุ้งตกใจมากละกระมัง ?” อีกคนหนึ่งถาม.

“ถูกความร้อนมากเกินไปละกระมัง ?” คนที่สามกระทุ้ง

ข้าพเจ้าไม่ตอบว่ากระไรหมด. ที่จริงข้าพเจ้าได้เคยตอบครั้งหนึ่ง. ได้บอกแก่ชายคนหนึ่งที่เจ้าพลัดเจ้าผลูไปเจอะเข้า—เปนคนที่มีชื่อเสียงในการรักษาโรคและทั้งเปนคนที่มีใจคอเอื้อเฟื้อดี. ชายคนนั้นได้นั่งฟังเรื่องราวของข้าพเจ้าตั้งแต่ต้นจนถึงซึ่งที่สุด แล้วเขาได้แสดงความไม่เชื่อและตกใจอย่างยิ่ง ลงปลายซ้ำแนะนำให้ข้าพเจ้ารักษาตัวให้ดี มิฉนั้นจะต้องไปเข้ากรงกับพวกที่มาจากจันทรพิภพในเวลาไม่นานนัก. ตั้งแต่นั้นมาข้าพเจ้าไม่ได้ปริปากเล่าเรื่องให้ผู้ใดฟังอีกเปนอันขาด.

เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าเขียน. ใครจะมาว่ากล่าวอะไรเปนไม่ได้—จะเล่าแต่ที่เปนจริงจนตลอดเรื่องปราศจากความสดุ้งเสทือนอันใด. ถ้าข้าพเจ้าปราถนาจะเขียนเรื่องๆนี้ด้วยโลหิตในกายตัวแทนน้ำหมึกก็คงทำได้ดี ๆ ไม่มีใครจะมาว่ากล่าวติเตียนอย่างไรได้! เพราะความเปลี่ยวในป่าฝ่ายเหนือของประเทศสยามยอมให้ข้าพเจ้ามีกรรมสิทธิ์ที่จะทำอะไรได้ตามความเห็นของตน—ที่อันเปลี่ยวโดยธรรมชาติ—เท้าของคนที่มีความเจริญแล้วน้อยเท้าที่ได้เคยเหยียบต้นหญ้าในบริเวณนั้นให้ช้ำชอกไป—เงียบจริงๆ จัง ๆ เงียบไม่มีเสียงอะไรอื่น นอกจากเสียงนกหรือเสียงสัตว์ร้องบางครั้งบางคราว ในตอนค่ำได้ยินแต่เสียงดนตรี เมื่อพระพายชายพัดต้องกอไผ่เปนต้น. ในกลางที่อันวิเวกวังเวงนี้ ข้าพเจ้าแฝงอยู่—ณ ที่นี้ข้าพเจ้าเปลื้องซึ่งความทุกข์ที่ได้ทรมานหัวใจลงไว้เสียกลางชัฎ. ความจริงอยู่ในใจกี่มากน้อยจะได้ขยายให้โลกทราบทั่วกันในคราวนี้

ถึงแก่กรรมแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่! แปลความว่าอย่างไรกัน?—ท่านถาม. อาฮา! ท่านทั้งหลายเอ๋ย ถ้าท่านมีความประสงค์ให้เพื่อนหรือญาติวงษวารของท่านสูญหายไปจริง ควรท่านจะส่งไปวัดเข้าเมรุทำฌาปนกิจเสีย นั่นและท่านจึงควรเชื่อเอาเปนแน่ได้ว่าคนผู้ที่ถูกเผานั้นถึงแก่กรรมจริง. มิฉนั้นจะไม่ทราบว่าจะเปนอย่างไรต่อไป การกระทำฌาปนกิจเปนการดีที่สุด แลเปนทางเดียวเท่านั้น ไม่สกปรกและทั้งเสพ. ทำไมคนทั้งโลกไม่เอาเยี่ยงอย่างไทย ? การที่ชำระล้างทรากศพของผู้ที่เรารัก (หรือแกล้งทำรัก) ด้วยเพลิงดีกว่าที่จะเอาไปฝังสุม ๆ หรือเรียงลำดับเข้าไว้ในห้องซุ้ยที่เย็นชื้นแฉะฉนั้น. มีสัตว์ต่าง ๆ นา ๆ อยู่ในพื้นแผ่นดิน อุดมด้วยสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังไม่น่าจะออกชื่อ—หนอนตัวยาว ๆ—สัตว์ที่ตามอดและมีปีกแต่บินไม่ได้—มีแมลงที่เกิดจากน้ำเลือดน้ำเหลือง อือฮือ! สัตว์ที่ท่านเห็นเข้าแล้วจะต้องวิ่งหนีเท่ากับเห็นเสือ. โอ! ท่านผู้หญิงผู้อ่อนแอ มันจะทำให้ต้องดมผิวมะกรูดและถึงท่านก็ดี เออ ท่านผู้ชายผู้มีเรี่ยวแรง มันจะทำให้ท่านขนพองสยองเกล้า แต่มีสิ่งที่ร้ายกว่านั้นอีกมากในวิธีที่ฝังศพอย่างฝรั่ง—สิ่งนั้นคือ การไม่แน่. ต่างว่า, ถ้าเราหย่อนหีบที่ใส่ศพของผู้ที่รักแห่งเราลงไปในห้องซุ้ยหรือหลุม—ต่างว่า, ถ้าภายหลังเวลาที่เราแต่งตัวเครื่องไว้ทุกข์ และทำหน้าให้จ๋อยเปนที่โศรกเศร้า สำรวมอิริยาบถไม่ให้รื่นเริง—ต่างว่า, เผื่อการที่ทำไปแล้วนั้นยังไม่เปนที่พอใจ.—ต่างว่า, ที่ที่เราขังศพไว้นั้นจะมีที่กั้นคือประตูหรือปากหลุมไม่แข็งแรงนัก.—ต่างว่า. มีเทพยดามาทำลายหีบที่ใส่ศพอันแน่นหนานั้นให้พินาศไป—ต่างว่า, เพื่อนเราตายแล้วจะไม่ตาย และกลับมาท้าทายต่อความรักของเราใหม่! เราเสียใจหรือว่าเราไม่เอาอย่างคนไทยในการที่กระทำฌาปนกิจ เช่นกับผู้ที่ถึงแก่กรรมนั้นได้ละทรัพย์สมบัติไว้ให้เปนมรฎกแก่เราเอนกประการ! เช่นกับเราทำหน้าไหว้หลังหลอก—คนเราน้อยคนเสียใจในคนตายจริงๆ คนเรามีน้อยตัวที่ยังจำและมีความรักอันสุจริตต่อผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วจริง, พระเจ้าทรงทราบ! มนุษย์เราควรจะได้รับความกรุณาเมตตามากกว่าที่เราจะฝันถึง!

ขอย้อนกลับกล่าวถึงเรื่องของข้าพเจ้าใหม่. ข้าพเจ้าผู้มีชื่อว่า “ฟาบีโอโรมานี” ที่ถึงแก่กรรมแล้ว ขอเขียนเรื่องในชั่วปีหนึ่ง ซึ่งมีเหตุพึงกล่าว—เปนปีที่ได้รับความทุกข์มาตลอดตราบเท่าบัดนี้. ปีสั้นนิดเดียว—เปนปีที่เปนกริสของพระยามัจจุราช! กริสนั้นได้แทงหัวใจข้าพเจ้า—แผลกริสนั้นยังไม่หาย โลหิตยังไหลซึมอยู่เสมอจนบัดนี้ ทุกหยดโลหิตที่หยดลงนั้นยังกรังเปนเครื่องหมายอยู่.

ความลำบากอย่างหนึ่งซึ่งมนุษย์โดยมากได้เคยทนทาน แต่ไม่ปรากฎแก่ตัวข้าพเจ้าเลยนั้น—คือความยากจน พอเกิดมาก็มีเงินทองมั่งคั่งสมบูรณ์ทุกสิ่งทุกประการเสียแล้ว ไม่มีความอนาทรร้อนใจ เพราะว่า บิดาข้าพเจ้าผู้ชื่อว่า เคาน์ต์ ฟิลิปโป โรมาน ถึงแก่กรรมเมื่ออายุข้าพเจ้าจึงจะย่างเข้าสิบเจ็ดปี มรฎกตกอยู่แก่ข้าพเจ้าทั้งสิ้น—เปนบุตรคนเดียว—มีบรรดาพวกพ้องหลายคนได้มีความเอื้อตักเตือน ว่า ไปเบื้องหน้าจะได้ทุกข์. มีคนหลายคนเปนเพื่อนบ้านบ้าง เปนวงษญาติบ้างพากันพยากรณ์ตามความเห็นของเขาว่า นานไปข้างหน้าข้าพเจ้าจะเปนนักเลงเบี้ยใหญ่ เปนคนสุรุ่ยสุร่าย เปนคนขี้เมา เปนตัวฉิบหายอย่างที่จะรักษาไม่หาย. เปนการปลาดมาก ด้วยว่าข้าพเจ้าหาเปนไปอย่างที่เขาพยากรณ์ไว้แต่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่. ถึงหากว่าชาวเนียโปลิตัน (คนอิตาเลียน) จะมีนิสัยอันฉุนเฉียวมีเลือดอันร้อนมากก็จริงอยู่ แต่เปนสันดานเกิดแต่นิสัยในส่วนตัวของข้าพเจ้าเกลียดซึ่งความชั่วร้ายหยาบช้าเลวทรามสถุลยิ่งนัก. เห็นการพนันต่าง ๆ เปนการบ้า—เสพสุราเปนการทำลายความศุขและเหตุผล—และการสุรุ่ยสุร่ายเปนทางที่จะนำไปสู่ความอนาถา. เลือกการใช้จ่ายเอาเองพอควร—เพียงกลาง ๆ ไม่ฟุ่มเฟือยเกินควร หรือจู่มาหรู่เกินไป—มีเวลาอยู่บ้านบ้าง คบเพื่อนเข้าสโมสรอันดีบ้าง ประพฤติตัวให้พอเปนศุขแก่กายและใจพอดี ๆ.

ข้าพเจ้าอยู่ ณ บ้านเดิมของบิดา—งามคล้ายวังเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนเนินมีป่าไม้ล้อมรอบ มองเห็นทะเลถนัด ส่วนรอบบ้านนั้นปลูกไม้ดอกไม้ผลไม้ในต่างเปนที่ตระการตายิ่งนัก นกที่ร้องเพลงอันไพเราะ ถูกขังไว้ในกรงบ้าง ปล่อยเปนไทยแก่ตนบ้าง บินไปมาร้องส่งเสียง อันน่าฟังตามซุ้มต้นไม้ในสวน. น้ำพุพวยพุ่งขึ้นจากท่อพุพ่านไปตามท่าทางหลายอย่าง และลอองน้ำที่กระเซ็นเมล็ดฝอยซ่านซาบให้อากาศที่ร้อนค่อยบันเทาเบาบางลงเปนที่ชุ่มชื่นแก่ผู้สำผัสขึ้นมาก. ในที่แห่งนี้ ข้าพเจ้าอยู่มีความศุขเปนหลายปี ในท่ามกลางหนังสือและรูปภาพและมีเพื่อนฝูงไปมาหาสู่เนือง ๆ พวกคนหนุ่มเหล่านั้นล้วนมีความประพฤติไม่มากก็น้อยคล้ายกับความประพฤติของข้าพเจ้า เปนผู้ที่เพลิดเพลินในหนังสือเก่า ๆ

ส่วนผู้หญิงนั้นข้าพเจ้าได้พบได้ปะอย่างน้อยที่สุด เกือบจะว่าไม่ได้พบเลยก็เกือบได้ จะพูดโดยแท้ที่จริงแล้ว ข้าพเจ้าคอยหลบหลีกไม่อยากให้เจอะได้. พวกท่านที่มีลูกสาวสวยน่าแต่งงานเปนอันมาก ได้เชิญข้าพเจ้าไปเที่ยวเล่นเรือนของเขาเนือง ๆ แต่ข้าพเจ้าหาเหตุที่จะไม่รับการเชื้อเชิญเหล่านั้นด้วยประการต่างๆ. หนังสือดีๆ ที่มีอยู่บอกว่าอย่าให้สมาคมในสัตรีสโมสร—ข้าพเจ้าเชื่อถือและทำตามคำเตือนสติ. พวกเพื่อนหนุ่มๆที่ยังเปนทาษแห่งความรัก ได้พูดจาเยาะหยอกข้าพเจ้าบ่อย ๆ ในเรื่องนี้ แต่การที่ทำเฉย ๆ นั้นทำให้พวกเพื่อนเหล่านั้นแพ้ไปเอง. ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เห็นว่าเปน ทาษแห่งการคบเพื่อนดีดีกว่าเปนทาษแห่งความรัก. ในเวลานี้มีเพื่อนคนหนึ่ง เปนเพื่อนอย่างสนิทที่จะฝากชีวิตไว้ในกำมือได้—เขามาติดต่ออยู่กับข้าพเจ้าอย่างสนิทสนมหาสองในโลกไม่มี, เขาผู้มีนามอยู่ว่า กีโด เฟอร์รารี ก็ได้ช่วยพวกเพื่อนอื่นล้อเลียนข้าพเจ้าในเรื่องที่เกลียดผู้หญิงด้วย

“น่าอาย ฟาบีโอ น่าอาย ” เขากล่าว. “เจ้าจะไม่รู้รศของชีวิตว่าประเสริฐเพียงใด จนกว่าเจ้าจะได้ลิ้มรศเยื่ออันโอชะที่ริมฝีปากอันพรายพริ้มแดงประดุจมีลิ้นจี่จิ้ม—เจ้าจะไม่มองอะไรเปนที่เจริญตาเท่าที่จะมองจ้องดูในแววตาของสัตรีสาวซึ่งวาวเปนมันขลับ และซึ้งเหลือวิสัยที่หยั่งถึง—เจ้าจะไม่มีความยินดีอะไรมากเท่าเอามือโอบรอบตัวสัตรี และได้ยินเสียงหัวใจของเขาเต้นเข้าจังหวะกับเสียงหัวใจของเจ้าเองเต้น! ไปเชื่อหนังสือทำไม! หนังสือที่ตาเถรบอ-บ้า-คร่ำครึ-อันผู้มิได้รู้จักว่าความเปนบุรุษย์อย่างไร เรียงเปนเล่มขึ้นไว้—โลหิตของเขาใสดั่งน้ำกรอง—เหตุที่ทำให้เขาเขียนเปนสมุดขึ้นไว้ก็เปนเพราะเขารักผู้หญิง และไม่สำเร็จความปราดถนาโดยความแค้นจึงมาพล่ามลงไว้. พวกนักปราชญ์เหล่านั้นไม่ได้ประสบสิ่งประเสริฐของชีวิต แล้วยังมิหนำจะมาทำคนอื่นให้เจริญรอยที่ผิดไปอีกด้วยเล่า. อย่างไรเพื่อนเอ๋ย! เจ้า,ผู้มีฝีปากอันเฉียบแหลม มีตาอันคมคาย มียิ้มแย้มอันเปนที่ยวนใจ มีรูปโฉมอันอ้อนแอ้นพึงสวาสดิ์ จะไม่ลงชื่อเข้าในสารบบของความรักหรือ?”

ข้าพเจ้ายิ้มเมื่อได้ยินเพื่อนข้าพเจ้าพูดอย่างนั้น แต่มิได้ตอบว่าประการใด. คำที่พูดนั้นหากลับความเชื่อถือเดิมได้ไม่ ถึงกระนั้น ข้าพเจ้ายังอยากฟังเขาพูด—น้ำเสียงที่พูดนั้นไม่ขัดหู และคำพูดนั้น เขาแสดงด้วยไนย์ตาคล่องแคล่วมากกว่าคำพูดด้วยปากเสียอีก. ข้าพเจ้ารักเขา—เทพยเจ้าเปนพยาน รักจนปราศจากซึ่งความรังเกียจความเห็นแก่ตัวและอื่นๆ. ความรักชนิดที่สิงอยู่บ้างในระหว่างเพื่อนเด็กนักเรียน และเปนของหายากในระหว่างคนที่เจริญไวยด้วยกันแล้ว ข้าพเจ้ามีความศุขสบายในสโมสรของเขา และเห็นเขาก็อย่างเดียวกันในสโมสรของข้าพเจ้า. เรามีเวลาที่อยู่สมาคมด้วยกันมาก เขาก็เปนกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่เล็กเช่นกัน เพราะฉนั้นเขาเลือกที่จะประพฤติอะไรได้ตามความชอบใจ. เปนคนชอบศิลปมาก ถึงโดยจะเปนช่างเขียนที่เรียกว่าสำเร็จได้ก็จริง แต่เปนคนอนาถาเท่ากับข้าพเจ้าเปนคนมั่งคั่ง ข้าพเจ้าคอยหาโอกาศที่จะเยียวยาอยู่เสมอแต่ต้องทำด้วยอุปเท่ห์อย่างใดอย่างหนึ่งที่จะไม่ให้เขารู้สึกสดุ้งเสทือนว่าเผื่อแผ่ เกลือกว่าจะเห็นเปนการดูถูกดูแคลนไป.

ในมนุษย์โลกนี้ มนุษย์คนใดถึงจะให้ดีเท่าดีเพียงใด ก็ไม่สามารถที่จะมีความศุขอยู่ยั่งยืนนานได้. พระเคราะห์ย่อมเข้าเสวยอายุเปนเวรเปลี่ยนอยู่เสมอ องค์ไหนดีก็ดีไป องค์ไหนที่ร้ายกาจ—ฮึ! แต่เพียงดุครั้งเดียว พูดคำเดียว สำผัสคำเดียว สายสร้อยของความประพฤติอันเคยนำมาซึ่งความศุขจะขาดออกเปนท่อนๆทันที.

ความเปลี่ยนแปลงได้มาสู่ตัวข้าพเจ้า เหมือนดังมาสู่สัตว์อันมีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ประดุจเดียว. วันหนึ่ง—ข้าพเจ้าจำได้แม่นยำมาก—เปนวันแดดจัดในฤดูร้อนปลายเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๘๑ ในเมืองเนเปิลซ์ เวลาบ่ายข้าพเจ้าลงแล่นเรือเล่นในทะเลเฉื่อยไปตามเพลงพอแก้ราคาญ. กีโดไม่อยู่ (ไปกรุงโรมเพื่อจะเยี่ยมพวกพ้องสักสองสามอาทิตย์) ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว้าเหว่วังเวงมาก. เวลาที่แล่นเรือย้อตเล่นนั้นมิได้นึกตั้งใจให้หัวเรือไปทางไหนนัก ปล่อยมันเรื่อย ๆ สุดแล้วแต่ย่านางจะพาเรือไป ลงปลายมันแล่นมาเข้าอ่าวเฉยๆ ก่อนที่ข้าพเจ้าจะได้นึกตั้งใจจะจอดเทียบฝั่งสิ มือก็หันหางเสือเข้าเทียบเสียเรียบร้อยก่อนแล้ว พวกลูกเรือต่างก็ขึ้นฝั่งไปเที่ยวตามชอบใจของใคร ข้าพเจ้าเองก็ขึ้นบนฝั่งเหมือนกัน ให้อยู่เฝ้าเรืออยู่แต่คนเดียวก็พอ—แต่ตัวข้าพเจ้าเองมิได้ปราดถนาจะขึ้นเพื่อการสนุกอันใดเลย, คนที่รู้จักมักคุ้นในเมืองก็มีมากหลาย แต่ไม่อยากไปทำให้ความรู้จักนั้นสนิทสนมนัก. เดินซังกะตายไปอย่างนั้น เดินไปพลางนึกไปพลาง ว่าจะกลับไปบ้านทางบกดีหรือจะไปทางน้ำที่มาดี ยังไม่ตัดสินชี้ขาดในใจว่าทางไหนแน่ พอได้ยินเสียงร้องเพลงและมองเห็นเสื้อขาวๆเดินเปนทิวมาแต่ไกล เดือนเมษายนเปนเดือนที่เขาแห่แม่พระ (มารดาพระเยซู) ข้าพเจ้าจึงนึกขึ้นได้ทันทีว่าเห็นจะเปนกระบวนแห่แม่พระแน่แล้วไม่มีอื่น. ขี้เกียจหน่อย ๆ อยากดูนิด ๆ จึงหยุดยืนคอยดูอยู่ที่นั่น. เสียงเพลงใกล้เข้ามาๆ—เห็นพระ เห็นเครื่องแห เห็นแกว่งกระเช้าเนื้อไม้กฤษณาขี้ธูปที่เผาไฟ เห็นไฟเทียนเรียงเปนแถว เห็นพวกเด็กๆ และผู้หญิงสาวๆ คลุมผ้าโปร่งขาว—ในขณะชั่วพริบตาเดียวนั้น ความงามปรากฏแก่จักษุข้าพเจ้า—หน้าๆหนึ่ง หน้านั้นได้งามเปล่งประดุจดวงดาวเปล่งออกมาจากก้อนเมฆแห่งผม—หน้าๆนั้นที่มีแก้มอันเปล่งประดุจผลมะปราง—งามบริบูรณ์ที่จะหาตำหนิมิได้เลย—ดวงตาทั้งสองข้างวาวและดำประดุจมณีนิล—หน้านั้นที่มีปากบางเล็กและยิ้มยั่วยวนใจ! ข้าพเจ้าจ้องมองแล้วจ้องมองอีก รู้สึกเสียวตัวและใจวาบๆ; อ้อ! ความงามนี่เองทำให้มนุษย์เปนบ้าคลั่งไปได้หมด หน้านั้นเปนผู้หญิง—เปนเพศที่ข้าพเจ้าไม่ไว้ใจ และหลบหลีกอย่างที่สุดที่แล้ว—ผู้หญิงกำลังรุ่นกำดัด อายุในระหว่าง สิบห้ากับสิบหก. ผ้าที่คลุมหน้าเพอินมาเปิดเฉภาะหน้าข้าพเจ้าโดยแอกซิเดนต์ หรือโดยตั้งใจเปนของที่ยากจะทราบได้ ในชั่วเวลานั้น ข้าพเจ้ารู้สึกกระหยิ่มอย่างที่ยังไม่เคยได้รับมาแต่ครั้งคราวก่อน. กระ บวนแห่ผ่านไป…...…..คนดูก็จางไป—ในชั่วอึดใจเดียวนั้นโปรแกรมเก่าซึ่งกะไว้ว่า จะเปนโปรแกรมแห่งชีวิตเปลี่ยนแปลงเปนอย่างใหม่ทันที.

ข้าพเจ้าได้แต่งงานกับสาวน้อยคนนั้นสมประสงค์ แต่การที่เกี้ยวพาราษีสู่ขอจนได้ร่วมห้องกันฉันใดนั้น ไม่จำเปนจะยกขึ้นกล่าวให้ยืดยาว ด้วยธรรมดาอย่างนี้ย่อมถึงจะไม่เหมือนก็คงแม้นกันทุกรูป ทุกนาม. หญิงคนนั้นเปนบุตรสาวคนเดียวของขุนนางชาวเมืองฟลอเรนซ์ เดิมเคยเปนคนมีชื่อเสียงโด่งดัง ครั้นมาภายหลังเกิดคลั่งในการเล่นพนันจนฉิบหายขายตนหมด. เขาได้ส่งบุตรสาวมาอยู่ในคอนเวนต์ตั้งแต่ย่อม—หล่อนจึงไม่รู้การเปนไปในโลกเลย. บิดาของหล่อนได้บอกข้าพเจ้าด้วยไนย์ตาอันหล่อด้วยน้ำว่า “ลูกสาวของฉันบริสุทธิ์แท้ บริสุทธิดังดอกไม้ที่บูชาพระ.” ข้าพเจ้าเชื่อ—ผู้หญิงพึ่งจะรุ่นแตกเนื้อสาวและขังอยู่กับพวกชีตั้งแต่เล็กจะไม่บริสุทธิ์อย่างไรได้. ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะเด็ดดอกประทุมพึ่งจะแย้มมาไว้ประดับกาย และข้างฝ่ายบิดาของหล่อนก็มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะตกแต่งบุตรสาวซึ่งตัวไม่มีเงินทองจะให้ ให้ไปแก่ชายอันสมบูรณมั่งคั่งเช่นนั้น

เราได้แต่งงานกันในเดือนมิถุนายน กีโด เฟอร์รารี ได้จัดของกำนัลอย่างดีมาให้เพื่อแสดงความสัมพันธมิตร์อันดี.

เมื่อพิธีอาวาห์มงคลสำเร็จแล้ว กีโดได้พูดแก่ข้าพเจ้าว่า “อย่างไร ฟาบีโอ คำเตือนสติของข้าเปนประโยชน์แก่เจ้าไม่ใช่หรือ? ธรรมดาคนเงียบๆ มักเดินแต้มสูงอย่างเดียวกับสุภาสิตกล่าวว่า ‘น้ำนิ่งไหลลึก!’ เพ็ชร์อันหาค่ามิได้ตกมาเปนสมบัติของเจ้า—เจ้าได้หญิงงามหนึ่งไม่มีสองในประเทศอิตาลี!”

ข้าพเจ้าได้บีบมือ ความสัมผัสทำให้รู้สึกถึงความเก่าเพราะว่า กีโดเดี๋ยวนี้มิได้เปนคนรักที่สุดของข้าพเจ้าเสียแล้ว เมื่อมองดูนีนนาภรรยาข้าพเจ้า ความงามของหล่อนทำให้ตามืดมัวด้วยกามราค—ข้าพเจ้าลืมสิ่งใดในโลกหมด จำได้แต่หล่อนคนเดียว ทุกลมหายใจเข้าหายใจออกไม่มีนึกถึงอื่นนอกจากแม่นินนา. กระหยิ่มยิ้มกริ่มด้วยความรัก รักอย่างเดียว ความรักเปนกุญแจของความศุข. ความศุขของข้าพเจ้าเปนอย่างที่สุด—ในเวลากลางวันมีความชื่นชมเสมอกับได้ไปอยู่ในเทวะประเทศ กลางคืนก็ฝันถึงสิ่งประเสริฐเลิศเลอสรวง! ข้าพเจ้าไม่มีความเบื่อหน่ายในภรรยาเลย ยิ่งอยู่ด้วยกันนานเข้ายังเห็นหล่อนงามขึ้นทุกวัน ๆ หล่อนใช่อื่นไกลคือเครื่องดูดดื่มแห่งหัวใจนั่นเอง และภายในสองสามเดือนหล่อนได้คุ้นเคยแก่ธรรมชาติของข้าพเจ้าหมดสิ้น หล่อนทราบว่าความสวยความงามของหล่อนเปนเครื่องผูกพันอันไม่ให้ข้าพเจ้าไปห่างห้องได้ หล่อนทราบชัดว่าข้าพเจ้านับถือ และทำตามคำสั่งหล่อนประดุจเปนทาษ. หล่อนทราบ—อะไรที่หล่อนไม่ได้ทราบ! เมื่อนึกถึงเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาแล้วทำให้ บันดาลโทษะ. ผู้ชายทั้งหมดที่มีอายุกว่ายี่สิบขึ้นไปแล้วคงจะได้เรียนกลของสัตรีไม่มากก็น้อยทุกคนไป สัตรีนา! สัตรี!!

ผู้ชายถึงใจคอกล้าหาญร้ายกาจดุดันเพียงใดมากระทบสัตรีอันมีรูปร่างงามเลิศเข้าแล้วก็อ่อนลงไปอยู่ในกำมือ สิงห์โตก็กลายเปนแพะทันที. หล่อนรักข้าพเจ้า? อ๋อ แน่ที่เดียว เมื่อนึกถึงคราวโน้นข้าพเจ้าพูดได้ว่าเชื่อแน่ว่าหล่อนรักข้าพเจ้า เหมือนผู้หญิงเก้าร้อยคนในพันคนรักสามีของตน กล่าวคือ—ตามแต่จะได้. ในขณะที่ข้าพเจ้าจะบูชาหล่อน ข้าพเจ้าบูชาราวกับหล่อนเปนเทพธิดาไม่ใช่หญิงอย่างที่อยู่ในมนุษย์โลก ที่เปนฉนั้นก็เปนเพราะความโง่ของข้าพเจ้า มิใช่ความผิดของเจ้าหล่อนเลย.

เราเปิดประตูเรือนรับเพื่อนฝูงเสมอ เรือนเปนที่ประชุมของพวกโซไซเอตีชั้นสูงในและตามบริเวณเมืองเนเปิลส์ ไม่มีใครที่จะไม่ชมภรรยาข้าพเจ้า ชมหน้าตารูปพรรณ์ ชมกิริยาท่าทางเดินเหินลุกนั่งเปนสง่าผ่าเผยมาก. กีโด เฟอร์รารี เปนคนหนึ่งในจำพวกที่ชมจนออกเสียง ในกิริยาที่เขาทำอ่อนน้อมและนับถือต่อภรรยาข้าพเจ้ามากเช่นนั้น ทำให้ข้าพเจ้าชอบเขาทวีคูณขึ้น. ไว้ใจเขาอย่างกับว่าเปนพี่น้องร่วมบิดามารดาอย่างสนิทสนม จนจะไปจะมาเข้านอกออกในเวลาใดได้โดยปราศจากความรังเกียจ เขาหาดอกไม้บ้างอะไรเล็กน้อยกระจุ๋งกระจิ๋งบ้างที่จะให้ถูกใจแม่นินนา มาให้หล่อนเนืองๆฉันพี่น้อง. ข้าพเจ้าถือว่าความศุขของข้าพเจ้าเปนบริบูรณ์—บริบูรณ์ด้วยรัก ด้วยสมบัติ ด้วยเพื่อน มนุษย์เราต้องการอะไรอีกนอกจากนี้ ?

ยังเพิ่มความศุขขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง คือในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๘๒ เกิดบุตรคนหนึ่ง เปนหญิง นางนมได้นำเอาเด็กน้อยนั้นมายังข้าพเจ้า ในขณะที่นั่งรับประทานอาหารเช้าอยู่กับกีโดที่ระเบียงเรือน—กะจ้อยร่อยนิด มีผ้าผ่อนอย่างดีพันอยู่ออกรุงรัง. ข้าพเจ้าได้รับบุตรมาจากมือนางนมด้วยความชื่นชมอย่างยิ่ง เด็กน้อยนั้นได้ลืมตาขึ้น ไนย์ตาใหญ่และดำไม่มีผิดตาของมารดา ข้าพเจ้าได้ยกบุตรน้อยขึ้นจูบที่หน้า! กีโดได้ทำตาม! ไนย์ตาดำนั้นได้มองดูเราทั้งสองเหมือนจะถามว่านี่เล่นอย่างไรกัน. นกที่เลี้ยงไว้ในกรงได้ร้องเพลงขึ้นช้า ๆ ราวกับจะร้องขับรับขวัญเด็ก พระพายได้โชยกลิ่นดอกไม้ตามข้างบ้านมาให้หอมตระหลบไปทั้งนั้น แล้วข้าพเจ้าได้ส่งบุตรน้อยคืนให้นางนม แลพูดด้วยความยิ้มแย้มว่า “จงบอกแม่นินนาเถิดว่า ข้าขอบใจหล่อนเปนอันมาก ที่หล่อนได้ถนอมบำรุงชื่นใจของเราจนได้ประจักษ์แก่จักษุในวันอันเปนมหาสวัสดิมงคลนี้.”

เมื่อนางนมพาเด็กไปแล้ว กีโดได้เอามือจับไหล่ข้าพเจ้าหน้าซีดลงกว่าปรกติ และว่า “ฟาบีโอ เจ้าเปนคนดีมาก”

“คือ ? ยังไรกัน ?” ข้าพเจ้าตอบยิ้ม ๆ “ข้าก็ไม่ดีกว่าคนอื่นสามัญ.”

“เจ้ามีความระแวงน้อยกว่าคนโดยมาก” เขาพูด หันหน้าไปเด็กดอกลดาวัลย์ที่ขึ้นพันอยู่ที่ระเบียงเรือนเล่นเปนเชิงแก้ขวย

ข้าพเจ้าเพ่งดูด้วยความประหลาดใจ “นี่แปลความว่าอะไรกัน, เพื่อน ? มีเหตุอะไรบ้างที่ควรข้าจะระแวงสงไสย์ใคร ?”

เขาหัวเราะ และนั่งลงที่เดิมที่โต๊ะรับประทาน

“เปล่า! เปล่า!” ตอบอย่างลอยๆ “แต่ในเมืองเนเปิลซ์นี้อากาศเปนเต็มไปด้วยความระแวงต่างๆ—หึงหวงกันถูกๆ ผิด ๆ—เด็กที่เกิดภายหลัง ๆ ก็เลยเรียนเอาเปนเยี่ยงเปนอย่าง. คนทำผิดต้องไปลุแก่โทษแก่บาดหลวง แต่บาดหลวงซ้ำระยำไปกว่าคนที่มาลุแก่โทษเสียอีก (ตามจารีตโรมันคะธอลิค คนที่ทำผิดไปลุแก่โทษแล้วเปนหมดบาป)” เขาหยุดนิ่งอยู่สักครู่หนึ่ง. และพูดต่อไปว่า “ไม่เปนการประหลาดหรือที่จะรู้จักคนอย่างเจ้า, ฟาบีโอ ? คนที่มีความศุขในความรักที่บ้าน และไม่มีความระแวงอะไรเลย?”

ข้าไม่มีเหตุอันใดที่จะไม่วางใจ” ข้าพเจ้าว่า “นินนาหรือก็บริสุทธิเท่ากับเด็กน้อยซึ่งคลอดใหม่ในวันนี้”

“จริง” กีโดพูด “จริงทีเดียว! จ้องดูตาข้าพเจ้าแล้วหัวเราะ “ใสยิ่งน้ำค้างแท้ที่ค้างยอดหญ้า—บริสุทธิยิ่งเพ็ชร์ที่หาตำหนิมิได้ และเข้าใกล้ไม่ได้ประดุจดวงดาวอันอยู่ลิบลับ อย่างนั้นไม่จริงหรือ ?”

ข้าพเจ้ายอมว่าเปนจริงดังเขากล่าว; มีอะไรในกิริยาที่ทำให้เปนปฤษณาแก่ข้าพเจ้า ไม่ช้าเราก็สนทนากันถึงเรื่องอื่น ๆ เลยไป ข้าพเจ้าก็ไม่ได้นึกได้ฝันถึงคำที่พูดนั้นอีก แต่เวลาได้มาถึง—ในเร็วพลัน—เมื่อข้าพเจ้ามาใคร่ครวญฟื้นความเก่าขึ้นอีกก็กลับจำคำที่เขาพูดในวันนั้นได้ทุกน้ำคำ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ