ประวัติของผู้ประพันธ์

พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๘ (ตรงกับวันพุธ เดือน ๙ แรม ๙ ค่ำ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๓๗) เป็นบุตรพระอินทราสา (สมบุญ วิเศษกุล) ท่านนุ่น เป็นมารดา

การศึกษา

เมื่อยังเยาวได้ล่าเรียนอักขรสมัย ซึ่งในสมัยนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่พระราชวังนันทอุทยาน ซึ่งเรียกกันว่า สวนอนันต์ มีการเล่าเรียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พระยาสุรินทราชาได้เล่าเรียนในโรงเรียนนี้ และต่อมาโรงเรียนนี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่ราชการของทหารเรือ โรงเรียนได้ย้ายนักเรียนมาอยู่ที่โรงเรียนสุนันทาลัย (คือโรงเรียนราชินีทุกวันนี้) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ พระยาสุรินทราชาได้เล่าเรียนจนจบหลักสูตรของโรงเรียน และในเวลาเดียวกันนี้ประจวบกับสมเด็จพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย (ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระยุพราช) ได้เสด็จมาเยี่ยมประเทศไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงโปรดให้เกณฑ์นักเรียนโรงเรียนสุนันทาลัยไปใช้เป็นล่ามรับใช้ประจำ พระยาสุรินทราชาจึงถูกเกณฑ์ไปเป็นล่ามประจำอยู่ด้วย จนสมเด็จพระเจ้าซาร์เสด็จกลับ และเมื่อเสด็จกลับแล้ว จึงได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี และก็ได้เป็นครูผู้ช่วยของโรงเรียนนี้ ต่อมาจนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓๕ ทางการศึกษาในสมัยนั้นเห็นความจำเป็นที่จะต้องการให้ได้มีครูที่ดีและมีความรู้ความชำนาญในหน้าที่ของครูต่อไป จึงได้ดำริจัดตั้งการสอนวิธีฝึกหัดครูขึ้น ในขณะนั้นได้อาศัยโรงเลี้ยงเด็ก ตำบลถนนบำรุงเมือง (คือโรงเรียนเบ็ญจมราชูทิศเดี๋ยวนี้) เป็นโรงเรียน มีครูใหญ่เป็นชาติอังกฤษ ชื่อนายยี. เอช. กรินรอค เป็นครูใหญ่ มีนักเรียนครูเริ่มต้น ๓ คน คือ พระยาสุรินทราชา, นายบุญรอด (พระยาภิรมย์ภักดี) และนายสุ่ม ในปีนั้นเอง นายบุญรอดกับนายสุ่มได้ลาออก คงเหลือพระยาสุรินทราชาคงเรียนต่อไป และต่อมาได้ลาออกรับราชการเป็นครูโรงเรียนราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ในระหว่างที่เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนราชกุมารนี้ ได้ถวายพระอักษรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ หลายพระองค์ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ถวายพระอักษร แด่สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ เป็นพิเศษโดยเฉพาะอีกด้วย ได้เป็นครูอยู่ในโรงเรียนราชกุมารจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๘

หน้าที่ราชการ

เมื่อ พ.ษ. ๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรินทราชา โดยเสด็จเป็นพระอภิบาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ซึ่งเสด็จไปทรงศึกษาวิชา ณ ประเทศอังกฤษ และในโอกาสนั้นก็ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศชะวาด้วย และต่อจากนั้นก็ได้โดยเสด็จ สมเด็จพระเชเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ไปประจำอยู่ ณ ราชสำนักกรุงเปโตกราด ประเทศรัสเซีย

พ.ศ. ๒๔๔๑ เมื่อกลับจากต่างประเทศแล้ว ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก)

พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปประจำอยู่กับบรรพชิต โจยังคะโตรลตูเวลฟ์ และ ขำโพลามาชอย นะดะซิน บรรพชิตไซบีเรีย ซึ่งได้นำสิ่งของๆพวกพุทธศาสนิกชนชาวไซบีเรียมาทูลเกล้าฯ ถวาย เพราะบรรพชิตสองรูปนี้พูดภาษาอื่นไม่ได้ นอกจากภาษาธิเบตและภาษารัสเซีย

อนึ่งในปีนี้ ได้โปรดเกล้าฯให้ย้ายไปรับราชการเป็นปลัดกรมสรรพากรนอก

พ.ศ. ๒๔๔๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่ประจำกับ ฮีส อิมพีเรียล ไฮเนส แกรนด์ดุ๊ก บอริส วลาดิมิโรวิตซ พระราชวงศ์แห่งสมเด็จพระเจ้าเอมเปอเรอร์ กรุงรัสเซีย ซึ่งได้เสด็จเข้ามาประเทศไทย ได้ประจำอยู่จนเสด็จกลับ

พ.ศ. ๒๔๔๖ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากปลัดกรมสรรพากรนอกมาเป็นเลขานุการประจำพระองค์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช

อนึ่งในปีนี้ ได้รับราชการในหน้าที่เลขานุการของกรรมการจัดการพระราชพิธี ทวีธาภิเษกสมโภช ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ กับได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานตราตั้งเป็น เลขาธิการหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งในปีนี้ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารทรงดำรงตำแหน่งสภานายก

พระยาสุรินทราชา ได้รับหน้าที่เป็นเลขานุการประจำพระองค์สมเด็จพระยุพราช ตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๒ ในระหว่างที่รับราชการในหน้าที่ดังกล่าวนี้ เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยและพอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราชเป็นอันมาก ทั้งเป็นที่เคารพยำเกรงของบรรดาข้าราชการที่อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยทั่วกัน นอกจากนี้ บรรดาข้าราชการที่ประจำอยู่กับสมเด็จพระยุพราช ต่างพากันนับถือเป็นครูบาอาจารย์ เพราะท่านได้ปฏิบัติตนเป็นที่รักใคร่ สั่งสอนแนะนำและให้วิชาความรู้แก่ผู้น้อยผู้ใหญ่ด้วยความเจตนาหวังดีแก่ทุก ๆ คน จึงเป็นที่รักใคร่กลัวเกรงนับถือด้วยน้ำใจกันแท้จริงทั่วกัน

พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดเกล้าให้ย้ายจากตำแหน่งเลขานุการ ประจำพระองค์สมเด็จพระยุพราช ไปรับราชการเป็นเกษตรมณฑลภูเก็ต

ในปีนี้ได้เข้ามาจากมณฑลภูเก็ตพร้อมกับพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้) ในนามของข้าราชการและราษฎรมณฑลภูเก็ต นำพวงมาลามาถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และในการพระราชพิธีเถลิงถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖

ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปในเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อรับเสด็จเจ้าชายวิลเลียม และ เจ้าหญิงมารีย์ ชายาเจ้าชายวิลเลียม ดุ๊ก ออฟสเดอมาเนีย แห่งประเทศสวีเดน ซึ่งเสด็จเข้ามาช่วยในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อเสด็จเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ แล้ว ได้อยู่ประจำเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงมารีย์ตลอดจนกลับ และได้โปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จออกไปส่งจนถึงเมืองไซ่ง่อน

ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากเกษตรมณฑลภูเก็ตมารับตำแหน่งเจ้ากรมเพาะปลูกในกระทรวงเกษตราธิการ และในปีเดียวกันนี้ ทางราชการได้สั่งให้ออกไปตรวจการทำไร่ยาสูบที่เกาะสุมาตรา และการทำสวนยาง สวนมะพร้าว และเหมืองแร่ที่ปีนัง และที่เมืองกัวลาลำเปอร์ พระยาสุรินทราชาได้รับราชการเป็นเจ้ากรมเพาะปลูกมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๖

ครั้น พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้รั้งตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข พ.ศ. ๒๔๕๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ในระหว่างมหาสงคราม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกกรรมการตรวจหนังสือและโทรเลขทั่วไปด้วย

พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯตั้งให้เป็นองคมนตรี ในรัชกาลที่ ๖

พระยาสุรินทราชาได้ครองตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๒ และได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ในปลายปีนั้น

พ.ศ. ๒๔๖๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต พระยาสุรินทราชาได้ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๐ ในระหว่างดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตนั้น ปรากฎว่าเป็นที่เคารพรักใคร่นับถือของบรรดาข้าราชการ พ่อค้า และราษฎรชาวภูเก็ตเป็นอันมาก เพราะท่านได้ทำประโยชน์ไว้แก่มณฑลภูเก็ตหลายอย่าง เช่นตัดถนน และสร้างสถานที่ราชการ และสถานที่ตากอากาศพักผ่อนหย่อนใจ ดังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้

อนึ่งเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นคู่เคียงพระราเชนทร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เลียบพระนครทางสถลมารค

วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๖๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นคู่เคียงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสถิตย์เหนือพระมหาพิชัยราชรถ เชิญไปสู่พระเมรุทอง ท้องสนามหลวง กับเป็นคู่เคียงพระบรมอัษฐิ จากพระเมรุท้องสนามหลวง ไปสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และเป็นคู่เคียงพระบรมอัษฐิจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปสู่พระพิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจนเสร็จการ

พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช

พ.ศ. ๒๔๗๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมนคราทร ในกระทรวงมหาดไทย ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมนคราทรอยู่ ๕ ปี จนถึงเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๕ จึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ราชการ ออกรับพระราชทานบำนาญฐานรับราชการนาน รวมเวลารับราชการทั้งสิ้น ๓๑ ปี

เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นกรรมการองคมนตรี มีกำหนดตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นต้นไปจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

พระยาสุรินทราชาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ