นำเรื่อง โดย แสงทอง

“ข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องนี้ เป็นคนที่ถึงแก่กรรมแล้ว ถึงแก่กรรมจริง ๆ ตายจริง ๆ ตายอย่างที่มีผู้รู้เห็นว่าตาย ...ตายแล้ว และได้ฝังเสร็จแล้ว ฯลฯ ถึงอย่างนั้นแล้ว ...ข้าพเจ้าก็ยังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้ารู้สึกโลหิตอันอบอุ่นแล่นซ่าขึ้นตามเส้น...โลหิตอย่างสามสิบปีมาแล้ว ... ความหนุ่มกลับแล่นมาเข้าตัวอีก ทำให้นัยน์ตาข้าพเจ้าเป็นมันและคมฉาบ ขึ้น...ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแน่นขึ้นราวกับเหล็ก... มือก็จับถือแน่นแฟ้นขึ้น...ตัวก็ยืนขึ้นได้ตรงและเป็นสง่าผ่าเผย เออ...ยังมีชีวิตอยู่จริง”

นักเลงอ่าน หนังสือเมื่อได้อ่านข้อความข้างบนนี้เพียงสองบรรทัด ก็คงจะเอะใจว่า “เอ๊ะ นี่มันคำดำเนินเรื่อง ‘ความพยาบาท’ ของ ‘แม่วัน’ นี่นา” ถ้า ท่านเอะใจเช่นนี้ก็ถูกแล้ว เพราะข้อความข้างบนนี้ ข้าพเจ้าคัดมาจากเรื่อง “ความพยาบาท” ของ “แม่วัน” ที่คัดมาค่อนข้างยืดยาวสักหน่อย ก็เพื่อแสดงว่าในสมัยโน้น คือเดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) คือเมื่อ ๕๐ ปีเศษมาแล้วนี้ เรื่อง “ความพยาบาท” ได้เริ่มปรากฏเป็นภาษาไทยในนิตยสารชื่อ “ลักวิทยา” เป็นครั้งแรก จากฉบับนวนิยายภาษาอังกฤษชื่อ “Vendetta” ของนางสาวแมรี่ คอเรลลี่ เป็นภาษาไทยที่ในความตามความเข้าใจของข้าพเจ้า ถอดมาจากภาษาอังกฤษอย่างใกล้ชิดที่สุดเป็นเรื่องแรก และเป็นเรื่องขนาดยาวซึ่งตามความเข้าใจของข้าพเจ้าอีกเหมือนกันว่า เป็นเรื่องจูงใจให้มีการแปลนวนิยายภาษาต่างประเทศเรื่องยาวๆ ลงเป็นภาษาไทย จนได้พบเห็นกันดาษดื่นในเวลาต่อมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

...ข้าพเจ้าเข้าใจว่าภาษาไทยเริ่มปฏิวัติก็คือปีที่เรื่อง “ความพยาบาท” ได้ปรากฎ เพราะสำนวนที่พิมพ์อยู่ในหน้าหนังสือ “ลักวิทยา” เป็นสำนวนใหม่แก่คนไทยที่ไม่ชินแก่ภาษาอังกฤษ มาได้อ่านเรื่องและรสใหม่ก็พากันสนใจ

สมัยนั้นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เป็นที่นิยมของชาวบ้าน และเรื่องเกร็ดพงศาวดารจีน เช่นสามก๊ก ซ้องกั๋ง ซิยินกุ้ย ฯลฯ ก็เป็นที่นิยมของคนชั้นกลาง คนชั้นนี้ไม่ค่อยได้ผ่านวชิรญาณ ได้มาพบเห็นความ บันเทิงจากการผ่านเรื่องต่าง ๆ ดังที่ได้ออกมาเป็นรายเดือนอย่างหนังสือ “ลักวิทยา” และโดยเฉพาะเรื่อง “ความพยาบาท” การปฏิวัติแห่งภาษาไทยจึงเริ่มแต่บัดนั้น

พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล)

ข้าพเจ้าออกจะแน่ใจว่า “ความพยาบาท” ของ “แม่วัน” แม้จะเป็นนวนิยายฝรั่ง แต่ก็เป็นนวนิยายภาษาไทยเรื่องแรกที่ได้รับความนิยมชมชอบกันมาทุกรุ่นทุกสมัย ซึ่งจะทำให้ชื่อ “แม่วัน” พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) ไม่ตาย ในชีวิตของการเป็นนักประพันธ์ของ “แม่วัน” แม้ท่านจะได้เขียนเรื่องร้อยแก้วร้อยกรอง ไว้ไม่สู้มากเรื่อง แต่เรื่อง “ความพยาบาท” ของท่านนี้เป็นงานดีที่สุดของท่าน และเพราะงานชิ้นนั้น ท่านจึงได้รับความยกย่องนับถือว่าเป็นนักประพันธ์ชั้นเอกคนหนึ่ง

ภาพยนตร์เรื่อง “ความพยาบาท

คืนวันหนึ่งราวสามสิบปีเศษมาแล้ว โรงภาพยนตร์พัฒนากรฉายภาพยนตร์เรื่อง Vendetta ของ แมรี คอเรลลี่ บริษัทให้ชื่อภาษาไทยว่า “ความพยาบาท” ข้าพเจ้าเข้าไปนั่งคอยหนังฉายอยู่ก่อนแล้ว สักครู่ “แม่วัน” ผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ เดินก้าวช้าๆ หลังค่อมนิดๆ ผ่านหน้าข้าพเจ้าเข้าไปนั่งบ๊อกส์ ซึ่งเข้าใจว่าบริษัทจัดให้เป็นเกียรติ นัยน์ตาคนทั้งโรงเล็งไปยังเจ้าคุณสุรินทราชา คล้ายกับจะนึกว่าท่านมาดูหนังซึ่งท่านเป็นผู้แต่งเรื่องเอง ภาพนั้นพิมพ์ติดตาข้าพเจ้าอยู่จนทุกวันนี้

หนังสือเป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้บุคคลไม่ตาย หนังสือที่ทำให้กวีไม่ตายมักเป็นโคลงฉันท์กาพย์กลอนเสียทั้งสิ้น หนังสือร้อยแก้วหายาก ปัจจุบันนี้เรามีนักประพันธ์นวนิยายไทยๆ มากหน้าหลายตาแล้ว แต่ยังไม่ได้ยินแพร่หลายนักว่า เรื่องไหนของใครจะทำให้เขาไม่ตายบ้างหรือไม่ ข้าพเจ้ายังนึกไม่ออก...

(คัดจาก สยามสมัย พ.ศ. ๒๔๕๑)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ