บทที่ ๖ การเลิกหัวข้อความตกลงกับอังกฤษ

ได้กล่าวไว้ในบทที่ ๑ ภาคสาม แล้วว่า รัฐบาลจำต้องทำความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย ซึ่งลงนามกัน ณ สิงคโปร์เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) และในวันเดียวกันนั้น ก่อนการลงนาม ผู้แทนฝ่ายไทยได้แลกเปลี่ยนหนังสือกับฝ่ายอังกฤษฉบับหนึ่ง ตามหนังสือแลกเปลี่ยนนี้มีความว่า ฝ่ายอังกฤษได้ส่งหัวข้อความตกลงพร้อมด้วยภาคผนวก (Heads of Agreement and Annex) วางข้อกำหนดต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลสหราชอาณาจักรกับรัฐบาลอินเดียพร้อมที่จะเลิกสถานะสงครามกับประเทศไทย มาให้ผู้แทนฝ่ายไทย และขอให้ผู้แทนฝ่ายไทยตอบให้ทราบว่า รัฐบาลไทยพร้อมที่จะลงนามความตกลงสมบูรณ์แบบฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับโดยไม่ชักช้า ซึ่งครอบถึงบทต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในหัวข้อความตกลงและภาคผนวกนั้น กับว่าในระหว่างที่ยังไม่ได้ลงนามเช่นว่านั้น รัฐบาลไทยจะปฏิบัติตามบทเหล่านั้นทุกประการ ซึ่งผู้แทนฝ่ายไทยได้ตอบรับรองไป

ต่อมามีปัญหาว่า เมื่อได้ลงนามความตกลงสมบูรณ์แบบฉบับ ลงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) แล้ว หัวข้อความตกลงและภาคผนวกที่แนบท้ายหนังสือแลกเปลี่ยนนั้น ฝ่ายไทยจะต้องปฏิบัติตามด้วยเพียงใด ฝ่ายอังกฤษเห็นว่า ถึงแม้จะได้ทำความตกลงสมบูรณ์แบบกันแล้วก็ดี แต่เมื่อความตกลงสมบูรณ์แบบฉบับที่ลงนามกันนั้น ยังไม่ครอบถึงบทต่าง ๆ ทั้งหมด ในหัวข้อความตกลงกับภาคผนวก ฝ่ายไทยก็ยังมีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามหัวข้อความตกลงและภาคผนวกนั้นต่อไป ส่วนฝ่ายไทยเราเห็นว่าเมื่อได้ทำความตกลงสมบูรณ์แบบกันแล้ว หัวข้อความตกลงและภาคผนวกที่ว่านั้น ก็ควรจะตกไปในตัว

เรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศสมัย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ได้เจรจากับอังกฤษเรื่อยมา ครั้นเมื่อข้าพเจ้าเข้ามารับตำแหน่งแทน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ก็คงจะรับช่วงเจรจากับอังกฤษต่อมา ในที่สุดต้นเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ฝ่ายอังกฤษได้เสนอมาว่า เพื่อเลิกหัวข้อความตกลงและภาคผนวกดังกล่าวข้างต้น ขอให้ฝ่ายไทยกับฝ่ายอังกฤษแลกเปลี่ยนหนังสือกันในบางเรื่อง และในบางเรื่องขอให้ฝ่ายไทยดำเนินการบางอย่าง เช่น ทำบันทึกยื่นให้แก่ฝ่ายอังกฤษ เป็นต้น

ในที่สุดเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ข้าพเจ้าในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ได้รายงานเสนอคณะรัฐมนตรี ขอความเห็นชอบในการทำความตกลงกับอังกฤษ เพื่อเลิกหัวข้อความตกลงดังนี้

(๑) เรื่องคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาวินิจฉัยค่าทดแทน

ตามความตกลงสมบูรณ์แบบข้อ ๒ และข้อ ๓ มีว่า รัฐบาลไทยจะยอมรับผิดชอบคืนทรัพย์สินต่าง ๆ ให้แก่อังกฤษ รวมทั้งค่าทดแทน แต่ไม่ปรากฏว่าจำนวนค่าทดแทนจะกำหนดกันโดยวิธีใด ได้เจรจากันอยู่นานเกี่ยวกับคณะกรรมการพิจารณาค่าทดแทนว่า จะประกอบด้วยใครบ้าง ในที่สุดตกลงให้มีผู้แทนอังกฤษหนึ่งนายซึ่งทำหน้าที่ประธาน ผู้แทนอินเดียหนึ่งนาย ผู้แทนออสเตรเลียหนึ่งนาย และผู้แทนไทย ๓ นาย ซึ่งเรื่องนี้ได้ตกลงกันแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖)

(๒) เรื่องเงินตราที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตรต้องการใช้ในการปฏิบัติตามภารกิจของตน

อังกฤษกล่าวว่า ตามข้อ (๖) ข. แห่งภาคผนวกต่อท้ายหัวข้อความตกลงมีความว่า ตราบเท่าที่จำเป็นในอันจะจัดเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทหารของสัมพันธมิตร ซึ่งเกิดขึ้นจากการระงับสงครามกับญี่ปุ่นให้เสร็จสิ้นไป โดยไม่คิดมูลค่า จะรักให้ได้รับบรรดาสัมภาระและแรงงานอื่น ๆ เพื่อใช้ในประเทศไทย และบรรดาเงินตราไทยที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตรต้องการ

เรื่องนี้ ในชั้นเริ่มตกลงกันว่า นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศด้วย จะทำบันทึกมอบให้ทูตอังกฤษ ว่าจะให้ตามที่ต้องการ แต่ต่อมาอังกฤษกลับยื่นบันทึกมามีใจความว่า โดยที่เห็นแก่ความร่วมมือในงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตร ในอันจะปลดอาวุธและกักคุมทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย รัฐบาลไทยรับจะจัดโดยไม่คิดมูลค่า ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารพันธมิตรได้รับเงินตราไทยตามที่ต้องการใช้ในการปฏิบัติตามภารกิจของตน คือไม่มีจำนวนขั้นสูงกำหนดไว้ ฝ่ายเรา (กระทรวงการต่างประเทศ) เห็นว่าถ้าไม่มีจำนวนขั้นสูงกำหนดไว้แล้ว รัฐบาลจะประสบความยุ่งยากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันมาก เพราะเรื่องเงินนี้สภารู้สึกรุนแรงว่าอังกฤษจะเอาจากเรามากไป ฉะนั้น จึงขอกำหนดขั้นสูงไว้ แต่ฝ่ายอังกฤษขอตัดออกโดยให้เหตุผลว่าอาจไม่พอ ในที่สุดตกลงกันว่า ฝ่ายเราทำบันทึกไว้ว่าจะให้โดยไม่ระบุจำนวนเงิน แต่อังกฤษทำบันทึกช่วยจำให้ไว้เป็นที่เข้าใจว่า เงินที่ต้องการทั้งหมดนี้ไม่เกิน ๑๐๐ ล้านบาท รวมทั้งจำนวนที่ได้ให้ไว้แล้ว แต่เป็นที่เข้าใจว่าจำนวนเงิน ๑๐๐ ล้านบาทนี้ ไม่ถือว่าเป็นขั้นสูง และฝ่ายอังกฤษอาจต้องการเพิ่มขึ้นในพฤติการณ์ที่ในปัจจุบันมองไม่เห็น (unforeseen circumstances)

(๓) เรื่องความร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตร

ในภาคผนวก (Annex) ต่อท้ายหัวข้อความตกลงที่แนบท้ายหนังสือแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้แทนฝ่ายไทยได้ลงนามไว้ในวันเดียวกับความตกลงสมบูรณ์แบบ มีข้อความว่า รัฐบาลไทยตกลง

ก) เลิกการพิทักษ์ธุรกิจ การธนาคาร และการพาณิชย์ของฝ่ายพันธมิตร และยอมให้กลับดำเนินธุรกิจต่อไป (ข้อ ๒. แห่งภาคผนวก)

ข) จะเอาบรรดาทรัพย์สินของญี่ปุ่น และของศัตรูอื่น ไว้ให้พันธมิตรใช้ (ข้อ ๓. แห่งภาคผนวก)

ค) จะร่วมมือในการจับกุม และชำระบุคคลที่ต้องหา ว่าได้กระทำอาชญากรรมสงคราม หรือขึ้นชื่อว่าให้ความช่วยเหลืออย่าง เป็นกิจเป็นการแก่ญี่ปุ่น (ข้อ ๔. แห่งภาคผนวก)

ง) จะมอบตัวบรรดาผู้ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ทรยศ (renegade) ซึ่งมีสัญชาติสัมพันธมิตรให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตร (ข้อ ๕. แห่งภาคผนวก)

จะเจรจาทำความตกลงให้ความคุ้มกันทางศาล และทางอื่น สำหรับการทหารของพันธมิตรในประเทศไทยทำนองเดียวกันกับบรรดาความตกลงที่ฝ่ายพันธมิตรได้กระทำไว้ต่อกันและกันแล้ว

จ) จะควบคุมธนาคารและธุรกิจการปริวรรตต่างประเทศและการทำธุรกิจทางพาณิชย์และการคลังกับต่างประเทศ ตามแต่ว่าพันธมิตรจะต้องการ ตราบเท่าที่เป็นการจำเป็น เพื่อสำเร็จกิจในการทหาร การเศรษฐกิจและการคลัง อันเกี่ยวกับฝ่ายพันธมิตร ซึ่งเกิดขึ้นจากการระงับสงครามต่อญี่ปุ่น

เมื่อตกลงจะเลิกหัวข้อความตกลงและภาคผนวกแล้ว ฝ่ายอังกฤษเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือ สาระสำคัญดังนี้

๑. การเลิกพิทักษ์ธุรกิจธนาคารและการพาณิชย์ของพันธมิตร

ความจริงเรื่องนี้ก็ระบุไว้ในความตกลงสมบูรณ์แบบข้อ ๔. และหัวข้อความตกลงข้อ ๔. แล้ว แต่ในภาคผนวกข้อ ๒. ใช้คำว่า ของฝ่ายพันธมิตร แทนคำว่า บริติช ฉะนั้น อังกฤษจึงขอให้ใส่ตามภาคผนวก เราเห็นว่าไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบอย่างใด ควรตกลงได้

๒. ทรัพย์สินของญี่ปุ่นและศัตรูอื่นของสหประชาชาติ

ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนมีความว่า รัฐบาลไทยจะเอาบรรดาทรัพย์สินของญี่ปุ่นและศัตรูอื่นไว้ให้พันธมิตรใช้ ภายหลังที่ได้หักค่าการควบคุมและจัดการทรัพย์สินดังกล่าวแล้วนั้น ซึ่งจะต้องทำบัญชี ส่งกันตามบรรดาข้อตกลงที่ทำกันไว้ เฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายนี้ ฝ่ายเราได้ขอให้ฝ่ายไทยหักเงินไว้ได้ ๒ ประเภท คือ

ก) ค่าใช้จ่ายในการควบคุมทรัพย์สินนั้น และ

ข) ค่าใช้จ่ายในการกักคุมทหารและคนชาติญี่ปุ่น

สำหรับข้อ ก) อังกฤษยอมให้หักได้

สำหรับข้อ ข) อังกฤษแย้งว่า ทุกประเทศใช้เงินของตนเองในการกักคุมทหารและคนชาติศัตรู จึงขอยืนยันว่าประเภท ข) นี้ เราจะหักไม่ได้ เมื่ออังกฤษยืนยันเช่นนี้ เราก็ต้องยอม แต่ฝ่ายเราก็เห็นว่ายังดีกว่าเดิม เพราะตามความในภาคผนวกระบุไว้กว้าง ๆ ว่า เราจะต้องเอาบรรดาทรัพย์สินญี่ปุ่นและของศัตรูอื่น ไว้ให้พันธมิตรใช้ ไม่มีข้อความว่าเราจะหักค่าใช้จ่ายได้เลย

๓. ความตกลงให้ความคุ้มกันทางศาล และทางอื่น สำหรับกองทหารพันธมิตรในประเทศไทย

ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนนี้ ขอให้เรารับรองเรื่องความคุ้มกันทางศาล ซึ่งไม่มีข้อความแปลกไปจากภาคผนวกแม้แต่น้อย

๔. อาชญากรสงครามและผู้ทรยศ

ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนในข้อนี้มีความว่า รัฐบาลไทยตกลงจะ

ก) ทำการจับกุมและชำระบุคคลที่ต้องหาว่าได้กระทำอาชญากรรมสงคราม หรือขึ้นชื่อว่าให้ความช่วยเหลือเป็นกิจเป็นการแก่ญี่ปุ่น

ข) มอบตัวบรรดาผู้ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ทรยศ ซึ่งมีสัญชาติพันธมิตร ให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตร

สำหรับข้อ ก) นั้น ความจริงก็ถอดมาจากภาคผนวกข้อ ๔. ในความตกลงสมบูรณ์แบบข้างต้น ซึ่งใช้คำว่า “To cooperate in the apprehension and trial of persons accused of war crimes of notable for affording active assistance to Japan

เรื่องนี้ รัฐบาลได้ทำความเข้าใจและตกลงกับอังกฤษตั้งแต่แรกแล้วว่า อาชญากรสงคราม ถ้าเป็นคนไทยต้องให้ศาลไทยชำระ ถ้าเป็นคนสัญชาติอื่น ฝ่ายพันธมิตรจะขอตัวเอาไปชำระเองก็ไม่ขัดข้อง ทั้งนี้เพราะความในข้อ ก) นี้กำกวม อานแปลว่า อังกฤษขอตัวไปได้แม้แต่คนไทย ฉะนั้น จึงได้ทำความตกลงกันไว้ โดยเหตุนี้ รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ตั้งศาลอาชญากร สงครามเสียเอง เพื่อแสดงว่าเรามีอิสรอธิปไตยที่จะพิจารณาคดีคนของเรา มีเรื่องที่ขอเล่าไว้ด้วย ในวันที่นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง คือ ๒๓ หรือ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ศาลอาชญากรสงครามก็ได้ตัดสินยกฟ้องคดี ในขณะเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายอาชญากรสงครามไม่มีผลย้อนหลัง วันข้าพเจ้าออกรับทูตครั้งแรกในฐานเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) อุปทูตอเมริกันได้ถามข้าพเจ้าว่า เรื่องอาชญากรสงคราม ทำไมจึงเป็นได้เช่นนี้ ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า เป็นเรื่องของศาล ๆ เขาอิสระ อย่างไรก็ดี อุปทูตมีความเห็นอย่างใดหรือ อุปทูตตอบว่า ถูกแล้ว และไม่มีความเห็นประการใด ส่วนทูตอังกฤษนั้นไม่ได้มาพูดกับข้าพเจ้า แต่ได้เฝ้าพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อทูตกลับไปแล้ว พระองค์ท่านได้รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า ทูตทูลถามพระองค์ท่านในเรื่องนี้ พระองค์ท่านได้แยกปัญหาออกเป็นสองประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องผู้ที่ทำการทารุณต่อสัมพันธมิตร ในเรื่องนี้ ฝ่ายไทยได้มีข้อตกลงกับอังกฤษและออสเตรเลียไว้แล้วว่าจะจัดการให้ ฝ่ายอังกฤษก็ได้รับความพอใจ ส่วนประเด็นที่สองซึ่งเกี่ยวกับอาชญากรทางการเมืองนั้น ผู้ที่ได้รับการปลดปล่อยก็ได้แสดงความจำนงโดยเปิดเผยแล้วว่า จะไม่เล่นการเมืองอีก ดูฝ่ายอังกฤษก็พอใจในเรื่องนี้

อนึ่ง เมื่อศาลอาชญากรสงครามตัดสินยกฟ้องเป็นบรรทัดฐานไปแล้ว ก็ไม่ต้องมีข้อ ก) นี้ แต่ข้าพเจ้าทราบว่า อังกฤษยังอยากให้มีข้อนี้ไว้สำหรับขู่พวกที่ทำการช่วยเหลือญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไป ทั้ง ๆ ที่มีก็ไม่ได้ประโยชน์อันใด

สำหรับข้อ ข) นั้น มีปัญหาว่า “ผู้ทรยศ” (renegades) ในทางกฎหมายกินความแค่ไหน ฝ่ายอังกฤษชี้แจงว่า ถ้าถือเพียงความผิดฐานขบถจะแคบไป แต่เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการตัวผู้ทรยศ ซึ่งเป็นคนของเขา ก็จะระบุชื่อแสดงข้อหามาด้วยว่า กระทำผิดฐานใด

ทางฝ่ายเรา (กระทรวงการต่างประเทศ) เห็นว่า ทั้งข้อ ก) และข้อ ข) นี้ก็ถอดมาจากข้อความในภาคผนวกนั่นเอง (ภาคผนวกข้อ ๔. และข้อ ๕.) และเมื่อทำความตกลงกันในหลักการข้างต้นแน่นอนแล้วว่า สำหรับข้อ ก.) ถ้าเป็นคนไทย เราจัดการของเราเอง และก็ไม่มีทางจะจัดการอีกแล้ว เพราะเลิกศาลอาชญากรสงครามแล้ว เราก็ไม่มีการเสียประโยชน์อันใด จึงตกลงแลกเปลี่ยนหนังสือได้

๕. การควบคุมธนาคารและธุรกิจ การปริวรรตต่างประเทศ ฯลฯ

ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้ ก็เป็นการถอดมาจากข้อความในภาคผนวกข้อ ๘. และไม่มีการได้เปรียบหรือเสียเปรียบประการใด

๖. เรื่องทรัพย์สินของพันธมิตร

เรื่องรัฐบาลไทยยอมรับผิดชอบในอันที่จะพิทักษ์รักษา และคืนในสภาพไม่เสื่อมเสียซึ่งบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ของพันธมิตร และจะใช้ค่าทดแทนให้ เพื่อความวินาศหรือการยุบสลายที่ได้รับนี้ ปรากฏในข้อ ๑ แห่งภาคผนวกต่อท้ายหัวข้อความตกลง ได้เจรจากันมาหลายรัฐบาล ฝ่ายเราเห็นว่าการใช้คำว่า ทรัพย์สิน ของพันธมิตรนั้น จะเปิดโอกาสให้หลายประเทศอ้างอิงได้ เราเห็นว่า เมื่อประเทศใดมีอะไร ก็เจรจามาเป็นราย ๆ ไป ไม่ใช่มาอ้างความตกลงนี้ ในที่สุดได้ตกลงกันว่า เมื่อรัฐบาลแถลงในสภาผู้แทนราษฎรเรื่องความตกลงสมบูรณ์แบบ ก็ให้ถือโอกาสแถลงให้สภา ฯ ทราบ เป็นส่วนหนึ่งของการทำความตกลงเกี่ยวกับความตกลงสมบูรณ์แบบ และโฆษณาทางกรมโฆษณาการ ก็เพียงพอ ว่า “รัฐบาลไทยยอมรับผิดชอบในการพิทักษ์รักษา และคืนในสภาพไม่เสื่อมเสีย บรรดาทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ทุกชนิด ในประเทศไทยของฝ่ายประเทศหรือชนชาติซึ่งมีสถานะสงครามกับประเทศไทยในวัน หรือภายหลังวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ โดยในที่สุดจะได้ใช้คืนหรือให้ค่าทดแทนตามความเหมาะสม สำหรับการสูญหายหรือเสียหายตามวิธีการ ซึ่งจะได้เจรจากันระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลที่เกี่ยวข้องแต่ละรัฐบาล” เรื่องนี้ฝ่ายเรา (กระทรวงการต่างประเทศ) เสนอไปยังคณะรัฐมนตรีว่า ตกลงได้

๗. เรื่องการตีความข้อ ๓ แห่งความตกลงทางทหาร

ได้อธิบายในบทที่ ๑ ภาคสาม เรื่องการเจรจาความตกลงทางทหารที่เมืองแคนดี ลังกา แล้วว่า เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ผู้แทนของเราได้ลงนามความตกลงทางทหารกับอังกฤษ ข้อ ๓ มีความว่า เราจะบำรุงรักษาและให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตรได้ใช้ซึ่งกองทัพเรือ บก และอากาศ ของไทย ตลอดจนเมืองท่า สนามบิน สถานที่ เครื่องบริภัณฑ์ คมนาคม อาวุธ และพัศดุทุกชนิดของกองทัพนั้น ๆ บรรดาที่จะได้ระบุไว้ และนอกจากนี้ ให้รวมทั้งที่ดิน อาคาร และที่เก็บของ ตามแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตรจะต้องการเป็นครั้งคราว เพื่อให้ทหารอาศัยและเก็บพัศดุ และจะปฏิบัติตามคำขออื่น ๆ เท่าที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรจะพิจารณาเห็นว่าจำเป็นต้องขอ เพื่อจะให้ได้ผลประโยชน์ของฝ่ายทหารพันธมิตร ข้อความนี้ก็มีอยู่ในภาคผนวกข้อ ๖ เช่นเดียวกัน เมื่อเราขอเลิกหัวข้อความตกลง อังกฤษจึงเสนอว่า ขอให้ทำเป็นหลักฐาน โดยนายกรัฐมนตรีของเรามีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกลาโหมของเรายืนยันในเรื่องนี้ และลงท้ายว่า “ทั้งนี้ ตราบเท่าที่จำเป็นในอันจะจัดเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทหารของพันธมิตรจนกว่าการส่งกำลังทหารญี่ปุ่นออกไปจากประเทศไทยจะได้เสร็จสิ้นบริบูรณ์ เงื่อนเวลานี้กำหนดแน่นอนและสั้นกว่าเงื่อนเวลาซึ่งกำหนดในภาคผนวกซึ่งใช้คำว่า “ทั้งนี้ ตราบเท่าที่จำเป็นในอันจะจัดเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทหารของพันธมิตร ซึ่งเกิดขึ้นจากการระงับสงครามกับญี่ปุ่นให้เสร็จสิ้นไป.........

โดยที่ทหารพันธมิตรก็กำลังจะถอนตัวออกไปแล้วขณะพิจารณาเรื่องนี้ เรื่องความสะดวกที่จะให้ก็คงไม่มีความยุ่งยากนัก และเหตุการณ์ต่าง ๆ หลังจากความตกลงที่แคนดี ก็บรรลุเกือบหมดแล้ว เพราะเวลาล่วงมาปีกว่าแล้ว ฝ่ายเรา (กระทรวงการต่างประเทศ) จึงเห็นว่าน่าจะตกลงได้ และถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นด้วย กระทรวงการต่างประเทศก็จะปรึกษากับกระทรวงกลาโหมต่อไป

๘. ข้อผูกพันภายหลังสงครามโลกของไทย

เรื่องทั้ง ๒ เรื่องที่กล่าวมาแล้ว ฝ่ายอังกฤษเสนอว่า เมื่อฝ่ายเราพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันดังกล่าวเป็นเรื่อง ๆ แล้วนั้น ฝ่ายไทยก็เป็นอันไม่มีข้อผูกพันอื่นใด นอกจากข้อผูกพันในความตกลงสมบูรณ์แบบ และข้อผูกพันตามหนังสือแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ข้างต้น ฝ่ายอังกฤษก็พร้อมจะมีหนังสือยืนยันรับรองในเรื่องนี้มา เป็นอันว่าหัวข้อความตกลงและภาคผนวกเป็นอันยกเลิกหมด

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาลงมติเห็นชอบด้วยกับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศทุกประการ และอนุมัติให้เจรจาและตกลงกับอังกฤษตามนัยดังกล่าวได้ แต่น่าประหลาดใจเมื่อฝ่ายเราพร้อมแล้ว ทางอังกฤษก็ยังเงียบอยู่ ข้าพเจ้าได้เร่งหลายครั้งก็ตอบว่า ทางรัฐบาลอังกฤษกำลังปรึกษากับกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องอยู่ ทั้ง ๆ ที่เรื่องต่าง ๆ ได้เจรจากันมาช้านานแล้ว ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีลงมติแล้วล่วงมาอีก ๔ เดือน คือในปลายเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ทูตอังกฤษมาแจ้งกับข้าพเจ้าว่า ได้รับคำสั่งให้ตกลงเลิกหัวข้อตกลงตามที่เราไว้แล้ว จะได้นำร่างหนังสือแลกเปลี่ยนต่างๆ มาเสนอเพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาต่อไป แต่ยังไม่ทันได้เจรจาประการใด ข้าพเจ้าได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ คือ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) มาตกลงทำหนังสือแลกเปลี่ยนอีก ๒ เดือนต่อมา คือเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ระหว่างพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับทูตอังกฤษ

สนธิสัญญากับออสเตรเลีย

ได้กล่าวไว้ในบทที่ ๑ ของภาคสามแล้วว่า ในวันเดียวกับที่รัฐบาลได้ลงนามกับอังกฤษเรื่องความตกลงสมบูรณ์แบบนั้น ผู้แทนไทยได้มีจดหมายเหตุแลกเปลี่ยนกับผู้แทนออสเตรเลีย เพื่อที่จะเลิกสถานะสงคราม และจะได้ทำสนธิสัญญาเพื่อเลิกสถานะสงครามโดยเร็ว

ภายหลังจากนั้น ก็ได้มีการเจรจากันเรื่อยมา คือระหว่างเดือนมกราคม ถึง มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) พอเสร็จจวนจะลงนามกันได้แล้ว รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งมี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ได้กราบถวายบังคมลาออก นายปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และข้าพเจ้าเข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ สืบแทน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ข้าพเจ้าได้ลงนามสนธิสัญญากับผู้แทนรัฐบาลออสเตรเลีย มี ๑๕ ข้อด้วยกัน มีสาระสำคัญคล้าย ๆ ความตกลงสมบูรณ์แบบ ซึ่งทำกับอังกฤษ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ๒๔ ข้อ แต่ไม่มีเรื่องเราจะต้องให้ข้าว นอกจากจะรับผิดชอบในการเสียหายที่ออสเตรเลียได้รับ เนื่องจากทรัพย์สินของเขา ซึ่งอยู่ในประเทศไทย เสื่อมเสียไป หรือใช้ค่าทดแทนสำหรับความเสียหายต่าง ๆ ที่คนของเขาได้รับ และไม่ได้พูดถึงเรื่องขุดคอคอดกระ

 

  1. ๑. รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

  2. ๒. ดูหนังสือแลกเปลี่ยนและหัวข้อความตกลงในภาคผนวก ข้างท้ายหนังสือนี้

  3. ๓. เงินจำนวนนี้ รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ แต่ต่อมารัฐบาลนาย ปรีดี พนมยงค์ เคยเสนอไว้กับอังกฤษ แต่ยังไม่ตกลงกัน

  4. ๔. ดูหัวข้อความตกลงท้ายความตกลงสมบูรณ์แบบในภาคผนวก

  5. ๕. ก็พอดีศาลอาชญากรสงครามตัดสินยกฟ้อง

  6. ๖. พิจารณาเรื่องนี้ในกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ทหารพันธมิตรถอนตัวออกไปในปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ดังกล่าวแล้วข้างต้น

  7. ๗. ตัวบทสนธิสัญญา มีปรากฏในภาคผนวกข้างท้าย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ