ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทย ในระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ของ นายทวี บุณยเกตุ

ด้วยคุณดิเรก ชัยนาม ปรารภกับข้าพเจ้าว่าได้เขียนหนังสือไว้เรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยให้ชื่อเรื่องว่า “ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง” หนังสือที่ท่านเขียนนี้ ประสงค์จะให้เป็นทำนองบันทึกประวัติศาสตร์สำหรับอนุชนรุ่นหลังอ่าน เพื่อจะได้ทราบว่า ประเทศไทยได้ถูกนำตัวเข้ามาพัวพันกับสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้อย่างไร และประเทศไทยได้มีบทบาทในมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้อย่างไร กับในระหว่างสงครามโลกนั้นเราได้ปฏิบัติการอย่างไร ประเทศไทยจึงได้หลีกเลี่ยงจากความหายนะและหลุดพ้นจากความยุ่งยากอันสืบเนื่องมาจากผลแห่งการแพ้สงครามของประเทศญี่ปุ่นได้ แต่การเขียนหนังสือประวัติศาสตร์เช่นนี้ จะต้องเขียนด้วยความระมัดระวังและความรอบคอบโดยวางตัวเป็นกลางไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด ฉะนั้นการเขียนจึงต้องยึดหลักความจริงที่ท่านได้ประสบเหตุการณ์หรือได้ผ่านพบมาด้วยตนเอง แต่ก็ยังมีเหตุการณ์อีกมากหลาย ซึ่งนับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศอยู่ไม่น้อย ที่อนุชนรุ่นหลังควรจะได้ทราบไว้ แต่ท่านไม่สามารถจะเขียนได้ เพราะท่านต้องถูกส่งไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงโตเกียวเสียเกือบ ๒ ปี และในระหว่างระยะเวลานี้ก็มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่สมควรจะบันทึกไว้ในหนังสือที่ท่านเขียนด้วย เพื่อให้หนังสือเล่มที่ท่านเขียนนี้สมบูรณ์ดียิ่งขึ้น ท่านเห็นว่า ผู้ที่ควรจะบันทึกเหตุการณ์ไว้ได้ดีคนหนึ่งนั้นก็ควรเป็นข้าพเจ้า เพราะในสมัยนั้นข้าพเจ้าเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และยังได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลคณะต่าง ๆ กับทั้งยังได้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับงานใต้ดินที่ เรียกว่า “เสรีไทย” ในประเทศอีกด้วย พอที่จะทราบเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ดี จึงได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าช่วยเขียนบันทึกเหตุการณ์เท่าที่ข้าพเจ้าทราบหรือที่ได้ผ่านพบมาด้วยตนเอง

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติมากที่คุณดิเรก ชัยนาม ขอร้องมาเช่นนี้ และก็มีความเห็นสอดคล้องด้วยเป็นอย่างยิ่ง บันทึกข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยในระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้จะเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังมาก ทั้งบัดนี้สงครามก็ได้เสร็จสิ้นมา นับเป็นเวลาได้เกือบ ๒๒ ปีแล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นในระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้ ถ้าไม่จัดบันทึกขึ้นไว้ คนรุ่นหลังก็อาจไม่ทราบ เพราะผู้ที่ทราบเรื่องดีและที่ได้ประสบเหตุการณ์มาด้วยตนเอง ก็มีอายุมากเข้าสู่เกณฑ์ชราด้วยกันแล้วแทบทั้งนั้นและที่ได้ล้มหายตายจากไปก็มีอยู่ไม่น้อย ยังจะมีเหลืออีกก็คงจะไม่กี่คนนัก ทั้งเรื่องต่าง ๆ ที่ในสมัยหนึ่ง คือเมื่อ ๒๐ ปีเศษมานี้ เคยถือว่าเป็นความลับ บัดนี้ก็ไม่ควรจะเป็นความลับอีกต่อไปแล้ว และนักการเมืองของเกือบทุกประเทศต่างก็ได้เปิดเผยความจริง และเหตุการณ์ในประเทศของตน เกี่ยวกับการดำเนินงานในระหว่างสงครามด้วยกันทั้งนั้น หากในประเทศไทยเราจะมีคนนำเรื่องเช่นนี้มาเผยแพร่บ้าง ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย เมื่อข้าพเจ้าคิดได้ดังนี้แล้วจึงได้ตอบสนองยินดีรับเขียนด้วยความเต็มใจ และก็ขอยึดหลักในการเขียนว่า จะเขียนจากความจริงและด้วยการวางตัวเป็นกลางจริง ๆ จากเหตุการณ์ที่ได้ผ่านพบมา

ความจริงบันทึกเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าจะเขียนเพิ่มเติมนี้ ก็คงมีเป็นส่วนน้อย เพราะในหนังสือที่คุณดิเรก ชัยนาม เขียนนั้น นับว่าละเอียดมากอยู่แล้ว และที่ข้าพเจ้าจะเขียนนี้ก็จะเขียนแต่เฉพาะเรื่องที่ข้าพเจ้าทราบโดยมีหลักฐาน หรือที่ได้ผ่านพบมากับตนเองทั้งสิ้น เรื่องใดที่ข้าพเจ้าไม่ทราบ ข้าพเจ้าก็จะของดไม่กล่าวถึง เพื่อให้เรื่องที่ข้าพเจ้าเขียนนี้มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์

ในขณะที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลเข้าบุกประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ นั้น ข้าพเจ้ารับราชการในตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ข้าพเจ้าต้องเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีทุกคราวที่มีการประชุม เพื่อเสนอเรื่องที่จะต้องประชุมและจดรายงานการประชุม โดยปกติในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอาทิตย์ละ ๓ วัน คือ วันจันทร์ วันพุธและวันศุกร์ เริ่มประชุมเวลาประมาณ ๙.๓๐ น. และเลิกประชุมประมาณเวลา ๑๒.๓๐ น. ถึง ๑๓.๐๐ น. บังเอิญค่ำวันหนึ่งตรงกับวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลาประมาณ ๒๐.๓๐ น. หรือ ๒๑.๐๐ น. ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากพลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลยเดชรัส ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีว่า ให้ข้าพเจ้าติดต่อเชิญรัฐมนตรีทุกคนมาประชุมเป็นการด่วนที่ตึกประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งในครั้งกระนั้นตึกประชุมคณะรัฐมนตรี อยู่ตรงกันข้ามกับวังสวนกุหลาย ข้าพเจ้าได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับรัฐมนตรีทางโทรศัพท์ แต่เนื่องจากเป็นเวลาค่ำคืน การติดต่อจึงลำบาก รัฐมนตรีบางคนก็ไม่อยู่ในบ้าน บางคนก็ไปต่างจังหวัด กว่าจะตามตัวได้มาเกือบครบก็เกือบเที่ยงคืน แต่กระนั้นก็ยังขาดไปหลายคน เช่น พลเรือเอกสินธ์ุ กมลนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นแม่ทัพเรือด้วยในขณะเดียวกัน ถูกทหารญี่ปุ่นกักตัวไว้ที่คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ข้าพเจ้าได้ไปถึงห้องประชุม และไปคอยการประชุมอยู่ตั้งแต่เวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น. และในตอนนั้นบรรดารัฐมนตรีทั้งหลายต่างได้ทยอยกันเข้ามายังห้องประชุม ตามที่ได้มีโทรศัพท์เชิญไป ระหว่างรอการมาของรัฐมนตรีนั้นก็ได้รับข่าวทางโทรเลขข้าง ทางวิทยุบ้าง ทางโทรศัพท์บ้าง ว่ากองทหารญี่ปุ่นได้ยกพลบุกเข้ามาในดินแดนไทยตามจุดต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ และในทุก ๆ จุดที่กองทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามานั้น ได้ปะทะกับหน่วยทหารไทยบ้าง ตำรวจไทยบ้าง และกับยุวชนไทยบ้าง

ในราว ๑.๐๐ น. ของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ก็ได้เริ่มเปิดประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีพลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลยเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานของที่ประชุม เพราะจอมพล ป. พิบูล สงครามนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ ทราบว่าไปราชการต่างจังหวัด (ทราบต่อมาภายหลังว่าไปตรวจดูแนวป้องกันทางทหารที่จังหวัดพระตะบอง เพราะได้ทราบระแคะระคายมาก่อนแล้วว่าญี่ปุ่นอาจบุกประเทศไทยได้) เมื่อเปิดประชุมแล้ว พลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลยเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่านายกรัฐมนตรียังไม่กลับจากตรวจราชการ แต่ได้โทรเลขขอร้องให้รีบกลับโดยด่วนแล้ว เรื่องที่รองนายก ฯ แจ้งให้ที่ประชุมทราบ มีว่า ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นอันมีเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ทูตทหาร พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ของเขา ได้นำบันทึกมายื่นต่อรัฐบาลขอเดินทัพผ่านประเทศไทยเพื่อไปโจมตีอังกฤษทางแหลมมลายู และเขาได้แจ้งให้ทราบว่าประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว กองทัพญี่ปุ่นจะเข้าโจมตีพร้อม ๆ กัน ขออย่าให้ไทยขัดขวาง โดยเขารับรองว่าเขาจะไม่ทำลายอธิปไตยของไทยเลยเป็นอันขาด นอกจากที่เขาจะขอยกกำลังผ่านกรุงเทพฯ และเมืองบางเมืองของประเทศไทยที่จำเป็นในทางทหารเท่านั้น และเขาขอให้เราตอบมาให้เขาทราบภายในเวลา ๒.๐๐ น. วันนี้

ในระหว่างการประชุมนี้ ก็ได้มีรายงานเข้ามาเรื่อย ๆ ว่ากองทหารญี่ปุ่นได้ปะทะกับทหารและตำรวจไทยแล้วหลายแห่ง บางแห่งการรบได้เข้าขีดรุนแรงถึงขั้นตะลุมบอน บางแห่งเด็กนักเรียนยุวชน ทหารก็เข้าช่วยสู้รบกับกองทหารญี่ปุ่นอันเป็นการแสดงความกล้าหาญ และความรักชาติในทางวีรกรรมอันน่าสรรเสริญยิ่ง

ครั้นเมื่อใกล้เวลา ๒.๐๐ น. นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่กลับ คณะรัฐมนตรีจะตัดสินอะไรลงไปก็ยังไม่ถูก เพราะไม่ทราบนโยบายว่านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้วางแผนการต่อต้านไว้อย่างไรประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งเราได้มีพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง เรียกว่าพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้เพิ่งประกาศออกใช้เมื่อก่อนญี่ปุ่นบุกประเทศไทยไม่นานนัก พระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการและสาระสำคัญว่าให้คนไทยต่อสู้ผู้รุกรานจนสุดความสามารถ หรือจะกล่าวว่าสู้จนคนไทยคนสุดท้ายก็ได้ หากเห็นว่าสู้ไม่ได้ ก็ให้เผาบ้านเผาเสบียงอาหาร เผาทุกสิ่งทุกอย่างเสียให้หมด อย่าให้เหลือไว้เป็นประโยชน์แก่ผู้รุกรานเลย คณะรัฐมนตรีจึงส่งผู้แทนไปพบกับผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่นแจ้งให้เขาทราบว่านายกรัฐมนตรียังไม่กลับ ขอให้เขายับยั้งการเคลื่อนกำลังทหารของเขาเข้าประเทศไทยก่อน เพื่อป้องกันมิให้มีการสู้รบกัน ฝ่ายญี่ปุ่นก็บอกว่าเขาจะยับยั้งได้อย่างไร เพราะการติดต่อก็กระทำได้ไม่สะดวกนักและทั้งทำได้ไม่รวดเร็วนักด้วย คือเขาต้องโทรเลขแจ้งไปที่ไซ่ง่อนและกว่าทางกองบัญชาการกองทัพของเขาที่ไซ่ง่อนจะติดต่อไปยังแนวรบได้ทั่วถึงก็กินเวลานาน เขาจึงยืนยันขอร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งการแทนไปยังทหารไทยให้หยุดทำการต่อสู้จะได้หรือไม่ ทางเราก็บอกเขาไปว่าเราจะสั่งการเช่นนั้นไม่ได้ เพราะในขณะนี้การบังคับบัญชาทหารและสั่งการใด ๆในทางทหารขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่เพียงคนเดียว ได้มีการเจรจากัน โต้ตอบกันโดยใช้เล่ห์เหลี่ยมในทางการทูต และชิงไหวชิงพริบตลอดเวลา รวมทั้งเอาหลักกฎหมายเป็นข้ออ้างด้วยเพื่อประวิงเวลาให้นายกรัฐมนตรีกลับเสียก่อน ผู้แทนฝ่ายไทย ก็มี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (ในขณะนั้นยังดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ) นายปรีดี พนมยงค์ และ นายดิเรก ชัยนาม เป็นผู้ไปเจรจาทางฝ่ายญี่ปุ่น ก็บอกว่า เขาก็ทราบอยู่เหมือนกันว่ามีกฎหมายกำหนดหน้าที่ไว้เช่นนั้น ว่าในขณะนี้มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจสั่งการอะไรได้ทุกอย่าง แต่เขาไม่อยากยอมรับทราบในสถานการณ์เช่นนี้ จึงใคร่ที่จะขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้สั่งการแทนจะได้หรือไม่ ทางผู้แทนของเราที่ไปเจรจาก็บอกว่า ขอให้เขารออีกสักหน่อยเถอะ เพราะเราได้พยายามทุกวิถีทางแล้วที่จะติดต่อกับนายกรัฐมนตรีให้เดินทางกลับโดยด่วน จึงขอให้เขาเห็นใจ ยับยั้งการเคลื่อนทัพของเขาไว้ก่อน

ความจริงแม้การเจรจาระหว่างผู้แทนไทยกับผู้แทนญี่ปุ่นจะยังคงดำเนินอยู่ก็ตาม แต่การรบระหว่างหน่วยทหารและตำรวจไทยกับกองทหารญี่ปุ่นก็ดำเนินไปอย่างรุนแรงในทุกจุดที่ญี่ปุ่นบุกเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ท่าแพ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่จังหวัดสงขลา ที่จังหวัดปัตตานี และที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการบาดเจ็บล้มตายกันมากทั้งสองฝ่าย

เวลาประมาณ ๖.๕๐ น. ของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็เดินทางกลับมาถึงพระนคร เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พอนายกรัฐมนตรีได้นั่งที่เรียบร้อยแล้ว พลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลยเดชจรัส ก็รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนตลอดโดยได้เท้าความไปถึงว่า เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น พร้อมด้วยทูตทหารและเจ้าหน้าที่ประจำสถานเอกอัครราชทูตได้มาขอพบ เพื่อยื่นข้อเสนอบางประการ รองนายกจึงได้แจ้งให้ฝ่ายญี่ปุ่นทราบว่า การขอพบเพื่อยื่นคำขาดเช่นนี้ยังไม่ถูกต้องตามระเบียบและวิถีทาง ขอให้เขาไปพบกับนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตามระเบียบ ในที่สุดเขาก็ไปพบและได้ยื่นบันทึกข้อเสนอ มีสาระสำคัญว่า วันนี้ (เขาหมายถึงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ จะเป็นวันเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้ายของรัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่ทราบ เพราะว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว เพราะญี่ปุ่นพยายามที่จะรักษาสันติภาพแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล คำแถลงการณ์ของโตโจในสภาพิเศษมีอยู่ ๓ ข้อคือ

(๑) ปิดทางช่วยรัฐบาลจุงกิง (จุงกิงนั้นเป็นเมืองหลวงชั่วคราวของประเทศจีนในระหว่างที่ประเทศจีนทำสงครามกับประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างนั้นประธานาธิบดีจอมพลจางไกเจ๊ก ยังเป็นประมุขของประเทศจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่อยู่)

(๒) ไม่ให้ช่วยทางเศรษฐกิจโดยวงล้อม A.B.C.D. (คำว่า A หมายถึงสหรัฐอเมริกา B หมายถึงบริติช คืออังกฤษ C หมายถึงไชน่า คือจีน และ D นั้นหมายถึง ดัทช์คือเนเธอร์แลนด์หรือฮอลแลนด์) และ

(๓) รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามที่จะทำทุกทางแล้วด้วยสันติวิธีในการเจรจาที่กรุงวอชิงตัน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงจำเป็นต้องกระทำสงครามกัน และนอกจากนั้น ถ้าจะมองดูสงครามทางด้านยุโรปแล้ว จะเห็นได้ว่าสงครามได้ใกล้เข้ามาจะถึงอิรักและอิหร่านอยู่แล้วน่ากลัวว่าอาจลุกลามมาถึงประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นพวกเราชาวเอเซียจะต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้เอเซียเป็นของคนเอเซีย บัดนี้ประเทศญี่ปุ่นได้เตรียมสู้รบกับข้าศึกของเราแล้ว ไม่ใช่จะมาต่อสู้กับคนไทยเลย ถึงหากจะมีการต่อสู้กันและกองทัพญี่ปุ่นได้ผ่านประเทศไทยไปแล้ว ญี่ปุ่นก็จะไม่ถือว่าไทยเป็นข้าศึก แต่ถ้าหากว่าไทยจะร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับญี่ปุ่นแล้ว คำที่ว่าเอเซียเป็นของคนเอเซียก็จะเป็นอันสำเร็จผลแน่ และประเทศไทยอันเป็นประเทศเอกราชอยู่แล้วนั้นก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นขอจากไทยก็คือ ขอให้กองทัพของญี่ปุ่นผ่านผืนแผ่นดินไทยไปเท่านั้น ทั้งนี้ก็ด้วยความจำเป็นทาง ยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นจึงใคร่ขอความสะดวกโดยขออย่าให้กองทัพทั้งสองต้องมารบกันเองเลย เพราะญี่ปุ่นจะไม่ถือว่าไทยเป็นศัตรู จึงหวังว่าไทยจะมีความสามัคคีร่วมมือกับญี่ปุ่นในความจำเป็นครั้งนี้ กับขอให้จัดกำลังตำรวจระวังรักษาชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยโดยทั่วไปด้วย

พลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลยเดชจรัส ได้แถลงเพิ่มเติมว่า ได้รับทราบมาด้วยว่า ญี่ปุ่นได้ส่งกองเรือรบมาเป็น ๓ กระบวนด้วยกัน กระบวนหนึ่งบ่ายโฉมหน้าตรงไปยังจังหวัดสงขลา ในกระบวนนี้มีเรือรบรวมด้วยกันทั้งสิ้นประมาณ ๑๕ ลำ อีกกระบวนหนึ่งมุ่งตรงไปทางทิศตะวันออกบริเวณเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎรธานี และอีกกระบวนหนึ่ง มุ่งตรงมาทางจังหวัดสมุทรปราการ คือที่ปากน้ำ สำหรับที่จังหวัดสงขลา กับที่จังหวัดปัตตานีนั้น ได้ข่าวว่าญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกและได้ทำการสู้รบกับทหารและตำรวจไทย และที่รบกันอย่างดุเดือดและรุนแรงนั้นก็มีที่แม่น้ำน้อย จังหวัดสงขลา ตำรวจและทหารไทยได้รวมกำลังกันทำการต่อต้านอย่างเข้มแข็ง ส่วนที่จังหวัดปัตตานีก็กำลังรบกันอย่างรุนแรงในตัวเมือง ได้มีหน่วยยุวชนไทยเข้าสมทบกับกำลังตำรวจด้วย โดยเข้ายึดสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานีไว้ และมีการรบกันรุนแรงมาก ส่วนเหตุการณ์ภายนอกประเทศนั้น ได้ทราบว่าญี่ปุ่นได้โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ กับเกาะต่าง ๆ อีกหลายแห่ง ได้ทิ้งระเบิดคลังน้ำมัน สายโทรเลขและโทรศัพท์ได้ถูกตัดขาดหมด ใช้การไม่ได้ เพื่อตัดกำลังและการติดต่อของกองทัพเรืออเมริกัน และพร้อมกันนั้น ญี่ปุ่นก็ได้เข้าโจมตีประเทศฟิลิปปินส์ด้วย ส่วนทางด้านอังกฤษ ได้ทราบว่าทหารญี่ปุ่นได้เข้าโจมตีเมืองโกตาบารู และได้ยกพลขึ้นบกสำเร็จที่เมืองกลันตันใกล้กับเขตแดนไทยประมาณ ๑๕ ไมล์ ส่วนทางเมืองสิงคโปร์ ญี่ปุ่นก็ใช้เครื่องบินเข้าโจมตีด้วย แปลว่าญี่ปุ่นได้เปิดฉากโจมตีทุกแห่งไปหมด ทุก ๆ ชาติช่วยเหลือกันไม่ได้ ต่างจึงต้องช่วยตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ฟังรายงานจบลง กับได้รับข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรบระหว่างหน่วยทหารญี่ปุ่นกับทหารและตำรวจไทยแล้ว ก็ได้ขอความเห็นจากที่ประชุมว่าเราจะตัดสินใจกันอย่างไรต่อไปเพราะในระหว่างที่เราพูดกันอยู่นี้ ญี่ปุ่นกับไทยกำลังรบกันอยู่ตามจุดต่าง ๆ หลายแห่ง เรายังจะให้รบกันต่อไปหรือจะให้หยุดยิ่ง เพราะทุก ๆ นาที คนไทยจะต้องตาย นี่กองทหารของเราที่ปัตตานีก็ละลายไปหนึ่งกองพันแล้ว

พล ต.อ. อดุลย์ อดุลยเดชจรัส ได้แสดงความเห็นว่า เรื่องนี้เราจะต้องพิจารณากันให้รอบคอบทุกแง่ทุกมุม เราจะหวังพึ่งใครในเวลานี้ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะอังกฤษเองเขาก็ต้องช่วยตัวของเขาเอง เขาไม่สามารถจะมาช่วยเราได้ ส่วนทางอเมริกาเล่าก็คงเช่นเดียวกัน คือเขาจะส่งทหารหรือแม้แต่อาวุธมาช่วยเราก็ไม่ได้ เพราะเขาเองก็ถูกโจมตีแทบทุกแห่ง แม้ที่เกาะฟิลิปปินส์ก็กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก แปลว่าทั้งอังกฤษและอเมริกาต่างก็มาช่วยไทยไม่ได้ อังกฤษจะช่วยอเมริกาก็ไม่ได้ และอเมริกาจะช่วยอังกฤษก็ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน เราจึงต้องพึ่งตัวเอง เวลานี้ญี่ปุ่นกำลังรอฟังคำตอบจากเรา ว่าจะตกลงใจอย่างไร เราจะควรผ่อนผันให้เขาเพียงใดหรือไม่ เพราะเมื่อเขาไม่กลัวอเมริกาและเขาก็ไม่กลัวอังกฤษ ซึ่งต่างก็เป็นมหาประเทศเช่นนี้แล้ว เขาจะมากลัวเราทำไม จริงอยู่เรามีทหาร แต่การรบนั้นหมายความว่าเราต้องรบตามลำพังตัวคนเดียว และตามกำลังความสามารถของกองทัพไทย และเมื่อได้คะเนถึงกำลังระหว่างญี่ปุ่นกับไทย อีกทั้งเราอาจถูกปิดเส้นทางคมนาคมทางทะเลคือ Blockade แล้วใครจะมาช่วยเราได้ และถ้าเรารบแพ้เขาแล้วก็เท่ากับเราจะต้องเป็นขี้ข้าคือเป็นเมืองขึ้นของเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ เว้นแต่เราจะคิดสู้รบโดยหนีออกไปตั้งรัฐบาลอยู่นอกประเทศ แต่เท่าที่ได้ปรากฏมาในยุโรปหลายประเทศด้วยกันนั้น รัฐบาลที่อยู่นอกประเทศมีเสียงไม่ดังพอ และถ้าหากเราจะสู้ต่อไปโดยไปตั้งรัฐบาลอยู่นอกประเทศแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรเลยที่ประเทศไทยจะต้องถูกยึดครองและอยู่ในความควบคุมของเขา แม้เขาจะให้คนไทยเป็นรัฐบาลปกครองบ้านเมืองต่อไปก็ตาม แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้อาณัติและคำบงการของเขา เมื่อได้พิจารณาโดยรอบคอบทุกแง่ทุกมุมแล้วขอให้ความเห็นว่า ญี่ปุ่นเขาก็ไม่ได้ขอร้องให้เราประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา และเราเองก็ไม่พยายามที่จะประกาศสงครามกับเขาด้วย ฉะนั้นอังกฤษกับอเมริกาก็น่าจะเห็นใจเราซึ่งเป็นประเทศเล็ก เพราะเขาเองก็ช่วยอะไรเราไม่ได้ แม้แต่จะส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ให้เราก็ยังไม่ได้ และการที่เราขอผัดเวลาสำหรับการตกลงใจจากนายกรัฐมนตรีนี้ ทหารไทยก็ได้ต่อสู้ทำหน้าที่ป้องกันการรุกรานแล้ว ซึ่งแปลว่าเราได้ต่อสู้ ไม่ใช่ว่ายอมแพ้โดยไม่สู้รบตบมือกับญี่ปุ่นเสียเลย เช่นที่ปัตตานีกับที่สงขลาเราก็ได้ทำการต่อสู้กันอย่างทรหด และยังมีการรบกันที่อื่นอีกหลายแห่ง ซึ่งยังไม่ได้รับรายงาน ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นพยานได้เป็นอย่างดี เราได้ทำหน้าที่รักษาความเป็นกลางของเราแล้ว คราวนี้การที่เราจะตกลงใจต่อไปนั้น ก็ควรเป็นไปในลักษณะผ่อนหนักให้เป็นเบา คือควรจะยอมผ่อนผันตามคำร้องของเขา แต่เราจะไม่ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา การผ่อนผันตามที่เขาขอเพียงแค่นี้ ก็ยังไม่ควรเรียกว่าร่วมมือกับญี่ปุ่นทีเดียว เพราะในข้อเสนอของเขาก็ไม่มีว่าเราจะต้องให้ความร่วมมือทางทหารกับเขาแต่อย่างไร จริงอยู่ แม้การผ่อนผันให้แก่ญี่ปุ่นเช่นนี้ ความเป็นเอกราชของเราจะลดลงไป แต่การลดลงเพียงแค่นี้ยังดีกว่าที่จะต้องเป็นขี้ข้าเขาร้อยเปอร์เซ็นต์จนถึงกับเป็นเมืองขึ้นของเขา และถ้าหากญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำคือไปแพ้อังกฤษและอเมริกาเข้า อังกฤษกับอเมริกาก็น่าจะเห็นใจเราในฐานะที่เป็นประเทศเล็ก และเราก็ได้ทำการป้องกันต่อสู้การรุกรานของญี่ปุ่นตามหน้าที่แล้ว

สังเกตเห็นว่า รัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องกับข้อเสนอของ พล ต.อ. อดุลย์ อดุลยเดชจรัส และเมื่อได้มีการอภิปรายกันเป็นเวลาพอสมควรแล้ว นายกรัฐมนตรีก็ได้ตัดสินใจสั่งให้หยุดยิงและระงับการต่อสู้ ยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านได้เมื่อเวลา ๗.๓๐ น. ของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เพราะเห็นว่า ถ้าขืนสู้รบกับกองทหารญี่ปุ่นต่อไป ก็เท่ากับฆ่าตัวตายเปล่าๆ ส่วนที่จะตกลงกันได้แค่ไหนหรืออย่างไรนั้น ขอให้รอฟังผลการเจรจากันทางการทูตต่อไป นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ความจริงเจตนาของญี่ปุ่นนั้น เท่าที่ได้เคยติดต่อกันมานานแล้ว ญี่ปุ่นขอให้ฝ่ายเราพิจารณาให้ดีว่า

(๑) เราจะเข้าเป็นพันธมิตรกับเขาหรือไม่

(๒) ถ้าเราไม่เข้ากับเขา เราก็ต้องรบกับเขา หรือ

(๓) ให้เราทำเฉยๆเสียโดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เวลาเขายกทหารผ่านประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้เคยนำเอามาพูดกันในคณะรัฐมนตรีครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้พิจารณากันจริงจังอะไรลงไป เพราะไม่นึกว่าเรื่องจะเกิดขึ้นเร็วถึงเพียงนี้ จู่ ๆ โตโจก็เดินพรวด ๆ เข้ามา

เมื่อได้ตกลงกันที่จะให้หยุดยิงแล้ว นายกรัฐมนตรี กับนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ออกจากที่ประชุมเพื่อไปพบกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นกับคณะของเขา ซึ่งนั่งรอคอยฟังคำตอบจากรัฐบาลอยู่ ได้มีการเจรจากันอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็กลับเข้าสู่ห้องประชุม และได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอมาเพื่อให้ฝ่ายไทยเลือกเอาว่าจะตกลงรับข้อเสนอข้อใด คือ

(๑) จะให้ประเทศไทยเข้าเป็นไตรภาคี ตามกติกาสัญญาไตรภาคีฉบับลงวันที่ ๒๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ซึ่งได้มีการลงนามกันระหว่างผู้นำของประเทศเยอรมันนี ประเทศอิตาลี และประเทศญี่ปุ่น ดังที่เราเรียกกันว่า “อักษะประเทศ” หรือ

(๒) ประเทศไทยจะให้ความร่วมมือทางทหารกับประเทศญี่ปุ่น โดยอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย และอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นทุกประการในการที่กองทัพญี่ปุ่นจะเดินทัพผ่านไปนั้น กับทั้งจะได้จัดการโดยทันทีเพื่อป้องกันการปะทะอันอาจเกิดมีขึ้น ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารไทย หรือ

(๓) ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นทำสัญญาพันธไมตรีทางทหารร่วมรบร่วมรุกและร่วมการป้องกันร่วมกัน

ทั้งนี้ญี่ปุ่นจะให้หลักประกันว่า เอกราช อธิปไตย และเกียรติยศของประเทศไทย จะได้รับความเคารพนับถือ และเขาจะร่วมมือกับประเทศไทยในการที่จะเอาดินแดนซึ่งประเทศไทยได้เสียไปคืนมา จึงขอให้ที่ประชุมพิจารณากันดูว่า เราจะเลือกเอาอย่างไหน แต่ก่อนอื่นนั้น ขอเสนอให้มีการหยุดยิงกันเสียก่อน หากอย่างไรเราจะรบกันอีกก็เอา หรือจะร่วมมือกับเขาก็เอา คือเอาทั้งนั้น ขอให้พิจารณาดูให้ดีก็แล้วกัน

นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวว่า ตามรูปที่ญี่ปุ่นเสนอมานี้ เขาไม่ยอมให้เราทำตามแบบที่ พล ต.อ. อดุลย์ อดุลยเดชจรัส เสนอใช่ไหม เพราะตามข้อเสนอของเขานั้น ดูคล้ายเป็นทำนองว่า ถ้าหากเราไม่รบกับเขา ก็ต้องยอมเป็นพวกเดียวกับเขา เช่นนี้ใช่หรือไม่ ได้มีการอภิปรายถกเถียงกันในข้อเสนอของฝ่ายญี่ปุ่นอยู่นาน จนในที่สุดเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นว่า บรรดารัฐมนตรีในคณะมีความลังเลใจไม่รู้ว่าจะ ตัดสินใจอย่างไรถูกแล้ว ก็ได้พูดขึ้นมาว่า เรื่องมีอยู่ว่าเราจะรบเขาหรือไม่รบเท่านั้นเอง รัฐมนตรีทุกคนต่างมีความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจอยู่ในลักษณะเข้าตาจนด้วยกันทั้งนั้น ใจหนึ่งก็อยากรบ เพราะความแค้นเคืองที่เห็นญี่ปุ่นมาข่มเหงล่วงละเมิดอธิปไตยของเรา แต่อีกใจหนึ่งก็ทราบดีว่า หากเรารบกับญี่ปุ่นก็เท่ากับฆ่าตัวตายเท่านั้นเอง เพราะไม่มีทางสู้ได้เลย ในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ให้ความเห็นว่า เมื่อเราสั่งให้หยุดยิิงและวินิจฉัยไปในทางที่เราจะไม่รบกับญี่ปุ่นแล้ว เราก็ควรจะตกลงกับเขาด้วยว่า เราจะไม่รบกับอีกฝ่ายหนึ่ง คือจะไม่รบอังกฤษและอเมริกาด้วย และควรจะเอาแบบประเทศเดนมาร์คให้แต่ทางผ่านไปเท่านั้น แต่เราจะไม่ช่วยอะไรหมด เพราะตามข้อเสนอของญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องการร่วมมือทางทหารทั้งนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ให้เดินทัพผ่านอย่างเดียว จึงเห็นว่า เราควรร่างข้อตกลงของเราเองมาดูกันเสียใหม่ ให้เป็นไปในรูปให้แต่ทางผ่านอย่างเดียว

เมื่อได้ถกเถียงกันจนเป็นที่พอใจแล้ว รู้สึกว่ารัฐมนตรีส่วนมากเห็นควรมอบเรื่องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัย เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นทั้งหัวหน้ารัฐบาลและเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ย่อมทราบสถานการณ์ทั่วไปได้ดี ทั้งในแง่การทหารและการเมืองว่าควรจะตกลงใจอย่างไรจึงจะเป็นการเหมาะสม รัฐมนตรีส่วนมากก็ได้ออกความคิดเห็นไปในทางที่ไม่ประสงค์จะร่วมมือกับญี่ปุ่นและไม่ต้องการจะสู้รบกับญี่ปุ่นอีกต่อไปแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงได้กล่าวขึ้นว่า ความจริงเราก็ได้ต่อสู้เพื่อความเป็นกลางของเราแล้ว อังกฤษและอเมริกาคงจะว่าเราไม่ได้และคงเห็นใจเราบ้าง ในที่สุดเมื่อเวลา ๗.๓๐ น. ของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งให้หยุดยิงและได้มอบให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ นายดิเรก ชัยนามกับ นายวนิช ปานะนนท์ เป็นผู้แทนไปเจรจากับญี่ปุ่น ครั้นเวลาประมาณ ๑๐.๑๐ น. คณะผู้แทนที่ไปเจรจาก็กลับเข้าสู่ที่ประชุม และแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ฝ่ายญี่ปุ่นยอมตกลงและเขาได้กล่าวว่า เมื่อเราได้ตกลงกันเช่นนี้แล้ว เรายังจะต้องมีการตกลงกันในทางเศรษฐกิจกับการคลังอีก แต่ไม่ต้องใส่ไว้ในข้อตกลงที่จะเซ็นกันในเรื่องการทหารดอก เขาจะได้ขอเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเอง นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้กล่าวขึ้นว่า เรื่องเอกราชและอธิปไตยของเรานั้นญี่ปุ่นจะต้องเคารพอย่างเคร่งครัดและที่เราได้ตกลงกับเขานี้ ก็เฉพาะเรื่องทหารอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน จะมาเอาเรื่องอื่น เช่นเรื่องการเศรษฐกิจและการคลังมาพัวพันด้วยไม่ได้ ขอให้ทำความเข้าใจกับญี่ปุ่นตามนี้ให้เป็นที่แจ่มแจ้งด้วย ที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับข้อท้วงติงของนายปรีดี พนมยงค์ จึงได้มอบให้คณะผู้แทนชุดเดิมไปทำความเข้าใจับฝ่ายญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง โดยมีหลักการในการเจรจาอยู่ ๔ ข้อว่า

(๑) การที่ยอมให้ฝ่ายญี่ปุ่นนำทหารเดินผ่านดินแดนของประเทศไทยนี้ ต้องไม่ปลดอาวุธทหารไทย

(๒) เรื่องกองทัพญี่ปุ่นขอผ่านนั้น จะเพียงแต่ผ่านเท่านั้น จะไม่พักอยู่ที่กรุงเทพ ฯ

(๓) ข้อตกลงที่จะตกลงกันนี้ ให้มีขีดจำกัดเฉพาะในเรื่องการทหารเท่านั้น และ

(๔) ข้อตกลงนี้เป็นอันเด็ดขาด จะไม่มีขออะไรเพิ่มเติมเข้ามาภายหลังอีก

เมื่อได้ตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลก็ได้ออกคำแถลงการณ์ และเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมวิสามัญสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เวลา ๑๑.๕๕ น. ก็ได้เลิกการประชุม ซึ่งได้ประชุมกันมาตลอดทั้งคืน

ที่ข้าพเจ้าได้เขียนมาค่อนข้างจะยืดยาวสักหน่อยนี้ ก็เพราะเห็นว่า ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ นั้น เป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งทางประวัติศาสตร์ และเป็นวันที่ประเทศไทยและคนไทยต้องเศร้าโศกเสียใจ เป็นวันที่เอกราชและอธิปไตยของชาติไทยต้องเศร้าหมอง และถูกกระทบกระเทือน ข้าพเจ้าได้นั่งอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่เลขาธิการตั้งแต่ต้นจนจบ คือ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๒๑.๓๐น. ของวันที่ ๗ ธันวาคม ถึงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลา ๑๑.๕๕ น. รัฐมนตรีทุกคน รวมทั้งตัวข้าพเจ้าได้กลับบ้านด้วยความรันทดใจเป็นอย่างยิ่ง ชนิดที่เกิดมาในชีวิตไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนี้มาก่อนเลย

ครั้นต่อมา จะเป็นวันที่เท่าใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่เข้าใจว่าระหว่างวันที่ ๑๐ ถึง ๑๒ ธันวาคม หรือไงนี่แหละ แต่ที่แน่ใจนั้นก็ภายหลังที่รัฐบาลได้เซ็นสัญญายอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยได้ไม่กี่วัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เริ่มเจรจาขอกู้เงินจากไทยเป็นงวดแรก เพื่อใช้จ่ายในกิจการของทหารญี่ปุ่น นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การที่จะให้รัฐบาลญี่ปุ่นกู้เงินไปเพื่อใช้จ่ายในกิจการทหารของเขานั้นเข้าใจว่า คงจะไม่กู้แต่เพียงจำนวนเท่านี้ แต่จะต้องขอกู้มาอีกเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ตามความจำเป็นในทางทหารของเขา หากเราให้กู้ก็จะต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีธนบัตรหมุนเวียนในท้องตลาดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเป็นผลเสียทางเศรษฐกิจ คือ จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ {Inflation) จึงเห็นควรให้ทหารญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรของเขาขึ้นใช้เองในกองทัพของเขา เรียกว่า Invasion notes จะดีกว่า ทั้งนี้ เพื่อว่าเมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้ว เราจะได้ประกาศยกเลิกธนบัตรเหล่านี้เสีย หากทำได้เช่นนี้เมื่อเสร็จสิ้นสงครามแล้ว การเงินและการเศรษฐกิจของประเทศก็จะได้ไม่ถูกกระทบกระเทือน และจะไม่เกิดเงินเฟ้อขึ้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแย้งว่า การที่จะปฏิบัติตามความเห็นและตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันมิให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นได้ก็ตาม แต่ก็เท่ากับเป็นการแสดงว่า เราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้ว จึงไม่เห็นด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้แถลงค้านว่า การที่เรายอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองและทำอะไรได้ต่าง ๆ น่ะไม่ได้แปลว่า เราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้วดอกหรือ ในเรื่องนี้รู้สึกว่า ได้มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็คงยืนยันในความเห็นที่จะให้กองทัพญี่ปุ่นยืมเป็นเงินบาท โดยพิมพ์ธนบัตรออกใช้เพิ่มเติมให้มากขึ้นตามความจำเป็น และต่อมาอีกไม่กี่วันก็ได้มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี ใหม่ นายปรีดี พนมยงค์ ได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งยังว่างอยู่อีกตำแหน่งแทน และในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ ยังมีรัฐมนตรีอีกสองสามคนได้พ้นจากตำแหน่งไปด้วย เท่าที่จำได้ก็มี นายดิเรก ชัยนาม พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ถูกส่งไปเป็นอัครราชทูตประจำกรุงโตเกียวในภายหลัง) กับนาย วิลาส โอสถานนท์ เป็นอันว่าเราต้องพิมพ์ธนบัตรให้กองทัพญี่ปุ่นกู้ไปใช้อยู่เรื่อย ๆ โดยมีทองคำส่วนหนึ่งผูกหูไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นหลักประกัน กับมีเงินเยนเป็นส่วนมากเป็นหลักประกันในตอนหลัง และยิ่งกว่านั้น รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินเยน โดยเพิ่มค่าของเงินเยนให้สูงขึ้น ให้เป็น ๑ เยนเท่ากับ ๑ บาท ซึ่งแต่ก่อนนี้ อัตราแลกเปลี่ยน ๑.๕๐ เยน เท่ากับ ๑ บาท ทั้งนี้คงเนื่องมาจากการกู้ยืม เพราะญี่ปุ่นประสงค์จะใช้เงินคืนเราเป็นเงินเยนจำนวนน้อยลงนั่นเอง

ในระยะเริ่มแรกของสงครามนั้น กองทัพญี่ปุ่นได้ทำการรบมีชัยในทุกสมรภูมิ ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ และในเดือนมกราคม ๒๔๘๕ (ประมาณวันที่ ๒๓ หรือ ๒๔ มกราคม ๒๔๘๕) เรือรบอันทรงอานุภาพยิ่งและใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ๒ ลำ คือ เรือ พริ้นซ์ ออฟ เวลส์ (Prince of Wales) กับเรือ รีพัลส์ (Repulse) ซึ่งทางราชการทหารเรืออังกฤษได้อวดนักอวดหนาว่าเป็นเรือรบที่มีเกราะหุ้มเรือหนาสามารถทนต่อการโจมตีของข้าศึกได้ จนถึงกับมีชื่อเรียกกันว่า “เรือรบที่ไม่จม” กองทัพเรือกับกองทัพอากาศเยอรมันได้พยายามจมเรือรบทั้งสองนี้ในการรบทางทะเลที่ยุโรปเป็นเวลาช้านาน แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่าเป็นผลสำเร็จ ครั้นได้เกิดสงครามในเอเซียบูรพาขึ้น อังกฤษก็ได้ส่งเรือรบทั้งสองนี้ มาปฏิบัติการป้องกันรักษามลายูและสิงคโปร์ พร้อมกับหน่วยเรือรบอื่น ๆ แต่ก็ถูกกองทัพเรือและกองทัพอากาศของญี่ปุ่นโจมตีเรือทั้งสองนี้จมลงได้ทั้ง ๒ ลำ นอกฝั่งมลายูในชั่วระยะเวลาอันรวดเร็วในวันเดียวกัน ทำให้โลกตกตะลึงและงงงันกันไปหมด ส่วนการรบทางบกนั้นเล่ากองทหารญี่ปุ่นก็รุกคืบหน้าเข้ามลายูอย่างรวดเร็ว กองทัพอังกฤษไม่สามารถต่อต้านกำลังกองทัพญี่ปุ่นได้ เกาะฮ่องกงก็ยอมแพ้ไปแล้ว ทางสิงคโปร์ก็ได้รับการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินญี่ปุ่นอย่างหนัก ส่วนทางแนวรบด้านยุโรป กองทัพเยอรมันกรบรุกแบบสายฟ้าแลบ และมีชัยชนะต่อกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในเกือบทุกแนวรบ ฉะนั้น เมื่อเรือรบของอังกฤษ ๒ ลำ คือ เรือ Prince of Wales และ Repulse ถูกโจมตีจมลงโดยรวดเร็วและง่ายดายเช่นนี้ จึงทำให้นักการทหารและนักการเมืองบางคนของเราเสนอความคิดเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีว่า ไหน ๆ ประเทศไทยเราก็ได้หลวมตัวมาถึงเพียงนี้แล้ว และการรบก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่าฝ่ายอักษะประเทศจะต้องเป็นฝ่ายมีชัยในที่สุด หากเราร่วมมือกับญี่ปุ่นแต่เพียงครึ่งๆกลางๆ เช่นนี้ ต่อไปเมื่อฝ่ายอักษะเป็นผู้ชนะสงคราม ไทยเราก็จะไม่ได้อะไร จึงควรเข้าข้างญี่ปุ่นให้เต็มที่ โดยประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาเสียเลย เรายังจะได้ชื่อว่า เป็นฝ่ายชนะและได้ส่วนแบ่งอะไรกับเขาบ้าง

ในความรู้สึกของข้าพเจ้านั้นเนื่องจากเรือรบของอังกฤษ ๒ ลำ ที่ถูกฝ่ายญี่ปุ่นทำลายจมลงในวันเดียวกันนี่เอง จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือหลวงวิจิตรวาทการ เสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เห็นควรให้ประเทศไทยประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและอเมริกา ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย และได้ตกลงให้ถือเอาเวลาเที่ยงตรง (คือ ๑๒.๐๐ น.) ของ วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นวันประกาศสงคราม และเมื่อได้ร่างประกาศเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แล้วจึงส่งไปให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามเพื่อประกาศต่อไป

ตามระเบียบนั้น จะเป็นพระราชบัญญัติก็ตาม หรือพระบรมราชโองการใด ๆ ก็ตาม พระมหากษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธย หรือลงนามก่อน แล้วนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในภายหลัง แต่ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม มักจะลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก่อนเสมอ แล้วจึงเสนอให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามในภายหลัง การประกาศสงครามครั้งนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก่อนแล้ว จึงได้ส่งไปให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ (๑) พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์ เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (๒) พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน และ (๓) นายปรีดี พนมยงค์

ในวันประกาศสงครามนั้นตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ และเป็นวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นพิเศษด้วย เมื่อได้ตกลงในเรื่องการประกาศสงครามแล้ว ก็ได้กำหนดให้อ่านประกาศในเวลา ๑๒.๐๐ น. ตรง พอเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. เศษ ได้มีเจ้าหน้าที่มารายงานนายกรัฐมนตรีว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีอยู่ในกรุงเทพฯ เพียง ๒ คนเท่านั้น คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กับ พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ส่วนผู้สำเร็จราชการอีกคนหนึ่ง คือ นายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้อยู่ในพระนคร ทราบว่าไปต่างจังหวัด คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงลงพระนามและลงนามเพียง ๒ คนเท่านั้น จะรอให้ลงนามครบคณะทั้ง ๓ คน เกรงว่าจะประกาศให้ทันเที่ยงวันของวันนี้ไม่ได้ แต่ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้มีรับสั่งว่า ให้ประกาศชื่อของนายปรีดี พนมยงค์ลงไปก็แล้วกัน แม้จะไม่ได้ลงนามก็ตาม ท่านจะทรงรับผิดชอบเอง จึงเป็นอันว่าการประกาศสงครามในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ นั้น ความจริงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามในประกาศเพียง ๒ คน เท่านั้น แต่ได้อ่านประกาศเป็น ๓ คน ให้ครบคณะอันไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นั้น ญี่ปุ่นได้รบมีชัยชนะเรื่อยในทุกสมรภูมิ และยังได้เข้ายึดครองมลายูทั้งเกาะสิงคโปร์ไว้ได้ทั้งหมด ภายใต้การนำของแม่ทัพบกชื่อ พลเอก ยามาชิตา ซึ่งได้ถูกจับ และได้ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตภายหลังเมื่อประเทศญี่ปุ่นยอมแพ้แก่สัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว ในฐานะเป็นอาชญากรสงคราม เมื่อสิงคโปร์ได้ยอมแพ้แก่ญี่ปุ่นแล้วก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “โชนาน” หรือ “โชนานโด” ทันที ครั้นในปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๔ การรบทางภาคพื้นยุโรปก็ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เข้าขั้นแตกหัก พอต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ในราวเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพเยอรมันก็ยอมแพ้แก่กองทัพรัสเซีย ที่เมืองสตาลินกราด แล้วต่อมากองทัพสัมพันธมิตรก็ยกพลขึ้นบกได้ที่เกาะซิซิลี และกรุงโรมนครหลวงของประเทศอิตาลีก็ถูกโจมตีทางอากาศ แล้วในไม่ช้าซินยอมุสโสลินี ผู้นำของอิตาลีได้ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และหมดอำนาจลง แล้วจอมพลบาโดกลีโอ คู่ปรปักษ์ของมุสโสลินี ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน และอิตาลีก็ยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไข

ส่วนเหตุการณ์ภายในประเทศไทยในระยะนี้ ก็เริ่มระส่ำระสายขึ้น รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่สู้จะได้รับความนิยมจากประชาชน เพราะได้มีการบังคับจิตใจต่าง ๆ นานาเช่นบังคับให้ผู้หญิงใส่หมวก บังคับให้ตัดต้นพลู ห้ามกินหมาก สั่งให้ตัดต้นหมาก หากใครไม่ใส่หมวกก็จะไปติดต่อกับทางราชการไม่ได้ จึงไม่ได้รับความสะดวกต่าง ๆ รัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎรก็มีการขัดแย้งกันบ่อยครั้งยิ่งขึ้น ครั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ ข้าพเจ้าก็ได้ลาออกจากราชการ คือ จากรัฐมนตรีและจากตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกับจอมพล ป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการที่นายกรัฐมนตรีได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแต่แล้วก็ไม่ออก ข้าพเจ้าจึงไปพักผ่อนอยู่ที่บังกาโลหัวหิน ค่ำวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ แต่จะเป็นวันที่เท่าใด ข้าพเจ้าจำไม่ได้ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ให้คนมาเชิญข้าพเจ้าไปพบที่บ้านพักในพระราชวังไกลกังวล (หัวหิน) เมื่อข้าพเจ้าไปถึงและได้นั่งคุยกันอยู่สองต่อสอง นายปรีดีก็เอ่ยปากชวนข้าพเจ้า ให้ร่วมทำงานเสรีไทยด้วยกัน โดยกล่าวเป็นใจความว่า นายปรีดีได้เริ่มติดต่อกับอังกฤษและอเมริกา โดยส่งคนออกไปพบกับผู้แทนเสรีไทยนอกประเทศหลายคนแล้วโดยแบ่งออกเป็นสาย ๆ และคนหนึ่งที่ส่งไปก็ได้ล้มป่วยถึงแก่กรรมลงกลางทาง เสรีไทยผู้นี้ชื่อนายกำจัด พลางกูร เพราะการเดินทางนั้น นอกจากจะต้องเสี่ยงอันตรายรอบด้านแล้ว ยังต้องเดินทางด้วยเท้าบุกป่าฝ่าดงทุรกันดารมาก นายปรีดีได้ชี้แจงกับข้าพเจ้าว่า ควรจะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่นอกประเทศ ทำนองเดียวกับที่นายพล ชาลส์ เดอโกลล์ ได้ไปตั้งรัฐบาลฝรั่งเศสที่ประเทศอังกฤษ โดยจะได้หาทางเจรจาชี้แจงเหตุผลกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ลงมติเลือกให้ข้าพเจ้าเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อข้าพเจ้าได้เป็นประธานสภาฯ แล้ว นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กับข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอันชอบด้วยกฎหมาย พร้อมด้วย ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีอยู่ในคณะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็จะได้ร่วมเดินทางไปยังต่างประเทศด้วยกัน เพื่อไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่นอกประเทศ เพราะเมื่อมีตัวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร และมีรัฐมนตรีนายหนึ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้ว จะทำอะไรหรือจะประกาศอะไรออกมาก็ถือว่า ประกาศนั้นเป็นพระบรมราชโองการ และสมบูรณ์ตามกฎหมายถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ นายปรีดีกับข้าพเจ้าได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจนเป็นที่ตกลง และข้าพเจ้ายินดียอมรับร่วมมือในงานเสรีไทย เพื่อช่วยกอบกู้เอกราชของชาติไทยในครั้งนี้

ครั้นในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๘๖ ก็ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ เพื่อเลือกตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทน ฯ ตามระเบียบ ที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติเลือกให้ข้าพเจ้าเป็นประธานสภาฯ และนายควง อภัยวงศ์ เป็นรองประธานสภาฯ (เพื่อความเข้าใจอันดี ข้าพเจ้าขออธิบายไว้เสียด้วยว่า นายควง อภัยวงศ์ ก็ได้ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมกับข้าพเจ้าด้วยเหมือนกัน และโดยเหตุผลเช่นเดียวกัน คือเกี่ยวกับการลาออกของนายกรัฐมนตรี แต่แล้วก็ได้ปฏิเสธว่า ไม่ได้ลาออก) แต่ในที่สุด ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เป็นประธานสภาฯ ทั้ง ๆ ที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมาแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเป็นการผิดรัฐธรรมนูญ เรื่องจึงอลเวงกันอยู่หลายวัน ในที่สุดรัฐบาลก็ได้ขอให้สภา ฯ พิจารณาเลือกบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ข้าพเจ้าหรือนายควง อภัยวงศ์ โดยอ้างเหตุผลทางการเมืองว่า หากข้าพเจ้าได้รับเลือกเป็นประธานสภา ฯ แล้วจะเกิดเรื่องใหญ่เพราะญี่ปุ่นไม่ไว้วางใจ เนื่องจากข้าพเจ้าและนายควง อภัยวงศ์ เอาใจฝักใฝ่กับอังกฤษและอเมริกา และได้อ้างเหตุผลทางทหารต่าง ๆ นานา จนในที่สุดสภาฯ ต้องประชุมเลือกประธาน ๆ กันใหม่ เป็นอันว่าข้าพเจ้าไม่ได้เป็นประธานสภาฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ แผนการที่จะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่นอกประเทศก็เป็นอันต้องระงับลง และต้องเปลี่ยนวิธีการมาตั้งเสรีไทยภายในประเทศขึ้นแทน โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้ามีนามสมมติซึ่งทางฝ่าย O.S.S. ของอเมริกา กับหน่วย ๑๓๖ ของอังกฤษที่เมืองแคนดี ประเทศอินเดีย ตั้งให้ว่า รูธ (RŪTH) เมื่อหน่วยเสรีไทยในประเทศได้ติดต่อกับหน่วย O.S.S. ภายใต้การนำของนายพลโดโนแวน และหน่วย ๑๓๖ ของอังกฤษเป็นที่เรียบร้อย ทั้งอังกฤษและอเมริกาก็ได้ส่งตัวแทนของเขามาตั้งหน่วยปฏิบัติงานลับ ๆ อยู่ในพระนคร หัวหน้าของหน่วย ๑๓๖ ของอังกฤษได้แก่พลจัตวาเจ๊กส์ มีสำนักงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนหัวหน้าหน่วย O.S.S. ของอเมริกัน ได้แก่ ร้อยเอก โฮเวิด มีสำนักงานอยู่ที่ตึกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ได้มีการติดต่อทางวิทยุกับเมืองแคนดีทุกวัน และในระหว่างนี้ เราก็ได้จัดเสรีไทยในประเทศออกไปฝึกการใช้อาวุธสมัยใหม่ และฝึกการใช้วิทยุสื่อสารที่เมืองแคนดีหลายคน ตามที่ได้ตกลงกันนั้น ฝ่ายไทยจะจัดเสรีไทยหน่วยพลพรรคขึ้นรวม ๒๔ แห่ง เป็นหน่วยพลพรรคภายใต้การฝึกหัดของอังกฤษ ๑๑ หน่วย และเป็นหน่วยพลพรรคภายใต้การฝึกหัดของอเมริกา ๑๓ หน่วย หน่วยพลพรรคของอังกฤษก็ติดต่อกับหน่วย ๑๓๖ ที่แคนดี ส่วนหน่วยพลพรรคของอเมริกันก็ติดต่อตรงไปยังหน่วยสืบราชการลับ O.S.S. ที่เมืองแคนดี หน่วยงานทั้งสองนี้ประสานงานกันโดยใกล้ชิด ทั้งที่กรุงเทพฯ และที่เมืองแคนดี หน่วยพลพรรคหน่วยหนึ่ง ๆ จะมีจำนวนพลพรรคประมาณ ๕๐๐ คน หน่วยที่ตั้งของพลพรรค เท่าที่จำได้มีอยู่ที่จังหวัดต่าง ๆ เช่น ชัยนาท อุทัยธานี กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม ชลบุรี สุโขทัย พระนคร เป็นต้น การส่งคนไปมาระหว่างประเทศไทยกับเมืองแคนดีนั้น ส่วนมากขาไปจากประเทศไทย เราส่งไปทางเรือ แล้วไปขึ้นเครื่องบินชนิดแคตาลิน่าที่ฝั่งทะเลแถวอำเภอบ้านชะอำ โดยกำหนดวันและเวลากันไว้ ส่วนขามาจากแคนดีนั้น ก็มาเส้นทางเดียวกันบ้าง มาโดยเครื่องบินแล้วกระโดดร่มชูชีพลงในเวลากลางคืนตามค่ายพลพรรคหรือตามสถานที่ซึ่งได้ตกลงกันไว้บ้าง ทุกหน่วยอันเป็นที่ตั้งของพลพรรคนั้น ได้มียามรักษาการณ์วางไว้อย่างกวดขัน ถ้าเป็นหน่วยของฝ่ายอเมริกัน ก็มีนายทหารอเมริกัน และนายสิบมาอยู่ประจำ เพื่อฝึกหัดการใช้อาวุธและฝึกวิธีรบแบบกองโจร ถ้าเป็นหน่วยของอังกฤษ ก็มีนายทหารอังกฤษ ส่วนอาวุธที่พวกพลพรรคใช้นั้น เป็นอาวุธสมัยใหม่ทั้งนั้น เช่น ปืนกลมือแบบ เอมทรีแบบสะเตน ปืนคาไปน์ ปืนยิงรถถัง ที่เรียกว่า บาซูก้า ดินระเบิดพลาสติก ลูกระเบิดมือ ปืนครก ปืนสั้น วิทยุสนาม เป็นต้น แต่ฝ่ายอังกฤษและอเมริกาได้ขอทำความตกลงกับเสรีไทยในประเทศ ว่าอาวุธที่เขาส่งมาให้นี้สำหรับเสรีไทยใช้เท่านั้น เพราะเขาถือว่าเป็นมิตรกับเขา ส่วนทหารและตำรวจไทยตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย เขาถือว่าเป็นศัตรู เราจึงต้องปฏิบัติตามที่เขาขอคำมั่นไว้

เมื่อได้เล่าถึงเรื่องเสรีไทยแล้ว ข้าพเจ้าก็ใคร่จะเล่าถึงเรื่องความตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เกี่ยวกับเชลยศึกอเมริกันและอังกฤษเสียด้วย คือ เขาได้ตกลงกับเราว่า ทหารอังกฤษหรือทหารอเมริกัน หรือทหารฝ่ายสัมพันธมิตรอื่นใดก็ตาม หากทหารไทยหรือตำรวจไทย หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจับได้ ก็ให้ตกเป็นเชลยของฝ่ายไทย อยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ญี่ปุ่นจะมาเกี่ยวข้องขอตัวไปไม่ได้ แต่ถ้าทหารญี่ปุ่นจับได้ ก็ให้ตกเป็นเชลยของทหารญี่ปุ่น ฉะนั้น ส่วนมากจึงตกเป็นเชลยของฝ่ายไทย และก็มีอยู่หลายคราวที่พวกทหารอเมริกันซึ่งถูกส่งมาอยู่ประจำตามหน่วยพลพรรคต่างๆ ต้องการมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนอารมณ์ในพระนคร เช่น มีอยู่คราวหนึ่ง ที่ค่ายเสรีไทยจังหวัดชลบุรี นายทหารเรือไทยที่เป็นเสรีไทยได้นำตัวนายทหารอเมริกันประจำค่ายบรรทุกรถ โดยแต่งเครื่องแบบทหารครบชุดอย่างเปิดเผยเข้ามายังพระนคร บังเอิญยางรถข้างหนึ่งได้เกิดแตกใกล้ ๆ กับค่ายทหารญี่ปุ่นแถวทุ่งบางกะปิ (ในครั้งกระนั้นทุ่งบางกะปิ ยังไม่สู้จะมีบ้านคนมากนัก ส่วนมากเป็นทุ่งนา) ด้วยเชาวน์อันฉลาดของนายทหารเรือไทย ที่นำนายทหารอเมริกันเข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯ จึงได้เดินตรงไปหาทหารยามญี่ปุ่นส่งภาษามือไม้ให้เป็นที่เข้าใจว่า กำลังนำเชลยอเมริกันเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำการสอบสวน แต่ยางรถเกิดแตกขึ้น ขอให้เขาช่วยเปลี่ยนยางให้ด้วย ทหารญี่ปุ่นนึกว่าจริง จึงส่งภาษาเรียกทหารญี่ปุ่นในค่ายให้ออกมาช่วยเหลือตามขอ พอเปลี่ยนยางเสร็จแล้ว ทหารเรือไทยคนนั้นก็นำนายทหารอเมริกันเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหาความสำราญต่อไป

เมื่อเราได้ตั้งหน่วยเสรีไทยในประเทศขึ้นได้แล้วเช่นนี้ เสรีไทยนอกประเทศทั้งฝ่ายอังกฤษและอเมริกัน ก็ได้เข้ามาติดต่อเป็นการประจำ บางคนก็กระโดดร่มชูชีพลงมา บางคนก็มาทางเครื่องบิน แล้วมาลงเรือต่อเข้ากรุงเทพฯ แต่ที่แปลกที่สุดนั้นมีอยู่คนหนึ่งได้ถูกปล่อยให้กระโดดร่มลงที่ป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดระยองตามที่ได้นัดหมายกันไว้ พร้อมกับเพื่อนคนไทยอีก ๔-๕ คน บังเอิญเสรีไทยคนนั้น ข้าพเจ้าจำชื่อไม่ได้ ทำได้แต่นามสกุลว่า “ภูริพัฒน์” พอกระโดดลงมาแล้วสายเชือกร่มชูชีพเกิดไปพันเข้ากับหางหรือส่วนท้ายตอนใดตอนหนึ่งของลำตัวเครื่องบินเข้า จึงห้อยโตงเตงอยู่บนอากาศ แต่เสรีไทยคนนั้นมีสติดี ได้ควักปืนพกที่มีติดตัวมาออกยิ่งขึ้นฟ้า เพื่อให้ทหารอเมริกันในเครื่องบินได้ยิน เมื่อนักบินอเมริกันได้ยินเสียงปืนจึงชะโงกหน้าออกไปดู เห็นเข้า จึงได้สาวเชือกเอาตัวกลับเครื่องบินได้ พอกลับถึงเมืองแคนดี้ ก็ถูกส่งเข้าตรวจร่างกายเกี่ยวกับประสาทยังโรงพยาบาล แต่ทุกอย่างก็เป็นปกติ เสรีไทยคนนั้นจึงขอบินกลับมากระโดดลงอีกยังที่เดิม เพื่อสมทบกับเสรีไทยรุ่นก่อนที่กระโดดลงมาแล้ว ทั้งนี้เป็นความกล้าหาญพิเศษที่ทางราชการทหารอเมริกันได้บันทึกไว้ และเสรีไทยคนนั้นก็ได้เหรียญกล้าหาญเป็นพิเศษอีกด้วย

หน่วยเสรีไทยในประเทศนี้ได้แยกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายพลพรรคพวกหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ฝึกหัดอาวุธ หัดให้รู้จักการใช้อาวุธชนิดต่าง ๆ ฝึกรบแบบกองโจรเพื่อเตรียมรบเมื่อถึงเวลา และเมื่อได้รับคำสั่งกับฝ่ายสืบราชการลับอีกพวกหนึ่ง หน่วยสืบราชการลับนี้ได้รับความร่วมมือกับตำรวจดีมาก เพราะพลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลยเดชจรัส ก็เป็นหัวหน้าเสรีไทยด้วยผู้หนึ่ง จึงทำให้การสืบสวนเป็นที่พอใจและถูกต้องตรงกับความจริง พวกสืบราชการลับนี้มีหน้าที่คอยสอดส่องความเคลื่อนไหวของกองทัพญี่ปุ่น แล้วรายงานไปให้หน่วยราชการลับของสัมพันธมิตรที่เมืองแคนดีทราบ เช่น ที่ตั้งของคลังสรรพาวุธญี่ปุ่น ที่ตั้งหน่วยทหารญี่ปุ่น ขบวนรถไฟหรือรถยนต์ที่ขนอาวุธและทหารญี่ปุ่น สถานที่ที่จะไป และกำหนดเวลาขนส่งทหารและอาวุธนั้น ๆ สถานที่ต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นใช้เป็นคลังสัมภาระ กองบัญชาการทหาร และกองบัญชาการสนามทหารของทหารญี่ปุ่น ตลอดจนจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ เหล่านี้ เป็นต้น หรือเมื่อทางฝ่ายสัมพันธมิตรขอร้องให้ฝ่ายเราสืบเรื่องใด ฝ่ายสืบราชการลับก็จะสืบข้อเท็จจริงส่งไปให้เขาทราบ ซึ่งการกระทำเช่นนี้นับว่าเป็นผลดีแก่ประเทศไทยมาก เพราะข่าวคราวที่ส่งไปให้เขานั้นตรงกับความจริง ซึ่งเขาเชื่อถือและยกย่องเสมอ และกองทัพอากาศอังกฤษและอเมริกันก็สามารถมาทิ้งระเบิดตรงเป้าหมายเกือบไม่มีผิดพลาด และเมื่อเขาได้มาทิ้งระเบิดแล้ว เรายังได้รายงานผลไปให้เขาทราบอีกด้วยว่า การทิ้งระเบิดของเขาได้ผลเพียงใด การกระทำเหล่านี้ทำให้อังกฤษและอเมริกาเห็นใจประเทศไทยมาก ว่าได้ให้ความร่วมมืออย่างจริงจังและได้ผล คำขอของเขานั้นจนกระทั่งขอให้ส่งเชลยศึกของเขากลับไปยังฐานทัพที่เมืองแคนดี ซึ่งเราก็สามารถจัดส่งกลับไปได้ทุกครั้งที่เขาขอร้อง มีอยู่คราวหนึ่งทางฝ่ายอเมริกันขอมาพิสดารมาก คือ ขอให้เราจับนายทหารญี่ปุ่นยศชั้นนายพลส่งไปให้เขาสัก ๑ คน ทางเราก็ตอบไปว่าได้ แต่ต้องพร้อมที่จะรบกับญี่ปุ่น เขาจึงได้ระงับคำขอนี้ เพราะเรื่องนี้ทางกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตรที่เมืองแคนดีได้สั่งและกำชับนักกำชับหนาว่า ขอให้ทำทุกวิถีทาง อย่าให้มีการรบเกิดขึ้นในประเทศไทยก่อนที่จะถึงวันดีเดย์ (คือวันที่เขาพร้อมที่จะส่งคนมาช่วยรบขั้นแตกหักเพื่อกอบกู้อิสรภาพ) ตามแผนการร่วมกันนั้นมีอยู่แผนหนึ่ง คือ เมื่อถึงวันดีเดย์ พลพรรคเสรีไทยและหน่วยทหารกับตำรวจไทยในประเทศ จะเริ่มทำการต่อต้านกองทหารญี่ปุ่น โดยทำการรบแบบกองโจร เช่น ทำการโจมตีโดยไม่ให้รู้ตัว มีการลอบยิง (Ambush) มีการก่อวินาศกรรม (Sabotage) และในขณะเดียวกัน กองทหารพลร่มของฝ่ายสัมพันธมิตรก็จะกระโดดร่มลงมายังจุดต่างๆ เพื่อทำการรบ พร้อมกันนี้หน่วยพรรคนาวิกโยธินก็จะยกพลขึ้นบกเข้าทำการโจมตีอีกด้านหนึ่ง แผนการเหล่านี้เป็นแผนการหยาบ ๆ ที่ได้วางไว้แผนหนึ่ง และยังมีแผนการอีกหลายแผน ซึ่งยังไม่ได้ตกลงรายละเอียดมา เพราะยังไม่ถึงกำหนดเวลา

ในระยะนั้นญี่ปุ่นคงจะทราบระแคะระคายหรือมีความสงสัยอะไรอยู่มาก ดังนั้นทหารญี่ปุ่นจึงได้เตรียมป้องกันตัว ดังจะเห็นได้ชัดว่า ตามหน้าค่ายที่พักของทหารญี่ปุ่น และตามจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ในพระนคร ทหารญี่ปุ่นสร้างป้อมและรังปืนกลไว้เต็มไปหมด ส่วนทางฝ่ายทหารไทยก็สร้างป้อมและรังปืนกลอยู่ตรงกันข้ามกับป้อมของญี่ปุ่น เผชิญหน้ากันทุกแห่งไปหมด แสดงความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน และข่าวที่ว่าไทยกับญี่ปุ่นจะรบกันก็ได้ยินหนาหูขึ้น ความระแวงซึ่งกันและกันก็มีมากขึ้น ๆ ทุกที ทหารและตำรวจไทยก็เตรียมพร้อมทุกวันตลอด ๒๔ ชั่วโมง การประสานงานระหว่างเสรีไทยในประเทศกับกองทัพไทยก็ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าในฐานะหัวหน้าเสรีไทยในประเทศฝ่ายพลพรรค ก็ได้ประชุมกับเสนาธิการทหารบกบ่อยครั้งขึ้น เพื่อวางแผนประสานงานระหว่างหน่วยเสรีไทยกับทหารเสรีไทย ได้มีการกำหนดเครื่องหมายเพื่อแสดงให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน ได้ทำปลอกแขนสีขาวมีแถบสีน้ำเงินพาดกลางไว้เพื่อแจก เมื่อถึงเวลาจะได้สวมที่แขนให้ทราบว่าเป็นพวกเดียวกัน กำหนดจุดสำคัญต่าง ๆ ที่ พลพรรคเสรีไทยจะต้องไปทำลายเพื่อไม่ให้ทหารญี่ปุ่นใช้การได้ เช่น สะพานต่าง ๆ ที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เก็บพัสดุของญี่ปุ่น คลังสรรพาวุธของญี่ปุ่น ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น การเตรียมพร้อมและภาวะคับขันในพระนครนี้ ทางกองบัญชาการทหารที่เมืองแคนดีทราบเป็นอย่างดี เขาจึงได้วิทยุสั่งห้ามมาอย่างเด็ดขาดว่า ให้หลีกเลี่ยงจากการปะทะกับทหารญี่ปุ่นไว้ก่อนจนกว่าจะถึงวันดีเดย์ ซึ่งเขาจะได้กำหนดขึ้นและแจ้งให้เราทราบ ข้าพเจ้าเองก็ต้องสั่งกำชับไปยังหน่วยพลพรรคต่างๆ ขอให้ยับยั้งการกระทำการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดการรบกันขึ้นได้ แต่กระนั้นก็ดี ก็ยังมีหน่วยพลพรรคบางหน่วยที่ต้องทำลายทหารญี่ปุ่นที่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในเขตหวงห้ามอันเป็นที่ตั้งของเสรี ไทย แล้วก็ทำการฝังเพื่อทำลายหลักฐานเสีย เช่น ที่จังหวัดกาญจนบุรีและที่จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น การลักขโมยและทำลายทรัพย์สิน ตลอดจนยุทโธปกรณ์ของทหารญี่ปุ่นที่มีอยู่เป็นการประจำ เช่น ขโมยน้ำมันเชื้อเพลิง ขโมยปืนและกระสุนปืน ขโมยวัตถุระเบิด ขโมยรถยนต์ ฯลฯ การกระทำเหล่านี้ได้ล่วงรู้ไปถึงกองบัญชาการทหารที่เมืองแคนดีหมด ทำให้กองบัญชาการทหารอังกฤษและอเมริกันเชื่อถือและไว้วางใจในความร่วมมือของเสรีไทยในประเทศมาก จนในระยะหลังๆ เราขาดยารักษาโรค จึงได้ติดต่อขอไปที่เมืองแคนดี เขาก็นำหีบยารักษาโรคที่เราขอไปผูกติดกับร่มชูชีพ บรรทุกเครื่องบินมาทิ้งให้เราที่ท้องสนามหลวงหลายหีบในเวลากลางวันแสก ๆ ทำเอากองทหารญี่ปุ่นโกรธ และสงสัยเรามาก ถึงกับประท้วงไปยังรัฐบาล และการทิ้งระเบิดของเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรในระยะหลัง ๆ นี้ก็แม่นยำ และทิ้งลงยังเป้าหมายเฉพาะที่ตั้งของญี่ปุ่นทั้งนั้น ทั้งนี้ เพราะเราได้วิทยุบอกไปให้เขามาทิ้งระเบิดบ้าง เขาถามเรามาบ้างว่าที่ตรงนั้นตรงนี้จะทิ้งระเบิดได้หรือไม่ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ขนย้ายสัมภาระของการรถไฟไปเก็บไว้ที่ใกล้สถานีรถไฟฉะเชิงเทรา โดยไปสร้างโกดังใหญ่ไว้ ทางฝ่ายสัมพันธมิตรบินตรวจการณ์มาเห็นเข้านึกว่าเป็นคลังเก็บของหรือเป็นค่ายทหารญี่ปุ่น เพราะเห็นพึ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ เขาจึงได้ถามมาว่า เขาจะมาทิ้งระเบิดได้หรือไม่ เราจึงเรียกวิทยุห้ามไว้และแจ้งไปว่า ที่เขาเห็นนั้นเป็นโกดังเก็บพัสดุของเรา ไม่ใช่ของญี่ปุ่น เขาจึงไม่มาทิ้งระเบิด

ในระยะนั้น คือ นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๘๗ ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เพราะสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. ๒๔๘๗ และร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนต่อไป และข้าพเจ้าก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในคณะรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ด้วย จึงได้มีโอกาสรวบรวมบรรดานิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝึกอาวุธ และคัดเลือกส่งไปเป็นเสรีไทย ประจำค่ายที่จังหวัดชลบุรี หลังวัดเขาบางทราย ภายใต้การควบคุมของพลเรือตรี สังวรณ์ สุวรรณชีพ ซึ่งนับว่าเป็นค่ายที่มีจำนวนพลพรรคมากที่สุด และมีสมรรถภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่ง คือ มีทั้งพวกนิสิตซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีการศึกษาอยู่ในระดับสูง และมีทั้งทหารเรือฝ่ายพรรคนาวิกโยธินด้วย

ในระหว่างที่สงครามใกล้จะเสร็จสิ้นลงนี้ สถานการณ์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระนคร ได้ตึงเครียดมากเกือบจะถึงจุดระเบิดอยู่แล้ว เพราะทหารญี่ปุ่นมีความมั่นใจว่า ไทยจะหักหลัง ก็พอดีประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้แก่สัมพันธมิตร โดยไม่มีเงื่อนไข จึงทำให้ประเทศไทยหลีกเลี่ยงจากการเป็นสมรภูมิไปได้

เนื่องจากในระหว่างสงคราม หน่วยเสรีไทยในประเทศได้ทำประโยชน์ให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรมากเกี่ยวกับการสืบราชการลับ และข่าวคราวต่าง ๆ ที่ทางกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตรที่เมืองแคนดีต้องการทราบ ส่งไปให้ และได้มีการติดต่อหารือกันอย่างใกล้ชิดเป็นการประจำ ส่วนเสรีไทยนอกประเทศก็ได้ร่วมมือกับเสรีไทยในประเทศอย่างใกล้ชิด และได้ประสานงานกันเป็นอันดี จึงทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลอเมริกันเห็นใจประเทศไทยมาก ฉะนั้น เมื่อสงครามได้เสร็จสิ้นลงแล้วเช่นนี้ เราจึงได้มาพิจารณาเห็นว่า การประกาศสงครามที่รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กระทำไปนั้น ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยระเบียบและวิธีการ เช่น การอ่านประกาศสงครามในเที่ยงวัน ของวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ มีคณะผู้สำเร็จราชการครบคณะ คือ ๓ คน ลงชื่อในประกาศ แต่ตามข้อเท็จจริงมีลงนามเพียง ๒ คน เท่านั้น อีกคนหนึ่งคือนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้อยู่ในพระนคร จึงไม่ได้ลงชื่อด้วย แต่เวลาอ่านประกาศก็ได้ประกาศชื่อเข้าไปด้วย จึงถือได้ว่าประกาศนี้เป็นโมฆะ นอกจากนั้นแล้ว การประกาศสงครามที่ได้ทำไปนั้น ก็ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของประชาชนคนไทย เพราะเมื่อคนไทยส่วนมากได้ฟังประกาศแล้ว ต่างได้วิพากษ์วิจารณ์ไปในทางที่ไม่เห็นชอบด้วยทั้งนั้น ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะในขณะนั้น คนไทยเกือบทุกคนเกลียดทหารญี่ปุ่นมากก็ได้ และก็เป็นหลักธรรมดาของมนุษย์เรา เมื่อใจเกลียดฝ่ายหนึ่งแล้วก็จะต้องมีใจลำเอียงเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่งด้วย เราจึงได้ประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ มีสาระสำคัญว่า “การประกาศสงครามเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ และการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำที่ผิดจากเจตจำนงของคนไทย และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ครั้นต่อมาในวันนั้นเอง หรือจะเป็นวันต่อมาก็จำไม่ได้ สหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศตอบรับสนองคำประกาศสันติภาพของเราทันทีว่า เขาไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรูของเขา และไม่รับรู้คำประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วย เพราะเขาไม่ได้ประกาศสงครามตอบ ส่วนประเทศอังกฤษนั้นเขาขอดูท่าทีของประเทศไทยและรัฐบาลไทยก่อน ว่าจะให้ความร่วมมือกับเขาดีเพียงใด

พอได้มีประกาศสันติภาพแล้ว นายควง อภัยวงศ์ ก็ได้กราบถวายบังคมลาออกจากนายกรัฐมนตรี และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนต่อไป จนกว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน และหัวหน้าเสรีไทยนอกประเทศฝ่ายสหรัฐอเมริกา จะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยตามที่เราได้ตกลงกันไว้

พอข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่กี่วัน ก็ได้รับข้อเสนอเป็นรูปสัญญายุติสงครามจากรัฐบาลอังกฤษรวม ๒๑ ข้อ ในสัญญา ๒๑ ข้อนี้มีอยู่หลายข้อที่ข้าพเจ้าเห็นว่ารับไม่ได้ เช่นที่เขาจะขอมาควบคุมการทหารของเรา และจัดระเบียบการทหารให้เราใหม่ จะเข้ามาควบคุมการเศรษฐกิจของเรา เป็นต้น จึงได้เจรจาขอแก้ไขไป โดยส่งผู้แทนของเราไปพบกับผู้แทนของฝ่ายอังกฤษที่เมืองแคนดี ในที่สุด บางข้อที่เราเห็นว่าเรารับไม่ได้ เช่น เกี่ยวกับการควบคุมการทหาร เขาก็ยอมตัดออก และเราได้พิจารณาอีกครั้งเห็นว่าพอจะตกลงด้วยได้ จึงนำข้อเสนอของเขาเข้าหารือในสภาผู้แทนราษฎร ก็พอดีวันหนึ่ง แต่จะเป็นวันที่เท่าใด ข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่อยู่ในระหว่างวันที่ ๑ ถึงวัน ที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๘๘ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้โทรศัพท์เชิญให้ข้าพเจ้าไปพบ ที่ทำเนียบท่าช้าง เมื่อข้าพเจ้าไปถึงก็ได้ส่งโทรเลข ของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ให้ข้าพเจ้าอ่าน ซึ่งมีข้อความเป็นทำนองหารือมาว่า หากประเทศไทยจะเสนอให้ข้าวแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรสัก ๑,๒๐๐,๐๐๐ ตัน หรือ ๑,๕๐๐,๐๐๐ ตัน (จะเป็นจำนวนไหนข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่แน่ใจว่าเป็นจำนวนใดจำนวนหนึ่งใน ๒ จำนวนนี้) โดยไม่คิดมูลค่า จะได้หรือไม่ เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรี เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านข้อความในโทรเลขดูตลอดแล้วก็วิตกมาก เพราะว่าการให้ข้าวโดยไม่คิดมูลค่าเป็นจำนวนมากเท่ากับการขายข้าวส่งออกนอกประเทศของเราในยามปรกติตลอดทั้งปีมันก็เท่ากับเป็นค่าปรับสงครามนั่นเองเพราะจะเป็นเงินมหาศาลสำหรับประเทศไทย คือจะเป็นเงินไม่น้อยกว่า ๒ พันล้านบาท และนอกจากนั้นแล้วข้าวจำนวนนี้จะมีพอให้หรือไม่ก็ยังไม่ทราบ เพราะในระหว่างสงครามนั้น แม้เราจะไม่สามารถส่งข้าวไปขายยังตลาดต่างประเทศดังเช่นยามปรกติก็ตาม แต่ทหารญี่ปุ่นก็ได้มากว้านซื้อเอาไปหมด ข้าพเจ้าจึงขอนำเรื่องไปหารือกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก่อน นายปรีดี พนมยงค์ จึงกล่าวว่า เรื่องนี้เราจะต้องรีบตอบ กว่าจะสอบสวนอาจเสียเวลานาน ฉะนั้น ขอให้ข้าพเจ้าตกลงว่าไหน ๆ อังกฤษ และอเมริกาก็ทราบเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ก็ควรตอบไปว่าเห็นควรรับได้ในหลักการ ส่วนเรื่องจำนวนที่จะให้นั้น จะได้พิจารณาตกลงในภายหลัง จะได้หรือไม่ ข้าพเจ้าเห็นด้วย จึงยอมตกลงที่จะให้มีโทรเลขตอบไปเช่นนั้น

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะจบบันทึกเพิ่มเติม ในเหตุการณ์ระหว่างสงครามครั้งที่ ๒ ของข้าพเจ้านี้ ยังมีเรื่องสำคัญอยู่อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นว่าน่าจะได้นำมาเปิดเผยให้ทราบไว้ด้วย คือ พอสงครามได้สิ้นลงแล้ว ทหารอังกฤษและทหารอเมริกัน ก็ได้มาทำการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ได้มีเสียงพูดกันในหมู่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตรบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็นายทหารอังกฤษ และเจ้าหน้าที่พลเรือนของอังกฤษว่า การที่เขาทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ลงมาให้เสรีไทยในประเทศนั้น จะมีจำนวนพลพรรคเสรีไทยมากเท่ากับอาวุธที่เขาทิ้งลงมาให้หรือไม่ และอาวุธเหล่านั้นจะคงมีอยู่หรือเปล่าก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ บ้างก็สงสัยว่าไทยจะตบตาเขามากกว่า ดังนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าเสรีไทยในประเทศจึงได้หารือกับข้าพเจ้าว่า เพื่อแก้ข้อสงสัยในเรื่องนี้ หากเราจะให้มีการสวนสนามบรรดาพลพรรคเสรีไทยในประเทศให้เขาเห็นว่าเรามีพลพรรคจริง ๆ และมีจำนวนมากด้วย และอาวุธยุทธภัณฑ์ที่เขาส่งมาให้ ก็ยังคงมีอยู่ครบครัน ข้าพเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าได้มาพิจารณาดูโดยรอบคอบแล้ว เห็นควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อว่าฝ่ายอังกฤษและอเมริกันจะได้เห็นว่าเราได้ทำอะไรลงไปบ้างภายในประเทศ และเราได้เสี่ยงภัยแค่ไหนในการฝึกพลพรรคเป็นจำนวนมาก ๆ ทั้งๆ ที่กองทหารญี่ปุ่นอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง เพื่ออังกฤษและอเมริกาจะได้เห็นใจเรา และไม่บีบบังคับเรามากจนเกินไป และด้วยความคิดเช่นนี้เอง จึงได้ตกลงจัดให้มีการสวนสนามพลพรรคเสรีไทยในประเทศขึ้น โดยสั่งให้หน่วยพลพรรคทุกหน่วยที่ประจำอยู่ทั่วราชอาณาจักร เดินทางมากรุงเทพ ฯ มาชุมนุมพร้อมกันและให้ขนอาวุธทุกชนิดที่มีอยู่ติดตัวมาด้วย (แต่ไม่ให้นำกระสุนมา) แล้วได้กำหนดวันสวนสนามขึ้นโดยเชิญนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของฝ่ายอังกฤษและอเมริกาให้มาดู เพื่อให้เห็นด้วยตาของตนเอง การสวนสนามได้กระทำที่ถนนราชดำเนิน จากท้องสนามหลวง ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีพลพรรคเข้าร่วมเดินสวนสนามทั้งสิ้นประมาณ ๘,๐๐๐ คน ใช้เวลาเดินสวนสนามประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ

ต่อมาเมื่อการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นได้เสร็จเรียบร้อย และทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่ปรกติแล้ว เสรีไทยทั้งในและนอกประเทศก็หมดหน้าที่ และได้สลายตัวลง จะยังคงเหลืออยู่ก็แต่ความทรงจำเท่านั้น ซึ่งนานวันเข้าก็จะลืมเลือนไปในที่สุด

ทวี บุณยเกตุ

๑๐๒ ถนนเศรษฐศิริ สามเสนใน

พระนคร

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ